#1
|
||||
|
||||
ทีฆายุโกโหตุ มหาราชา
เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนม์พรรษาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2553 ข้าพระพุทธเจ้าฯ ขอน้อมเกล้าถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายสมยศ และนางแน่งน้อย ยศสุนทร และเหล่าสมาชิก www.saveoursea.net ภาพ จาก www.chaoprayanews.com
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 04-12-2012 เมื่อ 09:00 |
#2
|
||||
|
||||
"คำสอนพ่อ" ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญ หรือวิกฤตการณ์ใดๆ ที่คนไทยเผชิญ หากรู้จักน้อมนำพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระองค์มาใช้ โอกาสรอดพ้นภัยก็มีสูง เพราะพระองค์มีพระราชดำรัสที่เข้ากับสถานการณ์ทุกยุคทุกสมัย เช่นเดียวกับ มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ปี 2554 คนไทยได้ประจักษ์เนื้อความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสเอาไว้ในการประชุมเมื่อปี 2538 แล้วจะพบว่า พระองค์ทรงห่วงพสกนิกรและทรงพยายามบอกกล่าวให้ทุกคนรอดพ้นจากภัยต่างๆ และหากติดตามฟังพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาตลอดจะพบว่า ทุกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทล้วนเป็น "คำสอนของพ่อ" ที่มีคุณค่ายิ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทในโอกาสสำคัญ 3 โอกาส โอกาสแรก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้กับบัณฑิต ซึ่งมักเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญในโลก โอกาสที่ 2 กระแสพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม และ ช่วงวันขึ้นปีใหม่ เป็นกระแสพระราชดำรัสที่ถ่ายทอดไปสู่ประชาชน เช่น เมื่อ พ.ศ.2541-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการเงิน จะมีพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียง ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ใคร โอกาสที่ 3 กระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้กับกลุ่มบุคคลเฉพาะในวาระ ตรงนี้จะมีความเฉพาะและมีคุณค่ามากๆ ในมหาอุทกภัย 2554 ที่คนไทยแทบทุกหย่อมหญ้าสูญเสียความหวัง หากหยิบยกหลักคำสอนจากพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" กลับมาอ่านอีกครั้ง จะพบว่าสอด คล้องกับภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ศ.นพ.เกษมบอกว่า ในพระราชนิพนธ์ทรงยกตัวอย่างความเพียรของพระมหาชนกออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย สำหรับคนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องใช้ทั้งความอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยทางกาย และอดกลั้นต่อความทุกข์ยากทางอารมณ์ ความอ่อนเพลียและหมดกำลังใจ เพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมนี้ไปให้ได้ "ในความยากลำบากของชีวิตที่เราเจอกันอยู่ โดยเฉพาะในมหาอุทกภัยมีหลายครอบครัวต้องใช้ความอดทนอย่างมากเพื่อให้พ้นช่วงทุกข์ยาก น่าจะน้อมนำหลักคำสอนในพระราชนิพนธ์เป็นตัวอย่างเรื่องความเพียร" ส่วนการฟื้นฟูประเทศไทยนั้น ทุกภาคส่วนสามารถน้อมนำหลักการทรงงาน 3 คำสั้นๆ มาใช้ นั่นคือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ ศ.นพ.เกษมขยายความว่า ก่อนจะริเริ่มโครงการใดๆ ต้องยึดหลักคิด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หากกระทบกับคนส่วนน้อยต้องชี้แจงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่ได้ประโยชน์นั้นทำให้คนส่วนน้อยเสียประโยชน์ จะต้องชดเชยให้อย่างไร ต่อไปคือหลักวิชา ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์ทรงอ่านหนังสือเยอะมาก ก่อนที่ท่านจะพระราชทานคำแนะนำให้กับรัฐบาลหรือประชาชน ทรงศึกษาจนกระจ่างก่อน" สุดท้าย คือ หลักปฏิบัติ โดยมีหลักทรงงานอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) พิมพ์เผยแพร่ คือ ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด จริงดังที่ ศ.นพ.เกษมเล่าให้ฟัง หากคนไทยน้อมนำ "คำสอนพ่อ" มาใช้ในชีวิต ย่อมทำให้ชีวิตมีความสุข ในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตรุ่นต่างๆเสมอ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2506 พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความว่า "การทำงานด้วยน้ำใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิดว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้" หากบัณฑิตน้อมนำ "คำสอนพ่อ" ไปปฏิบัติ ย่อมส่งผลดีต่อหน้าที่การงานและชีวิต ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ อย่างเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2529 พระองค์เสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา มีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ความว่า "ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้อย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว" เช่นเดียวกับวาระพิเศษที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส เป็น "คำสอน" อยู่ เสมอ หากคนไทยยึด "คำสอนพ่อ" เป็นหลักในการดำเนินชีวิตก็เท่ากับมหามงคลเกิดขึ้นแก่ตัว จาก .................... มติชน วันที่ 3 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
"ธรรมดี ที่พ่อทำ" 23 หลักทรงงาน หนังสือ "ธรรมดี ที่พ่อทำ" นำเอาการบรรยายของศาสตราจารย์เกียรติคุณ "นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี" เรื่อง "หลัก 23 ข้อ ในการทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว" มาเปิดเผย น่าสนใจและควรอย่างยิ่งที่จะน้อมนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักทรงงาน 23 ข้อ ประกอบด้วย ข้อที่ 1 จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ ข้อที่ 2 ระเบิดจากภายใน หมายถึงสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจและอยากทำ มิใช่สั่งให้ทำ คนไม่เข้าใจจะไม่ทำ แยกให้ออกระหว่างคุณค่ากับมูลค่า ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงควรทำ ข้อที่ 3 แก้ปัญหาจากจุดเล็ก คือ มองภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ และควรมองในสิ่งที่มักจะมองข้าม ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ให้คิดแก้ปวดหัวก่อน เป็นคำพูดที่ฟังดูตลก แต่ลึกซึ้ง คิดใหญ่ทำเล็ก คิดกว้างทำแคบ ลงมือทำในจุดเล็กๆก่อน สำเร็จแล้วจึงค่อยขยาย มิใช่สั่งทำพร้อมกันทั่วประเทศ ดูดี แต่ลงทุนสูง ได้ผลน้อย ในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่ง คนทำมีอยู่ไม่กี่คน ข้อที่ 4 ทำตามลำดับขั้น ข้อที่ 5 ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ นั้นสำคัญ เพราะการงานทุกอย่างต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ว่าอยู่แถบไหน อากาศเป็นอย่างไร ติดชายแดน ติดทะเล และสังคมของเราเป็นอย่างไร นับถือศาสนาอะไร คนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร รวมไปถึงพวกเราเองด้วย ถ้าไม่รู้เขารู้เรา จะรบชนะได้อย่างไร ข้อที่ 6 ทำงานแบบองค์รวม โดยคิดความเชื่อมโยง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทรงมีแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง องค์รวม ครบวงจร เชื่อมโยง "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" เป็นคำพูดที่ฟังแล้วเกินจริงไปหน่อย แต่ก็จริง ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้ ข้อที่ 7 ไม่ติดตำรา เพราะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด บางครั้งเรายึดทฤษฎีจนเกินไป ทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำบางครั้งต้องโอบอ้อมต่อสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม จิตวิทยาด้วย ข้อที่ 8 ประหยัด เรื่องง่ายได้ประโยชน์สูงสุด ข้อที่ 9 ทำให้ง่าย ข้อที่ 10 การมีส่วนร่วม ข้อที่ 11 ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม ข้อที่ 12 บริการจุดเดียว วันนี้เราพูด วันสต๊อปเซอร์วิส แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้เกิน 20 ปีมาแล้ว ศูนย์ศึกษาพัฒนา 