เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 29-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default Coelacanth ปลาดึกดำบรรพ์ที่ยังไม่สูญพันธุ์


Coelacanth ปลาดึกดำบรรพ์ที่ยังไม่สูญพันธุ์ ........................ โดย สุทัศน์ ยกส้าน


Smith กับปลา coelacanth ตัวที่ 2 ที่จับได้ในบริเวณหมู่เกาะ Comores

การค้นพบทางชีววิทยาที่สำคัญชิ้นหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1938 ขณะ มาร์โจรี คอร์ทีเนย์-ลาติเมอร์ (Marjorie Courtenay-Latimer) ภัณฑารักษ์แห่งเมืองอีสต์ลอนดอน ประเทศแอฟริกาใต้ กำลังเดินตลาด เธอได้เห็นปลาตายตัวหนึ่ง ลำตัวสีน้ำเงินซีด ยาวประมาณ 1.50 เมตร และหนักราว 60 กิโลกรัม ตามตัวมีเกล็ดสีขาวแซมประปราย ครีบและหางของปลาตัวนี้มีลักษณะแตกต่างจากปลาทั่วไปมาก ในฐานะนักชีววิทยา เธอรู้สึกสนใจปลา “ประหลาด” ตัวนี้มาก จึงวาดภาพหยาบๆ ส่งไปให้ศาสตราจารย์เจมส์ สมิท (James Leonard Brierly Smith) แห่งมหาวิทยาลัยโรดส์ (Rhodes) ในเมืองเกรแฮมส์ทาวน์ (Grahams town) พิจารณา จดหมายใช้เวลาเดินทาง 10 วัน กว่าจะถึงปลายทาง

ทันทีที่เห็นภาพสเกตซ์ สมิทก็ตะลึงพรึงเพริดเหมือนได้เห็นไดโนเสาร์เป็นๆ ดังที่เซอร์อาร์เทอร์ โคนัน ดอยส์ (Arthur Conan Doyle) เขียนบรรยายในนวนิยายเรื่อง The Lost World เพราะสิ่งที่เขาเห็นคือภาพของ coelacanth (อ่านว่า see-luh-canth) ที่ทั้งโลกคิดว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคครีเทเชียสเมื่อ 140 ล้านปีก่อน เพราะเขาเคยศึกษาและได้เห็นฟอสซิลของปลาชนิดนี้ที่มีผู้พบครั้งแรกในปี 1839 และหลุยส์ อะกาสซีส (Louis Agassiz) เป็นผู้ตั้งชื่อปลาว่า coelacanth สกุล coelacanthus ตามชื่อหินยุค Carboniferous ที่ฟอสซิลปลาชนิดนี้แฝงอยู่ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่มีใครเคยเห็น coelacanth เป็นๆเลย จะเห็นก็เฉพาะฟอสซิลที่ซากมีลำตัวยาวตั้งแต่ 5 เซนติเมตรถึง 2 เมตรเท่านั้น

การได้เห็นเพียงภาพสเกตซ์วงการวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เพียงพอที่จะอ้างเป็นการค้นพบ เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องการหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

สมัยนั้นการเดินทางจากเมืองอีสต์ลอนดอนซึ่งอยู่ห่างจากเกรแฮมส์ทาวน์ประมาณ 400 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน เมื่อช่วงนั้นเป็นฤดูร้อนและชาวบ้านไม่มีตู้เย็นใช้ ดังนั้นปลาจะเน่าเร็ว สมิทจึงขอร้องให้เจ้าหน้าที่นำซากปลาไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาว่า Latimeria chalumnae ตามชื่อลาติเมอร์ผู้พบปลาตัวนี้เป็นคนแรก และชื่อบริเวณที่จับปลาได้ คือปากแม่น้ำชาลัมนา (Chalumna) ใกล้อีสต์ลอนดอน

สมิทเชื่อว่าทะเลแถบนั้นต้องเป็นถิ่นอาศัยของ coelacanth อย่างแน่นอน จึงประกาศให้รางวัล 50,000 ฟรังค์แก่ผู้ที่จับปลาชนิดนี้เป็นๆ ได้ และบนประกาศนั้นมีภาพปลาให้ชาวประมงที่เดินเรือแถบฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาได้เห็นด้วย เพราะทะเลบริเวณนั้นมีกระแสน้ำไหลแรงและพุ่งลงทางทิศใต้ ดังนั้น สมิทจึงคิดว่ามันเป็นไปได้ที่บริเวณเกาะมาดากัสการ์และหมู่เกาะคอโมโรส (Comoros) จะเป็นแหล่งอาศัยของ coelacanth



ปลา coelacanth สตัฟฟ์

ถึงวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1952 กัปตันเรือชื่อ เอริก ฮันต์ (Eric Hunt) ได้ส่งโทรเลขถึงสมิทความว่า กะลาสีชื่ออาห์เมด ฮุสเซน (Ahmed Hussein) จับปลา coelacanth ได้บริเวณเกาะ Anjouan ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์ โดยใช้เบ็ดตกได้ที่ระดับลึก 168 เมตร และ Hunt กำลังใช้ฟอร์มาลินดองปลาไว้ไม่ให้เน่า

เพราะปลาอยู่ในน่านน้ำของเกาะมาดากัสการ์ซึ่งอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส ดังนั้น ปลาจึงควรเป็นสมบัติของรัฐบาลฝรั่งเศส แต่สมิทเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักในความสำคัญของปลาชนิดนี้ ดังนั้นเขาก็สมควรมีส่วนเป็นเจ้าของเช่นกัน เพื่อเป็นการประนีประนอมรัฐบาลมาดากัสการ์จึงตัดสินว่า ถ้าสมิทเดินทางมาถึงเกาะก่อนปลาจะเน่า เขาจะได้เป็นเจ้าของ แต่ถ้ามาไม่ทันปลาก็จะตกเป็นสมบัติของเกาะ

ขณะรู้ข่าวการตัดสินของรัฐบาลมาดากัสการ์สมิทอยู่ห่างจากเกาะคอโมโรสประมาณ 2,500 กิโลเมตร สมัยนั้นยังไม่มีบริษัทใดดำเนินธุรกิจการบินระหว่างประเทศแอฟริกาใต้กับเกาะ เพราะการเดินทางให้ทันเวลาเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เจมส์ สมิท ผู้เฝ้าคอย coelacanth เป็นๆ มานานถึง 14 ปี จึงขอให้นายกรัฐมนตรีแดเนียล มาลาน (Daniel Malan) จัดเที่ยวบินพิเศษโดยใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเดินทางไปรับซากปลาที่เขารอคอยมาค่อนชีวิตให้ทันภายในเวลา 32 ชั่วโมง

สมิทเดินทางถึงปลาทันเวลา แล้วข่าวการพบปลาดึกดำบรรพ์ก็ได้รับการพาดหัวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทั่วโลก หนึ่งปีต่อมา coelacanth เป็นๆ ก็ถูกจับได้อีกที่บริเวณหมู่เกาะคอโมโรส นี่เป็นการตอกย้ำว่าทะเลแถบนี้คือถิ่นอาศัยของมัน หลังจากนั้นก็มีรายงานการจับปลาชนิดนี้ได้ในบริเวณใกล้เคียง เช่น เคนยา แทนซาเนีย โมซัมบิก มาดากัสการ์ และแอฟริกาใต้ แต่ส่วนใหญ่จะพบบริเวณหมู่เกาะคอโมโรสและช่องแคบโมซัมบิกที่อยู่ระหว่างเกาะมาดากัสการ์กับทวีปแอฟริกา



Coelacanth ถือกำเนิดครั้งแรกบนโลกในยุคดีโวเนียนเมื่อ 400 ล้านปีก่อน มันจึงเป็นสัตว์ที่มีชีวิตบนโลกก่อนไดโนเสาร์และสัตว์เลื้อยคลาน ข้อมูลนี้ทำให้นักชีววิทยาสนใจและเชื่อว่าถ้าเข้าใจวิวัฒนาการของปลาชนิดนี้ก็จะเข้าใจที่มาของสัตว์บก

การศึกษาธรรมชาติของปลาประหลาดทำให้นักชีววิทยารู้ว่ามันชอบใช้ชีวิตอยู่ที่ระดับลึกตั้งแต่ 170-200 เมตร ซึ่งบริเวณนั้นมีอุณหภูมิตั้งแต่ 15-17 องศาเซลเซียส ในเวลากลางวันมันจะหลบอยู่ในถ้ำใต้ทะเล ตกค่ำก็จะว่ายน้ำออกหาอาหารที่เป็นปลาตัวเล็กๆ และปลาหมึก โดยใช้เซลล์ผิวหนังตรวจหาเหยื่อเหมือนฉลาม มันว่ายน้ำได้เร็วประมาณ 1 นอต ดังนั้นจึงแย่งอาหารไม่ทันปลาชนิดอื่นที่ว่ายเร็วกว่า ในวันหนึ่งๆ มันต้องการอาหารเพียง 20-30 กรัมเท่านั้นเอง และเมื่อกระเพาะย่อยอาหารได้ช้ามันจึงไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อย อัตราการเผาผลาญพลังงานที่ช้าทำให้ความเร็วในการว่ายน้ำของมันช้าตามไปด้วย

ในการว่ายน้ำ มันใช้ครีบกระพือน้ำและโยกสลับเป็นจังหวะ ความสามารถเช่นนี้ทำให้มันว่ายน้ำไปข้างหน้าได้ ถอยหลังได้ หงายท้องได้ และว่ายตั้งฉากกับท้องน้ำเป็นเวลานานก็ได้ ครีบทำหน้าที่เหมือนขาของสัตว์สี่เท้าบนบก แต่ coelacanth มิใช่ต้นตระกูลของสัตว์บก

สมองของมันมีปริมาตรร้อยละ 1.5 ของปริมาตรกะโหลก ส่วนที่เหลือในกระโหลกคือไขมัน มันมีฟันคมและมีกล้ามเนื้อปากที่แข็งแรง ดังนั้นเวลางับเหยื่อ เหยื่อจะรอดชีวิตยาก เกล็ดมีหนามคม ขณะมีชีวิตลำตัวจะมีสีน้ำเงิน แต่เวลามันตายสีลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขณะอยู่ในน้ำเลนส์ตาจะใส แต่เมื่อถูกจับขึ้นจากน้ำเลนส์ตาจะมัว เพราะความดันอากาศทำให้เลนส์ตาเปลี่ยนสี มันมีหัวใจเป็นท่อเล็กๆ ไม่มีปอด เหงือกมีขนาดเล็กจึงสูดออกซิเจนเข้าลำตัวได้ไม่มาก

เมื่อตั้งท้อง ไข่ที่ใบใหญ่ที่สุดจะมีขนาดประมาณผลส้มกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ไข่ที่ไม่มีเปลือกหุ้มและใช้เวลา 13 เดือนในการฟักเป็นตัว ท้องหนึ่งๆ จะมีไข่ประมาณ 20 ใบ แต่ฟักเป็นลูกปลาได้ประมาณ 5 ตัว ลูกปลาตัวที่แข็งแรงจะกินลูกปลาที่อ่อนแอกว่า ดังนั้นในการตั้งท้องครั้งหนึ่ง แม่ปลาจะมีลูกปลาไม่เกิน 3 ตัว ปลาชนิดนี้เติบโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 12 ปี และจะตายเมื่ออายุประมาณ 20 ปี

ก่อนที่จะเป็นปลาเซเล็บ ชาวบ้านเรียกปลาชนิดนี้ว่า ngombessa และพบว่าในช่วงเวลาเช้าตรู่ของเดือนมกราคม-มีนาคม ชาวประมงมักจับมันได้พร้อมปลาอื่นๆ แต่ไม่มีใครชอบบริโภคเนื้อมัน เพราะมีรสเลี่ยนและมักทำให้ท้องเสีย สถิติการจับได้คิดเป็นอัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมียเท่ากับ 5:4 และเมื่อจับขึ้นจากทะเลแล้วภายในเวลา 20 ชั่วโมงมันจะตาย เพราะเหงือกขนาดเล็กทำให้ดูดซึมออกซิเจนได้ไม่มาก และอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ช้าทำให้เวลาถูกนำขึ้นจากน้ำ มันจะเครียดและตายในที่สุด

เพราะ coelacanth มีความสำคัญทางวิชาการมาก ดังนั้นองค์การยูเนสโกจึงประกาศให้เป็นสัตว์ที่โลกต้องอนุรักษ์ และห้ามจับอย่างเด็ดขาด ถึงกระนั้นชาวประมงก็มีการลักลอบจับบ้าง เพราะโลกมีเศรษฐีที่ชอบซื้อซากปลาดึกดำบรรพ์ไปเก็บเป็นที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ในราคาตัวละ 10,000-50,000 บาท ขณะที่ชาวประมงแถบนั้นมีรายได้เพียงปีละ 10,000 บาทเท่านั้นเอง

ในปี 1987 เอ็น. ฟริก (N. Fricke) แห่งสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute) ประเทศเยอรมนี ได้ประมาณว่าโลกมี coelacanth ตั้งแต่ 200-300 ตัว ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำใต้น้ำ ถ้ำละประมาณ 5-20 ตัว เขาจึงติดตั้งกล้องถ่ายภาพใต้น้ำให้นักชีววิทยาได้เห็น coelacanth ขณะดำรงชีวิตตามธรรมชาติ ณ วันนี้ ความสนใจอนุรักษ์ coelacanth ได้แพร่หลายจนยูเนสโกประกาศให้บริเวณหมู่เกาะคอโมโรสเป็นดินแดนมรดกโลก


coelacanth ที่อินโดนีเซีย ในปี 1998

ในปี 1992 มีผู้จับ coelacanth ตัวเมียได้ที่เมืองควีเลนเซน (Quelenzane) ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะคอโมโรส 500 กิโลเมตร ที่ระดับลึก 50 เมตร และปลาตัวนี้มีลูกในท้องถึง 26 ตัว

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1997 มาร์ก เอิร์ดแมนน์ (Mark Erdmann) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กเลย์รู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นปลา coelacanth วางขายในตลาดปลาเบอร์ชาลี (Bershali) แห่งเมืองมานาโด (Manado) บนเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย เพราะเมืองนี้อยู่ห่างจากเกาะคอโมโรสถึง 10,000 กิโลเมตร เมื่อระยะทางห่างกันมากเช่นนี้เอิร์ดแมนน์จึงเชื่อว่าแหล่งอาศัยของ coelacanth คงมีอีกหลายแห่งในมหาสมุทรอินเดีย และหลังจากนั้นไม่นาน coelacanth เป็นๆ ก็ถูกจับได้ที่เกาะสุลาเวสีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1998 และพบว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ของ coelacanth ชื่อ Latimeria Menadoensis โดยมีลำตัวสั้นกว่า Latimeria chalumnae คือยาว 1.27 เมตร และหนักเพียง 29.2 กิโลกรัม เท่านั้น การศึกษา DNA พบว่ามันเป็นปลาพันธุ์เดียวกันแต่ Mitochondria DNA ของปลาทั้ง 2 ชนิดเริ่มแตกต่างกันเมื่อ 1.8-11 ล้านปีก่อน นอกจากนี้ปลา coelacanth แห่งอินโดก็ว่ายน้ำได้เร็วกว่าเพราะน้ำทะเลในแถบนั้นไหลเร็วประมาณ 3-4 น็อต จะอย่างไรก็ตามอัตราการเผาผลาญพลังงานก็ยังช้า ปัจจุบันเราได้พบว่า coelacanth เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานช้าที่สุดในโลก และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันสามารถอยู่คู่โลกมานานถึง 400 ล้านปีโดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างเลย

ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ.2000 ปีเตอร์ ฟลอรีย์ (Peter Florey) แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอนได้ศึกษาฟอสซิลอายุ 305 ล้านปีของ coelacanth พบว่าเมื่อ 245 ล้านปีก่อนที่เกิดอุบัติการณ์สูญพันธุ์ขนานใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก มีสิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปถึงร้อยละ 95 แต่ coelacanth ยังอยู่รอดซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก แต่เราต้องระลึกว่าการที่ coelacanth จะไม่สูญพันธุ์นั้นขึ้นกับว่ามันสืบพันธุ์ได้เร็วเพียงใดด้วย ดังนั้นนอกจากจะไม่ฆ่ามันแล้ว เรายังต้องส่งเสริมให้มันสืบพันธุ์มากและบ่อยด้วย




จาก ................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 01-11-2011
หอยกะทิ's Avatar
หอยกะทิ หอยกะทิ is offline
Member
 
วันที่สมัคร: Jul 2009
ข้อความ: 80
Default

เป็นปลาตัวแรกๆที่ทำให้ผมอยากศึกษาธรรมชาติ เมื่อตอนเป็นเด็ก แต่ผมแทบไม่ได้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับมันเลย
ชอบบทความนี้มากครับ
__________________
จงกลายเป็นวงๆๆ ปุ๋งๆๆๆๆๆ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:12


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger