#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "ขนุน" (KHANUN) บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน คาดว่าจะเคลื่อนไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 5?7 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 5 - 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 9 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
นาทีชีวิต 3 หนุ่ม รปภ. ช่วยเต่าทะเลติดซากอวนประมง ปล่อยคืนธรรมชาติ ชื่นชม สามหนุ่ม รปภ.ใจดี ช่วยชีวิตเต่าทะเล หลังติดซากอวนประมงปล่อยคืนธรรมชาติ ขณะปฏิบัติหน้าที่ริมชายหาดเขาปิหลาย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Adisak yada ได้โพสต์คลิปวิดีโอมีคนกำลังช่วยเหลือเต่าทะเลติดอวนริมชายหาดเขาปิหลาย หน้าชายหาดเขาปิหลาย หมู่ 14 ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อสอบถามไปยัง นายอดิศักดิ์ ประทุม อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28/1 หมู่ 10 ต.โคกกอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็น รปภ. บริษัท sap ประจำอยู่วิลล่าแห่งหนึ่งย่านเขาปิหลาย ม.14 ต.โคกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้เผยแพร่คลิปขณะได้ช่วยชีวิตเต่าทะเล น้ำหนักประมาณ 30-40 กิโลกรัม ที่ถูกเศษอวนสีเขียวพันติดกับลำตัวอยู่บนชายหาด โดยใช้มีดปลายแหลมค่อยๆ ตัดเศษอวนที่พันติดอยู่กับลำตัวของเต่าออก ก่อนปล่อยเต่าคืนสู่ท้องทะเล นายอดิศักดิ์ เล่าว่า ก่อนที่ตนและเพื่อนได้ช่วยเต่าทะเลตัวดังกล่าว ขณะนั้นได้ออกตรวจพื้นที่หน้าชายหาดเขาปิหลาย ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้านิดๆ ได้เห็นเต่าทะเลโดนคลื่นซัดขึ้นมาบนชายหาด พร้อมกับเศษอวนที่ติดตามตัวเต่าจำนวนมาก จึงวิทยุเรียกตนเองพร้อมเพื่อนอีกคนมาช่วย เนื่องจากขนาดของเต่าทะเลค่อนข้างใหญ่และมีเศษอวนติดจำนวนมาก ก็เลยช่วยชีวิตมันไว้ โดยธรรมชาติของชาวบ้านระแวกนี้ เมื่อเจอเต่าติดอวนหรือบาดเจ็บก็จะเข้าช่วยเหลือ นายอดิศักดิ์ ยังกล่าวต่อถึงการช่วยกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องการทิ้งเศษขยะลงท้องทะเลว่า ปัจจุบันมีเศษขยะลอยอยู่ในทะเลมากขึ้น เช่น ถุงพลาสติก เศษตาข่าย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขยะเหล่านี้อาจจะทำอันตรายต่อสัตว์ทะเลได้ จึงขอวอนให้ทุกคน รวมทั้งชาวประมงด้วยกัน ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย. https://www.thairath.co.th/news/local/2714485
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
ทั้งดำ ทั้งเหม็น ! น้ำทิ้ง "สนามบินภูเก็ต" ปล่อยลงทะเล นักท่องเที่ยวสงสัยได้บำบัดก่อนหรือไม่ ภูเก็ต -พบน้ำทิ้งจาก "สนามบินภูเก็ต" สีดำและกลิ่นเหม็น ปล่อยลงทะเล นักท่องเที่ยว สงสัย ผ่านการบำบัดตามขั้นตอนแล้วหรือไม่ วอนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหวั่นก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและกระทบการท่องเที่ยว รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีความกังวลและห่วงใยจากนักท่องเที่ยวและประชาชนที่พบเห็น การปล่อยน้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็นออกจากสนามบินภูเก็ตลงสู่ทะเล บริเวณหาดในยาง ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยมีการตั้งข้อสังเกตุว่า น้ำที่ปล่อยออกจากสนามบินภูเก็ตนั้น ได้ผ่านการบำบัดที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานแล้วหรือไม่ อีกทั้ง หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้มีการตรวจสอบ วัดคุณภาพน้ำเสียก่อนปล่อยออกตามมาตรฐาน กฎระเบียบหรือไม่ อีกทั้ง พบว่า จุดที่ปล่อยน้ำออกมา อยู่ติดกับบริเวณบ้านพักพนักงานสนามบิน และผู้อำนวยการสนามบินภูเก็ต จึงเห็นว่า สนามบินภูเก็ตควรรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมมากกว่านี้ เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอีกด้วย ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้การตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2566 พบว่า น้ำที่มีการระบายนำ้ ออกจากสนามบินภูเก็ต มีสีดำมาก และมีกลิ่นเหม็นจริง โดยขังอยู่บริเวณชายหาด รายงานข่าวแจ้งว่า สนามบินภูเก็ตมีระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐาน โดยน้ำที่ผ่านการใช้แล้ว ที่เป็นน้ำเสีย น้ำทิ้งทั้งหมด ของสนามบิน รวมถึงน้ำทิ้งจากอากาศยานทั้งหมด จะถูกดูดรวบรวมเข้าสู่ถังปรับสภาพน้ำเสีย และมีกระบวนการบำบัดน้ำเสีย มีบ่อเก็บตะกอนและสิ่งปฎิกูล โดยตามขั้นตอน การบำบัดน้ำเสียจะผ่านถังเติมอากาศ และถังตกตะกอน และเติมคลอรีน ก่อนปล่อยน้ำทิ้งออก กรณีดังกล่าว มีประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากพบว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สัญญาจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียเครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบสุขาภิบาล ของท่าอากาศยานภูเก็ตสิ้นสุดลง และยังไม่มีผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการดูแลการบำบัดน้ำเสียของสนามบินภูเก็ต เนื่องจากอยู่ระหว่างการประมูลจัดจ้าง ยังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ผ่านมา สนามบินภูเก็ต ต้องดำเนินการบำบัดน้ำเสียเอง ซึ่งพบว่า มีปัญหาท่อน้ำอุดตัน ห้องน้ำภายในอาคารผู้โดยสาร มีน้ำเอ่อล้นนองพื้น อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ ทอท. ดูแลเองนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นงานที่ ทอท.ไม่มีความเชี่ยวชาญ เหมือนกับเอกชนผู้ให้บริการโดยตรงแน่นอน https://mgronline.com/south/detail/9660000069895
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
สนข.ฟื้นแลนด์บริดจ์ใต้ วงเงิน 1 ล้านล้าน เล็งชง ครม.ใหม่ ต.ค.นี้ ยันไม่แข่งสิงคโปร์ ข่าวหน้า 1 ? สนข.ฟื้นแลนด์บริดจ์ใต้ วงเงิน 1 ล้านล้าน เตรียมชง ครม.ใหม่ ต.ค.นี้ ยันไม่แข่งสิงคโปร์ แค่ช่วยระบายเรือขนส่งเข้ามาในอาเซียน-ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง วงเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่า ปัจจุบัน สนข.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ภายในเดือนสิงหาคมนี้ สนข.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในขั้นตอนกำหนดชอบเขตและแนวทางการศึกษา หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในขั้นตอนการประเมิน พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA) และในเดือนมีนาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในการทบทวนร่างรายงาน EHIA ต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ รับทราบหลักการของโครงการภายในเดือนตุลาคม 2566 นายปัญญากล่าวอีกว่า สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2566 แต่ปัจจุบันการศึกษา EHIA มีความล่าช้า เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การศึกษา EHIA ต้องขยายระยะเวลาของสัญญาออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2567 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 "ที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ตามแผนเดิมจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนยุบสภา แต่เสนอไม่ทัน ส่งผลให้ต้องมีการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ รับทราบหลักการอีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคม 2566" นายปัญญากล่าว นายปัญญากล่าวว่า ทั้งนี้ สนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้น สนข.จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลพร้อมกันทั้งโครงการ ภายในต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ ภายในปี 2573 นายปัญญากล่าวอีกว่า ส่วนการประมูลของโครงการ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพคเกจ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิเอกชนในไทยและต่างประเทศเป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย "ยืนยันว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ไม่ได้ต้องการสร้างท่าเรือเพื่อมาแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ แต่ต้องการช่วยระบายเรือที่ต้องการเข้ามาขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศใกล้เคียง เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการจำกัดการเดินเรือ หากไทยสามารถทำให้โครงการเกิดขึ้นได้จะเป็นประตูการนำเข้า-ส่งออก สินค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบอาเซียน" นายปัญญากล่าว https://www.matichon.co.th/economy/news_4112397 ****************************************************************************************************** ทึ่ง! ซากวาฬดึกดำบรรพ์อายุ 40 ล้านปี ผุดในเปรู คาดล้มแชมป์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งของฟอสซิลวาฬดึกดำบรรพ์ "เปรูซีตัส โคลอสซัส" (Perucetus colossus) ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของเปรูในช่วงกลางยุคเอโอซีน เมื่อประมาณ 39 ล้านปีก่อน ผลงานการค้นพบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเปรู ที่นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม (REUTERS) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบซากวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ในเปรูที่มีชื่อว่า "เปรูซีตัส โคลอสซัส" (Perucetus colossus) ในกลุ่มบาซิโลซอรัส (Basilosauridae) ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 38-40 ล้านปีก่อนในยุคสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch) ที่กลายเป็นผู้ท้าชิงรายใหม่สำหรับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกและอาจล้มแชมป์ปัจจุบันอย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งครองตำแหน่งดังกล่าวมาอย่างช้านาน นักวิจัยคาดการณ์ว่า เปรูซีตัส หรือ "วาฬเปรูขนาดมหึมา" (colossal Peruvian whale) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพะยูน มีความยาวประมาณ 20 เมตร และหนักถึง 340 เมตริกตัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เรารู้จัก รวมทั้งวาฬสีน้ำเงินและเหล่าไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอื่นๆ ด้วย จีโอวานนี เบียนุชชี นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยปีซ่า (the University of Pisa) ในอิตาลี นักเขียนหลักของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า ลักษณะที่โดดเด่นของสัตว์ชนิดนี้คือน้ำหนักอันมหาศาลของมัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิวัฒนาการสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเหนือจินตนาการของเราได้ โดยมีการประเมินมวลร่างกายขั้นต่ำของเปรูซีตัสอยู่ที่ 85 ตัน ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 180 ตัน ขณะที่วาฬสีน้ำเงินตัวใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสำรวจพบมีน้ำหนักประมาณ 190 ตัน และมีความยาว 33.5 เมตร ซึ่งยาวกว่าวาฬโบราณที่เพิ่งถูกขุดพบ น้ำหนักที่มหาศาลนั้นยังเหนือกว่า อาร์เจนติโนซอรัส (Argentinosaurus) หรือไดโนเสาร์กินพืชสี่ขาคอยาวที่อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อนในอาร์เจนตินา และได้รับการจัดอันดับในงานวิจันที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีน้ำหนักประมาณ 76 ตัน โดยโครงกระดูกบางส่วนของเปรูซีตัสถูกขุดพบในทะเลทรายบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของเปรู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยฟอสซิลของวาฬ นักวิจัยสามารถขุดกระดูกสันหลัง 13 ชิ้น กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก 1 ชิ้น ซึ่งกระดูกที่มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่ค่อยพบเจอเหล่านี้มีทั้งความหนาและความอัดแน่นของมวลกระดูกอย่างมาก สอดคล้องกับลักษณะที่เรียกว่า "พาชีโอสตีโอสเคลอโรซิส" (pachyosteosclerosis) ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำพวกพะยูนและแมนนาที แต่ไม่พบในสัตว์จำพวกวาฬที่มีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงโลมา และพอร์พอยส์ ขณะที่ลำพังโครงกระดูกของเปรูซีตัสนั้นก็มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 8 ตัน มากกว่าของวาฬสีน้ำเงินอย่างน้อยสองเท่า อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่พบซากกระโหลกศีรษะหรือฟัน ทำให้การศึกษาด้านอาหารการกินและวิถีชีวิตของเปรูซีตัสมีความยากมากขึ้น ด้านนักวิจัยข้อสมมติฐานว่า วาฬดึกดำบรรพ์ชนิดนี้อาจมีวิถีชีวิตคล้ายพะยูน ที่ไม่ใช่นักล่าที่ว่องไว แต่เป็นสัตว์ที่หากินใกล้ท้องทะเลบริเวณน้ำตื้นริมชายฝั่ง โอลิวิเออร์ แลมเบิร์ต นักบรรพชีวินวิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติรอยัลเบลเจียน (the Royal Belgian Institute of Natural Sciences) ในบรัสเซลส์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเปรูซีตัสเป็นนักว่ายน้ำที่เชื่องช้าจากการที่มันมีโครงกระดูก รวมถึงมวลร่างกายที่มีน้ำหนักมาก ทั้งยังเป็นยักษ์ใหญ่ในทะเลที่รักสันติ คล้ายกับตัวแมนนาทีขนาดมหึมา เบียนุชชีกล่าวว่า บางทีมันเป็นสัตว์กินพืชแบบพะยูน หรืออาจจะกินหอยขนาดเล็กและกุ้งบริเวณพื้นทรายอย่างพวกวาฬสีเทา ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัตว์กินซากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง คล้ายกับฉลามลำตัวใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่บางประเภท ทั้งนี้ วาฬมีวิวัฒนาการมาประมาณกว่า 50 ล้านปี จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบเท้าที่เคยอาศัยอยู่บนบกและมีขนาดใหญ่พอๆ กับสุนัขขนาดกลาง โดยเปรูซีตัสยังคงมีขาหลังหลงเหลืออยู่ https://www.matichon.co.th/foreign/news_4111245 ****************************************************************************************************** อ.ธรณ์ ชี้ โลกเดือดคือ โลกกำลังวิกฤต และยังไม่มีทางออก ก.ค.ที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่เคยบันทึกมา วันที่ 3 สิงหาคม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิป อธิบายเรื่องปรากฏการณ์ โลกเดือดว่า โลกเดือดนั้นในแง่วิทยาศาสตร์ ไม่มีถ้อยคำนี้ ถ้อยคำที่เรามีอยู่คือ ภาวะโลกร้อน แต่ถ้อยคำว่าโลกเดือดนี้ออกมาจากเลขาธิการองการสหประชาชาติ หมายถึงว่า โลกเข้าสู่จุดวิกฤต โลกเดือดจึงไม่มีตัวชี้วัดว่า โลกนี้ร้อน โลกนี้เดือด เพียงแต่คือ การเข้าสู่ภาวะวิกฤต และวิกฤตมากๆของโลกร้อน ที่สำคัญคือ ความวิกฤตนี้ ยังไม่มีทางออก และจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ภาวะโลกเดือดอาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว เพียงแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่ง ลานีญา ซึ่งช่วงลานีญานั้นโลกจะเย็นกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคโควิด หลายคนจึงหันไปให้ความสนใจกับเรื่องตรงนั้น แต่มาปีนี้ เข้าสู่ปีแห่ง เอลนีโญ ทำให้โลกร้อนขึ้น แล้งขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อโลกร้อน มาถึงช่วงเอลนีโญ มันจะกลายเป็นปรากฏการณ์ซ้อนทับกัน ทั้งเอลนีโญ ทั้งโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการ "เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า เป็นเดือนกรกฎาคม ที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา และเรายังเชื่อต่อไปว่า ยังมีอีกหลายเดือนที่อุณหภูมิจะร้อนกว่านี้ในอนาคต" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว รองคณบดี คณะประมง กล่าวว่า ถ้าจะถามว่า ภาวะโลกเดือดคืออะไร ก็จะหมายความว่า เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่เราจะร้อนขึ้น เป็นสถิติบ่อยขึ้น บ่อยขึ้น และบ่อยขึ้น แสดงให้เห็นว่า โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดอีกตัวคืออุณหภูมิโลกที่จะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ที่หลายคนกลัวว่า โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น ความจริงแล้ว อุณหภูมิสูงถึงระดับนั้น มีแล้ว เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมาแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะ ขึ้นและลง ขึ้นและลง เป็ฯครั้งแรกที่แตะ 1.5 องศาเซลเซียส แต่มันก็ลงมา แล้วขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า โลกนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4112216
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'โลกร้อน' ไม่หยุด! ส่งผล 'กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม' หายไปใน 3 ปี ? "ภาวะโลกร้อน" ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุด "กัลฟ์สตรีม" หรือ "กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก" อาจล่มสลายภายในปี 2025 ซึ่งเกิดขึ้นเร็วผิดปกติ นำมาสู่ความหายนะทางสภาพอากาศ Keypoints: - หนึ่งในผลกระทบใหญ่ที่เกิดจาก "ภาวะโลกร้อน" คือ กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม กำลังจะล่มสลายภายในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า - กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม มีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพอากาศโลก เนื่องจากมีหน้าที่ส่งกระแสน้ำอุ่นไปยัง "มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ" เพื่อสร้างสมดุลสภาพอากาศ - หากกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมถูกทำลายจนล่มสลายไปในที่สุด จะทำให้เกิดหายนะทางสภาพอากาศในทุกพื้นที่ทั่วโลก ปัญหาจาก "ภาวะโลกร้อน" ยังคงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์อย่างต่อเนื่อง หลังงานวิจัยล่าสุดจากวารสาร Nature ระบุว่า Gulf Stream (กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม) ที่มีชื่อเต็มว่า Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หนึ่งในกระแสน้ำหลักของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก อาจล่มสลายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในปี 2025 หรือในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมล่มสลาย คือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณมหาศาล ซึ่งสร้างมลภาวะสะสมต่อโลกจนเกิดภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า ?AMOC? จะเริ่มถูกทำลายตั้งแต่ปี 2025 และอาจสูญหายไปภายในปี 2050 หรือภายใน 27 ปีหลังจากนี้ ทำให้เกิดหายนะทางสภาพอากาศโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ความสำคัญของ "กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก" สิ่งที่ทำให้ "AMOC" เป็นหนึ่งในกระแสน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในโลกก็เป็นเพราะว่า มันมีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและนำพาน้ำอุ่นภายในมหาสมุทรเขตร้อน ส่งขึ้นไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เพื่อถ่ายเทอุณหภูมิความอบอุ่นให้แก่พื้นที่แถบยุโรปตะวันตก ป้องกันไม่ให้เจอกับสภาพอากาศที่หนาวจัดจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต หลังจากนั้นเมื่อกระแสน้ำมีความเย็นตัวลงก็จะจมลงไปใต้ทะเลลึก ขณะเดียวกันมวลน้ำข้างใต้ก็จะไหลขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับนำเอาสารอาหารจากใต้ท้องทะเลขึ้นมาด้านบนด้วย จากนั้นกระแสน้ำก็จะเริ่มต้นวงจรการไหลเวียนอีกครั้ง อีกบทบาทสำคัญของกัลฟ์สตรีมคือ คอยควบคุมรูปแบบของสภาพอากาศทั่วโลก หากกระแสน้ำเหล่านี้หายไปก็จะทำให้ฤดูหนาวมีความรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้พื้นที่บางส่วนของยุโรปและสหรัฐ ได้รับผลกระทบจากความหนาวเย็นสุดขีด รวมถึงการเคลื่อนตัวของลมมรสุมในเขตร้อนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย เมื่อกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมหายไป โลกจะเข้าสู่หายนะ? ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า AMOC ประสบปัญหามากที่สุดในรอบ 1,600 ปี โดยนักวิจัยระบุว่า พบสัญญาณเตือนปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2021 และมีการประเมินว่ากระแสน้ำอาจจะเริ่มล่มสลายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป และอาจหายไปภายในปี 2050 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า การล่มสลายของ "AMOC" จะส่งผลร้ายแรงทั่วโลก เช่น ในแถบยุโรปจะเกิดพายุมากขึ้น แต่มีอุณหภูมิลดลง ฝั่งอเมริกาเหนือจะมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านอินเดีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาตะวันตก อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ป่าแอมะซอนและแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย สิ่งที่ทำให้ AMOC อาจล่มสลายในอนาคตอันใกล้นี้เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก ด้าน Peter Ditlevsen (ปีเตอร์ ดิตเลฟเซน) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในผู้วิจัยมองว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เพราะเมื่อประมาณ 115,000 ปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของสภาพอากาศที่นักวิทยาศาสตร์กังวลอย่างมาก เนื่องจากทุกวันนี้อุณหภูมิโลกยังคงร้อนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ด้าน Stefan Rahmstorf (สเตฟาน ราห์มสตอร์ฟ) จากมหาวิทยาลัยพอทสดัม ประเทศเยอรมนีระบุว่า แม้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจุดเปลี่ยนของ AMOC อยู่บริเวณไหน แต่หลักฐานจากการวิจัยชี้ว่า อาจจะอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นอกจากนี้ผลของการวิจัยเมื่อปี 2022 พบว่าสภาพอากาศโลกอาจผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 1.1 องศาเซลเซียส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้น้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นจนแผ่นน้ำแข็งบริเวณกรีนแลนด์ทยอยละลายหายไปเรื่อยๆ จากนั้นน้ำจืดจากน้ำแข็งที่ละลายจะไหลลงสู่มหาสมุทรมากขึ้น และลดความหนาแน่นของน้ำทะเล ทำให้น้ำหมุนเวียนไปด้านล่างได้น้อยลง เมื่อน้ำจืดมีปริมาณมากเกินไป และอุ่นเกินไป ก็จะทำให้กระแสน้ำหยุดทำงานไปในที่สุด โดยสรุปแล้วทีมวิจัยประเมินภาพรวมจากการสรุปผลวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 1870 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้ว่ากระแสน้ำ "กัลฟ์สตรีม" กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมนุษย์จำเป็นต้องหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีในตอนนี้ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลาม และส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพอากาศทั่วโลก อ้างอิงข้อมูล : Nature, The Guardian และ CNN https://www.bangkokbiznews.com/environment/1081793
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก อสมท.
ช่วยโลมาเกยตื้น ไม่ยอมลงทะเล ตรัง 3 ส.ค. ? ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ช่วยกันผลักดันโลมาปากขวด อายุประมาณ 2 ปี กลับลงสู่ทะเล หลังขึ้นมาเกยตื้นบริเวณหาดสั้น แต่ไม่สำเร็จจึงช่วยกันนำมาพักฟื้นที่ศูนย์วิจัยฯ ชายฝั่ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงปล่อยคืนสู่ทะเล นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ว่าพบโลมาปากขวด น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ขึ้นมาเกยตื้นบริเวณหาดสั้น อ.กันตัง จ.ตรัง เจ้าหน้าที่และชาวบ้านหาดสั้น พยายามช่วยกันผลักดันโลมากลับลงะเลหลายรอบ แต่โลมาก็ว่ายกลับเข้าหาฝั่งเหมือนเดิม จากการสังเกตเบื้องต้น พบว่าโลมามีอาการอ่อนแรง และเจ้าหน้าที่ไม่พบบาดแผลตามลำตัว จึงประสานศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่างจังหวัดตรัง ให้มารับโลมาไปพักฟื้น เชื่อว่าภาวะคลื่นลมแรงหน้ามรสุม ทำให้โลมาถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด และมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อ จึงนำไปรักษาจนกว่าร่างกายจะแข็งแรง แล้วปล่อยกลับสู่ทะเลอีกครั้ง. https://tna.mcot.net/region-1217442
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|