เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-26 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ต.ค. 63 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ต.ค. 63 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ต.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจาก ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ซึ้งใจชาวบ้านเกาะลิบง ช่วยพะยูนสาวนอนเกยตื้น น้ำตาไหลขอให้ช่วยพาลงทะเล

ชาวบ้านเกาะลิบงแชร์ภาพ พะยูนนอนร้องไห้น้ำตาไหลหลังเกยตื้น ชาวบ้านรุดช่วยพาลงทะเลปลอดภัย กำนันเผยหากช่วยไม่ทันเสียชีวิตแน่ ส่วนน้ำตาพะยูน เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อกันว่าเป็นของมีเมตตามหานิยม



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.40 น.วันที่ 18 ต.ค.63 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้รับแจ้งจากนายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ว่ามีชาวประมงพื้นบ้านออกวางอวน ทราบชื่อ นายเลิศ ยอดศรี ชาวบ้าน ม.1 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้พบพะยูนเกยตื้นบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย ม.1 ต.เกาะลิบง สภาพนอนร้องไห้น้ำตาไหลพรากอาบหน้า บนสันหาดสูง เป็นพะยูนเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 220 กก. ความยาวประมาณ 1.80 ม. แต่เนื่องจากพะยูนตัวโตไม่สามารถพาลงทะเลได้ นายเลิศ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวบ้านเกาะลิบงมาช่วยชีวิตพะยูน และได้ทำการช่วยเหลือลงทะเลโดยปลอดภัย

ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ตรวจสอบพื้นที่และพบว่าบริเวณแหลมโต๊ะชัย ได้มีหญ้าทะเลใบมะกรูดและหญ้ามะขาม ซึ่งเป็นอาหารที่พะยูนชอบ พะยูนจึงเข้ามาหากินเป็นประจำ ซึ่งจากเหตุการณ์พะยูนเกยตื้นคาดว่าน่าจะกินอาหารเพลินช่วงน้ำลงจึงลงทะเลกลับไม่ทัน หลังจากนี้ทางเขตห้ามล่าฯ จะทำประกาศเกียรติคุณเชิดชูคุณงามความดีพร้อมรางวัลให้กับนายเลิศ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมา ขณะที่ตนเองนั่งกินกาแฟอยู่ที่ร้านปรากฏว่าได้มีลูกบ้านที่ได้ไปวางอวนดักปลาโทรศัพท์เข้ามาหาว่า พบพะยูนนอนเกยตื้นอยู่บนชายหาดดังกล่าว ห่างจากน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร ตนเองจึงได้ประสานไปยังผู้ช่วยฯ และรีบเดินทางเข้าไปตรวจสอบพร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 10 คน เมื่อไปถึงพบว่าพะยูนตัวดังกล่าวนอนแน่นิ่ง มีน้ำตาไหลพรากออกมาจากดวงตาทั้งสองดวง แต่ยังพบว่ามีชีวิตอยู่

กำนันตำบลเกาะลิบง กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถจะช่วยเหลือได้มีเพียงผ้าขาวม้า มาก็เลยใช้ผ้าขาวม้าสอดเข้าใต้ลำตัวพะยูน ทำให้พะยูนตัวดังกล่าวดิ้นพล่าน เพื่อที่จะไม่ให้คนที่ไปช่วยเหลือเข้าใกล้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือนำลงทะเลได้อย่างปลอดภัย และว่ายไปอย่างทันที เบื้องต้นคาดว่าน่าเข้ามากินหญ้าทะเลกลับลงน้ำไม่ทันในช่วงน้ำลงเมื่อรุ่งเช้าที่ผ่านมา จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบริเวณผิวหนังมีรอยถลอกเล็กน้อยจากการดิ้นตะเกียกตะกาย จนทำให้ชาวบ้านที่พบเห็นต่างมีความสงสาร เมื่อเห็นภาพขณะพะยูนตัวดังกล่าวนอนร้องไห้ และได้ภาพภาพและคลิปวิดีโอ ขณะชาวบ้านช่วยเหลือกลับสู่ท้องทะเล เพราะนานๆ ครั้ง จะได้เห็นน้ำตาพะยูน หรือน้ำตาดุหยง

นายอับดุลรอหีม กล่าวอีกว่า ชาวบ้านแจ้งว่าพบพะยูนเพศเมียเกยตื้นนอนแน่นิ่ง มีน้ำตาไหลพรากออกมาจากดวงตาทั้ง 2 ข้าง บริเวณบนชายหาดแหลมโต๊ะชัย หมู่ 1 ต.เกาะลิบง จึงรุดเดินทางมาพร้อมชาวบ้านกว่า 10 คน เพื่อเร่งช่วยเหลือ แต่ไม่มีอุปกรณ์จึงช่วยกันนำผ้าขาวม้าพยุงพยูนตัวดังกล่าวลงน้ำได้อย่างปลอดภัย จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าบริเวณผิวหนังมีรอยถลอกจากการตะเกียกตะกายกับชายหาดเพียงเล็กน้อย จนทำให้ชาวบ้านที่พบเห็นต่างมีความสงสารเมื่อเห็นภาพขณะพะยูนตัวดังกล่าวนอนร้องไห้ และได้ถ่ายภาพและคลิปวิดีโอขณะชาวบ้านช่วยเหลือกลับสู่ท้องทะเล เพราะนานๆ ครั้ง จะได้เห็นน้ำตาพะยูน หรือน้ำตาดุหยง ก่อนนำไปโพสต์ลงสื่อโซเชียล

กำนันตำบลเกาะลิบง กล่าวอีกว่า ถ้าหากไม่เจอหรือพบช้ากว่านี้ มีโอกาสสูงที่จะเกยตื้นตายได้ เพราะกว่าน้ำจะขึ้นอีกครั้งอีกนาน ประกอบกับโดนแสงแดดมีโอกาสจะตาย แต่โดยส่วนใหญ่หากพะยูนเกยตื้นชาวบ้านจะพบเห็นและช่วยเหลือเป็นประจำ เพราะช่วงเวลาน้ำลงชาวบ้านที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านจะออกไปหาปลาหาหอย บริเวณชายหาด ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำตาพะยูนหรือน้ำตาดุหยงที่ มีการร่ำลือเชื่อว่า หากใครครอบครอง จะให้ความเมตตามหานิยม มีเสน่ห์คนรักคนหลง ซึ่งในส่วนนี้ตนเองไม่ได้มีความเชื่อเรื่องนั้น และน่าจะเป็นเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาเท่านั้นเอง.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/1955856

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ชาวบ้านเกาะลิบงเข้าช่วยพะยูนเกยตื้น ร่วมแรงหามกลับลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

ตรัง - กำนัน ต.เกาะลิบง และชาวบ้านเข้าช่วยเหลือพะยูนเพศเมีย ตัวโตเต็มวัย ที่กำลังนอนร้องไห้เกยตื้นอยู่บนสันหาดสูงบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยใช้ผ้าขาวม้า 2 ผืนเร่งหามกลับคืนสู่ท้องทะเลอย่างทุลักทุเลได้อย่างปลอดภัย



วันนี้ (18 ต.ค.) นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และชาวบ้านประมาณ 10 คน เข้าช่วยเหลือพะยูนเกยตื้น บริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย ม.1 บ้านทุ่งหญ้าคา ต.เกาะลิบง ในสภาพที่พะยูนเพศเมีย ตัวโตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 220 กก. และยาวประมาณ 1.80 เมตร กำลังนอนร้องไห้อยู่บนสันหาดสูง

โดย กำนัน ต.เกาะลิบง และชาวบ้านได้ใช้ผ้าขาวม้า จำนวน 2 ผืน สอดไปใต้ลำตัวของพะยูน และช่วยกันยกตัวพะยูนขึ้นเพื่อพากลับคืนสู่ท้องทะเลอันดามันซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร อย่างทุลักทุเล แต่ท้ายสุดก็สามารถช่วยเหลือพะยูนลงทะเลได้ปลอดภัย โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งสร้างความดีใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีชาวบ้านไปพบ คาดว่าพะยูนตัวนี้จะเกยตื้นตายแน่นอน เนื่องจากโดนแสงแดดและน้ำแห้งเป็นเวลานาน



นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.40 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านออกไปวางอวนหาปลาบริเวณบ้านทุ่งหญ้าคา แล้วพบพะยูนตัวนี้นอนเกยตื้น จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากการที่พะยูนตัวดังกล่าวออกมากินหญ้าทะเลในช่วงน้ำขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กระทั่งต่อมา น้ำทะเลได้ลดลง และบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ ทำให้พะยูนไม่สามารถว่ายกลับลงทะเลได้ จึงเกยตื้นติดอยู่ที่บริเวณดังกล่าว กระทั่งชาวบ้านสามารถช่วยกันผลักดันพะยูนตัวนี้ลงทะเลได้อย่างปลอดภัย


https://mgronline.com/south/detail/9630000106125


*********************************************************************************************************************************************************


เผยภาพหาชมยาก! ?พะยูนร้องไห้? หลังเกยตื้นเกาะลิบง ชาวบ้านช่วยลงทะเลปลอดภัย


น้ำตาพะยูน หลังเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย จ.ตรัง

กรมอุทยานฯ เผย พบพะยูนนอนร้องไห้ หลังเกยตื้นหาดแหลมโต๊ะชัย คาดกินหญ้าทะเลเพลินจนน้ำลดกลับไม่ได้ ด้านชาวบ้านลิบงสุดน่ารักช่วยเหลือลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพหายากของพะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย บนในหน้าพะยูนดูคล้ายมีน้ำตา โดยเพจดังกล่าวโพสต์ข้อความไว้ดังนี้

ชาวบ้านลิบงช่วยพะยูนเกยตื้น หลังพบนอนเกยตื้นคล้ายมีน้ำตาบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย คาดกินหญ้าเพลินจนน้ำทะเลลด ด้านเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบงมอบรางวัลแก่ชาวบ้านที่ช่วยพะยูนจนปลอดภัย

18 ต.ค.63 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รายงานเข้ามาว่า เมื่อเวลา 07.40 น. นายเลิศ ยอดศรี ชาวบ้าน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบพะยูนเกยตื้นบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย สภาพนอนร้องไห้บนสันหาดสูง เป็นพะยูนเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 220 กก. ความยาวประมาณ 1.80 ม. แต่เนื่องจากพะยูนตัวโตไม่สามารถพาลงทะเลได้ นายเลิศ ยอดศรี จึงได้ขอความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวบ้านเกาะลิบงมาช่วยชีวิตพะยูน และได้ทำการช่วยเหลือลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

ต่อมาเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่พบว่าบริเวณแหลมโต๊ะชัย ได้มีหญ้าทะเลใบมะกรูด และหญ้ามะขาม ซึ่งเป็นอาหารที่พะยูนชอบ พะยูนจึงเข้ามาหากินเป็นประจำ ซึ่งจากเหตุการณ์พะยูนเกยตื้นคาดว่าน่าจะกินอาหารเพลินช่วงน้ำลง จึงลงทะเลกลับไม่ทัน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จึงมอบใบประกาศตอบแทนคุณงามความดี พร้อมมอบรางวัลให้กับนายเลิศ ยอดศรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อไป

พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเล และเป็นสัตว์อายุยืน (ถ้าไม่เสียชีวิตจากน้ำมือมนุษย์เสียก่อน) โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีน้ำหนัก 230-300 กิโลกรัม มีขนาดประมาณ 2.5-3 เมตร

พะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีสถานะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลอาหารหลักของพะยูนมีปริมาณลดลง

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่า "น้ำตาพะยูน" สามารถนำไปทำเสน่ห์คล้ายกับน้ำมันพราย รวมถึง เนื้อ กระดูก และเขี้ยวพะยูน หรือที่ในตลาดมือเรียกกันว่า ?งาช้างน้ำ? มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม ทำให้ในอดีตมีการล่าพะยูนตามความเชื่อดังกล่าวจนปัจจุบันตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง


https://mgronline.com/travel/detail/9630000106133

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ตามรอย "เต่าทะเลไทย" ที่ "เกาะมันใน" เกาะแห่งเดียวในไทย ที่มีเพื่อดูแลเต่าโดยเฉพาะ


เต่าตนุในบ่ออนุบาลเต่า

จังหวัดระยอง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ติดทะเล จึงมีหลายหาดหลากเกาะเป็นจุดมุ่งหมายให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาเที่ยวชมกัน

หนึ่งในเกาะที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวก็คือ ?หมู่เกาะมัน? ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 เกาะด้วยกันได้แก่ เกาะมันใน เกาะมันกลาง และเกาะมันนอก โดยแต่ละเกาะนั้นก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป

อย่างที่ "เกาะมันใน" ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะนี้ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ระยอง รองจากเกาะเสม็ด และมีความน่าสนใจอยู่ที่เป็นสถานที่ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเกาะชมได้

แต่เดิมเกาะมันในเคยเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้พระราชทานเกาะนี้ให้กรมประมง และมีพระราชประสงค์เพื่อให้อนุรักษ์เต่าทะเลโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลอยู่

ซึ่งบนเกาะมันในนี้เป็นที่ตั้งของ "ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก" ที่เป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล โดยจะมี "อาคารพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล" จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเลให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบกัน



ใกล้กับตัวอาคารจะเป็น "บ่ออนุบาลเต่า" ที่เป็นบ่อคอนกรีตใช้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ลูกเต่าตัวน้อย ไล่ไปถึงบ่อของเต่าวัยเจริญพันธุ์ เต่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตัวใหญ่หลายขนาด อายุนับสิบปีหลากสายพันธุ์จัดแสดงให้ชมกันอีกด้วย

สำหรับเต่าทะเลหลักๆ ที่จัดแสดงให้ชมกันที่นี่ได้แก่ "เต่าตนุ" มีลักษณะหัวเล็กปากมน เกล็ดมีลายสีน้ำตาลเหลือบขาวและดำ ขนาดโตเต็มที่ 120 ซม. หนัก 150 กก. พบอาศัยบริเวณชายฝั่ง กินหญ้าและสาหร่ายทะเลเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่บริเวณชายหาดของหมู่เกาะคราม หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะอาดังราวี และเกาะกระ

"เต่ากระ" มีลักษณะ จะงอยปากแหลมเหมือนเหยี่ยว เกล็ดหลังซ้อนกันสีน้ำตาลอมเหลือง ความสวยงามของเกล็ดทำให้ถูกล่าไปใช้ทำเครื่องประดับจำนวนมาก อาศัยบริเวณแนวปะการัง กินฟองน้ำและสัตว์ทะเลหลากชนิดในแนวปะการัง มีความสามารถที่จะสะสมสารพิษในร่างกายได้ ทำให้คนที่กินเนื้อเต่าชนิดนี้ถึงตายได้ ขนาดโตเต็มที่ 95 ซม. หนัก 60 กก.

และสุดท้ายคือ "เต่าหญ้า" เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็ก โตเต็มที่ยาว 75 ซม. หนัก 50 กก. กระดองมีสีเทา มีเกล็ดด้านข้าง 6-9 คู่ อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง กินสัตว์น้ำต่างๆ ได้แก่ กุ้ง หอย ปู และปลา

นอกจากจะได้ความรู้จากเต่าทะเลกันแล้ว ชายหาดของที่เกาะมันในก็สวยงามไม่แพ้กัน แถมยังมีแนวปะการังน้ำตื้นให้สายดำน้ำได้เพลิดเพลินกันอีกด้วย


https://mgronline.com/travel/detail/9630000106106


*********************************************************************************************************************************************************


โชว์นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง! เอสซีจี-ทช.-จุฬาฯ ร่วมกันสานต่อ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างยั่งยืน



จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรทางทะเลรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและปะการังนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง และการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงนำไปสู่ความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาพัฒนากับวัสดุ Advanced Materials ขึ้นรูปการพิมพ์แบบ 3 มิติ เป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง

นับเป็นการสร้างต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริงใกล้เคียงธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ความร่วมมือนี้ครอบคลุมไปถึงการศึกษา วิจัย ติดตามผลตามแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โดยมีการจัดงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX 2020) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญขององค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทยที่มาร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้จัดงานจึงได้หยิบยกเรื่อง การพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาเป็นหัวข้อหนึ่งในการเสวนา โดยมี อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และ ชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution จากเอสซีจี ร่วมเสวนาถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนารูปแบบวัสดุเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการัง

อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลถือเป็นภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินกิจกรรม โครงการ และการกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลกลับมาสมบูรณ์ แต่เนื่องจากทะเลมีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงต้องทำงานร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เครือข่ายประชาชน เพื่อช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยดำเนินการฟื้นฟูปะการังอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาวัสดุในรูปแบบปะการังเทียม แต่รูปแบบที่ดำเนินการยังไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และยังคงต้องปรับรูปแบบปะการังเทียมให้มีประสิทธิผล สำหรับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ทช. จึงได้ร่วมมือกับเอสซีจี และจุฬาฯ ในการจัดทำโครงการพัฒนารูปแบบฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่มีรูปทรงคล้ายคลึงปะการังธรรมชาติและมีความเหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และจากผลการติดตามการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ"

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ปะการังเทียมที่มีในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาอย่างแน่ชัดว่ารูปแบบใดเหมาะสมสามารถช่วยฟื้นฟูปะการังได้เห็นผลจริงอย่างยั่งยืน ดังนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้พัฒนารูปแบบของวัสดุลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ในชื่อว่า "นวัตปะการัง" ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing ขึ้นรูปวัสดุได้เสมือนจริงและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในท้องทะเลเป็นอย่างมาก พร้อมด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาข้อมูล วิจัย ออกแบบ และสำรวจพื้นที่ หลังจากที่ได้วัสดุที่ผลิตจาก 3D Cement Printing จากเอสซีจี ทีมงานได้ทดสอบประเมินผลหลายด้าน เช่น การทดสอบการต้านกระแสน้ำ การจมตัว การทดสอบการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ความคุ้นเคยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งหลังจากทดลองนำไปวางจริง และติดตามประเมินผล พบว่าผลลัพธ์ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังมองไปถึงอนาคตในการพัฒนารูปแบบปะการังเทียมเหล่านี้ให้มีประโยชน์มากขึ้น เช่น สามารถใช้เป็นที่ติดทุ่นเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำของ ทช. ซึ่งปกติแล้วจะต้องไปติดทุ่นที่ปะการังธรรมชาติ หากทำได้ก็จะลดผลกระทบและการรบกวนปะการังธรรมชาติได้เป็นอย่างมาก"

ชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution จากเอสซีจี กล่าวถึงแนวคิดในความร่วมมือพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งของไทย ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing "เอสซีจี มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด Passion for Better Green Society อันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทาง CE ? Circular Economy ซึ่งความร่วมมือระหว่างเอสซีจี ทช. และจุฬาฯ ในครั้งนี้ เอสซีจีได้นำเอาเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3D Cement Printing ร่วมกับการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์ขึ้นเองที่มาจากเศษคอนกรีตจากการรื้อถอนอาคารเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน ด้วยวิธีการฉีดขึ้นรูปเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมกันศึกษาทดลอง ปรับปรุงพัฒนาการออกแบบการขึ้นชิ้นงาน เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ประเทศไทยจะใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย คืนความสมบูรณ์ให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล หรือต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเป็นแหล่งปะการังทดแทนสำหรับการท่องเที่ยว ลดการรบกวนปะการังธรรมชาติให้มากที่สุด

จะเห็นว่าการพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะสำหรับตัวอ่อนปะการังในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือจากภาครัฐบาล สถานศึกษา และภาคเอกชน ที่มีแรงบันดาลใจร่วมกันในการมุ่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 3D Cement Printing อันแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากองค์กรใดสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับเอสซีจีในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล สามารถเข้าร่วมสนับสนุน ศึกษา ต่อยอด เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลของไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000105537

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก บ้านเมือง


ช่วยพะยูนได้อีก1 ชีวิต หลังนอนเกยตื้น



เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ต.ค. ที่ชายหาดแหลมโต๊ะชัย หมู่ 1 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง มีชาวบ้านพบพะยูนเพศเมีย ตัวโตเต็มวัย สภาพอ้วนท้วมสมบูรณ์ น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ยาวประมาณ 180 ชม.เกยตื้นนอนแน่นิ่ง มีน้ำตาไหลพรากออกมาจากตัวตาทั้ง 2 ชาวบ้านจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 คนได้รีบช่วยกันนำผ้าขาวม้าพยุงพะยูนตัวดังกล่าวลงน้ำได้อย่างปลอดภัย สร้างความปลาบปลื้มและโล่งใจให้กับผู้ที่ช่วยเหลือเป็นอย่างมาก

นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง ได้รับการเปิดเผยว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากลูกบ้านที่ได้ไปวางอวนดักปลาว่าพบพะยูนนอนเกยตื้นอยู่บนชายหาดดังกล่าว ห่างจากน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร ตนเองจึงได้ประสานไปยังผู้ช่วยและรีบเดินทางเข้าไปตรวจสอบเมื่อไปถึงพบว่าพะยูนตัวดังกล่าวนอนแน่นิ่งมีน้ำตาไหลพรากออกมาจากดวงตาทั้งสองดวง แต่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันไม่มีอุปกรณ์อื่นๆที่สามารถจะช่วยเหลือได้มีเพียงผ้าขาวม้ามาก็เลยใช้ผ้าขาวม้าสอดเข้าใต้ลำตัวพะยูนทำให้พะยูนตัวดังกล่าวดิ้นเพื่อที่จะไม่ให้คนที่ไปช่วยเหลือเข้าใกล้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือนำลงทะเลได้อย่างปลอดภัย และว่ายไปอย่างทันที เบื้องต้นคาดว่าน่าจะกลับลงน้ำไม่ทันในช่วงน้ำลงเมื่อรุ่งเช้าที่ผ่านมา

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนัก แต่ก็มีให้เห็นบ้าง ซึ่งหากไม่มีชาวบ้านหรือใครไปพบเจอพถยูนที่เกยตื้นไม่สามารถตะเกียกตะกายลงในน้ำทะเลได้อย่างแน่นอน เพราะว่าพื้นที่หาดไม่มีน้ำประกอบกับเป็นพื้นที่สูง มีโอกาสสูงที่จะเกยตื้นเสียชีวิตได้ แต่ส่วนใหญ่หากพะยูนเกยตื้นชาวบ้านจะพบเห็นและช่วยเหลือเป็นประจำ และร่วมด้วยช่วยกันในการอนุรักษ์พะยูนมาโดยตลอดถือเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับเกาะลิบงมาอย่างช้านาน.


https://www.nationtv.tv/main/content...mpaign=foreign

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 19-10-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


นิวซีแลนด์สลด หลังพบซากวาฬเกยตื้นพร้อมกันกว่า 10 ตัว



กรมอนุรักษ์ของนิวซีแลนด์เผย พบซากวาฬมากกว่า 10 ตัว ตายหลังเกยตื้นขึ้นมาติดบนชายฝั่งของเกาะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศ อาสาช่วยเหลือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครของนิวซีแลนด์ได้ใช้ความพยายามตลอดทั้งวันในการช่วยเหลือฝูงวาฬกว่า 25 ตัว ที่ขึ้นมาเกยตื้นบนชายฝั่งในคาบสมุทรโคโรแมนเดล พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของฝูงวาฬนำร่องที่มีสมาชิกราว 40-50 ตัว

แม้จะมีความพยายามในการช่วยเหลือพวกมันให้กลับลงสู่ทะเล แต่สุดท้ายก็พบว่ามีวาฬจำนวนหนึ่งที่ตายหลังจากเกยตื้นเป็นเวลานาน และบางส่วนตายเพราะเกยตื้นขึ้นไปอยู่บนโขดหิน



ขณะที่กระแสน้ำขึ้นสูงในช่วงกลางดึกของคืนวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ได้ช่วยเหลือวาฬหลายตัวให้กลับลงสู่ทะเลได้อีกครั้ง แต่กรมอนุรักษ์ก็พบว่ายังคงมีวาฬที่เกยตื้นขึ้นมาอีกรอบในเช้าวันอาทิตย์ รวมแล้วพบวาฬที่ตายมากกว่า 10 ตัว ส่วนวาฬเกยตื้นที่ได้รับความช่วยเหลือสำเร็จได้เริ่มกลับเข้าสู่ฝูงแล้วเช้าวันนี้


https://www.nationtv.tv/main/content...mpaign=foreign

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:48


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger