#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย อนึ่ง เมื่อเวลา 01.00 น.ของวันนี้ (1 มิ.ย. 67) พายุโซนร้อน "มาลิกซี" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ในขณะที่พายุดีเปรสชันปกคลุมบริเวณด้านตะวันออกของเกาะไหหนาน ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 2 - 6 มิ.ย. 67 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนืออย่างช้า ๆ คาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในคืนวันที่ 31 พ.ค. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 1 ? 2 มิ.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ "มาลิกซี" ฉบับที่ 4 (111/2567) เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (1 มิ.ย. 67) พายุโซนร้อน "มาลิกซี" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว และเมื่อเวลา 04.00 มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ผวจ.สงขลายันไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีรื้อถอนเครื่องมือโพงพาง ผวจ.สงขลา ชี้แจงกรณีถูกบุคคลอ้างเป็นตัวแทนชาวสงขลาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดี ม.157 จากปัญหาการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ยืนยัน ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน พร้อมหาช่องทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีนายสมโภช โชติชูช่วง อดีตรอง ผวจ.กระบี่ แจ้งความ ม.157 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กรมประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลาและกองกำกับการตำรวจน้ำสงขลา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากปัญหาการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา หลังชะลอการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางโดยไม่มีกำหนด จากเหตุชาวประมงที่ใช้เครื่องมือโพงพางร่วมกันชุมนุมประท้วงปิดท่าแพขนานยนต์ โดยเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา จากกรณีที่มีบุคคลอ้างเป็นตัวแทนชาวสงขลาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา กล่าวหา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา และตำรวจน้ำ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาโดยรวม กรณีการสร้างโพงพางและสิ่งกีดขวาง ตลอดจนการใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ทะเลสาบสงขลานั้น นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จึงเชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดสงขลาได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายอำเภอ ประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากข่าวที่ออกมา ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร เพราะที่ผ่านมาทุกภาคส่วนในจังหวัดสงขลาทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่เป็นข่าว ตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งก็ได้รับข้อร้องเรียนเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้เชิญส่วนราชการทั้งประมง เจ้าท่า ศรชล. ตำรวจน้ำ ตำรวจ และหน่วยอื่นๆ มาพูดคุยหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เนื่องจากทราบดีว่า อดีตเคยมีการเข้ารื้อถอนโพงพางในทะเลสาบสงขลาไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายโพงพางก็กลับมาเหมือนเดิม และยังเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันในพื้นที่ ผลการหารือในวันนั้น อัยการจังหวัดแนะนำว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเป็นระบบ ลดการปะทะ จึงเสนอให้นำปัญหาโพงพางเข้าดำเนินคดีตามกฎหมายทั่วไป คือ ให้ประมงจังหวัด และเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ต่อมาวันที่่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ประมงจังหวัดสงขลา ได้ออกคำสั่งทางปกครอง ปิดประกาศให้รื้อถอนเครื่องมือประมงโพงพางที่ทำประมงในร่องน้ำทะเลสาบสงขลา แจ้งให้เจ้าของโพงพางทราบ โดยให้ทำการรื้อถอนออกจากร่องน้ำภายใน 15 วัน หลังจากปิดประกาศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 จากนั้น นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต 5 ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับชาวประมง โดยขอเวลา 90 วัน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 จังหวัดได้แจ้งให้ประมงจังหวัดพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางประมง ได้ออกคำสั่งชะลอเวลาออกไปเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 แต่การเจรจาก็ไม่เป็นผล ประมงจังหวัดและเจ้าท่าจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ลักลอบใช้เครื่องมือประมงโพงพาง ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 มาตรา 67 (1) โดยได้นำคำสั่งต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วใช้ในการยื่นประกอบสำนวน จึงชัดเจนว่าเป้าหมายหลักของจังหวัดสงขลา แท้จริงแล้วคือการรื้อถอนประมงผิดกฎหมายออกจากทะเลสาบสงขลา โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ถัดมา จังหวัดสงขลาได้ทำหนังสือ จำนวน 7 ฉบับ นำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงไปยัง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมประมง และอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการปัญหาเชิงนโยบายให้ครอบคลุมทุกมิติในระยะยาว โดยใจความสำคัญในหนังสือมี 2 ประการ คือ 1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 2) เพื่อให้พิจารณาช่องทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านตามสมควร วันที่ 25 พ.ค. 2567 ตำรวจน้ำ กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ ได้เข้าบังคับใช้กฎหมายจับกุมชาวประมงโพงพาง 2 ราย ขณะทำการประมงจับสัตว์น้ำด้วยโพงพาง เนื่องด้วยเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยอายัดของกลางเรือ 2 ลำ และโพงพางขณะทำการประมงไว้ 26 พ.ค. 2567 ชาวประมงบ้านหัวเขา รวมตัวปิดท่าแพขนานยนต์ เรียกร้องขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตนจึงมอบหมายให้นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอสิงหนคร ประมงจังหวัด เจ้าท่าภูมิภาค และตำรวจร่วมตั้งโต๊ะเจรจา ขอให้สลายการชุมนุมเปิดท่าแพขนานยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนส่วนรวม จนเวลาล่วงเลยมาถึงเย็น สภ.สิงหนคร ต้องบังคับใช้กฎหมายประกาศให้สลายการชุมนุมในคืนดังกล่าว โดยหลักๆ ในวันนั้นชาวประมงเรียกร้องขอประกันคน ประกันเรือ 2 ลำที่ถูกจับกุม เช้าวันที่ 27 พ.ค. 2567 ชาวประมงยอมสลายการชุมนุม เปิดท่าแพขนานยนต์ให้กลับมาให้บริการได้ ยอมส่งตัวแทน จำนวน 20 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อร่วมหารือทางออก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเองก็ได้ย้ำชัดว่า ในเรื่องคดีส่วนไหนที่ผิดกฎหมายก็ยังคงต้องดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ขอให้มั่นใจว่าจังหวัดจะไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับชาวประมง สำหรับข้อเสนอหลักๆ จากการพูดคุย 1) ชาวประมงขอให้มีการกำหนดเขตร่องน้ำให้ชัดเจน 2) การขอทำเขตประมงพิเศษ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจังหวัด แต่ก็จะเสนอรัฐบาลให้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป้าหมายเดียวของจังหวัดสงขลา คือ การจัดระเบียบทะเลสาบสงขลา ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยปราศจากความรุนแรง แต่เพราะเป็นปัญหาเรื้อรั้งทุกขั้นตอนจึงต้องอาศัยเวลาเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยังกล่าวอีกว่า ตนเกิดที่จังหวัดสงขลา โตที่จังหวัดสงขลา เป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ชีวิตทั้งหมดผูกพันอยู่กับจังหวัดสงขลา ชีวิตการทำงานตั้งแต่สมัยเป็นปลัดอำเภอ เมื่อปี 2531 เรื่อยมา ก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชามาโดยตลอด จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาตนทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้อง ยึดหลักกฎหมาย ยึดมั่นในระเบียบราชการ ตระหนักถึงการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา ในประเด็นนี้จึงขอยืนยันว่า ตนและหน่วยงานในจังหวัดสงขลาที่ถูกกล่าวอ้างไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน. https://www.thairath.co.th/news/local/south/2789929
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ทช.โชว์เรือดักจับขยะพลังแสงอาทิตย์ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะเยี่ยมชมเรือ Interceptor ?019? เรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการดักจับขยะแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ กรุงเทพมหานคร ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า จากความสำเร็จครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก โดยมีหลายหน่วยงานในประเทศไทยที่ร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมติดตั้งและดำเนินการ Interceptor 019 ในการดักจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ให้การสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลเป็นอย่างดี รวมถึงการศึกษาวิจัยและป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโอกาสในการศึกษาวิจัยระหว่างภาคีเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการขยะทะเลของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แสวงหารูปแบบการจัดการแนวใหม่ องค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาขยะทะเล จะนำไปสู่เครือข่ายอนุรักษ์ที่มีความเข้มแข็งและการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืนสืบไป. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2789701
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
สถาบันป๋วยฯ เปิดบทวิจัย 'Climate Change' ไทยเสี่ยงนํ้าท่วมฉับพลันสลับแล้งหนัก กระทบเศรษฐกิจเร่งปรับตัวทุกมิติ .......... โดย พงษ์พรรณ บุญเลิศ สภาพภูมิอากาศของไทยในอดีตถึงปัจจุบัน พบว่ามีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนาน คาดการณ์ไทยจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง นํ้าท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักยิ่งขึ้น ชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบ กับเศรษฐกิจ 31 พฤษภาคม 2567 สืบเนื่องจากPIER Research Briefเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy)" Climate Change กับเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกันอย่างไร?" โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความ PIERspectivesชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยการรวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศผ่านบทความ PIERspectives นำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกและของไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของ Climate Change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ คุณสวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยให้ข้อมูลงานวิจัย ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คีย์เวิร์ดสำคัญคือการติดตามสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ส่วนใหญ่จะมองต่อเนื่องนับแต่หนึ่งทศวรรษขึ้นไป "อุณหภูมิโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่แกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนที่เร่งให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งแต่ละพื้นที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ทุกภาคร้อนขึ้นโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก ที่น่าสนใจอุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงกลางวันจะร้อนขึ้น ช่วงกลางคืนก็อุ่นขึ้น ถ้าย้อนดูข้อมูลที่ผ่านมา ไม่ใช่ฝนตกมากขึ้น แต่จำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง และระยะเวลาฝนตกต่อเนื่องลดลง สิ่งนี้เป็นสัญญาณของภัยแล้ง และนั่นหมายความว่า จากที่จะเห็นฝนตกติดต่อกันหลายวัน จะน้อยลง ฤดูฝนจะสั้นลง และฝนตกแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อนํ้าท่วมฉับพลันสลับกับภัยแล้ง คาดว่า ประเทศไทยในอนาคตมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นและหน้าร้อนยาวนานขึ้น สลับกับปัญหาเรื่องของนํ้าท่วมฉับพลันและภัยแล้ง" โดยเหล่านี้เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการนํ้า หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดร.กรรณิการ์ให้ข้อมูลอีกว่า จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหากไม่เร่งร่วมมือแก้ไข ไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ฯลฯ คาดว่า มีโอกาสที่อุณหภูมิประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นและถ้ามองไปในอนาคต ความสุดขั้วของอุณหภูมิมีแนวโน้มแผ่กระจายไปในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ร้อนเข้มข้นมากขึ้น ร้อนนานขึ้น ช่วงฤดูร้อนมีแนวโน้มจะขยายยาวออกไป โดยสรุปประเทศไทยในอนาคตมีความเสี่ยงต่อปัญหานํ้าท่วมฉับพลัน สลับกับปัญหาภัยแล้ง ในแง่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ Climate Change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เงินเฟ้อและความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจ จากบทความตอนแรกสถานการณ์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราร้อยเรียงให้เห็นภาพเห็นถึงปัญหาโดยสามารถอ่านฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์สถาบันฯอย่างที่ใกล้ตัวภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยภาคการเกษตรต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว อุณหภูมิที่พอเหมาะที่ทำให้ข้าวออกรวงเติบโตโดยต้องไม่สูงจนเกินไป ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนจะส่งผลกระทบกับผลิตผลของข้าว ขณะที่ปศุสัตว์ก็เช่นกัน ผลผลิตจากสัตว์ลดลง หรือขณะที่นํ้าท่วม พืชผลเสียหายก่อนเก็บเกี่ยว หรือความเป็นกรดด่างในนํ้าทะเล มีผลต่อเนื่องไปยังเรื่องปะการังฟอกขาว อุณหภูมิสูงยังส่งผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงานไทย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งตัวอย่างในภาคบริการก็ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ Climate Change ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตใจ "ผลกระทบของ Climate Change ต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว พบว่า แต่ละภาคได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ครัวเรือนได้รับผลกระทบจาก Climate Change เช่นกัน ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน" นอกจากนี้ความเสี่ยงทางกายภาพจาก Climate Change และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ Climate Change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง "Climate Change" ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งฝั่งอุปสงค์รวม และฝั่งอุปทานรวม กระทบต่อระดับราคา ภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มีความเปราะบาง และมีความสามารถในการรับมือต่อ Climate Change ที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า และการปรับตัวต่อ Climate Change ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้าน Climate Change https://www.dailynews.co.th/news/3484139/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ปลาอะไร? ยืนเรียงแถวให้ถ่ายภาพอยู่ริมหาด เจ้าของโพสต์แจงวุ่นไม่ได้ทารุณ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอขณะที่เจ้าตัวอยู่ที่บริเวณริมทะเล อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช พบปลากลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะแปลกตา จึงนำมาถ่ายคลิปและรูปภาพเก็บไว้ ก่อนนำมาโพสต์สอบถามในกลุ่ม นี่ตัวอะไร โดยระบุเป็นข้อความว่า "น้องคือปลาอะไรครับ ทำไมมีขาตั้งแหลมๆ พบน้องที่ ขนอม นครศรีธรรมราช" เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มียอดกดไลค์แล้วกว่า 2.3 พันครั้ง และมีผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก "ปลาวัวครับ" "บ้านผมเรียกปลาวัว สงขลา" "ปลาวัวจมูกสั้นไหมครับ" "แล้วมันขึ้นมายังไงแล้วมันลงยังไงมันเดินได้เหมือนปลาตีนไหม" "ยืนเหนื่อยไหมน้อง" จนมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาให้ข้อมูล โดยระบุเป็นข้อความว่า ปลาดังกล่าว คือ "กลุ่มปลาวัวสามเขา/ปลาวัวหนาม (Tripodfish) เป็นกลุ่มปลาวัวขนาดเล็ก อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำ มีก้านครีบแข็งอยู่ที่ครีบหลังอันแรกและตรงครีบท้องใช้กางออกเพื่อป้องกันตัว ปลากลุ่มนี้สามารถนำมาบริโภคได้ ส่วนปลาวัวชนิดที่มีเหตุจู่โจมนักดำน้ำคือ ปลาวัวไททัน หรือ ปลาวัวหน้าลาย (Titan triggerfish) เป็นปลาวัวขนาดใหญ่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง มีนิสัยหวงอาณาเขต แต่บางพื้นที่ปลาชนิดนี้ก็ไม่ก้าวร้าวครับ" ส่วนที่เห็นปลาตั้งอยู่เหมือนยืนด้วยสองขานั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่า "ปลาชนิดนี้จะกางเงี่ยงที่บริเวณครีบท้องเพื่อป้องกันตัว แล้วมีคนจับปลามาตั้งไว้ครับ"? ภายหลังเจ้าของโพสต์ได้กลับมาแก้ไขโพสต์อีกครั้งโดยเพิ่มเนื้อหาอัพเดตข้อมูลภายหลังที่มีผู้คนเข้ามาคอมเมนต์สอบถามเป็นห่วงความปลอดภัยของน้องปลา กลัวว่าหากอยู่บนบกนานอาจจะ 'ตุย'?ได้ อาทิ "ช่วยชีวิตน้อง ด้วยการช่วยเอาน้องลงน้ำด้วยนะคะ" "ใครแกล้งเอาน้องมาตั้ง" "ที่ยืนอยู่ ตุยแล้วเหรอคะ นิ่งมาก" โดยเจ้าของโพสต์ได้มาเพิ่มเนื้อหาอัพเดต โดยระบุเป็นข้อความว่า "Update : ในคลิป ปลาตัวสุดท้ายด้านบนจะเห็นเส้นแดงๆ และมีตาข่ายนะครับ น้องติดอวนชาวประมงขึ้นมา ผมออกมาจากโรงแยกก๊าซ (เวลาพักเที่ยง) เดินมาเจอเลยช่วยแกะน้องออกจากอวนแล้วปล่อยลงทะเลแล้วครับ ส่วนที่เอามาถ่ายรูปคือผมไม่รู้จักน้องและหน้าตาน้องแปลก แถมมีขาแข็งๆ ด้วย เลยถ่ายรูป เสร็จแล้วปล่อยลงทะเลแล้วทุกตัวครับ" https://www.matichon.co.th/social/news_4604238
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews
ลดโลกร้อนเป็นเรื่องที่ต้องทำตอนนี้ เพื่อเป้าหมาย Net Zero ........... โดย THOT LIMSODSAI SHORT CUT - ผอ.กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก เผยว่า ประเทศไทยต้องปรับใช้เทคโนโลยีลดโลกร้อนให้สอดคล้องและไม่กระทบต่อประชาชนและเอกชน - ประเทศไทยตั้งเป้า Net Zero ในปี 2065 เพราะหวังได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติด้วย - การลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่เรื่องเห็นผลทันที แต่ทุกภาคส่วนต้องเริ่มทำทันที "การลดก๊าซเรือนกระจก เราทำวันนี้ ไม่ได้วันพรุ่งนี้ แต่เราทำวันนี้เพื่ออีก 20-30 ปีข้างหน้า" ผอ.ศิวัช ชี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อเป้าหมาย Net Zero ศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในเวทีสัมมนา Innovation Keeping the World 2024 ว่า เป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในระดับโลก ทั้ง Cop26 และ Cop28 คือสิ่งที่ทุกประเทศจะต้องนำมาพิจารณาให้ตรงกับบริบทด้วย ว่าจะกระทบต่อภาคเอกชนและภาคประชาชนมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนร่วมกันไปกับภาครัฐ ซึ่งในตอนนี้ต้องยอมรับว่าเรามีเทคโนโลยีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบทั้งหมดแล้ว แต่จะนำมาใช้ต้องพิจารณาว่าจะเหมาะสมกับประเทศเราหรือไม่ ศิวัช ยกตัวอย่าง ราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อ 5 ปีที่แล้วคงไม่มีใครซื้อเพราะราคาสูงมาก แต่ตอนนี้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงมาจนคนสามารถซื้อหากันได้แล้ว หรือในเทคโนโลยี Blue Hydrogen ที่เริ่มมีการลงทุนมากขึ้น แต่ถ้าจะไปถึง Green Hydrogen เลยก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่มากอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) จึงจำเป็นต้องค่อยๆทำ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเอกชนและประชาชนน้อยที่สุด ดังนั้นในช่วงปี 2050 จึงเป็นกำหนดเวลาของทั่วโลกที่จะไปถึง Net Zero แต่ในประเทศไทยกำหนดไว้ในปี 2065 เพราะเราหวังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นนอกจากการเร่งแล้วเราต้องการการสนับสนุนเพื่อให้ภาคเอกชนมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ด้วย ศิวัช กล่าวว่า ในปี 2021-2030 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 5 อุตสาหกรรมได้แก่ พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย และเกษตร เรามีแผนที่ต้องขับเคลื่อนให้ได้ใน 10 ปีนี้ โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว และรอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในบางส่วนเพื่อลดภาระของภาคเอกชน โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่มาปรับใช้แล้ว เช่น Heat Battery ที่จะช่วยนำความร้อนมาผลิตพลังงานนอกจากการใช้แสงจากโซลาร์เซลล์, โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย, การดักจับคาร์บอนจากอากาศและผลผลิตทางการเกษตร, Hydraulic Cement เป็นปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน, การปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย, การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากรถเมล์ EV เป็นต้น "การลดก๊าซ เราทำวันนี้ ไม่ได้วันพรุ่งนี้ แต่เราทำวันนี้เพื่ออีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กันไป เช่น น้ำท่วม ที่ต้องเตรียมแผนรองรับเอาไว้ก่อนจะเกิดวิกฤต" ผอ.กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา เช่น ไม่เปิดแอร์หนาวเกินไป ลดการใช้พลาสติก ภาคเอกชนต้องรู้ตัวเองปล่อยเท่าไรและวางแผนลดให้ได้ ส่วนภาครัฐพร้อมสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักนำไปสู่การลดคาร์บอนในที่สุด https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850724
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|