เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12-16 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน กับมีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรกในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียสในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4 - 10 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10 - 13 องศาเซลเซียส

มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 10 ? 11 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 16 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยในช่วงวันที่ 15 ? 16 ม.ค. 67 ประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ไทย-กัมพูชา เรื่องค้างคาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ................... โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี




Summary

- พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา มีพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เชื่อกันว่าอาจจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุต หรือคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบัน 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท

- ความเป็นไปได้ที่จะแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันยังเป็นไปได้ยาก เพราะการแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชานั้นดำเนินการมาแล้ว 23 ปี ใน ?บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน? แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

- ปัญหาเช่น วิธีการแบ่งเขตในบันทึกความเข้าใจของไทยและกัมพูชาไม่ตรงกัน และเฉพาะส่วนไทยเอง ผู้รับผิดชอบมีทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงาน ซึ่งมักมาจากคนละพรรคการเมือง ทำให้มีการสื่อสารคนละแบบ


นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน บอกกับที่ประชุมรัฐสภาระหว่างที่มีการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า มีแผนจะยกประเด็นเรื่องการอ้างเขตทับซ้อนทางทะเลหารือกับนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกันในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยนั้นเกิดจากการที่ไทยและกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน กลายเป็นพื้นที่ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าใต้พื้นพิภพใต้บาดาลนั้นอาจจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุต หรือคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบัน 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท รอคอยให้ขุดขึ้นมาใช้กันอยู่ (แหล่งข้อมูลบางแหล่งประเมินว่าทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่นี้ น่าจะมีมูลค่ามากถึง 10 ล้านล้านบาท)

นั่นทำให้เกิดความหวังว่า ถ้าหากสองประเทศสามารถเจรจาตกลงกันได้ จะทำให้มีแหล่งพลังงานมาเติมเต็มก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทั้งที่อยู่ในส่วนของไทยเองและส่วนที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่กำลังร่อยหรอลงไปทุกที เฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ ราคาพลังงานเป็นแรงกดดันให้ราคาไฟฟ้าของไทยมีราคาแพงมากขึ้น จนทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนไปตามๆ กัน

แต่เป็นไปได้ยากที่จะบรรลุความหวังเช่นว่านั้นในเร็ววันนี้ เพราะการแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชานั้นได้เริ่มดำเนินการกันอย่างเป็นทางการ เมื่อสองประเทศได้ลงนามใน ?บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน? เมื่อ 18 มิถุนายน 2001 จนถึงปัจจุบันผ่านไปแล้วกว่า 2 ทศวรรษ สามารถพูดได้ว่าไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเลยแม้แต่น้อย เพราะประเด็นปัญหาสำคัญดังต่อไปนี้


ประการแรก ปัญหาของตัวบันทึกความเข้าใจปี 2001 เองที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่บริเวณที่อยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ พร้อมกับข้อตกลงแบ่ง ซึ่งสามารถยอมรับร่วมกันได้สำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งอยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป โดยจะแบ่งแยกจากกันมิได้

รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลไทยหลายคน เข้าใจเงื่อนไขของบันทึกความเข้าใจนี้เป็นอย่างดี แต่พยายามบอกกับสาธารณชนว่า การเจรจาเรื่องการร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ถ้าหากจะเอาไปผูกกับการเจรจาแบ่งเขตทางทะเล ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันเพื่อนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อน แต่เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายตามใจปรารถนาเพียงฝ่ายเดียวเช่นนั้น การจะทำเช่นนั้นได้อาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการเจรจากับกัมพูชา เพื่อแก้ไขปรับปรุงบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2001 เสียก่อน

ปัญหาของการแบ่งเขตทางทะเลนั้นมีความยากลำบากในการเจรจา เนื่องจากทั้งสองประเทศใช้หลักในการประกาศเขตไหล่ทวีปแตกต่างกัน ลำพังแค่เกาะกูดจุดเดียวก็คงยุ่งยากไม่น้อย เพราะไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายกัมพูชาได้อ้างอำนาจอธิปไตยของตนเองเหนือเกาะกูดเอาไว้อย่างไร เนื่องจากในแผนผังแนบท้ายการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในปี 1972 ทำออกมาหลายฉบับไม่ตรงกัน ฉบับแรก 1 กรกฎาคม 1972 ลากเส้นจากหลักเขตทางบกหลักที่ 73 ตรงไปทางตะวันตกเฉียงลงใต้เล็กน้อยผ่ากลางเกาะกูด แต่ฉบับที่ใช้ในประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 12 กันยายน 1972 ปรากฏว่าได้ลากเส้นโดยเว้นตรงเกาะกูดเอาไว้ ก่อนที่จะลากเส้นต่อไปโดยไม่ได้ตัดกลางเกาะกูดเหมือนฉบับก่อนแต่อย่างใด

ในการเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจปี 2001 เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชากลับพยายามกล่าวอ้างว่า เกาะกูดจะต้องเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง แต่ในการวาดแผนผังประกอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าว กลับมีการวาดเส้นให้เป็นรูปตัว U ล้อมด้านใต้ของเกาะกูดเอาไว้ ราวกับแสดงเจตนาว่าจะเว้นเกาะกูดเอาไว้ หรือยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยไปแล้ว (โปรดสังเกตมุมขวาบนของแผนผังแนบท้ายประกอบ)

นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของไทยจำนวนมากเข้าใจว่า เกาะกูดนั้นเป็นของไทยอย่างแน่นอน เพราะสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 ฝรั่งเศสซึ่งปกครองกัมพูชาอยู่ ได้ยอมยกเกาะทั้งหลายที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดให้ฝ่ายสยามไปแล้ว ดังนั้น ถือว่าการอ้างสิทธิของกัมพูชาไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวก็ทำให้การเจรจาเรื่องนี้เป็นไปอย่างยืดเยื้อยาวนานอย่างแน่นอนกว่าที่จะทำให้พอใจกันทุกฝ่าย และถ้าหากจะต้องเจรจาเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับการเจรจาเรื่องการร่วมพัฒนาพื้นที่ เห็นทีจะไม่สำเร็จโดยง่ายเป็นแน่แท้


ประการที่สอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2001 เช่นกัน คือรัฐบาลไทยยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) (Joint Technical Committee: JTC) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเจรจา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าหัวหน้าคณะเจรจานี้ควรจะนำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งชำนาญเรื่องกฎหมายและเขตแดน หรือควรจะเป็นกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีความชำนาญทางด้านการจัดการและจัดสรรพลังงาน

ที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการด้านเทคนิค และให้มีคณะอนุกรรมการที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานรับผิดชอบเจรจาเรื่องการแบ่งเขตแดน และคณะอนุกรรมการที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นประธานรับผิดชอบเจรจาเรื่องการจัดการพื้นที่พัฒนาร่วมกับกัมพูชา

แต่ถ้าจะใช้โครงสร้างนี้ดำเนินการต่อไป ก็อาจจะเจอปัญหาของยุคปัจจุบัน กล่าวคือ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการต่างประเทศกับด้านพลังงานมาจากต่างพรรคการเมืองกัน และแย่งบทบาทการนำในเรื่องนี้กันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขณะนี้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ต่างกรรมต่างวาระกันว่า จะต้องแยกเรื่องการเจรจาเขตแดนออกจากการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วม และกระทรวงพลังงานสมควรเป็นผู้นำ แต่ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กลับไม่ค่อยแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจนนัก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานไม่น้อย แต่ยังไม่เคยเสนอทางออกที่ชัดเจนให้กับปัญหาการเจรจาเรื่องเขตแดนแต่อย่างใด


ประการที่สาม ฝ่ายไทยนั้นติดกับดักตัวเองเรื่องชาตินิยมและผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่ม ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน เรื่องนี้เคยเป็นข้อกล่าวหาสำคัญระหว่างที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยในช่วงปี 2005-2006 ว่าครอบครัวของทักษิณ ได้ตกลงกับครอบครัว ฮุน เซน แบ่งปันผลประโยชน์ส่วนตัวในพื้นที่ทับซ้อนกันเอาไว้เรียบร้อยแล้ว การที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งใกล้ชิดกับทักษิณ หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาป่าวประกาศและเตรียมการเจรจากับกัมพูชาอีกครั้งในปีนี้ ก็มีความเสี่ยงและหมิ่นเหม่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมของไทยอาจจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นอุปสรรคในการเจรจาก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเสนอยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2001 มาก่อน และบัดนี้ได้มาเป็นฝ่ายค้าน ก็อาจจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นเพื่อคัดค้านเรื่องนี้อีกครั้ง ก็อาจจะทำให้ทุกเรื่องกลับสู่ความตีบตันอีกก็ได้

การเจรจาเรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นเรื่องที่สมควรจะเกิดขึ้นและเดินหน้าไปได้ตั้งนานแล้ว แต่ก็ควรที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณาปัญหาและขีดจำกัดในการดำเนินการ เพื่อจะได้หาทางออกและผลักดันให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นโดยรอบคอบ


https://plus.thairath.co.th/topic/po...0wJnJ1bGU9MA==

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:24


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger