เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 09-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default รวมข่าว .... ปะการัง


ปริศนาท้องทะเล


ฟอลซิลหินปะการังจาก Great Barrier Reef อาจช่วยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระดับทะเลในช่วง 20,000 ปีที่ผ่านมาได้

ทีมวิจัยนานาชาติกำลังเก็บรวบรวมตัวอย่างฟอสซิลปะการังจาก 40 จุด บริเวณแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกของออสเตรเลีย ภายในระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง โดยจะเลือกเก็บฟอสซิลที่มีอายุระหว่าง 10,000-20,000 ปี

นักวิจัยบอกว่า ปะการังก็เปรียบเหมือนต้นไม้ทะเล มันจึงมีวงปีเช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไป ซึ่งช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้

"เราสามารถวิเคราะห์ได้จากวงปีฟอสซิลปะการังว่าช่วงแรกมีมหาสมุทรนั้น สภาพอุณหภูมิและระดับความเค็มของทะเลเป็นเช่นไร" อลัน สตีเฟนสัน หัวหน้าทีมวิจัยธรณีวิทยาทางทะเลของศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยาอังกฤษ หรือ BGS กล่าว

สตีเฟนสันบอกว่า Great Barrier Reef ซึ่งถือเป็นแนวหินปะการังที่ใหญ่สุดในโลก น่าจะมีอายุราวๆ 500,000 ปี "ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ปะการังบางส่วนตายไปจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่ปะการังไม่ชอบให้ระดับน้ำเพิ่มสูงเกินไป"

ปัจจุบัน นักวิจัยเชื่อว่าการปรับเพิ่มขึ้นครั้งสำคัญของระดับน้ำทะเลเกิดขึ้นใน 3 ยุค คือ 11,300 ปีก่อน 13,800 ปีก่อน และ 19,000 ปีก่อน

"หากเราเข้าใจอดีตมากขึ้น เราก็จะสามารถเข้าใจอนาคตได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย" สตีเฟนสันกล่าวทิ้งท้าย.



จาก : ไทยโพสต์ คอลัมน์ โลกน่ารู้ วันที่ 9 มีนาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 09-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทะเลกรดฆ่าปะการัง คาดไม่ถึง 100 ปี-หมดโลก!


ดร.จาค็อบ ซิลเวอร์แมน จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี้ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระบุสาเหตุที่ทำให้ปะการังเสื่อมสลายไปในทะเลว่ามาจากภาวะน้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้นส่งผลร้ายแรงต่อบรรดาสัตว์น้ำที่ใช้ปะการังเป็นที่ฟูมฟักลูกอ่อนและแหล่งอาหาร

น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้นเนื่องจากคุณสมบัติความเป็นกรดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศของโลกและถูกดูดซับลงไปในมหาสมุทรมากขึ้นส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพกรด-ด่างและอุณหภูมิของน้ำทะเล เพราะเมื่อน้ำทะเลเป็นกรดสูงขึ้น จะทำให้ปะการังไม่สามารถสกัดเอาแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการสร้างและบำรุงรักษาโครงร่างจากน้ำทะเลได้

จากการศึกษาความไวของปะการังในทะเลแดง ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศพบว่าสภาพความเป็นกรดของน้ำทะเลส่งผลกระทบต่อการสร้างโครงร่างของปะการังมากกว่าผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิของน้ำ

นอกจากนี้ ยังพบว่าปะการังจะหยุดการเจริญเติบโตโดยสิ้นเชิงและเริ่มแตกสลายเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีปริมาณเท่ากับ 560 ส่วนในล้านส่วน หากโลกยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศดังเช่นในปัจจุบัน คาดว่าคงไม่เกิน 100 ปี หรือประมาณสิ้นศตวรรษที่ 21 เราอาจไม่เห็นปะการังอีกต่อไป

ด้าน ดร.ไซมอน ดอนเนอร์ นักวิจัยอีกราย กล่าวว่า อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นยังทำให้ "ปะการังฟอกขาว" สีสันที่เคยสวยงามจะซีดขาว อีกทั้งสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในโครงสร้างของปะการังจะสูญเสียความสามารถในการยึดเกาะเพราะสูญเสียแหล่งพลังงานจากปะการังเนื่องจากทั้งสาหร่าย และปะการังมีความสัมพันธ์ทางชีวภาพแบบเกื้อกูลกันและกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 ที่ เกรต แบริเออร์ รีฟ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวมหาปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก



จาก : ข่าวสด วันที่ 9 มีนาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 15-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"ปะการังฟอกขาว" ที่สุดแห่งวิกฤตทะเลไทย





"ปะการัง" เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากใต้ทะเลตามซอกตามรูของหินปูนแต่ละก้อนที่สร้างขึ้นมา ภายในเนื้อเยื่อของปะการังก็จะมีสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้จะเป็นวัตถุที่ช่วยสร้างสีสันให้กับปะการังนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังอีกด้วย

แต่จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลสำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ระบุข้อมูลที่น่าตกใจว่า งานวิจัยเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 พบว่าสภาวะของปะการังฟอกขาวในปี 2553 นี้ เป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับท้องทะเลไทย


*ปะการังฟอกขาว ระบาดน่านน้ำไทย

ในปี 2553 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้สำรวจสภาวะการฟอกขาวของปะการังในน่านน้ำไทย ผลปรากฏว่า พบปะการังฟอกขาวที่เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ (อุณภูมิปกติประมาณ 28-29 องศาเซลเซียส) พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา และอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นถึง 31 องศา เมื่อต้นเดือนเมษายน (อุณหภูมิที่อาจถือว่าเป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวคือที่ 30.1 องศาเซลเซียส

หากปะการังอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 30.1 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น) ซึ่งเริ่มเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังมีการฟอกขาวของปะการังทั่วภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ แถบตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ ซีเชลส์ พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย


ปะการังสมองกำลังฟอกขาว

จากการสำรวจข้อมูลในประเทศไทย พบว่าแนวปะการังทุกจังหวัดทางฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวมากกว่า 70 % ของปะการังมีชีวิตที่มีอยู่ และหลังจาก 1 เดือน ปะการังที่ฟอกขาวเริ่มตาย 5 – 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นกับสถานที่ สำหรับฝั่งอ่าวไทย พบการฟอกขาวรุนแรงเช่นเดียวกับฝั่งอันดามัน โดยบริเวณกลุ่มเกาะตอนบนของจังหวัดชลบุรี (เกาะสีชัง เกาะนก เกาะสาก เกาะครก เกาะจุ่น) พบการฟอกขาวช้ากว่าจุดอื่นๆ

สำหรับในพื้นที่อื่น อาทิ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน สำรวจ 8 สถานี พบมีการฟอกขาวบริเวณอ่าวนำชัย ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ สำรวจ 10 สถานี พบฟอกขาวทั้งเกาะสุรินทร์เหนือและใต้ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พบการฟอกขาวบริเวณแหล่งดำน้ำ จ.พังงาและภูเก็ต ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทะเลอ่าวไทย สำรวจที่เกาะช้าง จ.ตราด เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมชาติ พบการฟอกขาวไม่รุนแรง แต่อุทยานแห่งชาติทางทะเล จ.ชุมพร พบว่ามีการฟอกขาวประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์

สำหรับอุทยานแห่งชาติในฝั่งอันดามันมีการปิดฤดูกาลท่องเที่ยวไปแล้ว แต่ในฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด เขาแหลมหญ้า จ.ระยอง และหมู่เกาะช้าง จ.ตราด ที่ยังคงมีการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งการท่องเที่ยวจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวได้


*เอลนีโญ ตัวต้นเหตุ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า กรณีปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในทะเลอ่าวไทยและอันดามันขณะนี้ เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าดีว่าการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงหลังมานี้มีความสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอย่าง ชัดเจน

อีกทั้งยังมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยได้มีการศึกษาปะการังมากว่า 60-70 ปีแล้ว พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง คือ ปี พ.ศ. 2541 และปีนี้ พ.ศ. 2553 จะเห็นได้ว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อนอาจจะมีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรง ทว่าขณะนี้ปรากฏการณ์ที่รุนแรงเกิดถี่มากขึ้น

"ครั้งนี้เป็นครั้งที่โดนในพื้นที่กว้างที่สุด ความรุนแรงก็ไม่เท่ากันแล้วแต่พื้นที่ ถ้าย้อนอดีตทั้งหมดตั้งแต่เราเริ่มทำงานด้านปะการังมาจนถึงตอนนี้ ก่อนหน้าปี 2535 เราแทบไม่เจอปะการังฟอกขาวเลยเจอก็น้อยมาก แต่พอหลังปี 2535 เราเริ่มเจอปะการังฟอกขาวรุนแรงขึ้นและก็ถี่ขึ้น ซึ่งภาวะนี้มันเกี่ยวข้องโดนตรงกับเอลนีโญ"ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า การเกิดปะการังฟอกขาวเป็นเครื่องบ่งบอกว่าภาวะโลกร้อนเริ่มมีผลรุนแรงต่อธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันรุนแรงมากในกรณีของปะการังฟอกขาว ผลที่เกิดขึ้นคือปะการังตาย ผลกระทบก็จะต่อเนื่องไปถึงจำนวนปลา เรื่องของการประมง เรื่องของการท่องเที่ยว หรือเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งด้วย

เนื่องจากแนวปะการังเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายที่สุดในทะเล พอแนวปะการังสูญเสียไป ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตก็ลดลง เรื่องของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่หากินก็ลดลง สัตว์น้ำตัวใหญ่อย่าง ปลาเก๋า กุ้งมังกร อาจจะสูญหายไปจากหลายพื้นที่

"การท่องเที่ยวกระทบแน่นอน ไม่มีปะการังแล้วจะไปดำน้ำดูอะไร ปะการังฟอกขาวใช่ว่าจะไม่ตาย พอมันขาวหมดแล้วประมาณสัก 3-6 เดือน ปะการังที่เห็นเป็นโครงขาวๆก็จะป่นพินาศหายไปหมด เสร็จแล้วจะมีสาหร่ายมาขึ้นแทน ก็กลายเป็นแนวหินโสโครก ซึ่งไม่มีใครดำน้ำดูแนวหินโสโครก ตอนแรกที่นักท่องเที่ยวเห็นปะการังฟอกขาวก็จะตื่นเต้น โอว...ปะการังสีเขียว สีทองเรืองแสง แต่ 3 เดือนจากนี้โครงปะการังจะหักหมด แล้วสาหร่ายจะขึ้นคลุม อาจจะเป็นอีก10 ปีแนวปะการังแถบนั้นจะไม่กลับมาเลย สิ้นสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเลย 10-20 ปี" ผศ.ดร.ธรณ์ แสดงความวิตกต่อปัญหานี้


หรือสีสันแห่งท้องทะเลจะหายไป

ทางด้าน ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หัวหน้าหน่วยวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.) กล่าวถึงกรณีเช่นกันว่า ปีนี้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่าทุกปี แดดแรงกว่าทุกปี ครั้งนี้ถือว่าเป็นการฟอกขาวครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา

เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ของโลกกระแสน้ำในมหาสมุทรจะมีการเปลี่ยนทิศทาง กระแสน้ำจะไหลไปทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับลมภูมิอากาศของโลก ลมไปทางไหนจะแรงหรือไม่แรง ปะการังฟอกขาวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอันหนึ่งจากการที่สภาพภูมิอากาศของโลกมันเปลี่ยน อย่างเกาะเต่า เกาะอาดังราวี สถานการณ์ปะการังฟอกขาวปีนี้แย่กว่าปีที่มีสึนามึ ตอนสึนามิแค่ปะการังหักพังฟื้นตัวไม่ยาก แต่ปีนี้ปะการังฟอกขาวไม่แน่ว่าอาจจะมีบางส่วนตายด้วยซ้ำ

"ปกติถ้าฟอกขาวตามหลักวิทยาศาสตร์ คือ ปะการังแค่เหวี่ยงสาหร่ายออกไปจากตัวมันเมื่ออุณหภูมิสูงมากๆ เอาสาหร่ายที่ทำให้ปะการังมีสีสันออกมา ตัวมันเลยเห็นเป็นเนื้อเยื่อใสๆสีขาว คลุมก้อนหินปูนอยู่คล้ายวุ้น เราเลยเห็นใสเป็นสีขาวไปทั่วบริเวณที่มีปะการังฟอกขาว มันยังไม่ตาย ถ้าเกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสมไม่มีมลภาวะอะไรต่างๆซ้ำเติมมันก็จะสามารถกลับคืนมาได้

ขณะนี้เราก็ทำได้ในเรื่องของการฟื้นตัว เราก็เก็บข้อมูลเบื้องต้นไปก่อนว่ามีที่ไหนบ้างที่ฟอกขาว เดือนหน้าเราจะกลับไปติดตามใหม่อีกครั้ง ไปดูว่าฟอกขาวแล้วมันกลับคืนมาไหม หรือว่าตาย ตอนนั้นเราถึงจะประเมินได้เต็มที่ว่ามันจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน"ดร.ศักดิ์ อนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์อนันต์ ยังได้กล่าวถึง การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกาะเต่า พื้นที่ซึ่งศึกษาผลกระทบมากว่าสองปีว่า สองปีที่ผ่านมา เราวิจัยพบว่ามีปะการังหลายๆจุด ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว หลายๆจุดไม่มีทุ่นจอดเรือที่เหมาะสม ก็ยังคงพบเห็นการทิ้งสมอเรือในแนวปะการังอยู่ หลายที่ยังพบนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำตื้นหยียดปะการัง โดยยังไม่มีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม

"จากการศึกษาเรื่องปะการังฟอกขาว มันก็ขึ้นอยู่กับปะการังด้วยว่าเป็นปะการังชนิดไหน ถ้าเป็นปะการังเขากวาง พวกกิ่งก้านทั้งหลายมีแนวโน้มเกิน 50 เปอร์เซนต์ที่มีโอกาสตายสูง เนื่องจากเขากวางเป็นปะการังที่เปราะบางมาก อย่างกลุ่มปะการังก้อน ปะการังสมอง ตอนที่เราเจอเมื่อปี 2541 ปะการังก็กลับคืนมาโดยเฉพาะปะการังก้อนฟื้นคืนมาเกือบทั้งหมด ตอนนี้สภาพของปะการังฟอกขาว ทำให้คนที่เข้าไปเที่ยวต้องระวัง ไม่สร้างความกระทบเพิ่มเติมแก่ปะการัง เพื่อที่มันจะได้มีโอกาสฟื้นตัวสูง" ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าว


*จุดวิกฤต

เมื่อพูดถึงจุดวิกฤตที่ต้องระมัดระมัดเป็นพิเศษ ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่าจุดวิกกฤตที่น่าเป็นห่วงคือ ที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากทางอื่นอยู่ด้วย เช่น แนวปะการังที่เกาะช้าง เกาะสมุย ซึ่งเป็นเกาะที่มีการพัฒนาค่อนข้างเยอะและรุนแรง มีการตัดถนน ทำรีสอร์ท ทำให้ตะกอนลงทะเล การขยายตัวของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการควบคุมที่ไม่ดี สองแห่งนี้น่าเป็นห่วงที่สุด

"อย่างเกาะสุรินทร์ เกาะสิมิลัน ผมเชื่อว่าหลังจากปรากฏการณ์นี้ไปธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ปะการังฟอกขาวอยู่มาเป็นล้านปี ถ้าฟื้นฟูไม่ได้ก็ตายหมดแล้ว แต่ว่าปัจจุบันมันมีผลกระทบของมนุษย์เข้าไปซ้ำเติมต่อการฟื้นตัว เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่มีผลกระทบเยอะๆอย่างเกาะสมุย เกาะช้าง ในอดีตเราเรียนรู้มาตั้งแต่ปี 2541 แล้วว่ามันไม่ฟื้น แล้วมาโดนหนนี้ซ้ำ ไอ้ที่มันพอเหลืออยู่บ้าง ก็จะยิ่งไม่ฟื้นหนัก" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวด้วยความเป็นห่วง

ด้านความคิดของดร.ศักดิ์อนันต์ มองว่า จุดที่น่าเป็นห่วง คือ ทะเลฝั่งอ่าวไทย เพราะทางอันดามันลมฝนเริ่มมา คาดว่าน่าฟื้นตัวได้เร็ว การป้องกันที่ดีที่สุด ขณะนี้ต้องไม่สร้างผลกระทบเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำว่าฝั่งอ่าวไทยที่ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้นั้นไม่ควรก่อให้เกิดปัญหามลพิษเพิ่มมากขึ้น ไม่ไปเหยียบปะการังที่กำลังฟอกขาวอยู่

"สิ่งที่อยากเตือนนักท่องเที่ยว ก็คือเรื่องการเหยียบปะการัง การให้อาหาปลา การทิ้งอาหารเหลือลงทะเลเป็นสิ่งที่สร้างแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น พอแบคทีเรียมาก ธาตุอาหารมาก มันก็มีพวกแพลนตอนพืช สาหร่าย ยึดครองพื้นที่ทำให้กระทบต่อปะการังอีก" ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าวทิ้งท้าย



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 มิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 30-11-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ความตายสีขาว .............................. โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



ผมตั้งใจไว้ ในคอลัมน์ Around & Outside ผมจะไม่เน้นเรื่องเมืองไทย เพราะไม่อยากให้ซ้ำซ้อนกับนักเขียนท่านอื่น อีกทั้งผมเขียนเรื่องเที่ยวเมืองไทยมาร่วม 15 ปี เคยเล่าเคยกล่าวถึงเกือบทุกสถานที่ จะให้กลับมาเขียนใหม่ให้ตื่นตาตื่นใจคงเป็นไปได้ยาก หากไม่เกิดเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดี เช่น วาฬบรูด้า หรือเรื่องที่เศร้าจริงจัง เช่น เรื่องที่คุณกำลังจะได้อ่าน ผมจะไม่พยายามผิดกติกาของตัวเอง

แล้วอะไรคือเรื่องเศร้าจริงจังดังกล่าว ? เรื่องราวต้องย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 53 ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลปั่นป่วน อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นจากปรกติหลายองศา จากนั้นก็มีข่าวปะการังฟอกขาวในอันดามัน ตั้งแต่เหนือสุดที่หมู่เกาะสุรินทร์ เรื่อยลงไปทางใต้ ผ่านภูเก็ตและพีพี ต่อเนื่องถึงใต้สุด จากนั้นเริ่มมีปรากฏการณ์ทางฝั่งอ่าวไทย ยาวไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม

ในช่วงเวลานั้น แทบทุกสำนักข่าวต่างรายงาน ปะการังที่เกาะนั้นฟอกขาวแค่ไหน ที่นี่เป็นอย่างไรบ้างแล้ว ? ผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาบอกมาตรการรับมือ เราจะเตรียมโครงการไว้ฟื้นฟู เราจะหาทางจัดการอนุรักษ์แนวปะการังไว้ให้ฟื้นตัว คนไทยไม่ต้องเป็นห่วง อย่างว่า...นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งแรกที่เมืองไทยเจอ เราเคยเจอก่อนหน้านี้ เช่น ปี 2535 ปะการังฟอกขาวในเกาะสุรินทร์ ปี 2540-41 ปะการังฟอกขาวทั่วอ่าวไทย เรายังรอดมาได้เลย

ในยุคนี้ที่ผู้คนเสพข่าวสารกันอย่างแพร่หลาย ทุกข่าวถูกทำให้สั้น อาจตกหล่นข้อความบางประการ ผมจึงขออธิบายคำว่า “รอด” ให้ชัดเจน รอดของหมู่เกาะสุรินทร์ในปี 2535 คือแนวปะการังในอ่าวแม่ยาย แหล่งปะการังเขากวางใหญ่สุดของเมืองไทย อยู่ในสภาพโทรมสิ้น เกิดสาหร่ายเห็ดหูหนูขึ้นมาปกคลุมหนาแน่น กลายเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องยาวนาน จนท้ายสุด ต้องปิดพื้นที่นั้น ทำให้เป็นเขตสงวน เพื่อรอให้ปะการังฟื้นตัว ซึ่งมีแนวโน้นอยู่บ้าง แต่ยังห่างไกลจากคำว่า “เหมือนเดิม”

ในปี 2540-41 ปะการังทั่วอ่าวไทยได้รับผลกระทบ เราแทบไม่ลงมือจัดการอะไรเลย ผลที่เกิดขึ้นคือปะการังเขากวางแทบไม่มีเหลือ ยังหมายถึงแนวปะการังที่ทรุดโทรมลงอย่างชัดเจนในหลายหมู่เกาะ

นั่นคือคำว่า “รอด” ที่ตกหล่นคำว่า “อย่างปางตาย” และจนถึงปัจจุบัน อาการปางตายเมื่อ 10-20 ปีก่อน ยังปรากฏให้เห็น ในช่วงที่เราเผชิญปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอีกครั้ง และเป็นครั้งที่รุนแรงมากสุดนับตั้งแต่เคยมีบันทึกมา เพราะครั้งนี้ทะเลทั้งสองฝั่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ต่างเจอพร้อมกันและเจออย่างแรง

น่าเสียดาย ข่าวสารใดในยุคนี้ ล้วนมีเวลาอยู่ในสื่อไม่นาน ประเด็นใหม่ๆ จะกลบอย่างรวดเร็ว ทำให้เรื่องของปะการังฟอกขาวจบไป ยังมีบางข่าวที่ออกมาในระยะหลัง เช่น มาเที่ยวกันเถิด ปะการังเลิกฟอกขาวแล้ว ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปรกติ ทะเลพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ทุกแห่งทุกที่ทุกเวลา ขอเชิญมาโอ้ลัลล้าชมปลาชมแนวปะการัง

และนั่นคือที่มาของบทความนี้ แม้จะเป็นบทความเล็กๆที่คงโดนข่าวอื่นกลบไปในไม่ช้า แต่อย่างน้อยผมก็บอกตัวเองได้ เราทำหน้าที่ของเราแล้ว และหน้าที่ของผมในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล คือการบอกคุณด้วยข้อความที่ชัดเจน

ปะการังเลิกฟอกขาวแล้ว...จริง เพราะปะการังตายแล้ว ปะการังคงไม่มีวิญญาณกลับมาฟอกขาวใหม่ ความตายที่เกิดขึ้น มิได้เกิดกับปะการังทุกกอ แต่เป็นความตายที่น่ากลัวเหลือเกิน กินพื้นที่กว้างและเกิดผลกระทบแทบทุกหมู่เกาะในทะเลไทย

การ “เจอ” ของผม มิใช่แค่ลงไปดำน้ำ เจอปะการังตาย เสร็จแล้วมาตีโพยตีพายให้คุณฟัง นับตั้งแต่ปะการังเริ่มฟอกขาว เหล่านักวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั่วหัวระแหงต่างรวมตัวสร้างเครือข่ายย่อมๆที่ปราศจากความสนับสนุนของหน่วยงานใด (ว่าง่ายๆคือทำกันเอง)

พวกเราช่วยกันรายงานสถานการณ์แนวปะการังในแต่ละพื้นที่เท่าที่เรามีโอกาสได้ไปสำรวจ เราพอบอกให้คุณทราบได้ ปะการังที่เกาะพีพีตายเกือบครึ่ง ปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอีกหลายเกาะรอบภูเก็ต อยู่ในสภาพย่ำแย่ใกล้เคียงกัน มีบางอ่าวอาจรอด แต่บางอ่าว ปะการังเขากวางตายยกครัว

“ตาย” หมายถึงอะไร ? ในตอนแรกปะการัง “ฟอกขาว” หมายถึงป่วยหนัก อาการเป็นตายเท่ากัน มาถึงตอนนี้ “ตาย” ของผมคือตายอย่างแท้จริง ตายแบบไม่ฟื้น ไม่ต้องตีความ ตายก็คือตาย ถูกสาหร่ายเคลือบ แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เสื่อมสลายไปในที่สุด

ข่าวสารยุคนี้นอกจากมาไวไปไว ยังต้องฟังหูไว้หู ผมจึงขอให้พวกคุณฟังพวกเราเหล่านักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพียงหูเดียว อีกหูหนึ่งสามารถฟังจากเพื่อนที่ไปเที่ยวชมแนวปะการังในบางพื้นที่ ถามเธอถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ผมเขียนบทความเรื่องนี้ เพราะถ้าปะการังฟอกขาวแล้ว แน่นอนว่า ย่อมต้องมีปะการังตาย ผมจะมาบอกคุณทำไม ?

เผอิญมีอีกเรื่องที่ยังไม่จบ เท่าที่ผมติดตามมา ผมยังไม่เห็นโครงการหรือการจัดการใดๆเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ไม่มีการปิดพื้นที่บางแห่งให้ปะการังฟื้นตัว ใครใคร่ดำน้ำตื้นลึกตรงไหนเชิญตามสบาย ไม่มีการสนับสนุนใดๆเกี่ยวกับการตรวจสอบติดตามหรือหาทางแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม คล้ายกับเหตุการณ์ปะการังตายสยองขวัญ เป็นเช่นลมเพลมพัด ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องทำอะไรก็ได้

ผมชอบป่าน้อยกว่าทะเลนิดเดียว แต่ถึงตอนนี้ ผมเริ่มน้อยใจ ถ้าต้นไม้ในเขาใหญ่โกร๋นไปเกือบครึ่ง ถ้าพันธุ์ไม้ในห้วยขาแข้งล้มตายลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ คงเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ทุกคนในประเทศสนใจ ผู้หลักผู้ใหญ่คงออกมาประกาศนโยบายโน่นนี่นั่น มีการดำเนินกิจกรรมมากมายเพื่อช่วยป่า

น่าเสียดายที่ในทะเลมีน้ำ และน้ำเหล่านั้นปิดบังสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็น แต่เป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้ประเทศไทยเหลือหลาย กุ้งหอยปูปลาในสำรับของชาวบ้านริมฝั่งทะเลนับล้านครอบครัว รายได้จากการท่องเที่ยวที่กระจายไปทั่ว ผมคงไม่ต้องเน้นย้ำความสำคัญของแนวปะการังให้มากความ

ผมไม่ต้องการบอกว่า อย่าไปทะเลกันเลย อย่าไปเที่ยวดำน้ำดูแนวปะการัง ผมแค่อยากแนะนำพวกเรา แนวปะการังตอนนี้เปรียบเสมือนคนไข้กำลังป่วยหนัก หากคุณอยากไปเยี่ยมเธอ ขอความกรุณาใช้ความระมัดระวัง กระทำการใดๆด้วยใจรักอย่างสูงสุด เพราะโรงพยาบาลไม่สนใจคนไข้รายนี้ ทำแค่ออกข่าวเมื่อตอนที่เธอเริ่มป่วย จากนั้นก็ปล่อยปละละเลยให้เธอต่อสู้กับโชคชะตาเพียงลำพัง แถมบางครั้งยังบอกให้พวกเราไปเยี่ยมเธอกันเยอะๆ โดยหลงลืมว่า เธอต้องการเวลาพักผ่อน

ผมเพียงขอให้โรงพยาบาลช่วยหันมาดูแลคนไข้ สนับสนุนให้คุณหมอตรวจอาการ ให้คุณพยาบาลช่วยดูแล จัดเวลาเยี่ยมไข้ให้เหมาะสม ทำทุกอย่างที่เราทำได้...ให้เธอ มิใช่หวังแต่ใช้งานเธอ

มิฉะนั้น ความตายสีขาวจะพรากเธอจากพวกเราไป และหายนะครั้งใหญ่จะมาเยือนประเทศไทย ไม่มีทางแก้ ไม่มีทางฟื้นฟู ไม่มีทางออก ไม่มีทางเปลี่ยน จบคือจบ พินาศคือพินาศ ต้องรออีกกี่ชั่วอายุก็ไม่ทราบ กว่าปะการังจะกลับมาเป็นอย่างเดิม...หรือมิฉะนั้น ไม่มีทาง

เวลาน้อยนิดที่เราเหลืออยู่ คือเวลาที่เราควรเลิกเสแสร้ง เลิกโย้ไปเย้มา เลิกเบือนหน้าหนี แต่หันหน้าเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญ และกระทำทุกทางให้สมกับคำพูดที่เราพร่ำบอกตลอดมา - “เรารักทะเลไทย”



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 30-11-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


นักวิชาการโวย "หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน "เสียหายรุนแรงปล่อยให้ดำน้ำทำปะการังฟอกขาว



นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังและนิเวศน์ทะเลสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า เกิดวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับปะการังในท้องทะเลอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งที่จะประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก โดยเฉพาะพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ และ หมู่เกาะสิมิลัน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา จากการสำรวจเบื้องต้นพบแหล่งปะการังบางแห่งในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน เกิดฟอกขาวทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปะการังในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน

นางสาวนลินีกล่าวอีกว่า จากการสำรวจสภาพแนวปะการังรอบเกาะต่างๆในบริเวณหมู่เกาะพีพี จ. กระบี่ ซึ่งได้แก่ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิด๊ะใน และเกาะบิด๊ะนอก โดยวิธีการ Manta tow เมื่อวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2553 โดยนักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล จ.ภูเก็ต พบว่า แนวปะการังส่วนใหญ่ของทุกๆเกาะอยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 2 เท่าและเสียหายมาก มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 3 เท่า โดยเฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง ส่วนบริเวณที่แนวปะการังยังอยู่ในสภาพปานกลาง ได้แก่บริเวณที่เป็นหน้าผาหิน ซึ่งมีปะการังปกคลุมอยู่ค่อนข้างน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

สำหรับสาเหตุหลักของความเสียหายของแนวปะการังเหล่านี้นั้น น.ส.นลินีกล่าวว่า คือการฟอกขาว อันเนื่องมาจากการสูงขึ้นอย่างผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเลในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเริ่มเกิดในช่วงปลายเดือนเมษายน 53 ปะการังบริเวณหมู่เกาะพีพีเริ่มตายลงจากการฟอกขาวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญและมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เช่น ด้านตะวันออกของเกาะยูงและเกาะไผ่ หินกลาง แหลมตง อ่าวรันตี อ่าวต้นไทร ซึ่งเป็นแนวปะการังน้ำตื้นที่มีปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น เดิมส่วนใหญ่มีปะการังอยู่ในสภาพปานกลาง-ดี แต่จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่าปะการังเขากวางกว่าร้อยละ 90 ได้ตายลง ทำให้แนวปะการังยู่ในสภาพเสียหายถึงเสียหายมากดังกล่าว

นางสาวนลินีกล่าวอีกว่า เมื่อเทียบผลการสำรวจในครั้งนี้กับการสำรวจความเสียหายของแนวปะการังหลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2548 ซึ่งในปี 2548 พบว่าแนวปะการังของหมู่เกาะพีพีหลายบริเวณมีสภาพดีมาก มีปะการังมีชีวิตมากกว่าปะการังตายประมาณ 3 เท่า และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดีถึงสภาพปานกลาง มีปะการังมีชีวิตมากกว่าปะการังตายประมาณ 2 เท่าหรือในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ในการสำรวจครั้งนี้พบแนวปะการังที่ยังอยู่ในสภาพดีเหลืออยู่น้อยมาก และไม่พบแนวปะการังที่อยู่ในสภาพดีมากเหลืออยู่เลย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าความเสียหายของแนวปะการังจากการฟอกขาวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าความเสียหายจากสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547

“ข้อสังเกตที่พบขณะทำการสำรวจในครั้งนี้ พบว่าแนวปะการังหลายบริเวณยังมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวดำน้ำเป็นจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแนวปะการัง ดังกล่าวนอกจากนี้ยังพบว่าในหลายบริเวณยังมีทุ่นจอดเรือไม่เพียงพอกับเรือท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก มีการเหยียบปะการังของไกด์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง รวมทั้งพบอวนและลอบที่อยู่ในสภาพใหม่และเก่าจำนวนมากในแนวปะการัง ผู้ประกอบการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวให้อาหารปลาในแนวปะการัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีสาหร่ายขึ้นคลุมปะการังจำนวนมากในหลายบริเวณ เช่น เกาะไผ่ หินกลาง เนื่องจากปลาเปลี่ยนพฤติกรรมไปกินอาหารจากนักท่องเที่ยวแทนที่จะกินสาหร่ายที่ขึ้นคลุมปะการัง ซึ่งหากไม่มีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โอกาสที่แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะพีพี จ. กระบี่ จะกลับมีความสวยงามสมบูรณ์ดังเดิมคงเป็นไปได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมาก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมมาอีกว่า นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกด์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีคำสั่ง322/2553 ลงวันที่ 30 กันยายน 2553 แต่งตั้ง รองอธิบดี ทช.และผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยราชฎัภภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบุคลากรของกรม ทช.และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช ร่วมพิจารณาหาทางแก้ปัญหาและหาทางอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสภาพปะการังในน่านน้ำไทยเกิดปัญหาฟอกขาวที่เกิดจากสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของอณหภูมิน้ำทะเลที่ผิดปกติและเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยคณะกรรมการจะจัดการประชุมกันในวันที่ 30 พ.ย. นี้



จาก : มติชน วันที่ 29 พฤศจิกายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 30-11-2010 เมื่อ 18:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 30-11-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สายน้ำ อ่านข้อความ

นักวิชาการโวย "หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน" เสียหายรุนแรงปล่อยให้ดำน้ำทำปะการังฟอกขาว


เนื้อข่าวดีมาก....แต่หนังสือพิมพ์เล่นโปรยหัวข่าวอย่างนี้ อ่านแล้วเหมือนนักดำน้ำทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว....

อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเนื่องจากโลกร้อนต่างหากเล่าคะ...ที่ทำให้ปะการังฟอกขาว แต่นักดำน้ำที่ไม่ระมัดระวัง อาจจะมีส่วนซ้ำเติมปะการังที่ฟอกขาวอยู่แล้วให้บอบช้ำมากยิ่งขึ้นนะคะ....

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 30-11-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เมื่อเช้าไปประชุมเรื่องปะการังฟอกขาวมาค่ะ...ทางหน่วยราชการและนักวิชาการเห็นความสำคัญ ของการฟื้นฟูแนวปะการังที่มีการฟอกขาวมาก โดยมุ่งเน้นให้มีการออกมาตรการ ที่จะทำให้แนวปะการังฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน..ก็ป้องกันไม่ให้มนุษย์ (ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวประมง) เข้าไปทำร้ายแนวปะการังให้บอบช้ำเป็นการซ้ำเติม หนักขึ้นไปอีกด้วย


ในการนี้คงทำได้ในรูปของการสร้างองค์ความรู้......ออกสื่อ...ออกโปสเตอร์ และออกหนังสือ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับนักท่องเที่ยว....ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ....ชาวประมง...และประชาชนทั่วไป และขอร้องให้ทางอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหลาย พิจารณาปิดแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายมาก....จัดทำทุ่นจอดเรือ...กำหนดเขตหรือระยะห่างในการเข้าไปทำกิจกรรมใกล้แนวปะการัง....การกวดขันไม่ให้มีการลักลอบทำประมงในเขตอุทยานฯ


รายงานการประชุมออกมาเมื่อไร...จะมาแจ้งให้ทราบโดยละเอียดอีกครั้งนะคะ
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 30-11-2010 เมื่อ 20:50
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 01-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


วิกฤตรุม 'ปะการัง' ลามทั่วโลกถึงไทย ................... โดย ศักดิ์สกุล กุลละวณิชย์



ปะการัง เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลอยู่ในชั้น 'แอน โธซัว' จัดเป็นพวกดอกไม้ทะเล ส่วนแนวปะการังนั้นสร้างขึ้นมาจากโครงสร้างของ 'ปะการังแข็ง' หรือปะการังที่ถูกรองรับด้วยชั้นของสารแคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตขึ้นมาโดยสาหร่ายคอรอลลีน

แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมาก เป็นที่อยู่อาศัยของปลามากกว่า 4,000 ชนิด ชุมชนของหอยและสัตว์อื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก รวมแล้วมีจำนวนประชากรสัตว์น้ำที่ได้ประโยชน์จากปะการังกว่า 275 ล้านตัวต่อแนวปะการังหนึ่งๆเลยทีเดียว

ในช่วงเวลาที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างสั่งปิด 3 เกาะ หลังเกิดปัญหาปะการัง ฟอกขาว ซึ่งตายไปกว่า 90% ก็มีรายงานของ "บีบีซี อังกฤษ" ในเรื่องนี้ตรงกันพอดี

โดยมีผลการประเมินล่าสุดระบุว่า 3 ใน 4 ส่วนของแนวปะการังโลกกำลังเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่

รายงานทางวิทยาศาสตร์ 20 กว่าชิ้น ที่ทางสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) รวบ รวมและได้ข้อสรุปว่า มีสาเหตุสำคัญมาจากการทำประมงจับปลาและการเปลี่ยน แปลงของสภาพอากาศโลก

"ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรกันเลยกับปัญหานี้ ผมเชื่อว่าอีกประมาณ 50 ปี ปะการังในแบบที่เรารู้จักจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป" ดร.มาร์ก สปอลดิง แห่งศูนย์วิจัยธรรมชาติประเทศอังกฤษกล่าว

"จะเห็นได้ว่า จากรายงานสภาพปะการังในปัจจุบันของสถาบันทรัพยากรโลก มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทั้งในภาครัฐบาลประเทศต่างๆ, ภาคธุรกิจเอกชน ให้หันกลับมามองปัญหาและร่วมกันอนุรักษ์แนวปะการังชายฝั่งกันอีกครั้ง" เจน ลุบเชนโก ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลและอากาศแห่งสหรัฐกล่าว

"ตอนนี้ แน่ชัดแล้วว่า ตัวการของปัญหามาจากทั้งคนท้องถิ่นและสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปะการังทั่วโลก" ลุบเชนโกกล่าวย้ำ



สําหรับเรื่องการทำประมงจับปลาของประเทศต่างๆ จากรายงานระบุว่าเป็นตัวทำลายปะการังกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เพราะมักเป็นการทำลายโดยตรง ปะการังไม่สามารถขึ้นใหม่ได้ทัน ยกตัวอย่างเช่นการใช้ระเบิดจับปลาในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ที่มักทำให้แนวปะการังหายไปเป็นแถบๆ

ส่วนเรื่องสภาพอากาศ มีหลายสาเหตุย่อย เช่น มลพิษของน้ำทะเลแต่ละที่, ผลกระทบจากธุรกิจการท่องเที่ยว ไปจน ถึงปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ซึ่งถ้าดูจากสถิติ ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของมลพิษ และสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ก็จะทำให้ 95% ของปะการังทั้งหมดถูก 'ฟอกขาว' และตายลงอย่างแน่นอน

"ปะการังกำลังถูกทำลายจากภาวะโลกร้อน เพราะปะการังนั้นอ่อนไหวต่อเรื่องอุณหภูมิอย่างมาก ถ้าน้ำร้อนขึ้นปฏิกิริยาการฟอกขาวก็จะเร็วขึ้น ในอนาคตผมหวังว่าภาวะโลกร้อนจะถูกชะลอจากการร่วมมือกันของทุกคน แต่นี่ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียว ยังมีเรื่องอื่นอีกที่ต้องแก้ไข ถ้าเราอยากจะรักษาปะการังไว้" ดร.สปอลดิง แสดงความเห็น

หันมาดูในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในรายงานระบุว่าเป็นภูมิภาคที่มีปัญหามากที่สุด และสภาพปัญหาส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เพราะในพื้นที่ที่มีคนอยู่มากอัตราของปะการังถูกทำลายก็มากไปด้วย คนอยู่น้อยปัญหาก็น้อยนั่นเอง

โดยกลุ่มประเทศที่มีปัญหาปะการังถูกทำลายอยู่ในอันดับต้นๆ ได้แก่ โคโมรอส ฟิจิ เฮติ อินโดนีเซีย คิริบาติ ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และ วานูอาตู

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ยังให้ความหวังว่ายังพอมีทางออกในการที่จะช่วยเหลือปะการังที่ยังสมบูรณ์ไม่ถูกทำลาย

"ต้องเริ่มจากการลดกิจกรรมของคนในพื้นที่ เท่านี้ก็ซื้อเวลาได้บ้าง จากนั้นค่อยมาช่วยกันในเรื่องแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทำยากกว่า" ลอเร็ตตา เบิร์ก เจ้าหน้าที่อาวุโสของสถาบันทรัพยากรโลกกล่าว

"ในรายงานมีทางแก้ไขให้หลายวิธี และก็มีตัวอย่างในหลายพื้นที่ที่สามารถรักษาความสมบูรณ์ไว้ได้ ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้จากกันและกัน เพราะถ้าทำไม่ได้ อีก 50 ปีเราจะเหลือเพียงก้อนหินปูนขาวๆ ที่มีปลาไม่กี่ตัวว่ายผ่านเท่านั้น" ดร.สปอลดิงกล่าวทิ้งท้าย




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 1 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #9  
เก่า 01-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เตือนไม่ดูแลปะการังตอนนี้ อีก 50 ปีสูญพันธุ์หมด


นักอนุรักษ์ออกมาเตือน สถานการณ์น่าห่วงของปะการังทั่วโลก ซึ่งกำลังถูกคุกคาม ถึง 3 ใน 4 ของโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปะการังถูกคุกคามถึง 95% แจงหากไม่ดูแลตั้งแต่ตอนนี้ อีก 50 ปีปะการังสูญพันธุ์หมด เหลือแต่ซากหินปูนประดับท้องทะเลแน่ๆ


บีบีซีนิวส์ระบุว่า ความแข็งแรงของปะการังนั้นช่วยในการดำรงชีวิตผู้คนกว่า 275 ล้านคนทั่วโลก และส่วนใหญ่มีชีิวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาความอยู่รอดของปะการัง (บีบีซีนิวส์)

นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยชีวิตใช้เวลา 3 ปีรวบรวมข้อมูลเป็นรายงานสถานการณ์ความเสี่ยงของปะการังทั่วโลก ซึ่ง ริชาร์ด แบล็ค (Richard Black) ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมของบีบีซีนิวส์ระบุว่า ตามข้อมูลของนักวิจัย สิ่งที่คุกคามปะการังรุนแรงสุดคือ การทำประมงอย่างเกินพอดี ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อปะการังภายใน 20 ปี

รายงานฉบับนี้ เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มวิจัยและองค์กรอนุรักษ์กว่า 20 แห่ง ซึ่งนำโดย สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ ซึ่ง เจน ลุบเชนโค (Jane Lubchenco) จากองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanographic and Atmospheric Agency: NOAA) บอกว่า รายงานนี้เป็นเหมือน “เสียงปลุก” สำหรับนักนโยบายทั้งหลาย ผู้นำธุรกิจ ผู้มีหน้าที่ดูแลและจัดการทางมหาสมุทรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องแนวปะการัง

“การคุกคามทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สร้างผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวปะการัง และทำให้อนาคตของระบบนิเวศน์ที่สวยงามและมีคุณค่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง” ลุบเชนโก ให้ความเห็น

รายงานประเมินสิ่งแวดล้อมนี้ ยังได้ทบทวนการทำประมงแบบเกินพอดี ที่พบในรายงานความเสี่ยงของปะการังเมื่อปี 1998 โดยได้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งตลอด 13 ปีที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ปะการังเสี่ยงต่อการถูกทำลายเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด และสาเหตุหลักๆของความเสียหายที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการทำประมงแบบเกินพอดี โดยเฉพาะในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

โดยภาพรวม แนวปะการังของโลกมากกว่าครึ่งถูกคุกคามจากวิธีที่ชาวประมงใช้ ซึ่งมีตั้งแต่การจับสัตว์แบบธรรมดาๆ แต่มากเกินกว่าธรรมชาติจะฟื้นฟูได้ทัน ไปจนถึงการใช้วิธีจับปลาที่รุนแรง อย่างการใช้ระเบิดเพื่อทำให้ปลาตกใจหรือทำให้ตาย ซึ่งวิธีดังกล่าวได้ทำลายปะการังให้กลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยคุกคามสำคัญอีก ได้แก่ มลพิษที่ไหลมาตามแม่น้ำ การพัฒนาชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ หากสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นไปตามคาดการณ์ ภายในปี 2030 ปะการังทั่วโลกจะฟอกขาวไปกว่าครึ่ง และเมื่อถึงปี 2050 จะมีปะการังฟอกขาวถึง 95%

แนวปะการัง เกิดจากตัวปะการังที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับสาหร่าย ซึ่งให้สารอาหารที่ทำให้ปะการังมีสี แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำร้อนเกินไป สาหร่ายจะถูกขับออกไป และตัวปะการังจะเปลี่ยนเป็นสีขาว แม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่หากเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ปะการังตายได้ง่ายๆเหมือนกัน

นอกจากนี้ค่าความเป็นกรดเป็นด่างในน้ำทะเลที่ค่อยๆลดลง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น หรือการที่มหาสมุทรเกิดภาวะเป็นกรดนั้นเป็นภัยต่อการก่อโครงสร้างของปะการัง

มาร์ค สปัลดิง (Mark Spalding) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาวุโสจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) บอกว่า ตอนนี้ปะการังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ซึ่งเขาเกรงว่าในอนาคตทั้งภาวะโลกร้อนและภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร จะเป็นภัยคุกคามหลักต่อปะการัง และไม่มีภัยคุกคามใดที่ส่งผลกระทบต่อปะการังอย่างเดี่ยวๆ แต่มักจะมีหลากลหายปัจจัยรวมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดยิ่ง


หากหยุดยั้งการทำประมงแบบเกินพอดีและมลพิษได้ก็จะช่วยรักษาปะการังไว้ได้ (บีบีซีนิวส์)

รายงานจากบีบีซีนิวส์ยังบอกด้วยว่า บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดย 95% ของปะการังในบริเวณนี้ ได้รับการขึ้นบัญชีที่ถูกคุกคาม หากแต่ในแง่ผลกระทบต่อสังคมมนุษย์แล้ว การคุกคามดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสมดุลเท่านั้น

นักวิจัยให้เหตุผลว่า สังคมที่จะได้รับผลกระทบหนักๆจากปะการังที่ลดจำนวนลง จะเป็นสังคมที่อยู่ในบริเวณที่มีการคุกคามสูง บริเวณที่มีสัดส่วนของประชากรที่พึ่งพิงปะการังในวิถีชีวิตมาก รวมถึงพื้นที่ที่ประชากรปรับตัวได้ต่ำ โดยประเทศที่มีปะการังตกอยู่ในความเสี่ยงสูง ได้แก่ คอโมโรส ฟิจิ เฮติ อินโดนีเซีย คิริบาส ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และวานูอาตู

“ยังมีเหตุผลที่จะมีความหวัง เพราะปะการังนั้นฟื้นตัวเร็ว และด้วยการลดการคุกคามระดับท้องถิ่น เราสามารถช่วยซื้อเวลาในการหาทางแก้ไขเพื่อรับมือกับการคุกคามระดับโลก ซึ่งจะช่วยรักษาปะการังไว้สำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต” ลอเรตตา เบิร์ก (Lauretta Burke) เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสถาบันทรัพยากรโลกและเป็นหัวหน้าทีมในการเขียนรายงานให้ความเห็น

งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง จะช่วยให้ปะการังแข็งแรงและทนทานต่ออุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งในรายงานของบีบีซีนิวส์ได้เน้นว่า การปกป้องพื้นที่สำคัญของทะเลนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้ชัดเจน

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีพื้นที่ปะการังที่ต้องได้รับการปกป้องกว่า 2,500 พื้นที่ และแม้ว่าทั่วโลกจะมีการปกป้องพื้นที่เหล่านั้นไปมากกว่าครึ่ง แต่กลับเป็นเพียงการปกป้องแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น มีเพียง 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องอย่างจริงจัง

“รายงานฉบับนี้ เต็มไปด้วยแนวทางแก้ไข มีตัวอย่างจริงในพื้นที่ซึ่งประชากรประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเราไม่เรียนรู้จากความสำเร็จเหล่านั้น ผมคิดว่าในอีก 50 ปี ปะการังเกือบทั้งหมดก็จะหายไป เหลือเพียงซากหินปูนสึกกร่อนที่ปกคลุมไปด้วยสาหร่ายและรอยแทะเล็มจากปลาตัวเล็กๆจำนวนหนึ่ง” สปัลดิงกล่าว





จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #10  
เก่า 08-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เพาะพันธุ์ปะการัง แก้วิกฤติฟอกขาว



กลางปีที่แล้ว เกิดวิกฤติแนวปะการังทั่วทั้งโลกประสบปัญหาปะการังฟอกขาวขึ้นโดยมีสาเหตุจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานเกินกว่าปะการังในทะเลจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ประเทศไทยพบว่าแนวปะการังบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้รับความเสียหายอยู่ในระหว่าง 40-80% อันประกอบด้วย ปะการังเขากวาง ทั้งแบบกิ่งและแบบโต๊ะ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังดอกเห็ด ปะการังฟอกขาวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 7-8 ครั้ง แต่ครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งต้องงดการท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง

บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมทรัพยากรชายฝั่งทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จับมือกันเพื่อผุดโครงการพลิกฟื้นชีวิตแนวปะการังให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม โดยเลือกฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีขนาดพื้นที่ 0.63 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 394 ไร่ ลักษณะโดยทั่วไปเป็นแนวปะการังแบบชายฝั่ง ปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นปะการังก้อน ปะการังดาวใหญ่ ปะการังวงแหวน และปะการังช่องเหลี่ยม นอกจากนั้นยังมีปะการังแบบกิ่ง เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังแบบแผ่น เช่น ปะการังลายดอกไม้ ปะการังจาน เหมือนๆกับปะการังในแถบอ่าวไทยทั่วๆไป

ความเสียหายของแนวปะการังในแถบบริเวณหมู่เกาะสีชัง นอกจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเกิดความเสียหายและเสื่อมโทรมจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น การแตกหัก และการพลิกคว่ำจากคลื่นลมในช่วงฤดูมรสุม ที่สำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีผลจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งในบริเวณดังกล่าวได้ขยายตัวออกไป

เกษมสันต์ จิณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า ในการฟื้นฟูมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ การย้ายการปลูกปะการังและการเพิ่มพื้นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งควรใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป รวมถึงมีมาตรการบริหารอื่นๆที่เหมาะสมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้การขยายพันธุ์จากเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง ได้มีการทดลองและดำเนินการคู่ขนานกันมา เพื่อเพิ่มศักยภาพการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์

“ ปัจจุบัน ปะการังที่เพาะขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีนี้มีมากกว่า 10 ชนิด มีอัตราการปฏิสนธิมากกว่าร้อยละ 95 อัตราการลงเกาะร้อยละ 50-75 และอัตราการรอดภายหลังการเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือน ร้อยละ 40-50 ที่สำคัญ ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของทุกภาคส่วน ที่จะมาร่วมกันเริ่มต้นแก้ไขปัญหา” ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

สุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการครั้งนี้ เปิดเผยว่า บริษัทเห็นความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมทั้งบนบกรวมถึงสิ่งแวดล้อมในทะเล ชุมชนที่ศรีราชาให้โอกาสเราทำงาน ประกอบกับเรามีนโยบายในการดูแลรักษาและเน้นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นส่งผลให้ทะเลที่อยู่รายรอบโรงกลั่นยังอยู่ในสภาพที่ดี ชาวประมงหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ ชุมชนอยู่ได้ไทยออยล์ก็อยู่ได้ ดังนั้นการที่บริษัทสนับสนุนโครงการนี้ถือเป็นการดูแลชุมชนด้วย

“นอกจากนี้บริษัทฯยังมีโครงการนำหอกลั่นขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วไปทำแนวปะการังโดยมีการประสานกับกองทัพเรือ เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลกล้าปะการังได้อีกทางหนึ่ง” นายสุรงค์กล่าว

เหล่านี้คือความร่วมมือทั้งสามฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา ที่ร่วมกันกอบกู้วิกฤติที่เกิดจากมหันตภัยปะการังฟอกขาวให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้กลับมาสู่ทะเลไทยอีกครั้งหนึ่ง.




จาก ................... เดลินิวส์ คอลัมน์ ชีวิตกับธรรมชาติ วันที่ 8 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:43


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger