#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคาร ที่ 13 กันยายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศกัมพูชา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. 65 ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
โลกจะรับมืออย่างไร หากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นอีก หลังธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย .................. ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์ - นักวิทยาศาสตร์ค้นพบข้อมูลล่าสุดว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 27 เซนติเมตร จากการละลายตัวของธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ นับเป็นตัวเลขสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า เมืองที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลจะได้รับผลกระทบอย่าง นครนิวยอร์ก ลอนดอน และมุมไบ ขณะที่ปัจจุบัน กรุงเทพฯ อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1.5 เมตรเท่านั้น - ผลการศึกษาพบว่า โลกร้อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1.2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งนี่เป็นปัจจัยเร่งให้เราได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อน และการเกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้น - องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2021-2022 ภัยธรรมชาติที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10,000 ศพ และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักธรณีวิทยาธารน้ำแข็งได้เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ระบุว่า ธารน้ำแข็งซอมบี้ ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งส่วนที่ไม่ได้ติดกับแผ่นน้ำแข็งหลักของกรีนแลนด์ กำลังละลายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่เป็นอันตรายในช่วงศตวรรษนี้ โดยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยมากถึงเกือบ 200 ล้านคน ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ในขณะที่อุณหภูมิโลกยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คณะนักวิจัยใช้การวัดสภาพอากาศของอาร์กติก ระหว่างปี 2000-2019 รวมกับข้อมูลจากดาวเทียมและธรณีฟิสิกส์น้ำแข็ง ตรวจสอบความไม่สมดุลของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ประเมินอัตราส่วนการเติมเต็มหิมะที่ตกลงมาบนแผ่นน้ำแข็ง เพื่อชดเชยน้ำแข็งที่ละลายไป และสรุปได้ว่า 3.3% ของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะละลายภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรือในปี 2100 ไม่ว่าประเทศต่างๆ จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วและมากแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากธารน้ำแข็งละลายตัวของมันโดยไม่เคยสนใจตัวเลขการปล่อยก๊าซ โดยการละลายตัวของน้ำแข็งจากแผ่นน้ำแข็งหลักในกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกในขั้วโลกใต้ จะทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้น 27 เซนติเมตร หรือประมาณ 10 นิ้ว จากเดิมก่อนหน้านี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-5 นิ้ว และเพิ่มขึ้นเช่นกันภายในปี 2100 ผลการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศธรรมชาติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงกว่า 78 เซนติเมตร หรือประมาณ 30 นิ้ว สามารถท่วมพื้นที่ชายฝั่งในหลายประเทศ และทำให้เกิดน้ำท่วม พายุยกซัดฝั่งได้ ขณะที่ทีมนักวิจัยนำโดย อลัน ฮับบาร์ด จากศูนย์วิจัยฟิสิกส์ธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยอูลู ในฟินแลนด์ เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังเสียสมดุลอย่างมาก โดยจะละลายตัวลงเป็นพื้นที่กว่า 59,000 ตารางกิโลเมตร เทียบเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศเดนมาร์ก ผลการศึกษายังชี้ว่า หากทุกปีโลกยังมีอุณหภูมิร้อนเหมือนในปี 2012 2016 และ 2019 ที่ทำให้เป็นปีที่กรีนแลนด์เจอคลื่นความร้อน การละลายตัวของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงอีกประมาณเกือบ 1 เมตร ขณะที่สถานีตรวจวัดสภาพอากาศหลายแห่งพบว่า หลายส่วนทางตะวันตกของกรีนแลนด์มีอุณหภูมิสูงขึ้นมาอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนๆ และบริเวณยอดธารน้ำแข็งซึ่งปกติแล้วจะเป็นส่วนที่เย็นที่สุด กลับมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดน้ำแข็งที่ละลาย ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) เปิดเผยรายงานศึกษาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในปีนี้พบว่า พื้นที่ชายฝั่งของสหรัฐฯ จะมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-12 นิ้ว ในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงบ่อยขึ้นมากกว่า 10 เท่า และจะเกิดพายุซัดฝั่งขยายลึกเข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน โลกจะรับมืออย่างไร หากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นอีก หลังธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย เจสัน บ็อกซ์ นักธรณีวิทยาธารน้ำแข็ง หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ระบุว่า เขาเชื่อว่าเราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทันแล้ว ต่อให้เราไม่เพิ่มมลพิษจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเลยในอนาคต ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ก็จะละลายไป 3.3% ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 27.4 เซนติเมตรอยู่ดี และเหมือนเรากำลังเอาขาข้างหนึ่งก้าวลงไปอยู่ในหลุมฝังศพแล้ว วิลเลียม โคลแกน นักธรณีวิทยาธารน้ำแข็ง แห่งสถาบันสำรวจทางธรณีวิทยาของเดนมาร์ก เปิดเผยว่า ไม่ว่าอย่างไรธารน้ำแข็งซอมบี้ก็ต้องละลายลงสู่มหาสมุทรอยู่ดี ถึงแม้ว่าหากตอนนี้เราจะเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม ภายใต้ข้อตกลงปารีสลดโลกร้อน เมื่อปี 2015 ประเทศต่างๆ เห็นพ้องกันว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส แต่รายงานผลกระทบโลกร้อนของ IPCC เมื่อปีที่แล้วระบุว่า ต่อให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นคงที่ 2-2.5 องศาเซลเซียส พื้นที่ชายฝั่งของหลายประเทศก็จะถูกน้ำท่วมอยู่ดี กระทบ 25 เมืองใหญ่ และพื้นที่ต่ำที่มีคนอยู่อาศัยกว่า 1,300 ล้านคน จะจมอยู่ใต้น้ำ โดยรายงานระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน แต่อาจจะเป็นช่วงปลายศตวรรษนี้ หรือในช่วงปี 2150. ข้อมูล : CNN Aljazeera https://www.thairath.co.th/news/foreign/2497017 ********************************************************************************************************************************************************* ฉลามวาฬยักษ์ 2 ตัว โผล่อวดโฉมเกาะพะงัน ชี้ความสมบูรณ์ใต้ทะเลไทย ใต้ท้องทะเลเกาะพะงัน สุดพีก ฉลามวาฬขนาดใหญ่ 2 ตัว โผล่ว่ายอวดโฉมให้กลุ่มนักดำน้ำเพื่ออนุรักษ์ เครือข่ายช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากได้เห็น ขณะลงดำน้ำสำรวจดูความหลากหลายทางธรรมชาติใต้ทะเล ทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทะเลพะงัน เพื่อรอนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 นายสิทธิโรจน์ แก้วหนองเสม็ด หัวหน้าเครือข่ายช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และรองประธานชมรมนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์เกาะพะงัน หรือ พะงันซีการ์เดี้ยน (Phangan Sea Guardian) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายสัตว์ทะเลหายาก อำเภอเกาะพะงัน กลุ่มนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ ได้ออกดำน้ำสำรวจดูความหลากหลายทางธรรมชาติใต้ท้องทะเล พร้อมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาดำน้ำชมปะการังและธรรมชาติใต้ทะเล บริเวณหินใบ เกาะพะงัน โดยทางกลุ่มได้นำเรือ เดอะ ไดว์อินน์ พร้อมอุปกรณ์เดินทางออกไป พร้อมกับได้ดำน้ำและสำรวจใต้ท้องทะเลบริเวณหินใบที่อยู่ระหว่างเกาะเต่าและเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้พบเห็นฉลามวาฬความยาวประมาณ 4 เมตร 1 ตัว และฉลามวาฬ ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 6 เมตร อีก 1 ตัว โผล่ขึ้นมาว่ายน้ำอวดโฉมอยู่ใกล้ๆ กลุ่มนักอนุรักษ์ เหมือนเป็นการต้อนรับเหล่านักดำน้ำ ซึ่งจุดดำน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงติดระดับโลกของเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน ทางกลุ่มนักดำน้ำจึงได้บันทึกภาพไว้เก็บเป็นฐานข้อมูลและเป็นภาพประทับใจแก่สายตากลุ่มนักอนุรักษ์ และกลุ่มนักดำน้ำที่ได้สัมผัสฉลามวาฬอย่างใกล้ชิด ซึ่งในเรื่องนี้ทาง นายสิทธิโรจน์ แก้วหนองเสม็ด หัวหน้าเครือข่ายช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และรองประธานชมรมนักดำน้ำ เพื่อการอนุรักษ์เกาะพะงัน หรือ พะงันซีการ์เดี้ยน กล่าวอีกว่า จากการที่ได้ลงไปสำรวจใต้ท้องทะเลและพบจ้าวฉลามวาฬมาเป็นคู่ เป็นการสะท้อนให้เห็นและมีข้อบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลบริเวณทะเลเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเกาะพะงันนอกจากจะมีกิจกรรมฟูลมูนปาร์ตี้แล้วก็ยังมีใต้ท้องทะเลที่สวยงามที่นักท่องเที่ยวนิยมมาสัมผัสธรรมชาติ รวมทั้งไปดำน้ำใต้ท้องทะเลกัน. https://www.thairath.co.th/news/local/south/2497977
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 13-09-2022 เมื่อ 03:33 |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
วิจารณ์สนั่น แก้ไขไม่ยั่งยืน ท้องถิ่นขนหินถมชายหาด แหลมตะลุมพุก อ้างกันกัดเซาะ ชาวบ้านวิจารณ์ ท้องถิ่นนครศรีฯ ขนหินถมชายหาดแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง อ้างกัดเซาะ นักวิชาการ ระบุแก้ปัญหาไม่เหมาะสม ไม่ยั่งยืน ย้ำชายหาดมีชีวิต อย่าเพิ่งไปฆ่าให้ตาย 12 ก.ย. 65 ? ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณชายหาดแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทางท้องถิ่นได้นำก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมาก มาถมเป็นแนวยาวตามชายหาดเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร โดยอ้างเพื่อเป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม เพราะทำให้ทัศนียภาพชายหาดที่เคยสวยงามถูกบดบังด้วยก้อนหินขรุขระ ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราระเบิดภูเขามาทำลายชายหาด ช่างเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ทำลายหาดทรายอย่างยั่งยืนจริงๆ อย่างที่ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยอธิบายไว้ว่า ชายหาดสงขลาทอดยาวไปถึงปากพนัง เป็นพื้นที่ ที่คลื่นลมได้พัดพาเอาทรายมาทับถมจนเกิดเป็นคาบสมุทรสทิงพระ ต่อเนื่องยาวไปสุดที่ปลายแหลมตะลุมพุก เป็นตัวอย่างการกำเนิดหาดทราย และแผ่นดินคาบสมุทรอันเป็นผลจากคลื่นลมที่มีความแรงกว่าบริเวณอื่นๆ ดร.เพชร กล่าวว่า ในฤดูมรสุมเป็นธรรมดาที่คลื่นลมจะแรง แต่คลื่นไม่ได้ทำให้หาดทรายหายไปทั้งหมด เพราะคลื่นพาทรายจากทะเลเข้ามาเติมตลอดเวลา และเมื่อกระแทกกับชายหาด ก็เกิดการปะทะลดความแรงได้อย่างสมดุล ทรายส่วนหนึ่งล้นสันทรายไปสะสมด้านบนของหาด เกิดเป็นเนินทรายเกิดสังคมพืชชายหาด แต่ถ้าไม่มีแนวถอยร่น (setback) เช่น พื้นที่กลายเป็นถนน เป็นบ้านเรือนก็จะกลายเป็นปัญหาทันที "เมื่อคลื่นปะทะชายหาดทรายบางส่วนก็ไหลลงไปกองเป็นสันทรายใต้น้ำข้างหน้าชายหาด ทำหน้าที่ลดความแรงของคลื่นลูกใหม่ เป็นพลวัตรของชายหาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแก้ปัญหาด้วยแนวคิดทางวิศวกรรมด้วยการเอาของแข็งไปสู้กับคลื่น เช่นเอาหินไปถมหาด ก็ยิ่งทำให้ทรายถูกพัดหายไปเร็วขึ้น สักพักด้านล่างก็ทรุด ต้องเอาหินมาถมใหม่ ไม่รู้จบ ที่สำคัญชายหาดก็จะหายไป ส่วนจะไปงอกใหม่ที่ไหนก็ต้องติดตามดูผลกระทบต่อไป เรามีบทเรียนมากมายถึงการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด น่าจะหมดเวลาสำหรับการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนแบบนี้ได้แล้ว" ดร.เพชร กล่าว เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่นี้จะต้องทำอย่างไร ดร.เพชร กล่าวว่า ต้องไปดูก่อนว่าสาเหตุการกัดเซาะ ถ้ามีการกัดเซาะจริง ว่ามาจากอะไร มีสิ่งก่อสร้างตรงไหนที่รุกล้ำ หรือทำให้สมดุลหาดเปลี่ยนไปหรือไม่ แล้วค่อยพิจารณาทางเลือกอื่นๆ รื้อสิ่งรุกเร้า เติมทราย ทำรั้วดักทราย แต่ควรต้องมองก่อนว่า ชายหาดมันมีชีวิต อย่าเพิ่งไปฆ่าให้ตาย https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_7261218
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|