6 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการจุดเดียวมากว่า 20 ปี ใครทันสมัยกันแน่ ข้อที่ 13 ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ โดยมองธรรมชาติให้ออก กักน้ำตามลำธารช่วยให้ป่าสมบูรณ์ ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพ เราก็จะลดปัญหายาเสพติดลงไป การช่วยดูแลผู้ติดยา เขาจะไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถกลับมาช่วยเราอีกแรง ทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอยู่แบบสมดุล ซึ่งการจะมองปัญหาออกต้องมีใจว่าง ไม่ลำเอียง ต้องมีจิตอันพิสุทธิ์ ข้อที่ 14 ใช้อธรรมปราบอธรรม เอาผักตบชวาที่เป็นปัญหาของเราในประเทศมากำจัดน้ำเสีย เอาปัญหามาช่วยขจัดปัญหา เอาปัญหายาเสพติดมาช่วยพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนไทยกันดีกว่า แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองควรจะเฟื่องฟูได้แล้ว ข้อที่ 15 ปลูกป่าในใจคน ต้องปลูกที่จิตสำนึกก่อน ต้องให้เห็นคุณค่าก่อนที่จะลงมือทำ การดูแลปัญหายาเสพติด ถ้าคนทำหน้าที่นี้ยังทำเพราะเป็นหน้าที่ งานสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าทำด้วยความดีใจที่ได้ช่วยลูกเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้เพียงหนึ่งคน ซึ่งคุ้มค่ากว่าได้เงินทองเป็นล้าน แสดงว่าพลังต่อสู้กับยาเสพติดได้เกิดขึ้นในใจของท่านแล้ว จงปลุกสิงโตทองคำในหัวใจให้ตื่นขึ้นมาได้ก่อน ข้อที่ 16 ขาดทุนคือกำไร อย่ามองกำไรขาดทุนที่เป็นตัวเงินมากจนเกินไป บางครั้งเราได้กำไรจากการขาดทุน ลงทุนมหาศาล ได้ธรรมชาติกลับคืนมา ลงทุนมหาศาล ได้ลูกคืนมา ลงทุนมหาศาล ได้คนดีๆกลับมา ลงทุนมหาศาล ได้ความรู้ไว้คอยช่วยเหลือ ข้อที่ 17 การพึ่งตนเอง ข้อที่ 18 พออยู่พอกิน ข้อที่ 19 เศรษฐกิจพอเพียง ข้อที่ 20 ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน ข้อที่ 21 ทำงานอย่างมีความสุข ข้อที่ 22 ความเพียร ข้อที่ 23 รู้ รัก สามัคคี คิดเพื่องาน รู้= ต้องรู้ปัจจัย รู้ปัญหา รู้ทางออกของปัญหา รัก = เมื่อรู้แล้ว ต้องเกิดความอยากในทางที่ดีก่อน คือฉันทะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ภูมิใจ อยากทำ สามัคคี = ลงมือปฏิบัติ ต้องร่วมมือเพื่อเกิดพลัง แยกกันไร้ค่า รวมกันไร้เทียมทาน คิดเพื่อตัวเราเอง รู้ = รู้จักทุกคนทั้งหน้าที่การงาน ชีวิต ครอบครัว ทำอย่างไรจึงจะรู้จักให้ดี ได้รู้จุดอ่อน จุดแข็ง โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา รัก = เน้นความดี ใส่ใจกันและกัน มองกันในแง่ดี สามัคคี = จึงจะเกิด เพียงคนไทยน้อมนำไปปฏิบัติ ชีวิตจะประสบความสำเร็จในทุกด้าน จาก .................... มติชน วันที่ 3 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
|||
|
|||
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย แมลงปอ : 05-12-2011 เมื่อ 08:15 |
#5
|
||||
|
||||
พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 เพื่อทรงศึกษาวิชาการเพิ่มเติม ระหว่างประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง พระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" ............................................................................... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เดิมทีพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า จะทรงครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาจัดงานพระบรมศพพระบรมเชษฐาให้สมพระเกียรติเท่านั้น เพราะขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 18 พรรษาเศษ ไม่เคยเตรียมพระองค์เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์มาก่อนเลย แต่แล้วความจงรักภักดีของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระองค์อย่างแน่นแฟ้น ยังผลให้ตัดสินพระราชหฤทัยรับราชสมบัติ เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 เพื่อทรงศึกษาวิชาการเพิ่มเติม ระหว่างประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง พระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบชายผู้ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนขณะที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ชายผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า ที่เขาร้องเช่นนั้น เพราะรู้สึกว้าเหว่และใจหายที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย เขาเห็นพระพักตร์เศร้ามาก จึงร้องไปเหมือนคนบ้า พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา" หลังจากที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะทรงดำรงอยู่ในฐานะประมุขของประเทศแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอุทิศพระชนม์ชีพเพื่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์ เพราะทรงได้รับการปลูกฝังให้คำนึงถึงพระราชภารกิจที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "ในครอบครัวของเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ เมื่อพิจารณาด้วยใจอันเที่ยงธรรมแล้วย่อมเห็นความจริงในพระราชดำรัสข้างต้นโดยแท้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพในราชสกุล มหิดล อันเป็นสายหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ฉะนั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสืบสายพระโลหิตจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่ปวงชนประชาชนชาวไทย ซึ่งทวยราษฎร์ต่างตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างดี โดยมิพักจะต้องพรรณนา ความโดยละเอียด ฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนกก็ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่ราษฎรหมู่มากเคารพเลื่อมใสตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ น้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และพระอุปนิสัยที่ไม่ถือพระองค์ โน้มน้าวใจให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญพระองค์ว่าทรงเป็นเจ้าฟ้านักประชาธิปไตย สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการพัฒนาการแพทย์ไทย ทรงสละทั้งกำลังพระวรกายและพระราชทรัพย์ ในอันที่จะอุดหนุนการแพทย์และการพยาบาลของไทยให้เจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านการพัฒนาหลักสูตร การส่งเสริมความรู้ความสามารถของแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการก่อสร้างอาคารสถานที่อันจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ป่วยและนักเรียนแพทย์ พยาบาล ตราบจนทุกวันนี้ วงการแพทย์ของไทยยังน้อมระลึกถึงพระกรุณาธิคุณอยู่เสมอ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี กำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ในประเทศนั้น ทรงมีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระบรมเชษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ.2471 หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสหรัฐอเมริกาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่งหลังจากเสด็จนิวัตพระนครได้ไม่ถึงปี สมเด็จพระบรมราชชนกก็ประชวรเสด็จสวรรคต เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2472 ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษากับอีก 9 เดือน จึงตกเป็นพระราชภาระในสมเด็จพระบรมราชชนนีที่จะทรงอภิบาลพระราชโอรส พระราชธิดา ทั้งสามพระองค์ตามลำพัง พระราชภาระนี้ใหญ่หลวงนัก แต่ด้วยเดชะพระบารมี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงอภิบาลรักษาพระราชโอรส พระราชธิดา ให้ทรงพระเจริญ งามพร้อมด้วยพระราชจริยวัตร และสมบูรณ์ด้วยพระสติปัญญา สมพระอิสริยยศและความหวังของปวงชน การเลี้ยงดูอบรมเด็กนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระราชดำริว่า มีหลักสำคัญอยู่สองประการ คือ เด็กต้องมีอนามัยสมบูรณ์ประการหนึ่ง และเด็กต้องอยู่ในระเบียบวินัยโดยไม่บังคับเข้มงวดจนเกินไป เป็นประการที่สอง ในการอภิบาลพระราชโอรส พระราชธิดา เมื่อยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงยึดถือตามหลักดังกล่าว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องพระกระยาหารของพระราชโอรส พระราชธิดา ให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ให้ได้ทรงเล่นออกกำลัง ทรงสั่งสอนให้อยู่ในระเบียบวินัยและทำอะไรเป็นเวลา สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเรียนวิชาพยาบาลจากศิริราชพยาบาล เมื่อประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านอนามัยและโภชนาการ ซึ่งความรู้เหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่งในการทำนุบำรุงพระราชโอรสและพระราชธิดา (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ..... (2) เมื่อทรงพระเยาว์ พระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม ถนนพญาไท พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชและพระเชษฐภคินี พระตำหนักใหม่เป็นตึกสองชั้นทาสีครีม หลังคามุงกระเบื้องสีเขียวเข้ม สีเดียวกับที่ทาบานประตูและหน้าต่างพระตำหนัก จากพระตำหนักใหม่มีถนนสู่พระตำหนักใหญ่ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าฯ สมเด็จพระอัยยิกาเสมอๆ พร้อมกับสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบรมเชษฐา และพระเชษฐภคินี บางครั้งเจ้านายเล็กๆ สามพระองค์ก็ประทับรถลากสองล้อให้มหาดเล็กลากไปเฝ้าฯ สมเด็จพระอัยยิกา สามพระองค์ประทับรถลากคันเดียวกันและโปรดให้ลากเร็วๆ คราวหนึ่ง ทรงสนุกมาก เต้นอยู่บนรถจนพลัดตกลงมาเป็นแผล สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงไม่นำเสด็จขึ้นเฝ้า ด้วยทรงเกรงว่าสมเด็จพระอัยยิกาจะทรงเป็นห่วงพระราชนัดดามาก เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงถือว่าการเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก จึงทรงสนับสนุนให้พระราชโอรส พระราชธิดา ได้ทรงเล่นออกกำลังพระวรกายตามธรรมชาติของเด็ก การเล่นบางอย่างที่เด็กชอบเล่น แต่ผู้ใหญ่มักไม่ยอมให้เด็กเล่น เพราะเกรงอันตรายหรือกลัวสกปรกเปรอะเปื้อน เช่น เล่นน้ำ เล่นไฟ หรือเล่นดินเล่นทราย สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงอนุญาตให้พระราชโอรส พระราชธิดาทรงเล่นได้ ทรงควบคุมดูแลด้วยพระองค์เองให้ทรงเล่นในที่ปลอดภัย เช่น ที่บ่อน้ำเล็กๆ ตื้นๆ หรือในที่ซึ่งทรงสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอันตราย หรือสกปรกเลอะเทอะ เพราะฉะนั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีโอกาสได้เล่นสนุกอย่างที่เด็กๆ ชอบ ทรงเล่นทราย เล่นขุดดิน เล่นน้ำ และเล่นจุดไฟ ทั้งยังทรงได้เล่นขับรถยนต์ด้วย แม้จะเป็นรถยนต์เก่าที่ใช้ไม่ได้เแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงให้มหาดเล็กยกมาวางขึ้นคานไม้ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมเชษฐาก็ทรงขึ้นไปนั่งทำท่าเหมือนขับรถจริงๆ แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงสนับสนุนให้พระราชโอรส พระราชธิดาทรงเล่นสนุกตามประสาเด็ก แต่ทั้งสามพระองค์ก็ต้องทรงอยู่ในระเบียบวินัย ต้องทรงปฏิบัติทุกอย่างเป็นเวลา ไม่ใช่เถลไถลไปทำโน่นทำนี่ และต้องทรงตรงต่อเวลา ที่พระตำหนักใหม่ ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารกลางวันจะมีเสียงฆ้องเป็นสัญญาณ บางครั้งพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมเชษฐาทรงเล่นเพลิน ไม่ทรงเลิกทั้งๆ ที่เสียงฆ้องลั่นแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงให้เล่นต่อไป แต่เมื่อถึงเวลาบรรทมตอนบ่าย พระองค์จะทรงตามให้เสด็จขึ้นมาชำระพระหัตถ์ แล้วให้เสด็จขึ้นพระแท่นบรรทมเลย ไม่ทรงอนุญาตให้เสวยอะไรจนกว่าจะถึงเวลาเสวยนมตอนบ่าย 4 โมงเย็น สมเด็จพระอัยยิกาก็ทรงสนับสนุนให้พระราชนัดดาทรงอยู่ในระเบียบวินัย วันหนึ่ง พระราชนัดดามาเฝ้าฯ ที่โต๊ะเสวย ทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่วางอยู่บนโต๊ะเสวย ก็ทรงชี้ว่า "นี่น่าอร่อย นี่น่าอร่อย" สมเด็จพระอัยยิกาใคร่ที่จะประทาน แต่ก็ทรงนึกได้ว่า "ไม่ได้ๆ แม่เขาจะว่า" จึงทรงให้คนห่อแบ่งเอาไปถวายที่พระตำหนักใหม่ให้เสวยเมื่อถึงเวลาที่จะเสวย เรื่องการอบรมเด็กให้มีระเบียบวินัย ทำอะไรตามเวลานี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงมีครอบครัวของพระองค์เอง ก็ทรงนำมาเป็นหลักปฏิบัติในการอบรมพระราชโอรส พระราชธิดา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่า เมื่อทรงพระเยาว์ พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ทรงปฏิบัติตามตารางเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางไว้โดยเคร่งครัด เช่น "เช้าต้องดูหนังสือ กินข้าวแล้วเดินไปโรงเรียน ตอนบ่ายกลับมาขึ้นเฝ้าฯ ให้ท่านเห็นหน้าเห็นตา บ่ายสองสามโมงออกอากาศ (เดินเล่น) ห้าโมงขึ้นมากินข้าวเย็น...ทุ่มหนึ่งก็เข้านอน" ในพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่เยาวชนของชาติ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 8 มกราคม พ.ศ.2526 พระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ถึงความสำคัญของการมีระเบียบวินัย ดังนี้ "เด็กๆต้องฝึกหัดอบรมทั้งกายทั้งใจให้เข้มแข็ง เป็นระเบียบและสุจริต เพื่อประโยชน์ของตนในภายหน้า เพราะคนที่ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถควบคุมกายใจให้อยู่ในระเบียบและความดี ยากนักที่จะได้ประสบความสำเร็จและความเจริญอย่างแท้จริงในชีวิต" พระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ วังสระปทุม จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2476 จึงได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบรมเชษฐา และพระเชษฐภคินี ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเสด็จต่างประเทศครั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาไม่ทรงแข็งแรงนัก แพทย์ทูลแนะนำให้เสด็จไปประทับในต่างประเทศที่มีอากาศสบายๆ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงเลือกเมืองโลซานน์ เมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม และพลเมืองมีอัธยาศัยดี เป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จนิราศพระนครไปในครั้งนั้น ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เกือบ 10 เดือนแล้ว สถานการณ์การเมืองที่ผันแปรไป ส่งผลต่อสถานภาพของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางกลุ่ม พระบรมวงศานุวงศ์จำนวนมากและข้าราชการบางส่วนต้องออกจากราชการ เจ้านายหลายพระองค์ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยไปประทับในต่างแดน ต่อมาเมื่อความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กับรัฐบาลของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เพิ่มพูนมากขึ้นทุกที จนไม่อาจจะประนีประนอมได้ ความยุ่งยากทางการเมืองก็ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อพระชนม์ชีพของเจ้านายทั้งสามพระองค์แห่งราชสกุล มหิดล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ.2477 และทรงสละพระราชสิทธิในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติด้วย รัฐบาลจึงได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์ เนื่องจากทรงอยู่ในลำดับที่หนึ่งแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล พุทธศักราช 2467 หลังจากที่สมเด็จพระบรมเชษฐาทรงรับราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยอยู่อย่างสงบเฉกเช่นครอบครัวเล็กๆ ก็แปรเปลี่ยนไปบ้าง พระเจ้าอยู่หัวและพระเชษฐภคินีทรงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า ทั้งสองพระองค์ทรงย้ายจากอาคารที่ประทับเดิมไปประทับ ณ พระตำหนักวิลลาวัฒนา ซึ่งใหญ่โตโอ่โถงกว่า เพื่อให้สมพระเกียรติยศตามความประสงค์ของรัฐบาล แม้วิถีชีวิตภายนอกจะแตกต่างไป แต่การดำรงพระชนม์ชีพของทั้งสี่พระองค์ยังคงเหมือนก่อน คือ มุ่งหมายที่จะเป็นคนดี สุจริต และช่วยเหลือคนไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "...รัชกาลที่ 8 ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกมากกว่า เราต้องย้ายไปอยู่บ้านที่หรูหรากว่า แทนที่จะอยู่แฟลตเล็กๆ ต้องมีราชองครักษ์ มีราชเลขาฯ ต้องรับแขก ต้องรู้จักอะไรมากขึ้นหน่อย คำพูดก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องอะไรหลายอย่าง แต่ภายในยังเหมือนเดิม ความมุ่งหมายที่จะเป็นคนดียังเหมือนเดิม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอก คือ ท่าน (หมายถึงสมเด็จพระบรมราชชนนี) ได้ทำสิ่งที่เริ่มไว้แล้วคือ ตั้งแต่เมืองไทยจนถึงเมืองนอก เมื่อไปท่านก็ได้พูดไว้ว่าเรียนหนังสือให้ดี จะได้ความรู้มาช่วยประเทศ ช่วยคนไทย สงสารคนไทยที่ยังยากจนที่เคราะห์ร้ายกว่าเรามาก อันนี้เป็นการเตรียมต่อเนื่องจากเก่า ไม่ใช่ของที่ใหม่" เมื่อความตื่นเต้นต่างๆ หลังจากที่สมเด็จพระบรมเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆได้ผ่านพ้นไป การดำรงพระชนม์ชีพของพระเจ้าอยู่หัวก็กลับคืนสู่เส้นทางเดิม คือ ชีวิตที่สงบ เรียบง่าย ใน พ.ศ.2478 พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมเชษฐาเสด็จเข้าโรงเรียนนูเวลล์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ทรงเรียนจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลาย และทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ตอนแรกทรงเป็นนักเรียนไปมา จน 2 ปีสุดท้ายจึงทรงเป็นนักเรียนประจำ เพื่อจะได้ทรงทราบชีวิตนักเรียนประจำที่ต้องทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่าง พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมเชษฐาทรงใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก เพราะพระชนมพรรษาห่างกันเพียง 2 พรรษา สองพระองค์ทรงโปรดของหลายสิ่งคล้ายกัน และมักจะทรงทำอะไรเหมือนกัน เช่น ฉลองพระองค์มักจะทรงเลือกแบบเดียวกัน แต่ชุดหนึ่งโตหน่อย ชุดหนึ่งเล็กหน่อย ทรงโปรดเรื่องเรือรบและเครื่องบินเหมือนกันทั้งสองพระองค์ ทรงรวบรวมสมุดภาพเรือรบและเรือจำลองไว้หลายลำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขอให้กองทัพเรือไทยส่งภาพถ่ายและรูปจำลองเรือรบของกองทัพไทยไปถวาย พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ทำเรือรบจำลองถวาย 2 ลำ เพื่อจะพระราชทานสมเด็จพระอนุชาลำหนึ่ง เมื่อเจริญพระชนมพรรษามากขึ้น ก็ทรงโปรดดนตรีเช่นกัน และทรงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าเหมือนกัน ถึงแม้ในขณะนั้นจะทรงเป็น เจ้าฟ้า แล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงรับเงินค่าขนมไม่มากนัก สัปดาห์ละครั้ง เงินที่ได้พอแค่ที่จะซื้อขนม เช่น ลูกกวาด หรือช็อกโกแลต หรือหนังสือ และของเล่นเล็กๆ น้อยๆ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสอนให้ทรงประหยัดและรู้จักเก็บเงินฝากธนาคาร ของเล่นนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่ใคร่จะทรงซื้อให้บ่อยนัก เว้นแต่วันปีใหม่และวันราชสมภพ โดยมากเป็นของเล่นชิ้นโตๆ ที่พระราชโอรส พระราชธิดา จะทูลขอล่วงหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าพระเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ของเล่นอื่นๆ ก็ต้องทรงเก็บเงินค่าขนมเข้าหุ้นกันซื้อของเล่น เมื่อมีพระชนมพรรษาสูงขึ้น มักจะทรงทำของเล่นเอง พระเจ้าอยู่หัวโปรดงานที่ทำด้วยฝีพระหัตถ์ "ทูลกระหม่อมพ่อท่านเป็นช่างแต่เล็กๆ แก้จักรใช้แหนน (พระพี่เลี้ยงเนื่อง) ได้ ก็ได้รางวัล" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าตามที่ทรงได้ฟังมา พระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือลำเล็กๆ และแทนที่จะทรงซื้อวิทยุสำเร็จรูป พระองค์และสมเด็จพระบรมเชษฐาก็ทรงช่วยกันเปิดตำราที่สอนการประกอบวิทยุ ทรงต่อวิทยุตามตำราจนสำเร็จใช้การได้ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนับสนุนให้ทรงทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ใต้ถุนพระตำหนักวิลลาวัฒนามีที่ทำเครื่องไม้และมีอุปกรณ์ทำงานช่างไม้ครบครัน ต่อมาเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้ว เวลาว่างพระราชกิจ พระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบเอง ทรงคิดสร้างแบบเรือใบขนาดเล็ก พระราชทานชื่อว่า ซูเปอร์มด เหมาะแก่ผู้ที่มีร่างเล็ก เพราะเรือมีน้ำหนักน้อย ทั้งยังทุ่นแรงในการขนส่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามพุทธภาษิตเกี่ยวกับการทำของใช้เองว่า กตฺเต รมเต ผู้ทำเอง ย่อมรื่นรมย์ หลังจากประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ 5 ปีเศษ พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ.2481 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และเชษฐภคินี ประทับอยู่นาน 2 เดือนจึงเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ การเสด็จกลับประเทศไทยครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีโอกาสรู้จักบ้านเมืองของพระองค์มากขึ้น เพราะเมื่อเสด็จจากไป ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 5 พรรษาเศษ ความรู้เรื่องเมืองไทยจึงยังไม่หนักแน่น เมื่อโดยเสด็จพระบรมเชษฐากลับมา จึงทรงมีโอกาสทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของชาติ เมื่อเสด็จกลับไป พระเจ้าอยู่หัวคงจะทรงมีความผูกพันกับเมืองไทยและคนไทยมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังได้ทรงศึกษาภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย และความรู้ทางศาสนากับพระอาจารย์คนไทยที่ทางรัฐบาลส่งไปถวายพระอักษรตามพระราชประสงค์ การเสด็จนิวัตพระนคร แม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่ราษฎรมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกหนแห่ง ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ที่ใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระอนุชาเสด็จพระราชดำเนินไป จะมีราษฎรมาเฝ้าชมพระบารมีเป็นจำนวนมาก ตามสถานีต่างๆ ที่ขบวนรถไฟพระที่นั่งผ่าน มีการตั้งเครื่องบูชา และพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ความกระตือรือร้นพร้อมอกพร้อมใจกันมารับเสด็จอย่างบริสุทธิ์ใจของประชาชน ไม่มีผู้ใดบังคับกะเกณฑ์ ย้ำให้เห็นว่าความจงรักภักดีและความเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดมาช้านาน ยังมั่นคงแน่นแฟ้นอยู่ในใจของประชาชน (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ..... (3) หลังจากเสด็จไปทรงศึกษาต่อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่นานก็เกิดสงครามขึ้นในยุโรป และต่อมาสงครามได้ขยายไปแทบทุกภูมิภาคของโลก จนได้ชื่อว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างสงคราม พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ดังเดิม มิได้ทรงอพยพลี้ภัยสงครามไปยังที่ซึ่งปลอดภัยกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเป็นห่วงการศึกษาของพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเกรงว่าถ้าแปรพระราชฐานไปประทับที่ประเทศอื่นก็จะขาดการฝึกฝน และทรงเชื่อมั่นว่า ชาติต่างๆ คงจะเคารพความเป็นกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และจะไม่รุกราน แม้ว่าจะไม่มีชาติใดเข้ารุกรานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่กระนั้น ประเทศนี้ก็พลอยได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เนื่องจากขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จนถึงกับต้องมีการใช้บัตรปันส่วนอาหารและข้าวของเครื่องใช้ พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงวางพระองค์ผิดแผกจากชาวสวิสคนอื่นๆ หรือทรงเรียกร้องสิทธิพิเศษ ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวชาวสวิสคนอื่นๆ หรือทรงเรียกร้องสิทธิพิเศษ ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวชาวสวิสทั่วๆไป เมื่อเสด็จไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ทรงจักรยาน ไม่ได้ใช้รถพระที่นั่ง เพราะน้ำมันขาดแคลน สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนยและเก็บผลไม้มาทำแยมเก็บไว้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าพระราชทานว่า "ทูลหม่อมพ่อทรงเล่าว่า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ลำบากเหมือนกัน" พ.ศ.2488 พระเจ้าอยู่หัวทรงสอบไล่มัธยมปลายได้แล้ว ก็เสด็จเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิชาวิทยาศาสตร์ พระบรมเชษฐาทรงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ทรงเลือกเรียนวิชานิติศาสตร์ ส่วนพระเชษฐภคินีทรงศึกษาวิชาเคมี เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐบาลไทยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครชั่วคราว เพื่อบำรุงขวัญชาวไทยให้ชุ่มชื่นภายหลังมหาสงคราม พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้โดยเสด็จกลับประเทศไทยด้วย ถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2488 ระหว่างประทับที่กรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมเชษฐา เสด็จเยี่ยมราษฎรตามต่างจังหวัดและชานเมืองกรุงเทพฯ หลายครั้ง ทรงสนพระราชหฤทัยในทุกข์สุขของราษฎรและการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทั้งยังได้ตามเสด็จประพาสสำเพ็ง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ชาวจีนในสำเพ็งได้เข้าเฝ้าฯ ชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ประชาชนชื่นชมเทิดทูนสมเด็จพระบรมเชษฐา รักและนิยมสมเด็จพระอนุชา สองพระองค์งามทั้งพระรูปโฉมและพระราชจริยวัตร พระอัธยาศัยอันอ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ ประทับใจเหล่าพสกนิกรที่คอยแห่แหนเฝ้ารับเสด็จทุกหนทุกแห่ง ประชาชนสุขใจอยู่ได้ไม่ทันไร ทุกข์ก็ย้อนกลับมาหา เช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก่อนกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยเพียง 4 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต ข่าวสวรรคตนำความเศร้าโศกสลดมาสู่ชาวไทยในเวลานั้นอย่างใหญ่หลวง แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับความทุกข์ระทมอย่างลึกซึ้งของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงเฝ้าถนอมถวายพระอภิบาลมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และของสมเด็จพระอนุชาที่ทรงใกล้ชิดสนิทสนมและร่วมทุกข์ร่วมสุขมาโดยตลอด ในท่ามกลางความทุกข์เทวษ พระเจ้าอยู่หัวได้รับคำกราบบังคมทูลอัญเชิญของรัฐบาลให้เสด็จขึ้นทรงราชย์ หลังจากประทับอยู่จนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ โดยเหตุที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่ ทรงศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดี เมื่อว่างจากพระราชกิจในการศึกษา พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสชนบทและประเทศใกล้เคียง เช่น อิตาลี และฝรั่งเศส ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทอดพระเนตรสถานที่สำคัญตามเมืองต่างๆ และชมทัศนียภาพที่งดงามและเงียบสงบในชนบท ในฤดูหนาว มักจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถที่สถานที่ตากอากาศบนเขาสูง เพื่อทรงสกี การออกกำลังพระวรกาย ทำให้พระอนามัยแข็งแรง และทรงสำราญพระราชหฤทัย ประชาชนชาวไทยแม้จะอยู่ห่างไกล แต่เฝ้าคอยฟังข่าวพระเจ้าอยู่หัวจากทางหนังสือพิมพ์ เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญดี ต่างก็รู้สึกเป็นสุข แต่แล้วถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ได้เกิดเหตุร้ายที่สะเทือนขวัญประชาชนยิ่งนัก พระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์พระอาการสาหัส เมื่อรัฐบาลและหนังสือพิมพ์แถลงข่าวให้ทราบทั่วกันว่าพระอาการดีขึ้นมากแล้ว แต่ราษฎรก็ยังรู้สึกวิตกเป็นห่วงใย และตั้งความหวังว่าคงจะทรงพระสำราญขึ้นในเร็ววัน เหตุการณ์ร้ายแรงในปลาย พ.ศ.2491 ผ่านพ้นไปแล้ว ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ที่น่าชื่นชมยินดี เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้านักขัตรมงคลกิติยากร) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระเจ้าอยู่หัวทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2490 ขณะนั้นพระบิดาทรงเป็นอัครราชทูตอยู่ ณ กรุงปารีส ต่อมาได้เสด็จไปกรุงปารีสอีกหลายครั้งด้วยพระราชกิจต่างๆ ท่านอัครราชทูตและครอบครัวได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเสมอ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีฯ ทรงพาครอบครัวมาเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ พระเจ้าอยู่หัวทรงขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์พำนักที่โลซานน์เพื่อเฝ้าฯ ถวายการรักษาพยาบาลด้วย ปีต่อมา พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตพระนคร พร้อมด้วยหม่อมราชวงสิริกิติ์ ใน พ.ศ. 2493 นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีสำคัญ 3 พิธี คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐา พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก งานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้น ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 วันนั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบนพร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตอนกลางคืนมีงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายใน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กที่สุดงานหนึ่ง ต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเปล่งพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม หลังจากนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ..... (4) เมื่อเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากแพทย์ที่รักษาพระองค์ทูลแนะนำให้ทรงพักผ่อนรักษาพระอนามัย ณ ประเทศนั้นอีกระยะหนึ่งปีต่อมา พระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระราชธิดาพระองค์แรก จึงได้เสด็จฯกลับประเทศไทยเพื่อประทับเป็นการถาวร "...เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่า ประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือ คนไทยทั้งปวง..." หลังจากเสด็จจากพสกนิกรและประเทศของพระองค์นานนับสิบปี เพื่อทรงศึกษาวิชาการอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ กลับมาประทับเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรของพระองค์ ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ ในดินแดนของพระองค์ นับแต่นี้ พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจตามที่ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ คือ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทั้งมวล **************************** เสด็จฯ เยี่ยมประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอาศัยอยู่ในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา ชาวไร่ ยังประสบปัญหานานัปการในการดำรงชีวิต นับตั้งแต่การขาดแคลนที่ทำกินหรือที่ทำกินประสบภัยพิบัติ ตลอดจนปัญหาในด้านการศึกษา การสาธารณสุข ทั้งๆที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มีนโยบายหลัก ในการเร่งรัดพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านั้นตลอดมา จึงทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ กล่าวคือ ปีละประมาณ 7 เดือน เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักต่างๆ ในแต่ละภาคตามลำดับตั้งแต่ต้นปี ดังนี้ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร อนึ่ง ในบางปีจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังมีบ่อยครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ที่ประทับชั่วคราวตามจังหวัดต่างๆ ของทุกภาค ซึ่งอยู่ในเขตโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือที่ทำการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น การใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่นั้น ทรงเลือกช่วงเวลาไม่ให้ตรงกับงานพระราชพิธี รัฐพิธีสำคัญ หรืองานที่ต้องทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ เช่น ประมุขชาวต่างประเทศในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจหลักที่สำคัญยิ่ง แต่สำหรับงานพิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการศึกษา พิธีทางศาสนา งานกุศล การเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินหรือสิ่งของเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล ในบางกรณีก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระ จะได้ทรงมีเวลาทุ่มเทกับพระราชภารกิจด้านการพัฒนาชนบทอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่าในระหว่างไม่ได้ประทับอยู่ในกรุงเทพมหานคร เกิดมีพระราชกิจสำคัญ เช่น บุคคลสำคัญต่างประเทศเดินทางมาเยือน หรือทูตานุทูตจำเป็นต้องเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้ง หรือถวายบังคมลาในโอกาสที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดินทางไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และจะทรงรับรองบุคคลสำคัญนั้นๆ เช่นเดียวกับที่ทรงประทับอยู่ในกรุงเทพมหานคร พระราชนิเวศน์ต่างๆ ดังกล่าว ประกอบด้วยพระตำหนักซึ่งเป็นที่ประทับ แต่ก็โปรดฯ ให้ใช้ประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางศาสนา พิธีเข้าเฝ้าฯ พิธีพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะ ตลอดจนการพระราชทานเลี้ยงข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร พ่อค้า ประชาชนในพื้นที่ การพระราชทานเลี้ยงในการนี้เป็นการเลี้ยงอย่างไม่มีพิธีรีตองแต่อย่างใด หากเป็นพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ข้าราชการทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่น รู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการด้วยกัน ตลอดจนข้าราชสำนัก อันจะมีผลทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมประสานงานในภารกิจช่วยเหลือราษฎรโดยใกล้ชิดต่อไป ส่วนหัวหน้าหน่วยราชการก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หมุนเวียนกันเข้ารับพระราชทานเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวย เพื่อจะได้มีโอกาสกราบบังคมทูลฯ สภาพความเป็นจริงในท้องที่ พร้อมทั้งรับสนองพระบรมราโชบายไปพิจารณาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในท้องถิ่นรับผิดชอบต่อไป พระราชนิเวศน์ทุกแห่งมีเรือนรับรอง ซึ่งเป็นทั้งที่พักของข้าราชบริพาร และสถานที่รับรองต้อนรับผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศ หรือข้าราชการส่วนต่างๆ ที่มาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานในราชสำนัก ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการในด้านการร่วมมือกันในงานพัฒนาทุกส่วน อาคารอื่นๆ ก็จะเป็นสถานที่ปฏิบัติงานและที่พักของข้าราชการ และข้าราชบริพารหน่วยต่างๆ ที่มีหน้าที่เฉพาะในภารกิจต่างจังหวัด สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่บริการประชาชนโดยตรงก็คือหน่วยแพทย์หลวง ซึ่งเปิดที่ทำการชั่วคราว เพื่อรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่าแก่ราษฎรที่แสดงความจำนงขอรับการตรวจโรค อีกหน่วยงานหนึ่งคือ คลังพัสดุ ซึ่งมีหน้าที่จัดเตรียมถุงของขวัญพระราชทาน ประกอบด้วยสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีพประจำวัน สำหรับมอบให้แก่ผู้แทนหน่วยทหารและตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการร่วมในพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากไม่ทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานได้ครบทุกหน่วย สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นพระราชภารกิจหลักนั้น จะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ ไปทรงเยี่ยมกิจการโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และไปทรงเป็นประธานในพิธีต่างๆ ตามที่ทางจังหวัดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งนี้ จะทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินเมื่อโอกาสอำนวยเท่านั้น เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจมากมายอยู่แล้ว ในการสอดส่องทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร การเสด็จพระราชดำเนินในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนพระองค์โดยแท้จริง พื้นที่ที่จะเสด็จฯ นั้น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็จะร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม โดยกลั่นกรองจากข้อมูลที่รวบรวมจากหนังสือขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินจากหน่วยงานต่างๆ ส่วนที่หมายอื่นก็จะทรงกำหนดเอง เพราะก่อนเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระเจ้าอยู่หัวจะทรงศึกษาสถานการณ์ล่วงหน้าทุกครั้ง จะทรงพิจารณาเส้นทาง ภูมิประเทศ ตลอดจนความยุ่งยากอันเป็นปัญหาที่ราษฎรในพื้นที่ประสบอยู่ และจะทรงวางแผนพัฒนาไว้อย่างคร่าวๆ จนกว่าจะทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริง แล้วจึงปรับแผนให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง จะทรงสังเกตสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ สภาพแหล่งน้ำ สภาพเส้นทางคมนาคม สภาพพื้นที่เพาะปลูก สภาพป่าไม้ ตลอดทางทุกครั้ง เมื่อเสด็จฯ ถึงที่หมาย พระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายท้องถิ่น ในโอกาสนี้ หากทรงพบปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีพของราษฎร หรือในบางกรณี เมื่อราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา ก็จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงมีพระราชดำรัสถึงแนวทางแก้ไขปัญหากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาและฝ่ายรักษาความมั่นคงที่โดยเสด็จฯ สำหรับฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายนั้น จะทรงรับกลับมาและโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาศึกษาพระราชดำริ ก่อนดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสม ในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มักจะทรงแยกขบวนไปทรงเยี่ยมราษฎร เพื่อทรงซักถามถึงสภาพความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องการอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาเล่าเรียนของเด็ก ตลอดจนทรงรับราษฎรที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพพิเศษ โดยอาจจะผลิตผลงานตามที่ตนถนัด แล้วส่งผลิตภัณฑ์ไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งทางมูลนิธิจะรับเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ หรือมิฉะนั้นก็เดินทางไปฝึกงานศิลปาชีพ ณ พระราชนิเวศน์ในภาคนั้นๆ โดยจะได้รับค่าตอบแทนในระหว่างการฝึกงานด้วย รวมถึงอาหารและที่พัก (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#9
|
||||
|
||||
พระราชาผู้ไม่เคยทิ้งประชาชน ..... (5) นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์หลวงที่โดยเสด็จฯ จัดตั้งหน่วยแพทย์ชั่วคราวเพื่อรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย สำหรับบางรายที่มีอาการหนักก็โปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จะทรงขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอนุเคราะห์นำคนไข้ไปเข้าโรงพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินค่าเดินทางอย่างเพียงพอ ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น คนไข้ไม่จำเป็นต้องเสียแม้แต่น้อย ในโอกาสนี้จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกประวัติและอาการคนไข้แต่ละคนอย่างละเอียด เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นข้อมูลในการติดตามผลการรักษา เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเสร็จพระราชภารกิจด้านการพิจารณาวางโครงการแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินมาสมทบกับขบวนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จุดเยี่ยมราษฎร จนเสร็จสิ้นพระราชภารกิจ จึงเสด็จฯ กลับถึงพระตำหนักเป็นเวลาไม่แน่นอน สุดแล้วแต่พระราชภารกิจมากหรือน้อย และแล้วแต่สภาพเส้นทางคมนาคมที่บางครั้งทุรกันดาร เมื่อกลับจากเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริงของพื้นที่แล้ว จะทรงใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นโดยละเอียดถี่ถ้วน ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการที่ทรงไต่ถามทุกข์สุขกับราษฎรในท้องถิ่น การที่ได้มีโอกาสทรงพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาตามสภาพความเป็นจริง ทรงทราบสถิติข้อมูลและรายงานทางวิชาการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา ตลอดจนรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จฯ หรือจากใจความในฎีการ้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย ในบางโอกาสจะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการพัฒนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลรายงานและถวายความเห็น รับพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อนำไปปฏิบัติ แล้วส่งรายงานมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระยะๆ ตามปกติจะเสด็จพระราชดำเนินติดตามทอดพระเนตรผลงานความก้าวหน้า หรือทรงแก้ไขอุปสรรคให้ลุล่วงไปด้วยดีในพื้นที่เดิม จนกระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทรงชำนาญในการวางแผนงานจากแผนที่ประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศเป็นพิเศษ เพราะทรงศึกษาการใช้ประโยชน์จากแผนที่ โดยทรงตรวจสอบความถูกต้องกับพื้นที่จริงอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบัน แนวพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการพัฒนาชนบทจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกภูมิภาค กล่าวคือ ก่อนอื่นจะทรงพิจารณาสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคเสียก่อน มักจะทรงเลือกท้องที่ค่อนข้างห่างไกลความเจริญ ทั้งนี้หมายความว่ามิได้ทรงก้าวก่ายงานของทางราชการ หากแต่ทรงพยายามส่งเสริมงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น ให้สอดคล้องกันกับของทางราชการ ภาระด้านงบประมาณและความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ท้องถิ่นก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะพระราชทานทุนฉุกเฉินอยู่เนืองๆ โดยไม่มีเงื่อนไข เงินพระราชทานดังกล่าวประกอบด้วยเงินที่มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ในที่สุดเมื่อโครงการพัฒนาดังกล่าวนี้เริ่มพึ่งตัวเองได้มั่นคงแล้ว ก็จะทรงมอบให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล เพราะฉะนั้น การจัดตั้งโครงการพัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการพัฒนาชนบท ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือราษฎรในชนบทนั่นเอง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ถือเป็นหลักในทุกภูมิภาค คือ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นทั้งหมด 6 แห่ง กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวคือ การ ศึกษา ได้แก่ การค้นคว้าทดลอง วิจัยปัญหาเกษตรกรรมในท้องที่ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนแสวงหาแนวทางกับวิธีการพัฒนาด้านต่างๆที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ตลอดจนการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ราษฎรสามารถรับไปปฏิบัติได้จริงจัง เมื่อสามารถค้นพบหรือค้นคิดวิธีแก้ไขปัญหาส่วนใด ด้วยวิธีการใด หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้นได้ ก็จะจัดให้มีการสาธิต ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนา ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็ดำเนินการศึกษาต่อไป เนื่องจากปัญหาแต่ละข้อมีความยากง่ายไม่เท่ากัน ในที่สุด ประชาชนในท้องที่ ตลอดจนที่มาจากท้องถิ่นใกล้เคียง ก็สามารถเดินทางมาศึกษาดูงานวิทยาการแผนใหม่จากงานสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จนี้ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงวิธีการทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้น อาจสมัครเข้าฝึกอบรมทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน และด้านศิลปาชีพพิเศษ กิจกรรมทั้งหมดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่งจะมีลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่มีชีวิต ซึ่งนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ก็อาจเดินทางไปชมในแง่ที่เป็นการทัศนศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนพักผ่อนหย่อนใจไปในโอกาสเดียวกัน ภารกิจหลักอีกประการหนึ่งก็คือ การกระจายผลที่ได้จากการศึกษาในรูปของวิธีการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ก่อให้เกิดการขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ หากพบว่าพื้นที่ใดในแต่ละภาคประสบปัญหามาก และอาจจะมีลักษณะแตกต่างกัน ก็อาจพิจารณาจัดตั้งศูนย์สาขาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนในทุกๆ ด้านจากศูนย์ใหญ่ กิจกรรมหลักของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยทั่วไป คือ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนกิจการเกษตรกรรมทุกสาขา ตลอดจนเพื่อการอุปโภคบริโภคให้สมบูรณ์ อันจะมีผลต่อการช่วยอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำลำธารและป่าไม้ การปลูกป่าทดแทนอย่างมีระบบเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อประโยชน์ใช้สอย การศึกษาพัฒนาที่ดินที่มีปัญหาและที่ดินไร้ประโยชน์ให้สามารถทำกินเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก หมุนเวียนกับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เท่าที่สภาพพื้นที่จะอำนวย กิจกรรมอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงสนับสนุนควบคู่กับการเพาะปลูก คือ การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ การที่ทรงมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอันดับแรก เพราะ น้ำ เป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาและการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถบรรเทาอุทกภัยได้ และที่สำคัญก็คือ เป็นทรัพยากรที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยง่าย จึงได้มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่จำเป็นทั่วประเทศเป็นจำนวนประมาณ 600 โครงการ อ่างเก็บน้ำดังกล่าวทุกแห่งจะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและกุ้งน้ำจืด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญอย่างยิ่ง การเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ไร้ประโยชน์ให้สามารถเปิดเป็นที่ทำกินได้นั้น ก็เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเกษตรกรขาดแคลนที่ดินทำกิน และยังได้ช่วยชะลอการบุกรุกทำลายบริเวณป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร กับช่วยฟื้นฟูที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้กลับมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้อีก ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูคุณภาพดินส่วนหนึ่งก็คือน้ำนั่นเอง เมื่อมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบ ก็จะสามารถเปิดขยายที่ทำกินออกไปได้อีก ทรงคำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วย คือ พื้นที่ที่สามารถเปิดเป็นที่ทำกินนั้น จะจัดสรรให้ผู้ที่ขาดแคลนอย่างเพียงพอและยุติธรรม แต่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการซื้อขาย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่ทางรัฐบาลลงทุนพัฒนาที่ดินดังกล่าวให้ทำกิน แต่ราษฎรผู้ที่ได้รับจัดสรรที่ดินไปแล้วจะมีสิทธิ์ทำกินในที่ดินดังกล่าวตลอดชั่วลูกชั่วหลานได้ โดยทางโครงการจะพิจารณาวางแผนในการขยายที่ทำกินออกไปให้สมดุลกับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น หลักการดังกล่าวเรียกว่า สิทธิทำกิน (สทก.) ขณะนี้รัฐบาลได้รับสนองพระบรมราโชบายข้อนี้ไปดำเนินการในพื้นที่พัฒนาทั่วประเทศแล้ว. จาก .................... ไทยโพสต์ วันที่ 5 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#10
|
||||
|
||||
พระอัจฉริยภาพ ด้านบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการเป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ "น้ำคือชีวิต" ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17มีนาคม 2529ความว่าตอนหนึ่งว่า “...น้ำคือชีวิต หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้าไม่มีคนน้ำอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” ดังนั้น จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาแห่งการทรงงานในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้น จนก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนกว่า 3,000 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกว่า 2,000 โครงการ ที่ได้สร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 5 ประเภท 1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ 2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร 3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 4. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม 5. โครงการบรรเทาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ก็มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่าง พร้อมกันไป โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พอสรุปได้ดังนี้ 1. ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้น และสามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ เป็นการช่วยให้ราษฎร มีรายได้มากขึ้น 2. ในบางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นที่แห้งลงจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ช่วยให้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกินแห่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติไว้ได้ 3. เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ ก็มีการปล่อยพันธุ์ปลา ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง สามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัว หรือเสริมรายได้ขึ้น 4. ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่าง พอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย 5. บางโครงการจะเป็นประเภท เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ เช่น กทม. และปริมณฑล ช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาลเป็นอันมาก 6. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าใช้ สำหรับแสงสว่างในครัวเรือนได้บ้าง 7. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธาร เป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธาร เขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนว กระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำ ลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป โครงการแก้วิกฤตให้ราษฎร ครั้งอดีตการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมุ่งเน้นเพียงการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอใช้ในการประกอบกิจกรรมโดยไม่ขาดแคลน ส่วนการบริหารทรัพยากรน้ำในส่วนของการจัดการและการอนุรักษ์ถือเป็นเรื่องที่รองลงมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำที่เป็นต้นทุนเหล่านั้น แต่เมื่อมาถึงกาลเวลาที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวและการเติบโตของเมือง การเปลี่ยนแปลงภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่หลายๆแห่ง ดังเช่นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบ เฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ มหานครที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีผู้คนจากทุกภูมิภาคหลั่งไหลเข้ามาทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจกรรมต่างๆ จากพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นผืนนากว้างใหญ่แปรเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ และปัญหาน้ำท่วมอันมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากพื้นที่ที่เคยใช้ทำนา สามารถรองรับน้ำเหนือหลากและน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ไว้ได้อย่างไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ซึ่งบางเรื่องราษฎรต้องประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง และด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ให้กับราษฎรอย่างต่อเนื่อง อันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้สรุปโครงการที่สำคัญๆ ให้ทราบดังนี้ โครงการแก้มลิง ได้ทรงเรียนรู้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระชนมายุ 5 พรรษา จากลิงในกรงที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเลี้ยงที่วังสระปทุม เอากล้วยไปให้เขากิน เขาจะเคี้ยวแล้วบางส่วนจะกลืนเข้าท้อง บางส่วนเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม ถ้ามากเกินไปเขาจะคายออกมาไม่มากเกินไปหรือไม่น้อยเกินไป เขาจะรู้โดยสัญชาตญาณ กล้วยที่เก็บไว้ที่แก้มจะนำมาเคี้ยวและกลืนเข้าท้องอีกเมื่อหิว จึงเปรียบได้กับแก้มลิงเก็บน้ำ เช่นที่บึงหนองบอน จะต้องทราบว่าเก็บน้ำได้เท่าใด จะเก็บไว้ใช้ได้เท่าใด น้ำจะลงจากเหนือเท่าใด เพราะถ้าน้ำมากก็จะท่วม ต้องคายทิ้ง หรือเก็บตามแก้มลิงอื่นๆ แต่ถ้าน้ำท่วมน้อยแก้มลิงก็ไม่เต็ม น้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น จึงต้องทราบปริมาณน้ำที่ไหลมาแต่ละปี ปริมาณที่แก้มลิง (ทั้งหมด) จะเก็บได้ (และเมื่อเข้าฤดูแล้ง) จะต้องคาย (พร่อง) น้ำเท่าใด จะเก็บไว้ใช้เท่าใดต้องคำนวณให้ทราบ ปริมณฑล กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออกมีปัญหาการระบายน้ำไม่มากนัก เพราะมีการสร้างคันกั้นน้ำรอบกรุงเทพฯ มีคลองระบายน้ำจากด้านเหนือออกสู่ทะเล ริมทะเลมีเครื่องสูบน้ำออกทะเลจำนวนมาก มีประตูปิดเปิดน้ำ คลองทุกคลองที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ เช่น คลองบางซื่อ คลองสามเสน คลองบางลำพู และคลองพระโขนง เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2526 เรื่อยมา ปัจจุบันกรุงเทพฯได้เตรียมทำแก้มลิงไว้จำนวนมาก ราว 20 แห่ง พื้นที่ก็กว้างขวางกว่าเขตตะวันตก น้ำกระจายตัวได้มากกว่า สำหรับสระเก็บน้ำพระราม 9 ระหว่างคลอง 5 และคลอง 6 ควรปล่อยน้ำออกมาบ้าง แต่ระดับน้ำตามคลองต่างๆคงจะสูงอยู่ก็ต้องหาทางระบายให้ลดลงบ้างพยายามให้ระบายออกเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านตะวันตกระบายน้ำมาจากกรุงเทพฯ ถ้าปล่อยมาทั้งหมดจะท่วมเมืองสมุทรสาคร จึงต้องใช้คลองสนามชัย และคลองมหาชัย เป็นแก้มลิง และหาทางระบายน้ำออกทะเลให้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่พอ น้ำยังไหลไปสมุทรสาครได้ อยากให้หาทางระบายน้ำออกทะเลให้มากกว่านี้ นอกจากนั้นน้ำที่ระบายออกไปยังไหลกลับมาทางเหนือได้อีก ให้มีการคำนวณว่าน้ำไหลออกไปเท่าใด ไหลกลับมาเท่าใด ไหลลงทะเลเท่าใด อยากให้ทราบปริมาณ และอยากให้ไหลลงทมะเลให้หมดทางด้านประตูของชลประทานรู้สึกว่าจะได้ผล ขอให้มีการประสานการบริหารจัดการระหว่างกรมชลประทาน กรุงเทพมหานครและสมุทรสาคร ให้ระบายน้ำออกทางเดียวกัน แม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นเดียวกันที่คลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง น้ำเมื่อปล่อยลงไปแล้ว ต้อง(บริหารจัดการ) ไม่ให้ย้อนกลับมาอีก น้ำขึ้นมาต้องให้ไปอยู่ช่วงกระเพาะหมู หรือคลองเตย ซึ่งมีระยะทางถึง 17 กิโลเมตร อย่าให้ขึ้นไปด้านเหนืออีก จะทำให้ป้องกันน้ำท่วมได้มาก ลักษณะลำน้ำที่เหมือนกระเพาะหมูยังมีอีกหลายแห่งต้องช่วยกันดูแลนำมาใช้ประโยชน์ กล่าวได้ว่างานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ดังที่ ปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งฟัง เมื่อวันที่ 5-10 ตุลาคม 2538 ดังนี้ “...งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ ถ้าขาดแคลน ก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมากก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสีย ก็ต้อองมีการจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทราบปัญหาอย่างละเอียด...” จาก ................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 2 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|