#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
จี้เร่งเอาออกด่วน! พบเศษอวนหลายร้อยเมตรในแนวปะการังเกาะราชาน้อย พบปลาติดตายแล้วเพียบ ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จี้เร่งเอาออกด่วน! เพจดัง แฉพบเศษอวนยาวหลายร้อยเมตรในแนวปะการังเกาะราชาน้อย จ.ภูเก็ต ระบุนักดำน้ำพบหลายวันแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มีปลาตายติดซากอวนจำนวนมาก กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล หลังเพจมรสุมนำภาพเศษอวนยาวหลายร้อยเมตร ปกคลุมแนวปะการัง บริเวณเกาะราชาน้อย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยระบุว่า พบอวนยาวหลายร้อยเมตรในแนวปะการัง เกาะราชาน้อย จ.ภูเก็ตครับ ต้องเก็บด่วน ตอนนี้ผ่านมาหลายวันแล้วครับ พิกัดตามภาพ ขออีกเรื่องก่อนนอนครับ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต - ณรงค์ วุ่นซิ้ว ป๋าบอกว่า "ใช้ผมให้คุ้ม" กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังคนท่านพร้อมครับแต่ไม่มีเรือไป ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล - ศรชล. ขอความช่วยเหลือคับ ช่วยดันอีกเรื่องคับพี่ พรุ่งนี้จะได้รับเรื่องใหม่ๆ ต่อ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ช่วงนี้มีคนส่งเรื่องต่างๆ มาเยอะมากครับ ล้วนแต่สำคัญ ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายใช้ชื่อว่า นันตสรณ์ จีรเดชทวีวัฒน์ ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว "ฟ้าไส" ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเพจขยะมรสุม ระบุว่า "วันนั้นเจอที่ไดฟ์ 3 ของการดำน้ำ ซึ่งต้องย้ายเรือพาลูกค้าไปเกาะพีพี เพื่อไปดำน้ำต่อและหลบคลื่นลม เลยวางแผนการเก็บกู้ไม่ทัน ได้แต่เลาะอวนช่วยปลาที่ติดและยังมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5 ตัว แต่ที่ติดตายคาอวนอีกเยอะมากๆ จึงอยากวอนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือกันลงไปเก็บอวนชุดนี้ขึ้นมาด้วยครับ เพราะอวนมีระยะทางยาวมาก เชื่อว่าไม่ได้เป็นการวาง อาจจะขาดและลอยมาติดที่กองปะการังเทียมที่เกาะราชาน้อย สงสารปลาสวยงามที่อยู่บริเวณนั้นต้องเข้ามาติดอีกเป็นจำนวนมาก น่าจะสร้างความเสียหายให้ธรรมชาติบริเวณนั้นได้เยอะอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม หลังมีการโพสต์ข้อความและภาพออกไป พบว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการนำเศษอวนออกจากแนวปะการังโดยด่วน ก่อนที่ปลาจะเข้าไปติดในเศษอวนและตายมากกว่านี้ https://mgronline.com/south/detail/9660000049283 ****************************************************************************************************** ระแวงไปเองหรือเปล่า!?วาฬที่เชื่อว่าเป็นสายลับรัสเซีย โผล่ไกลถึงนอกชายฝั่งสวีเดน วาฬเบลูกาตัวหนึ่งที่สวมเครื่องควบคุม โผล่นอกชายฝั่งของสวีเดน จากการเปิดเผยขององค์กรที่ติดตามมันในวันจันทร์(29พ.ค.) หลังจากมันเคยปรากฏแถวๆนอร์เวย์ในปี 2019 ซึ่งโหมกระพือเสียงคาดเดาว่ามันเป็นวาฬสอดแนมที่ได้รับการฝึกฝนจากกองทัพเรือรัสเซีย วาฬตัวนี้ถูกพบเจอครั้งแรกในฟินน์มาร์ค ภูมิภาคทางเหนือห่างไกลของนอร์เวย์ มันใช้เวลานานมากกว่า 3 ปี ค่อยๆเคลื่อนย้ายอย่างช้าๆลงมาตามครึ่งบนของชายฝั่งนอร์เวย์ ก่อนเร่งความเร็วอย่างฉับพลันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ครอบคลุมครึ่งล่างของชายฝั่งนอร์เวย์และเข้าสู่สวีเดน เมื่อวันอาทิตย์(28พ.ค.) มันถูกพบเห็นในฮุนเนอบอสตรันด์ นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสวีเดน "เราไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเร่งความเร็ว เร็วมากในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากมันเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วออกห่างจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติของมัน" เซบาสเตียน สตรานด์ นักชีววิทยาทางทะขององค์กรวันวาฬให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี "อาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่ผลักดันให้มันหาคู่ หรืออาจเป็นเพราะความโดดเดี่ยว เนื่องจากวาฬเบลูกาเป็นสายพันธุ์ที่พิเศษมากๆ อาจเป็นไปได้ว่ามันกำลังตามหาวาฬเบลูกาตัวอื่นๆ" สตรานด์กล่าว พร้อมระบุ "เชื่อว่ามันน่าจะมีอายุ 13-14 ปี และวาฬอายุเท่านี้ ระดับฮอร์โมนของมันจะสูงมากๆ" อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคือประชากรวาฬเบลูกาที่อยู่ใกล้ที่สุด อยู่ในบริเวณหมู่เกาะสวาลบาร์ด ทางเหนือห่างไกลของนอร์เวย์ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2019 ชาวประมงนอร์เวย์พบวาฬเบลูกาตัวนี้สวมสายบังเหียนมีช่องติดกล้องโกโปร ว่ายอยู่นอกชายฝั่ง และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มันอาจเป็นวาฬสอดแนมที่ฝึกโดยกองทัพรัสเซีย ชาวนอร์เวย์ ให้ชื่อเล่นให้มันว่า "ฮวาลดิมีร์" เป็นการเล่นคำ คำว่า "ฮวาล" ซึ่งในภาษานอร์เวย์แปลว่า "วาฬ" และเชื่อมโยงมันกับคำกล่าวหาที่ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย ตอนที่มันถูกพบในแถบอาร์กติกของนอร์เวย์ครั้งแรก พวกนักชีววิทยาทางทะเลจากคณะกรรรมการการประมงของนอร์เวย์ ได้ช่วยกันถอดเครื่องควบคุมที่ติดตั้งโดยมนุษย์ออก โดยอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งกล้องกันน้ำและมีคำว่า "Equipment St. Petersburg" พิมพ์อยู่ตรงหัวล็อคของสายรัด เจ้าหน้าที่ของคณะกรรรมการการประมงนอร์เวย์ สันนิษฐานว่า "ฮวาลดิมีร์" อาจหนีออกจากกรง และอาจได้รับการฝึกฝนจากกองทัพเรือรัสเซีย เนื่องจากมันดูคุ้นเคยกับมนุษย์ มอสโกไม่เคยแสดงปฏิริยาอย่างเป็นทางการใดๆเกี่ยวกับการคาดเดาของนอร์เวย์ ว่ามันอาจเป็น "สายลับของรัสเซีย" ทะเลแบเรนตส์ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ บริเวณที่มีการจับตามองความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำตะวันตกและเรือดำน้ำรัสเซีย นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นประตูเข้าสู่ เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ (Northern Route) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก สตรานด์ กล่าวว่าสุขภาพของวาฬตัวนี้ดูเหมือนจะค่อนข้างดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากแหล่งอาหารที่อยู่ในสภาพอุดมสมบูรณ์ในนอร์เวย์ อย่างไรก็ตามหน่วยงานนของเขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของฮวาลดิมีร์ ในการหาอาหารในสวีเดน และสังเกตเห็นว่ามันมีน้ำหนักลดลงบ้างแล้ว https://mgronline.com/around/detail/9660000049602
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
กางแผนผลักดัน OECMs ตามเป้า 30X30 ป้องกันพืช-สัตว์ สูญพันธุ์ เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 "From Agreement to Action : Build Back Biodiversity" จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดวงเสวนาหัวข้อ "OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย" นำเสนอทิศทางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครองได้รับการบริหารจัดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงระบบนิเวศ คุณค่าวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า พื้นที่ OECMS หรือ Other effective area-based conservation measures ในบริบทประเทศไทย เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางชีวภาพของโลก 30 X 30 ภายในปี 2030 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมด้วย สำหรับเป้าหมาย 30X30 หมายถึง การอนุรักษ์บนผืนดิน 30% และผืนน้ำ 30% ป้องกันพืชและสัตว์ไม่ให้เกิดการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ ประทีป มีคติธรรม Project Officer Protected Area Programme องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า OECMs จำแนกได้เป็น 3 ประเภทหลัก กลุ่มแรกพื้นที่อนุรักษ์หลัก รวมถึงพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติด้วย กลุ่มสอง พื้นที่ที่มีการอนุรักษ์เป็นวัตถุประสงค์รอง เช่น ป่าชุมชน ป่าชายเลนชุมชน พื้นที่ทะเลชุมชน กลุ่มสาม พื้นที่ภาคเอกชน เช่น พื้นที่เขตปลอดภัยแท่นขุดเจาะน้ำมัน พื้นที่กันชนโรงงานอุตสาหกรรมที่เอื้อการอนุรักษ์ หรือแม้แต่พื้นที่เขตปลอดภัยทางทหาร เป้าหมายสำคัญของ OECMs คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ เรียกว่า KBA เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชี IUCN Red List บัญชี Thailand Red List และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น มีพื้นที่ใหญ่เพียงพอสำหรับเป็นถิ่นอาศัยและแหล่งรวมชนิดพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ เป็นพื้นที่สำคัญเชิงระบบนิเวศ เช่น เชื่อมต่อระบบนิเวศสัตว์ป่า พื้นที่รองรับการอพยพของนกชายฝั่งและแหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ตามฤดูกาล มีเป้าหมายระยะยาวเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนพื้นที่ใดมีศักยภาพการเป็น OECMs ประทีประบุพื้นที่เตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าฯ ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 4 ล้านไร่ หากรวมพื้นที่ประกาศไปแล้ว น่าจะไปถึง 28-29% ส่วนพื้นที่ป่าชุมชน ชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้ดูแล ถ้าพื้นที่ป่าชุมชนมีขนาดใหญ่จะเอื้อต่อการรองรับความหลากหลายทางชีวภาพได้มากกว่าพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งมีป่าชุมขนขนาด 5,000 ไร่ ถึง 99 แห่ง รวมเนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ มีศักยภาพมากสำหรับไทย อีกทั้งกฎหมานเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมจัดการป่าชุมชนได้ มีมาตรการลดหย่อนภาษีได้ น่าสนใจมาก ส่วนพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เขตห้ามล่าฯ สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งกรมอุทยานฯ ดูแล อีกแนวทางที่น่าสนใจ ประทีปบอกว่า ภาคธุรกิจเอกชนสามารถร่วมผลักดันพื้นที่ OECMs ปัจจุบันพูดถึงอุตสาหกรรมสีเขียว การลดการปล่อยคาร์บอน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีนโยบายเติบโตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. มีช้อมูลชนิดพันธุ์ถึง 401 ชนิด รวมถึงศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาคราชินี อีกแห่ง พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล ในทัศนะนี่คือ พื้นที่ OECMs ที่แรกของประเทศไทย ดูแลโดยสมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย ยังไม่พูดถึงอุตสาหกรรมมีพื้นที่ Buffer ที่มีขนาดใหญ่ เหมืองแร่กันพื้นที่บางส่วน หากเอื้อต่อความหลากหลายชีวภาพ ก็จะเข้าเกณฑ์ แต่จะติดเงื่อนไขการประกอบกิจการกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ยังจะถือว่าเป็น OECMs หรือไม่ ต้องมีการหารือทางวิชาการและแง่นโยบายด้วย ด้าน เพชร มโนปวิตร Conservation Scientist ที่ปรึกษาเครือข่าย 30 x 30 ประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ประเด็นที่พูดถึงมาตลอดก่อนมีเรื่อง 30X30 คือ ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นวิกฤตที่ใหญ่กว่าเรื่องโลกร้อนด้วยซ้ำ ยังไม่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่ถูกมองข้ามตลอด การใช่ปุ๋ยเคมีภาคเกษตรที่มากเกินไป ภาคธุรกิจเอกชนทุกแห่งพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการอนุรักษ์เชิงพื้นที่เป็นรากฐานสำคัญ การลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น เครือข่าย 30 x 30 ประเทศไทย มีการประชุมระดมความเห็นร่วมกับภาครัฐเกี่ยวกับบทบาทพื้นที่ OECMs จนกระทั่ง COP15 เป้าหมาย 30 x 30 มีการพูดถึงมากที่สุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เดิมมีเป้าหมายไอจิ พื้นที่บก 17% พื้นที่ทะเล 10% แต่ COP 15 ก้าวกระโดดถึง 1ใน 3 เลยทีเดียว "เป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมาก ต้องกลับมาตรวจสอบความเป็นไปได้ หรือพื้นที่ที่ประกาศไปแล้วมีการจัดการได้ผลตามเป้าหรือยัง COP 15 นอกจากอนุรักษ์พื้นที่สำคัญที่มีความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ยังมีการฟื้นฟูธรรมชาติ ลดการสูญเสียพื้นที่สำคัญทางความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นศูนย์ โครงการที่ส่งผลกระทบต้องพิจารณาใหม่" เพชร กล่าว ในทัศนะเขาเห็นว่า พื้นที่ OECMs ไม่ควรกระจัดกระจาย ต้องมองทั้งระบบ สรุปประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองอยู่ตรงไหน และควรพัฒนาพื้นที่ OECMs มาเสริม เพื่อเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์เข้าด้วยกัน ซึ่งต้องใช้ข้อมูลพื้นที่การกระจายตัวของพืชและสัตว์ อาทิ พะยูน เต่ามะเฟือง นกหายาก ขณะที่ไทยมีเป้าหมายขยับพื้นที่คุ้มครองให้ได้ร้อยละ 30 เพชรระบุมีงานวิจัยพบหากพื้นที่ไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ด้านอนุรักษ์ แต่หากมีอนุรักษ์เข้มข้นจะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนในพื้นที่ อีกงานวิจัยการเพิ่มปริมาณพื้นที่ทางทะเล ที่ประกาศแล้วยังไม่มีการจัดการที่ดี ขาดทั้งคน แหล่งทุน อุปกรณ์ พื้นที่คุ้มครองที่ประกาศแล้วเป็นโจทย์ที่เปิดให้ภาคเอกชนสนับสนุนได้ อย่าคิดเฉพาะพื้นที่ใหม่ ต้องพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั้งบนบกและทะเล เป้าหมาย 30X30 เป็นเป้าหมายรวมของโลก หลายคนชี้ว่า บางประเทศอาจเกิน บางประเทศอาจไม่ถึงก็ได้ ถ้ามีหลักเกณฑ์ชัดเจน มีงานวิจัยระยะยาว ถ้าเก็บพื้นที่ได้ 30% ยังรองรับผลิตผลการประมงได้ แม้จะทำประมงแบบไม่บันยะบันยัง ต้องสื่อสารเพื่อเก็บพื้นที่อนุรักษ์ไว้ ภายใต้กรอบ 30X30 วรดลต์ แจ่มจารูญ รษก.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่คุ้มครอง 24% และเหลือพื้นที่ไม่มากที่จะไปสู่เป้าหมาย ภารกิจกรมอุทยานฯ ต่อเป้าหมาย 30X30 เรามีพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 23 แห่ง เนื้อที่เกือบ4 ล้านไร่ พื้นที่เตรียมประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง เนื้อที่ 1.1 แสนไร่ พื้นที่เตรียมประกาศเป็นสวนรุกขชาติ 1 แห่ง 300 ไร่ นั้นคือ สันทรายบางเบิด และควรกำหนดศัพท์บัญญัติภาษาไทยของพื้นที่ OECMs เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เช่น พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นประเภทอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง ภาคบกมีหลายพื้นทื่เข้าเกณฑ์เป็น OECMs วรดลต์ กล่าวว่า ไทยส่วนใหญ่จัดเป็นกลุ่มป่า เกิดช่องว่างที่อนาคตจะเกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรม OECMs จะเป็นเครื่องมือช่วยเชื่อมโยงกับพื้นที่คุ้มครองต่างๆ เหมือนก้อนหินกระโดดข้าม ให้สิ่งมีชีวิตแลกเปลี่ยนพันธุกรรมได้ ยกตัวอย่างพื้นที่สำคัญของนก พืช พืชน้ำ ควรได้รับการเลือกเป็นพื้นที่ OECMs ลำดับต้นๆ เพราะมีข้อมูลและชนิดพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่สำคัญว่าด้วยการอนุรักษ์พืช หรือ IPAs ไทยมี 102 แห่ง ซึ่งใช้เกณฑ์วิเคราะห์พืชเฉพาะถิ่นและความสำคัญทางนิเวศวิทยา ซึ่งไม่อยู่ในการคุ้มครองพื้นที่หลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ริมน้ำคลองนาคา แหล่งพลับพลึงธาร พรุจำปา หรือโครงการอนุรักษ์จำปีสิรินธร จ.ลพบุรี มีทั้งศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านการอนุรักษ์ รวมถึงป่าในเมือง พื้นที่โครงการตามพระราชดำรินอกพื้นที่คุ้มครอง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ราชพัสดุกระจัดกระจายทั่วไทย อย่างโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริ อ.สวนผึ้ง เป็นจุดเชื่อมต่อป่าแก่งกระจานกับป่ากุยบุรีแดนใต้ พบชมพูราชสิรินที่นี่ รวมถึงพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา "ส่วนป่าชุมชนก็เข้าเกณฑ์ สำคัญสุดการมีส่วนร่วมของชุมชนรักษาวัฒนธรรม เช่น ป่าดอนปู่ตา ภาคอีสาน เฉพาะป่าชุมชนที่มีจำนวนมากไปถึงเป้าหมาย 30X30 แน่นอน แล้วยังมีพื้นที่วัดป่า หลายพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเก็บรักษาไว้ ปัจจุบันมีเกือบ 4 หมื่นวัด หลายหมื่นไร่ที่มีป่าปกคลุม อีกตัวอย่างป่านันทนาการ คือ ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความสมบูรณ์ ปัจจุบันมี 30 แห่ง ประเทศไทยมีความพร้อมขึ้นทะเบียนพื้นที่ OECMs โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ปกปักตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ.) กระจายตามหน่วยงานต่างๆ อีกส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทกว่า 3 ล้านไร่ เช่น บางกระเจ้ามีการจัดการอนุรักษ์ พื้นที่ภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐต้องกำหนดเกณฑ์ชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วม แต่ระยะยาวอาจเจอข้อจำกัดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่และผลกระทบจากมาตรการกฎหมายต่างๆ ที่ถกเถียงในหลายเวที ความท้าทายจะติดตามประเมินประสิทธิภาพในการจัดการ การหาทุนหนุนจัดการพื้นที่" วรดลต์ กล่าว ในทะเลไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อย 5.1 ของพื้นที่ทะเลไทย ชนกพร จันทรขันตี นักวิชาการประมงชำนาญการ กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยการขยับสู่เป้า 30X30 ว่า ขณะนี้มีแผนประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของหน่วยงานต่างๆ พื้นที่เตรียมการ ทช. 30 พื้นที่ ภายในปี 2573 พื้นที่เตรียมการอุทยานฯ 2 พื้นที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 พื้นที่ พื้นที่เตรียมการพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 4 พื้นที่ รวมพื้นที่ทั้งหมดทำให้ตัวเลขขยับขึ้นมาร้อยละ 9.37 ข้อจำกัดการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มีขั้นตอนซับซ้อน ใช้เวลานาน อย่างน้อยกว่า 5 ปี บางครั้งไม่สามารถผลักดันออกประกาศทางกฎหมายได้ เพราะถูกต่อต้านจากประชาชน "สถานการณ์พื้นที่ OECMs ในเอเชีย ไทยยังไม่มีการกำหนดจุดลงในแผนที่โลก อนาคตเราอยากจะเห็นภาพนั้น ในเอเชียแปซิฟิก มี OCEMs 178 แห่ง จาก 56 ประเทศ ฟิลิปปินส์มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ OECMs จำนวนมาก ตัวอย่างพื้นที่ในไทยที่จะผนวกเป็น OECMs เช่น แหล่งโบราณคดีใต้น้ำ 40 จุด ซึ่งให้ความคุ้มครองทางวัฒนธรรม เขตปลอดภัยในราชการทหาร หรือพื้นที่ทางทะเลที่มีการจัดการโดยชุมชนชายฝั่งท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้าน อ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกาะยาวน้อย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าไร่ จ.พังงา" ชนกพร กล่าว เป้าหมายเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอร้อยละ 30 ภายในปี 73 ชนกพรระบุในท้าย ไทยควรเน้นที่มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ ( OECMs ) จะมีรูปแบบที่หลากหลาย ยืดหยุ่นกว่า นอกเหนือจากประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองแบบปกติ ควรประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพจะเป็น OECMs เพื่อทิศทางเชิงรุก พัฒนาโรดแมฟการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 30X30 https://www.thaipost.net/news-update/386958/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|