#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมามีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 26 ? 31 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
Great Barrier Reef รอดใบเหลือง "สถานะอันตราย" ถูกวิจารณ์เพราะวิธีล็อบบี้ ................โดย ณิชา เวชพานิช นักอนุรักษ์วิจารณ์หนัก มติคณะกรรมการมรดกโลกให้แนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลกรอดจากใบเหลืองขึ้นเป็น "สถานะอันตราย" ขัดต่อคำแนะนำ UNESCO เอง เป็นผลการทุ่มล็อบบี้ของออสเตรเลีย แม้เสียหายหนักเพราะโลกร้อน Great Barrier Reef ฟอกขาวเมื่อปี 2555 (ภาพ: The Ocean Agency / Ocean Image Bank) "ล็อบบี้หนัก ส่งรมต.เยือน UNESCO กลางโควิด" กรีนพีซวิจารณ์ ภาพแนวปะการังที่เคยมีสีสันสดใสฟอกเป็นสีขาวโพลนเหมือนโครงกระดูกอาจคุ้นตาสำหรับหลายคน ทว่าข่าวล่าสุดว่าแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกรอดจากการบรรจุสถานะมรดกโลกทางธรรมชาติที่ "ตกอยู่ในอันตราย" อาจไม่ใช่ข่าวน่ายินดี เพราะแทนที่ชี้ว่าสถานการณ์ปะการังนั้นดีขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นผลจากเกมการเมือง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์หนักหลังคณะกรรมการมรดกโลกมีมติตัดสินให้เลื่อนการขึ้น Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย เป็นมรดกโลกที่มีสถานะอันตราย ซึ่งเป็นใบเหลืองก่อนหน้าใบแดงอย่างการถอนสถานะมรดกโลก ขัดกับสิ่งที่ UNESCO และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แนะนำว่า แนวปะการังขนาด 348,000 ตารางกิโลเมตรนี้ กำลังเสียหายหนักในระดับ "แย่มาก" เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ "เป็นหนึ่งในชัยชนะความพยายามล็อบบี้ที่น่าเหยียดหยามสุดในประวัติศาสตร์ยุคนี้" David Ritter ผู้อำนวยการ GreenPeace ออสเตรเลีย แปซิฟิก วิจารณ์ คณะกรรมการมรดกโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ Great Barrier Reef ตั้งแต่ปี 2554 ต่อมารัฐบาลออสเตรเลียจึงออกแผนรับมือและนัดติดตามความคืบหน้าสุขภาพแนวปะการังกับคณะกรรมการมรดกโลกในประชุมปีนี้ มติ "ต่อเวลา" ให้ออสเตรเลียหาทางรักษาแนวปะการังดังกล่าว เป็นผลจากการประชุมร่วมชั่วโมงของคณะกรรมการมรดกโลกที่ประกอบด้วยตัวแทนจากนานาประเทศ ออสเตรเลียชี้ว่าที่ผ่านมา ได้พยายามอนุรักษ์ปะการังดังกล่าวหลากหลายทาง พร้อมเสียงสนับสนุนจากบาห์เรนและซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ตัวแทนจากนอร์เวย์ชี้ให้เห็นว่า การขึ้นสถานะอันตรายไม่ได้เป็นการลงโทษให้ออสเตรเลียต้อง "อับอาย" ทว่าเป็นการจัดสรรความช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีคุณค่าสากลร่วมกันของคนทั้งโลกให้ถูกจุด GreenPeace ออสเตรเลีย แถลงว่า การรอดหวุดหวิดนั้นเป็นผลจากการที่ทางการออสเตรเลีย ประเทศผู้ผลิตถ่านหินใหญ่ของโลก พยายาม "ล็อบบี้" ประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้เห็นด้วย โดยรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม Sussan Ley ได้เดินทางไปปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้ง UNESCO ศูนย์หลักต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาท่ามกลางโควิด และเชิญตัวแทนคณะกรรมการมรดกโลกบางประเทศมาทริปดำน้ำดูปะการังโดยเฉพาะ "ภายใต้สนธิสัญญายูเนสโก รัฐบาลออสเตรเลียสัญญากับโลกว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องแนวปะการังนี้ ทว่ากลับทำทุกวิถีทางเพื่อปกปิดความจริง" นักอนุรักษ์ว่า UNESCO ชี้ Great Barrier Reef เสียหายหนัก ? ออสเตรเลีย ตัวการโลกร้อน แนวปะการัง Great Barrier Reef ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2524 UNESCO ระบุว่า "ไม่มีมรดกโลกทางธรรมชาติไหนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพโดดเด่นเท่าที่นี้" เพราะมีพันธุ์ปลามากกว่า 1,500 สปีชีส์ ปะการัง 400 สปีชีส์ และนกกว่า 240 สปีชีส์ อย่างไรก็ตาม Great Barrier Reef กำลังเสียหายหนักและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกวัน UNESCO ออกรายงานเมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่าแนวปะการังนี้มีทิศทางเสียหายจาก "แย่" เป็น "แย่มาก" เสื่อมโทรมรวดเร็วและกว้างขวาง สองในสามของแนวปะการังเกิดฟอกขาวหนักในช่วงห้าปีที่ผ่านมาเพราะโลกร้อน ปี 2563 ที่ผ่านมาก็เช่นกัน รายงานชี้ให้เห็นว่าออสเตรเลียยังปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์ Great Barrier Reef ที่วางไว้ได้ไม่เพียงพอเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำและติดตามการใช้ที่ดินชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งออสเตรเลียยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของโลก ปี 2562 ศูนย์มรดกโลกส่งจดหมายถึงออสเตรเลียแสดงความกังวลที่อนุญาตให้ทำเหมือง Carmichael เหมืองถ่านหินกำลังผลิต 10 ล้านตัน/ปีทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเริ่มขุดเมื่อมิถุนายนปี 2564 ทางการออสเตรเลียได้ตอบกลับจดหมายดังกล่าวว่าเหมืองมีมาตรการติดตามผลกระทบมากกว่า 180 มาตรการ ออสเตรเลียนับเป็นประเทศส่งออกถ่านหินอันดับต้นของโลกและเป็น 1 ใน 3 ประเทศปล่อยคาร์บอนไดออไซด์มากที่สุด รายงานออกใหม่ของ UN ยังระบุว่าออสเตรเลียเป็นประเทศรั้งอันดับท้ายในการลงมือปฏิบัติลดโลกร้อนจาก 170 ประเทศ GreenPeace ออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนการผลิตพลังงานด้วยถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปีค.ศ.2030 และตกลงลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในปี 2035 เร็วกว่าที่ทางการระบุไว้ว่า "เป็นไปได้" ที่จะทำในค.ศ. 2050 "จินตนาการว่าหากรัฐบาลออสเตรเลียลงทุนเวลา เงิน และความพยายามเพื่อปกป้องสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่าง Great Barrier Reef ผ่านการลดโลกร้อนให้เท่ากับที่เล่นเกมการเมืองและปฏิเสธที่จะลงมือทำ" พื้นที่มรดกโลกทั่วโลกเสี่ยงหลุดสถานะ คณะกรรมการตัดสินให้ออสเตรเลียส่งรายงานความคืบหน้าดูแล Great Barrier Reef ในกุมภาพันธ์ปี 2565 ก่อนการประชุมคณะกรรมมรดกโลกครั้งหน้า นอกจากระบบนิเวศปะการังนี้ มรดกโลกอีกหลายแห่งกำลังเสี่ยงหลุดจากสถานะมรดกโลกหรือขึ้นบัญชีอันตราย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นเกณฑ์การเป็นมรดกโลก ในการประชุมปีนี้ ท่าเรือลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เนื่องจากโครงการขยายพื้นที่อยู่อาศัย-ออฟฟิศ และสนามกีฬาริมน้ำ ทำให้สูญเสียคุณค่าความเป็นเมืองท่า นับเป็น 1 ใน 3 แห่งในประวัติศาสตร์ที่หลุดจากรายชื่อมรดกโลก มรดกโลกในอาเซียนที่เสี่ยงก้าวถึงจุดดังกล่าว คือ หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม สปป.ลาว ซึ่งมีความกังวลว่าโครงการเขื่อนพลังงานน้ำที่ตั้งห่างจากเมืองไปเพียง 25 กิโลเมตรจะกระทบกับเมืองวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและเขื่อนแตก ด้านประเทศไทย อุทยานแห่งชาติดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่สองของไทยมีข้อกังวลเรื่องการลักลอบตัดไม้พะยูงขนออกไปประเทศเพื่อนบ้าน การขยายทางหลวง และการสร้างอ่างเก็บน้ำอีกหลากแห่ง การประชุมล่าสุด คณะกรรมการไม่ได้ยกระดับป่าตะวันออกผืนนี้ของไทยขึ้นบัญชีอันตราย พร้อมระบุให้ไทย "ระงับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใดๆ" เนื่องจากมีข่าวว่ากรมชลประทานยังดำเนินการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ และจัดส่งรายงานความคืบหน้ากับที่ประชุมมรดกโลกกุมภาพันธ์ปีหน้า https://greennews.agency/?p=24656
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|