#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในวันนี้ และจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในระยะแรก และดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชน ในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 16 ? 19 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5 - 7 องศาเซลเซียส ภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4 ? 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 2 ? 4 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ส่วนช่วงวันที่ 20 ? 21 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีลดลง สำหรับคลื่นลม บริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ข้อควรระวัง ในวันที่ 15 - 16 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 19 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และลมแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17 - 19 พ.ย. 66 นี้ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
'2593' โลกวิกฤติขั้นสุด! วิจัยชี้ยอดคนตายเพราะอากาศร้อนจัดอาจพุ่งเกือบ5เท่า-ไข้เลือดออกระบาดหนักขึ้น 15 พฤศจิกายน 2566 นสพ.The Japan Times ของญี่ปุ่น เสนอข่าว Heat projected to kill nearly five times more people by 2050 ระบุว่า The Lancet Countdown เผยแพร่รายงานประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการประเมินประจำปีครั้งสำคัญที่ดำเนินการโดยนักวิจัยและสถาบันชั้นนำ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดในทศวรรษต่อๆ ไปเกือบ 5 เท่า และหากไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของมนุษยชาติจะตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยเตือนว่า ภัยแล้งที่พบบ่อยมากขึ้นจะทำให้ผู้คนหลายล้านคนเสี่ยงต่อการอดอยาก ยุงที่แพร่กระจายไปไกลกว่าในอดีตจะเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อไปด้วย และระบบสุขภาพจะต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับภาระดังกล่าว โดยการประเมินอันเลวร้ายนี้เกิดขึ้นในช่วงที่คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพียงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบบติดตามสภาพอากาศของยุโรปประกาศว่า เดือน ต.ค. 2566 เป็นเดือนตุลาคมที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ รายงานของ The Lancet Countdown ถูกเผยแพร่ก่อนการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของ COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะเป็นเจ้าภาพ "วันสุขภาพ" ในวันที่ 3 ธันวาคม เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญพยายามให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสุขภาพ รายงานยังชี้ด้วยว่า แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการดำเนินการทั่วโลกมากขึ้น แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก็พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เห็นได้จากเงินอุดหนุนของภาครัฐและเงินลงทุนจากธนาคารเอกชนที่ยังสูง ในปี 2565 ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เป็นอันตรายถึงชีวิตโดยเฉลี่ย 86 วัน ประมาณร้อยละ 60 ของวันเหล่านั้นเกิดขึ้นมากกว่าสองเท่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบระหว่างช่วงปี 2534-2543 กับช่วงปี 2556-2565 มารินา โรมาเนลโล (Marina Romanello) ผู้อำนวยการบริหารของ The Lancet Countdown กล่าวว่า ผลกระทบที่เราเห็นในวันนี้อาจเป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นของอนาคตที่อันตรายมาก และหากไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้นในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เสี่ยงที่จะเป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า ภายใต้สถานการณ์ที่โลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษ ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิอยู่ที่ 2.7 องศาเซลเซียส การเสียชีวิตจากความร้อนต่อปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 370 ภายในปี 2593 หรือเพิ่มขึ้นถึง 4.7 เท่า ตามการคาดการณ์ ผู้คนอีกประมาณ 520 ล้านคนจะประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรงในช่วงกลางศตวรรษ และโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะจะยังคงแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ การศึกษาพบว่าการระบาดของโรคไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ภายใต้สถานการณ์ภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส ในขณะเดียวกัน เมืองมากกว่า 1 ใน 4 ที่สำรวจโดยนักวิจัย พวกเขากังวลว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกินความสามารถในการรับมือ หนึ่งในนั้นคือสมาชิกทีมวิจัยอย่าง จอร์เจียนา กอร์ดอน-สตราชาน (Georgiana Gordon-Strachan) ผู้มีบ้านเกิดอยู่ในประเทศจาไมกา ที่เล่าว่า ที่นั่นกำลังเผชิญสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาด และขณะนี้เรากำลังเผชิญวิกฤติที่อยู่บนยอดของวิกฤติ (crisis on top of a crisis) "ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจน ซึ่งมักมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด กลับต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างรุนแรง แต่สามารถเข้าถึงเงินทุนและความสามารถทางเทคนิคได้น้อยที่สุดในการปรับตัวให้เข้ากับลมพายุที่แรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และความแห้งแล้งของพืชผลที่เหี่ยวเฉา ซึ่งแย่ลงจากภาวะโลกร้อน" จอร์เจียนา กล่าว รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ความเห็นภายหลังรายงานของ The Lancet Countdown ถูกเผยแพร่ ว่า มนุษยชาติกำลังจ้องมองไปที่อนาคตที่ไม่อาจยอมรับได้ เรากำลังเห็นหายนะของมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้ว สุขภาพและการดำรงชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในอันตรายจากอากาศร้อนที่ทำลายสถิติ ความแห้งแล้งที่พืชผลล้มเหลว ระดับความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น โรคติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพายุและน้ำท่วมที่มีความรุนแรง ดานน์ มิทเชลล์ (Dann Mitchell) ประธานด้านอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า คำเตือนด้านสุขภาพที่เป็นหายนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ไม่สามารถโน้มน้าวรัฐบาลชาติต่างๆ ทั่วโลก ให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากพอที่จะหลีกเลี่ยงเป้าหมายแรกของข้อตกลงปารีสที่ 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ว่า คำมั่นสัญญาของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกเพียงร้อยละ 2 ภายในปี 2573 จากระดับปี 2562 ซึ่งยังต่ำกว่าที่ลดลงร้อยละ 43 ที่จำเป็นในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.japantimes.co.jp/environ...ve-times-2050/ https://www.naewna.com/inter/769462
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'โลกร้อน' ไม่หยุด! กระทบแม่น้ำโขง - ไนล์ - มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมหายใต้ทะเล 'โลกร้อน' ไม่หยุด! กระทบแม่น้ำโขง - ไนล์ - มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมหายใต้ทะเล อีกหนึ่งผลกระทบจาก "โลกร้อน" คือ พื้นที่ลุ่มต่ำแถบแม่น้ำโขง แม่น้ำไนล์ แม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลกกำลังจมหายไป นักวิทย์คาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 8-29 เซนติเมตร ในปี 2030 และจะสูงขึ้นถึง 70 เซนติเมตร ในปี 2070 ปี 2566 กำลังจะผ่านพ้นไป แต่ปัญหาโลกร้อนก็ยังคงอยู่ และในปีต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีรายงานข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานด้าน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก" ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประมาณการว่า ภายใต้สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ "ระดับน้ำทะเล" เฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 8-29 เซนติเมตร ภายในปี 2030 โดยประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำโขง และแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลก กำลังจมลงใต้ทะเล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกนำมารายงานบนเวที Climate Ambition Summit 2023 หรือการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เดนนิส ฟรานซิส นักการทูตผู้มีประสบการณ์จากตรินิแดด และโตเบโก หนึ่งในบุคคลสำคัญในวงประชุมครั้งนี้ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การคาดเดาหรือเป็นเรื่องเกินจริง แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว และจะเห็นปรากฏการณ์นี้ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ ได้เร็วกว่าประเทศอื่นของโลก (อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : IPCC) อู่ข้าวอู่น้ำของโลกกำลังจมหายไป กระทบ 900 ล้านคนทั่วโลก เดนนิส เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้ผู้คนจำนวน 900 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล (พื้นที่ลุ่มต่ำ) มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านเรือน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ขยายพื้นที่ไปไกลเกินกว่าชุมชนชายฝั่ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ครอบคลุมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จะยิ่งร้อนขึ้นอีกเรื่อยๆ จนส่งผลให้ธารน้ำแข็งบนภูเขา และพื้นที่แผ่นน้ำแข็งหลายแห่งบนโลกละลายอย่างหนัก จึงมีการคาดการณ์ในอนาคตว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีกถึง 70 เซนติเมตร ภายในปี 2070 "เราไม่เพียงเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน และบ้านเรือน แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะทำให้มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเกาะ และภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งช่วยกำหนดอัตลักษณ์ของผู้คนหายไปจากโลกด้วย" เดนนิส กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศทั่วโลก ยกระดับการดำเนินงานทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จริงจัง และรวดเร็วมากกว่านี้ "ระดับน้ำทะเล" หากยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ชายหาดทั่วโลกจมหายไป ภายในปี 2100 นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2020 ก็เคยมีรายงานคาดการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเป็นงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ "หาดทราย" มากกว่า 1 ใน 3 ของโลกจมหายไป ภายในปี 2100 "เนื่องจากหาดทรายมักทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันพายุชายฝั่งและน้ำท่วม และหากไม่มีชายหาดเหล่านี้ ผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วก็อาจจะสูงกว่านี้" มิชาลิส วูดูคัส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี มิชาลิส ยังบอกอีกว่า ปัญหาเรื่องชายฝั่งทะเลกำลังจะจมหายไปนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังวางแผนระบบการป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ในอีกหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ แผนการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้นวัตกรรมที่ล้ำหน้ามาก ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุด้วยว่า "ออสเตรเลีย" อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีแนวชายฝั่ง (พื้นที่ลุ่มต่ำ) ที่มีหาดทรายขาวยาวเกือบ 15,000 กิโลเมตร (มากกว่า 9,000 ไมล์) กำลังจะถูกคลื่นซัดหายไปในอีก 80 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยชายฝั่งของประเทศแคนาดา ชิลี สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย และบราซิล ไม่ใช่แค่แม่น้ำสายหลักของโลกจะหายไป แต่กรุงเทพฯ ก็อาจไม่รอด! ส่วนประเทศไทยนั้น มีรายงานจากเว็บโซต์ The Asean Post ที่ตั้งสมมติฐานว่า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573 นอกจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมง่ายขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ "ผังเมืองที่แออัดของชุมชน" ในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ มีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ชุ่มน้ำลดลง เมื่อมีน้ำเหนือไหลหลากมาหรือมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มาก ก็จะทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่ข้อมูลจาก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ก็รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่พักอาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูง จึงทำให้เกิดอุทกภัยอุบัติซ้ำซากบ่อยครั้ง หากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข อาจมีผลให้ภายในปี 2573 พื้นที่กว่า 96% ของกรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมใหญ่ จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปริมาณมาก และความเข้มข้นรุนแรงของพายุที่มากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่าปีหน้า และปีต่อๆ ไป รัฐบาลนานาชาติทั่วโลกรวมถึงไทย จะเร่งดำเนินงานร่วมกันเพื่อหาทางลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้น้อยลงได้ในที่สุด https://www.bangkokbiznews.com/environment/1099010
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|