เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 21 - 24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 26 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


น้องมาแล้ว! พะยูนโตเต็มวัยโผล่ทะเลใกล้สะพานราไวย์ แห่ห่วงจะเกิดอันตราย

พบ "พะยูน" โตเต็มวัยโผล่ในทะเลใกล้สะพานราไวย์ ภูเก็ต ชาวเน็ตแห่ห่วงกลัวเกิดอันตราย ติดเครื่องมือประมง และถูกใบพัดเรือ เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบดูแลเฝ้าระวังแล้ว



เมื่อวันนี้ 20 ส.ค. เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล ภูเก็ต Phuket Info Center ได้แชร์คลิปวิดีโอความยาว 41 วินาที พร้อมระบุข้อความว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พบ?#พะยูน?ที่สะพานหาดราไวย์ ฝั่งตะวันตกของภูเก็ต #แจ้งเตือนเดินเรือ #ด้วยความระมัดระวัง #ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ พบกับพะยูน บริเวณสะพานราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต หลังคลิปดังกล่าวได้เผยแพร่ลงสู่โซเชียลมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ มายังไงครับ มากี่ตัว ช่วยกันดูด้วยแลน้องด้วยครับ, ระวังมีคนไปจับครับ, กลัวน้องจะโดนใบพัดเรือ ขับกันเร็วเกิน, จนท.จากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากทช. ได้รับแจ้งแล้วครับ กำลังเดินทางไปที่ราไวย์

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า
สะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อยู่ทางตอนใต้ของจ.ภูเก็ต ภาพถ่ายเมื่อ 4 ปีที่แล้วพบมีหญ้าชะเงาใบมนขึ้นเป็นหย่อม พื้นที่นี้ไม่เคยพบพะยูนมาก่อน แต่วันนี้เราพบน้องมาแล้ว เป็นภาพวิดีโอพะยูนเต็มวัยที่ถ่ายจากบริเวณสะพานราไวย์ พะยูนที่พบน่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หญ้าทะเลตรังที่เสื่อมโทรม พะยูนจำนวนมากที่นั่นหายไป โดยคาดว่าเป็นการย้ายถิ่นไปหาแหล่งหญ้าอื่น ที่น่าเป็นห่วงคือ พะยูนจะยังไม่คุ้นเคยกับภัยคุกคามในที่ใหม่ เป็นผลให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีพะยูนเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญและการโดนใบจักรเรือจำนวนหลายตัว จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการป้องกันและเฝ้าระวังจากชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ในการดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบนได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสุขภาพและสำนักบริหารทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งที่หก ทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังลงพื้นที่บริเวณสะพานราไวย์ ซึ่งมีพะยูนโผล่ขึ้นมาแล้ว

ต่อมานายนิกร ปภากิจยศพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลไวย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่ชาวประมงได้พบพะยูน เข้ามายังสะพานตำบลราไวย์ พบว่าพะยูนตัวเต็มวัยกำลังว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในทะเลและโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำเป็นบางครั้งคราว

นายนิกร กล่าวว่า วันนี้ตามที่ชาวบ้านแจ้งมาว่าเจอปลาพะยูนบริเวณสะพานหาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งวันนี้ได้ลงมาพื้นที่และเดินดูพบว่าเป็นปลาพะยูนจริงๆ ได้โผล่ขึ้นมาให้เห็น ขณะที่ตนให้สัมภาษณ์อยู่ก็มีปลาพะยูนโผล่ขึ้นมา ซึ่งถือว่าในต.ราไวย์บ้านเราก็ยังสมบูรณ์ยังมีพืชที่ปลาพะยูนเข้ามากิน ไม่อย่างนั้นปลาพะยูนจะไม่เข้ามาเพราะปลาพะยูนกินพืชเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นสะพานราไวย์ก็ยังอุดมสมบูรณ์ถ้ามีอะไรจะแจ้งข่าวให้ทราบต่อไป


https://www.dailynews.co.th/news/3774105/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ฮือฮา! ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ ลงสำรวจหลังพบ "พะยูน" ครั้งแรกแถวหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจหลังมีคนพบ ?พะยูน? ที่สะพานราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพได้ เบื้องต้น มีข้อมูลพบพะยูนถึง 9 ตัว แต่ต้องรอการยืนยัน



วันนี้ (20 ส.ค.) เพจเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลภูเก็ต ได้โพสต์คลิปการพบพะยูนที่ท่าเทียบเรือราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยในคลิปเป็นภาพสัตว์ทะเลคล้ายพะยูนกำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเล โดยเห็นตั้งแต่ช่วงหัวเรื่อยไปถึงหลังและลำตัว ความยาวของคลิปราว 40 วินาที เบื้องต้นคาดว่าพะยูนมีความยาวราว 1.5-1.8 เมตร และได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เช่น เป็นครั้งแรกที่เคยเห็นตัวเป็นๆ ใน จ.ภูเก็ต หรือต้องช่วยกันดูแล หรือมายังไงครับ มากี่ตัว ช่วยกันดูแลน้องด้วยครับ หรือมาหากินหญ้าอ่าวฉลองแน่เลย เป็นต้น

ขณะที่ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณสะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมกับเขียนข้อความว่า "สะพานราไวย์อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดภูเก็ต ภาพถ่ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว พบมีหญ้าชะเงาใบมนขึ้นเป็นหย่อม พื้นที่นี้ไม่เคยพบพะยูนมาก่อน แต่วันนี้เราพบน้องมาแล้ว เป็นภาพวิดิโอพะยูนเต็มวัยที่ถ่ายจากสะพานราไวย์ พะยูนที่พบน่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หญ้าทะเลตรังที่เสื่อมโทรม พะยูนจำนวนมากที่นั่นหายไป โดยคาดว่าเป็นการย้ายถิ่นไปหาแหล่งหญ้าอื่น"

โดยมีผู้รู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น "สมัยก่อนราไวย์สมบูรณ์ มีหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลหลายแบบ ตั้งแต่ท่าเรืออ่าวฉลอง หาดมิตรภาพ แหลมกาน้อย แหลมกาใหญ่ หาดราไวย์ มุมปากบาง มีกลุ่มปะการังอีกเป็นดง ถ้ามีเรือและคนเดินเก็บมากเกินไปก็ทำลายไปมาก เรือที่จอดริมชายหาดควรสร้างท่าเรือให้จอดเรือไว้ทั้งหมด เพื่อชายหาดได้เล่นน้ำและกำหนดเขตน้ำลึกที่อันตราย แต่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ"

ทั้งนี้การพบพะยูนตัวเป็นๆ ที่สะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกคลิปพะยูนไว้ได้ ที่ผ่านมามีแต่คำบอกเล่าว่าพบ แต่ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่แท้จริง ทำให้หน่วยงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเล เช่น กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ต่างตื่นเต้นและให้ความสนใจกับการพบพะยูนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ล่าสุด นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต นำทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากตรวจสอบพะยูนที่สะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า หาดราไวย์ตอนใต้ของ จ.ภูเก็ต ที่ผ่านมาเราไม่เคยพบพะยูนเข้ามาอาศัยอยู่เลย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่เราพบ โดยตรงนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วจะมีหญ้าทะเลขึ้นอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของสะพานราไวย์และด้านขวามือไกลออกไปอีกนิดหน่อย แต่ขนาดของหญ้าไม่ใหญ่มาก เป็นใบมน ขนาดของแหล่งหญ้าบริเวณนี้ไม่ใหญ่มากนัก ฉะนั้นจำนวนพะยูนจะมาอาศัยได้อยู่นาน และได้ข้อมูลว่ามีการพบพะยูนถึง 9 ตัว รอข้อมูลการยืนยัน แต่ขนาดของแหล่งหญ้าไม่สามารถรองรับพะยูนได้มาก จึงเชื่อว่าพะยูนจะเข้ามาอยู่เป็นการชั่วคราว

"สำคัญมาก พะยูนตอนนี้เรามีสถานการณ์ของหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมที่ จ.ตรัง พะยูนจำนวนมากกว่า 50 ตัวหายไปจากพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งเราพบแล้วว่าไปอาศัยอยู่ที่อ่าวพังงาตอนใน และรวมถึงที่ราไวย์เช่นเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พะยูนจะไม่คุ้นกับสภาพพื้นที่ตรงนี้ โดยเฉพาะการถูกคุกคาม ที่ผ่านมาช่วงหลายเดือนเรามีพะยูนเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ จากเรือชนโดนใบจักรหลายตัว จึงต้องเป็นความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการสัญจรทางน้ำ ส่วนการทำประมงขอให้ชาวประมงอยู่กับเครื่องมือตลอด เพราะถ้าพะยูนติดจะได้ช่วยทันและรอดชีวิตได้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์ฯ จะนำเจ้าหน้าที่มาเฝ้าระวังพะยูนบริเวณนี้"


https://mgronline.com/south/detail/9670000076654

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


โครตเฮง!! ซื้อหอยโข่งทะเลมาจากตลาด ตะลึงแกะออกมาเจอ "มุกเมโล"

กระบี่ - โคตรเฮง!! ซื้อหอยโข่งทะเลมาจากตลาดเพื่อทำกับข้าว ตะลึงเกะออกมาเจอมุกเมโลใหญ่เท่านิ้วก้อย หนัก 3.4 กรัม ฝังอยู่ในเปลือกหอย ยังไม่ตัดสินใจขาย



วันนี้ (19 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 193 ม.8 ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ ของนายอำพัน คงชนะ อายุ 43 ปี ได้มีชาวบ้าน ต่างล้อมวงดูก้อนสีส้มปนเหลือง ผิวแววใส รูปทรงคล้ายก้อนปะการังขนาดเท่านิ้วก้อย น้ำหนัก 3.4 กรัม

จากการสอบถามทราบว่า ร.ต.ท.ดร.เชิงฐิภัทร เดชครุฑธานนท์ รอง สว.กก1 บก.สอท. ซื้อหอยโข่งทะเล หนัก 600 กรัม มาจากตลาดแยกควนสะตอ ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อมาทำอาหารกินกัน หลังต้มสุกแกะเนื้อหอยออกมาพบก้อนสีส้ม ผิวแวววาวหลุดออกมาจากเปลือกหอย

ร.ต.ท.ดร.เชิงฐิภัทร กล่าวว่า ตอนแรกเข้าใจว่า ถูกยัดใส่หินในตัวหอยเพื่อให้ได้น้ำหนักเพิ่ม จึงกลับมาซื้อเพิ่มอีก 2 ตัว ที่ร้านเดิม เพื่อจะพิสูจน์ แต่ไม่เจอก้อนลักษณะที่พบ ด้วยความสงสัยจึงค้นข้อมูลในโซเชียลพบว่าเป็นมุกเมโล ซึ่งของแท้ต้องได้มาจากหอยโข่งทะเลเท่านั้น ถือเป็นความโชคดีเป็นอย่างมาก เบื้องต้นยังไม่คิดจะประกาศขายแต่อย่างใด

ร.ต.ท.ดร.เชิงฐิภัทร เล่าอีกว่า เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) ตนเข้าพื้นที่ จ.กระบี่ เพื่อติดตามภารกิจ และได้เข้าพักที่บ้านพักของเพื่อนในพื้นที่ตำบลทับปริก ตอนเย็นจึงซื้อหอยโข่งทะเล จากตลาดสดแยกควนสะตอ มาทำอาหารกินกัน ได้พบกับก้อนดังกล่าว ตอนหลังตรวจสอบพบเป็นมุกเมโล รู้สึกดีใจมาก จะเก็บไว้เพื่อความสิริมงคลก่อนยังไม่คิดจะขายแต่อย่างใด


https://mgronline.com/south/detail/9670000076383

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


"เกาะแลหนัง" หรอยแรง "หอยนางรม 3 สายน้ำ" อร่อยเบอร์ต้นของเมืองไทย



พาไปล่องเรือเก็บ "หอยนางรม 3 สายน้ำ" กินกันสด ๆ แบบจุใจไม่อั้น ที่ "บ้านเกาะแลหนัง" ซึ่งถือเป็นแหล่งหอยนางรมตามธรรมชาติที่ได้ชื่อว่าอร่อยเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย

"บ้านเกาะแลหนัง" ตั้งอยู่ที่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา ที่เป็นหมู่บ้านริมชายฝั่งอ่าวไทยที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดสงขลา ติดกับอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี บ้านเกาะแลหนัง มีที่มาจากภาษามลายูถิ่นที่หมายถึงต้นน้อยโหน่ง ก่อนคำเรียกขานจะเพี้ยนเป็น "บ้านเกาะแลหนัง" ดังในปัจจุบัน

บ้านเกาะแลหนังเป็นชุมชนมุสลิมริมทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารทะเลสดใหม่ ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะ "หอยนางรม" สดใหม่ตามธรรมชาติ ซึ่งที่นี่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งหอยนางรมที่อร่อยที่สุดของเมืองไทย

หอยนางรมบ้านเกาะแลหนังได้ชื่อว่าเป็น "หอยนางรม 3 สายน้ำ" เนื่องจากมีแหล่งอยู่อาศัยบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ สายน้ำยะลา สายน้ำปัตตานี และสายน้ำสงขลา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "สามเหลี่ยมทองคำ"

ปัจจุบันบ้านเกาะแลหนังเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวอันโดดเด่นของจังหวัดสงขลา ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมก็คือ การล่องเรือไปเก็บและกินหอยนางรมสด ๆ กันบนสายน้ำบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

สำหรับจุดล่องเรือนั้นอยู่ที่หลังร้าน "Sunshine Caf? & Restaurant" จากนั้น "เรือกอและ" นำเที่ยวจะพาล่องสายคลองเกาะแลหนังไปยังบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นลำคลอง 3 สายน้ำบนพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ที่สามเหลี่ยมทองคำเรือจะจอดลอยลำกลางสายน้ำ ให้นักท่องเที่ยวชมวิถีการงมหอยนางรมของชาวบ้าน พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมงมหอยกับชาวบ้านด้วย จากนั้นทางเจ้าหน้าที่เรือจะนำหอยที่ชาวบ้านเก็บสด ๆ จากในน้ำขึ้นมาแกะให้นักท่องเที่ยวกินกันสด ๆ บนเรือ

การกินหอยนางรมที่นี่เจ้าหน้าที่ชุมชนจะแนะนำให้ลองกินหอยสด ๆ แบบไม่ต้องมีน้ำจิ้มและเครื่องเคียง เพื่อสัมผัสกับรสแท้ ๆ ของหอยนางรมบ้านเกาะแลหนัง ที่เราขอบอกว่า เนื้อหอยสด ๆ นั้น หวาน เด้ง อร่อยสมคำร่ำลือ

จากนั้นก็ลองกินหอยสด ๆ กับน้ำจิ้มและเครื่องเคียงซึ่งก็ให้รสชาติความอร่อยแตกต่างไปอีกแบบ โดยหอยนางรมที่นี่จะมี 4 ขนาด คือ S อายุ 3 ปี M 6 ปี L 9 ปี และ XL 12 ปี ซึ่งไซส์ที่กินอร่อยที่สุดจะเป็น M และ L

สำหรับกิจกรรมล่องเรือไปเก็บและกินหอยนางรมสด ๆ ของบ้านเกาะแลหนังจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีหอยนางรมสด ๆ พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ดให้กินกันไม่อั้นบนเรือ แต่ยังก็ระวังเรื่องคอเลสเตอรอลพุ่งกันหน่อยก็ดี

นอกจากหอยนางรมที่เป็นของกินขึ้นชื่อแล้ว บ้านเกาะแลหนังยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์คือ "น้ำผึ้งชันโรง" จากเกสรดอกโกงกาง ที่ให้ความหอม รสชาติอร่อยแปลกแตกต่างจากที่อื่น และ "น้ำช่อดอกมะพร้าว" ที่ถือเป็นอีกหนึ่งของดีของบ้านเกาะแลหนังที่ไม่ควรพลาด รวมถึงมีอุโมงค์โกงกางเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวน่าสนใจของหมู่บ้านแห่งนี้

บ้านเกาะแลหนังจะงดการทำกิจกรรมล่องเรือเก็บ-กิน หอยนางรมในช่วงปลายเดือน พ.ย.-มี.ค. เนื่องจากเป็นช่วงฤดูจำศีลของหอยนางรม ผู้สนใจสอบถามกิจกรรมท่องเที่ยวบ้านเกาะแลหนังได้ที่ โทร.093-713-6145

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา ได้ที่ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทร. 0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747 หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ TAT Hatyai - ททท. สำนักงานหาดใหญ่


https://mgronline.com/travel/detail/9670000076685

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


สาวโพสต์ถาม น้องฉลามกัดกันเพราะอะไร ชาวเน็ตเฉลย รู้ความจริงแล้วอึ้ง!



เมื่อวันที่ 20สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพและข้อความลงในเพจ "นี่ตัวอะไร" ที่มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน

โดยเธอระบุว่า "น้องสวบ (กัด) กันเพราะหิวหรอคะ เห็นกัดครีบกันอยู่ครึ่งชม.พอปล่อยแล้วก็ไปอยู่ด้วยกัน"

หลังจากโพสต์ไปไม่นานมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก พร้อมกับเฉลยสาเหตุว่าทำไมน้องถึงกัดกัน

"เป็นพฤติกรรมผสมพันธุ์ของปลาฉลามเสือดาวหรือปลาฉลามม้าลาย (Zebra shark ? Stegostoma tigrinum) ครับผม เจ้าตัวที่งับน่าจะเป็นตัวผู้พยายามเกาะติดตัวเมียครับ ถ้าตัวเมียนิ่งก็จะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ครับ Fun Facts ? ชื่อปลาฉลามม้าลาย ได้มาจากลักษณะวัยอ่อนมีลวดลายขาวดำเหมือนม้าลายนั่นเอง"

ผสมพันธุ์กันครับ ปลาฉลามเพศผู้จะงับครีบของปลาฉลามเพศเมียเพื่อยึดเกาะตอนผสมพันธุ์ ปลาฉลามเพศผู้จะสอดอวัยวะเพศที่เรียกว่า คลาสเปอร์ (Clasper) ลักษณะเป็นแท่ง 2 อันที่อยู่ตรงครีบท้องเข้าไปผสมพันธุ์ในตัวปลาฉลามเพศเมีย ในโพสต์คือ ปลาฉลามเสือดาว เป็นปลาฉลามที่ออกลูกเป็นไข่ ลูกปลาวัยเด็กจะมีสีขาวสลับกับลำตัวสีดำคล้ายกับม้าลายอันเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า Zebra shark ครับ"

"การผสมพันธุ์ครับ ที่เห็นคือตัวผู้จะกัดตัวเมียคล้ายการคลอเคลียเพื่อจีบกันก่อนเริ่มผสมครับ ใช่ที่ ม. บูรพาไหมครับ เพราะจำได้ว่าที่นี่เขาเพาะฉลามพวกนี้เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย"

"ถ้าเราไปกัดแขนผู้ชายแบบนี้ ผู้ชายจะรู้ตัวว่าเราจีบเขาไหม"


https://www.matichon.co.th/social/news_4746579

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


เพื่อนตัวเล็ก - สัตวแพทย์-ทีมน้องมาเรียม ร่วมดูแล 'ปอดะ' ลูกพะยูน



หลังพบลูกพะยูนวัย 2-4 เดือน พลัดหลงกับแม่บริเวณเกาะปอดะ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์น้ำภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในสภาพอิดโรย ตาจมลึกแสดงถึงภาวะขาดน้ำ แต่ยังยกหัวขึ้นหายใจได้ ร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายค่อนข้างขุ่น เสียงปอดมีความชื้นเล็กน้อย ลำไส้บีบตัวและอยากกินอาหาร

ล่าสุด ลูกพะยูนที่เรียกกันเล่นๆ ว่า "น้องปอดะ" เพราะพบเจอบริเวณเกาะปอดะมีอาการดีขึ้น ดำน้ำและทรงตัวได้ดี หายใจ 84 ครั้งต่อนาที ถือว่าปกติ แต่ยังมีอาการหางลอยขึ้นเหนือน้ำอยู่บ้าง เพราะมีแก๊สสะสมอยู่ในส่วนท้ายของกระเพาะอาหารค่อนข้างเยอะ จึงให้กินอาหารประเภทน้ำ น้ำมะพร้าว น้ำมันพืช เพื่อให้ลำไส้บีบรัดตัว เอาของเสียออกมาให้มากขึ้น ลดการให้นมผงชั่วคราวจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่โดยรวมลูกพะยูนตัวนี้ดีขึ้นมาก ทีมสัตวแพทย์ผลัดเปลี่ยนกันดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมดึงอาสาสมัครพิทักษ์พะยูนตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่เคยช่วยดูแลน้องมาเรียม เมื่อปี 2562 มาดูแลลูกพะยูนตัวนี้ด้วย

สัตวแพทย์หญิงปิยรัตน์ คุ้มรักษา กล่าวถึงน้องปอดะว่าลักษณะการทรงตัว ดำน้ำ ว่ายน้ำค่อนข้างดีขึ้น ดำน้ำใต้พื้นบ่อได้ แต่ยังมีอาการลอยผิดปกติช่วงส่วนท้ายของลำตัว หางยังมีลอยสูงกว่าบ้าง เอกซเรย์พบว่ามีแก๊สสะสมอยู่ในทางเดินอาหารส่วนท้ายค่อนข้างเยอะ พยายามให้สารน้ำ ให้ยาระบาย เพื่อระบายแก๊สออกให้มากที่สุด และรอให้น้องฟื้นตัว ถ้าน้องตอบสนองต่อการรักษา มีการระบายแก๊สเพิ่มมากขึ้น อาการก็น่าจะดีขึ้น ส่วนแผนระยะยาวถ้าน้องหายจากอาการขาดน้ำแล้วก็จะให้นมทดแทนเพื่อให้พลังงานกับเขาในแต่ละวัน โดยจัดบุคลากรและอาสาสมัครมาช่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง


https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_9369064

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


ประเทศไทย ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล อันดับ 10 ของโลก


ภาพจาก : TEI

"TEI เข้าร่วมเวทีนานาชาติ เพื่อร่วมหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เผยประเทศไทย ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล อันดับ 10 ของโลก"

สถานการณ์ "ขยะพลาสติก" เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับโลก หากยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพได้มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วโลก จำนวนมากถึง 700 ล้านตัน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ จากการศึกษางานวิจัยพบว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์จากการบริโภคสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี


ไทยอันดับ 10 ปล่อยขยะลงทะเล

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เผยว่า ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก พร้อมกับประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์

ดังนั้น การจัดการขยะพลาสติกจึงต้องเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคที่ใช้ทะเลหรือมหาสมุทรร่วมกัน


เครือข่ายนวัตกรรมพลาสติกอินโด-แปซิฟิก

เมื่อไม่นานมานี้ บนเวทีนานาชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการขยะพลาสติกระดับภูมิภาค เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนาม "เครือข่ายนวัตกรรมพลาสติกอินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Plastics Innovation Network หรือ IPPIN)"

ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ทำงานร่วมกันของประเทศต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการดำเนินการด้านการวิจัย การประกอบการ และการลงทุน รวมทั้งร่วมจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย และดำเนินการโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization หรือ CSIRO)

พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียและจะขยายผลไปยังประเทศลาวและกัมพูชาต่อไป ผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่?

"ดร.วิจารย์ สิมาฉายา" ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมงานในบทบาทของ Advisory Group Member, Thailand Chapter, Indo-Pacific Plastics Innovation Network (IPPIN) พร้อมทั้งได้ร่วมนำเสนอข้อมูลภายใต้ธีม Envisioning 2030 : the pivotal role of Southeast Asian countries in ending plastic waste

เกี่ยวกับการดำเนินงานของ TEI ในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งในเชิงระดับนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics

เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างโมเดลการจัดการขยะและขยะทะเลในพื้นที่เกาะ


ฟอรั่มหารือที่นครเมลเบิร์น

ในปีนี้ CSIRO ได้มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยได้จัด ?การประชุม CSIRO Ending Plastic Waste Symposium 2024? ขึ้นในวันที่ 6-8 สิงหาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ พร้อมทั้ง มีการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของ IPPIN และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

พร้อมทั้ง ร่วมรับฟังสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ อาทิ ผลกระทบต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติกในระบบนิเวศ พลาสติกทางการแพทย์ การเกษตร การก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์อาหาร และการจัดการขยะพลาสติก ตลอดจนการเยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกจากหน่วยงานต่าง ๆ หลากหลายประเทศทั่วโลก โดยงานวิจัยภายในงานทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของภารกิจยุติขยะพลาสติกของ CSIRO

ทั้งนี้?ที่ประเทศออสเตรเลียมีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2030


ต้นแบบการจัดการขยะเกาะลันเตา

การพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะเกาะลันตา เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะเกาะ และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกทะเล รวมถึง การพัฒนาโมเดลการจัดการขยะพลาสติกในชุมชนเมืองแบบครบวงจร และการสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายตาม Roadmap และแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกของประเทศบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ

เรามาหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกร่วมกัน To Protect Tomorrow Together


https://www.prachachat.net/sd-plus/s...y/news-1634132

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #9  
เก่า 21-08-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า


SHORT CUT

- กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในอีก 26 ปี เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยคาดว่าปี 2050 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 60-75 ซม. ท่วมคันกั้นน้ำปัจจุบัน

- แนวทางแก้ปัญหารวมถึงการสร้างคันกั้นน้ำใหม่ที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีจัดการน้ำ และอาจใช้โมเดลเนเธอร์แลนด์สร้างกระเปาะที่ปากแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเล

- มีข้อเสนอให้สร้าง "เมืองคู่แฝด" ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อกระจายความเจริญ และลดความแออัดในกรุงเทพฯ แทนการย้ายเมืองหลวงซึ่งทำได้ยาก




ปี ค.ศ.2050 เป็นปีที่ผู้เชี่ยวชาญ และ หลายองค์กรฟันธงว่า ถึงคราวที่กรุงเทพมหานครและหลายๆ เมืองจะจมอยู่ใต้บาดาลจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี จากภาวะโลกร้อนทำให้กรุงเทพเสี่ยง "จมน้ำ" เป็นข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันตรงกัน ทั้งรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB,MQDC และ คุณชวลิต จันทรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย

รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า IPCC คาดการณ์ระดับโลกและระดับภูมิภาคว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4 มิลลิเมตรต่อปี และมีปัจจัยเร่งที่ทำให้กรุงเทพจมน้ำเร็วขึ้น อีกประมาณ 6 ปี ข้างหน้า น้ำทะเลจะขึ้นอีก 10 เซนติเมตร 30 ปีขึ้นอีก 40-50 เซนติเมตรและ 80 ปีข้างหน้า น้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นถึง 1.50 เมตร

"การสูงขึ้นของน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมีความเปราะบางสูงมาก งานวิจัยทั่วโลกบ่งชี้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เปราะบางสูงมากจากการจมน้ำทะเล"

IPCC มีการจำลองเหตุการณ์ว่า อนาคตข้างหน้าถ้ากรุงเทพจะจมน้ำทั้งหมดใช้เวลา 100 ปี จุดที่จะจมบางส่วนก่อน คือ แถวๆ บางขุนเทียน สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม เพราะน้ำทะเลหนุนสูงเป็นการสูงอย่างถาวรไม่มีการลด เมื่อเจอกับฝนตกหนักน้ำเหนือหลาก เหตุการณ์เมื่อปี 2554 จะกลับมาแต่หนักและรุนแรงมากขึ้น

ปี 2030 จะเห็นน้ำทะเลสูง น้ำเหนือหลาก ปี 2100 กรุงเทพ จมน้ำทั้งหมด จากการที่น้ำเหนือและน้ำหนุนมาประสานกัน กรุงเทพต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ ในอนาคตข้างหน้า ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ป้องกันชายฝั่ง "จมแน่นอน" อาจารย์เสรีกล่าว


ฝนตกหนักขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มรุกพื้นที่ชั้นใน

คุณชวลิต จันทรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ระดับน้ำทะเล กำลังเพิ่มสูงขึ้น จากโลกร้อนที่ทำให้ธารน้ำแข็ง และ หิมะละลายจนไปเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล

"ฝนจะตกบ่อยขึ้น 1.5 เท่า ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นถึง 10% นี่เป็นสัญญาณว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน"

คุณชวลิต บอกว่า จนถึงปี 2050 หรือ ปีพ.ศ.2593 ระดับน้ำทะเลของโลกจะสูงขึ้น เฉพาะที่ไทยระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 60-75 เซนติเมตร น้ำจะสูงจนสามารถท่วมคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ผลพวงของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังหมายความว่า น้ำเค็มจะรุกล้ำพื้นที่ชั้นในมากขึ้น ผลการศึกษาของทีมกรุ๊ปเกี่ยวกับผลกระทบของภูมิอากาศ ต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มจะรุกคืบจากปากอ่าวผ่านกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดต่างๆ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี จนถึงสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันออกฉะเชิงเทราก็จะถูกน้ำทะเลบุกรุกเช่นกัน นั่นหมายความว่า พื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นดินเค็ม และ น้ำจืดจะถูกแทนที่ด้วยน้ำเค็มเช่นกัน


เมื่อเมืองเสี่ยงจมน้ำ ควรแก้ยังไง?

เมื่อเราทราบดีว่า กรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำ เวลาที่เหลืออีก 26 ปีข้างหน้า เราควรจะตั้งรับอย่างไร แนวคันกั้นน้ำที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ?

"คำตอบจากคุณเชาวลิต คือ ต้องเริ่มทำแนวคันกั้นน้ำใหม่ ให้มีความสูงเพียงพอ และ ต้องบริหารจัดการแบบกึ่งอัตโนมัติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ"

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐในการทำงานแบบบูรณาการ สอดประสานกันเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างไร้รอยต่อ ในภาวะที่ต้องสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อากาศแปรปรวน ในภาวะที่ไทยกำลังเข้าสู่ ลานีญา อย่าลืมว่าฝนจะหนาแน่นขึ้น


โมเดล เนเธอร์แลนด์แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ ทีมกรุ๊ปเสนอ ให้ใช้โมเดลการต่อสู้กับน้ำท่วมสำเร็จของเนเธอร์แลนด์ แม้ว่า จะใช้เวลาถึง 20 ปีเต็ม โดยใช้วิธีการสร้างกระเปาะที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ กั้นไม่ให้น้ำทะเลเข้า และ มีประตูระบายน้ำที่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเล เมื่อระดับน้ำในเมืองสูงขึ้น

ขณะเดียวกันแนะนำให้สร้างคันกั้นน้ำ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วย นอกจากเนเธอร์แลนด์แล้ว อินเดีย และ รัสเซีย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างปราการป้องกันน้ำทะเลบุก และ รักษาชายฝั่งแม่น้ำไม่ให้ถูกกัดเซาะ จนชายฝั่งหายไป และ แผ่นดินต้องร่นไปเรื่อยๆ


ย้ายเมืองหลวง คือ ทางออก?

สำหรับการย้ายเมืองหลวง ในมุมมองของอาจารย์เสรี มองว่า จาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย มีลักษณะคล้ายกับไทย คือ น้ำทะเลหนุนสูง จึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองนูซันตารา แต่แผ่นดินอินโดนีเซียทรุดตัวมากกว่าไทยถึง 10 เท่าจึงเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เขาพิจารณาย้ายเมืองหลวง

มองย้อนกลับมาที่ไทย การย้ายเมืองหลวงของเราเป็นไปได้ยาก เพราะเราลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานค่อนข้างมากแล้ว

"ไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวงของประเทศ แต่อยากสื่อสารไปยังรัฐบาลให้เริ่มคิดได้แล้วเพราะ 6 ปี น้ำเริ่มสูง 30 ปี บางขุนเทียนจะหายไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ คือ การรับมือน้ำท่วมเมืองหลวง เพราะตัดสินใจ ณ เวลานี้ไม่ได้หมายความว่าทำได้เลยถ้าตัดสินใจช้าอีก 30 ปีก็จะสายไปเสียแล้ว"


มาตรการที่เสนอไปมี 4 มาตรการ

1. ไม่ทำอะไร น้ำท่วมก็ปล่อยให้ท่วมไป

2. ยกคันดิน หรือ ยกถนนริมทะเลทั้งหมดสูงขึ้นไป 1 เมตรเพื่อป้องกันน้ำทะเล
สร้างคันดินกันชนสีเขียว คือ ปลูกป่าชายเลนขนาดใหญ่ริมทะเล โดยการเวนคืนที่ดิน

3. สร้างคันป้องกันปากอ่าวจากพัทยาไปสู่ชะอำ ริมทะเล

4. น้ำทะเลขึ้นสูงทำกรุงเทพฯ ไม่รอดน้ำท่วมในอีก 26 ปีข้างหน้า


เสนอสร้างเมืองคู่แฝด กระจายความแออัด

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ อีกหนึ่งท่าน คือ คุณชวลิต จากทีมกรุ๊ป เสนอให้สร้าง ?เมืองคู่แฝด? รองรับความเจริญ จากก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึง จ.นครนายก ว่าเหมาะจะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่คุณชวลิต มองไปที่เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยความที่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตัดผ่าน อยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยา และอยู่ในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงเหมาะที่จะกระจายความเจริญเพื่อแก้ปัญหาเมือง

เมืองคู่แฝดในที่นี้ จะทำหน้าที่กระจายผู้คน กระจายความเจริญออกสู่เมืองคู่ขนาน เพื่อแก้ปัญหาความแออัด ลดปัญหาจราจร และ ลดมลพิษ ในอนาคต


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/852210

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:48


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger