#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีลมแรง ในขณะที่ลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวและอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. คาดหมาย0 ในช่วงวันที่ 6 - 7 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 12 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และคลื่นลมมีกำลังอ่อนลง ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
เปิดเมนูสัตว์น้ำวัยอ่อน : จริงหรือที่ว่า "ถึงไม่กิน เขาก็จับมาอยู่ดี" ? ................. โดย Sirichai Leelertyuth หลายคนอาจจำได้ว่า สมัยก่อนเรามีปลาทูไทย หรือหอยแครง ตัวใหญ่ และราคาถูก แต่ผ่านไปไม่กี่ปี อาหารทะเลหลายชนิดก็หายากขึ้น ราคาแพงขึ้น จากการลดจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากรสัตว์น้ำในทะเล สาเหตุหนึ่งที่พบได้รอบตัวคือปลาเล็กปลาน้อย ลูกปลา หรือไข่ปู ที่ขายตามท้องตลาด การกวาดจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในทะเลได้ตัดวงจรชีวิตมหาศาลก่อนได้โตไปขยายพันธุ์ จนสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนในธรรมชาติไม่ทันการถูกจับ ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ อาหารทะเลบางชนิดที่เรากินกันตอนนี้อาจหาไม่ได้แล้วในอนาคต เราจะไปเปิดตัวอย่างเมนูสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ควรเลิกกิน พร้อมเคลียร์ข้อสงสัยว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร และจริงหรือที่ว่า "ถึงไม่กิน เขาก็จับมาอยู่ดี" กับ "คุณมด" ภควรรณ ตาฬวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านการจัดการประมงอย่างยั่งยืน ที่ผ่านการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศมาทั้ง Southeast Asian Fisheries Development Center (SEAFDEC), Marine Stewardship Council (MSC), WWF, แพลตฟอร์ม Global Dialogue on Seafood Traceability, โครงการด้านขยะทะเล ของ World Bank และยังเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านประมงยั่งยืนชื่อ Sea Purpose ปูไข่นอกกระดองที่กำลังรอฟักไข่ เมนูปูไข่เยิ้มๆ ที่ดับวงจรชีวิตลูกปูนับแสนถึงล้าน เมนูแรกที่เราจะพูดถึงวันนี้ คือ เมนูปูไข่ ที่หลายคนชื่นชอบ ทั้งน้ำพริกไข่ปู ปูไข่ดอง ปูไข่นึ่งนมสด และอื่นๆ อีกหลายเมนูที่เป็นที่นิยมขายกันทั้งในพื้นที่ออนไลน์ และออฟไลน์ แต่เราเคยสงสัยหรือไม่ว่า เมนูปูไข่ตรงหน้าเกี่ยวโยงไปถึงระบบนิเวศรอบตัวอย่างไรบ้าง ปูไข่มากจากไข่ของแม่ปูม้า หรือแม่ปูทะเลที่พร้อมจะวางไข่ แต่ละตัวจะผลิตลูกปูได้นับแสนถึงสองล้านตัว ทั้งนี้ ปูไข่ตามท้องตลาดจะพบได้ทั้ง "ไข่ในกระดอง" ซึ่งเป็นที่นิยมกินโดยทั่วไป และ "ไข่นอกกระดอง" หรือระยะที่ไข่ปูใกล้ฟัก ซึ่งเป็นที่นิยมน้อยกว่า ที่ผ่านมามีการรณรงค์ในโลกออนไลน์ไม่ให้กิน "ไข่นอกกระดอง" ด้วยเหตุผลว่าเป็นไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิและใกล้จะฟักเป็นลูกปู ขณะเดียวกันกลับไม่มีการพูดถึงผลกระทบของการกิน "ไข่ในกระดอง" คุณมดมองว่าการบริโภคปูไข่ทั้งสองแบบส่งผลกระทบไม่ต่างกัน คือการตัดวงจรชีวิตก่อนที่ไข่จะได้ฟักและเพิ่มจำนวนประชากรปูในทะเล ปูไข่ทั้ง 2 แบบ คือระยะที่ต่างกันในวงจรการสืบพันธุ์เท่านั้น หลังการผสมพันธุ์ ปูตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อของปูตัวผู้ไว้ในท้อง และสร้างไข่สีส้มอมเหลืองในกระดอง พัฒนาจนมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ไข่พร้อมผสมกับน้ำเชื้อ ระยะนี้เรียกว่า "ไข่ในกระดอง" หลังจากนั้น ไข่จะเคลื่อนจากในกระดองมาอยู่ที่จับปิ้ง (ส่วนท้อง) ของปูตัวเมีย ผ่านท่อซึ่งเก็บนำ้เชื้อไว้ ไข่จะผสมกับนำ้เชื้อในตอนนั้น ช่วงแรกไข่จะยังมีสีส้มก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ระยะนี้เรียกว่า "ไข่นอกกระดอง" ท้ายที่สุด แม่ปูจะเขี่ยไข่ให้ลอยไปในทะเลเพื่อฟักตัว "มีการพูดคุยในอินเตอร์เน็ตว่า กินไข่สีส้มได้ แต่ไข่สีดำต้องปล่อย หรืออย่ากินไข่นอกกระดองไม่ว่าจะเป็นสีอะไร แต่กินไข่ในกระดองได้ ที่จริงมันเป็นระยะไข่ที่ต่างกันเท่านั้น ไข่นอกกระดองมีการปฏิสนธิแล้วไม่ว่าจะสีอะไร ส่วนไข่ในกระดอง บางคนอาจจะมองในมุมว่าไข่ยังไม่ได้ปฏิสนธิ แต่ถ้ามองดูระยะการสืบพันธุ์ การที่แม่ปูสร้างไข่จนเต็มในกระดองก็เพราะได้รับนำ้เชื้อแล้ว และพัฒนาเพื่อให้พร้อมที่จะผสมเวลาที่เคลื่อนตัวออกมานอกกระดอง การกินไข่ในกระดองก็คือการตัดโอกาสที่จะให้ลูกปูเกิดใหม่อยู่ดี? สำหรับชาวประมงแล้ว การเลี่ยงไม่จับปูไข่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นกัน เพราะชาวประมงเองก็ไม่สามารถทราบได้ว่าปูตัวไหนมีไข่อยู่ใต้กระดอง เมื่อเป็นเช่นนี้อาจจะเกิดคำถามว่า ?แล้วการรณรงค์เลิกกินไข่ในกระดอง จะลดการจับปูไข่ได้อย่างไร ?" คุณมดอธิบายว่าการนิยมกินหรือทำให้เป็นอาหารแนะนำเป็นการสร้างมูลค่าให้ปูไข่ หากชาวประมงออกจับปูแล้วมีโอกาส 50:50 ที่จะได้ปูไข่ซึ่งขายได้ราคาดี สิ่งที่ตามมาคือ ปริมาณการจับจะเพิ่มสูงขึ้น หากเราเลิกอุดหนุนปูไข่ ก็จะเป็นการหยุดสร้างเงื่อนไขให้ผู้ผลิตเพิ่มการจับเพื่อหาปูไข่มาสนองตลาด และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้ เช่น รณรงค์ให้ชาวประมงเลือกจับเฉพาะปูขนาดตัวโตเต็มวัย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ปูได้สืบพันธุ์ก่อนที่จะถูกจับ ปูตัวเล็กๆ ในส้มตำ การเพิ่มมูลค่าในจานอาหารที่กระทบระบบนิเวศ นอกจากไข่ปูม้าแล้ว ปูม้าวัยอ่อนหรือลูกปูม้าก็ยังเป็นที่นิยมในบางเมนูเช่นกัน เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นที่สังเกต เช่น ส้มตำปูม้า คุณมดแนะนำให้สังเกตขนาดปูม้าที่ใส่ในส้มตำ ว่าส่วนมากแล้วจะมีขนาดเล็กอย่างเป็นได้ชัด นั่นคือปูม้าที่ยังไม่โตเต็มวัยนั่นเอง สาเหตุที่ลูกปูม้ามักจะอยู่ในส้มตำ เป็นเพราะปูม้าตัวใหญ่จะสามารถขายได้ราคาเพราะมีเนื้อ ขณะที่ปูม้าตัวเล็กไม่ค่อยมีเนื้อ จึงนิยมนำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้ส้มตำแทน การกินลูกปูม้าสร้างผลกระทบที่คล้ายกับการกินไข่ปู นั่นคือการตัดโอกาสที่ปูม้าจะได้เติบโตไปถึงช่วงที่วางไข่ขยายพันธุ์ ให้เกิดการผลิตประชากรทดแทนการถูกจับ แม้การใส่ลูกปูม้าในส้มตำจะเป็นความชาญฉลาดในการสร้างมูลค่า แต่เป็นการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน "ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม ปลาจิ้งจ้าง" อาหารแคลเซียมสูง ที่ตัดโอกาสขยายพันธุ์ของปลากะตัก เราคงคุ้นเคยกับปลาอบกรอบตัวเล็ก ๆ สำหรับทานเล่นตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านของฝาก ที่ใช้ชื่อเรียกแตกต่างกัน ทั้งปลาข้าวสาร ปลาสายไหม หรือปลาจิ้งจ้าง เช่น ?เมี่ยงปลาสายไหม? ซึ่งเป็นปลาทอดกรอบคลุกเครื่องปรุง อีกเมนูที่นิยมตามร้านอาหารคือ ยำปลาข้าวสาร ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่เรากินกันอาจจะเป็นลูกปลาที่ถูกจับมาด้วยวิธีการประมงแบบทำลายล้าง ? Athit Perawongmetha / Greenpeace หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปลาตัวเล็กเหล่านี้คือลูกปลาขนาดเล็ก ที่ยังโตไม่เต็มที่ และจากความเข้าใจที่ว่า ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาจิ้งจ้าง คือชื่อชนิดปลาที่แตกต่างกัน และการโฆษณาบอกต่อว่าปลาทั้ง 3 ชื่อนี้ คือปลาโตเต็มวัยของแต่ละสายพันธุ์ และไม่ผิดที่จะนำมาบริโภค จึงความต้องการลูกปลาตัวเล็กเพื่อนำมาบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กรมประมงระบุชัดเจนว่าปลาทั้ง 3 ชื่อนี้เป็นปลาชนิดเดียวกัน นั่นคือลูกปลากะตักหรือปลาไส้ตันนั่นเอง ปลากะตักเป็นปลาที่นำมาผลิตน้ำปลา และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำในทะเล โดยเป็นสัตว์ที่กินแพลงตอนเป็นอาหาร และเป็นอาหารให้ปลาอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า การบริโภค ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาจิ้งจ้าง จึงเป็นการสนับสนุนการกวาดจับลูกปลากะตัก ซึ่งจะตัดโอกาสที่ปลาชนิดนี้จะได้วางไข่ขยายพันธุ์ กระทบสมดุลประชากรปลากะตัก และระบบนิเวศทะเลเป็นลูกโซ่ #Saveปลาทู หยุดกินลูกปลาทูมัน ปลาทูตัวเล็กในสลัดโรล ปลาทูไทย เป็นประเด็นร้อนช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อปริมาณปลาทูในอ่าวไทยลดลงอย่างน่าตกใจโดยเฉพาะช่วงปี 2558-2561 อ่าวไทยเคยมีการจับปลาทูได้ปีละ 1.2 แสนตัน ก่อนลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 10 ในปี 2561 คือ 11,306 ตัน สาเหตุสำคัญคือปลาทูวัยเจริญพันธุ์ที่พร้อมวางไข่ในอ่าวไทย ถูกจับไปมากถึงร้อยละ 90 จนเหลือพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไปวางไข่น้อย และมีปลาทูเกิดใหม่ไม่เพียงพอที่จะทดแทนการถูกจับ แม้ตอนนี้ปลาทูไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังกรมประมงออกมาตรการควบคุมการทำประมง แต่การฟื้นฟูปริมาณปลาทูยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฝั่งผู้บริโภค ในการหยุดบริโภคปลาทูขนาดเล็ก เพื่อให้มีปลาโอกาสเติบโตไปวางไข่ เมนูลูกปลาทูที่คุณมดต้องการให้ผู้บริโภคสังเกตก่อนซื้อ คือ สลัดโรลปลาทู อาหารสุขภาพยอดฮิต ที่มีความนิยมใช้ปลาทูขนาดเล็กแบบเห็นได้ชัด และเมนูของฝากตามแหล่งท่องเที่ยวและตลาดประมงบางแห่งคือ "ลูกปลาทูมัน" ซึ่งนิยมขายแบบตากแห้ง และมีการรณรงค์ให้หยุดบริโภคในช่วงที่ผ่านมา สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับและถูกนำมาอัดเป็นก้่อนเพื่อนำไปเป็นเหยื่อล่อในการจับปลาครั้งต่อไป ? Zhu Li / Greenpeace คำพูดว่า "ถึงไม่กินเขาก็จับมาอยู่ดี" นั้นไม่จริง : การปฏิเสธคือ message จากผู้บริโภคถึงผู้ผลิต เมื่อเราเห็นเมนูลูกปูลูกปลาอยู่ตรงหน้า อีกใจอาจจะคิดว่า "ถึงเราไม่กิน เขาก็จับมาทุกวันอยู่ดี เราเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก" คุณมดยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การปฏิเสธสินค้าที่ไม่ยั่งยืนในทุก ๆ วัน คือการส่ง message ให้คนขาย และผู้ผลิต รู้ความต้องการของผู้บริโภค และหยุดกระตุ้นการขายสินค้านั้น "หากเปรียบเทียบ ก็เหมือนหลอดพลาสติกที่ปักเข้ามาในแก้วน้ำ คนอาจถามว่า ต่อให้เราคืนหลอดมันก็ยังเป็นขยะใช่ไหม ใช่! แต่การคืนหลอดพลาสติกมันไปส่ง message พี่เห็นจริง ๆ จากร้านอาหารตามสั่งที่เป็นขาประจำ เมื่อเราส่งหลอดคืน 2-3 ครั้ง ครั้งต่อมาเขาเสิร์ฟน้ำโดยไม่ใส่หลอดมาให้เรา เขาเห็นการส่ง message และจำได้ สมมติมีคน 10 คนในวันเดียวยื่นหลอดกลับไปให้ ร้านน่าจะรู้สึกอะไรบางอย่างแล้ว" การที่คิดว่าลูกปูลูกปลาตัวเล็กๆ ถูกจับขึ้นมาแล้ว ไม่กินก็จะเสียของ จริงอยู่มันเสียของสำหรับวันนี้ คำถามคือ จะปล่อยให้เสียของอีกในวันพรุ่งนี้ วันต่อๆไปหรือเปล่า คุณมดย้ำว่าถึงเราไม่จะไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย แต่ความเปลี่ยนแปลงจากผู้บริโภค สามารถขยายตัวเป็นค่านิยมใหม่ ๆ หรือสร้าง norm ที่เปลี่ยนแปลงผู้ผลิตได้ "ถ้าเราบอกว่าไม่เอาสิ่งนี้ ไม่กินลูกปูลูกปลา ถึงจับมาหรือแปรรูปมาก็ขายไม่ออก ถึงจุดหนึ่งผู้แปรรูปและชาวประมงจะรู้ว่าจับมาก็ขายไม่ได้ ไม่คุ้มทุน เขาจะเริ่มมองวิธีอื่นว่าจะต้องขายสัตว์น้ำประเภทไหน และผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเอามาแล้วไม่มีคนกิน สุดท้ายก็จะไม่มีผู้ผลิต" นอกจากการหยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน คุณมดทิ้งท้ายว่าเราจะมีอาหารทะเลบริโภคอย่างยั่งยืนในอนาคตจริง ๆ ถ้าตลาดผู้บริโภคตื่นตัวถึงที่มาของอาหารทะเล ในประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดจะต้องการรู้ว่าสินค้ามีส่วนละเมิดสิทธิแรงงาน หรือกระทบระบบนิเวศหรือไม่ ซึ่งเร่งให้มาตรฐานรับรองการทำประมงอย่างยั่งยืนและคุ้มครองแรงงาน เข้ามาตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ตื่นตัวแล้ว นั่นคืออนาคตของตลาดผู้บริโภคไทยที่คุณมดอยากเห็น https://www.greenpeace.org/thailand/...e-marine-life/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ใกล้ชนเกาะที่อยู่เพนกวิน-แมวน้ำ หวั่นเกิดหายนะระบบนิเวศ หน้าผาตรงขอบภูเขาน้ำแข็งสูงเหนือระดับน้ำถึง 30 เมตร แต่ยังมีส่วนที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปอีกราว 200 เมตร ... ที่มาของภาพ,BFSAI/CORPORAL PHILIP DYE เครื่องบินของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร (RAF) ออกสำรวจและบันทึกภาพล่าสุดของภูเขาน้ำแข็ง A68a ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถึง 4,200 ตารางกิโลเมตร โดยภูเขาน้ำแข็งนี้แตกตัวแยกจากทวีปแอนตาร์กติกา ออกมาล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรได้เกือบ 3 ปีแล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดว่าภูเขาน้ำแข็ง A68a กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเข้าชนปะทะและเกยตื้นกับชายฝั่งเกาะเซาท์จอร์เจีย (South Georgia) ซึ่งจะทำให้ภูเขาน้ำแข็งปิดทางออกหากินในทะเลของฝูงสัตว์บนเกาะจำนวนมาก และอาจนำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่หลวงของระบบนิเวศแถบขั้วโลกใต้ ภาพล่าสุดที่ RAF บันทึกไว้ แสดงให้เห็นการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างรวดเร็วตรงขอบภูเขาน้ำแข็งบางส่วน รวมทั้งร่องรอยที่น้ำทะเลกัดเซาะฐานล่างของภูเขาน้ำแข็งจนเป็นโพรงลึก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะนำข้อมูลล่าสุดนี้ไปวิเคราะห์ เพื่อประเมินสถานการณ์และทำนายถึงเส้นทางการเคลื่อนตัวของมันต่อไป ขณะนี้ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ซึ่งมีขนาดมหึมาเท่ากับเกาะเซาท์จอร์เจีย อยู่ห่างจาก "เกาะสวรรค์" ของบรรดาสัตว์แถบขั้วโลกใต้อย่างเพนกวินและแมวน้ำนับแสนตัวออกไปราว 200 กิโลเมตร ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่าภูเขาน้ำแข็ง A68a (ซ้าย) มีขนาดใหญ่โตเท่ากับเกาะเซาท์จอร์เจีย (ขวา) ที่มาของภาพ,COPERNICUS SENTINEL DATA (2020)/PIERRE MARKUSE หาก A68a ชนเข้ากับชายฝั่งของเกาะในอีกหลายเดือนข้างหน้าจริง ก้อนน้ำแข็งที่กว้างใหญ่เท่ากับมณฑลหนึ่งของสหราชอาณาจักรนี้ จะติดตื้นอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ก่อนที่จะละลายหายไปได้หมด บรรดานักอนุรักษ์หวั่นเกรงกันว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่บนเกาะจะต้องอดอยากจนพากันล้มตายหรือถึงขั้นสูญพันธุ์ไป เนื่องจากภูเขาน้ำแข็งจะปิดทางออกหาอาหารในมหาสมุทรเป็นเวลานาน มวลน้ำแข็งบางส่วนที่แตกตัวแยกออกมา มีขนาดใหญ่พอจะเรียกได้ว่าเป็นภูเขาน้ำแข็งเช่นกัน ที่มาของภาพ,BFSAI/CORPORAL PHILIP DYE อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมีความหวังว่ากระแสน้ำอาจช่วยพัดพาให้ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ลอยอ้อมลงไปทางใต้ของเกาะ ก่อนที่จะวกขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือและเจอเข้ากับกระแสน้ำอุ่น ซึ่งจะทำให้มันละลายตัวได้เร็วขึ้น แทนที่จะชนเข้ากับชายฝั่งด้านใต้ของเกาะโดยตรงอย่างที่หวั่นเกรงกัน เกาะเซาท์จอร์เจียเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ในแถบขั้วโลกใต้จำนวนมาก https://www.bbc.com/thai/features-55204899
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|