#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและหัวเกาะสุมาตรา ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันน้อยถึงปานกลาง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 15 ? 18 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 19 ? 20 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 14 ? 15 พ.ย. 65 ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรควรระมัดระวังและป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ตลอดช่วงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
นาซาพบซากชาเลนเจอร์ กระสวยมรณะก้นทะเล องค์การนาซาเผยเมื่อ 11 พ.ย.ว่า นักประดาน้ำจากทีมสารคดีของช่องเดอะฮิสทรีแชนเนลพบชิ้นส่วนของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ขนาด 6 เมตร ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ ขณะสำรวจหาซากเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พีบีเอ็ม มาร์ติน มาริเนอร์ ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อ 5 ธ.ค.2488 ในระหว่างค้นหาเครื่องบินทิ้งระเบิดตอร์ปิโดของกองทัพเรือสหรัฐฯที่หายไปในวันนั้น 5 ลำ เพื่อใช้ในการผลิตสารคดีเกี่ยวกับการหายไปของเครื่องบินและเรืออย่างลึกลับเหนือธรรมชาติบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา นับเป็นการค้นพบเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ชาเลนเจอร์ระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่อ 28 ม.ค.2529 หลังถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศเคนเนดีเพียง 73 วินาที ทำให้ลูกเรือทั้ง 7 คนเสียชีวิต เป็นหนึ่งในภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของโครงการอวกาศสหรัฐฯ ที่ต่อมาพบว่าเกิดจากแหวนยางบริเวณเชื่อมต่อของจรวดเสริมกำลังเสื่อมประสิทธิภาพในสภาพเย็นจัด. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2551075 ********************************************************************************************************************************************************* แคดเมียมในหมึกแห้ง หมึกแห้ง หนึ่งในอาหารทะเลยอดนิยมของคนเอเชีย ซื้อหาง่ายตามซุปเปอร์มาร์เกตไปจนถึงร้านรวงในตลาด หมึกแห้งจัดเป็นการถนอมอาหารด้วยการตากแห้ง ก่อนจะนำไปประกอบอาหาร ทว่า อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยและหมึกมักพบโลหะหนักที่เป็นอันตราย เช่น แคดเมียมปนเปื้อน เมื่อเราทานอาหารที่มีแคดเมียมปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย แคดเมียมจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร แล้วลําเลียงไปตามกระแสเลือด สะสมตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงตับและไต หากได้รับในปริมาณมากๆจะทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว และอาจมีภาวะเลือดปนออกมา เนื่องจากเกิดการระคายเคืองและอักเสบของอวัยวะภายในระบบทางเดินอาหาร หากมีอาการรุนแรงอาจช็อก เนื่องจากขาดน้ำและไตวายเฉียบพลันได้ แต่หากร่างกายได้รับแคดเมียมปริมาณน้อยๆ เป็นระยะเวลานานจะเกิดการสะสมในกระดูก อาจเป็นโรคอิไตอิไตทำให้กระดูกเปราะ หักง่ายได้ สถาบันอาหารสุ่มตัวอย่างหมึกแห้งจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าและตลาดในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียมปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบแคดเมียมปนเปื้อนทั้ง 5 ตัวอย่าง และมีอยู่ 1 ตัวอย่าง พบปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้อาหารจำพวกหมึกพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เห็นอย่างนี้แล้วขอแนะว่า ท่านที่ชื่นชอบหมึกแห้งยังทานกันได้ แต่ไม่ควรทานในปริมาณมากๆ ควรทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว. https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2549905
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ผ่าพิสูจน์ซากพะยูนตายทะเล จ.กระบี่ พบติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ป่วยตาย กระบี่ - เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ผ่าพิสูจน์ซากพะยูนตายกลางทะเลกระบี่ พบติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ป่วยตาย จากกรณีที่ นายมู่หาด เหล่ชาย อายุ 59 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน ม.3 เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ได้ออกทำการประมงวางอวนปลา บริเวณเกาะสิเหร่ หน้าเขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ ได้พบซากพะยูนลอยตายอยู่กลางทะเล แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและช่วยขนย้ายซากพะยูนมายังท่าเรือบ้านไหนหนัง ม.3 ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ เบื้องต้นพบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ มีบาดแผลถลอกตามลำตัว เล็กน้อย เจ้าหน้าที่ได้ทำการขนย้ายซากไปยังศูนย์วิจัยฯ เพื่อทำการชันสูตร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา คืบหน้าล่าสุด วันนี้ (14 พ.ย.) นายเจริญไชย ศรีสุวรรณ์ ประมงจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากนายสันติ นิลวัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะยูน ความยาว 177 ซม. เพศผู้ วัยเด็ก สภาพซากเริ่มเน่า ลักษณะภายนอกมีรอยแผลจากพฤติกรรมฝูงบริเวณหลัง ผิวหนังมีรอยด่างและลอกหลุดเล็กน้อย เมื่อเปิดดูอวัยวะภายในพบว่า หัวใจไม่มีเลือดคั่ง มีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ เนื้อเยื่อปอดเริ่มเน่า ภายในหลอดลมพบเศษดินอยู่ภายใน คาดว่าเกิดการจมน้ำและสำลักเศษดินเข้าไปในทางเดินหายใจ ส่วนของตับพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อมๆ สีของของตับไม่สม่ำเสมอ ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารอัดแน่นเต็มกระเพาะและลำไส้ ผนังลำไส้เล็กพบก้อนลักษณะคล้ายหนองอัดแน่นกระจายเป็นหย่อมๆ และมีจุดเลือดออก พบต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อภายในร่างกาย ไม่พบสิ่งแปลกปลอมภายในทางเดินอาหาร สรุปสาเหตุการตายคาดว่า ป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการอักเสบของหัวใจ ตับ และพบการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ป่วย อ่อนแอ และจมน้ำตายในที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ศวอล.ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9650000108697 ********************************************************************************************************************************************************* ชายหาดแหลมสมิหลาเละ คลื่นลมมรสุมซัดขยะจากทะเลขึ้นมากองเรียงราย ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชายหาดแหลมสมิหลาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของ จ.สงขลาเละเทะ คลื่นซัดขยะจากทะเลขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดเป็นจำนวนมาก ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามหายไปในพริบตา นับเป็นปัญหาในช่วงฤดูมรสุมของทุกปี วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ จ.สงขลา จากสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยที่มีกำลังแรงในช่วงนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม ได้ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพของชายหาดแหลมสมิหลา ทั้งหาดชลาทัศน์และหาดสมิหลา โดยคลื่นได้ซัดขยะขึ้นมาจากทะเลเป็นจำนวนมากและกองเรียงรายตลอดแนวชายหาด ทั้งขวดแก้วขวดพลาสติก ท่อนไม้ โฟม หรือแม้แต่ถังพลาสติก บางจุดมีท่อนไม้ไผ่มากองรวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชายหาดอยู่ในสภาพที่เละเทะเต็มไปด้วยขยะทะเล ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของชายหาดไปในพริบตา แต่ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวมาเลเซียและคนไทยมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ด้านเทศบาลนครสงขลาได้เข้ามาแก้ปัญหาโดยการใช้ทั้งเครื่องจักรและแรงงานคนปูพรมลงพื้นที่เก็บขยะจากทะเลเป็นระยะ จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้ โดยในช่วงฤดูมรสุมของทุกปีตลอดชายหาดแหลมสมิหลาต้องเผชิญกับคลื่นแรงและปัญหาขยะทะเลที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมา https://mgronline.com/south/detail/9650000108664
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยควรมีค่ามาตรฐานควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ? ................ โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้คำว่า PM2.5 กลายเป็นวลีเด็ดติดหูคนไทยนับตั้งแต่เกิดปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ทั้งที่ปัญหาคุณภาพอากาศนั้นเรื้อรังมานานนับสิบปีในหลายพื้นที่ของประเทศเช่นภาคเหนือตอนบนในช่วงฤดูหนาว ภาคอีสานในช่วงฤดูแห่งการเผาเศษชีวมวลทางการเกษตร ไม่รวมถึงมลพิษข้ามพรมแดนซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงปีที่ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Ni?o) รุนแรงสอดคล้องกับสภาพปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปรากฏการณ์ PM2.5 ได้สร้างกระแสความตื่นตัวในการทวงคืนสิทธิในการหายใจอากาศบริสุทธิ์จากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม แวดวงวิชาการ แม้กระทั้งภาคธุรกิจการเกษตร ธุรกิจการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมก็ไม่พลาดที่จะร่วมทัวร์ไปกับขบวนรถไฟ PM2.5 ท่ามกลางกระแสการตื่นรู้ถึงภัยจากมัจจุราชเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดซึ่งเราต้องจำทนสัมผัสอยู่กับมันในทุกลมหายใจ หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยต่างทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เสมือนหนึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้ขบวนหัวรถจักร PM2.5 ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วรุนแรง อย่างไรก็ตามคำถามที่อยู่ในใจนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนรวมทั้งตัวผมเองคือ "ชานชาลาสุดท้ายของขบวนรถไฟนี้อยู่ที่ไหน?" หากเป้าหมายสุดท้ายคือการที่คนไทยทุกคนได้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ตราบใดที่เรายังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือการควบคุมแหล่งกำเนิด เราจะไปถึงเป้าหมายสุดท้ายนี้ได้อย่างไร? เพราะ ? ต่อให้คนไทย 60 กว่าล้านคนมีเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตัวตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อากาศก็ยังสกปรกเหมือนเดิม หากการควบคุมแหล่งกำเนิดไร้ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อให้เรารู้ว่าแต่ละแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 มีสัดส่วนเท่าไหร่ แต่ถ้ากฎระเบียบของแต่ละกระทรวงยังมีความขัดและย้อนแย้งกันเอง ปัญหาฝุ่นจะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร? และที่สำคัญ ต่อให้เรามีค่ามาตรฐานในการควบคุมฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับนานาอารยะประเทศ แต่หากยังไร้ซึ่งค่ามาตรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ แล้วประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่า พื้นที่อยู่อาศัยของตนเองนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด? ย้อนกลับไปเกือบ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยผมไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ด้านองค์ประกอบของสารก่อมะเร็ง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือที่เรียกกันย่อๆว่าสาร พีเอเอช (PAHs) ในฝุ่น PM10 ของชั้นบรรยากาศของเมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษ ทางรัฐบาลอังกฤษได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช กันไว้ก่อนหน้าหลายปีแล้ว โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุณภาพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Expert Panel on Air Quality Standards: EPAQS) ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานในชั้นบรรยากาศของสาร เบนโซเอไพรีน (Benzo[a]pyrene) ซึ่งจัดเป็นสาร พีเอเอช ที่มีความเป็นพิษในการก่อให้เกิดมะเร็งสูงสุด ไว้ไม่ให้เกิน 0.25 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US-EPA) กำหนดไว้ที่ 1.0 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไว้เกือบสี่เท่า นอกจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และ องค์การอนามัยโลกแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ได้กำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ไว้อย่างชัดเจนเช่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ กำหนดค่าเบนโซเอไพรีนในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ โครเอเชีย ฝรั่งเศส และ เยอรมนี กำหนดไว้ที่ 0.1 0.7 และ 1.3 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ แม้แต่ อินเดีย ประเทศที่มีภาพลักษณ์เชิงลบด้านมลพิษทางอากาศและมักจะเป็นข่าวของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับต้นของโลก ก็ยังมีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็ง โดยกำหนดให้ค่าเบนโซเอไพรีนในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ข่าวดีคือทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ประกาศปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของประเทศใหม่ ลงมาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศเทียบเท่ายุโรปและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่จะดีกว่าด้วยหรือไม่ หากทาง คพ. จะมีการพิจารณากำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับชาวไทยและลูกหลานของพวกเราทุกคนที่ต้องสูดอากาศหายใจบนผืนแผ่นดินแห่งนี้? https://mgronline.com/daily/detail/9650000108457 ********************************************************************************************************************************************************* กางไทม์ไลน์ 'แลนด์บริดจ์' ชง ครม.ธ.ค.นี้ เร่งร่าง พ.ร.บ. SEC ดันเปิดประมูล ปี 68 เปิดเฟสแรกรับ 20 ล้านทีอียูปี 73 สนข.กางไทม์ไลน์ "แลนด์บริดจ์" ชง ครม.เคาะหลักการ ธ.ค.นี้ เดินหน้าโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติไตรมาส 1/66 พร้อมเร่งร่าง พ.ร.บ. SEC คาด มิ.ย. 66 ชง ครม.และสภาฯ เห็นชอบ ดันเปิดประมูลปี 68 ก่อสร้าง 5 ปี เปิดเฟสแรกในปี 73 รับ 20 ล้านทีอียู นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (Focus Group ครั้งที่ 1) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของการศึกษาและสาระสำคัญของโครงการ เช่น พื้นที่ตั้งของท่าเรือ แนวเส้นทางและทางเข้าท่าเรือ ตลอดจนแนวเส้นทางของโครงการ และเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ ทั้งนี้ ไทม์ไลน์โครงการคาดว่าจะสามารถนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการได้ในปี 2566 หลังจาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าในไตรมาสที่ 1/2566 จะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ (RoadShow) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีสายเดินเรือขนาดใหญ่ระดับท็อป 5 ของโลกให้ความสนใจหลายราย ไตรมาส 2/2566 สนข.จะนำประเด็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจลงทุนมาดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ และปรับรูปแบบการวิเคราะห์โครงการฯ และจะนำเสนอข้อมูลโครงการ รูปแบบการดำเนินโครงการ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2566 @เร่งร่าง พ.ร.บ. SECอและ RFP คาดเปิดประมูลต้นปี 68 นายปัญญากล่าวว่า ปัจจุบัน สนข.ยังดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไข สิทธิประโยชน์เพื่อให้ครม.เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมกับการเสนอขออนุมัติโครงการฯ ระหว่างดำเนินการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 และเสนออนุมัติ พ.ร.บ.ดังกล่าวภายใน มิ.ย. 2566 ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการเสนอขออนุมัติโครงการฯ และหลังจาก ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.SEC จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 ซึ่งในระหว่างนี้จะมีการจัดทำ RFP เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 1 ปี 2568 และคาดว่าจะลงนามสัญญาผู้ร่วมลงทุนฯ ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2568 และเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะแรกในปี 2573 @เทียบลงทุนใกล้เคียงท่าเรือ ทูอัส ของสิงคโปร์เฟสแรก รับ 20 ล้านทีอียู สำหรับการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) มีวงเงิน 67 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน (2 มีนาคม 2564-1 กันยายน 2566) โดยจะมีการศีกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ, การเงิน วิศวกรรม สังคม, ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562, วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน ((Business Development Model) โดยการศึกษาจะมีพัฒนาท่าเรือสองฝั่งทะเลอันดามัน และระนอง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกัน เป็นระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) MR8 ระยะทางรวม 89.35 กม. ตามแนวเส้นทางจะมีอุโมงค์จำนวน 3 แห่ง (ระยะทางอุโมงค์รวม 21 กม.) การพัฒนาท่าเรือ 2 แห่ง พบว่าจุดที่เหมาะสม ฝั่งอันดามันอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ส่วนฝั่งอ่าวไทย อยู่ที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร โดยแต่ละท่าเรือจะพัฒนาเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้านทีอียู และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้านทีอียู รวมรองรับปริมาณตู้สินค้าฝั่งละจำนวน 40 ล้านทีอียู โดยเป็นท่าเรือที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสร้างความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจกับชุมชนรอบท่าเรือ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับท่าเรือ TUAS ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาในระยะที่ 1 รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 20 ล้านทีอียูเช่นกัน สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ ระยะทาง 21 กม. โดยมีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ฝั่งอ่าวไทย ผ่านแนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89.35 กม. และมีจุดสิ้นสุดที่ท่าเรืออ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ฝั่งอันดามัน https://mgronline.com/business/detail/9650000108318
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
พบ "ปลาโรนันจุดขาว" สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ เกยตื้นหาดประจวบฯ กรมทะเลและชายฝั่ง พบ "ปลาโรนันจุดขาว" สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ เกยตื้นที่หาดแหลมกุ่ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันนี้ (9 พ.ย.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่หาดแหลมกุ่ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าพบสัตว์ทะเลเกยตื้น บริเวณหาดแหลมกุ่ม ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ ศวบต. ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สทช.3) เจ้าหน้าที่กรมประมง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าเป็นปลาโรนันจุดขาว (White Spotted wedgefish ; Rhynchobatus australiae) จำแนกชนิด โดยนายทัศพล กระจ่างดารา ผู้เชี่ยวชาญด้านปลากระดูกอ่อน กรมประมง กล่าวว่า ปลาโรนันจุดขาว ที่พบเป็นเพศเมีย โตเต็มวัย ความยาว 1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ สทช.3 เจ้าหน้าที่กรมประมง และเครือข่าย อสทล. จึงร่วมกันให้ความช่วยเหลือปลาโรนันจุดขาวตัวดังกล่าว จากการประเมินเบื้องต้น ปลาโรนันจุดขาวมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี จึงรีบปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็ว นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาโรนันจุดขาว ถือเป็นสัตว์หายากชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ สำหรับในด้านกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สามารถจำหน่ายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้านของระบบนิเวศปลาโรนันจุดขาวถือเป็นปลาที่หายากแล้ว พร้อมทั้งยังเคยผลักดันปลาชนิดนี้เข้าสู่ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า แต่ยังไม่สำเร็จ มีเพียงแต่ปลาโรนินที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งถูกจัดอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปลาโรนันจุดขาวจะไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ก็หายากพอกับปลาโรนิน และฉลามวาฬ ปลาโรนันจุดขาว จึงเป็นปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน พบเห็นค่อนข้างน้อยในน่านน้ำไทย โดยมีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง เป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนามตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน ซึ่งหนามบนตัวปลานี้คนทางภาคใต้ของไทยนิยมนำมาทำเครื่องประดับ ทำหัวแหวน กำไร โดยเชื่อว่าเป็นของขลังสามารถป้องกันคุณไสย ป้องกันอันตรายจากภูติพรายที่อาศัยอยู่ในน้ำและอันตรายจากสัตว์น้ำได้ โดยทั่วไปพื้นผิวลำตัวของปลาโรนันจุดขาว ด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจางๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว โดยเฉพาะปลาวัยอ่อนจะมีลวดลายที่มากกว่าปลาขนาดใหญ่ อีกทั้งออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 7-19 ตัว ชอบกินปลาหน้าดินขนาดเล็ก หอย กุ้งและปูเป็นอาหาร ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นโคลนหรือทรายตามชายฝั่งและแนวปะการัง จนถึงระดับความลึก 60 เมตร พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นอกจากนี้ ปลาโรนันจุดขาวเป็นปลากระดูกอ่อนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือเป็นภัยคุกคามที่มีอย่างต่อเนื่อง จากการรายงานเบื้องต้นพบว่า บริเวณอ่าวไทย อาจเป็นแหล่งรวมตัวเพื่อผสมพันธุ์ หรือเป็นพื้นที่เลี้ยงดูตัวอ่อนของปลาโรนันจุดขาวอีกด้วย ทั้งนี้ ตนขอเน้นย้ำไปยังกลุ่มนายทุนหรือบุคคลที่มีความเชื่อผิดๆ หากยังมีการล่าปลาโรนันจุดขาวเพื่อการค้าขายหรือนำอวัยวะมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องลางของขลัง ในอนาคตเราอาจจะไม่พบเจอปลาชนิดนี้ในน่านน้ำทะเลไทย และอาจจะสูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศทางทะเล ฉะนั้น จึงวิงวอนขอให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการเดินเรือ และชาวประมงในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ หรือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อปลาชนิดนี้ รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด หากพบเจอสถานการณ์แบบนี้ให้แจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินการได้ทันท่วงทีต่อไป "นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย" https://www.thaipbs.or.th/news/content/321314
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|