#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 11 กันยายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงมีประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 16 ก.ย 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14 ? 16 ก.ย. 67
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เผยงานวิจัยชี้ ฝุ่นพีเอ็ม มลพิษทางอากาศ อานุภาพทำลายลึกถึงระดับเซลล์และพันธุกรรมมนุษย์ นักวิจัยเผย ฝุ่นพีเอ็ม มลพิษทางอากาศ เข้าสู่ทางเดินหายใจแล้วยังสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต มีอานุภาพทำลายลึกถึงระดับเซลล์และพันธุกรรมมนุษย์ หรือดีเอ็นเอ เชื่อมโยงการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับการเกิดโรคทางเดินหายใจในกลุ่มคนที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน วันที่ 10 ก.ย.2567 สถาบันพันธุศาสตร์มนุษย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปอนติฟิเซีย ฮาเวเรียนา ร่วมกับโรงพยาบาล ซาน อินาซิโอ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยฟรานซิสโก โฮเซ่ เด คาลดาส ในกรุงโบโกตา ของโคลอมเบียเปิดเผยงานวิจัย ที่ชี้ว่า มลพิษทางอากาศไม่เพียงแต่ทำลายปอดและลำคอ แต่ยังมีอานุภาพแทรกซึมสู่หลอดเลือดและทางเดินหายใจ ทำลายลึกลงไปถึงระดับเซลล์และพันธุกรรม (DNA) โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบตัวอย่างเลือดจากคนที่มีสุขภาพแข็งแรงที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น กับผู้ป่วยอาสาสมัครที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่น โรคหอบหืด ซึ่งผลงานวิจัยได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ที่นำไปสู่การเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเช่นโรคหอบหืด ในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งไม่เคยประวัติเป็นโรคทางเดินหายใจมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า มลพิษทางอากาศหมายถึงอากาศที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย ซึ่งมีตั้งแต่ไนโตรเจน ไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ปะปนกับก๊าซ โอโซน และคาร์บอนมอนออกไซด์ ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2022 แสดงให้เห็นว่ามลพิษส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่างการที่รถยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยฝุ่นพีเอ็ม คือส่วนผสมของอนุภาคของแข็งและของเหลวของสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่ลอยอยู่ในอากาศ คิดเป็นร้อยละ 22 ของมลพิษทางอากาศ ขณะที่ส่วนประกอบหลักของฝุ่นละออง ได้แก่ แอมโมเนีย ซัลเฟต ไนเตรต โซเดียมคลอไรด์ ถ่านหิน ขี้เถ้าโลหะ และน้ำ ส่วนประกอบเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกและสะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจหรือในกระแสเลือด จากข้อมูลที่อ้างถึงในการศึกษานี้ ผลกระทบรวมของมลพิษทางอากาศสัมพันธ์กับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6.7 ล้านคนในแต่ละปีทั่วโลก ในโคลอมเบีย มีผู้เสียชีวิต 17,549 รายในแต่ละปีเนื่องจากคุณภาพอากาศไม่ดี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8 ของการเสียชีวิตทั้งปีของประเทศ โดยเดือนมีนาคมปีนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมโคลอมเบียได้แจ้งเตือนระยะที่ 1 เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เนื่องจากมีการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมในระดับสูงแม้จะมีการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว แต่คุณภาพอากาศที่ไม่ดีในกรุงโบโกตายังคงเป็นความจริงที่น่ากังวลซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จนถึงปีนี้ มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน 757,805 รายในกลุ่มประชากรทั่วไป เอเดรียนา โรยาส โมเรโน ศาสตราจารย์จากสถาบันพันธุศาสตร์มนุษย์ เปิดเผยว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีสายการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการแสดงออกทางพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า เอพิเจเนติกส์ (epigenetics) เมื่อมีความแน่นอนอยู่แล้วว่า สภาพอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยีนของผู้คน. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2813503
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ผัวเมียดีใจ เจอไข่มุกเมโลในหอยแครง เผยกินเป็นประจำ ไม่คิดว่าจะโชคดี วันที่ 10 กันยายน ที่บ้านแสงจันทร์ หมู่8 ต.ทวีวัฒนา อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี นายอดิศักดิ์ สีดาว อายุ 29 ปี อาชีพโฟร์แมน น.ส.สาวิตรี แสงจันทร์ อายุ 27 ปี พนักงานบริษัท สองสามีภรรยา เปิดเผยว่า หลังจากไปเดินซื้อหอยแครงที่ตลาดนัดวัดเสนีย์วงศ์ ย่านอำเภอไทรน้อย แล้วเจอไข่มุก เมโล ราคากว่าครึ่งล้านบาท ติดมากับหอยแครง เผยกินตัวสุดท้ายไม่คิดว่าจะโชคดี ขณะที่ผลตรวจจากสถาบันที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่ง พบเป็นไข่มุกแท้ คาดราคากว่าครึ่งล้านบาท สองสามีภรรยา กล่าวว่า ไปเจอไข่มุกวันที่ไปซื้อกับข้าวที่ตลาดนัดเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยวันนั้นซื้อกับข้าวมาทำอาหารกินที่บ้านหลายอย่าง และซื้อหอยแครงมาลวกเองจำนวน 2 กิโลกรัม หลังจากที่กินเข้าไปตอนแรกก็ปกติดีทุกอย่าง จนกระทั่งกินถึงตัวสุดท้าย พอกินเข้าไปรู้สึกมันแข็งๆเหมือนก้อนหิน พอคายออกจากปากคิดว่าจะเอาไปทิ้ง แต่รู้สึกเอะใจ จึงไปค้นหาข้อมูลในยูทูบ ปรากฏว่าเป็นไข่มุก ทีแรกก็ไม่แน่ใจจึงถามแฟน ว่าใช่ไข่มุกหรือเปล่า แต่แฟนก็ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไร จึงไปถามเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นของจริง เพราะไม่มีใบรับประกันอะไรเลย หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ จึงนำไข่มุกไปตรวจที่บริษัทแห่งหนึ่งย่านสีลม ที่รับตรวจเรื่องนี้โดยเฉพาะ เสียค่าตรวจประมาณ 1,700 บาท ซึ่งผลตรวจออกมาระบุว่าเป็นของแท้ มีใบรับประกันชัดเจน โดยไข่มุกเม็ดนี้มีลักษณะเป็นวงรี สีขาว น้ำหนัก 1.91 กะรัต สองสามีภรรยา กล่าวอีกว่า รู้สึกตกใจมากที่ไปซื้อหอยแครงแล้วเจอไข่มุก ปกติไปซื้อหอยแครงกินกันเป็นประจำ แต่ก็ไม่เคยเจอ หลังจากนี้จะทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราคาของไข่มุกชนิดนี้ว่ามีราคาเท่าไร แต่เท่าที่ทราบน่าจะราคาประมาณ 500,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่ได้เจอ https://www.matichon.co.th/region/news_4783787
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
มนุษย์สร้าง 'มลพิษจากพลาสติก' ปีละ 57 ล้านตัน มาจาก 'ประเทศโลกที่ 3' มากที่สุด ............ โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล KEY POINTS - ขยะพลาสติก 52.1 ล้านตัน หรือประมาณ 20% ของขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกกลายเป็นมลพิษทุกปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศยากจนซึ่งไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม - เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ครองตำแหน่งเมืองที่สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด หากจะเทียบเป็นรายประเทศแล้ว พบว่า "อินเดีย" เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด - การเผาพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลภาวะทางพลาสติกสูงถึง 57% อีก 43% มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ มนุษย์สร้าง "มลพิษจากพลาสติก" ปีละ 57 ล้านตัน และแพร่กระจายไปทั่วโลก จากมหาสมุทรที่ลึกที่สุดไปยังยอดเขาที่สูงที่สุด แม้แต่ร่างกายของผู้คนเองก็ยังมีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ โดยข้อมูลจากศึกษาวิจัยใหม่ที่ระบุว่ามากกว่าสองในสามมาจาก "กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา" ผู้คนทั่วโลกราว 1,500 ล้านคน อยู่ในประเทศที่ไม่มีบริการจัดเก็บขยะ และวิธีการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ถูกวิธีของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งตามข้างทาง ทิ้งลงในแหล่งน้ำ หรือเผาขยะที่ไม่ถูกวิธี ได้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร ตรวจสอบขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งตามข้างทาง หรือพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธี เช่น การฝังกลบหรือเผา ในแต่ละท้องถิ่นจากกว่า 50,000 เมืองทั่วโลก พบว่า รัฐบาลส่วนใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้สะฮารา ล้มเหลวในการเก็บรวบรวม และกำจัดขยะ คอสตาส เวลิส ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากลีดส์ ผู้เขียนรายงาน ประเมินว่า ขยะพลาสติก 52.1 ล้านตัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกกลายเป็นมลพิษทุกปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศยากจน ซึ่งไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม ขยะพลาสติกส่วนใหญ่กลับถูกเผาในบ้าน บนถนน หรือในหลุมฝังกลบขนาดเล็ก โดยไม่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมใด ๆ เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ครองตำแหน่งเมืองที่สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด ส่วนอันดับท็อป 5 ที่เหลือ ประกอบไปด้วย นิวเดลี ประเทศอินเดีย, ลูอันดา ประเทศแองโกลา, การาจี ประเทศปากีสถาน และอัลกาฮิราห์ ประเทศอียิปต์ หากจะเทียบเป็นรายประเทศแล้ว พบว่า "อินเดีย" เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด โดยในแต่ละปีผลิตขยะ 10.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณขยะจากประเทศอันดับ 2 และ 3 อย่าง ไนจีเรีย และอินโดนีเซียถึง 2 เท่า ขณะที่จีน แม้จะก่อมลภาวะอยู่ในอันดับ 4 แต่ก็จัดการขยะ และลดการเกิดขยะลงได้อย่างดี ส่วนท็อป 8 ของประเทศที่ก่อมลภาวะจากพลาสติกอื่นๆ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ รัสเซีย และบราซิล ซึ่งจากข้อมูลของการศึกษาพบว่า 8 ประเทศนี้ได้สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ส่วนมลพิษจากขยะพลาสติกในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ และอังกฤษ อยู่ในลำดับที่ 90 และ 135 ตามลำดับ โดยทั่วไป ประเทศที่มีรายได้น้อยจะผลิตขยะพลาสติกต่อคนน้อยกว่ามาก แต่ขยะเหล่านั้นกลับก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในประเทศที่มีรายได้สูง ขยะส่วนใหญ่จะถูกรวบรวม และแปรรูป โดยการทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นสาเหตุหลักของมลพิษจากพลาสติก การศึกษายังพบว่า การเผาพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลภาวะทางพลาสติกสูงถึง 57% อีก 43% มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ซึ่งทั้งสองกรณีก่อให้เกิด ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งโลก นับเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ ดังที่เห็นจากงานวิจัยต่างๆ ที่พบ ไมโครพลาสติกมีอยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น หัวใจ สมอง และอัณฑะ แต่แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร "ไมโครพลาสติกเหล่านี้พบในพื้นที่ห่างไกลที่สุด เช่น ยอดเขาเอเวอเรสต์ ในร่องลึกมาเรียนาในมหาสมุทร ในสิ่งที่เราหายใจ สิ่งที่เรากิน และสิ่งที่เราดื่ม ซึ่งมันเป็นปัญหาของทุกคน และเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอนคนรุ่นต่อ ๆ ไป" เวลิส กล่าว อย่างไรก็ตาม เวลิส กล่าว เราไม่สามารถกล่าวโทษประเทศที่กำลังพัฒนาว่าเป็นต้นตอของปัญหาขยะพลาสติก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ ขาดทรัพยากร และไม่สามารถให้บริการที่จำเป็นแก่ประชาชนได้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ประเทศโลกที่ 3 มีขยะพลาสติกจำนวนมากเป็นผลมาจากประเทศโลกที่ 1 ส่งขยะมาขายที่ประเทศเหล่านี้ การค้าขยะโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีพลาสติกตามมาด้วย การส่งออกขยะของสหภาพยุโรปที่เพิ่มจาก 110,000 ตัน ในปี 2004 เป็น 1.4 ล้านตัน ในปี 2021 ขณะที่ เทเรซา คาร์ลสัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคของ International Pollutants Elimination Network กลุ่มพันธมิตรรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และขยะ กล่าวว่า ปริมาณมลพิษที่ระบุโดยการศึกษานี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ และปริมาณพลาสติกที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์เกินการควบคุมแล้ว "การศึกษาวิจัยนี้เน้นย้ำว่าขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการรวบรวม และถูกจัดการอย่างถูกวิธี เป็นสาเหตุหลักของมลภาวะพลาสติก ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญในการยุติมลภาวะพลาสติก" คริส จาห์น เลขาธิการสภาสมาคมเคมีระหว่างประเทศ กล่าวในแถลงการณ์ ในการเจรจาสนธิสัญญา อุตสาหกรรมคัดค้านการจำกัดการผลิตพลาสติก สหประชาชาติคาดการณ์ว่าการผลิตพลาสติกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 440 ล้านตัน ต่อปีเป็นมากกว่า 1,200 ล้านตัน โดยกล่าวว่า "โลกของเรากำลังจมอยู่ในกองพลาสติก" อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2024 จะมีการพิจารณานำสนธิสัญญาว่าด้วยขยะพลาสติกฉบับแรกของโลกมาใช้ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเรียกร้องมีมาตรการที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ เพิ่มสัดส่วนปริมาณขยะที่ถูกกำจัดอย่างให้ถูกวิธีโดยโรงงานที่เหมาะสม อีกทั้งประเทศที่มีรายได้สูงควรให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการจัดการขยะมากขึ้น ที่มา: AP News, Nature, New Scientist https://www.bangkokbiznews.com/environment/1144048
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก อสมท.
เที่ยวเกาะนางยวน.. ดำน้ำตื้นชมความงามปะการัง โลกใต้ท้องทะเล พาชมเส้นทางท่องเที่ยว ในพื้นที่เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงเรือชมความสวยงามของเกาะนางยวน พร้อมกับทำกิจกรรมดำน้ำตื้น Snorkeling ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติใต้ท้องทะเล เพราะเกาะนางยวนมีจุดดำน้ำตื้นหลายแห่ง ที่เต็มไปด้วยความงดงามของปะการัง และชีวิตใต้ทะเลที่หลากหลาย น้ำทะเลที่ใสราวกับกระจก ทำให้มองเห็นสีสันสดใสของปะการัง ปลาสวยงาม และสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายหาด เมื่อดำลงไปจะพบกับปลาสีสันต่างๆ ตั้งแต่ปลาการ์ตูน ปลานกแก้ว ไปจนถึงฝูงปลาที่แหวกว่ายอยู่ตามแนวปะการัง และบางครั้งอาจโชคดี ได้เห็นเต่าทะเล หรือปลาฉลามที่ไม่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน กาะนางยวนมีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในจุดดำน้ำตื้นที่ดีที่สุดในประเทศไทย นอกจากความงดงามใต้ทะเลแล้ว บรรยากาศบนเกาะก็สงบเงียบและสวยงาม ทำให้การดำน้ำตื้นที่นี่เป็นกิจกรรมที่ควรค่าแก่การมาเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อน และสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด https://www.mcot.net/view/ykH84uyi
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|