#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาว ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นไว้ด้วย รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยอ่าวไทยและห่างฝั่งบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 19-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 20 - 23 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 24 ? 25 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยและยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว สำหรับในช่วงวันที่ 19 - 20 ธ.ค. 65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ธ.ค. 65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 19 - 20 ธ.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง และระวังภัยที่เกิดจากลมแรงและอากาศแห้ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
แหล่งฟอสซิลชี้สัตว์ขาปล้องยักษ์เคยครองทะเล การค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์หรือซากฟอสซิลแห่งใหม่ในโมร็อกโก บ่งชี้ว่า สัตว์ขาปล้องขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นญาติของสิ่งมีชีวิตยุคปัจจุบันอย่างกุ้ง แมลง แมงมุม เคยปกครองท้องทะเลเมื่อ 470 ล้านปีก่อน โดยหลักฐานแรกได้จากพื้นที่ Taichoute ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ใต้ทะเล แต่ทุก วันนี้กลายเป็นทะเลทราย ซึ่งพบหลักฐานของสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่อาจยาวได้ถึง 2 เมตร และใช้ชีวิตว่ายวนในท้องทะเลอย่างอิสระเป็นจำนวนมากเมื่อครั้งโบราณ ทีมวิจัยนานาชาติจากมหาวิทยาลัย เอ็กซิเตอร์ ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยโลซาน ในสวิตเซอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยยูนนาน ในจีน มหาวิทยาลัยลียง ในฝรั่งเศส และสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐเชก เผยว่า พื้นที่ Taichoute และหลักฐานฟอสซิลของที่นี่มีความแตกต่างอย่างมากจากพื้นที่ Fezouata Shale ที่ห่างออกไป 80 กิโลเมตร อันเป็นที่ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 ของแหล่งทางธรณีวิทยาที่สำคัญที่สุดในโลกตั้งอยู่ในโมร็อกโก ทีมระบุว่า Taichoute เป็นส่วนหนึ่งของ Fezouata Biota และการพบความแตกต่างนี้เองที่จะเปิดช่องทางใหม่ในการวิจัยซากดึกดำบรรพ์และด้านนิเวศวิทยา อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเผย แม้ว่าสัตว์ขาปล้องขนาดยักษ์ที่ค้นพบจะยังไม่ได้ถูกระบุแน่ชัด ทว่า บางชนิดอาจเป็นของสายพันธุ์จาก Fezouata Biota และบางชนิดอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างแน่นอน อีกทั้งด้วยขนาดตัวที่ใหญ่และวิถีชีวิตที่ว่ายน้ำอย่างอิสระ ก็บ่งชี้ว่าพวกมันมีบทบาทพิเศษในระบบนิเวศเหล่านี้. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2578663 ****************************************************************************************************** ซากหนอนทะเลอายุ 455 ล้านปี พบในโมร็อกโก การสร้างระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในอดีตขึ้นใหม่นับเป็นหนึ่งในความพยายามของนักวิจัยที่ศึกษาด้านธรณีวิทยา เช่น งานวิจัยที่ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับยุคออร์โดวิเชียนอันเป็นธรณีกาลยุคที่ 2 ของมหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งทำงานกันในโมร็อกโก และมีการทำภาคสนาม 15 วันในพื้นที่ทะเลทรายของประเทศนี้ 2?3 ครั้งต่อปี เมื่อเร็วๆนี้ โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซ แห่งมาดริด และสถาบันธรณีศาสตร์ ในสเปน ได้ระบุถึงหนอนทะเลหลายชนิดจากมหายุคพาลีโอโซอิกหรือออร์โดวิเชียนเมื่อ 455 ล้านปีก่อน โดยพบใน Tafilalt Biota พื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในโมร็อกโก ซากฟอสซิลหนอนทะเลพวกนี้สอดคล้องกับประเภทและสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ Anguiscolex africanus และอีกสายพันธุ์ใหม่คือ Wronascolex superstes ทีมวิจัยเผยว่า หนอนทะเล Palaeoscolecids เหล่านี้หาได้ยากในมหายุคพาลีโอโซอิกหรือออร์โดวิเชียน แม้พวกมันจะอาศัยอยู่ในทะเลทั่วโลก ส่วนซากของหนอนที่พบในโมร็อกโก เป็นลักษณะของเปลือกชั้นนอกของตัวหนอน ปกคลุมด้วย phosphatic micros clerites เรียงกันเป็นวงต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ นักวิจัยได้ให้ข้อสรุปอีกอย่างก็คือความใหญ่โต 3 หนอนทะเลที่พบใน Tafilalt Biota มีขนาดใหญ่กว่า Palaeoscolecids ที่พบในออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และตอนกลางจนถึงตะวันตกของยุโรป ถึง 2-3 เท่า สิ่งนี้อาจเชื่อมโยงว่าดินแดนที่เป็นโมร็อกโกในอดีต ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้อย่างมากในยุคออร์โดวิเชียน. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2580931
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"สตีเวน สปีลเบิร์ก" เศร้าใจหนัก Jaws ทำจำนวนฉลามลดฮวบ โดนฆ่าจนใกล้สูญพันธุ์ เป็นผู้กำกับมือรางวัลที่มีภาพยนตร์ชื่อดังผ่านมือมาแล้วนับไม่ถ้วนสำหรับ "สตีเวน สปีลเบิร์ก" ที่ล่าสุดออกมายอมรับว่ามีผลงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่ทำเขาเสียใจอย่างสุดซึ้งจนถึงทุกวันนี้ คือการวาดภาพฉลามว่าโหดร้ายจนทำให้ผู้คนหวาดกลัวในภาพยนตร์เรื่อง "JAWS" สตีเวน สปีลเบิร์ก ในวัย 76 ปี ที่สร้างชื่อจากภาพยนตร์ขวัญผวาเรื่อง JAWS ได้ทำให้ฉลามขาวกลายเป็นปลากระหายเลือดแสนดุร้าย และเกิดภาพจำในสายตาคนทั่วไปว่าฉลามเป็นสัตว์กินคน ทำให้พวกมันถูกไล่ล่าฆ่าให้ตายด้วยน้ำมือมนุษย์ จนส่งผลให้จำนวนฉลามในปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที เหตุนี้เอง ทำให้ผู้กำกับดังได้เปิดเผยความรู้สึกผ่านรายการ Desert Island Discs ทางสถานีวิทยุ Radio 4 โดยระบุว่า ?บางที ฉลาม คงจะโกรธผม ผมรู้สึกเสียใจมากจริงๆ ความบ้าคลั่งของชาวประมงที่เกิดขึ้นหลังปี 1975 ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้ จำนวนฉลามลดลงส่วนหนึ่งเพราะหนังสือและภาพยนตร์เรื่องนั้น? JAWS นับเป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายขายดีที่มีชื่อเดียวกันเมื่อปี 1974 แต่งโดย ปีเตอร์ เบนช์ลีย์ ที่ตอนนี้จากนักเขียนนิยาย ได้ผันตัวกลายมาเป็นนักอนุรักษ์ฉลามไปแล้ว ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำทางทะเลก็ได้เผยว่า ทั้งนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้นำพาให้ชาวประมงทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น และบรรดานายพรานนักล่าต่างๆ พากันไล่ล่าฉลามโดยมองว่าพวกมันไม่ต่างจากถ้วยรางวัลที่แสดงถึงความเก๋าในฝีมือการล่าของตนเอง จนทำให้จำนวนฉลามน้อยลงทุกปีๆ จนตอนนี้ลดลงจนน่าตกใจ และเสี่ยงจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้าด้วย https://mgronline.com/entertainment/.../9650000120343 ****************************************************************************************************** "การเดินทางครั้งสุดท้ายของมูน" ว่ายน้ำ 3,000 ไมล์จากแคนาดาไปฮาวาย Cr.KHON2 News เมื่อปี 2020 นักวิจัยและสำรวจวาฬพบแม่วาฬหลังค่อมตัวหนึ่งกำลังว่ายน้ำอยู่กับลูกของมันในน่านน้ำแคนาดา พวกเขาตั้งชื่อให้เธอว่า ?มูน? (Moon) เดือนกันยายน 2022 นักวิจัยพบมูนอีกครั้งนอกชายฝั่งบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา แต่คราวนี้พวกเขาตกใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นช่วงล่างของมูนคดงอเป็นรูปตัว S อย่างชัดเจน นักวิจัยปล่อยโดรนให้เข้าไปส่องดูใกล้ ๆ ก็พบว่ามูนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่กระดูกสันหลัง คาดว่าเกิดจากการถูกเรือชนจนกระดูกหัก (ทั้งนี้ในแต่ละปีมีวาฬทั่วโลกเสียชีวิตจากการชนกับเรือมากถึง 20,000 ตัว - ข้อมูลจาก BC Whales) หากมูนเป็นสัตว์บกนักวิจัยอาจสามารถช่วยเหลือได้ แต่เมื่อเธออยู่ในมหาสมุทรและมีขนาดมหึมาจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปแทรกแซง พวกเขาทำได้เพียงเฝ้ามองด้วยความเจ็บปวดใจ เมื่อย่างเข้าสู่หน้าหนาววาฬจะอพยพประจำปีไปยังน่านน้ำที่อุ่นขึ้น เช่น เม็กซิโก, ฮาวาย ซึ่งที่นั่นพวกมันจะผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูก นักวิจัยได้แต่สงสัยว่าแล้วมูนจะทำอย่างไร แต่การบาดเจ็บไม่อาจหยุดยั้งมูนได้ เธอท้าทายทุกความเป็นไปได้ด้วยการว่ายอพยพจากแคนาดาไปยังหมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เหมือนที่เธอเคยทำเป็นประจำทุกปี มูนเดินทางครั้งสุดท้ายเป็นระยะทางเกือบ 3,000 ไมล์ ทั้งที่ตัวเองบาดเจ็บสาหัส เหมือนเป็นอัมพาตช่วงล่าง ไม่สามารถขยับส่วนหางมาช่วยขับเคลื่อนร่างกายให้พุ่งไปข้างหน้าได้ จึงต้องว่ายท่ากบไปตลอดทาง หัวใจที่เข้มแข็งของเธอช่างน่าทึ่งก็จริง แต่ก็สร้างความสะเทือนใจอย่างมากเช่นกัน วาฬหลายตัวใช้เวลาเดินทางอพยพประมาณ 1 เดือน แต่มูนต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน ในเดือนธันวาคม 2022 นักวิจัยพบมูนที่น่านน้ำนอกเกาะเมาวี เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในหมู่เกาะฮาวาย มูนทำสำเร็จแล้ว! แต่การเดินทางที่ยาวนานและเจ็บปวด ทำให้มูนผอมลงและมีเหาวาฬเกาะตามตัวเต็มไปหมด นักวิจัยดีใจที่มูนอพยพได้สำเร็จแต่พวกเขารู้ดีว่านี่เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเธอแล้ว มูนไม่มีโอกาสได้กลับไปแคนาดาอีก เธอกำลังจะตายอยู่ที่นี่?ในน่านน้ำที่อบอุ่นแห่งนี้ ยิ่งเธอจากไปเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทรมานน้อยเท่านั้น นักวิจัยพยายามหาทางช่วยให้มูนทุกข์ทรมานน้อยที่สุด นั่นคือการทำการุณยฆาต แต่การทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในมหาสมุทร หรือหากสัตว์อื่นมากัดกินซากของเธอก็อาจเป็นอันตรายได้ พวกเขาจึงทำได้แค่เฝ้ามองเธอด้วยความเจ็บปวด มูลนิธิปลาวาฬแปซิฟิกพบว่ามันกำลังว่ายน้ำนอกชายฝั่งเมาอิ รัฐฮาวาย ซึ่งอยู่ห่างจากบริติชโคลัมเบียกว่า 3,000 ไมล์ ด้วยสภาพที่ "บิดเบี้ยว" และสุขภาพทรุดโทรม ตามรายงานของ Marine Education & Research Society เธอต้องใช้ครีบอกในการเดินทาง เนื่องจากหางของเธอเป็นอัมพาต "มันน่าจะเจ็บปวดมาก แต่เธอก็อพยพไปไกลหลายพันไมล์โดยที่หางของมันไม่สามารถขับเคลื่อนตัวเองได้" BC Whales กล่าว "การเดินทางของเธอทำให้เธอผอมแห้งและมีเหาวาฬปกคลุมทั้งตัว ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนักของเธอ" Kayleigh Nicole Grant นักประดาน้ำมืออาชีพพบ Moon ในฮาวายและบอกว่าตอนนี้เธอกำลังถูกฉลามติดตามขณะที่อาการของเธอแย่ลง วาฬอีกตัวดูเหมือนจะพาเธอผ่านการเดินทางที่ถึงวาระของเธอ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึง "ความเห็นอกเห็นใจ" ของวาฬที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน Grant กล่าวว่า "มันยากมากที่จะได้เห็นวาฬหลังค่อมด้วยตาตัวเอง "ความทุกข์ทรมานทั้งหมดของเธอเกิดจากผลกระทบของมนุษย์ และมันทำให้ฉันตายได้ที่เราสร้างความเสียหายมากมายให้กับธรรมชาติและสัตว์ป่า" นี่คือความแข็งแกร่งครั้งสุดท้ายที่วาฬตัวหนึ่งแสดงให้โลกเห็น หรือเธออาจกำลังร้องขอให้มนุษย์อยู่ร่วมโลกกับสัตว์อื่นด้วยความใส่ใจมากกว่านี้ วิกิพีเดีย ระบุจำนวนของประชากรวาฬหลังค่อม หรือ วาฬฮัมแบ็ก (Humpback whale) ประมาณ 13,000 ตัว ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ 21,000 ตัว ในแปซิฟิกเหนือ และ 80,000 ตัวในซีกโลกใต้ และที่อยู่ในทะเลอาหรับเหลืออยู่ประมาณ 80 ตัวเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ https://mgronline.com/greeninnovatio.../9650000119922
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก
"กางเกงยีนส์เก่าแก่สุดในโลก" จากซากเรืออัปปาง 165 ปี เคาะประมูลเฉียด 4 ล้าน ทำราคาขายได้เกือบ 4 ล้าน กางเกงยีนส์เก่าโทรมจนไม่รู้สีเดิม จากซากเรืออัปปาง 165 ปีก่อน บริษัทประมูลเชื่อว่า อาจเป็นกางเกงยีนส์เก่าแก่ที่สุดในโลก กางเกงยีนส์ที่เชื่อว่าอายุเก่าแก่สุดในโลก จากซากเรือ เอสเอส เซ็นทรัล อเมริกา ( SS Central America) หรือ เรือแห่งทองคำ ( ship of gold) ที่อัปปางกลางทะเล ใกล้กับชายฝั่งนอร์ทคาโรไลนา ในปี ค.ศ. 1857 ถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 1.14 แสนดอลลาร์สหรัฐ ( 3.97 ล้านบาท) โดยเป็นส่วนหนึ่งของคลังสมบัติและของที่ระลึก 270 รายการจากซากเรือลำเดียวกัน ที่ Holabird Western Americana Collections นำออกประมูลที่เมืองรีโน รัฐเนวาดา ทางตะวันตกของสหรัฐและทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เรือ SS Central America ความยาว 85 เมตร นำผู้โดยสารไป-กลับระหว่างอเมริกากลางกับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 เรือประสบเหตุอัปปาง ระหว่างล่องจากปานามาไปนิวยอร์ก และผจญพายุเฮอร์ริเคนระดับ 2 ในเดือนกันยายน ค.ศ.1857 ( พ.ศ.2400 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ) มีผู้เสียชีวิต 428 คนจากผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 578 คน สิ่งที่จมลงไปรวมถึงทองคำแท่ง เหรียญทองคำหลายพันปอนด์ ในยุคตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย จึงเรียกอีกชื่อว่า เรือแห่งทองคำ ก่อนถูกค้นพบ นอกชายฝั่งรัฐนอร์ทคาโรไลนา ในปี 2531 เชื่อว่า เจ้าของเดิมของกางเกงยีนส์ตัวนี้ เป็นชาวเหมือง และ จอห์น ดีเมนต์ พ่อค้าจากรัฐออริกอน ซื้อมาจากซานฟรานซิสโก ดีเมนต์ เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเรืออัปปาง สีเดิมของกางเกงตัวนี้ ไม่ชัดเจน แต่หลังจากอยู่ในหีบใส่ของก้นทะเล นานกว่า 1 ศตวรรษ กลายเป็นกางเกงเปื้อนสีดำและน้ำตาล ผู้เชี่ยวชาญของสำนักประมูล เชื่อว่า ยีนส์ตัวนี้อาจเป็นกางเกงผลิตรุ่นแรก ๆ ของ ลีวายสเตราส์ กระดุมโลหะ 5 จุด มีความคล้ายกันมากกับลีวายส์ในปัจจุบัน ด้วยสไตล์ รูปทรงและขนาดของกระดุมที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ กระนั้น ลีวาย สเตราส์ ผลิตกางเกงยีนส์สีน้ำเงินตัวแรกในซานฟรานซิสโก ปี 1873 ราว 16 ปีหลังจากเรือ เอสเอส เซ็นทรัล อเมริกา อัปปาง และเทรซีย์ พาเน็ค นักประวัติศาสตร์ของลีวายส์ กล่าวว่า กางเกงเจากซากเรือ ขาดลักษณะหลายอย่างของลีวายส์ ทั้งหมุดโลหะ และกระดุม จึงไม่เชื่อว่าเป็นของลีวายส์ และไม่ใช่กางเกงของคนงานเหมือง https://www.komchadluek.net/news/foreign/539052
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
โลกร้อน-น้ำแข็งละลาย ภัยร้ายหมีขั้วโลกอดอยากตาย ภายในปี 2593 "หมีขาวรู้ว่าน้ำแข็งจะกลับมาเร็วๆ นี้ พวกมันได้แต่รอ" เอลิซา แม็กคอล ผู้ติดตาม และดูแลหมีขาวจากองค์กรหมีขั้วโลกนานาชาติ (พีบีไอ) กล่าว สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า อลิซา และทีมงานปฏิบัติการสำรวจติดตามหมีขาวเพื่อคอยดูแลความปลอดภัยได้ทำงานอยู่ในแถบทะเลอาร์กติก ห่างจากเขตเชอร์ชิลล์ เมืองมานิโตบา ประเทศแคนาดา ซึ่งเชอร์ชิลล์ถูกขนานนามว่าเป็น 'เมืองหลวงแห่งหมีขาวของโลก' ช่วงหน้าหนาวของอ่าวฮัดสัน เขตเชอร์ชิลล์ หมีมักจะใช้แผ่นน้ำแข็งเป็นที่ล่าแมวน้ำ แต่ฤดูไร้แผ่นน้ำแข็งนี้มันช่างยาวนาน ทำให้หมีขาวไม่สามารถออกล่าเหยื่อเป็นเวลานานมาก เมืองหลวงหมีขั้วโลกแห่งนี้กำลังร้อนมากเกินไปสำหรับเหล่าหมีขาวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์เผยว่า ภายในปี 2593 ความยาวของฤดูที่ไร้แผ่นน้ำแข็งอาจทำให้หมีขาวเกิดความอดอยากหิวโหย ด้าน ดร.เฟลวิโอ เลห์เนอร์ จากพีบีไอ เผยว่า หมีต้องพึ่งพาไขมันแมวน้ำเป็นอาหาร แม่หมีที่มีลูก จำเป็นต้องบริโภคไขมันให้เพียงพอ "หากออกไปหาอาหารไม่ได้ หมีจะกินอะไรก็ตามที่มันหาเจอในเมือง รวมถึงเบอร์รี ไข่ หนู และแม้แต่กวาง แต่ไม่มีสิ่งใดทดแทนไขมันของแมวน้ำได้" แม็กคอล กล่าว และเสริมว่า จำนวนหมีขาวในอ่าวฮัดสันลดลง 30% ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้ลงไปหาอาหาร ทั้งนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้คน และหมีอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้งสองฝ่าย โดยประชาชนในเมืองต้องมี 'ถังขยะทนทานหมี' และเมืองต้องจ้าง 'ยามลาดตระเวนกันหมี' คอยดูแลเด็กๆ ช่วงกิจกรรม trick-or-treat ในวันฮาโลวีนอีกด้วย และเป็นเรื่องปกติมากที่คนในเมืองจะไม่ล็อกประตูรถ เพื่อให้คนอื่นที่วิ่งหนีหมีมีที่หลบภัย นอกจากนี้ ผลสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่ติดตามปลอกคอหมีขั้วโลก 400 ตัวในอลาสกา พบว่า หมีขาวใช้เวลาบนบกเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ชะตากรรมฤดูแห่งแผ่นน้ำแข็ง และหมีขาวหลายร้อยตัวในอ่าวฮัดสัน เขตเชอร์ชิลล์ ขึ้นอยู่กับว่าทุกประเทศทั่วโลกสามารถลดการปล่อยมลพิษก๊าซเรือนกระจกได้มากเพียงใด "การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติไม่ได้แย่นัก แต่ไม่ได้ช่วยสัตว์มากเท่าไร หากระบบนิเวศน์เบื้องต้นเปลี่ยนไปเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแยกประเด็นออกจากกัน ถ้าคุณเป็นห่วงสัตว์เหล่านี้ ถ้าคุณอยากที่จะอนุรักษ์สัตว์ไว้ คุณต้องสนใจสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเสียก่อน" ดร.เลห์เนอร์ กล่าว https://www.bangkokbiznews.com/world/1043723
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|