เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 19-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคใต้ตอนบน อ่าวไทยตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทย ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ซันปา" กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 ? 19 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออก และอ่าวไทย เข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 20 ? 24 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 19 ? 20 ต.ค. 66 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนตกต่อเนื่องและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 20 ? 22 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น



******************************************************************************************************



พายุ "ซันปา" ฉบับที่ 8 (279/2566)

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (19 ต.ค. 66) พายุโซนร้อน "ซันปา" มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าสูอ่าวตังเกี๋ย โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย







__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 19-10-2023 เมื่อ 02:00
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 19-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


'โลกเดือด' ทะเลรับบทหนัก กิจกรรมมนุษย์สร้างหายนะสัตว์นํ้า



"ภาวะโลกเดือด" ประกอบกับการปนเปื้อนสารเคมีจากภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม จากกิจกรรมของมนุษย์ กำลังทำให้ออกซิเจนหายไปจากมหาสมุทร และคุกคามชีวิตของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์นํ้าขนาดใหญ่กำลังขาดอากาศหายใจนักวิจัยเผยปริมาณออกซิเจนในทะเลตํ่าลง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทร เมื่อออกซิเจนในท้องทะเลกำลังหมดลง

พื้นที่มหาสมุทรมากกว่า 700 แห่ง มีปริมาณออกซิเจนอยู่ในระดับตํ่าจนอันตราย เมื่อเทียบกับอีก 45 แห่งในช่วงปี 2503 นักวิจัยระบุว่า การสูญเสียออกซิเจนในทะเลนี้ เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลหลายสปีชีส์ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น ฉลาม ปลาทูน่า และปลากระโทงทั้งหลาย ซึ่งภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของนํ้าทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนตํ่าลง ตอนนี้ มหาสมุทรจะสูญเสียปริมาณออกซิเจนไปอีก 3-4% ภายในปี 2643 และจะส่งผลกระทบต่อระดับนํ้าทะเลที่ 1,000 เมตรจากผิวนํ้า ซึ่งเป็นระดับที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด

จากข้อมูลคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การทำประมงเกินขนาด รวมถึงปัญขยะพลาสติกในทะเล ต่างเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหาสมุทรทั่วโลก ตอนนี้ทะเลมีสภาพเป็นกรดมากกว่าในช่วงก่อนอุตสาหกรรมมากกว่า 26% เนื่องจากดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในชั้นบรรยากาศ

"รัตนาวลี พูลสวัสดิ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา กรมประมง ระบุว่า นํ้าทะเลดูดซับพลังงานความร้อนของโลกไว้ 90% เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเมื่อรวมกับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ประมาณ 30% เป็นอีกตัวการที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในนํ้าลดลง นำไปสู่สภาวะ "นํ้าทะเลมีความเป็นกรด" โดยเฉลี่ยนํ้าทะเลจะสูงขึ้นปีละประมาณ 3.1 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลวัยอ่อน แหล่งผสมพันธุ์ อย่างเต่า ปลา รวมถึงกุ้ง

รวมถึงชุมชนประมงชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จะต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ชาวประมงอาจสูญเสียอาชีพ หรือพึ่งพาท้องทะเลได้น้อยลง เพราะโลกร้อนทำให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำน้อยลงในภาคการประมงนั้นต้องมีการรับมือการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสามารถทำได้ด้วยการใช้นํ้าหรือทรัพยากรอย่างมีคุณค่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพนํ้า และอุณหภูมินํ้าในแหล่งอนุบาลอีกด้วย

"การควบคุมนํ้าทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ยากเพราะมีหลายปัจจัยอย่างภาวะโลกร้อน นํ้าเสียในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งการรับมือทำได้แค่ในเบื้องต้นเท่านั้น สัตว์ทะเลได้มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่ออุณหภูมินํ้าที่เปลี่ยนไปมากขึ้น อย่างการเปลี่ยนฤดูกาลการวางไข่ การฟื้นตัวของปะการังที่ฟอกขาว แต่ก็ยังมีสัตว์ทะเลบางส่วน รวม 20-30% เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์"

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะเลร้อนขึ้นอย่างเร็ว และส่งผลรุนแรง ส่งผลต่อระบบนิเวศยํ่าแย่แน่นอน โดยเฉพาะปะการังที่จะโดนก่อนเพื่อน สำหรับทะเลไทย อุณหภูมินํ้าทะลุสถิติร้อนสุดเมื่อปีก่อนเรียบร้อยแล้ว ที่น่าเป็นห่วงเมื่อนํ้าทะเลร้อน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สัตว์นํ้าหนี ตายประมงยํ่าแย่ เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าเกิดปัญหา

ขณะเดียวกันนํ้าทะเลร้อนยังเพิ่มพลังให้พายุ ภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้น และทำให้ดูดซับความร้อนได้น้อยลง ในอากาศย่อมร้อนขึ้นอย่างเร็ว เมื่อนํ้าทะเลร้อนจะดูดก๊าซเรือนกระจกได้น้อยลง ยิ่งเกิดการสะสมในบรรยากาศ โลกยิ่งร้อนขึ้น นํ้าแข็งขั้วโลกยิ่งละลาย ระดับนํ้าทะเลสูงขึ้นไวกว่าที่เคยคาดเกิดปัญหากับประเทศริมชายฝั่ง เช่น เมืองไทยของเรา ยังมีอีกหลายข้อ เมื่อทะเลใกล้หมดสภาพของการเป็นเครื่องกักเก็บความร้อนโลก อุณหภูมิจะสูงขึ้นเร็วเป็นก้าวกระโดด

สำหรับการแก้ปัญหา ขึ้นกับว่า เราจะเอาจริงแค่ไหน จะกล้าเจ็บตัวแค่ไหน ไม่มีการรักษาใดที่ไม่เจ็บไม่จ่ายตังค์ โลกร้อนก็เช่นกัน และยิ่งกว่านั้น เพราะเราทำกับโลกมานาน ปัญหาคือ เราเบือนหน้าหนีปัญหา พยายามซ่อนไว้ เราไม่อยากเจ็บตัวในวันนี้เพื่อผลในวันหน้า เพราะเราคิดว่า ความสบายเล็ก ๆ ในวันนี้ดีกว่าความเดือดร้อนใหญ่ ๆ ในวันหน้า นั่นทำให้เราไม่สามารถเจ็บแต่จบ เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่รอเราอยู่ คือ ความเดือดร้อน ที่น่าเศร้า คือ ความเดือดร้อนจะไม่เท่ากัน ผมอาจเบ้ปากเมื่อเจอบิลค่าไฟ แต่ชาวประมงที่ออกเรือไปหาปลา แต่ไม่ได้ปลา ชาวนาชาวสวนที่ฝนไม่ตกมา มันเจ็บปวดมากกว่าเยอะ

พูดได้ว่า ณ เวลานี้วิกฤติสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ยํ้าเตือนแรง ๆ กับมนุษย์แล้ว ทั้งจากความร้อนที่รุนแรงขึ้น ไฟไหม้ป่าที่ถาโถม ใช้เวลาหลายเดือนกว่ายุติปัญหา พายุ ฝน พัดกระหนํ่า สร้างความเสียหายอย่างหนัก เหตุการณ์นํ้าท่วม สร้างความเสียหายทั้งภาคเกษตรกรรม ทั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงหน้าฝนที่ยาวนานกว่าปกติ สิ่งสำคัญที่สุดมนุษย์ต้องร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งเริ่มจากตัวเรา ครอบครัว องค์กร ภาครัฐ เปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำรวจติดตาม เพื่อป้องกันแก้ปัญหาได้ทันท่วงที


https://www.dailynews.co.th/news/2810151/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 19-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


"เกาะสิมิลัน" เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวสุดคึกคัก คนแห่เช็กอิน "หินเรือใบ-หาดเจ้าหญิง"

อช.หมู่เกาะสิมิลัน เปิดฤดูกาลท่องเที่ยว 66-67 แล้ว วันแรกสุดคึกคักมีนักท่องเที่ยวกว่า 1,300 คน แห่เที่ยว เกาะสิมิลัน-เกาะเมียง และไม่พลาดเช็กอิน 2 จุดไฮไลต์ประจำเกาะทั้ง 2 คือ "หินเรือใบ-หาดเจ้าหญิง"



เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา หลัง "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน" ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เปิดการท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ และการพักแรมอีกครั้ง ในวันเปิดฤดูกาล (15 ต.ค.) มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติชุดแรก เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกว่า1,300 คน

โดยเรือสปีดโบ้ทได้นำนักท่องเที่ยวเดินทางออกจากท่าเรือบ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง เพื่อไปทำกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ในหมู่เกาะสิมิลัน เริ่มจากจุดแรกเป็นจุดดำน้ำดูปะการังและปลาสวยงาม ที่หน้าเกาะเก้า หรือเกาะบางู จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่เกาะแปด หรือเกาะสิมิลัน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 เกาะไฮไลต์ ที่สามารถขึ้นฝั่งเที่ยวได้ในอุทยานฯแห่งนี้

เกาะแปด หรือ "เกาะสิมิลัน" เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน สามารถทำกิจกรรมดำน้ำได้ทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น เกาะแปดมีไฮไลต์คือ "หินเรือใบ" สัญลักษณ์แห่งหมู่เกาะสิมิลัน ที่มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ดูคล้ายใบเรือยักษ์ตั้งอยู่ริมหน้าผาแบบหมิ่นเหม่ชวนให้สงสัยว่าตั้งอยู่ได้อย่างไร ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต้องเดินขึ้นเขาไปเล็กน้อยเพื่อไปสัมผัสกับหินเรือใบ ซึ่งบนนั้นเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่จะมองเห็นท้องทะเลได้อย่างสวยงามกว้างไกล

นอกจากนี้เกาะแปดยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ "อ่าวเกือก" เป็นรูปโค้งเหมือนเกือกม้า หาดทรายขาวละเอียดเนียนนุ่มน้ำทะเลสวยใสน่าเล่น อีกทั้งยังมีหินรูปร่างแปลกตาอยู่ทางด้านเหนือของเกาะ ได้แก่ หินรูปรองเท้าบู๊ท หินรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก

ขณะที่เกาะเมียง หรือ เกาะสี่ ที่เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวไฮไลต์ นั้นมีจุดท่องเที่ยวสำคัญอยู่ที่ "หาดเจ้าหญิง" และ "หาดเล็ก" รวมถึงเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ สล.1 (เกาะเมียง) ที่มีทั้งร้านค้าสวัสดิการของอุทยานฯ หน่วยรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือพังงา และหน่วยช่วยเหลือพยาบาล

สำหรับหาดเจ้าหญิง เป็นหาดหน้าเกาะเมียงหรือเกาะสี่ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีหาดทรายขาวละเอียดยาวประมาณ 400 เมตร นับเป็นทรายขาวสวยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย น้ำทะเลสีฟ้า เป็นจุดลงเล่นน้ำและดำน้ำตื้น มีปะการังกระจายอยู่เป็นกลุ่มต่อเนื่องไปถึงแนวโขดหิน

ส่วนหาดเล็ก ที่เป็นหาดอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ สามารถเดินจากหาดเจ้าหญิงตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 300 เมตร เป็นป่าดิบชื้น ระหว่างทางหากโชคดีก็จะพบกับปูไก่ ปูเจ้าถิ่นของหมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณหาดเล็กนี้ยังมีแนวปะการังขนาดเล็กกระจายเป็นหย่อม ๆ มีปลาทะเลสวยงามตามแนวปะการัง เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว หรือที่คนนิยมเรียกว่า "นีโม" ปลาผีเสื้อ และหอยมือเสือ รวมถึงเต่าทะเล

สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวหมูเกาะสิมิลันปี 2566-2567 เปิดให้เข้าเที่ยวชมระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2566-15 พฤษภาคม 2567


https://mgronline.com/travel/detail/9660000093863

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 19-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ครม.เศรษฐาเคาะ "แลนด์บริดจ์" เดินหน้าโรดโชว์ทุนต่างชาติผุดเฟสแรก 5.22 แสนล้าน



ครม.เศรษฐาเคาะลงทุน "แลนด์บริดจ์" มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เดินหน้าโรดโชว์ทุนต่างชาติ สร้างเฟสแรก 5.2 แสนล้าน ผุดท่าเรือน้ำลึกชุมพร, ระนอง, มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน คาดประมูลปี 68 เปิดบริการ ต.ค. 73

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในลำดับต่อไป


โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย

1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร

2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ

และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ


รัฐจัดหาที่ดิน-เอกชนลงทุน PPP สัมปทาน 50 ปี

โดยมีรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้
การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579

การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577, ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582


@เปิดแผนงาน-วงเงินลงทุน 4 ระยะ ลุยเฟสแรก 5.22 แสนล้านก่อน

โดยวางกรอบระยะเวลาการพัฒนา 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย

งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย

งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย

งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจำนวน 39,361.04 ล้านบาท

และระยะที่ 4 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย

งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี


@เร่งจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ คู่ขนาน

นอกจากนี้ โครงการจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

ขณะที่ตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือฝั่งอันดามันในจังหวัดระนองปัจจุบันได้กำหนดตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่ ทส.อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก แต่อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตแนวกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่เสนอขึ้นทะเบียน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่จะส่งเสริมการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อจูงใจนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย ประกอบด้วย การจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC), จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองและพัฒนาอุตสาหกรรม


@กางไทม์ไลน์โรดโชว์ปี 66-67 ประมูลปี 68 ก่อสร้าง 5 ปี

ตามเอกสารระบุต่อไปถึงแผนการดำเนินโครงการ หลังจาก ครม.รับทราบและให้ผลักดันโครงการแล้ว ช่วงเดือน พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) จากนั้นทั้งปี 2567 จะดำเนินการจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

ประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เมษายน-มิถุนายน 2568 ก่อนที่จะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างเดือน ม.ค. 2568-ธ.ค. 2569 และเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือนก.ค.-ส.ค. 2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ในเดือน ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 เปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2573


https://mgronline.com/business/detail/9660000093672

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 19-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


สร้าง 'กระเช้า' ขึ้นภูกระดึง เสนอนายกฯ ครม.สัญจร จังหวัดเลย



17 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพองหนีบ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย นายธรรมนูญ ภาคธูปผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5)ได้ร่วมกับนายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัดเลย นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สำนักงานเลย นส.จุฑามาศ กุลรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย นายเกรียงฤทธิ์ผิวเหลือง รองนายก อบจ.เลย นายจุลกร เมืองแก้ว ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เตรียมข้อมูลเดินหน้าโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

โดยมีนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเพื่อนำเสนอกับรัฐบาลเศรษฐา ในการประชุม ครม.สัญจร ในเดือนพฤศจิกายน 2566 นายธเนศ หาญถนอม ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เผยว่าในช่วงสมัยของท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2549 ได้มาประชุม ครม.สัญจร ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในสมัยนั้นหอการค้าจังหวัดเลย ร่วมกับภาคเอกชนเสนอให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้น

ต่อมาทางรัฐบาลทักษิณ ให้อพท.5 เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นจนผ่านรัฐบาลมาหลายๆสมัยและทุกครั้งเมื่อได้รัฐบาลใหม่ก็มักจับเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้นมาทบทวนการสร้างขึ้นมาอีกครั้ง แต่เรื่องก็หายเงียบไป และในสมัยนี้ก็เช่นกัน หลังจากที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดรัฐบาลโดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู

ทางจังหวัดเลย หน่วยงานท่องเที่ยว อพท. 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย อบจ.เลยรวมทั้งหอการค้า จึงประชุมโดย อพท. 5ได้รวบรวมข้อมูลการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพื่อที่จะนำเสนอกับรัฐบาลในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยหอการค้าจังหวัดเลย จะขอเป็นผู้เสนอให้กับ ครม.รับทบทวนให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง ถือว่าครั้งนี้เป็นโอกาสและมีความหวังอีกครั้ง

ครั้นเมื่อในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้มาหาเสียงที่จังหวัดเลย ทั้งแกนนำ มีคุณหมอชลน่าน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้รับปากคนจังหวัดเลย หากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาล จะต่อยอดนโยบายท่านทักษิณ จะพลักดันสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอย่างแน่นอน

ด้านธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 เผยอีกว่า ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง อพท.5 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุดหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพให้มีน้อยที่สุด

กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและจะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้จัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในระดับสากล


https://www.naewna.com/likesara/763346

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:11


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger