เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > เรื่องเล่าชาวทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 20-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default ปากบารา .......... ทางเลือกของการขนส่งทางทะเลของไทย ?


ได้ไปอ่านบันทึกของ อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หรือ อ.บอย ที่ฝากไว้บน Facebook มา เห็นว่า พี่ๆน้องๆ SOS น่าจะได้รับทราบเรื่องราวเอาไว้ จึงขอนำมาแปะไว้ที่ห้องนี้ด้วย

หากใครมีความเห็นอย่างไร สามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ครับ อ.บอยเข้ามาอ่านเป็นประจำอยู่แล้ว



ทางเลือกของการขนส่งทางทะเลของไทย ......................... โดย Sakanan Plathong ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2011


ถ้าไม่สร้างท่าเรือน้ำลึกในหกจังหวัดอันดามัน แล้วจะไปสร้างที่ไหนดี

ในความคิดของผม สิ่งที่ดีที่สุด คือ ไม่ต้องสร้างครับ เราก็อยู่ของเราไปแบบพอเพียง การขนส่งทางทะเลของภูมิภาคที่ต้องการเส้นทางลัด ประหยัดค่าใช้จ่ายของกองเรือต่างชาติ จะเดือดร้อน ก็ปล่อยเขาไป เขาก็ไปเข้าคิวผ่านช่องแคบมะละกากันต่อไป สินค้าหลักของไทยก็ออกทางอ่าวไทยต่อไป

ปัญหาของการขนส่งทางทะเลของบ้านเรา คือ เส้นทางเข้ามาอ่าวไทย ถูกเพื่อนบ้านจับจองอาณาเขตทางทะเลไปจนหมดแล้ว แต่สิทธิการเดินเรืออย่างเสรีในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นๆตามกฎหมายทะเล (UNCLOS) ก็ยังคงทำได้อยูํ่ ยกเว้นจะมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศ

แต่ถ้าต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเลข้ามมหาสมุทรทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีทางเลือกที่สำคัญ คือ การใช้เส้นทางข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ เช่น ท่าเรือทวายที่พม่า เข้ามาทางตะวันตก เส้นทางนี้สำหรับการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านเส้นทางไหน จะแนวเดียวกับท่อก๊าซเดิมหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที หรือจะมีสินค้าทางรถด้วยหรือไม่ ต้องศึกษากันอีกที

ทางเลือกต่อมา คือ ปีนัง สงขลา ใช้กลไกทางภาษี และความร่วมมือระหว่างกัน เส้นทางนี้สำหรับการขนส่งสินค้า ท่อน้ำมัน จะมีหรือไม่ ค่อยศึกษากันอีกที ทุกวันนี้ก็รถคอนเทนเนอร์ ก็วิ่งกันพล่านอยู่แล้ว ที่ต้องปรับปรุง คือ เส้นทาง และกลไกการผ่านด่านตรวจระหว่างประเทศ ที่ด่านสะเดา ที่ต้องเจรจาร่วมกัน และปรับปรุงช่องทางผ่านของตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ เพราะทุกวันนี้ แออัด และปะปนกันระหว่างรถยนต์ทั่วไปกับรถขนส่งสินค้า



ส่วนเส้นทางการขนส่งเส้นอื่นๆทางมหาสมุทรแปซิฟิค ที่ไม่ผ่านทางอ่าวไทย ที่เป็นไปได้ คือ การพัฒนาความร่วมมือ เวียดนาม ลาว และทางภาคอีสานของไทย สินค้าเกษตรทางภาคอีสาน ก็ส่งออกทางถนน หรือระบบรางที่จะต้องพัฒนาร่วมกันเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือของประเทศเวียดนาม

แนวคิดเหล่านี้ คือ การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมิตรระหว่างกันมากกว่าการสร้างความไม่ไว้วางใจ สะสมอาวุธเพื่อแข่งขันกัน แล้วไปสร้างผลกำไรให้กับประเทศผู้ค้าอาวุธต่างๆ

ประเทศไทยควรมีแค่ท่าเรือทางฝั่งทะเลอันดามัน เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องใหญ่มาก ซึ่งมีแนวท่าเรือเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ควร ขาดระบบการจัดการระบบต่างๆเพื่อรองรับกัน เส้นทางเหล่านี้สามารถเป็นท่าเรือหลักสำหรับเรือทุกสินค้าขนาดเล็ก และอาจจะใช้เป็นเส้นทางสำรองสำหรับการขนส่งทางทะเล ในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ใช้เมื่อมีปัญหาวิกฤตของประเทศเท่านั้น แต่ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงสังคม และวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อไปสนับสนุนการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค เหมือนอย่างที่คิดกันตอนนี้

เราแค่ต้องการส่งสินค้าออกทางทะเลให้ได้ ก็พอแล้ว

ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามัน ขอใช้ประโยชน์การท่องเที่ยวทางทะเลไปก่อน จนกว่าการท่องเที่ยวจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทรัพยากรธรรมชาติพังพินาศหมด (ถ้าไม่ช่วยกันรักษา) ค่อยเอามาพัฒนาก็ยังได้

หลักคิดง่ายๆ คือ ทรัพยากรบ้านเราเก็บไว้ กิจกรรมอะไรที่เสี่ยงภัย ก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่นไปก่อน เมื่อไรวิกฤตจริงๆ ค่อยเอามาใช้ก็ได้ และไม่ต้องกังวลว่าท่าเรือทะวายเกิดขึ้นมาแล้ว ไทยจะไม่มีโอกาสสร้างท่าเรือน้ำลึกได้อีก เพราะอย่างไรเสีย เส้นทางข้ามคาบสมุทรทางภาคใต้ก็จะยังเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดของการขนส่ง สินค้าระหว่าง 2 มหาสมุทร เพราะเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด

ที่สำคัญคือ รีบร้อนพัฒนาการขนส่งทางทะเล ในขณะที่กิจการพาณิชยนาวี และการเดินเรือของไทยเองยังไม่พร้อมเลย

กิจการพาณิชยนาวี และการเดินเรือทางทะเล อยู่ในมือคนต่างชาติเกือบ 90 เปอร์เซนต์

ในขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการพัฒนาต่างๆ ก็จะตามมาเป็นลูกโซ่

ดังนั้น ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในธุรกรรมพาณิชยนาวีของไทย คือ คนต่างชาติ

แต่สิ่งที่คนไทยจะสูญเสีย คือ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัว




__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 21-02-2011 เมื่อ 07:47
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 21-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


บทความนี้ อ.บอยได้เขียนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วครับ



ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะทำอะไร บอกความจริงให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย ............... โดย Sakanan Plathong ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2010





ในยุทธศาสตร์ความมั่งคงของชาติทางทะเล บอกไว้ว่า ประเทศไทย จำเป็นต้องมีทางออกสำหรับสินค้าและการขนส่งทางทะเลอื่นๆทางทะเลอันดามัน จะพึ่งพาแต่ทางฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีความต้องการระหว่างประเทศที่จะแสวงหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า การเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบสุมาตรา ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน


ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามของรัฐในทุกยุคทุกสมัย ที่จะเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมี ท่าเรือขนาดเล็ก ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ท่าเรือตำมะลัง ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือยิบซั่มที่กระบี่ ท่าเรือเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงท่าเรือขนาดเล็ก กระจายสินค้าได้ไม่มากนัก และไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง


ปัญหาสำคัญของการขนส่งทางทะเลตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา คือ ความไม่สมดุลระหว่างการขนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ กับการนำสินค้าเข้ามา เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าที่นำเข้ามาท่าเรือน้ำลึกสงขลามีน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการขนส่งยางพาราออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เข้ามารับยางพารา และสินค้าส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงมากกว่า การนำสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเข้า และสินค้าออกมาก ค่าใช้จ่ายจึงถูกกว่าการส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา จึงเห็นได้ว่า แต่ละปีมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย กับท่าเรือปีนังปีละมากกว่า 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์


ทางแก้ที่ภาครัฐมองคือ การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า ข้ามมหาสมุทรจากยุโรป และตะวันออกกลาง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับทางเอเชียตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งก็คือ ความพยายามที่จะทำให้มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของภาคใต้ และเส้นทางการขนส่งทั้งทางรถไฟ ถนน และท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน และยังมองถึงผลประโยชน์จากการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล


โครงกา สร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้น และมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองมาจนถึงจังหวัดสตูล แต่ก็ถูกผลักดัน ขับไล่ การไม่ยอมรับจากคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่มองว่ายุทธศาสตร์ของพื้นที่คือ การท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ และการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามัน


และวันนี้ ที่ปากบารา คือ ที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก และที่สำคัญ มีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด


อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้บริหารของจังหวัด และประเทศอาจจะไม่ทันคิดก็คือ ตั้งแต่เขตแดนไทยมาเลเซีย ที่สตูล ไปจนถึงอ่าวพังงาเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศแบบเอสทูรี่ หาดเลน และป่าชายเลนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบ่อยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา เป็นแหล่งสะสมของธาตุอาหารที่มาจากบนบก และในทะเล ส่งผลให้บริเวณนี้มีพืชและสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ


จังหวัดสตูลยังมีผู้คนยังไม่มากนัก ในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับการพัฒนาทางการเพาะเลี้ยง การประมงชายฝั่ง และการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะหากประเทศไทยต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดสตูลก็มีศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีเกาะจำนวนมาก มีป่าชายเลน มีแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล มีสวนผลไม้ ชายฝั่งทะเล ป่าเขาและน้ำตก และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ


สิ่งที่รัฐพยายามบอกชาวบ้านคือ ราคาที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะมีเงินมากขึ้น จะพาผู้นำชุมชน และผู้บริหารของจังหวัดไปดูงานท่าเรือต่างจังหวัด และในต่างประเทศ สร้างความหวังให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่บริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียง และกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่รัฐและผู้บริหารของจังหวัด พร้อมจะพามาสนับสนุนในทุกเวทีการประชุม และเริ่มสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนในจังหวัดสตูล


แต่สิ่งที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ก็คือ


รัฐไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่า

ท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรตามมาอีกบ้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องการขนส่งสินค้า และการแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ จะตามมาเป็นจำนวนมาก


ไม่มีใครบอกเขาว่า

การพัฒนาที่จะตามมานั้น จะมีการจ้างงานจริงๆกี่คน คนสตูลจะได้โอกาสทำงานอะไร จำนวนเท่าไร และจะมีแรงงานต่างถิ่น เข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่ กี่พันกี่หมื่นคน จะส่งผลกระทบทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอย่างไร



ไม่มีใครบอกเขาว่า

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน จะพัดพาฝุ่นควันทั้งหลายเข้าสู่เมืองสตูล เมืองละงู ชุมชน และสวนยางตลอดแนวชายฝั่งทะเล



ไม่มีใครบอกเขาว่า

ลมฝนเหล่านี้ จะละลายฝุ่นควันและสารพิษ จากเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตกลงบนหลังคาบ้าน ตกลงในสวนยาง สวนผลไม้ ในบ่อเก็บน้ำ ในน้ำตกวังสายทอง ในแม่น้ำ และลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง



ไม่มีใครบอกเขาว่า

ชายฝั่งทะเลของอันดามันใต้ หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกาตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา โดยเฉพาะจังหวัดตรังและสตูล เป็นพื้นที่รองรับการสะสมของตะกอนทั้งจากแผ่นดินและทะเล สารพิษทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นมันไม่ถูกพัดพาออกไปทะเลลึก แต่จะสะสมอยู่ในชั้นดินตะกอนตลอดชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นโคลนปนทราย



ไม่มีใครบอกเขาว่า

หากมีการรั่วไหลของน้ำมัน น้ำมันเครื่องเรือ น้ำจากท้องเรือ หรือสารพิษต่างๆ สารมลพิษเหล่านี้มันจะสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล เหตุการณ์ต่างๆจะร้ายแรงยิ่งกว่าที่มาบตาพุด ซึ่งมีกระแสน้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก



ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า

บริเวณทะเลหน้าหาดปากบารา ที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลกำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการถมทะเลยื่นออกไปนอกหาดยาวเป็นกิโล เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมารับส่งสินค้าปีละมากกว่า 200,000 ตู้ หรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้าโครงการมีการขยายตัวไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆที่จะตามมา



ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า

จะมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลตามมา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ คืออะไร



ไม่มีใครบอกเขาว่า

นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีอุตสาหกรรมอะไรอื่นๆตามมาอีก เขาได้แต่บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะบอกว่าจะมีอุตสาหกรรมอะไรตามมา กรอบการศึกษาของเขามีเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น โครงการอื่นๆต้องพิจารณาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้



ถ้ามีใครถามเขาว่า

ข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาจะบอกให้ชาวบ้านไปอ่านเอาในเอกสารหนาปึก ที่มีแต่ตัวเลขที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และต้องไปหามาอ่านเอาเอง และเขาก็จะโวยวายใส่ชาวบ้านว่า ก็ทำรายงานให้อ่านแล้ว ทำไมไม่อ่านกันเอง หรือไม่ก็ให้ไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ที่ชาวบ้านไม่มีวันเข้าถึง


สิ่งที่ชาวบ้านสังเกต ก็คือห้าหกปีที่ผ่านมา มีคนมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆมากขึ้นเรื่อยๆ

ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่า ที่ดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คือบริเวณที่อยู่ในแนวเส้นทางของท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

สิ่งที่บริษัทเหล่านี้บอกกับชาวบ้านตลอดมาก็คือ พวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า ผ่านการพิจารณาของนักวิชาการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก และแม้ว่ามันจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รัฐก็สามารถเพิกถอนพื้นที่ที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติได้


แต่คุณอย่าลืมว่า ชาวบ้านก็มีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่นกัน หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวแน่นอนว่า

อากาศจะเป็นพิษ น้ำทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ น้ำตกและลำธารจะปนเปื้อนจากสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงน้ำจืดที่ต้องใช้ในการเกษตรจะเกิดขึ้น เพราะต้องในไปใช้ในเขตท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม


ชาวสตูลคงไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นหาดแม่รำพึงหรือมาบตาพุดแห่งที่สอง ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย และที่สำคัญลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลที่นี่แตกต่างจากชายฝั่งบริเวณมาบตาพุด ปัญหามลพิษทุกอย่างจะสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้ง่ายกว่าบริเวณชายฝั่งมาบตาพุด


พอสิ้นปีผลกำไรจากการขนส่งทางทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ และการสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ก็กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในพื้นที่ แต่นั่งห้องแอร์ดูตัวเลขขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์

ผู้บริหารของจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงนายอำเภอ มาทำงานไม่กี่ปี ก็ย้ายไปที่อื่น นักลงทุนเข้ามาลงทุน วันหนึ่งก็ถอนตัวออกไปลงทุนที่อื่นได้



แต่คนสตูลต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต


รอรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 21-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ท่าเรือน้ำลึกปากบารา... ความคาดหวังอันสูงส่งของคนใต้ต่อชาว มอ. ..................... โดย Sakanan Plathong ณ วันที่ 31 มกราคม 2011



วันนี้ผมเดินทางไปที่ปากบารา ไปให้ข้อมูลเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลของคนปากบารา ไปบอกเขาว่า สิ่งที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นทรัพยากรธรรมชาติธรรมดาๆนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ไม่พบในที่ไหนอีก

แนวปะการังที่เขารู้สึกว่า สวยงามสู้หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลันไม่ได้นั้น ผมได้ชี้ให้เขาเห็นว่า แนวปะการังของคนสตูลดีอย่างไร ในสภาวะที่ปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร สิมิลัน ภูเก็ต พีพี ตายจากการฟอกขาวเป็นจำนวนมาก แต่แนวปะการังที่สตูลสามารถปรับตัว และทนต่อสภาวะการฟอกขาวได้ดี และฟื้นกลับคืนมาจนไม่เห็นร่องรอยของการฟอกขาว

ผมเห็นแนวปะการังมามากพอที่จะบอกว่า แนวปะการังที่สตูลมีความหลากหลาย และมีสถานภาพดีที่สุดของทะเลไทย

ผมเห็นทะเลมามากพอที่จะบอกว่า..ป่าชายเลนที่เขาเห็นว่าเป็นดินเลนเฉอะแฉะ มีป่าโกงกางรกรุงรังนั้น ไม่ได้พบทั่วไปในประเทศอื่นๆ ชายหาดและหาดโคลนที่ดูสีดำไม่สวยงาม มีสีขาวสะอาดเหมือนแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทางอันดามันตอนเหนือ คือ แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของทะเลอันดามัน และเป็นสภาพที่จะไม่มีวันได้เห็นที่ท่าเรือปีนังของประเทศเพื่อนบ้าน

กุ้ง หอย ปูปลา ที่เขากินมาตั้งแต่เด็ก รสชาติที่เขาบอกว่าธรรมดาสุดๆนั้น ไม่สามารถหากินได้จากการเลี้ยงกุ้งที่คนปากบารากินกัน กุ้งที่ผมนั่งกินเมื่อตอนเที่ยงวันนี้ มีรสชาติหวานกว่ากุ้งขาวที่เลี้ยงตามบ่ออย่างเทียบกันไม่ได้

วันนี้ ผมไปบอกคนปากบาราว่า ธรรมชาติในท้องทะเลสตูลมีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ในระดับสากล ที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ผมมีทางเลือกให้เขาว่าจะตอบรับการพัฒนาในโครงการท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางทะเล สินค้า น้ำมัน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือว่า จะช่วยกันรักษาท้องทะเลสตูลเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บนวิถีชีวิตของตัวเอง

“คนปากบาราไม่จำเป็นต้องมีชีวิตให้เหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง”

ผมบอกเขาว่า สตูลเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกา กระแสน้ำจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพัดรวมมาสะสมที่ชายฝั่งทะเลสตูล ธาตุอาหารต่างๆจากแผ่นดินและจากทะเลจะถูกพัดพามาสะสมที่ชายฝั่งทะเลสตูล เป็นที่อยู่อาศัย หากินของสัตว์น้ำนานาชนิด

ในทำนองเดียวกัน สารพิษต่างๆ หากเกิดขึ้นในบริเวณนี้ ก็จะไม่ถูกพัดพาไปไหน มันจะตกสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลสตูล

ผมบอกให้เขานึกถึงภาพขยะจำนวนมากในช่วงลมมรสุม ทุกวันนี้..ขยะจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย จากการเดินเรือทั้งหลายถูกพัดมากองตลอดชายฝั่งสตูล

ผมถามเขาว่า พวกเราเชื่อหรือไม่ว่า การขนส่งทางทะเล จะไม่มีการรั่วไหลใดๆ ของน้ำมันและสารเคมีต่างๆลงทะเล เชื่อหรือไม่ว่าจะไม่มีอุบัติเหตุทางเรือที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี และถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมา สารพิษเหล่านี้มันจะไปไหน .. ถ้าไม่ได้อยู่ที่ชายฝั่งทะเลสตูล


ในฐานะอาจารย์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ม.อ.

ที่ประชุมวันนี้ ทำให้ผมต้องตระหนักมากยิ่งขึ้นว่า คนใต้คาดหวังกับ มอ. อย่างไร

หลายคนบอกให้ผมฟังว่า เขาผิดหวังมาก ที่ มอ. รับจ้างมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา หลายคนเริ่มสับสนว่า มอ. ยังคงเป็นที่พึ่งของเขาอยู่อีกหรือเปล่า

ในฐานะที่ มอ. เป็นมหาวิทยาลัยที่คนใต้คาดหวังมากที่สุด ผมคาดหวังว่า บุคลากรของ มอ. ที่รับจ้างทำงานประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะใช้จิตวิญญานของการเป็นนักวิชาการอย่างเที่ยงธรรม

และจะไม่ทำหน้าที่.. “โฆษณาชวนเชื่อให้กับโครงการ”

แต่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ ผลการศึกษาว่า มีจุดอ่อนอย่างไร สิ่งที่โครงการพยายามบอกชาวบ้านนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่


ในห้วงเวลาที่ผมรู้สึกว่า...ผมเหนื่อยมาก.. ผมน่าจะพอแล้วกับการทำงานต่างๆในทุกวันนี้

ชาวปากบารากับความคาดหวังอันสูงส่งต่อมหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ ทำให้ผมต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง

ผมบอกเขาก่อนปิดประชุมว่า

“ขอให้เชื่อมั่นเถิดว่า มอ. ยังเป็นที่พึ่งของคนใต้อยู่เสมอ
ไม่ต้องมีใครมาจ้าง... ผมจะมาเอง
ผมจะมาประชาสัมพันธ์ ประกาศให้ทุกคนรู้ถึงความสมบูรณ์ของทะเลสตูล ทุกครั้งที่ทุกคนต้องการ”


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 21-02-2011
chickykai chickykai is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: จุดเล็กๆในเมืองหลวงของไทย แต่ระเห็จไปทำงานไกลบ้านเล็กน้อย
ข้อความ: 424
Default

อ่านจบแล้วพูดไม่ออก อยากบอกว่าเข้าใจค่ะ
การมีชีวิตในแบบคนอื่น กับมีชีวิตในแบบเราเอง ความสุขต่างกัน ความสบายต่างกัน
ทุกคนมีทางเลือก แต่ทางเลือกทุกอย่าง เลือกแล้วมันเดินกลับหลังไม่ได้แล้ว ได้แต่เดินหน้าอย่างเดียว ดังนั้นข้อมูลที่ใช้ในการเลือกทางก็ควรจะครบทุกด้านจริงๆ เพื่อให้เค้าไม่ต้องกลับมาเสียใจว่าเลือกทางผอดเพราะมีข้อมูลไม่พอ

และเห็นด้วยเป็นที่สุดที่เราควรสงวนทรัพยากรที่มีอยู่ไว้ก่อน เพราะอุตสาหกรรม ใครมีเงินมีทำเลก็สร้างได้ แต่ทรัพยากรมันสร้างเองไม่ได้ มันคือสิ่งที่โลกสร้างไว้ให้แล้ว และแต่ละที่ก็ไม่มีที่ไหนเหมือนกัน
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 21-02-2011
Thoto_Dive Thoto_Dive is offline
Member
 
วันที่สมัคร: Dec 2010
ข้อความ: 80
Default

ขออนุญาติแชร์ด้วยคนครับพี่ พอดี Search เจอครับ เป็นของอาจารย์ ดร.อาภา จากมหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.youtube.com/watch?v=_hB2c...eature=related

0. เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่
1. ขุดทราย 10 ล้านลูกบาศน์เมตรเพื่อถมทะเล
2. พื้นที่คลังน้ำมัน 5,000 ไร่ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 150,000 ไร่ (มาบตะพุด 2)
3. เพิกถอนพื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตรา 4,370 ไร่
4. ขุดลอกล่องน้ำและตะกอนจากการถมทะเลอาจกระทบต่อหมู่เกาะตะรุเตา(มรดกอาเซียน และอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมรดกโลก)

ที่สำคัญชาวบ้านรู้เพียงว่าจะมีแค่ท่าเรือน้ำลึก
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 22-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เรื่องการคัดค้านการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีมานานแล้ว ลองอ่านความคิดเห็นอื่นๆเพิ่มเติมดูนะคะ


ท่าเรือน้ำลึกบ้านปากบารา ส่อเค้าซ้ำรอย"มาบตาพุด"


จาก...ไทยโพสต์ 11 กรกฎาคม 2553


เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเมืองที่ได้ชื่อว่า สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ อย่าง "สตูล" กับกรณีที่ชาวสตูลจากหลายพื้นที่ในกว่า 300 คน ในนาม "เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล" มารวมตัวเพื่อเรียกร้องความ เป็นธรรมจากรัฐ ด้วยการประกาศชัดว่า "ไม่เอาท่าเรือน้ำลึก" หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ผ่านการไฮด์ปาร์กบนรถ ถือป้ายผ้าแสดงข้อความ และยืนให้กำลังใจพวกพ้องอย่างใกล้ชิด


ตามนโยบายแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภาคใต้ ณ "บ้านปากบารา" อ.ละงู จ.สตูล ที่รัฐบอกกล่าวถึงโครงการจะทำให้สตูลกลายเป็นเมืองเจริญ ผู้คนมีงานทำมีรายได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา การก่อสร้างรถไฟรางคู่พาดผ่านระหว่างสตูลกับสงขลา การขยายถนนหนทางให้กว้าง ขวางมากขึ้น โครงการวางท่อขนส่งน้ำมันท่อก๊าซระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเล อันดามัน คลังน้ำมัน 5,000 ไร่ และการขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมเส้นทางหลวงสตูล-เปอร์ลิส (ไทย-มาเลเซีย) ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงการสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา หรือแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบนโยบายเก่าตั้งแต่ พ.ศ.2524-2525 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาปัดฝุ่น และสานต่อด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ชาวบ้านปากบาราเริ่มคิดได้ว่าภาพสวยหรูที่รัฐให้ไว้ อาจจะกลายเป็นภาพมายา และอาจทำให้ชาวบ้านมีชะตากรรมเดียวกับชาวบ้านมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพอีสเทิร์นซีบอร์ด


ผลกระทบที่ชาวบ้านมองเห็นก็คือ การสูญเสียพื้นที่ทางทะเลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,730 ไร่ อันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ที่ชาวบ้านใช้จับกินแและจับขายหาเลี้ยงชีพ ภูเขาต้องถูกระเบิดถึง 8 ลูก และทรายชายฝั่งกว่า 20 ล้านคิว ถูกขุดเพื่อนำไปถมทะเลใช้สร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ดินถูกเวนคืนในราคาถูกเพื่อใช้ขยายถนนและสร้างรถไฟรางคู่ แถมพื้นที่ชายฝั่งก็ถูกยึดไปทำคลังน้ำมันขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ภาษีของประชาชน เองก็จะถูกนำไปลงทุนกับโครงการเหล่านี้ในจำนวนมหาศาลเป็นหลายแสนล้านบาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้กลับตกอยู่กับกลุ่มนายทุน ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างที่อวดอ้างไว้


ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามผลกระทบจากทิศทางการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มากว่า 10 ปี ยืนยันผ่านเวทีสาธารณะที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดขึ้นในพื้นที่ โดยร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า สิ่งที่ชาวบ้านวิตกนั้นมีความเป็นไปได้สูง โครงการ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เกิดขึ้น ทำไปเพื่อรองรับการเกิด "นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 150,000 ไร่" ของจังหวัดสตูล ที่จะมารองรับปัญหานิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด และแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ที่ไม่สามารถขยับขยายพื้นที่ได้อีกต่อไป เพราะติดปัญหาเรื่องเพิ่ม ปริมาณมลพิษให้กับพื้นที่ รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ยากยิ่ง


ดร.อาภากล่าวต่อว่า แต่เดิมเมืองสตูลกำหนดแผนพัฒนาจังหวัดปี 2553-2556 ไว้ ว่า "เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเกษตรยั่งยืน เมืองท่าฝั่งอันดามัน สร้าง สรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้" แต่ต่อมายุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกลับถูกแตก ออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
2.พัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรบนพื้นฐานการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมให้มีคุณภาพ
4.พัฒนาระบบการขนส่งและโครงข่ายขนาดย่อม และ
5.เสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ และการพัฒนาความร่วมมือกับ ประเทศใกล้เคียง ซึ่งการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของแผน


"แผนพัฒนาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจาก ประชาชน แต่เป็นการเอาของรัฐบาลส่วนกลางมากำหนดในแผนพัฒนาภาคใต้ แถมในทางปฏิบัติมี การผลักดันระบบการขนส่ง และโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าแผนด้านอื่นๆ และดำเนินการเป็นชุด โครงการขนาดใหญ่มากที่สุด ทั้งยังเชื่อมโยงเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเพิ่ม เติม ผ่านการกำหนดยุทธศาสตร์ย่อยดังต่อไปนี้" ดร.อาภากล่าว


1.การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสำหรับการส่ง สินค้าออกและนำเข้าที่ปากบารา ซึ่งจะพัฒนาเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ ทั้งขนส่งสินค้าแบบตู้ในสินค้า แบบเทกอง และสินค้าเหลวทางท่อ เช่น น้ำมัน แก๊ส และสารเคมี สร้างนิคมอุตสาหกรรมพัฒนาควบคู่กับท่าเรือน้ำลึก บนพื้นที่ 1.5 แสนไร่ บน อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งแบ่งเขตนิคมอุตสาหกรรมดังนี้ เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เขตอุตสาหกรรมหนัก เขตอุตสาหกรรมเบา เขตอุตสาหกรรมสนับสนุนและต่อเนื่องกับท่าเรือ บ่อบำบัดน้ำเสียและโรงงาน กำจัดขยะอุตสาหกรรม คลังสินค้าทัณฑ์บนของกรมศุลกากร และการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานีย่อยไฟฟ้า ประปา สำหรับอุตสาหกรรม โทรคมนาคม


2.การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสายสตูล-สงขลา เพื่อเชื่อมประตูการค้าด้านตะวันตกไปยังทะเลตะวันออก ทั้งการขนส่งด้านถนน ที่จะพัฒนาถนนรอบท่าเรือปากบาราและถนนที่เชื่อมสตูลไปยังจังหวัดอื่นๆ ผ่านการสร้างถนนเส้นใหม่ การเจาะอุโมงค์ การขนส่งทางรถไฟที่จะสร้างเป็นระบบรางคู่ระยะทาง 110 กม. เพราะจะให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า จากท่าเรือปากบาราไปยังสงขลา (ที่มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกอีกแห่งที่จะนะ) และยังมีการขนส่งทางท่อ รวมถึงการสร้างสถานีรวบรวมตู้สินค้า


3.การพัฒนาอุตสาหกรรม แบ่งเป็น อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเวชกรรมและเภสัชกรรม อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ ล้างและซ่อมตู้สินค้า โรงผลิตไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีสะอาด โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก และสถานีรวบรวมและขน ส่งสินค้าทั่วไป ควบคู่กับการขนส่งสินค้าเหลว


นอกจากนี้ ยังมีการโครงการขุดเจาะอุโมงค์ไทย-เปอร์ลิส เพื่อเชื่อมเส้นทาง การเดินทางระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยไทยจะขุดเจาะอุโมงค์ผ่านเทือกเขาสันกา ลาคีรี และตัดผ่านป่าชายเลน ระยะทางรวม 12 กม. ใช้งบราว 1,680 ล้านบาท ขณะนี้มีการลงสำรวจเส้นทางแล้ว "ทุกโครงการที่กล่าวไปมีการผลักดันอย่างรวดเร็วรวบรัดโดยรัฐ แต่ที่เห็น ชัดเจนมากที่สุดก็คือท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ปากบารา โดยกรมเจ้าท่า กระทรวง คมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และหากโครงการดังกล่าวลงมือสร้างได้จริง ก็จะกลายเป็นประตูสู่ความหายนะของจังหวัดสตูล เพราะถ้าสร้างท่าเรือที่ปากบารา ยังไงๆ ก็ต้องสร้างท่าเรือที่จะนะ จ.สงขลา ควบคู่ไปด้วยแน่ๆ เพื่อทดแทนโครงการขุดคลองคอขอดกระที่ยังชะงักงัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดไว้มันถูกแน่ๆ" ดร.อาภาแจง และชี้ให้เห็นด้วยว่า


นักวิชาการระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือเรื่องที่คณะกรรมการสิ่ง แวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมิตเห็นชอบร่างรายงานการศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อม (eia) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว เหลือเพียงแต่ประเด็นในการขอใช้พื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตราจำนวน 4,730 ไร่ ที่หัวหน้าอุทยานให้ความเห็นเป็นหนังสือทำนองว่า มีผลกระทบและควรพิจารณาเป็นพิเศษ แต่ก็ใช่ว่าไม่มีทางทำได้ เพราะกฎหมายยัง เปิดทางให้ใน 2 กรณี ได้แก่ หากเป็นโครงการร่วมระหว่างกรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่ขอ แล้วเป็นประโยชน์ต่ออุทยานฯ ตามกฎหมาย หรือดำเนินการยกเลิกพื้นที่อุทยาน โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แก้ไข้พื้นที่แนบท้ายประกาศพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งกรณีหลังมีความเป็นไปได้สูง เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีใช้พื้นที่อุทยานฯ สร้างเขื่อน
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 22-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ดร.อาภายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไม่ดำเนินโครงการในตอนนี้ เพียงแค่ให้ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 6 เดือนนั้น ตนคิดว่าเป็นยาหอมที่ท่านนายกฯ หยอดแก่คนปักษ์ใต้ คือพูดไปอย่างนั้น แต่ลับหลังก็ลงมือเร่งทำ เพราะเสียงบประมาณลงทุนไปกับการศึกษา eia ไม่ใช่น้อยแล้ว โดยงบทั้งหมดที่จะใช้สร้างท่าเทียบเรือนี้อยู่ที่ 37,479 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกปี 2553-2557 ใช้งบ 22,563 ล้านบาท และช่วงนี้รัฐก็เร่งโหมประชาสัมพันธ์แต่ด้านดีให้คนสตูลรับทราบ


"น่าเสียดายว่าไทยเรามีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ เราสามารถยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจชุมชน ที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรเหล่านี้ได้ไปจน ตายแถมตกทอดถึงลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นด้านประมงพื้นถิ่น การท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ฝ่ายบริหารของประเทศกลับเอาภาษีของคนไทยไปสร้างอุตสาหกรรม ทำลายระบบนิเวศ ชาวบ้านตาย แต่กลุ่มนายทุนกลับได้รับผลประโยชน์ อย่างนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม ชาวสตูลควรลุกขึ้นทวงถามสิทธิ์อันชอบธรรมของตัวเอง และรัฐก็ควรให้ข้อมูลครบทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้แต่ด้านดีหลอกชาวบ้าน เพื่อ ให้เขาตัดสินใจว่าเอาหรือไม่ ยอมรับได้กับสิ่งที่บ้านเกิดจะกลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่ 3 หรือเปล่า"


ถัดจากเสียงนักวิชาการที่ฉายภาพให้เห็นเสียงของคนพื้นที่อย่าง อารีย์ ติงหวัง วัย 53 ปี และ หมาด ติงหวัง วัย 56 ปี ชาวบ้านบ้านล้อมปืน ต.ละงู ยืนยันว่า พวกเขาไม่เคยอยากได้โรงงาน อุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยให้ข้อมูลอะไรแก่ชาวบ้าน แม้แต่ข้าราชการท้องถิ่นก็ ยังไม่รู้ บอกแต่เพียงว่าจะสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จะนำเอาความเจริญมาให้ ไอ้เราก็ดีใจ แต่พอมารู้ทีหลังว่าจะมีอะไรตามมาบ้าง แล้วยิ่งเคยไปเห็นที่มาบตาพุดจริงๆ มาแล้ว ก็ส่ายหน้ายืนยันว่าไม่เอาแล้วท่าเรือน้ำลึกปากบารา


"ลุงไม่เชื่อเด็ดขาดว่าถ้าสร้างท่าเรือแล้วชาวบ้านจะมีกินมีอยู่ เอาแค่ตัวอย่างธุรกิจสายเคเบิลใยแก้วที่เพิ่งมาตั้งอยู่ที่อ่าวละงู คนพื้น ถิ่นได้ไปทำงานแค่ 2 คน ในฐานะเป็นยามเฝ้า ส่วนตำแหน่งบริหารสูงๆ เขาก็ดึงมาจากกรุงเทพฯ แล้วถ้าเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือสูง ก็คงดึงเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจากกรุงเทพฯ และถ้าเป็นกลุ่มแรงงานก็มีบริษัทรับเหมาแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว จะตกถึงมือคนท้องถิ่นก็คงเป็นพวกแบกหามเท่านั้น"


ลุงอารีย์ชี้ให้เห็นความสูญเสียของชาวบ้านอีกว่า นี่ยังไม่รวมถึงอาชีพประมง พื้นถิ่นกว่า 2,000 ครอบครัวอาจสูญหายไป เพราะแบกรับต้นทุนที่ต้องออกเดินเรือไปหากินในพื้นที่ ไกลออกไปไม่ไหว แถมบางส่วนก็ยังเป็นเรือประมงขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ไม่สามารถ ออกไปหากินนอกอ่าวละงูตรงปากบาราได้ อาหารการกินตามธรรมชาติก็ไม่มี ต้องควักเงินซื้อ บ้านเรือนประชาชนก็ถูกเวนคืนในราคาถูกเพราะต้องนำที่ไปสร้างเส้นทาง คมนาคม ส่งผลให้ผู้คนไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน เกิดเป็นความเครียดกลายเป็นปัญหาสังคม ฯลฯ ปัญหาที่ส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นตรงนี้ รัฐเคยคิดถึงหรือมีแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่


"พวกผมพอใจกับวิถีชีวิตพอเพียงแบบนี้ กับรายได้ขั้นต่ำเพียง 70,000 บาท/ครอบครัว/ปี แต่เรามีอยู่มีกิน อาหารไม่ต้องซื้อเพราะหาจับเองได้ และเอามาแบ่งปันกัน เงินทองก็ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อไปกับวัตถุนิยมปลอดอาชญากรรม แถมยังไม่ต้องเสี่ยง กับสุขภาพแย่ๆ ที่เกิดจากมลพิษสารพิษในเมืองอุตสาหกรรม ที่อาจรั่วไหลออกมาเหมือนกับกรณี ที่มาบตาพุด ซึ่งชาวบ้านกลัวมากกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หลายคนถึงกับออกปากว่าเราจะไม่เป็นอย่างมาบตาพุด" ลุงอารีย์กล่าว


ด้านลุงหมาดกล่าวเสริมว่า ตอนนี้รัฐจะมาหลอกอะไรพวกเราไม่ได้แล้ว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มรับรู้ข้อมูล จากเมื่อสองปีที่แล้วมีเพียงเครือข่ายประมง 10 หมู่บ้าน ราว 1,000 ครัวเรือนที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน มาต้นปีจนถึงตอนนี้ก็ 6 เดือนแล้ว ที่คนสตูลทั้ง 7 อำเภอ ไม่ว่าจะเป็น ละงู มะนัง ควนกาหลง ควนโคน ท่าแพ ทุ่งหว้า และ อ.เมือง ต่างยืนยันว่าเราไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบาราและนิคมอุตสาหกรรม และเราก็จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้ข้อเท็จจริงต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย


"ถ้ารัฐยังดื้อดึงทำต่อไป พวกเราที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายประชาชนติดตามแผน พัฒนาจังหวัดสตูล ก็จะคัดค้านให้ถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งก็เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะยังคงอยู่ พวกเราก็จะไม่โหวตให้กับพรรคการเมืองที่ดำเนินโครงการนี้ หรือไม่ก็ถ้ารัฐจะ สร้างให้ได้ เราก็จะยื่นข้อแลกเปลี่ยนโดยยกโซนทะเลในแถบเกาะตะรุเตา และโซน บกในแถบทะเลบันติดชายแดนมาเลเซียไว้เป็นที่ทำมาหากินและอยู่อาศัย"

ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังส่งผลกระทบด้านระบบนิเวศวิทยาด้วย สมบูรณ์ คำแหง หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล พาลงพื้นที่เพื่อให้เห็นว่าส่วนใดบ้างที่จะได้รับความเสียหาย อันดับแรกคือ การขุดทรายชายฝั่งที่บ้านบ่อ 7 ลูก และบ้านหัวหินแห่งละ 10 ล้านคิว เพื่อไปถมที่สร้างท่าเรือ ซึ่งจุดนี้ถือว่าละเอียดอ่อน หน้าดินชายฝั่งเป็น แหล่งอาหารและอนุบาลลูกสัตว์ทะเล ถ้าหน้าดินถูกขุดไปทั้งระบบนิเวศและภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนแปลง ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะเป็นเหมือนเดิม นั่นหมายความว่าจำนวนสัตว์ทะเลก็น้อยลง ไปด้วย แล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง ในที่นี้รวมถึงพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือที่ อยู่ใกล้กับเกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ทั้งป่าชายเลน แนวปะการัง เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเช่นกัน ถ้าสร้างท่าเรือไปแล้วเกิดผลกระทบขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ แล้วระยะเวลากว่าจะทำให้สมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง ที่ชาวบ้านเขาจะใช้พึ่ง พาอาศัยต้องรออีกกี่สิบปี หรือแม้แต่หน้ามรสุมที่ออกเรือไปไกลๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยหน้าอ่าวจับปูปลา ถ้ามีท่าเรือแล้วเขาจะไปจับปูปลาหาเลี้ยงชีพได้ที่ไหน


อีกส่วนหนึ่งที่เดือดร้อนไม่แพ้กันก็คือ การถูกเวนคืนที่ดินสำหรับสร้างทางรถไฟที่บ้านแม่มาลัย โดยชาวบ้านบอกว่าเขามาวัดพิกัด gps ตอกหมุดเรียบร้อย เหลือเพียงเดินหน้าเวนคืนที่ดิน ซึ่งชาวบ้านก็ร้องเรียน ว่าแล้วจะให้พวกเขาไปอยู่กันที่ไหน เพราะที่นี่เป็นบ้าน เป็นผืนดินที่ตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไร่ ทำเกษตรอยู่ตรงนี้ ไล่ที่ไปแล้วเขาจะไปทำอะไร ยังไม่รวมถึงปัญหาการระเบิดภูเขา ที่อาจทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากภูเขาเป็นที่บังลมบังฝน และนำพา ความชุ่มชื้นให้ควบแน่นกลายเป็นฝนตามฤดูกาล ถ้าภูเขาไม่มี การเกษตรของชาวบ้านก็คงเฉาตาย ฯลฯ ทั้งหมดกลายเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจากรัฐ เพราะรัฐไม่เคยวางแผนรองรับในเรื่องนี้ไว้


"ผมคิดว่าสำหรับชาวสตูลแล้ว วิถีการทำประมงชายฝั่ง ทำเกษตรกรรม ปลูกยาง ปลูกปาล์ม และการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนสตูลได้อย่างไม่อด อยาก ไม่เหมือนแผนพัฒนาที่รัฐโยนมาให้เหมือนถูกหวย แต่กลายเป็นหวยที่ชาวบ้านไม่ได้เงิน ไม่ได้อะไรเลย แถมยังถูกกินเรียบอีกต่างหาก แต่ยังโชคดีที่ว่าช่วงนี้การเมืองไม่นิ่ง ทำให้รัฐเดินหน้าโครงการลำบาก เชื่อว่าหากบ้านเมืองสงบ โครงการแลนด์บริดจ์จะไปไกลกว่าที่คิดแน่นอน หนทางรับมือในตอนนี้ชาวบ้านก็ได้แต่เฝ้าระวังเท่านั้น"


ขอบคุณข้อมูลจาก....http://www.thaipost.net/sunday/110710/24691
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 22-02-2011 เมื่อ 11:43
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 22-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เสียงจากคนท้องถิ่นต่อ "เมกกะโปรเจ็คต์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา"



“สตูล” เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เกาะหลีเป๊ะ อุดมไปด้วยแหล่งดำน้ำชมปะการังที่สวยงามขึ้นชื่อ หรือจะข้ามไปเที่ยวเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย รวมถึงวิถีชาวประมงพื้นบ้าน โดยมีท่าเรือปากบารา เป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเกาะต่างๆ นักเดินทางจำนวนไม่น้อยหลงเสน่ห์เมืองที่มีธรรมชาติสวยงามและเงียบสงบ บรรยากาศวิถีชีวิตที่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมไทย-มุสลิม ทว่าภาพที่สวยงามของสตูลที่เคยตราตรึงใจนักเดินทางอาจจะกลายเป็นอดีต เพราะว่า...

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่พื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล หากนึกถึงภาพท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ใกล้เคียง ก็น่าจะทำให้เห็นภาพในอนาคตที่จะเข้ามาแทนภาพความสงบสุขของปัจจุบันที่เป็น วิถีชีวิตแบบชุมชนประมงชายฝั่ง แล้วเมืองสตูลที่เงียบสงบก็จะถูกปลุกให้ตื่นด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาปิโตรเคมี

ขณะนี้เมกกะโปรเจ็คต์ชุดนี้ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี(ขน.) กระทรวงคมนาคม เจ้าของโครงการนี้ กำลังรอคอยผลการพิจารณาอนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)

ในขณะที่รอผลการพิจารณาขน.ดำเนินการออกแบบการก่อสร้างควบคู่กันไป และคาดหมายว่าทันทีที่สผ.อนุมัติ EIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ขน.ก็พร้อมจัดประกวดราคาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทันที มีข่าวเล่าลือมาว่ากลุ่มทุนดูไบเวิลด์ แห่งรัฐดูไบ (คล้ายกับกลุ่มทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์) ก็เฝ้าติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพราะลงนามใน MOU ร่วมกับกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ออกเงินแบบ”ให้เปล่า”แก่กระทรวงคมนาคมในการจัดทำผลการศึกษาและออกแบบ โครงการนี้ ประมาณ 200-300 ล้านบาท

ที่น่าตื่นตระหนกคือ ขณะนี้ถนนทางเข้าท่าเทียบเรือปากบารา ตอนที่ 1 สร้างเสร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน โดยกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ราวกับว่าโครงการนี้เป็น”ของขวัญ”สำหรับชาวสตูลอย่างแน่นอน

เสียงเล่าลือดังมาจากแวดวงภาคประชาสังคมว่า ขณะนี้ กลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และนักการเมืองท้องถิ่น ได้ขยับตัวเพื่อเตรียมรับกับโครงการนี้แล้ว

แล้วผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตตรงที่ตั้งโครงการรับรู้อะไรเกี่ยวกับโครงการ นี้มากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลที่รอบด้านพอที่จะตัดสินใจต้อนรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เรียกรวมกัน ว่า”ความเจริญ”



นายชูพงศ์ หวันสู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อ.ละงู กล่าวแสดงความเห็นว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับข้อมูลกันน้อยมาก ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาเคยมาชี้แจงถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกนี้ แต่ผู้ที่เข้ารับฟังเป็นพวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกอบต. โตะอิหม่าม ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้รับรู้ และผู้ที่เข้ารับฟังข้อมูลก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อหาโครงการอย่างละเอียดว่า สร้างแล้วชาวบ้านได้-เสียอะไร การประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้โดยทั่วกันก็ไม่มี

สิ่งที่เค้าชี้แจงว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็คือท้องถิ่นได้ภาษีมากขึ้น หลายล้าน ซึ่งก็ยังประเมินไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหนใน พื้นที่ การพัฒนาถนน หนทาง ความเจริญจะเข้ามา แต่ตนเองก็ทราบว่าถ้าโครงการเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมตามมา มีมลพิษ ซึ่งถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหา แต่เราก็ไม่ไว้ใจเลย

ทั้งนี้นายก อบต. ปากน้ำ ยังกล่าวด้วยว่า เสียงชาวบ้านที่นี่ก็มีทั้ง 2 ฝ่าย แต่ฝ่ายอยากได้เยอะกว่า เพราะอยากให้ต.ปากน้ำ‘เจริญ’ คนที่นี่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน ได้เฉลี่ยประมาณวันละ 500 บาทต่อคน อยากให้ลูกหลานที่เรียนหนังสือสูงๆได้มีงานทำ แต่ความเจริญที่เข้ามาก็ต้องกระทบกับอาชีพประมงพื้นบ้าน ร้านอาหารคาราโอเกะ ขายเหล้า ที่กระทบวัฒนธรรมชุมชนมุสลิม นั่นคือสร้างขึ้นมาก็มีทั้งดี และเสีย เราในฐานะผู้นำท้องถิ่น เราก็ต้องเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ เพราะบ้านเราเมืองประชาธิปไตย

ด้านนายสุมาตรา แซะอาหลี ประธานกลุ่มโฮมสเตย์อนุรักษ์บ้านปากบารา ให้ความเห็นว่า โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกกระทบต่อเราอย่างมากแน่นอนเพราะว่าคนมาเที่ยวต้อง การมาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ใช่มาดูโรงงานอุตสาหกรรม และในกลุ่มโฮมสเตย์ของเรายังเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง และกลุ่มประมงชายฝั่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เราจัดให้นักท่องเที่ยวได้ไปเรียนรู้ ที่สำคัญบริเวณที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกจะติดกับเกาะเขาใหญ่ ซึ่งก็เป็นจุดที่เราจะพาคณะนักท่องเที่ยวไปแวะเล่นน้ำ รับประทานอาหาร

หากคิดประเมินเป็นตัวเลขความสูญเสียแล้ว นายสุมาตรา กล่าวว่า กลุ่มเรากำลังเริ่มต้นทดลองทำ นักท่องเที่ยวที่เราคาดว่าจะรับคือเดือนละประมาณ 20 คน ขณะนี้บ้านที่เป็นสมาชิกได้รายได้เดือนละ 8,000 ถึง 12,000 บาท ซึ่งอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นตามความสามารถการจัดการของชุมชน นอกจากนี้ยังมีรายได้ในส่วนมัคคุเทศก์เยาวชน ได้วันละ 500 บาทต่อคน

ประธานกลุ่มโฮมสเตย์อนุรักษ์บ้านปากบารา ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่า ในนามชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่อยากให้สร้าง ไม่ใช่เพราะต้องสูญเสียรายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่เพราะว่าความเป็นธรรมชาติที่ดั้งเดิมดีกว่าตัวเลขจีดีพีที่ขยายมากขึ้น มีโครงการแล้ว คนที่นี่จะมีสุขภาพที่แย่ลง เยาวชนที่มาเป็นมัคคุเทศก์ก็จะกลายเป็นแค่ยามเฝ้าตู้คอนเทนเนอร์ เฝ้าหน้าโรงงาน ตกเย็นก็จับกลุ่มกินเหล้าขาว ไม่ได้มีค่าอะไรต่อการพัฒนาคนท้องถิ่นเลย

สำหรับในมุมมองของคนบ้านๆทั่วไป นายยุมอาด ขวัญทอง ชาวบ้านปากบารา ม.2 ต.ปากน้ำ คนวัยหนุ่มผู้มีอาชีพหากินในทะเลตามแบบอย่างรุ่นพ่อ-แม่ บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ว่า เคยได้ยินโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก และเคยเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ เค้าว่ากันว่าจะสร้างปีหน้า แต่ที่รู้ๆก็ฟังต่อๆกันมาจากชาวบ้านด้วยกัน

เมื่อถามว่าต้องการไหมโครงการนี้ พรานทะเลคนนี้ ให้ความเห็นว่า มีหรือไม่มีก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ เพราะตัวเองตอนนี้ก็ไม่ได้รู้ข้อมูลมากพอที่จะไปตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอาดี แต่ที่แน่ๆคือถ้ามีท่าเรือจริงกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านแน่นอน เพราะบริเวณที่จะก่อสร้างก็เป็นจุดหาปลาของชาวประมง

ด้านรายได้ นายยุมอาด กล่าววว่า สามารถออกเรือมีทั้งปี ปู ปลาที่จับได้ก็เปลี่ยนไปตามแต่ช่วงฤดูมรสุมและกระแสน้ำ ดังนั้นรายได้ก็ไม่แน่นอนตั้งแต่แบบกลับบ้านมือเปล่าจนสูงถึง 3,000 บาทต่อวัน และก็ยังมีกระชังเลี้ยงปลากะพง ปลาเก๋า ซึ่งก็คงต้องได้ผลกระทบตามไปด้วย

หากวันหน้าพื้นที่ที่นี่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม มีงานให้ทำในโรงงาน และในท่าเรือ จะเข้าไปทำงานไหม? นายยุมอาด ตอบว่า ไม่รู้ว่าความสามารถ ความรู้แบบเราเค้าจะรับไหม ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่ถ้าถามว่าหากให้เลือก ก็ขอเลือกทำกินในทะเลดีกว่า ไม่อยากทำงานรับจ้างในโรงงาน แบบว่าเรามีอิสระกว่า

จากความเห็นของคนในท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าพอจะมองเห็นข้อดี-เสีย แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เลือก ”รับ” บนฐานการตัดสินใจที่ขาดข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน เพราะเชื่อว่าความเจริญจะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น คนส่วนน้อยที่เห็นต่าง ผู้นำท้องถิ่นที่ควรมีบทบาทชี้นำให้ชาวบ้านทั่วไปเดินไปบนทิศทางที่ดีงาม กว่า ก็ต้องยอมให้กับหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมาก.

ขอบคุณข้อมูลจาก...http://www.souththai.org/index.php?o...d=53&Itemid=27
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:09


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger