#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
นักอนุรักษ์เดือด!! หมู่เกาะแฟโรยอมกำหนดโควตาล่าโลมาคาดขาวสูงสุด 500 ในเทศกาลล่าวาฬ หลังปีที่แล้วฆ่ากว่า 1,400 เอเจนซีส์ - หมู่เกาะแฟโร เขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก ประกาศข้อกำหนดสังหารโลมาคาดขาวสูงสุด 500 ตัว สำหรับเทศกาลล่าวาฬประจำปีที่มีประวัติย้อนไปไกลตั้งแต่ยุคชาวไวกิ้งตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 800 CE หลังถูกกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ต่อต้านอย่างหนักว่าโหดร้ายป่าเถื่อนที่เห็นทั้งหาดแดงฉานไปด้วยเลือด หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) ที่มีทั้งหมดถึง 18 เกาะ เป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้เดนมาร์ก ตั้งอยู่ครึ่งทางระหว่างไอซ์แลนด์และสกอตแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติก เทศกาลล่าวาฬประจำปีที่มีประวัติย้อนไปไกลตั้งแต่ยุคชาวไวกิ้งตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 800 CE และมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นหมู่เกาะแฟโรว่า ?grindadr?p? แต่ทว่าบรรดาองค์กรสิทธิสัตว์ต่างออกมาประณามเทศกาลล่าวาฬสุดป่าเถื่อนของชาวไวกิ้งเหล่านี้ ที่เห็นวาฬถูกฆ่าที่คอก่อนตัดไปที่กระดูกสันหลังและหลอดเลือดแดงใหญ่ที่บริเวณคอ เอเอฟพีรายงานจากภาพชี้ว่า หลังการล่าส่งผลทำให้ทั้งน้ำทะเลชายหาดแดงฉานไปด้วยเลือดระหว่างที่ผู้คนกำลังมุงดูที่บริเวณชายหาดใน Torshavn บนเกาะแฟโรวันที่ 29 มิ.ย.ปี 2019 CNN ชี้ว่า รัฐบาลแฟโรเคยออกมาปกป้องเทศกาลล่าวาฬว่า เนื้อที่ได้มาถือเป็นสิ่งมีค่าสำหรับชุมชนท้องถิ่นโดยชาวหมู่เกาะแฟโรกินเนื้อวาฬและโลมาเป็นอาหาร อ้างอิงจากเว็บไซต์วาฬและการล่าวาฬของหมู่เกาะแฟโร ระบุว่า การล่าวาฬเกิดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างอาหารและสิ่งที่จับได้จะถูกแจกจ่ายในกลุ่มผู้เข้าร่วมและชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เนื้อวาฬและเปลวไขมันระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อของปลาวาฬในบางครั้งมีการนำออกมาจำหน่ายทั้งที่บ้านชาวประมง และซูเปอร์มาร์เกต BBC สื่ออังกฤษรายงานว่า การประกาศกำหนดโควตาจำกัดการฆ่าโลมาสูงสุด 500 ตัว สำหรับเทศกาลล่าวาฬของเกาะประจำปี 2022 เกิดขึ้นหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับการล่าวาฬในปีที่ผ่านมาที่เห็นโลมาซึ่งถือเป็นสัตว์ที่สวยงามต้องตายไปไม่ต่ำกว่า 1,400 ตัว การทบทวนเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อตอบโต้ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น ซึ่งบรรดากลุ่มอนุรักษ์สิทธิสัตว์ต่างออกมาประณามเทศกาลล่าวาฬของหมู่เกาะแฟโรว่าเป็นการสังหารอย่างป่าเถื่อนและไม่จำเป็น รัฐบาลหมู่เกาะแฟโรชี้ว่า การกินเนื้อโลมานั้นถือเป็นประเพณีที่มียาวนานมาหลายศตวรรษ แต่ทว่าจำนวนโลมากว่า 1,400 ตัวที่ถูกสังหารสร้างความตกตะลึงให้ท้องถิ่นและขยายเป็นวงกว้าง กลายเป็นสถิติสูงสุดที่โลมาถูกสังหารมากที่สุดภายในวันเดียวที่หมู่เกาะแฟโร มีหนังสือร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านรายชื่อถูกยื่นให้กับรัฐบาลแฟโรเพื่อกดดันให้ประกาศยกเลิกเทศกาลล่าวาฬประจำเกาะ ส่งผลทำให้รัฐบาลล่าสุดออกคำสั่งจำกัดเพดานการล่าโลมาคาดขาว (White-sided Dolphin) สูงสุดที่ 500 ตัวเป็นเวลา 2 ปีหลังจากนี้ แต่ทว่าสื่ออังกฤษชี้ว่า มีเฉพาะการล่าโลมาเท่านั้นที่ถูกทบทวนไม่ใช่การล่าทั้งหมด แถลงการณ์รัฐบาลแฟโรอ้างเหตุผลว่า กำหนดการจำกัดโควตาเกิดขึ้นหลังการจับโลมาคาดขาว 1,423 ตัวที่เป็นจำนวนไม่ปกติเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ทว่ารัฐบาลแฟโรกล่าวว่า เทศกาลล่าวาฬจำเป็นต้องมีต่อไปเพื่อการสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวหมู่เกาะแฟโร แหล่งข่าว : CNN , BBC และเอเอฟพี https://mgronline.com/around/detail/9650000066636
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
อธิบดี ทช. ชี้แจงกรณีคุณนารากร โพสต์กังวล ผลเสียทำ CSR ปลูกป่า ส่งผลให้โลมาบางขุนเทียนตาย " กรณี ของคุณนารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว แสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเซียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลน ต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน" วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวชี้แจง กรณี ของคุณนารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว แสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเซียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลน ต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน นั้น นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการตามภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย และเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยความยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอีกกว่า 80 กิโลเมตร ใน 17 จังหวัด ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง นายโสภณ ทองดี กล่าวว่า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรม ทช. เลือกใช้มาตรการสีเขียวคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่รู้จักกันในนามมาตรการขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการร่วมกับการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อรักษาเสถียรภาพของชายฝั่งและลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง โดยในปี พ.ศ.2563 ทช.ร่วมกับ GISTDA แปลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.737 ล้านไร่ มีผลการวิจัยศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมเฉลี่ย 15.79 ตันคาร์บอน/ไร่ สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เป็นวิธีที่กรมเลือกใช้เป็นหลัก โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปักไม้ไผ่ทำโพงพางและทำคอกเลี้ยงหอยแมลงภู่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมพัฒนาแนวคิดดังกล่าวกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับหลักวิชาการ และศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และได้ถอดบทเรียนจากต่างชาติด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ไผ่ในการปักเพื่อชะลอความรุนแรงของคลื่นบริเวณหาดโคลน คือ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ กระบวนการไม่ยุ่งยาก การรื้อถอนสามารถทำได้ง่าย ประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ไม่กระทบต่อการเดินเรือและการทำประมงของชุมชน เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงอายุการใช้งานของโครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งโครงสร้างจะอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 5 ปี โดยการเสื่อมสภาพมักจะเกิดจากคลื่นลมรุนแรง คุณภาพน้ำ การเกาะและกัดแทะของสัตว์ทะเล นายโสภณ ทองดี กล่าวว่า สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น กรม ทช. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีการปักไม้ไผ่ไปได้ระยะแล้วกว่า 104 กิโลเมตร ใน 46 พื้นที่ 13 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่หาดโคลนหลังแนวไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลนได้กว่า 320 ไร่ สำหรับการดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น สิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญและเป็นนโยบายหลักของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ จากกรณีความกังวลที่เกิดขึ้นตามข่าว นายโสภณ ทองดี ได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อมูลสถิติและสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงสาเหตุการตายของโลมาอิรวดีที่เสียชีวิตบริเวณแนวป่าชายเลนเขตบางขุนเทียน โดยพบว่า นับจากปี 2550 ถึง ปัจจุบัน พบโลมาเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่เขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีสาเหตุจากการไล่ล่าอาหาร จำนวน 7 ครั้ง เป็นโลมาอิรวดี ทั้งหมด 38 ตัว สามารถช่วยเหลือนำกลับสู่ทะเลได้สำเร็จ 33 ตัว เป็นซากจำนวน 5 ตัว โดยผลการชันสูตรคาดว่าเป็นซากพัดเข้ามาเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่ เนื่องจากที่ผ่านมา กรม ทช. ได้มีการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ให้แก่เครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถช่วยเหลือสัตว์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการปรับปรุงระยะห่างของช่องทางเดินเรือระหว่างแนวไม้ไผ่ให้มีช่องกว้างมากขึ้น ทำให้นับจากปี 2560 จึงไม่พบการเกยตื้นของโลมาหลังแนวไม้ไผ่อีกเลย สำหรับกรณีโลมาอิรวดีที่พบตามข่าว เจ้าหน้าของมูลนิธิปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชาซึ่งเป็นผู้พบซากให้ข้อมูลว่าพบซากบริเวณด้านหน้าแนวไม้ไผ่ จึงได้ประสานผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน เพื่อนำซากเข้ามานำส่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลการชันสูตรซากพบว่า ในปอดไม่พบโคลนอุดตัน ร่างกายสะสมไขมันต่ำ ไม่พบอาหารในระบบทางเดินอาหาร สภาพภาพซากเสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 วัน คาดว่าจึงเป็นการเสียชีวิตจากการป่วยตามธรรมชาติและซากพัดเข้ามาเกยตื้นในแนวป่าชายเลน "อนึ่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ หากพบเห็นสัตว์ทะเลหายากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วให้แจ้งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทราบทันที เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือและตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ กรม ทช. ยังขอเชิญชวนประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยต่อไป" นายโสภณ ทองดี กล่าว https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/1015118
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|