#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อยลง โดยมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุโซนร้อน "โซเดล" (พายุระดับ 3) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามในช่วงวันที่ 24-25 ต.ค. 63 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วตามลำดับ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆมาก กับมีฝนเล็กน้อย ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 20 - 21 ต.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ ในช่วงวันที่ 22 - 26 ต.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง พายุโซนร้อน ?โซเดล? (พายุระดับ 3) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 20-21 ต.ค. 63 หลังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามในช่วงวันที่ 24-25 ต.ค. 63 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วตามลำดับ ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 22-26 ต.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อน "โซเดล" (พายุระดับ 3)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) พายุโซนร้อน ?โซเดล? (พายุระดับ 3) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีใต้ตอนกลางแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.7 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 24-25 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"ดร.ธรณ์" เผยข่าวดี! เตรียมยก "ขนอม" เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ข้อมูลสุดปลื้ม ระบุ ปีนี้พะยูนตายน้อยลงกว่าปีที่แล้ว และเผยข่าวดีเตรียมยกขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทะเลเพื่อพะยูนและโลมา ยืนยันหากทุกอย่างราบรื่นทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น พร้อมเชื่อว่าคำว่ายั่งยืนจะเกิดขึ้นในทะเลชายฝั่งประเทศไทย วันนี้ (20 ต.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความ "ในปีนี้พะยูนตายไม่ถึง 10 ตัว น้อยกว่าปีที่แล้วเยอะครับ 20+ ตัว เหตุผลหนึ่งอาจมาจากโควิดทำให้ทะเลสงบ จึงเป็นจังหวะดีมากสำหรับการอนุรักษ์สัตว์หายาก หนึ่งในนั้นคือพื้นที่คุ้มครองทะเลขนอมเพื่อพะยูนและโลมา ทะเลขนอมสวยมาก คำนี้ยืนยัน เพราะเมื่อสิบปีก่อน ผมเคยนั่งเรือขึ้นลงเลียบชายฝั่งเป็นเดือน เพื่อติดตามศึกษาโลมาสีชมพู ชายฝั่งพร้อมสรรพ ทั้งในด้านภูมิสัณฐาน หาดทราย หาดหิน และที่สำคัญคือ หินแพนเค้กที่พบอยู่เพียง 3-4 แห่งทั่วโลก เรานั่งเรือหางยาวของพี่ๆ เลาะมาตามฝั่ง เจอโลมาทุกครั้ง บางหนถึงขั้นว่ายเข้ามาเอาตัวถูเรือ สุดปลายทางก่อนวกกลับ คือ รอยต่ออำเภอดอนสักตรงนี้ มีเกาะเกือบติดฝั่ง เรียกเกาะท่าไร่ ในน้ำมีดงหญ้าทะเลผืนใหญ่เขียวปี๋ เป็นแหล่งหญ้าที่สำคัญสุดๆ ทำให้รอบๆ อุดมสมบูรณ์ คุณๆ ที่ไปท่าเรือเฟอร์รีแล้วเห็นโลมาสีชมพู ส่วนหนึ่งก็เพราะดงหญ้าตรงนี้แหละ ห่างไป 3 กม.เท่านั้น ยังรวมถึงพะยูน ผู้กินหญ้าทะเลโดยตรง รายงานล่าสุดปี 2563 มีพะยูนในอ่าวบ้านดอน 5 ตัว ว่ายน้ำไปมา เมื่อนำทุกอย่างมารวมกัน หากเราประกาศชายฝั่งขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จะเป็นประโยชน์มาก คุ้มครอง ในที่นี้ไม่ใช่ห้าม ชาวบ้านยังหากุ้งหอยปูปลาได้ โดยมีมาตรการช่วยดูแลแหล่งหญ้าทะเลไว้ เช่น ห้ามเปลี่ยนสภาพ ห้ามทิ้งตะกอน มลพิษ ห้ามทำการประมงที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศ สัตว์หายาก ฯลฯ รวมถึงควบคุมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน เช่น ห้ามให้อาหารโลมา มีกติกาในการนำเรือเข้ามาชมสัตว์ ที่สำคัญคือ ให้คนท้องที่มีส่วนร่วมจริงจัง ตามแผนคือจัดตั้งอนุกรรมการขนอมภายใต้กฎหมายขึ้นตรงกับกรรมการทะเลจังหวัด จากผลการศึกษาในสมัยก่อน เรื่อยมาจนถึงแผนทำร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งกรมทะเล ชาวบ้าน นักวิชาการ ฯลฯ จนถึงวันนี้ แผนพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งขนอมจะได้รับการพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทะเลชาติต่อไป หากทุกอย่างราบรื่น ทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น ตอนนี้เรามีเกาะกระ เกาะมันใน เกาะโลซิน วันนี้ (20 ต.ค.) จะมีการพิจารณาอีก 4 แห่ง รวมขนอม ตามเป้า SDG 14 และยุทธศาสตร์ชาติ ไทยควรมีพื้นที่คุ้มครอง 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทะเล ภายในปี 2030 ตอนนี้เกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ แล้ว หากเราช่วยกันผลักดันต่อไป อีก 10 ปียังเป็นไปได้ แต่วันนี้ ดีใจมากครับ เพราะขนอมกำลังจะเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ อะไรต่างๆ ที่ช่วยกันทำมา แม้ต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายแล้วไม่เสียหลาย หญ้าทะเล โลมา พะยูน และชาวขนอมบ้านดอนจะได้ประโยชน์อย่างมากและคำว่ายั่งยืนจะเกิดขึ้นในทะเลชายฝั่ง ที่ผมกล้ายืนยันว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย" https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000106932 ********************************************************************************************************************************************************* หินยักษ์หนักกว่า 3 หมื่นตันบนเกาะทะลุถล่มแยกเป็น 2 ก้อน สำรวจพบยังมีรอยร้าวเพิ่ม กระบี่ ? หินยักษ์หนักกว่า 3 หมื่นตัน บนเกาะทะลุ จ.กระบี่ พังถล่มแยกเป็นสองก้อน คาดเกิดจากพายุพัดถล่ม เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพบรอยร้าวเพิ่ม มีปะการังได้รับความเสียหาย เตือนนักท่องเที่ยวห้ามเข้าใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุอาจจะมีการพังเพิ่ม เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ ( 20 ต.ค.) นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าสำรวจเกาะทะลุ เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ห่างจากทางทิศตะวันตกของเกาะไก่ ประมาณ 1 กิโลเมตร หลังเกิดเหตุหินขนาดใหญ่พังถล่มลงมาจากภูเขา ในช่วงคลื่นลมแรง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้น พบว่า หินที่ถล่มลงมาแตกออกเป็น 2 ก้อน น้ำหนักประมาณ 30,000 - 50,000 ตัน ส่งผลให้บริเวณด้านล่าง ซึ่งเดิมลึกประมาณ 10 เมตร ยุบลงไปอีก ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15 เมตร ส่วนความเสียหายที่ เกิดขึ้น จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบว่าบริเวณแนวปะการัง ที่อยู่บริเวณด้านล่าง เสียหายไปประมาณ 20 % นายประยูร กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นมาประมาณ 3 วัน แล้วคาดว่าเกิดจากอิทธิพลพายุดดีเพรสชั่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่องลมกระโชกแรง ส่งผลหินปูนบริเวณเกาะทะลุพังลงมา แต่หลังได้รับแจ้งในช่วงเกิดเหตุยังมีคลื่นลมแรง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้ แต่วันนี้คลื่นลมเริ่มสงบก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ดำน้ำลงไปสำรวจ บริเวณใต้น้ำ ใกล้จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบดูว่า จะมีการพังถล่มเพิ่มเติมหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าบริเวณเกาะทะลุยังมีรอยแยกอยู่หลายจุดซึ่งมีความเสี่ยงพอสมควรในการสำรวจ แต่อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนไปยังนักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังไม่ควรเข้าใกล้บริเวณจุดที่เกิดเหตุ อาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งหลังจากนี้จะทำการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อนำมาวิเคราะห์ หาสาเหตุและหาทางป้องกันต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9630000107014
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ทส.เร่งคลอด พ.ร.บ.โลกร้อน!! ภายใน 2 ปี แอกชันที่น่าติดตามล่าสุดมาจาก รมว.ทส. วราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งได้ชี้แจงถึง (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) ว่าทำไมประเทศไทยถึงจำเป็นต้องมีแม่บทกฎหมายนี้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระร่วมของประชาคมโลก และถือเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันครับ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2016 มีเป้าหมายสำคัญมุ่งเน้นที่การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วนในปี 2030 ซึ่งเราสามารถผลักดันอัตราการลดปริมาณ Co2 ได้ถึง 25% หากมีการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ดีพอ แต่ถึงแม้ส่วนราชการจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ในด้านการดำเนินงานยังมีข้อติดขัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีกลไกการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครบถ้วน ทำให้ปัจจุบัน ข้อมูลนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่เคยถูกสำรวจและจัดเก็บเลย ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังจัดทำโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงจะมาช่วยเป็นกลไกให้อำนาจหน่วยงานรัฐ เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเอกชนครับ" "จุดประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การร่วมมือกับเอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ จะมีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในกิจการของตน เช่น วางมิเตอร์การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน และจัดทำรายงานให้หน่วยงานรัฐในกำกับ เพื่อที่หน่วยงานนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้ สผ.คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ โดยร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 8 หมวด 56 มาตรา เมื่อพ.ร.บ.ออกบังคับใช้แล้ว จะมีการออกแผนแม่บทกับแผนปฏิบัติต่างๆ ตามมา คาดว่าจะดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรีได้ภายในปลายปีนี้ครับ" การออกพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ทั้งในด้านการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าการค้าขายกับต่างประเทศจะถูกบังคับด้วยกรอบด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ต่อไปผู้บริโภคเอง ก็จะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำได้ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะกลายมาเป็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันทำขั้นตอนการผลิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน จากนี้ไปการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาดครับ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างการจัดงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกภาคจนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอระดับโลก กรีนพีซประเทศไทย ก็ติดตามดูว่าร่างกฏหมายโลกร้อนจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงการมีอนุบัญญัติต่างๆ และเมื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาและความเข้มข้นของการบังคับใช้นั้นจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ หรือว่ายังมีการสงวนท่าทีที่เกรงใจต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็จะต้องติดตาม https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000106746 ********************************************************************************************************************************************************* พิสูจน์ซากกางเกงยีนส์ 1 ปี ส่วนที่ไม่ย่อยสลาย คือพลาสติก เพจเฟซบุ๊ค Permacoach องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในออสเตรเลีย เกี่ยวกับการปลูกพืชออแกร์นิกและการหมักปุ๋ยอินทรีย์ โพสต์ภาพผลการทดลองจากการนำกางเกงยีนส์ผ้ายืดไปใส่ในกองปุ๋ยหมัก เพื่อดูว่าจะมีส่วนประกอบที่เป็นวัสดุธรรมชาติ (ฝ้าย) ซึ่งย่อยสลายได้ และพลาสติกในสัดส่วนเท่าใด เวลาผ่านไป 1 ปี ภาพที่เห็นคือกางเกงยีนส์ที่เหลืออยู่ล้วนเป็นเส้นใยพลาสติก และมีปริมาณมากกว่าที่คาดเอาไว้ ส่วนที่เป็นผ้าฝ้ายย่อยสลายไปจนหมดแล้ว การนำมาโพสต์ในเพจเพื่อให้ทุกคนเห็นว่า ขยะแฟชั่นเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล เพราะก็ไม่ต่างอะไรกับขยะพลาสติกประเภทอื่น ถ้าเป็นไปได้ อยากให้พวกเราเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ 100% เพราะอย่างน้อยก็ไม่ก่อให้เกิดขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ แอดมินเพจนี้ระบุด้วยว่า แทนที่เราจะซื้อกางเกงยีนส์ผ้ายืดตัวต่อไป คุณเพียงแค่สวมใส่สิ่งที่คุณมีอยู่แล้ว ตอนนี้ใช้เงินเพียงส่วนหนึ่งที่คุณจะใช้จ่ายกับกางเกงยีนส์เหล่านั้นแล้วบริจาคให้กับ Permafund คุณจะประหยัดเงินลดปริมาณขยะพลาสติกที่โลกต้องจัดการและช่วยให้ผู้คนเรียนรู้วิธีการปลูกอาหารเพื่อสุขภาพ ช่วยสร้างชุมชนและใช้พลังงานหมุนเวียน หากทุกคนที่ชื่นชอบรูปภาพ ในราคาเพียง 5 ดอลลาร์ เราจะร่วมกันทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้บริจาคเงินจำนวนมากที่สุดจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกางเกงยีนส์ คุณต้องการให้เป็นเครื่องมือช่วยสอนหรือไม่? งานศิลปะ? ฉันจะส่งไปรษณีย์ไปยังที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ หากคุณชอบรูปภาพต้นฉบับและแชร์รูปภาพเหล่านั้นโปรดพิจารณาแบ่งปันการระดมทุนในครั้งนี้ร่วมกันกับเรา https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000107048
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'วราวุธ' ย้ำแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งต้องคุ้มค่า ลดปัญหาพื้นที่ข้างเคียง รมว.ทส. ย้ำแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งต้องคุ้มค่า ลดปัญหาพื้นที่ข้างเคียง "ปลัดจตุพร" มอบกรมทะเลติดตามใกล้ชิดพร้อมต่อยอดระบบรายงานสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง จากกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นับเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานพยายามแก้ไขปัญหาและกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ในบางพื้นที่การแก้ไขปัญหาโดยโครงสร้างทางวิศวกรรมกลับส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงดั่งตัวอย่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณพื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม ที่เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงาม เรียกร้องให้หยุดดำเนินการ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำการแก้ไขปัญหาต้องคิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแนวทางการจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบผ่านแนวคิดระบบหาด เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับทราบสรุปรายงานสถานการณ์พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยช่วงปี 2562 มีระยะทางรวม 91.69 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่กัดเซาะรุนแรงที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วนระยะทาง 12.87 กิโลเมตร ซึ่งส่วนมากมีสาเหตุมาจากกิจกรรมมนุษย์และผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ได้ดำเนินก่อสร้างแล้ว แต่ส่งผลต่อพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งในหลายพื้นที่ก็กลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน อย่างกรณี การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณพื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม ที่เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงาม เรียกร้องให้หยุดดำเนินการ เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวไม่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลาให้มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการชั่วคราว เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน ซึ่งตนได้สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและสั่งการให้หน่วยงานเร่งสำรวจและกำหนดแนวทางมาตรการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาและการอนุรักษ์ "ระบบนิเวศทางธรรมชาติ ถูกออกแบบ โดยสร้างความสัมพันธ์ทุกอย่างไว้อย่างลงตัวและธรรมชาติได้กำหนดทิศทางและความเป็นไปทุกอย่างไว้แล้ว มนุษย์ที่มีหน้าที่สร้างและรักษาความสมดุล ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลงความสมดุลการแก้ไขปัญหาไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างหาก ที่ผิด" ตนเชื่อว่าการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเกิดจากความตั้งใจดีของหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องขอให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หรือความจำเป็น และความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย และสิ่งสำคัญที่ตนอยากฝากไว้ คือ การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำในขั้นตอนต่าง ๆ จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ในเรื่องเดียวกันนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานที่กำกับในเชิงนโยบายและนำเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยที่ผ่านมาได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแบ่งระบบกลุ่มหาด จำนวน 8 กลุ่มหาดหลัก และระบบหาดย่อย 318 ระบบหาด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจาก ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบทั้งชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และสมดุลระบบนิเวศ ตนได้ย้ำทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ หากพบว่ากิจกรรมหรือโครงการใดอาจก่อให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 21 หรือ 17 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ทันที เพื่อระงับและป้องกันปัญหาก่อนที่จะสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและระบบนิเวศอื่น ๆ ข้างเคียง ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไปปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ได้รับความเห็นชอบต่อแนวทางดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสีขาว ? การปล่อยฟื้นฟูตามธรรมชาติ มาตรการสีเขียว ? การปลูกป่าและใช้วัสดุธรรมชาติ และมาตรการสีเทา ? การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบสถานการณ์และสถานภาพชายฝั่งทะเลของประเทศไทยได้จากระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งกรม ทช. ได้ร่วมกับ GISTDA จัดทำขึ้น โดยเข้าไปตรวจสอบผ่านทางระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหน้าเว็ปไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบได้ทาง Mobile Application ซึ่งจะสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้ง ยังสามารถรายงานปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ได้อีกด้วย โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2564 นายโสภณ ทองดี กล่าวในที่สุด https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903597
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|