#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 4-7 ก.ย. 67 สำหรับพายุโซนร้อน "ยางิ" บริเวณประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีน และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 ? 6 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ หลังจากนั้น ร่องมรสุมกำลังจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 2 ? 3 ก.ย. 67 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ย. 67 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 2 ? 6 ก.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ย. 67 ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 2 (157/2567) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 3-7 กันยายน 2567) ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมินครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ในช่วงวันที่ 4-5 กันยายน 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ยโสธร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ในช่วงวันที่ 6-7 กันยายน 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 4-7 ก.ย. 67 ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวนี้ไว้ด้วย อนึ่ง พายุโซนร้อน "ยางิ" บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีนและเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ช็อก "วาลดิเมียร์" วาฬสายลับรัสเซียชื่อดัง ถูกพบเป็นศพที่นอร์เวย์ วาฬเบลูกาซึ่งเชื่อกันว่าถูกรัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมข้อมูล จนโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ถูกพบเป็นศพในอ่าวนอกชายฝั่งของประเทศนอร์เวย์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วาฬเบลูกาชื่อว่า "วาลดิเมียร์" (Hvaldimir) ถูกพบเห็นครั้งแรกที่นอร์เวย์ ไม่ไกลจากน่านน้ำของรัสเซีย เมื่อปี 2562 โดยบนตัวมันสวมบังเหียนที่ติดตั้งกล้องเอาไว้ จนทำให้เกิดข่าวลือว่า มันถูกรัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมข้อมูล ล่าสุดในที่ 1 ก.ย. 2567 สถานีโทรทัศน์ NRK ของนอร์เวย์รายงานว่า พ่อลูกชาวประมงคู่หนึ่ง พบศพของวาลดิเมียร์ลอยอยู่ในอ่าวริซาวิกา (Risavika) ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ส.ค.) ก่อนจะมีการขนย้ายซากของมันไปยังชาวฝั่งที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ นายเซบาสเตียน สแตรนด์ นักชีววิทยาทางทะเล บอกกับ NRK ว่า บนร่างของวาลดิเมียร์ไม่มีบาดแผลภายนอกขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็น และตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มันเสียชีวิต หลังวาดิเมียร์ถูกพบและปลดอุปกรณ์ออกในปี 2562 มันก็ยังเวียนว่ายอยู่ในน่านน้ำของนอร์เวย์ ซึ่งนายสแตรนด์เป็นผู้สังเกตการณ์การผจญภัยของวาลดิเมียร์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในนามขององค์กรไม่แสวงกำไร "Marine Mind" โดยนายสแตรนด์ระบุว่า เขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการตายของวาฬตัวนี้ "มันเลวร้ายอย่างที่สุด" นายสแตรนด์กล่าว "จนถึงเมื่อวันศุกร์ เขายังดูมีอาการที่ดีอยู่เลย ดังนั้นเราต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น" ทั้งนี้ ชื่อวาลดิเมียร์ เป็นการเล่นคำโดยรวมคำว่า วาฬภาษานอร์เวย์ (Hval) กับ 2 พยางค์หลังของชื่อวลาดิเมียร์ ปูติน มารวมเข้าด้วยกัน วาลดิเมียร์ วาฬเบลูกาความยาว 4.2 ม. หนัก 1,225 กก. ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยนักประมงที่ออกหาปลาใกล้กับเกาะอินโกยา (Ingoya) ทางเหนือของประเทศ ไม่ใกลจากเมืองฮัมเมอร์เฟสต์ โดยบนตัวของมันสวมบังเหียนที่ติดตั้งกล่องขนาดเล็กเอาไว้ และบนเข็มขัดมีคำว่า "Equipment St Petersburg" สลักอยู่ เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดข่าวลือว่า เจ้าวาฬเบลูกาตัวนี้เป็นวาฬสายลับของรัสเซีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาอ้างในตอนนั้นว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ากองทัพเรือรัสเซียเคยฝึกฝนวาฬ สำหรับใช้งานเพื่อเป้าหมายทางทหาร แต่บางคนก็ตั้งทฤษฎีว่า มันอาจถูกฝึกเพื่อใช้เป็นสัตว์บำบัดก็เป็นได้ วาลดิเมียร์ถูกพบเห็นอีกหลายครั้งที่นอกชายฝั่งของนอร์เวย์ และเป็นที่ชัดเจนอย่างรวดเร็วว่า มันเชื่องมาก และสนุกกับการได้เล่นกับผู้คน ด้าน Marine Mind ระบุบนเว็บไซต์ของตัวเองว่า วาลดิเมียร์สนใจมนุษย์มาก และตอบสนองต่อสัญญามือได้ดี ซึ่งจากข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้พวกเขาคาดว่า วาลดิเมียร์อาจเคยถูกจับเอาไว้ ก่อนจะข้ามทะเลรัสเซียมาจนถึงนอร์เวย์ ที่มา : the guandian https://www.thairath.co.th/news/foreign/2811983
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ฤดูทำประมงในมณฑลกวางตุ้งเริ่มขึ้นแล้ว ฤดูทำประมงในมณฑลกวางตุ้งเริ่มขึ้นแล้ว คาดว่าในปีนี้มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์และแปรรูปอาหารทะเลของจ้านเจียง จะมีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท ผู้คนต่างมุ่งไปที่ตลาดอาหารทะเลในเมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง เพื่อซื้ออาหารทะเลชุดแรกของปี เฉลิมฉลองฤดูทำประมงรอบใหม่ ทะเลจีนใต้และบางส่วนของทะเลจีนตะวันออก คึกคักไปด้วยเรือประมง หลังจากการปิดน่านน้ำห้ามทำประมง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-15 สิงหาคม เป็นเวลา 3 เดือนครึ่ง สิ้นสุดลง ที่ Xiashan Dongdi ตลาดค้าส่งสัตว์น้ำ ในเมืองจ้านเจียง มีปูที่เพิ่งจับมาสดๆ ปลานานาชนิด และอาหารทะเลอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวจากกว่างโจวบอกว่า พาลูกๆ มาตลาดอาหารทะเลเพื่อซื้ออาหารทะเลสดๆ นำไปทำอาหาร ขณะที่นักท่องเที่ยวจากฉงชิ่งบอกว่า มาที่นี่เป็นครั้งที่ 2 และโชคดีที่มาช่วงเปิดฤดูทำประมงพอดี ทำให้ได้เลือกอาหารทะเลสดจำนวนมากในราคาสมเหตุสมผล ท่าเรือบริเวณนี้ คึกคักตลอดทั้งคืนจนถึงตีสาม He Wei ผู้อํานวยการศูนย์บริการประมงและท่าเรือเขตเซียชาน (Xiashan) กล่าวว่า จะมีเรือประมงเทียบท่าตลอดทั้งคืนเพื่อขนถ่ายสินค้า โดยเรือประมงสามารถบรรทุกอาหารทะเลได้ 300-400 กล่อง น้ำหนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม ในปี 2023 มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์และแปรรูปอาหารทะเลของจ้านเจียง มีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่า ในปีนี้น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท เครดิต China Media Group (CMG) https://www.dailynews.co.th/news/3816132/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
วอนชาวภูเก็ตอย่ารบกวนพะยูน ฝากดูแลพะยูนเป็นอย่างดี หลังพบฝูงใหม่อีก 4 ตัว หน่วยวิจัยหญ้าทะเลฯ วอนชาวภูเก็ตอย่ารบกวนพะยูน ฝากดูแลพะยูนเป็นอย่างดี หลังพบฝูงใหญ่อีก 4 ตัว มั่นใจเป็นกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาจากที่อื่น หลังพบหญ้าชะเงาใบยาวที่ป่าคลอกถูกกิน ใบกุดสั้นปลายใบมีรอยตัดขาด วันนี้ (1 ก.ย.) เฟซบุ๊ก "Ning Supanwanid" หรือ หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "จดหมายถึงชาวภูเก็ต วันนี้ได้ข่าวจากการแชร์ fb ถึงการพบพะยูนที่ป่าคลอก ภูเก็ต ตามลิงก์และภาพโพสต์ fb ด้านล่างค่ะ เลยอยากเอาภาพหญ้าชะเงาใบยาวที่ป่าคลอก ในช่วงที่เราไปสำรวจ เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2567 มาให้ดู ปกติเราไปเยี่ยมหญ้าทะเลที่ป่าคลอกกันเดือนเว้นเดือน หญ้าทะเลที่นี่สวยงามสมบูรณ์มาก แต่วันที่เราไปสำรวจในเดือนกรกฎาคมเราพบหญ้าชะเงาใบยาว ใบกุดสั้นปลายใบมีรอยตัดขาด แต่ส่วนขอบใบซึ่งเป็นแกนข้างใบยังเหลืออยู่บ้าง ส่วนปลายที่ถูกตัดยังเขียวสด ทำให้เราคิดว่าเกิดจากการกินของพะยูนหรือเต่า แต่เราไม่แน่ใจว่าชนิดไหนกันแน่ ไม่กล้าฟันธง มาวันนี้จากโพสต์เครดิต ทำให้มั่นใจได้ว่า พะยูนน่าจะมีความสุขกับการกินหญ้าชะเงาใบยาวที่นี่อย่างมาก ปกติพะยูนตัวเต็มวัยอาจกินหญ้าทะเลสดได้ 20-40 กิโลกรัม ดังนั้น หากมีพะยูนมาก หญ้าทะเลอาจกุดสั้นและลดลง เมื่อหญ้าทะเลลดน้อยจนไม่เพียงพอ พะยูนก็จะว่ายหาหญ้าทะเลแหล่งใหม่หมุนเวียนไป โดยปกติที่ป่าคลอกมีพะยูนเจ้าถิ่นอยู่แล้วบริเวณตอนเหนือของป่าคลอก ซึ่งจะเห็นได้จากรอยกินหญ้าใบมะกรูดเป็นประจำค่ะ แต่การที่หญ้าชะเงาใบยาวโดนกัดจนกุดเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เอง ทำให้มั่นใจได้ว่าพะยูนทั้ง 4 ตัวในโพสต์น่าจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาจากที่อื่น หวังว่าชาวภูเก็ตจะดูแลพะยูนเป็นอย่างดี รบกวนเขาให้น้อยๆ เพราะเขาคือเจ้าของพื้นที่ตัวจริง ยังไม่ต้องไปคิดพยายามจัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเล เพราะปลูกไม่ทันเขากินแน่นอนค่ะ ถ้าหญ้าทะเลลดลง เราค่อยหาทางฟื้นฟูในภายหลังกันนะคะ" https://mgronline.com/onlinesection/.../9670000081020
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
หวั่นไม่ปลอดภัย เตือน!! ระวังแมงกะพรุนพิษ ถูกคลื่นซัดติดหาดป่าตอง ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หวั่นไม่ปลอดภัย พบ "แมงกะพรุนพิษ" ถูกคลื่นซัดติดชายหาดป่าตอง เตือน! ห้ามสัมผัส เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ทยอยเก็บออกจากพื้นที่ เบื้องต้นมีมากกว่า 40 ตัว มาพร้อมมรสุม แมงกะพรุนพิษถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดป่าตอง จ. ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง โดยเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำจุดหาดป่าตอง ได้ตรวจสอบพบแมงกะพรุน คาดว่าเป็นแมงกะพรุนพิษ ถูกคลื่นซัดขึ้นมาชายหาดป่าตอง เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และช่วยกันเก็บแมงกะพรุนออกจากชายหาด เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำจะไปสัมผัสตัวแมงกะพรุน และเกิดอันตรายได้ ขณะ ศวอบ. หรือศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน ซึ่งได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์แจ้งพบแมงกะพรุนพิษเกยตื้นในช่วงเย็นที่ชายหาด จังหวัดภูเก็ต จึงได้ประสานกับเครือข่ายไลฟ์การ์ดหาดป่าตอง งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (Patong surf life saving) เพื่อลงพื้นที่และได้ทำการตรวจสอบแล้ว จากการตรวจสอบพบเป็นแมงกะพรุนหัวขวดสกุลไฟซาเลีย (Physalia sp.) จำนวน 40 ตัว ที่หาดป่าตอง เบื้องต้นยังไม่พบรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานเครือข่าย มอบแผ่นพับ น้ำส้มสายชู เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังการได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน จึงขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังการสัมผัสพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ ทั้งนี้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 วินาที แล้วส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9670000080913
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ระบบนิเวศของ 'แอนตาร์กติกา' ถูกทำลายจากขยะ โรคระบาด และเอเลี่ยนสปีชีส์ .......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล KEY POINTS - ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ - ขยะเหล่านี้มักจะมีเชื้อโรคและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กติดไปด้วย หากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก - ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์ ระบบนิเวศ ทวีปแอนตาร์กติกา อาจเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ในไม่ช้า หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้น จน น้ำแข็งละลายหมดทวีป ซึ่งจะทำให้ขยะ เชื้อโรค และ เอเลี่ยนสปีชีส์ สามารถขึ้นมาอยู่อาศัยและรุกรานแนวชายฝั่งแอนตาร์กติก ทำลายสายพันธุ์ท้องถิ่นได้ การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology ใช้การจำลองกระแสน้ำในมหาสมุทรเพื่อติดตามเส้นทางของวัตถุที่ลอยออกมาจากประเทศต่าง ๆ ตลอด19 ปี พบว่า ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ ส่วนวัตถุจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแอนตาร์กติกจะทำให้เกิดแผ่นน้ำแข็งถล่มบ่อยยิ่งขึ้น วัตถุที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังแอนตาร์กติกา มีด้วยกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะ พลาสติก เศษไม้ และหินภูเขาไฟ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิด ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ลอยมาจากเกาะห่างไกลที่อยู่ในเขตมหาสมุทรใต้เท่านั้น แต่การวิจัยครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถเข้าถึงแนวชายฝั่งแอนตาร์กติกาได้จากทวีปทางตอนใต้ทั้งหมด "สิ่งต่าง ๆ จากทางเหนือ ทั้งอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ สามารถล่องลอยไปถึงแอนตาร์กติกาได้ไกลมากกว่าที่เราคิดไว้มาก" ดร.ฮันนาห์ ดอว์สัน ผู้นำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ กล่าว ในตอนนี้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและน้ำแข็งในทะเลละลายอย่างรวดเร็ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์ ดังนั้นมลพิษของพลาสติกและซากสัตว์สามารถลอยลงไปทางใต้ไกลกว่าเดิม ในปี 2566 พบว่าจำนวนอนุภาคพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรโลกเกิน 170 ตัน ส่วนเอเลี่ยนสปีชีส์ก็จะมีโอกาสที่จะย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งขั้วโลกใต้มากขึ้น เซริดเวน เฟรเซอร์ ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักชีวภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอตาโก้ กล่าวว่า พลาสติกที่ลอยอยู่สามารถนำพามดและเชื้อโรค เช่น โรคไข้หวัดนก มากได้ ในขณะที่สาหร่ายทะเลมีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร อาจจะมีสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น ปู ดาวทะเล และทากติดพันไปด้วย และหากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก "มันเป็นเรื่องน่ากังวลจริง ๆ สำหรับสายพันธุ์ท้องถิ่นของทวีปแอนตาร์กติกา หากสายพันธุ์ต่างถิ่นสามารถเดินทางและตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งแอนตาร์กติกที่อุ่นขึ้นได้สำเร็จ สายพันธุ์เหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบในการเอาตัวรอดได้มากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่เติบโตช้ากว่า" เฟรเซอร์กล่าว "สุดท้ายแล้วเอเลี่ยนสปีชีส์อาจแข่งขันกับสายพันธุ์ท้องถิ่น และสายพันธุ์ท้องถิ่นเหล่านั้นก็อาจจะเสียที่อยุ่อาศัยไปในที่สุด" การศึกษายังพบว่า บริเวณ คาบสมุทรแอนตาร์กติก มีความเสี่ยงต่อการถูกสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานมากที่สุด เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ มักจะขึ้นฝั่งที่จุดเหนือสุดของทวีป และเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้คาบสมุทรนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถอาศัยอยู่ได้ "วัตถุส่วนใหญ่มาถึงปลายคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอบอุ่นและมักไม่มีน้ำแข็ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถตั้งรกรากได้ก่อน" แมทธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมกล่าว ปรกติแล้วสิ่งมีชีวิตที่เคยลอยไปทางแอนตาร์กติกาอาจถูกทำลายโดยน้ำแข็งทับถมอยู่ในทะเล ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง หรือไม่สามารถอยู่รอดในอากาศที่หนาวเย็นได้ หากปริมาณน้ำแข็งในแอนตาร์กติกายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งมีชีวิตที่ลอยอยู่บนผิวน้ำหรือเกาะอยู่กับวัตถุลอยน้ำอาจสามารถตั้งรกรากในทวีปได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ ที่มา: Independent, Phys, The Conversation, The Guardian https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142532
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
น้ำกำลังล้นมหาสมุทร เสียงเตือนจากเกาะทะเลใต้ ............. โดย ดร.ไสว บุญมา "น้ำกำลังล้นมหาสมุทร... ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นวิกฤติอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์เราทั้งสิ้น วิกฤติซึ่งในเวลาอีกไม่นานจะเพิ่มความร้ายแรง จนถึงขั้นแทบเกินจินตนาการและปราศจากเรือชูชีพ ที่จะนำเรากลับมาสู่ความปลอดภัย" เป็นคำเตือนของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่ประเทศตองงา หนึ่งในเกาะขนาดเล็กในย่านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เลขาธิการสหประชาชาติเปล่งคำเตือนดังกล่าวเนื่องในโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำของ 18 ประเทศในย่านนั้น รวมทั้งนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย คำเตือนวางอยู่บนฐานของรายงานขององค์การสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน และ ภูมิอากาศโลก ผลกระทบที่จะเกิดกับเกาะเหล่านั้น รายงานชี้ชัดว่า ภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นในขณะนี้มีผลสูงต่อน้ำในมหาสมุทร 3 ด้านคือ (1) อุณหภูมิน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำทะเลดูดซับราว 90% ของความร้อนอันเกิดจากการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพื่อเอาพลังงาน (2) ระดับน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะน้ำขยายตัวจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นพร้อมกับการละลายของธารน้ำแข็งในหลายพื้นที่และแผ่นน้ำแข็งในย่านขั้วโลก (3) น้ำทะเลเป็นกรด มากขึ้นจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาผลาญดังกล่าว รายงานบ่งบอกด้วยว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรในย่านทะเลใต้เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าของการเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉลี่ยในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา และระดับน้ำทะเลในย่านนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วโลก ภาวะเหล่านั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ รวมทั้งคลื่นความร้อนในอากาศซึ่งเกิดบ่อยขึ้นด้วยระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอยู่นานขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบสูงมากต่อชีวิตของชาวเกาะ ซึ่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติประสบด้วยตนเองในระหว่างการเข้าร่วมประชุม เมื่อพายุใหญ่ทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมอาคารศูนย์การประชุมสร้างใหม่ที่ใช้ในการประชุม ส่งผลให้การประชุมต้องหยุดชะงัก ชาวเกาะในย่าน "ทะเลใต้" กำลังได้รับผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกร้อนมากกว่าชาวโลกโดยทั่วไป ทั้งที่แทบไม่มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น เนื่องจากการเผาผลาญเชื้อพลังงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศร่ำรวย ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบร้ายแรงนั้น พร้อมกับลดการเผาผลาญเชื้อพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การช่วยเหลือยังเชื่องช้าและต่ำกว่าความจำเป็นมาก นอกจากนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มีทีท่าว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ ณ นครปารีสเมื่อ 9 ปีก่อน ตรงข้าม เมื่อปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1% ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่โลกจะไม่ร้อนขึ้นเกินเป้าที่ตั้งไว้จึงแทบไม่มี ฉะนั้น เราอาจคาดเดาได้ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าโลกจะถูกถล่มอย่างต่อเนื่องจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงสูงตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ ในภาวะเช่นนี้ นอกจากจะวิงวอนให้ชาวโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญต่อไปแล้ว รายงานและการประชุมดังกล่าวจึงเสนอให้บรรดาเกาะและประเทศต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนของภูมิอากาศสร้างระบบเตือนภัยในระยะสั้น ตามด้วยมาตรการในด้านการฟื้นฟูและปรับตัวเมื่อได้รับผลกระทบ เรามิอาจฟันธงได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือของไทยในช่วงนี้ และแผ่นดินถล่มที่เกาะภูเก็ตซึ่งเพิ่งผ่านไป ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยมากน้อยเพียงไร แต่เราอาจใช้มันเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาว่าประเทศเราอยู่ ณ ตรงไหนในด้านการเตือนภัยและด้านการฟื้นฟูและปรับตัวหลังจากถูกผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง เราไม่อาจพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพราะหลายประเทศที่จนกว่าและเผชิญปัญหาสาหัสกว่าเรายังได้รับอย่างจำกัด รัฐบาลไทยจึงต้องเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งพร้อมด้วยปัญญาและสัมมา จากมุมของผู้อยู่ภายนอก สิ่งที่เห็นจำพวกการออกไปทำข้าวผัดแจกชาวบ้านของหัวหน้ารัฐบาลและการเอาแต่ชิงอำนาจกันเสมือนสุนัขแย่งกระดูกอย่างต่อเนื่องของนักการเมือง ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะออกนำให้เกิดความพร้อมเผชิญกับโลกในภาวะใหม่ ประชาชนโดยทั่วไปจึงต้องเตรียมภูมิคุ้มกันเอง. https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142736
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|