เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 22-26 พ.ค. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างจะทวีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 21 - 22 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้และอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และด้านตะวันตกของประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และพายุดีเปรสชันในช่วงวันที่ 22 - 24 พ.ค. 67 และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในช่วงวันที่ 25 ? 26 พ.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือในช่วงวันที่ 23 ? 26 พ.ค. 67 นี้ไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 4 (96/2567)


ในช่วงวันที่ 21-24 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


วันที่ 21 พฤษภาคม 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


วันที่ 22 พฤษภาคม 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อำนาจเจริญ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครราชสีมา

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


วันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร และพิจิตร

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


อนึ่ง ในช่วงวันที่ 22-26 พ.ค. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างจะทวีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมในบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามัน ตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือในระยะนี้ไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รวมจุดดำน้ำในประเทศไทย ที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักดำน้ำทั่วโลก



ปักหมุด 5 จุดดำน้ำในประเทศไทย ที่เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยว และนักดำน้ำทั่วโลกต้องเดินทางมาสักครั้ง

ประเทศไทย มีจุดแข็งในการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ?การเที่ยวทะเลและชายหาด? รวมถึง ?กิจกรรมดำน้ำ? จึงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศใฝ่ฝันที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย

โดยท้องทะเลประเทศไทย ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ทำให้นักดำน้ำ หรือนักท่องเที่ยว ต่างเพลิดเพลินกับสัตว์น้ำและปะการังหลากสีสัน ที่มากี่ครั้งก็ไม่มีเบื่อ

ไทยรัฐออนไลน์ นำข้อมูลจาก Tourism Product ของ ททท. ที่มาแนะนำ 5 จุดดำน้ำยอดนิยมในประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวสายกิจกรรมดำน้ำต้องห้ามพลาด


5 จุดดำน้ำสวยในประเทศไทย


กองปะการังเทียม เกาะลิบง จ.ตรัง

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : พฤศจิกายน-พฤษภาคม

เกาะลิบง เป็นหนึ่งเกาะที่มีกองปะการังเทียมหลายสิบแห่งในทะเลตรัง โดยกองปะการังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของกระแสน้ำในละแวกกองปะการังเทียมนี้ ทำให้ได้รับแร่ธาตุและสารอาหารอย่างเต็มที่ ทำให้กองปะการังนี้มีสีชมพูที่สวยงามทั่วทั้งบริเวณ รวมถึงยังมีฝูงปลาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่มากมาย ซึ่งเป็นหนึ่งจุดดำน้ำที่แปลกและสวยงามแบบไม่เหมือนใคร

จุดดำน้ำแห่งนี้เหมาะสำหรับนักดำน้ำลึกแบบสกูบา และนักดำน้ำแบบฟรีไดพ์ที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้เนื่องจากกองปะการังเทียมอยู่ในพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำ จึงควรเลือกดำน้ำในช่วงวันขึ้นและแรม 7-9 ค่ำ ระหว่างเวลาที่น้ำขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงตะกอนที่ทำให้น้ำขุ่น


เกาะริ้น จ.ชลบุรี

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ตุลาคม-พฤษภาคม

เกาะริ้น คือหนึ่งในเกาะที่มีธรรมชาติใต้น้ำที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สามารถเดินทางได้ง่ายที่สุด โดยเกาะริ้นเป็นเกาะที่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ และอนุญาตให้นักดำน้ำสามารถเข้ามาชื่นชมธรรมชาติได้ภายใต้เงื่อนไขด้านการดูแลรักษาธรรมชาติอย่างเคร่งครัด ธรรมชาติที่นี่จึงสวยงามและบริสุทธิ์เหมือนจุดดำน้ำที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ เนื่องมาจากถูกปิดไปเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเป็นระยะเวลานาน

จุดดำน้ำหมายนี้ไม่ได้จำกัดเงื่อนไขในการดำน้ำ จึงขึ้นอยู่ที่ความลึก หรือตื้น หากเราดำน้ำแบบสกูบาลงไปที่ความลึก 15-17 เมตร จะได้พบกับดงปะการังอ่อนสีม่วง หรือดำน้ำแบบฟรีไดฟ์จะลงไปที่ความลึก 3-7 เมตร ก็จะได้เห็นปะการังแข็งที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของจุดดำน้ำของที่นี้


หินเพลิง จ.ระยอง

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ตุลาคม-พฤษภาคม

กองหินเพลิง เป็นหนึ่งในจุดดำน้ำที่นักดำน้ำมากมายต่างยกย่องให้เป็นจุดดำน้ำที่สวยที่สุดในภาคตะวันออก ด้วยกองหินแห่งนี้อยู่ไกลจากชายฝั่งค่อนข้างมาก จึงทำให้น้ำทะเลที่นี่ใส จนบางวันสามารถมองเห็นแนวปะการังได้จากบนเรือเลยทีเดียว

กองหินเพลิง มีลักษณะเป็นกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่ 2 กอง โดยกองหินด้านทิศตะวันตกมีความลึกมากกว่า ส่วนกองหินด้านทิศตะวันออกมียอดลึกจากผิวน้ำเพียง 3 เมตร และลดหลั่นเป็นแนวลาดชันไปถึงระดับความลึก 30 เมตร ซึ่งทั้งสองเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด เราสามารถพบฝูงปลาข้างเหลือง ปลาหูช้าง ปลาสิงโต ปลาโนรี รวมไปถึงปลาฉลามวาฬ

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีปะการังหลากหลายชนิด ทั้งปะการังแข็ง ฟองน้ำครก แส้ทะเลสีแดงสด และทุ่งดอกไม้ทะเลบนยอดกองหินที่พลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำเสมือนเปลวเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อ หินเพลิง


เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : กุมภาพันธ์-ตุลาคม

หนึ่งในหมู่เกาะที่เป็นที่รวมตัวของนักดำน้ำทั่วโลกที่เยอะที่สุด นั่นก็คือ ?เกาะเต่า? เกาะกลางทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นดั่งมหานครแห่งปะการัง นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่สนใจดำน้ำสกูบา โดยมีโรงเรียนสอนดำน้ำอยู่มากมาย ใครที่สนใจเริ่มกิจกรรมดำน้ำ มาที่นี่รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

เหตุนี้ทำให้นักเดินทางมากมายต่างมุ่งหน้ามาเพื่อฝึกฝนทักษะการดำน้ำ และใช้เวลาในการดำน้ำชื่นชมความงามของโลกใต้ทะเล ตามจุดดำน้ำที่มีอยู่มากมายหลายแห่งรอบๆ เกาะ แถมยังมีความสวยงามเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้สิ่งที่น่าดึงดูดบนเกาะเต่าที่นอกจากการดำน้ำแล้ว ที่นี่ยังมีความสงบ มีกิจกรรมให้ทำอยู่มากมาย ซึ่งเรียกว่าหากได้เดินทางมาท่องเที่ยวแล้ว จะหลงใหลอยู่บนเกาะแห่งนี้อย่างแน่นอน


กองหินมูสัง หรือชาร์ค พอยท์ จ.ภูเก็ต

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ตุลาคม-พฤษภาคม

กองหินมูสัง หรือชาร์ค พอยต์ (Shark Point) เป็นเส้นทางระหว่างจากเกาะภูเก็ตไปหมู่เกาะพีพี ซึ่งเป็นหนึ่งจุดดำน้ำที่มีระบบนิเวศใต้น้ำที่สมบูรณ์ ในอดีตยังมีการพบปลาฉลามเสือดาวได้บ่อยครั้ง จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของหมุดหมายดำน้ำแห่งนี้

จุดดำน้ำแห่งนี้ ประกอบไปด้วยกองหิน 3 กอง เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ กองด้านเหนือสุดเป็นหินพันน้ำ มีกระโจมไฟตั้งเป็นสัญลักษณ์, กองถัดมามียอดที่ระดับความลึก 5 เมตร และกองด้านใต้สุดมียอดที่ระดับความลึก 15 เมตร

กองหินที่ได้รับความนิยมในการดำน้ำที่สุด คือ กองหินความลึกระดับ 5 เมตร เนื่องจากมีระดับความลึกไม่มาก และมีทิวทัศน์ใต้น้ำสวยงาม มีทั้งปะการังแข็ง กัลปังหา และฟองน้ำครก เปรียบเสมือนสวนปะการังใต้น้ำ

ส่วนบริเวณยอดกองที่ความลึก 15 เมตร มีปะการังอ่อนหลากสีสันปกคลุมและสัตว์น้ำมากมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดถ่ายภาพใต้น้ำที่สวยงาม เพราะมีระดับความลึกสำหรับทำเซฟตี้สตอป (Safety Stop) ในทุกๆ 5 เมตร ทำให้นักดำน้ำมีเวลาสำหรับการชื่นชม และถ่ายภาพธรรมชาติสวยงามได้เต็มที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโลเคชันดำน้ำที่ควรดำน้ำแบบสกูบา

ข้อมูล : Tourism Product


https://www.thairath.co.th/lifestyle...travel/2787047
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ไฟไหม้เรือใบหรู ลอยลำใกล้เกาะภูเก็ตวอดทั้งลำ กู้ภัยช่วยคนดูแลรอด



เรือใบหรูต่างชาติจอดลอยลำกลางทะเลอันดามัน ระหว่างเกาะโหลนกับเกาะภูเก็ต เกิดเพลิงไหม้วอดทั้งลำ กู้ภัยไข่มุก รุดช่วยฝรั่งคนดูแลไว้ทันรอดปลอดภัย เสียหายนับสิบล้านบาท ตำรวจเร่งสอบสวนสาเหตุ

เวลา 15.30 น. วันที่ 20 พ.ค. 67 ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต อบจ.ภูเก็ต (ศูนย์ไข่มุก) ได้รับการประสานจากศูนย์ศรชล 3 และตำรวจน้ำภูเก็ตว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้เรือใบแบบท้องเดียวของชาวต่างชาติที่จอดทอดสมอลอยลำอยู่ระหว่างเกาะโหลนกับเกาะภูเก็ต ต.ราไวย์ อ.เมือง ห่างจากท่าเทียบเรืออ่าวฉลองราว 1 ไมล์ทะเล จึงรายงานนายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต เพื่อขอนำเรือตรวจการณ์ 1 ออกตรวจสอบร่วมกับเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำภูเก็ต

ที่เกิดเหตุอยู่กลางทะเลอันดามัน พบเรือใบหรูสีขาวน้ำเงินแบบท้องเดียวถูกเพลิงกำลังลุกไหม้อย่างหนักจากภายในเรือและลุกลามไปยังท้ายเรืออย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ไข่มุกสามารถช่วยเหลือคนดูแลเรือที่เป็นชาวต่างชาติออกจากเรือที่กำลังถูกเพลิงไหม้ไว้ได้ทัน โดยไม่ได้รับอันตราย จากนั้นเจ้าหน้าที่พยายามที่จะดับเพลิงที่ลุกไหม้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเพลิงได้โหมไหม้และลุกลามไปยังส่วนอื่นอย่างรวดเร็ว และไหม้วอดในที่สุด เหลือเพียงตัวเรือลอยลำอยู่ ส่วนอื่นๆ ถูกเพลิงเผาไหม้จนหมด เบื้องต้นค่าเสียหายนับสิบล้านบาท ส่วนสาเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลัก จ.ภูเก็ต

สำหรับเรือใบลำดังกล่าวเป็นเรือใบแบบท้องเดียว ชื่อเรือ ออฟเซลชัน 2 (OBSESSION 2) หมายเลขทะเบียนเรือ 655100194 เป็นเรือประเภทนิติบุคคล วัสดุตัวเรือทำจากไฟเบอร์กลาส ชนิดเรือเป็นเรือกล ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ประเภทการใช้บรรทุกคนโดยสารจำนวน 16 คน เขตการเดินเรือลำน้ำและทะเล ระหว่างจังหวัดระนองกับจังหวัลสตูล ห่างจากฝั่งหรือเกาะไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล ในเวลาคลื่นลมสงบ เรือมีขนาดกว้าง 8.05 เมตร ยาว 34.20 เมตร ลึก 3.60 เมตร น้ำหนักบรรทุก 155 ตันกรอส 1 เครื่องยนต์ดีเซล ราคาเรือพร้อมเครื่องยนต์ 5,334,600.00 บาท วันที่จดทะเบียน วันที่ 2 เดือน ก.พ.2565 โดยมีบริษัท เสลาลัย จำกัดเป็นเจ้าของเรือ ตั้งอยู่หมู่ 7 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต.

(ขอบคุณภาพ-ศูนย์ไข่มุกและนิกรมารีน)


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2787077
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ปิดพื้นที่ท่องเที่ยวบางจุดในอุทยานฯ ทางทะเล 12 แห่ง ป้องกัน 'ปะการังฟอกขาว'

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 12 แห่ง ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ที่เริ่มเกิด 'ปะการังฟอกขาว' เช่น หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน , หมู่เกาะชุมพร เพื่อให้ปะการังฟื้นฟู



นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีหลายพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกิด "ปะการังฟอกขาว" รุนแรงว่า จำเป็นต้องประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 12 แห่ง ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ที่เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวแล้วประมาณร้อยละ 50 - 70 เช่น หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน , หมู่เกาะชุมพร เพื่อให้ปะการังฟื้นฟูและลดกิจกรรมจากการท่องเที่ยว และอยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติมอีก 7 พื้นที่


สถานการณ์ปะการังฟอกขาว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

การพบเจอปะการังฟอกขาว 12 แห่ง ได้แก่

1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

2. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด

3. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

4. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร

5. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

7. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ

8. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

9. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

10. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี

11. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

12. อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้


ซึ่งการปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวชั่วคราวจะช่วยลดกิจกรรมที่อาจเพิ่มผลกระทบกับปะการังฟอกขาว หากในอนาคตอุณหภูมิน้ำทะเลลดลงจะทำให้ปะการังฟื้นฟูและกลับมาได้ตามปกติ ส่วนการทดลองติดตั้งสแลนลดแสง (Shading) ในฝั่งทะเลอันดามันจะช่วยบังแสงแดดที่ร้อนจัดให้ปะการังได้ แต่กลับพบมีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงประเมินวิธีปิดกิจกรรมรบกวนและให้ปะการังฟื้นฟูตัวเองดีที่สุด เพราะปะการังแต่ละชนิดแต่ละพื้นที่ใช้ระยะเวลาฟื้นฟูไม่เท่ากัน

ปิดพื้นที่ท่องเที่ยวบางจุดในอุทยานฯ ทางทะเล 12 แห่ง ป้องกัน ?ปะการังฟอกขาว?

ขณะที่ กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ได้ทดลองติดตั้งสแลนลดแสง (Shading) บริเวณแนวปะการังเกาะกา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 5 แปลง กับปะการัง 3 รูปแบบ คือ รูปแบบแผ่น รูปแบบก้อน และรูปแบบกิ่งก้าน ที่มีลักษณะสีซีดจาง เมื่อเปรียบเทียบกับปะการังรูปแบบเดียวกันบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้กางสแลนลดแสง และได้ติดตั้ง Data Temperature Logger เพื่อติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลต่อเนื่อง


https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/travel/1127570

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อมหาสมุทรที่เย็นลง
......... Earth Calling โดย ดร.เพชร มโนปวิตร



"ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ พวกเราจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ในการสร้างอนาคตที่เท่าเทียม ยั่งยืน และสร้างสรรค์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทศวรรษนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องปกป้องมหาสมุทร ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ? Peter Thomson ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร

ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโลกและมหาสมุทร น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น มีความเป็นกรดมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และความถี่ของพายุที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้น กำลังคุกคามระบบนิเวศทางทะเลโดยเฉพาะแนวปะการัง และหญ้าทะเล และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติชายฝั่งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางรอดของมหาสมุทรในยุคโลกเดือดคืออะไร และการปกป้องมหาสมุทรจะช่วยให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

ปี ค.ศ. 2024 กลายเป็นเหมือนหนังตัวอย่างที่แสดงถึงผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่สภาพอากาศร้อนนรกที่ทุกคนสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ลงไปถึงน้ำทะเลที่อุ่นจนร้อนราวกับออนเซ็น แนวปะการังในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวอันเป็นผลโดยตรงจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการติดตามข้อมูลสมุทรศาสตร์และปะการังอย่างใกล้ชิด ยืนยันแล้วว่าเรากำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 ตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา

แม้ปะการังทั่วโลกจะครอบคลุมพื้นที่เพียง 284,300 ตารางกิโลเมตร หรือแค่ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับเป็นแหล่งชีวิตใต้ท้องทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด ปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์ทะเลกว่า 1 ล้านชนิด เป็นปราการธรรมชาติใต้น้ำ ช่วยบรรเทาอันตรายจากคลื่นลมและพายุ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญผ่านการท่องเที่ยวและการประมงให้กับชุมชนชายฝั่งราว 500 ล้านคน

ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียแนวปะการังไปแล้วราว ๆ ครึ่งหนึ่งจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ของมนุษย์ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 3 เมื่อปีค.ศ. 2010 ส่งผลให้ปะการังทั่วโลกราว 14% ตายลง โดยพื้นที่ที่เสียหายหนักคือในทะเลแคริบเบียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยที่พบว่า เกิดปะการังฟอกขาวรุนแรงกว่า 50-90% ในหลายพื้นที่ของทะเลอันดามัน โดยมีอัตราการตายเฉลี่ย 25-40% และบางพื้นที่เสียหายเกือบทั้งหมด

เรายังไม่รู้ว่าสภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ จะทำให้ปะการังเสียหายและเสื่อมโทรมลงอีกเท่าไหร่ ในขณะที่ช่วงต้นปีผลการสำรวจหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยสะท้อนภัยคุกคามสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับภาวะระดับน้ำลงต่ำสุดผิดปกติ ทำให้หญ้าทะเลบริเวณกว้างต้องผึ่งแดดเป็นเวลานานกว่าปกติ จนนักวิจัยพบว่าหญ้าทะเลมีอาการตายนึ่ง

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลเป็นบริเวณกว้างมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดกันแน่ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณดินตะกอนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกร่องน้ำ หรือการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร? แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมระบบนิเวศที่มีความเปราะบางจากภัยคุกคามของกิจกรรมมนุษย์อยู่แล้ว

ทุกวันนี้ผืนน้ำทะเลกว้างใหญ่ที่ปกคลุม 70% ของพื้นผิวโลกยังคงทำหน้าที่ดูดซับความร้อน ดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่ามหาสมุทรของเราผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจกว่า 50% ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ราว 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ และกักเก็บความร้อนส่วนเกินกว่า 90% มหาสมุทร จึงไม่เพียงแค่เป็นปอดของโลก แต่ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ไม่อาจทดแทนได้ เป็นตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ระบบนิเวศชายฝั่งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าระบบนิเวศบนบกถึง 10 เท่า ที่เรียกว่า คาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon) โดยเฉพาะป่าชายเลนและหญ้าทะเล พืชเหล่านี้ดูดซับคาร์บอนได้ดีเยี่ยมและเก็บสะสมในดินตะกอนและชั้นใต้ทะเลเป็นเวลานานหลายร้อยปี มีการศึกษาว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 1,000 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) หรือราว 5 เท่าของป่าดิบชื้นในอเมซอน ในขณะที่มีงานวิจัยรายงานว่าหญ้าทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนได้เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 35 เท่าและแม้จะครอบคลุมพื้นที่เพียง 0.1% ของมหาสมุทรแต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 10-18% ของปริมาณคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งหมด

"เคยมีการคำนวณว่า ถ้าเราปล่อยให้มหาสมุทรได้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ มันจะช่วยกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศและช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกได้ถึง 20-35% เลยทีเดียว" Callum Roberts ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัย Exeter สหราชอาณาจักร อธิบาย

Leticia Carvalho หัวหน้าหน่วยงานทางทะเลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า

"วิทยาศาสตร์บอกเราว่าเราต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อย 45% ภายในปีค.ศ. 2030 หรือในอีกแค่ 6 ปีข้างหน้า ทั้งยังต้องเร่งเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ 30% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง แต่เวลาเหลือน้อยเต็มที" Carvalho ตอกย้ำ

รายงานวิจัยจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงว่าด้วยเศรษฐกิจยั่งยืนทางทะเล (High Level Panel for a Sustainable Ocean Economy ? Ocean Panel) ชี้ว่า แนวทางการใช้มหาสมุทรเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35% ของปริมาณการลดลงที่จำเป็นในแต่ละปีจนถึงปี ค.ศ. 2050 เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่ามหาสมุทรจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 21%


รายงานฉบับดังกล่าวได้ให้แนวทางการใช้มหาสมุทรเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ocean ? based Climate Solutions) ไว้ทั้งสิ้น 7 แนวทาง ดังนี้

1. สงวนรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน หญ้าทะเล หรือ ป่าพรุชายฝั่ง อันเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ 5 เท่าของป่าเขตร้อน ดูดซับคาร์บอนได้เร็วกว่า 3 เท่า นอกจากการดูดซับคาร์บอนแล้ว ระบบนิเวศเหล่านี้ยังมีประโยชน์มากมายต่อความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว ความหลากหลายทางชีวภาพ และป้องกันชุมชนชายฝั่งจากภัยพิบัติ การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศเหล่านี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 76 แห่งในปี 2050

2. ขยายการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืน ปัจจุบันความต้องการอาหารโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของประชากรโลก อาหารทะเลอย่าง สาหร่าย ปลา และหอยเป็นทางเลือกโปรตีนที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและยั่งยืนกว่า เมื่อเทียบกับเนื้อวัวและเนื้อแกะ การส่งเสริมการบริโภคอาหารจากท้องทะเล นอกจากจะช่วยกระจายทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1.47 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2050 เท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 393 แห่ง ทั้งนี้ต้องเป็นการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนอีกด้วย

3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยเรือ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ และหลายประเทศที่มีชายฝั่งมากมาย แต่การล่องเรือก็นับว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า เรือสำราญขนาดใหญ่ลำหนึ่ง ปล่อยคาร์บอนมากเท่ากับรถยนต์ 12,000 คัน และมลพิษอื่น ๆ เช่น กำมะถัน หรือฝุ่นละอองคาร์บอน ทั้งยังทำลายระบบนิเวศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย การลดมลพิษจากเรือท่องเที่ยว อาทิ การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.1 พันล้านตันในปี 2050 หรือเทียบเท่าการปิดโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 251 แห่ง

4. ลดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง การลดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกฝั่งเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญที่สุดในการใช้มหาสมุทรเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5.3 พันล้านตันต่อปี ในปี 2050 หรือเทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 1,100 ล้านคันออกจากท้องถนน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเพิ่มแหล่งพลังงานปลอดมลพิษ เช่นพลังงานหมุนเวียนจากทะเล ขึ้นมาทดแทนด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยน รัฐบาลควรยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ออกกฎหมายยุติการเผาแก๊สที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำมันหรือก๊าซ ยุติการอนุญาตสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซใหม่ และหันไปลงทุนในความมั่นคงด้านพลังงานสะอาดเพื่อชุมชนที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

5.เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนจากทะเล อาทิ พลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง และพลังงานกระแสน้ำ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3.6 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2050 หรือมากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยรวมกันจากประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศในปี 2021 เลยทีเดียว ปัจจุบันการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจากทะเลกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ เป้าหมายการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วโลก เพิ่มเป็นสองเท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

6. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางทะเล ปัจจุบันการขนส่งระหว่างประเทศกว่า 80% เป็นการขนส่งทางทะเล หากนับอุตสาหกรรมการเดินเรือเหมือนประเทศหนึ่ง จะติดอันดับ 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ดังนั้นการลดการปล่อยมลพิษจากการเดินเรือ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เชื้อเพลิงแบบใหม่ ๆ รวมถึงการลดความเร็วของเรือและวางแผนเส้นทางเดินเรือ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากการเดินเรือได้ถึง 2 พันล้านตัน ภายในปี 2593 เทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 400 ล้านคันออกจากท้องถนนทุกปี

7. ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของมหาสมุทรในการกักเก็บและกำจัดคาร์บอน เทคโนโลยีการกักเก็บและกำจัดคาร์บอนโดยอาศัยท้องทะเล ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ใช้แล้วอย่าง การรับซื้อคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม และส่งผ่านท่อลงไปเก็บใต้พื้นทะเล ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อย่างถาวร ปัจจุบันเริ่มสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1 พันล้านตันใน 2050 รวมถึงมีเทคโนโลยีที่อยู่ในระหว่างการศึกษา อย่างการเพิ่มความเป็นด่างในน้ำทะเล เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อดูดซับคาร์บอน แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ยังต้องการการวิจัยด้านผลกระทบเชิงนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจสังคมเพิ่มเติม แต่ก็ถือเป็นหนึ่งความหวังในอนาคต


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อมหาสมุทรที่เย็นลง ........ ต่อ


ท่ามกลางปัญหาโลกเดือด การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะแหล่งกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงิน การส่งเสริมพลังงานหมนุเวียนจากท้องทะเล และเสริมความยืดหยุ่นให้กับชุมชนชายฝั่งที่เปราะบาง จึงเป็นสิ่งที่วงการพัฒนาให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่แน่นอนที่สุด ภาระหนักหนานั้นจะตกไปอยู่กับประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาทรัพยากรจากทะเลเป็นหัวใจของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งเป็นรากฐานความเป็นอยู่ของผู้คนอีกจำนวนมาก

หากเราสามารถปลดล็อกศักยภาพของมหาสมุทรในการต่อสู้กับโลกร้อนได้จริง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมมากกว่าแค่การบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพียงด้านเดียว แต่ยังหมายถึงโอกาสในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การจ้างงานที่ยั่งยืน ไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงินหรือ Blue Economy นั่นเอง

โดยหลักการ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงหมายถึง การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากท้องทะเลอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นภาคประมง การขนส่ง การท่องเที่ยว พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งล้วนพึ่งพาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในมหาสมุทร การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์จึงเป็นหัวใจสำคัญ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักไปกับการพัฒนาจนหลงลืมไปว่า เราจำเป็นต้องอนุรักษ์ต้นทุนธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้ด้วย

เวทีสหประชาชาติได้ประกาศให้ช่วงปีค.ศ. 2021-2030 เป็นทศวรรษแห่งมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างความรู้และโอกาสจากมหาสมุทร ขณะเดียวกันก็ต้องลดแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

แม้วิกฤตโลกร้อน ภาวะโลกเดือดจะเป็นความท้าทายที่หนักหน่วง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่มวลมนุษยชาติจะได้ทบทวนความสัมพันธ์กับธรรมชาติและมหาสมุทรใหม่ ความพยายามในการปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรเพื่อบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะไม่เพียงแค่ช่วยกอบกู้อนาคตของท้องทะเล แต่ยังเปิดโอกาสสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่รอดร่วมกันอย่างยั่งยืนของมนุษย์และธรรมชาติ

การฟื้นฟูสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และสร้างรูปแบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับมนุษยชาติในการรักษาอนาคตของมหาสมุทร และมวลมนุษย์ให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตโลกเดือดในครั้งนี้


https://decode.plus/20240503-ocean-s...climate-crisis

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


สำรวจปะการัง อช.หมู่เกาะสุรินทร์ "เกาะตอรินลา" หนักสุดฟอกขาว 50 %

สำรวจปะการังฟอกขาว ในพื้นที่ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ ทั้งหมด 7 จุด ในช่วงวันที่ 12 -13 พ.ค.67 เกาะตอรินลา ระดับความลึก 2-10 ม. ปะการังฟอกขาว 50 % รองลงมา อ่าวช่องขาด 30 %



วันนี้ (20 พ.ค.2567) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต จึงได้ร่วมกันตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลและสำรวจการเกิดปะการังฟอกขาวซึ่งผลการสำรวจการเกิดปะการังฟอกขาวในช่วงวันที่ 12 - 13 พ.ค.67 มีผลการสำรวจดังต่อไปนี้

1.อ่าวไทรเอน ที่ระดับ ความลึก 2 - 10 ม. ในแนวตื้น 2 ม. พบปะการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 20% ปะการังสีซีดจางประมาณ 60% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 20% และในแนวลึกกว่า 10 เมตรไม่พบการฟอกขาวของปะการังซึ่งชนิดปะการังที่ฟอกขาวคือปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

2.อ่าวแม่ยาย ที่ระดับความลึก 2 - 10 ม. ในแนวตื้น 2 ม. พบปะการังฟอกขาวประมาณ 10% ปะการังสีซีดจางประมาณ 80% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 10% และในแนวลึกประมาณ 6 ม. พบปะการังฟอกขาวประมาณ 5% ปะการังสีซีดจางประมาณ 65% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 30% ซึ่งชนิดปะการังที่ฟอกขาวคือ ปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

3.อ่าวช่องขาด ที่ระดับความลึก 2- 10 ม.ในแนวตื้น 2 ม.พบประการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 30% ปะการังสีซีดจางประมาณ 55% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 10% ตายจากการฟอกขาวประมาณ 5% ซึ่งชนิดปะการังที่ฟอกขาวคือ ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) และปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

4.อ่าวสุเทพ ที่ระดับความลึก 2 - 10 ม.ในเเนวตื้น 2 ม.พบปะการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 5% ปะการังสีซีดจางประมาณ 20%

5.อ่าวเต่า ที่ระดับความลึก 2- 10 ม.ในแนวตื้น 1-2 ม. พบประการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 30% ปะการังสีซีดจางประมาณ 55% ตายจากการฟอกขาวประมาณ 5% ไม่ฟอกขาวประมาณ 10%

นอกจากนี้ ในแนวลึก 5-10 ม.พบปะการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 15% ปะการังสีซีดจางประมาณ 70% ตายจากการฟอกขาวประมาณ 5% ไม่ฟอกขาวประมาณ 10% ซึ่งชนิดปะการังที่ฟอกขาว คือ ปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus) ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) และ ปะการังโขด (Porites sp.)

6.อ่าวผักกาด ที่ระดับความลึก 2- 10 ม. พบปะการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 5% ปะการังสีซีดจางประมาณ 15% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 80%

7.เกาะตอรินลา ที่ระดับความลึก 2- 10 ม.ในแนวตื้น 2 ม.พบปะการังฟอกขาวทั้งโคโลนีประมาณ 50% ปะการังสีซีดจางประมาณ 30% ปะการังปกติไม่ฟอกขาวประมาณ 20% และในแนวลึกปะการังมีสีซีดเล็กน้อย ซึ่งชนิดปะการังที่ฟอกขาวคือ ปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.)

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ปิดการท่องเที่ยว และพักแรมประจำปี ระหว่างวันที่ 16 พ.ค. - 14 ต.ค.67


https://www.thaipbs.or.th/news/content/340189

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


กางแผนรับมือ "พะยูนอพยพ" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง



เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 6 จว.อันดามัน นัดถกด่วน รับมือ "พะยูนอพยพ" จากทะเลตรัง ไปหากินในพื้นที่ 5 จว.ฝั่งอันดามันที่เหลือที่มีหญ้าทะเล เพื่อเร่งหาทางออกไม่ให้ตายเพิ่ม ป้องสูญพันธุ์ หลังสูญเสีย "ดุหยง" ต่อเนื่องทั้งในกระบี่ และพังงา พร้อมเปิดแผนรับมือวิกฤต

เมื่อช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลายคนคงอาจผ่านตาจากในโลกออนไลน์ หรือได้เห็นข่าว เกี่ยวกับการสูญเสีย "พะยูน" หรือ "น้องหมูน้ำ" หรือที่ชาวบ้านเรียก "ดุหยง" (Duyoung) 4 ตัวภายในเวลาเพียงแค่ 5 วัน จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง พร้อมเร่งออกมาตรการดูแล

"เนชั่นทีวี" ขอพาไปดูวิกฤตพะยูน พร้อมส่องแผนรับมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน มีอะไรบ้าง ที่เราพอจะช่วยเจ้าหมูน้ำได้บ้าง


"อ.ธรณ์" เผย 5 วัน พะยูนตาย 4 ตัว ชี้คือ "เหตุฉุกเฉินสูงสุด"

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ (11 พ.ค. 2567) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุ 5 วัน พะยูนตาย 4 ตัว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานฯ, คณะวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน เร่งออกมาตรการดูแล

คณะทำงานพบว่า พะยูนส่วนใหญ่ผอม ชั้นไขมันลด เริ่มมีโรคเรื้อรัง ที่เกยตื้นมีน้ำหนักอาหารน้อยกว่า 1% (ปรกติ 3%) ทีมงานจึงได้สำรวจทั้งหญ้าทะเล พะยูน เส้นทางสัญจรทางน้ำ ก่อนนำทุกอย่างมาทำเป็น "แผนที่ช่วยพะยูน" โดยในแผนที่แบ่งเป็น 3 ระดับความเสี่ยง เช่น ห้ามสัญจร ลดความเร็ว ฯลฯ โดยจะมีการใช้ทั้งพื้นที่ในเขตอุทยานฯ และนอกเขตอุทยานฯ เป็นการทำงานที่เร่งด่วนทันเหตุการณ์สุดๆ

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า หวังว่าเมื่อมีการประกาศใช้ออกมา ทุกคนจะให้ความร่วมมือ และมีการทำทุ่นบอกเขต ตลอดจนการลาดตระเวนดูแลจริงจัง สถานการณ์ 5 วัน 4 ตัว คือ เหตุฉุกเฉินสูงสุด Red Alert

เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่พะยูนตายถี่ๆ แบบนี้ หวังว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อช่วยให้ได้ คนไทยรักพะยูน ไม่อยากให้พวกเธอที่อพยพทิ้งบ้านมา ต้องเดินทางมาสู่อันตราย และมีความตายรออยู่


เครือข่าย 6 จังหวัดอันดามัน นัดถกด่วน รับมือ "พะยูนอพยพ" ป้องสูญพันธุ์

20 พ.ค. 67 ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง สมาคมเครือข่ายรักเลอันดามัน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง นำโดยนายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมฯ นายอะเหร็น พระคง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง และผู้แทนจากเครือข่ายประมงทั้ง 6 จังหวัด นัดถกด่วนเกี่ยวกับปัญหาการอพยพของพะยูนจากทะเลตรัง อันเนื่องมาจากปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำพะยูนมีอาหารไม่เพียงพอ ส่งให้เกิดการย้ายถิ่นไปหาแหล่งหากินใหม่ และกลายเป็นต้องไปเผชิญกับอันตรายรอบตัวที่จะถูกคร่าชีวิตได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะจากปัญหาเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และภัยคุกคามจากการเดินเรือ โดยขณะนี้พบพะยูนเพิ่มขึ้นในอีก 5 จังหวัดที่ดังกล่าว และเริ่มพบซากมากขึ้นใน จ.กระบี่ ,พังงา ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาร่วมกันทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลมาโดยตลอด และมองว่าพะยูนเป็นทรัพยากรสำคัญของทะเลอันดามันที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลปกป้องรักษาชีวิตให้คงอยู่กับธรรมชาติทะเลอันดามันตลอดไป และเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลฝั่งอันดามัน โดยในวันนี้มีตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เข้าร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ของพะยูนในปัจจุบัน และร่วมถกหาทางป้องกันร่วมกันด้วย มีกำหนดประชุม 2 วัน คือ วันที่ 20-21 พ.ค.67 นี้


ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง บอกว่า การอพยพของพะยูนออกจากทะเลตรังไปยังจังหวัดใกล้เคียงฝั่งอันดามัน ทั้งที่ เกาะลันตา และอ่าวพังงา และพบมีการตายเกิดขึ้น จากสาเหตุถูกใบพัดเรือ และถูกเครื่องมือประมง ทางเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอันดามัน จึงรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สำคัญของฝั่งทะเลอันดามันจะตายเพิ่มขึ้น ทางเครือข่ายอันดามันจึงทำข้อเรียกร้องไปยังชุมชนชายฝั่งต่างๆ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเฝ้าระวังพะยูน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่จะมีผลกระทบกับพะยูน เช่น บริเวณพื้นที่การทำประมง เครื่องมือประมง ความเร็วของเรือ เส้นทางการเดินเรือ เป็นต้น โดยจะถกกันเพื่อนำไปดำเนินการในแต่ละจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะชุมชนชายฝั่งเท่านั้น แต่รวมทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวสวนราชการด้วย รวมทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรมอุทยานแห่งชาติ ก็ตระหนักเช่นกันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องมาร่วมกันแก้ไข ร่วมกันทำงาน เพื่อจะได้ช่วยกันอนุรักษ์พะยูนไว้

ล่าสุด ทางเครือข่ายประมงได้มีจดหมายเปิดผนึกไปถึงชุมชนชายฝั่งและเครือข่ายในฝั่งอันดามันทั้งหมดว่า ให้แต่ละกลุ่มแต่ละชุมชนซึ่งมีองค์กรชุมชนอยู่แล้วช่วยกันปรึกษาหารือ ภายในชุมชนแล้วก็กำหนดมาตรการที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดกับพะยูนต่อ โดยในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีการเสนอแนวทางไปด้วย ทั้งเส้นทางเดินเรือ ความเร็วเรือ เครื่องมือประมง แผนการคุ้มครองพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล โดยมาตราการเหล่านี้จังหวัดตรังเราดำเนินการมาอย่างได้ผลช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตหญ้าทะเล ขณะที่จังหวัดอื่นมีมาตรการแต่ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ เพราะเมื่อเจอฝูงพะยูนที่เคลื่อนย้ายไปปริมาณที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างคน กับพะยูน แม้โดยพื้นฐานทั่วไปก็ตระหนักอยู่แล้วว่าพะยูนเป็นสัตว์สำคัญที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ ก็เหลือแต่การคุยกำหนดมาตรการร่วมกัน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด ภายใน 2-3 เดือนนี้ จะต้องดำเนินการให้ได้

ส่วนตัวได้ไปประชุมที่เกาะลันตาหารือกับผู้ประกอบการ รวมทั้งนายอำเภอเกาะลันตา ก็เห็นพ้องกันในหลักการที่จะต้องกำหนดมาตรการกลุ่มนี้ขึ้นมา รวมทั้งพื้นที่เร่งด่วน เช่น ตำบลเกาะศรีบอยา บริเวณอ่าวพังงา ที่มี 4-5 ตำบล ซึ่งจะต้องไปเรื่องพูดคุยหารือเพื่อกำหนดมาตรการ รวมทั้งบริเวณที่เกาะยาวด้วย โดยแนวทางร่วมได้กำหนดเอาไว้ในจดหมายเปิดผนึกแล้ว วันนี้มาประชุมร่วมกันเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนขึ้น

หลังจากนั้น ทุกคนก็จะต้องเร่งดำเนินการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้พะยูนเป็นสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ในทะเลไทยมีอยู่เพียงประมาณ 282 ตัวแล้วเท่านั้น และจะมาสรุปถึงผลดำเนินการดังกล่าวนี้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หากไม่เร่งดำเนินการคุ้มครองหวั่นตายเพิ่มอาจสูญพันธุ์ได้


โลกร้อนหญ้าทะเลตาย ทำพะยูนบางส่วนอพยพ

เกี่ยวกับการอพยพของพะยูนบางส่วน เรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พบเห็นได้มากที่จังหวัดตรัง บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ จังหวัดกระบี่ เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา เกาะลันตา และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล

จากอดีตพบว่า พะยูนได้เสียชีวิตทั้งจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ จากการต่อสู้กันเองระหว่างพะยูนด้วยกัน การติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ หรือถูกเรือชนหรือถูกใบจักรเรือฟัน


"ในปัจจุบันสืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน เกิดการเสื่อมโทรมและสูญหายจำนวนมาก พะยูนบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง จำนวนพะยูนที่เพิ่มมากขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่น ยังไม่มีการปรับตัวที่ดีพอ ประกอบกับปริมาณการสัญจรทางน้ำและกิจกรรมประมงที่มีมากในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพังงา ส่งผลให้พะยูนมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงมากขึ้น" พล.ต.อ.พัชรวาท ระบุ


กางแผนรับมือ

จากสถานการณ์ดังกล่าว พล.ต.อ.พัชรวาท จึงมอบหมายให้ กรมทะเล และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน ในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่

1. อ่าวตังเข็น ภูเก็ต
2. อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต
3. อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา
4. เกาะหมาก พังงา
5. ช่องหลาด เกาะยาว พังงา
6. อ่าวท่าปอม กระบี่
7. อ่าวนาง กระบี่
8. อ่าวน้ำเมา กระบี่
9. เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่
10. เกาะลันตา กระบี่
11. แหลมไทร กระบี่


โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้

1. หากมีการพบเห็นพะยูนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อ ทช. และอส. จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ของทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่

2. ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก โดยขอความร่วมมือให้งดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล โดยให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน

3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็ค ดูแลเฝ้าระวังเครื่องมือประมงขณะทำการอย่างต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงการทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #9  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


กางแผนรับมือ "พะยูนอพยพ" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง .......... ต่อ


กุญแจสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน

การอนุรักษ์พะยูน มีสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อันเป็นกำลังสำคัญของการทำงานในพื้นที่ อีกทั้ง ยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเต็มใจ เพราะพวกเขาเหล่านี้ต่างรักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ทช. และอส จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ และเพิ่มเติมความรู้ในด้านต่างๆ เช่น งดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ทำการประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน

อย่างไรก็ตาม กรมทะเลฯ และกรมอุทยานฯ จะดำเนินมาตรการตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูน หากพบว่ากิจกรรมจากการท่องเที่ยวและนำเที่ยว หรือการประมง เป็นสาเหตุการตายของพะยูน จะบังคับใช้มาตรการปิดการท่องเที่ยวและกันพื้นที่เข้าออกในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่า และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้สั่งการให้หน่วยในสังกัดประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งได้รับทราบถึงแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือพะยูนต่อไปเรียบร้อยแล้ว

หากยังปล่อยให้เจ้าหมูน้ำที่อพยพจากถิ่นอาศัย ไปเผชิญอันตรายลำพัง โดยที่เราไม่ได้ยื่นมือเข้าช่วย คงหนีไม่พ้นการสูญเสียอีกแน่ ดังนั้น การให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือพะยูนของภาครัฐ ตลอดจนการร่วมใจกันอนุรักษ์น้องหมูน้ำ จึงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อให้พวกเขาอยู่คู่กับท้องทะเลไทยสืบต่อไป


ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก :
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat



https://www.nationtv.tv/news/social/378944148

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #10  
เก่า 21-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ทะเลเดือดทำให้ "ฉลามเสือ" ว่ายไปขั้วโลกมากขึ้น แถมเสี่ยงถูกล่าเชิงพาณิชย์

นักวิจัยใช้เวลากว่า 9 ปี ติดตามการเคลื่อนที่ของฉลามเสือ พบว่า ในยุคที่ที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ฉลามเสือว่ายน้ำไปยังทิศขั้วโลกมากขึ้น มิหนำซ้ำยังถูกเสี่ยงต่อการล่าเชิงพาณิชย์มากขึ้น



มหาวิทยาลัยไมอามี่เปิดเผยว่า อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อถิ่นที่อยู่ของ "ฉลามเสือ" แถมมีแนวโน้มว่าพวกมันจะเคลื่อนตัวเข้าไปขั้วโลกมากขึ้น

Neil Hammerschlag นักวิจัยผู้เขียนการศึกษานี้ เปิดเผยว่า "ด้วยอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ฉลามเสืออพยพไปทางขั้วโลกมากยิ่งขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะอาจทำให้พวกมันเคลื่อนไหวไปยังนอกพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และเสี่ยงต่อการถูกล่าเชิงพาณิชย์"

นักวิจัยรายนี้จับมือกับองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของฉลามเสือ ด้วยการติดแท็กไปกับฉลามเสือ เป็นระยะเวลากว่า 9 ปี จากนั้น นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์

ผลการศึกษาเปิดเผยว่า ทุกครั้งที่อุณหภูมิน้ำเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 1 องศา ฉลามเสือจะอพยพไปทางขั้วโลกกว่า 400 กิโลเมตร และยังอพยพเร็วกว่าปกติถึงสองสัปดาห์

นักวิจัยอธิบายว่าฉลามเสือจากที่เคยเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล แต่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำอาจทำให้พวกมันกลายเป็นเหยื่อเสียเอง เพราะฉลามเสือมีแนวโน้มจะว่ายผ่านชายฝั่งบ่อยขึ้น และมีโอกาสสูงที่จะพบเข้ากับมนุษย์ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่ล่าสัตว์น้ำ นักวิจัยย้ำ

หากใครจำกันได้สปริงเคยนำเสนอเรื่องราวของฉลามเสือที่ถูกบ่วงที่มนุษย์ทิ้งลงทะเลรัดครีบทั้ง 2 ข้างไว้จนไม่สามารถว่ายน้ำได้อย่างถนัด ซึ่งป่านนี้จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่มีใครล่วงรู้ เคสนี้ชี้ให้เห็นว่าสถานภาพของฉลามเสืออันตรายแค่ไหนเมื่อต้องว่ายมาวนอยู่บริเวณผิวน้ำมากขึ้น

ประกอบกับการศึกนี้ที่บ่งชี้ว่า ทะเลเดือดทำให้น้องฉลามเสือว่ายไปยังบริเวณน้ำเย็น และมีแนวโน้มว่าพวกมันจะแวะเวียนไปให้มนุษย์ได้ยลโฉมอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าฉลามเสือจะไม่ถูกล่า จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ที่มา: Earth


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850448
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:41


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger