เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 18-01-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 18 มกราคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากลมแรงและสภาพอากาศแห้งในระยะนี้

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมากคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวเย็นต่อเนื่อง

ในช่วงวันที่ 18 - 23 ม.ค. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงค่อนข้างแรง ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกถึงหนักมากหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20 ? 23 ม.ค. 66 ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 -3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากลมแรงและอากาศแห้งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 18-01-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เวลามีเสียงหนวกหู โลมาต้องตะโกนดังกว่าเดิม และมันคงอยากบอกว่า "คุยกันไม่รู้เรื่องโว้ย" ................ Thairath Plus Nature Matter



- เมื่อโลมาเจอเสียงดังๆ ที่มาจากมนุษย์ โลมาต้องปรับพฤติกรรมการส่งเสียงของพวกมันเอง โดยต้องส่งเสียงดังขึ้น และยาวนานขึ้น

- การทดลองในโลมาที่ถูกฝึดมาอย่างดี ต้องสื่อสารกันเพื่อทำภารกิจร่วมกัน เมื่อมีเสียงดังรบกกวน โอกาสความสำเร็จของภารกิจนั้นจะลดลง

- ในชีวิตจริง โลมาตามธรรมชาติไม่ไ้ด้ถูกฝึกให้ทำงานร่วมกันอย่างเคร่งครัดเหมือนตัวที่ใช้ทดลอง และเมื่อเผชิญหน้ากับเสียงดังๆ อย่างเรือเดินสมุทรทุกวัน ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพในระดับประชากรได้


ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ต้องการความเงียบ เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างหูฟังแบบ noise canceling อาจช่วยชีวิตคุณจากเสียงดังได้ แต่กับสัตว์โลกอื่นๆ หูฟังตัดเสียงอาจไม่ใช่คำตอบ โลมาก็เช่นกัน และเมื่อมีเสียงดังๆ รบกวน ถ้ามีคิ้ว โลมาอาจคิ้วขมวด เพราะมันต้องตะโกนคุยกัน

"สองสามทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์สร้างเสียงต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมหาสมุทรก็ไม่ใช่พื้นที่ยกเว้นสำหรับมลพิษทางเสียง" เพอร์นิลล์ โซเรนเซน (Pernille S?rensen) จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยบริสตอล หัวหน้าทีมวิจัย บอกไว้แบบนั้น

"ยกตัวอย่างเช่น หากฝูงสัตว์ในป่ามีประสิทธิภาพในการหาอาหารร่วมกันน้อยลง สิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกมัน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อสุขภาพของประชากร" สเตฟานี คิง (Stephanie King) ผู้ร่วมวิจัย กล่าวเสริม

ทีมจากมหาวิทยาบริสตอล พยายามจะบอกว่า เมื่อโลมาเจอเสียงดังๆ ที่มาจากมนุษย์ แน่นอนว่าพวกมันไม่สามารถบอกให้เราลดเสียงลงได้ จึงต้องปรับพฤติกรรมการส่งเสียงของพวกมันเอง

เพื่อคลายความสงสัยและพิสูจน์สมมติฐาน ทีมได้เดินทางไปทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยโลมา ฟลอริดา สหรัฐฯ โดยผู้ร่วมการทดลองคือ โลมาปากขวด (bottlenose dolphin) เพศผู้ 2 ตัว ที่ถูกฝึกมาอย่างดี คือ เดลตา กับ รีส ทั้งคู่ติดอุปกรณ์ตรวจวัดเสียงและการเคลื่อนไหวไว้บนหลัง โดยภารกิจที่พวกมันต้องทำร่วมกันคือกดปุ่มในตำแหน่งต่างๆ ภายในเวลาที่ครูฝึกกำหนด

สถานการณ์ที่โลมาต้องทำงานแบ่งเป็น เสียงเบา เสียงปานกลาง เสียงดัง และเสียงดังมากๆ โดยทำการทดลอง 40 ครั้งในแต่ละระดับเสียง

ทีมทดลองบอกว่า "เรารู้จากการศึกษาก่อนหน้านี้ว่ามลพิษทางเสียงส่งผลกระทบต่อสัตว์ แต่จากการศึกษานี้สิ่งที่เราทำเป็นครั้งแรก เพื่อดูว่าเสียงส่งผลต่อการทำงานร่วมกันของสัตว์อย่างไร"

ผลคือ ทุกระดับเสียงจากปัจจัยภายนอกที่ดังขึ้น โลมาจะต้องส่งเสียงดังขึ้นและนานขึ้น โดยเสียงรบกวนที่ดังขึ้น 1 เดซิเบล ทำให้เดลตาร้องดังขึ้น 0.14 เดซิเบล นานกว่าเดิม 7.2 มิลลิวินาที ส่วนรีสดังขึ้น 0.08 เดซิเบล นานกว่าเดิม 2.8 มิลลิวินาที

และในเสียงระดับสูงมากๆ 150 เดซิเบล พวกมันต้องส่งเสียงดังขึ้นเกือบ 2 เท่า ที่สำคัญคือ ความสำเร็จของภารกิจที่ต้องทำร่วมกันลดลงจาก 85 เปอร์เซ็นต์เหลือ 62.5 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ รีสและเดลตายังพยายามว่ายไปไกลๆ สุดขอบบ่อ และเข้าใกล้กันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่ว่า การกระทำเช่นนั้นของมันคือตะโกนใกล้ๆ กันเพื่อให้อีกฝ่ายฟังรู้เรื่องมากขึ้นจริงหรือไม่

โซเรนเซน กล่าวว่า แม้จะพยายามตะโกนแล้ว แต่พวกมันก็พบกับความล้มเหลวในการสื่อสาร "แม้พวกมันจะรู้จักการทำงานร่วมกันในภารกิจนี้เป็นอย่างดี แต่เสียงดังๆ ก็บั่นทอนการสื่อสารและประสานงานเพื่อปิดจ็อบให้สำเร็จ"

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Current Biology สรุปถึงความน่ากังวลหากโลมาสื่อสารกันไม่รู้เรื่องว่า เมื่อเจอเสียงรบกวน พวกมันจะไม่สามารถสื่อสารกับเพื่อนที่ออกหาอาหารด้วยกัน แล้วก็จะเกิดความผิดพลาด ส่งผลระยะยาวต่อประชากร

ไม่ใช่แค่โลมาเท่านั้น ที่ต้องเผชิญปัญหานี้ สัตว์ทะเลหลายชนิดที่ใช้เสียงหาตำแหน่งก็ถูกรบกวนเหมือนกัน เพราะมลพิษทางเสียงในมหาสมุทรมีมหาศาล ทั้งการสำรวจก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้าง การขุดเจาะ โดยเฉพาะเสียงจากเรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถดังได้ถึง 200 เดซิเบล

หากย้อนไปดูการทดลอง ขนาดเดลตาและรีสที่ถูกฝึกมาอย่างดียังพลาด โลมาตามธรรมชาติอาจจะพลาดมากกว่านี้ในชีวิตจริงก็ได้


https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/102680

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 18-01-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 'พังงา' เสี่ยงถูกทำลาย



อ่าวพังงาขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลนานาพันธุ์และความสวยงามของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อ่าวพังงาเกิดจากป่าชายเลนอันสลับซับซ้อนและกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดอ่าวพังงาเต็มไปด้วยประมงพื้นบ้าน หนึ่งในแนวทางอนุรักษ์อ่าวพังงาที่ผ่านมา มีการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกทางกฎหมายใช้แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงป้องกันเหตุที่จะซ้ำเติมวิกฤตเกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวพังงาอีก

ล่าสุด ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ.2559 ต่อออกไปอีก 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566

โดยคงสาระสำคัญตามประกาศฉบับเดิมไว้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.พังงา เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ ทส. ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน จ.พังงา รวมทั้งจัดทำร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน

การยืดเวลา 2 ปี บังคับใช้กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 7 อำเภอพังงานี้ เป็นแค่มาตรการเสริมดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะอ่าวพังงา เกาะยาวน้อย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชองชุมชนประมงท้องถิ่นขนาดเล็กที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นธรรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางกฎหมายและขาดมาตรการสิ่งแวดล้อมเฉพาะถิ่น เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพังงาให้เกิดความยั่งยืน

บรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงสภาพปัญหาพื้นที่จังหวัดพังงาว่า พังงาตั้งอยู่ทางใต้ของไทย สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะพื่นที่ในทะเล อย่างอ่าวพังงา มีเกาะแก่งมากมายอยู่ในเขตทะเลน้ำลึก มีพันธุ์สัตว์น้ำที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งวางไข่เต่า สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย ส่งผลให้จังหวัดพังงามีศักยภาพด้านการประมงและการท่องเที่ยวสูง เกิดปัญหาในการจัดการทรัพยากรในทะเล

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลพังงามาจากเครื่องมือทำกาประมงแบบทำลายล้าง ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน บรรจง ให้ภาพชัดๆ ว่า ภาวะทรัพยากรทางทะเลกำลังวิกฤตจากอวนลาก เป็นเครื่องมือประมงที่ทำลายอย่างรุนแรง ปัจจุบันมีอวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ อวนลากข้าง ประมงแบบนี้สัตว์หน้าดินไปหมด มีงานวิจัยผลผลิตจากอวนลากได้แค่ 33% ที่เหลือ67% เข้าโรงงานปลาป่น ต้องหาวิธียกเลิกประมงอวนลาก นอกจากนี้ ยังมีเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ทำให้ลูกปลาทู ลูกปลาหมึก ตัวเล็กตัวน้อยถูกทำลายมหาศาล มีการต้ม ตาก ขาย เต็มตลาดในปัจจุบัน เครื่องทำลายล้างนี้ทำให้ทรัพยากรอ่าวพังงาสูญเสียไปมาก แม้จะกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่การดูแลไม่ทั่วถึง ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมถึงพบการลักลอบทำประมงในเวลากลางคืน กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอ

"ความล้มเหลวในการจัดการทางทะเล จะต้องแก้ปัญหาและทบทวนนโยบายต่างๆ กรณีอวนลากเสนอให้ออกมาตรการไม่ให้มีการต่ออาญาบัตรและไม่ออกทะเบียนเรือเพิ่มเติม เมื่อเรือเก่า 10-15 ปี หมดอายุการใช้งาน อวนลากก็จะหมดไปจากทะเลไทย แต่ที่ผ่านมามาการนิรโทษกรรมเรืออวนลากมาถึง 4 ครั้ง ส่วนเรือปั่นไฟจับปลากะตัก หลังจากที่มีออกประกาศยกเลิกกลับไปทำประมงปั่นไฟได้อีก ยังไม่มีรัฐบาลไหนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ภูเขาหัวโล้นมองเห็นชัด แต่ทะเลโดนถลุง ไม่มีใครเห็น เพราะอยู่ใต้น้ำ" บรรจง กล่าว

ผอ.สถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ประชากรที่ทำอาชีพประมงจะเดือดร้อนขึ้น ทุกวันนี้ประมงพื้นบ้านยาวน้อย ประมงพื้นบ้านป่าครอกที่เคยเลี้ยงตัวเองจากอาชีพประมงได้ ต้องออกจากภาคการประมงสู่ภาคโรงงาน สะท้อนพึ่งพาฐานทรัพยากรในทะเลไม่ได้ ไม่รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่เอาปืนมายิงกันกลางทะเล จากข้อมูลปัจจุบันมีชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศใน 22 จังหวัด รวมพังงา จำนวนถึง 85% ของประชากรที่ทำอาชีพประมง ขณะที่ประมงพาณิชย์มีเพียง 15% ภาครัฐต้องดูแลทั้งฐานทรัพยากรและอาชีพประมงพื้นบ้าน นำความมั่นคงทางอาหารกลับมา

"กลไกทางกฎหมายนอกจากการขยายเวลาบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพย์ เรื่องกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองต่อออกไปอีก 2 ปี อีกกลไกที่ต้องผลักดันเป็นมาตรการตามกฎหมายที่ยังไม่มีรายละเอียด ภาครัฐต้องเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมง ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดขนาดตาอวนกุ้ง หมึก ที่เหมาะสม ส่วนมากตรการกำหนดขอบเขตประมงชายฝั่งต้องอยู่บนหลักการจัดการทรัพยากรและข้อเท็จจริงของสภาพธรรมชาติ ไม่ใช่การยกมือโหวตของคณะกรรมการประมงจังหวัด" บรรจง กล่าวว่า

สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติเกาะยาวน้อย หนึ่งในพื้นที่คุ้มครอง บรรจง กล่าวว่า เกาะยาวน้อยมีชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีความสงบสุขและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ด้วยแนวคิดการนำเสนอวิถีชีวิตชาวประมงในอ่าวพังงาให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวของอ่าวพังงาไปด้วยกัน

"ทุกวันนี้อวนรุนหมดไป เป็นแรงจุงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามา มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็ชื่นชอบวิถีประมงพื้นบ้าน ดูลอบกุ้ง จับปลา ตกหมึก สัตว์น้ำได้เจริญเติบโต ผลผลิตจากทะเลนำมาขายผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร กระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม เป็นการพัฒนาชุมชมในภาพรวม ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน นี่คือ วิธีนำการท่องเที่ยวชุมชนมาบริหารจัดการทรัพยากร ไม่พึ่งแค่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐ" บรรจง เน้นย้ำใช้พลังชุมชนปกป้องทรัพยากรเป็นกุญแจสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาเอกชนสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมต่อโครงการแลนด์บริดจ์รองรับเศรษฐกิจภาคใต้ เพราะการจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก การคมนาคมของภาคขนส่งสินค้า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ตลอดจนมีกิจกรรมรบกวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลักดันโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐพิจารณาให้รอบด้าน และจัดทำรายงาน EIA ที่อยู่บนข้อเท็จจริง

สำหรับสาระสำคัญของการออกประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงาเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดพังงา ให้เกิดความยั่งยืน โดยการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ไม่มีการกำหนดในกฎหมายอื่น เช่น การคุ้มครองแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างแหล่ง พลับพลึงธาร การกำหนดห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงาม การกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน การควบคุมการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงแรมหรือสถานที่พักตาก อากาศในพื้นที่อาเภอเกาะยาว การกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่จะต้องจัดทำรายงาน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นต้น


https://www.thaipost.net/news-update/303187/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:45


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger