เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยและอ่าวไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 ? 5 ก.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 10 ก.ค. 66 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


นักวิทย์ฯ ออกโรงเตือน น้ำแข็งอาร์กติกอาจหายไปหมด ภายในปี 2030 แม้ฤดูหนาวก็สร้างน้ำแข็งไม่ได้



สภาวะโลกร้อนที่กำลังให้สภาพอากาศของโลกกำลังแปรปรวน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ และยังพยายามให้คำเตือนถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เช่น รายงานใหม่จากทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่ได้มีคำเตือนว่า น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือ หรือที่เรารู้จักกันเขตอาร์กติก อาจหายไปหมดภายในปี 2030 นี้ เพราะผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจนอาร์กติกไม่สามารถสร้างน้ำแข็งเองได้ และถึงแม้เราจะหยุดปล่อยมลพิษตอนนี้ทันที ผลก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

คำเตือนในเรื่องนี้ ได้มีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารออนไลน์ Nature communications ซึ่งเก็บข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ปี 1979 ถึง 2019 และสร้างแบบจำลองสภาพอากาศที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ เพื่อประเมินว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะเป็นยังไงบ้าง

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องนี้พบว่า ในฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือ น้ำแข็งจะหายไปหมด และมันจะไม่กลับภายในปี 2030 หรือพูดง่ายๆ ว่าน้ำแข็งที่อาร์ติกจะหายไปหมดภายในปี 2030 แม้ว่าเราจะลดหรือหยุดปล่อยตอนนี้เลย ผลกระทบก็จะยังเกิดขึ้น แต่อาจเกิดขึ้นช้ากว่าเดิมนิดหน่อย

Seung-Ki Min ผู้เขียนหลักของการศึกษาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์โพฮังในเกาหลีใต้กล่าวว่า

"เรารู้สึกประหลาดใจที่ว่าอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยไม่คำนึงถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดเลย"

ในช่วงปกติ น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะก่อตัวขึ้นในฤดูหนาว แล้วละลายในฤดูร้อนซึ่งจะละลายมากสุดในเดือนกันยายน จากนั้นก็เริ่มวัฏจักรใหม่อีกครั้ง ทีนี้ โลกที่ร้อนขึ้นไปซ้ำเติมให้ฤดูหนาวปกติสร้างน้ำแข็งได้น้อยลง และก็ทำให้ฤดูร้อนมีน้ำแข็งละลายมากขึ้น จนน้ำแข็งน้อยลงเรื่อย ๆ

ในอนาคต ขั้วโลกเหนือ หรือเขตอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุม เพราะสร้างในฤดูหนาวก็ไม่ได้ แถมละลายมากขึ้นในฤดูร้อน และที่สำคัญ โลกกำลังสูญเสียน้ำแข็งเหล่านี้ในอัตราเร่งที่เร็วเกินกว่าใคร ๆ เคยประเมินไว้ ก็คืออาจหายไปหมดภายใน 7 ปีนี้ ไม่ใช่ว่าเรามองไม่เห็นอนาคตที่จะมาถึง แต่มันมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก

หากขั้วโลกเหนือไม่มีน้ำแข็งในทะเลจะส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นที่รุนแรงไปทั่วโลก กระแสน้ำหยุดชะงัก สภาพอากาศสุดขั้ว คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม และภาพหมีขั้วโลกที่ไม่มีน้ำแข็งให้ยืนอยู่จะเป็นจริง แค่ใน 30 ปีที่ผ่านมา 95% ของน้ำแข็งในทะเลที่หนาที่สุดของอาร์กติกได้ละลายหายไปแล้ว

"น้ำแข็งในทะเลเป็นรากฐานของระบบนิเวศมากมาย สาหร่ายเป็นอาหารของปลา ปลาเป็นอาหารของนกและอื่น ๆ ระบบนิเวศทางทะเลจะได้รับผลกระทบทั่วโลก เรายังไม่รู้คำตอบแน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไรหากน้ำแข็งหายไป" ... ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาธรณีศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Aarhus กล่าว


https://mgronline.com/science/detail/9660000060787


******************************************************************************************************


น้ำทะเลเปลี่ยนสี แถวศรีราชา/สีชัง ?อ.ธรณ์? ชี้เหตุ โลกยิ่งร้อน ยิ่งรับผลกระทบ



วันหยุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รายงานสถานการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีแถวศรีราชา/สีชัง ซึ่งพบว่าค่าออกซิเจนในมวลน้ำใกล้พื้นลดลงต่ำมาก จนทำให้พบสัตว์น้ำตาย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat ได้ระบุถึงปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ถูกซ้ำเติมโดยกิจกรรมมนุษย์

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเปลี่ยนสีหลายแห่งในชลบุรี ใครไปทะเลจะเห็นน้ำสีเขียวมาจนถึงชายฝั่งหรือตามหาดบางแห่ง ออกไปถึงเกาะก็ยังเจอ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดง่ายเมื่อฝนแรกๆ ตกลงมา ทำให้ธาตุอาหารลงทะเล ทั้งตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การเกษตร น้ำเสีย ฯลฯ

หากฝนตกๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง มีแดดแรงในบางช่วง จะกลายเป็นตัวเร่งทำให้แพลงก์ตอนพืชที่ได้ทั้งธาตุอาหารและแสงแดดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

แพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาลตายลงพร้อมกันและลงไปสู่พื้นทะเล เมื่อเกิดการย่อยสลายจะใช้ออกซิเจนจนถึงจุดวิกฤต ทำให้สัตว์น้ำบริเวณพื้นทะเลขาดออกซิเจนจนตาย

สังเกตจากกราฟของคณะประมง ที่ตรวจวัดใกล้พื้นเหลือออกซิเจนน้อยมาก

โลกร้อนเข้ามาเพิ่มความเสียหายแก่ท้องทะเล เพราะน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกปี (เคยเล่าไปแล้วครับ)
น้ำร้อนจะแบ่งชั้นกับน้ำเย็น น้ำร้อนอยู่ด้านบน น้ำเย็นอยู่ด้านล่าง

น้ำเย็นปรกติจะมีออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว อาศัยการแลกเปลี่ยนจากมวลน้ำชั้นบน

แต่เมื่อมวลน้ำร้อนเย็นต่างกันมาก แบ่งชั้นชัดเจน ทำให้ไม่ผสมผสาน ออกซิเจนในชั้นน้ำใกล้พื้นท้องทะเลยิ่งหมดไปเร็วขึ้น

สังเกตกราฟอีกที จะเห็นการแบ่งชั้นชัดเจน จากผิวน้ำถึงลึก 8 เมตร ออกซิเจนยังดีอยู่ แต่ลึก 8-10 เมตร ออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แพลงก์ตอนที่บลูมอยู่ตอนนี้เป็นชนิดปรกติ ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำที่จับมาได้ (ไม่ใช่ตักปลาตายในน้ำหรือบนหาดมากิน อันนั้นอาจท้องเสียซึ่งไม่เกี่ยวกับแพลงก์ตอน)

ผมเคยเล่าเรื่องแพลงก์ตอนบลูมหลายครั้ง หนนี้สถานีของคณะประมง มก. ออกสำรวจเก็บข้อมูลได้ทันเวลา จึงนำมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ

ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ทางทะเล นั่นคือเหตุผลว่าทำไมโลกยิ่งร้อน ทะเลยิ่งเกิดผลกระทบ เรายิ่งต้องทุ่มทุนกับการสำรวจศึกษาทางวิชาการ

ไม่งั้นเราจะไม่สามารถทำนายอะไรได้ และไม่สามารถป้องกัน/แก้ไข/รับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ครับ


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000060499

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ทำไม 'หอยนางรม' ถึงเป็น 'เครื่องกรองน้ำ' แห่งท้องทะเล ?

หลายคนอาจรู้จัก "หอยนางรม" ในฐานะอาหารทะเลขึ้นชื่อของไทย แต่รู้หรือไม่? นอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว ประโยชน์อีกอย่างของพวกมันก็คือ "เปลือกหอยนางรม" ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำตามธรรมชาติชั้นดีที่ทำให้ "น้ำทะเล" ใสสะอาด



Key Points:

- หอยนางรมเป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโภชนาการทางอาหารสูง และมีคอเลสเตอรอลต่ำ

- นอกจากคุณค่าทางอาหารแล้ว หอยนางรมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเป็นทั้งเครื่องกรองน้ำและแนวกั้นคลื่นตามธรรมชาติ

- จากความนิยมบริโภคหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการจับหอยนางรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะจากเปลือกหอยนางรมมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม


หอยนางรมไม่ได้เป็นแค่หนึ่งในเมนูสุดโปรดของใครหลายคนเท่านั้น แต่พวกมันยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะ "เปลือกหอยนางรม" ถือว่าเป็น "เครื่องกรองน้ำ" ตามธรรมชาติ ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้น้ำทะเลใสสะอาด พูดได้ว่าพวกมันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก ทำให้ในบางประเทศไม่นิยมจับหอยนางรมมารับประทาน รวมถึงมีประกาศห้ามจับหอยนางรมเพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งให้ยังคงสมบูรณ์อยู่เสมอ

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบรับประทาน "หอยนางรม" เป็นพิเศษ โดยเฉพาะการนำมาปรุงเป็นเมนูสุดแซ่บอย่าง หอยนางรมทรงเครื่อง, ยำหอยนางรม หรือ หอยนางรมกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ชาวประมงจึงจับหอยนางรมจากทะเลไทยมาจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ก็นิยมออกไปเก็บหอยนางรมตามชายฝั่งมารับประทานเช่นเดียวกัน เนื่องจากตามชายหาดของต่างประเทศ เช่น สวีเดน นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ หรือ เดนมาร์ก มีหอยนางรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในอดีตผู้คนในกลุ่มประเทศเหล่านั้นไม่นิยมบริโภคหอยนางรมเหมือนในปัจจุบัน

แม้ว่าในอดีตหอยนางรมอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไร แต่ในปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มหันมาบริโภคหอยนางรมมากยิ่งขึ้น ต้องบอกก่อนว่า.. การบริโภคหอยนางรมไม่ใช่เรื่องผิด แต่การทิ้ง "เปลือกหอยนางรม" ที่ไม่ถูกวิธีนั้น เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้! เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างขยะจากเศษอาหารที่มากขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย เนื่องจากเปลือกหอยเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้น้ำในทะเลใสสะอาด จึงทำให้ชายฝั่งทะเลบางแห่งเริ่มมีการรณรงค์ไม่ให้เก็บหอยนางรมไปกิน แต่ควรอนุรักษ์พวกมันให้อยู่คู่ทะเลต่อไปเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน


ประโยชน์ของ "หอยนางรม" เมนูโปรดใครหลายคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลที่ "หอยนางรม" กลายเป็นเมนูยอดนิยมตลอดกาลนั้น เป็นเพราะว่าเนื้อของมันมีรสชาติอร่อย และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นอาหารทะเลที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์อีกด้วย

หอยนางรม มีชื่อสามัญ ว่า Oyster อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น สังกะสี ทองแดง วิตามินบี 12 วิตามินดี โปรตีน และโอเมก้า 3 ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้น หอยนางรม 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 68 แคลอรี แต่มีโอเมก้า 3 สูงถึงประมาณ 672 กรัม และยังมีสังกะสีประมาณ 600% วิตามินบีประมาณ 300 % และ ทองแดงอีกประมาณ 200 % ต่อปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับ และที่สำคัญยังมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าอาหารทะเลอื่นๆ เพราะหอยนางรมดิบปริมาณ 85 กรัม มีคอเลสเตอรอลเพียง 21 มิลลิกรัมเท่านั้น แต่ในขณะที่ปลาแซลมอนมีคอเลสเตอรอลอยู่ที่ประมาณ 54 มิลลิกรัม และกุ้งมีมากถึง 166 มิลลิกรัม


คืนหอยนางรมสู่ทะเล เพื่อสร้างแนวกันคลื่น และกรองน้ำให้สะอาด

จากปัญหาขยะเปลือกหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น จากร้านอาหารต่างๆ ในหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งหากนับเฉพาะในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ก็มีร้านอาหารซีฟู้ดมากกว่า 75 แห่งเลยทีเดียว ทำให้มีขยะจากอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในอดีตการกำจัดเปลือกหอยนางรมนั้นไม่ได้ถูกทิ้งลงทะเล แต่ใช้วิธีการเผาทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง และจากความต้องการบริโภคหอยนางรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการจับหอยนางรมในปริมาณที่มากเกินไป (Overfishing) ทำให้ประชากรหอยนางรมในธรรมชาติมีจำนวนลดลง

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า หอยนางรมมีประโยชน์ในด้านอื่นที่สำคัญไม่แพ้เรื่องโภชนาการทางอาหาร นั่นก็คือพวกมันช่วยทำหน้าที่กรองน้ำทะเลให้ความใสสะอาด และสามารถเป็นแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ

ดังนั้นเมื่อ "หอยนางรม" มีจำนวนลดน้อยลงก็ส่งผลต่อปัญหาทางระบบนิเวศเช่นเดียวกัน จากปัญหาดังกล่าวทำให้ในปี 2014 ชาวนิวยอร์กได้รวมตัวกันสร้างโปรเจกต์ "The New York Harbor Foundation" ขึ้น เพื่อนำเปลือกหอยนางรมจากร้านอาหารต่างๆ มารีไซเคิลเป็นบ้านหลังแรกให้กับตัวอ่อนหอยนางรม เพื่อสร้างปะการังหอยนางรมให้เป็นระบบกรองน้ำตามธรรมชาติ เพราะหอยนางรมหนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ 30-50 แกลลอนต่อวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะพันธุ์และนำหอยนางรมกลับสู่บ้านเกิด เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำให้ได้ภายในปี 2035

นอกจากเปลือกหอยนางรมจะเป็นเครื่องกรองน้ำแล้ว พวกมันยังคอยให้สารอาหารและให้ที่อยู่อาศัยแก่ปลาและปะการังในบริเวณนั้นอีกด้วย และที่สำคัญยังมีหน้าที่ในการเป็นกำแพงป้องกันพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นและพายุ เนื่องจากเปลือกหอยนางรมในปริมาณมากๆ สามารถบรรเทาความรุนแรงของคลื่นให้ลดลงได้ ดังนั้นเมื่อบริเวณลุ่มน้ำเค็มที่เริ่มสูญเสียหอยนางรมไป ก็จะได้รับความเสียหายจากพายุได้ง่ายขึ้น

หลังจากโปรเจกต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกสู่สังคม ก็ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของหอยนางรมมากขึ้น โดยมีโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลเพิ่มขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการ "Billion Oyster Project" ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ที่เน้นไปที่การเก็บเปลือกหอย (ส่วนหนึ่งก็รับมาจากร้านอาหาร) นำมาทำเป็นโขดหินตามชายฝั่งเพราะนอกจากจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากพายุแล้ว ยังมีความหวังว่าการกลับมาอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของหอยนางรมนั้น จะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรหอยนางรมได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจาก "ลูกหอยนางรม" ที่เพิ่งเกิดนั้น จำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในเปลือกหอยนางรมเปล่า เพื่อไม่ให้ตัวเองร่วงลงสู่พื้นดินในท้องทะเลและตายในที่สุด

เพราะฉะนั้นแล้ว นอกจากจะสร้างแนวกันคลื่น เพื่อกรองน้ำทะเลให้สะอาดแล้ว เปลือกหอยนางรมเหล่านี้ยังทำให้ลูกหอยนางรม สามารถมีอยู่ชีวิตอยู่กับธรรมชาติต่อไปได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการนำเปลือกหอยนางรมกลับสู่ทะเลก็คือ นำเปลือกหอยที่ได้มาไปตากแดดก่อนหนึ่งปี แล้วนำไปใช้ในการฟักตัวอ่อนหอยนางรมที่สถานอนุบาลหอยนางรม เพื่อเลี้ยงให้โตประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะนำกลับสู่ทะเล

สำหรับปัญหาประชากรหอยนางรมที่ลดลงนั้น ไม่ได้มาจากการที่มนุษย์นำไปบริโภคอย่างเดียว แต่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมันก็ถูกทำลายลงไปเช่นเดียวกัน จากปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคในหอยนางรม รวมถึงปัญหาแนวปะการังที่ถูกทำลายลง จนพวกมันไม่มีที่ยึดเกาะตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนไม่มีบ้านให้อาศัยอยู่ พวกมันจึงอยู่รอดได้ยากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะปัญหาใดก็ตามที่ทำให้หอยนางรมมีจำนวนน้อยลง ย่อมมีมนุษย์เข้าไปเป็นตัวการก่อปัญหาเสมอ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ทั้งจากปัจเจกบุคคลและการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1076880

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger