เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 3 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 - 3 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 8 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 7 - 8 มิ.ย. ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ตลอดช่วง สำหรับในช่วงวันที่ 4-8 มิย. ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


สลด! พบซากพะยูน ถูกใบพัดเรือฟันตายกลางทะเล

กระบี่ - สลด! พบซากพะยูนเพศผู้ หนักกว่า 150 กก.ยาว 2.60 เมตร เกยตื้นชายหาดทุ่งทะเล พบบาดแผลบริเวณหน้าท้อง 5 จุด คาดเกิดจากใบพัดเรือฟัน ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลอันดามันตอนล่าง จ.ตรัง นำซากไปผ่าพิสูจน์



วันนี้ (2 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล จ.กระบี่ เร่งนำซากพะยูนเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 150 กก. ยาว 2.60 เมตร ขึ้นจากบริเวณชายหาดทุ่งทะเล หมู่ 3.ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา เพื่อมอบให้ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลอันดามันตอนล่าง จ.ตรัง นำซากไปผ่าพิสูจน์ หลังรับแจ้งจาก นายพรศักดิ์ เสดสัน เจ้าหน้าที่ อบต.เกาะกลาง และชาวบ้านว่า พบซากพะยูนลอยเกยตื้นบริเวณชายหาด เมื่อคืนที่ผ่านมา

นายสุวัฒน์ สุขศิริ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า พะยูนตัวดังกล่าวได้ตายก่อนที่จะเกยตื้น ไม่นาน พบบาดแผลบริเวณใต้ท้องฉีกขาดยาวประมาณ 15 ซม. จำนวน 5 จุด และมีเลือดไหลออกมาเนื่องจากบาดแผลยังใหม่ คาดว่าเกิดจากใบพัดเรือฟัน ก่อนที่จะลอยมาติดชายหาด ซึ่งทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง จ.ตรัง ได้มารับซากไปพิสูจน์หาสาเหตุการตายแล้วในเช้าวันนี้



นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า พะยูนที่พบน่าจะเป็นพะยูนประจำถิ่นในจังหวัดกระบี่ อาศัยหากินบริเวณหมู่เกาะลันตา เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง และ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของพะยูน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจแหล่งอาศัยของพะยูนเพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนตายจากอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป

สำหรับสถานการณ์พะยูนใน จ.กระบี่ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ตายไปรวม 5 ตัว และในเดือนมกราคมปี 63 ตายไป 1 ตัว ล่าสุดที่ชายหาดทุ่งทะเลอีก 1 ตัว


https://mgronline.com/south/detail/9630000057195


*********************************************************************************************************************************************************


เย้ยกฎหมาย! เปิดภาพขบวนการคราดหอยเถื่อน ห่างฝั่งแค่เพียง 300 เมตร

นครศรีธรรมราช - เปิดภาพขบวนการฝูงเรือคราดหอยเถื่อน ใช้ตะแกรงคราดหอยห่างฝั่งปากนคร จ.นครศรีธรรมราช แค่ไม่ถึง 300 เมตร โดยรวมตัวกว่า 20 ลำ พร้อมปะทะเจ้าหน้าที่หากเข้าจับกุม ด้านประมงจังหวัดจ่อขอกำลังเสริมหน่วยเหนือเข้าช่วยปราบปราม



วันนี้ (2 มิ.ย.) ขณะที่ฝูงเรือคราดหอยเถื่อนรวมกว่า 20 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่ใช้เครื่องมือคราดหอยผิดกฎหมายกระจายกันทำการปูพรมคราดหอยในแนวกระโจมบ้านปลา บริเวณปากอ่าวปากนคร ต.ปากนคร อ.เมืองนครศรีธรรมราช ห่างจากชายฝั่งแค่ประมาณ 300 เมตรเท่านั้น โดยเรือเหล่านี้จะวนเวียนใช้ตะแกรงเหล็กลากหาหอยแครงไปตามแนวหน้าดิน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจการณ์เพียง 2-3 ชั่วโมง จะสร้างรายได้ให้ลำละกว่า 1 หมื่นบาท

เนื่องจากการเข้าไปลักลอบลอบคราดหอยในพื้นที่อนุรักษ์ จะเต็มไปด้วยหอยแครงที่กรมประมงและกลุ่มชาวประมงชายฝั่งที่ใช้เครื่องมือถูกกฎหมาย รวมตัวกันเป็นเครือข่ายร่วมกันปล่อยพันธุ์หอยแครงไว้ เพื่อสงวนการกระจายพันธุ์สร้างการประมงแบบยั่งยืน โดยเมื่อฝูงเรือคราดหอยเถื่อนลักลอบคราดหอยเสร็จแล้วต่างจะเร่งเครื่องยนต์รีบกลับเข้าปากน้ำปากนครทันที บางลำในช่วงขากลับยังใช้ตะแกรงลากไปห่างจากฝั่งเพียงไม่ถึง 100 เมตรเท่านั้นเป็นของแถม

แหล่งข่าวชาวประมงพื้นบ้านรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กลุ่มเรือคราดหอยผิดกฎหมายได้เปลี่ยนแปลงวิธีการลักลอบคราดหอย คือรวมตัวกันเป็นฝูงเรือราว 20 ลำ และเจตนาปูพรมลักลอบคราดหอยในพื้นที่อนุรักษ์ที่เรียกว่า "แนวอนุรักษ์กระโจมบ้านปลา" ซึ่งมีหอยแครงชุกชุม ใช้เวลาเพียง 2-3 ชม. จะสร้างรายได้นับหมื่นบาท

โดยการกระทำดังกล่าวพร้อมจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเรือตรวจการณ์แค่ไม่เกิน 2 ลำ แต่ละลำจะมีเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 3 นาย ขณะที่เรือคราดหอยเมื่อรวมตัวกันจะมีกำลังคนมากกว่า 30 คน พร้อมที่จะเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ทันทีหากเข้าจับกุม และจะใช้ความรุนแรงเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้เรือพุ่งชน หรือทำการชิงตัวผู้ต้องหาซึ่งเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สำหรับกลุ่มเรือกลุ่มนี้มีข้อมูลว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งคอยเคลื่อนไหวหนุนหลัง และยังเกี่ยวข้องกับนายทุนแพรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำที่รองรับซื้อสัตว์น้ำจากขบวนการนี้

นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กลุ่มประมงเหล่านี้เป็นกลุ่มท้าทาย ใช้ช่องว่างติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเพียง 2-3 ชม. สามารถทำลายทรัพยากรไปได้จำนวนมาก พฤติกรรมคนเหล่านี้มักรวมตัวกันเป็นกลุ่ม มีการลงขันจ้างผู้ที่คอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ในการแสดงออกถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเปิดเผยและท้าทาย จะต้องขอกำลังเสริมจากหน่วยเหนือพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติการปราบปราม


https://mgronline.com/south/detail/9630000057288


*********************************************************************************************************************************************************


เอาอะไรมาคิด? ขุดลอกคลองสำโรง เมืองสงขลา เอาน้ำเน่าลงทะเล อ้างแก้ปัญหาน้ำเสีย

พบทางการขุดลอกคลองสำโรง จังหวัดสงขลา นำน้ำเน่าลงทะเล ตำรวจโพสต์ภาพ อ้างต่อไปน้ำคงหายเน่า ทำเอาชาวเน็ตเคือง เพจสิ่งแวดล้อมแนะควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ไม่ปล่อยน้ำเสีย และขยะลงแม่น้ำลำคลอง



เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ในโซเชียลมีเดียได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และพนักงานเทศบาลนครสงขลา นำเครื่องจักรกลดำเนินการขุดลอกร่องน้ำปากคลองสำโรง อ.เมืองฯ จ.สงขลา โดยมีภาพจากเฟซบุ๊ก "ตำรวจภูธรเมืองสงขลา" โพสต์ภาพตำรวจยืนอยู่ที่ปากคลองสำโรง พร้อมระบุว่า "คลองสำโรงเริ่มขุดแล้ว ต่อไปน้ำคงหายเน่า" ทำเอาผู้คนแห่ประณามการแก้ไขปัญหาแบบมักง่าย ด้วยการนำน้ำเน่าเสียลงทะเล

โดยเฟซบุ๊ก Environman โพสต์ข้อความระบุว่า คลองสำโรง จ.สงขลา มีปัญหาน้ำเน่าเสีย เหม็นเขียว ขยะเต็มคลองมาอย่างยาวนาน โดยมีการทิ้งขยะของเสียลงคลองจำนวนมาก และได้มีการทำทุ่นดักขยะไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการขุดลอกร่องน้ำปากคลองสำโรงเพื่อเชื่อมทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย และให้น้ำในคลองสามารถไหลหมุนเวียนได้ตลอด โดยชี้ว่า เพื่อให้มีความสะอาดมากขึ้น โดยให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำ

"จากกรณีนี้ ทำให้หลายคนกังวลว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียจากคลอง และขยะไปลงทะเลแทนหรือไม่ เนื่องจากขยะของเสียมีการปล่อยมาต่อเนื่อง และชี้ว่าควรแก้ปัญหาต้นเหตุ คือไม่ปล่อยน้ำเสีย และขยะลงแม่น้ำลำคลอง" เฟซบุ๊ก Environman ระบุ


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000057099
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ชวนร่วมลงชื่อเพิกถอนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล "หาดม่วงงาม" เหตุส่อไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายข้อ


ภาพจากเพจ "Beach for life"

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - "Beach for life" เปิดเเคมเปญรณรงค์เชิญชวนคนรักหาดร่วมลงชื่อเพิกถอนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล "หาดม่วงงาม" อ.สิงหนคร จ.สงขลา เหตุส่อว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการ ชี้หากสร้างเสร็จจะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ทำให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ขาดการทำ EIA และขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพจ "Beach for life" ได้เปิดเเคมเปญรณรงค์ใน Change.org เชิญชวนคนรักหาดร่วมกันลงชื่อเพิกถอนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่ง หมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ที่ https://bit.ly/2XqKbHD เพจดังกล่าวให้เหตุผลว่า โครงการนี้ส่อว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการ โดยความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหานั้น โครงการนี้ไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง เนื่องจากเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นจะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ทำให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ

"โครงการที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากชายหาดม่วงงามในพื้นที่โครงการนั้น ไม่มีได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพของสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชน ยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน"

ส่วนความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการนั้น มีดังนี้

(1) บกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน

(2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลเข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่นนั้น มีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเลที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านด้านน้ำของโครงการ

"จากบทเรียนในประเทศและต่างประเทศพบว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้นได้ทำให้พื้นที่ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านท้ายน้ำ เป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้ถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่เนื่องจากในทางกฎหมายนั้น การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องคำนึกถึงหลักพึงระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยต้องทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบครอบ รอบด้าน ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA"

และ (3) โครงการดังกล่าวนั้น มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ อันได้แก่ การขออนุญาตกรมเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน

ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 5 คน ได้ยืนฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา พร้อมผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 541 คน เพื่อให้ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7 และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7, 8 และ 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

"เราจึงอยากเชิญชวนพลเมืองผู้รักสิ่งแวดล้อม รักหาดทรายร่วมกันลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเพิกถอนโครงการดังกล่าว เพื่อคงรักษาวิถีชีวิตชุมชนริมชายฝั่งที่จะพึงพิงอิงอาศัยหาดทราย รักษาหาดทราย สิ่งแวดล้อมชายฝั่งม่วงงามให้ยั่งยืนสืบไป #Saveหาดม่วงงาม"


https://mgronline.com/south/detail/9630000057335

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


แรมซาร์ไซต์ ................. คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น

แรมซาร์ ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำและปลา



การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นไปตาม "อนุสัญญาแรมซาร์" (Ramsar Convention) หรือชื่อเต็ม อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่นกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat.) อนุสัญญาแรมซาร์ได้รับการร่างและรับรองจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุม ณ แรมซาร์ เมืองตากอากาศชายทะเลสาบแคสเปียน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2518

และเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)

อนุสัญญาแรมซาร์เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน เช่น เพื่อการสกัดกั้นและยับยั้งการบุกรุกเข้าครอบครองและการลดถอยของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และเพื่อการรับรู้และรับรองความสำคัญพื้นฐานของพื้นที่ชุ่มน้ำในเชิงหน้าที่ทางนิเวศ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ตลอดจนคุณค่าทางนันทนาการ ซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด



สำหรับประเทศไทยซึ่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ ไซต์ ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำรวม 14 แห่ง ดังนี้ (เรียงลำดับตามวันเดือนปีที่ขึ้นทะเบียน นับจากลำดับแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)

พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย (พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช), เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง (บึงกาฬ), ดอนหอยหลอด (สมุทรสงคราม), ปากแม่น้ำกระบี่ (กระบี่), เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย (เชียงราย), เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) นราธิวาส อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง (ตรัง)

อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ (ระนอง) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (สุราษฎร์ธานี), อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา (พังงา), อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด (ประจวบคีรีขันธ์), หนองกุดทิง (บึงกาฬ) หมู่เกาะกระ (นครศรี ธรรมราช) และเกาะระ เกาะพระทอง (พังงา)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ทส. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแถลงว่าแม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย และเป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2,420 ของโลก


https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_4230110

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


จัดการปัญหาขยะก่อนลงถังด้วยหลัก 7R ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษพลาสติกหลังวิกฤตโควิด-19 ................ โดย พิชา รักรอด

ในสถานการณ์ Covid-19 เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการพลิกโลกขนานใหญ่ ย้อนกลับไปก่อนหน้าสัก 1-2 ปี คนไทยตื่นตัวเรื่องมลพิษพลาสติกกันอย่างมาก จนนำไปสู่การเกิด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จับมือโมเดิร์นเทรด เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าถาวร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ในขณะที่ตลาดสด ร้านขายของชำ รัฐขอความร่วมมือขยับปรับตัวตาม ตั้งเป้าเลิกใช้ทั่วไทย 1 มกราคม 2564 พร้อมดันกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การประชาสัมพันธ์ นับเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการต่อกรกับมลพิษพลาสติกในประเทศไทย


เนื้อหาโดยสรุป

- ก่อนสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องปัญหาขยะพลาสติกอย่างมาก และกำลังขยายออกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง หลังจากมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ออกมา และมีแนวโน้มว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต

- การที่ประชาชนต้องกักตัวในบ้าน/ที่พักของตน ส่งผลให้เกิดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากขึ้น ยอดคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันหนึ่งในบางหมวดหมู่เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ในเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะกลายเป็น 'วิกฤตแห่งความสะดวกสบาย' ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ที่มุ่งไปสู่การลดปริมาณขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้เหลือศูนย์

- จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 มาตรการในการลดการแพร่ระบาดไวรัสในช่วงแรกที่ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่เฉพาะในบ้านมากขึ้น รวมทั้งข้อบังคับที่ร้านต่าง ๆ ให้บริการได้เฉพาะบริการซื้อกลับบ้านเท่านั้น เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส ในช่วงกลางเดือนเมษายน จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 700 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 62 มองว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งจำเป็น ร้อยละ 54 สั่งอาหารจากบริการฟู๊ดเดลิเวอรี่และซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 47 สั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น

- หลัก 7R ยังคงเป็นหลักการที่ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนอย่างพวกเราให้ตระหนักรู้เท่าทันการจับจ่ายซื้อสินค้าของตนเอง และมองหาสิ่งอื่นก่อนการตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าทุกครั้ง และถ้าผู้บริโภคสามารถลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปตามลำดับความสำคัญคือ Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle
ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 มาตรการในการลดการแพร่ระบาดไวรัสในช่วงแรกที่ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่เฉพาะในบ้านมากขึ้น รวมทั้งข้อบังคับที่ร้านต่าง ๆ ให้บริการได้เฉพาะบริการซื้อกลับบ้านเท่านั้น เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส ด้านประชาชนเองก็พยายามปกป้องตัวเองโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะใช้ซ้ำแล้วหันมาใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแทน สอดคล้องกับผลการสำรวจออนไลน์ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (Institute of Public Policy and Development ? IPPD) ในช่วงกลางเดือนเมษายน จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 700 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 62 มองว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งจำเป็น ร้อยละ 54 สั่งอาหารจากบริการฟู๊ดเดลิเวอรี่และซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 47 สั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น


ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งเก็บได้จากดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในกิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์ ของกรีนพีซประเทศไทย ในปี 2562 ? Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เราจึงได้เห็นปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีข้อมูลระบุว่า ขยะจากบริการส่งอาหาร ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้น 15% จาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าปริมาณขยะพลาสติกซึ่งเดิมอยู่ในราว 2 ล้านตันต่อปี ได้เพิ่มขึ้นอีก 30% และเมื่อขยะส่วนใหญ่ปนเปื้อนเศษอาหารและไม่มีการแยกขยะที่เหมาะสม ในที่สุดวัสดุเหลือใช้ทั้งหลายก็จะถูกนำไปสู่หลุมฝังกลบ

แล้วเราในฐานะผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง?


หลักการ 7R กับความท้าทายในการบรรเทามลพิษพลาสติกที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสูงในอนาคต

หลัก 7R ประกอบด้วย Reduce ลดใช้, Reuse ใช้ซ้ำ, Refill การเติม, Return การคืน, Repair/Repurpose การซ่อมแซม/การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน, Replace การแทนที่ และ Recycle รีไซเคิล ยังคงเป็นหลักการที่ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนอย่างพวกเราให้ตระหนักรู้เท่าทันการจับจ่ายซื้อสินค้าของตนเอง และมองหาสิ่งอื่นก่อนการตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าทุกครั้ง และถ้าผู้บริโภคสามารถลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปตามลำดับความสำคัญคือ Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle เราจะพบว่ามีขยะเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบใกล้บ้านเรา ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้อยู่ภายใต้หลักการ 7R ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็คือการลดขยะให้มากที่สุด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนมีขยะไปสู่หลุมฝังกลบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเศรษฐกิจแบบเส้นตรงในปัจจุบันที่นำทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักจะใช้เพียงครั้งเดียวทิ้งเลย ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ


1.Reduce การลดใช้

ถือเป็นขั้นตอนที่ช่วยลดมลพิษพลาสติกได้มากที่สุด คือ การลด การหันมาลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งให้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ อาจทำโดยการลองคำนวณก่อนซื้อสินค้าว่า ในสินค้านี้มีพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งกี่ชิ้นและเราสามารถลดใช้พลาสติกตรงส่วนไหนได้บ้าง ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ยังคงมุ่งมั่นลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในช่วงสถานการณ์ไวรัสระบาด โดยหันมาใช้ภาชนะใช้ซ้ำสำหรับบริการจัดส่งอาหารอย่าง ?เคี้ยวเขียว? ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนธรรมดาที่พยายามลดใช้พลาสติกให้มากที่สุดและยังคงดำเนินธุรกิจในสถานการ์แบบนี้ได้ เมื่อลูกค้าสั่งอาหารแล้ว ทางร้านจะจัดส่งด้วยกล่องถนอมอาหาร มีฝาล็อค ใช้ซ้ำได้ ไม่เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและต้องการสั่งอาหารมารับประทานโดยไม่สร้างขยะเพิ่ม นอกจากนี้เรายังสามรถลดใช้ไมโครบีดส์ ซึ่งเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่งที่มาในรูปแบบเม็ดสครับได้ โดยการนำสิ่งที่มีในครัว เช่น ขมิ้น มะขาม น้ำมันมะพร้าวมาขัดผิดแทน ซึ่งเป็นสครับจากธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม


2.Reuse การใช้ซ้ำ

การใช้ซ้ำถือเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าโดยนำสิ่งที่มีมาใช้ซ้ำอยู่เสมอจนมันหมดอายุการใช้งาน เช่น ขวดแก้วที่เคยเป็นขวดเครื่องดื่มนำไปเป็นกระถางต้นไม้ เป็นต้น หรือจะใช้วิธีการ upcycling ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของใช้ที่เรามี เช่น นำเสื้อยืดตัวเก่ามาปักเป็นลายให้สวยงาม, นำกระดาษหน้าเดียวมาเย็บเป็นสมุดจดงาน เป็นต้น

เรามีกลุ่มเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนไอเดียใช้ซ้ำ ทำเอง สามารถเข้าร่วมได้ที่ FB group สถานี DIY ? MAKE SMTHNG Buy Nothing


หรือสำลีเช็ดเครื่องสำอางค์ใช้ซ้ำ ในงาน Make Smthng กรีนพีซรณรงค์ให้เราประดิษฐ์สิ่งของที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ? Bente Stachowske / Greenpeace


3.Refill นำภาชนะไปเติม

การรีฟิลจัดเป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้เราลดพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ในแต่ละวันเราจับจ่ายซื้อสินค้ากันโดยอาจลืมไปว่า นอกเหนือจากสินค้าที่เราได้รับแล้ว เรายังได้ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วย ซึ่งจากการสำรวจแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกของกรีนพีซเมื่อปีที่แล้วพบบรรจุภัณฑ์อาหารตกค้างในสิ่งแวดล้อมกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น การนำภาชนะใช้ซ้ำที่เรามีอยู่ไป ?เติม? จึงดีกว่าการ ?ซื้อใหม่? ที่จะได้ขยะพลาสติกกลับมาด้วย

ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายเริ่มขายของอุปโภคบริโภคที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์แล้ว ลองอ่านแนวคิดของร้าน Better Moon x Refill Station


4.Return การส่งคืน

การคืน คือ การนำบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิต โดยที่ผู้ผลิตนั้น ๆ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถคืนขวดให้แก่ผู้ผลิตเพื่อให้เขานำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และนำกลับมาใช้ใหม่ ตอนแยกขยะ เราจึงควรแยกขวดแก้วไว้ต่างหากเพื่อที่ขวดจะไม่ไปปะปนกับขยะประเภทอื่นจนยากแก่การรีไซเคิล สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราทำได้ซื้อเครื่องดื่ม/สินค้าจากผู้ผลิตที่รับคืนขวดแก้ว/ภาชนะเพื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วหมุนเวียนมาใช้ต่อได้ กรีนพีซได้พูดคุยกับเจ้าของร้านปลูกปั่น แบรนด์น้ำปั่นผักผลไม้ห้าสีเพื่อสุขภาพจากสวนเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์และนำไปส่งให้ลูกค้าทุกเช้าและรับกลับในภายหลัง โดยร้านปลูกปั่นสามารถลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้กว่า 70,000 ? 80,000 ใบต่อไป


5.Repair การซ่อมแซม

การซ่อมแทนซื้อใหม่ ในปัจจุบันที่สินค้าราคาถูกลงและมีโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้ผู้บริโภคมองว่าการซื้อใหม่นั้นง่ายกว่าการซ่อม ทั้ง ๆ ที่การซ่อมอาจจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้มาก เราแนะนำให้ทุกคนมีทักษะเย็บปักถักร้อยไว้ การปักผ้าในปัจจุบันมีหลายแบบมาก ไม่แน่ว่าการปักเพื่อซ่อมเสื้อที่ขาดอาจดูสวยงามกว่าซื้อใหม่อีก หรือการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า บางครั้งอาจแค่ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมดก็ได้ ลองเข้าไปศึกษาดูที่เว็บไซต์ ifixit.com ที่แนะนำวิธีการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างละเอียดพร้อมภาพประกอบด้วย การซ่อมถือเป็นการยืดอายุการใช้งานของที่เรามีแทนการปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะทั้ง ๆ ที่มันยังมีอายุการใช้งานที่ดีอยู่


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 03-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


จัดการปัญหาขยะก่อนลงถังด้วยหลัก 7R ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษพลาสติกหลังวิกฤตโควิด-19 ....... ต่อ


มีกิจกรรม Workshop สอนการทำกระเป๋าผ้าจากผ้าใบเก่า ? Wason Wanichakorn / Greenpeace


6.Replace การแทนที่

การแทนที่ คือ การนำทางเลือกอื่นมาใช้แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่แทนแปรงสีฟันด้ามพลาสติก ไหมขัดฟันจากไหมธรรมชาติแทนไหมขัดฟันแบบพลาสติก สบู่ก้อนแบบไม่ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์แทนสบู่ในขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงไวรัสโควิดระบาด เรายังได้เห็นผู้ประกอบการร้านอาหาร/ร้านขนมหวานหลายรายนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ใบบัวห่ออาหาร เข่งปลาทูมาใช้แทนภาชนะ เป็นต้น การ "แทนที่" อาจจะยังก่อให้เกิดขยะอยู่บ้าง แต่มันก็ดีกว่าการใช้พลาสติกแล้วทิ้ง หันมาเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มั่นใจว่าย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแทนการใช้วัสดุพลาสติก


7.Recycle

การรีไซเคิลหรือการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ อาจเป็นข้อที่คนไทยเคยได้ยินกันมาบ้าง และทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีสถิติการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์น้อยมาก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่า ในปี 2561 มีขยะพลาสติกเพียง 500,000 ตันเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล จากขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน และมีขยะนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 7.15 ล้านต้น ซึ่งทำโดยการเทกองและเผากลางแจ้ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้มากว่าขยะเหล่านั้นกำลังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม


มีตลาดทางเลือกที่ให้ผู้คนนำภาชนะของตัวเองมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารสด เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ? Jung Park / Greenpeace

ถ้าเราลองท้าทายตนเองโดยการเริ่มจากการลดใช้ ใช้ซ้ำ นำภาชนะที่มีอยู่ไปเติมที่ร้านค้าแบบเติม แล้วยังเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วซึ่งสามารถส่งคืนผู้ผลิตให้กลับไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ สิ่งของที่ซื้อมาแล้วเราก็ซ่อมแซมจนหมดอายุการใช้งาน และเลือกหาทางเลือกอื่นที่เป็นวัสดุธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก และสุดท้ายคือการรีไซเคิลที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เราไม่อาจทราบว่า ขยะที่เราทิ้งไปจะถูกนำไปรีไซเคิลหรือไม่ เพราะการรีไซเคิลมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเก็บรวบรวมขยะชนิดนั้นๆ เครื่องจักร และกฏหมายร่วมด้วย ดังนั้น ถ้าเราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้ 6R ข้างต้นแล้ว เราก็สามารถมั่นใจได้ว่า เรามีส่วนช่วยลดมลพิษพลาสติกได้อย่างมาก และอาจมีขยะเพียงจำนวนเล็กน้อยมาก ๆ ที่ต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนตามคำนิยามของสหประชาชาติ


https://www.greenpeace.org/thailand/...astic-problem/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:29


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger