#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 13 กันยายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 ? 14 ก.ย. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 18 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ภัย! ทิ้งกากมลพิษปี 66 สารปนเปื้อนพิษร้าย ............... สกู๊ปหน้า 1 ประเทศไทยยังต้องเผชิญ "การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม" ที่ได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารอันตรายสู่ "ดิน-แหล่งน้ำ" ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งมีชีวิตร้ายแรง แล้วพื้นที่สุ่มเสี่ยงสูงคงหนีไม่พ้น "ภาคกลางและภาคตะวันออก" มักปรากฏร่องรอยซากสารเคมีถูกทิ้งมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักเป็น "พื้นที่ของเอกชน บ่อดินเก่า และที่รกร้างว่างเปล่า" ตามข้อมูลมูลนิธิบูรณะนิเวศรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2560-30 มิ.ย.2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 395 เหตุการณ์ แบ่งเป็นปล่อยน้ำเสีย 260 เหตุการณ์ ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 90 เหตุการณ์ ทิ้งขยะติดเชื้อ 18 เหตุการณ์ ทิ้งขณะทั่วไป 27 เหตุการณ์ ถ้าแยกเป็นรายจังหวัดพื้นที่ทิ้งสูงสุด 5 อันดับ คือ จ.ระยอง 40 เหตุการณ์ จ.ชลบุรี 30 เหตุการณ์ จ.ปราจีนบุรี 27 เหตุการณ์ จ.สมุทรสาคร 26 เหตุการณ์ จ.นครราชสีมา 20 เหตุการณ์ โดยเฉพาะปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.มีปล่อยน้ำเสีย 25 เหตุการณ์ ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม 10 เหตุการณ์ ขยะทั่วไป 3 เหตุการณ์ อย่างล่าสุดที่ "อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา" ในระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมปิดประกาศคำสั่งให้บริษัทเอกชนแก้ไขการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ก็พบเห็นกากถูกทิ้งกระจัดกระจายในโรงงานปล่อยทิ้งลงในร่องน้ำต่างๆ เรื่องลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า จริงๆแล้วภาพรวม "การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม" สถานการณ์ผิวเผินดูเหมือนเงียบๆ แต่ว่าปัญหายังคงเกิดขึ้น "ส่งผลกระทบชุมชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง" ส่วนใหญ่เป็นโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตแล้วลักลอบฝังกลบทั้งในโรงงาน และขนย้ายออกนอกพื้นที่ไปทิ้งในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น "ภาคกลางและภาคตะวันออก" โดยเฉพาะพื้นที่ EEC แล้วมีหลายกรณีสามารถตรวจเจอ ?การลักลอบทิ้ง? เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการมักอ้างไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายได้ ยิ่งกว่านั้น "กฎหมายยังไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำผิดได้มาก" เช่นกรณีซุกซ่อนสารเคมีอันตรายหลายชนิดในโกดังเก่าใน อ.ภาชี จ.พระนคร ศรีอยุธยาจากบริษัทเอกชนเชื่อมโยงกับโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรม ใน อ.อุทัย กรณีเจ้าหน้าที่พบร่องรอยการเททิ้งกากอุตสาหกรรมในโรงงานไม่ได้บำบัดกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งยังตรวจพบการต่อท่อสายยางและท่อพีวีซีจากบ่อกักเก็บของเหลวเททิ้งพื้นที่ภายนอก ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมข้างเคียงที่นับเป็นการกระทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมกลับพบว่า "โรงงาน 2 แห่งนี้มีเจ้าของเดียวกัน" แถมยังเชื่อมโยงต่อเนื่องกับกรณีปัญหามลพิษเกิดจากโรงงานใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แล้วปัจจุบันก็ตกเป็นจำเลยในคดีที่ประชาชนฟ้องเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และให้หยุดประกอบกิจการด้วย ทั้งยังเชื่อมโยงกรณีการลักลอบทิ้งในพื้นที่เอกชน ต.บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี รวมถึงโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำกระทบพื้นที่เกษตรกรรมจนชาวบ้านฟ้องร้อง ทำให้ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาให้โรงงานชดใช้เงินให้ชาวบ้าน พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย ฉะนั้นแล้วทั้ง 5 เหตุการณ์ล้วนเป็นการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จาก "ผู้ประกอบการรายเดียวกัน" ที่ก่อปัญหาส่งผลกระทบทำให้ดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดินปนเปื้อนอย่างรุนแรง ปัจจุบันนี้ทราบว่า "ผู้ประกอบการรายนี้ขายกิจการหนีความผิดแล้ว" แต่ด้วยลักษณะความผิดค่อนข้างสร้างความเสียหายต่อ "สิ่งแวดล้อมมหาศาล" แค่กรณีเฉพาะความเสียหายใน ต.บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม "กรมควบคุมมลพิษ" เคยประเมินการฟื้นฟูจุดนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เงินพันกว่าล้านบาท แม้แต่ในส่วน "การลักลอบทิ้งใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา" ก่อนหน้านี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเคยเชิญบริษัทรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมมาหารือ 10 บริษัท เพื่อหาทางแก้ปัญหาฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนก็ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ทิ้งกากของเสียทั้ง 5 จุดยังคงปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการดำเนินการใดๆ เรื่องนี้คงต้องเฝ้าดู "รัฐบาลชุดใหม่" จะมีแผนนโยบายดำเนินการกับกลุ่มลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างไร? เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายดูเหมือนจริงจังแต่ก็ยังไม่เข้มงวดเด็ดขาด สังเกตจากการลักลอบทิ้งกากของเสียฯ "ยังเป็นปัญหาในหลายระดับหลายพื้นที่" แล้วในเรื่องนี้ก็คงต้องกล่าวโทษหน่วยงานที่รับผิดชอบ "ไม่อาจบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบ และกำกับกิจการโรงงานจริงจัง" ทำให้มีจุดบกพร่องเยอะแยะมากมายจนไม่สามารถติดตามตรวจสอบการกำกับดูแลได้อย่างเคร่งครัด หนำซ้ำ "การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดก็ไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร" ส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความแล้ว ?กระบวนการสอบสวนล่าช้ามักมีปัญหาติดขัด? กลายเป็นคนทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทำให้มีการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งอยู่เช่นนี้ เหตุนี้ทำให้ "หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน" มีการพูดคุยประเด็นผลกระทบการลักลอบทิ้งกากของเสียฯอันสร้างความเสียหายมหาศาล "ควรต้องมีมาตรการลงโทษกับโรงงานแหล่งกำเนิดด้วย" เพราะเป็นบุคคลจ้างให้โรงงานรีไซเคิลกากของเสียฯ "ขนย้ายไปกำจัด" แต่กลับไปไม่ถึงการกำจัดอย่างถูกต้อง มีผลให้นำไปสู่ "ซุกซ่อนตามพื้นที่ต่างๆ หรือฝังกลบอย่างไม่ถูกวิธีในโรงงาน" ทำให้ดินปนเปื้อนใช้ประโยชน์ไม่ได้ แล้วสารอันตรายผิวดินซึมผ่านลงน้ำใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตามมา ประเด็นนี้ "กรมโรงงานอุตสาหกรรม" จึงปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 โดยกำหนดความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จต่างจากเดิมความรับผิดชอบสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบ แล้วกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ย.นี้ "ผู้ก่อกำเนิดของเสียโรงงานทั่วประเทศ" ต้องรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ในส่วน "ผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย" โรงงานลำดับที่ 101,105 และ 106 ต้องจัดส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ อันจะมีผลนับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ฉะนั้นประกาศกระทรวงฉบับใหม่นี้ "นับเป็นการขยับอีกขั้นในการเอาผิดผู้ก่อกำเนิดกากของเสียอุตสาหกรรม" แม้การลักลอบจะถูกฝังกลบไปนานเท่าใดก็ตาม แต่หากเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายหลัง "เจ้าหน้าที่รัฐ" สามารถสืบสวนสอบสวนย้อนหลังไปสู่ต้นกำเนิดปัญหาเจ้าของกากนั้นก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นเดิม ทำให้ในปีนี้ "การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมน้อยลง" เพราะมีการเพิ่มบทลงโทษและเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า "กฎกระทรวงบางฉบับยังเปิดให้ฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายในโรงงานได้" แล้วเมื่อฝังกลบก็มักไม่มีใครตรวจสอบ ทำให้มีการลักลอบสอดไส้กากอุตสาหกรรมอันตรายฝังกลบลงไปด้วย อย่างไรก็ดี ฝากถึง "รัฐบาลชุดใหม่" ต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ทั้งต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมจริงจัง แล้วเร่งฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษบริเวณจุดลักลอบทิ้งนั้น โดยเฉพาะการติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีที่ต้องมีความเด็ดขาดทุกกรณี ย้ำว่าเมื่อกฎกระทรวงออกมาแล้ว "หน่วยงานที่รับผิดชอบ" ต้องบังคับใช้กฎหมายในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีเฉียบขาดทุกกรณีกับ ?ผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม? เพื่อให้คนทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำนั้น. https://www.thairath.co.th/news/local/2724436
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
สร้างทับรางนํ้า! ชาวเกาะหลีเป๊ะสุดระทม บ้านถูกนํ้าท่วมทั้งที่ตั้งอยู่บนเกาะ ชาวเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล สุดระทม บ้านเรือนหลายหลังยังคงถูกน้ำท่วม หลังจากที่มีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน พบสาเหตุรางนํ้าถูกอ้างกรรมสิทธิ์สร้างทับปิด จนทำนํ้าระบายออกไม่ทัน ทั้งที่ตั้งอยู่ในทะเล เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เกิดฝนตกอย่างหนักที่ จ.สตูล ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และระดับน้ำท่วมในหลายพื้นที่ดังกล่าวนั้น เริ่มแห้งขอดกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ที่บนเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล นั้นยังคงมีน้ำท่วมขัง ส่งผลให้บ้านเรือนชาวเลหลายหลังคาเรือนถูกน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า แม้ทางราชการได้มีการระดมเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งเพื่อเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชั้นในออกกันอย่างเร่งด่วนแล้วก็ตาม แต่ที่ "ชุมชนกรือโป๊ะ" เป็นชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นชุมชนทางผ่านไป-มาของนักท่องเที่ยว และอยู่กลางเกาะ พบว่ายังมีน้ำท่วมขังรอการช่วยเหลืออยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่าปัญหาบนเกาะหลีเป๊ะนั้น เมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ปริมาณน้ำที่ท่วมขังจะไม่สามารถสูบออกจากเกาะหลีเป๊ะได้ เพราะว่าไม่มีช่องทางน้ำที่จะระบายน้ำออก เนื่องจากลำรางถูกก่อสร้างปิดทับ แถมมีการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ฉะนั้นจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซากและยาวนาน จากน้ำฝนที่ท่วมขังกลายเป็นน้ำเน่า ดังนั้นอยากให้ทางราชการเร่งสูบน้ำที่กำลังท่วมอยู่บนเกาะออกไปในทะเล https://www.dailynews.co.th/news/2712508/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
พบปลาโรนันขนาดใหญ่ สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ติดหาดแหลมเกด ประจวบคีรีขันธ์ - พบปลาโรนันขนาดใหญ่ สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ เกยตื้นที่หาดแหลมเกด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วยกันผลักดันออกสู่ทะเลได้สำเร็จ ผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากนายพรหมสิงห์ สิงหเสนี อาสาสมัครอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมทะเลปราณบุรี ว่า มีชาวบ้านพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่เกยตื้นชายหาดแหลมเกด ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีชาวบ้านบันทึกเหตุการณ์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทีมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย อบต.ปากน้ำปราณ และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งช่วยกันจับและนำไปปล่อยสู่ทะเลได้สำเร็จ ซึ่งปลาโรนันตัวนี้มีขนาดความยาวประมาณกว่า 2 เมตร หนักประมาณ 80 กิโลกรัม พร้อมได้เรียกเสียงชื่นชมจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่คอยลุ้นให้กำลังใจ จากการสอบถาม นายอัครพล วงศ์น้อย เลขานุการนายก อบต.ปากน้ำปราณ ผู้ให้การช่วยเหลือกล่าวว่า ช่วงประมาณ 7 โมงครึ่งมีชาวบ้านได้แจ้งนายก อบต.ปากน้ำปราณ ว่าเจอปลาฉลามอยู่ชายหาดที่ว่ายออกสู่ทะเลไม่ได้ติดตาวน ตั้งแต่ตาลสามต้น พอมาดูตอนแรกยังไม่รู้ว่าเป็นปลาฉลามโรนัน คิดว่าเป็นฉลามธรรมดา พอเข้าไปใกล้ถึงรู้ว่าเป็นปลาโรนัน เราช่วยต้อนจากหน้าหาดตาลสามต้นมาถึงหน้าหาดกาสะลอง เพื่อจะยกข้ามสันทราย โรนันตัวนี้ตัวใหญ่ ความยาวน่าจะประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ตอนนั้นเหมือนมีสภาพอิดโรย เพราะว่าน่าจะเกยตื้นตั้งแต่กลางคืน อาจจะไล่พวกปลาพวกอะไรกินแล้วกลับข้ามไม่ทันน้ำลงเลยติดอยู่ที่ตาวน พอน้ำทะเลขึ้นเริ่มข้ามสันทราย เราช่วยกันยกแล้วดันตัวออกค่อนข้างยากเพราะตัวใหญ่และสะบัดแรง ต้องใช้ประมาณ 4 คนช่วยกันยกแล้วดันเข้าไป รู้สึกดีใจที่ช่วยชีวิตสัตว์หายากไว้ได้ งานนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับ ปลาโรนัน เป็นปลากระดูกอ่อน มีรูปร่างคล้ายปลาฉลามแต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากปลาฉลามมาถึงปลากระเบน โดยวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้น พบในเขตน้ำอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลียทางตอนเหนือ ปลาโรนัน มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัวเหมือนปลากระเบน หรือปลาฉนาก อาศัยและว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงใหญ่ โดยปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทุกชนิด ในน่านน้ำของไทยเคยพบอยู่บ้างในอดีตทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และเคยถูกเบ็ดหรือแหของชาวประมงเกี่ยวติดขึ้นมาบ้าง แต่มิได้ตั้งใจเพราะมิใช่ปลาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังนิยมตกเป็นเกมกีฬา ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำที่หมู่เกาะสิมิลัน และรอบกองหินริเชริว ปลาโรนันขนาดโตเต็มที่อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ที่พบในน่านน้ำไทย ฉะนั้น จึงวิงวอนขอให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการเดินเรือ และชาวประมงในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ หรือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อปลาชนิดนี้ รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด หากพบเจอสถานการณ์แบบนี้ให้แจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินการได้ https://mgronline.com/local/detail/9660000082228
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV
รู้จักเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด อีกหนึ่งทางเลือกช่วงภัยแล้ง นวัตกรรมการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด สำหรับใช้อุปโภคบริโภคจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ถอดด้าม แต่ว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้ราคาต้นทุนต่อหน่วยการผลิตน้ำถูกลงเรื่อยๆ เป็นอีกทางออกในการแก้ภัยแล้งช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ จากสภาวะภัยแล้งที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงในช่วงปลายปี อันเป็นผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงช่วงปีนี้ ทำให้หลายภาคส่วนต่างวิตกกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เมื่อปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างร่อยหรอ ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปริมาณน้ำจืดบนฝั่งอาจลดต่ำจนไม่พอใช้ แต่ในมหาสมุทรยังมีน้ำปริมาณมหาศาลที่อาจช่วยทดแทนความต้องการน้ำในช่วงหน้าแล้งนี้ได้ เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ทำได้ไง? จากข้อมูล ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การผลิตน้ำประปาโดยทั่วไปจะเลือกผลิตน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูก และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สำหรับในบางพื้นที่ที่สภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสม ปริมาณน้ำจืดขาดแคลน แต่ว่าอยู่ใกล้ชายฝั่ง สามารถเข้าถึงน้ำทะเลได้ การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภค บริโภค และการชลประทาน สำหรับการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีการกรองน้ำแบบรีเวอร์สออสโมซีส (Reverse Osmosis: RO) ที่ใช้แรงดันสูงดันน้ำทะเลผ่านเยื่อกรองที่มีรูขนาดเล็กเพื่อกรองแร่ธาตุ เกลือ และสารตกตะกอนต่างๆ ออกจากน้ำทะเล ทำให้น้ำจืดออกมาและพร้อมป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายน้ำประปา ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า เนื่องจากการกรองน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ต้องผ่านตัวกรองที่มีความละเอียดมาก จึงทำให้จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ดังนั้นต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลจึงสูงมากถึง 40 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะนี้น้ำประปาทั่วไปที่เราใช้กันอยู่นั้นมีราคาตกอยู่เพียง 10 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า นอกจากต้นทุนราคาที่สูงแล้ว การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดยังมีอีกหนึ่งผลกระทบที่ควรระวังนั่นคือ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะทิ้งของเสียเป็นน้ำเค็มจัดถึงครึ่งต่อครึ่ง น้ำเค็มจัดเหล่านี้เป็นผลมาจากการกรองเอาเกลือและแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำทะเลออก ดังนั้นเมื่อมีการตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแล้ว หนึ่งในข้อควรระวังคือต้องมีการจัดการน้ำเค็มจัดเหล่านี้อย่างเหมาะสม "น้ำเค็มจัดเหล่านี้ปกติจะมีการปล่อยกลับลงสู่ทะเล แต่ถ้าหากมีการปล่อยน้ำเค็มจัดเหล่านี้ทิ้งโดยใม่ระวัง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ เพราะน้ำปล่อยทิ้งเหล่านี้มีความเค็มจัดเกินกว่าสัตว์ทะเลจะทนได้ โดยปกติแล้วน้ำเค็มจัดเหล่านี้จึงถูกส่งต่อท่อไปปล่อยกลางทะเล" ผศ.ดร.สิตางศุ์ อธิบาย ความเป็นไปได้ในการเอามาใช้กู้ภัยแล้ง สำหรับในประเทศไทยที่มีทรัพยากรน้ำจืดอย่างอุดมสมบูรณ์ เราอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคเท่าใดนัก หากแต่เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศที่ใกล้ทะเลแต่ขาดแคลนน้ำจืดอย่างเช่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือซาอุดิอาระเบีย โดยเมืองใหญ่กลางทะเลทรายแต่ติดทะเลอย่าง ดูไบ มีอัตราการพึ่งพิงน้ำจืดจากโรงกรองน้ำทะเลถึง 80% ในขณะที่สิงคโปร์ ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำจืดจากมาเลเซียเป็นปริมาณมหาศาลในทุกๆ ปี ก็กำลังปรับลดการพึ่งพาน้ำจืดนำเข้าลง ด้วยการเปิดโรงกรองน้ำจืดจากน้ำทะเลเป็นของตนเองนับตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ.2548) โดยในปัจจุบันสิงคโปร์สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลหล่อเลี้ยงประชากรได้ถึง 10% ของความต้องการน้ำทั้งหมด ประเทศไทย เองก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดแล้วเช่นกัน โดย ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า หนึ่งในพื้นที่ที่ริเริ่มใช้น้ำจืดจากการกรองน้ำทะเลแล้วนั่นก็คือ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (ยูยู) เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยใช้ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส (RO) เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย "ดิฉันมองว่าการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตน้ำสะอาด สำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจืดและอยู่ใกล้ทะเล อย่างเช่นตามเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการขนน้ำจืดข้ามฝั่งไปจะมีราคาแพงกว่ามาก อย่างเช่น บนเกาะพีพี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำค่อนข้างสูงจากการท่องเที่ยว แต่มีปริมาณน้ำจืดบนเกาะน้อย และการขนน้ำจืดข้ามทะเลมามีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ค่าน้ำแพงถึง 100 ? 250 บาทต่อคิว (1 ลูกบาศก์เมตร)" ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว นอกจากนี้ เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เริ่มถูกลงแล้ว ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ทดแทนการใช้ทรัพยากรน้ำจืดที่เริ่มร่อยหรอจากสภาวะฝนแล้งในพื้นที่อย่างเช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีปริมาณการใช้น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมสูง แต่ปริมาณน้ำจืดในพื้นที่ไม่พอเพียง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยบรรเทาความกระหายน้ำของภาคส่วนต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนจะมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และไม่รบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป https://www.nationtv.tv/gogreen/378930003
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|