#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยจะมีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันพรุ่งนี้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย. 66 นี้ และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 ? 4 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 3 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย. นี้ และเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 ? 3 ก.ย. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 3 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 4 (229/2566) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566) ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก: จังหวัดจันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ วันที่ 1 - 3 กันยายน 2566 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ชาวประมงประกาศขายอำพันทะเลก้อนใหญ่ ใช้หนี้ หลังเก็บใส่ตู้ไว้ 3 ปี ชาวประมงที่สตูล เก็บก้อนที่เชื่อว่าคือ "อำพันทะเล" ไว้ 3 ปี เจอบริเวณชายหาด นำมาเผาจะละลาย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ น้ำหนัก 5.3 กก. ประกาศขายแก่ผู้ที่สนใจ เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีรายได้ ครอบครัวเป็นหนี้ ต้องการปลดเปลื้องออกไปบ้าง และอยากได้อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ที่บ้านเลขที่ 68/2 หมู่ 1 ต.สาคร อ.ท่าแพ จ.สตูล นายธนา หมุนหลี อายุ 48 ปี นำก้อนอำพันทะเลมาโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดู โดยก้อนดังกล่าวมีลักษณะผิวเรียบ มีสีดำปนน้ำตาล นำมาชั่งดู มีน้ำหนักอยู่ที่ 5.3 กิโลกรัม เมื่อนำมาทดสอบโดยการนำมาเผาไฟก็ละลายกลายเป็นน้ำคล้ายๆ เทียนไข มีควันลอยขึ้นมา และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ นายธนา เจ้าของ เล่าว่า เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่ตนออกหาหอยหาปลาบริเวณชายหาดบ้านหาดทรายยาว ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล ก็ได้พบกับก้อนดังกล่าวเหมือนกับก้อนอำพันทะเลที่เคยเห็นเป็นข่าวในทีวี เมื่อนำกลับมาบ้านและให้ญาติได้ดู หลายคนก็ลงความเห็นว่า เป็นก้อนอำพันทะเล ตนจึงได้ห่อผ้าขาวและเก็บไว้ในตู้ จนวันนี้เวลาผ่านมาประมาณ 3 ปี ได้ดูข่าวก็มีคนพบก้อนอำพันทะเลเหมือนของตน ในข่าวบอกว่ามีราคาสูง และเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ออกหาปลาในทะเลก็ได้ปลานิดหน่อย ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน จนวันนี้ไม่สามารถจ่ายคืนได้เลย เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้จากการออกทะเลหาปลาก็พอเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ ไม่สามารถเก็บสะสมใช้หนี้คืนได้ นึกขึ้นมาได้ว่ามีก้อนอำพันทะเล วันนี้จึงตัดสินใจนำออกมาประกาศขาย เพื่อหาเงินสักก้อนนำมาใช้หนี้และใช้จ่ายในครอบครัว นายธนา บอกด้วยว่า ในข่าวบอกว่าราคาสูงมาก แต่ของตนไม่ได้หวังว่าจะขายได้ราคาสูงถึงหลักล้านตามที่เป็นข่าว ต้องการขายแค่หลักหมื่นพอได้ใช้หนี้และเหลือไว้ใช้จ่ายในครอบครัวบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็พอ หากใครที่สนใจ สามารถติดต่อมาขอดูได้โดยตรงที่ตน โทร 0657019052. https://www.thairath.co.th/news/loca...0zJnJ1bGU9Mw== ****************************************************************************************************** Global Boiling...เมื่อโลกระอุถึงจุดเดือด 20 ปีก่อน เราพูดกันถึงเรื่องโลกร้อนเลยมาจนถึง Climate Change แต่วันนี้เรื่องที่ว่านั้นกำลังหมดยุคไปแล้ว นับตั้งแต่ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด หรือ Global Boiling แล้ว เหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับการออกมาเตือนของบรรดานักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศที่ระบุว่า ภาวะโลกเดือดจะเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ภาพของโลกระอุ ปรากฏขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในแคนาดา ยุโรปใต้ และแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวและน่าสลดใจมาก เมื่อเด็กๆถูกฝนในฤดูมรสุมพัดพาไป ครอบครัวที่วิ่งหนีเปลวเพลิงและคนงานทรุดตัวลงด้วยความร้อนที่แผดเผา ล้วนเป็นภาพที่ประหลาดและเราไม่เคยเห็นสภาพเช่นนี้มาก่อน คาร์โล บูเอ็นเทมโป ผู้อำนวยการ Copernicus Climate Change Service บอกว่า ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2566 มี 3 วันที่อากาศร้อนราวกับเป็น Heat Wave ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลและสภาพอากาศที่รุนแรง และถือว่าเป็นวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ "ความผิดปกตินี้มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับเดือนอื่นที่มีทำลายสถิติในบันทึกของเรา" ผอ. Copernicus Climate Change Service บอก ขณะที่ คาร์สเทน เฮาสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอากาศของโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส หรือราว 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ มากกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนๆที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปี เฮาสไตน์ ใช้การประมาณอุณหภูมิโลกจาก National Oceanic and Atmospheric Admini stration ในสหรัฐอเมริกา และพบว่าอากาศในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้ทำลายสถิติเดิมปี 2562 ถึง 0.2 องศาเซลเซียส ไม่ใช่แค่นั้น เซเก เฮาส์แฟเธอร์ นักวิทยา ศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่ Berkeley Earth ซึ่งใช้เครื่องมือจากนักอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นและยุโรปในการประเมิน พบว่าอากาศที่ร้อนระอุกำลังเพิ่มขึ้นเข้าใกล้ 0.3 องศาเซลเซียสแล้ว นอกจากนี้ ในมหาสมุทรก็พบว่าอุณหภูมิในมหาสมุทรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา คริส เฮวิตต์ ผู้อำนวยการ Climate Services ของ WMO ระบุว่า จากชุดข้อมูล 173 ปี ปี 2015 ถึง 2022 ที่มี 8 ปีและร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นั้นเป็น "ทศวรรษที่ร้อนขึ้นอย่างชัดเจนและรวดเร็ว" แม้จะมีปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้น้ำทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกเย็นลง และดึงอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ลานีญาสิ้นสุดลงแล้วและกำลังถูกแทนที่ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเริ่มร้อนขึ้น ทำให้มีความน่าจะเป็นที่ใน 5 ปีข้างหน้าจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากสถานการณ์อันน่าสะพรึงกลัวดังกล่าวทำให้สหประชาชาติต้องออกมาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการระดับโลกด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จนทำให้เกิดวลีเด็ดจาก นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ออกมาเตือนว่า The era of global warming has ended and the era of global boiling has arrived หรือ "ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว" และ "ยุคโลกเดือด global boiling กำลังเริ่มขึ้น" กูเตร์เรสบอกว่า สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ เอเชีย แอฟริกา และยุโรปแล้วมันคือฤดูร้อนที่แสนทรมาน แต่สำหรับโลกทั้งใบ มันคือ หายนะ และสำหรับนักวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องที่แจ่มแจ้ง นี่คือสัญญาณเตือนให้ผู้นำทุกประเทศโดยเฉพาะผู้นำจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G20 ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันถึง 80% ของการปล่อยมลพิษทั่วโลกต้องเร่งยกระดับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยเร่งด่วน "อากาศก็ใช้หายใจไม่ได้แล้ว ความร้อนก็ทนกันไม่ไหวแล้ว ระดับของผลกำไรจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเฉยเมยของสภาพอากาศเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ผู้นำต้องเป็นผู้นำ ไม่มีความลังเล ไม่มีข้อแก้ตัวอีกต่อไป ไม่ต้องรอให้ผู้อื่นเคลื่อนไหวก่อนอีกต่อไป ไม่มีเวลาอีกแล้วสำหรับเรื่องพวกนี้" กูเตร์เรสบอกและว่า เรื่องนี้จะถูกนำไปหารือในการประชุมสุดยอด UN Climate Ambition ในเดือนกันยายน และการประชุม COP28 ในดูไบ ในเดือนพฤศจิกายน แน่นอน ทั้งนี้ เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยมลพิษแห่งชาติใหม่จากสมาชิก G20 และกระตุ้นให้ทุกประเทศผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หยุดการขยายตัวของน้ำมันและก๊าซ และเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2583 ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องนำเสนอแผนงานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือในการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อการปรับตัวเป็น 2 เท่าภายในปี 2568 และรัฐบาลทุกประเทศควรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนบนโลกได้รับการคุ้มครองโดยระบบเตือนภัยล่วงหน้าภายในปี 2570 ในด้านการเงิน เลขาธิการสหประชา ชาติเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่าปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับการสนับสนุนด้านสภาพอากาศในประเทศกำลังพัฒนา และเติมกองทุน Green Climate Fund ให้เต็มจำนวน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศแบบเร่งด่วนโดยมาตรการจะรวมถึงการกำหนดราคาคาร์บอนและการให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีเพิ่มเงินทุนสำหรับพลังงานหมุนเวียน การปรับตัวรับสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายจากอากาศที่ร้อนขึ้นจนโลกเดือด. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2720111
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ออสเตรเลียพบแม่ลูก 'วาฬเซาท์เทิร์นไรท์' ใช้ชีวิตใกล้ชายฝั่ง รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย ได้พบเจอแม่ลูกวาฬเซาท์เทิร์นไรท์ (Southern right whale) คู่หนึ่งกำลังแหวกว่ายน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ซิดนีย์, 20 ส.ค. (ซินหัว)-เมื่อไม่นานนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย ได้พบเจอแม่ลูกวาฬเซาท์เทิร์นไรท์ (Southern right whale) คู่หนึ่งกำลังแหวกว่ายน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าลูกวาฬตัวนี้น่าจะเกิดราววันที่ 25 ก.ค. และยังคงอยู่ในช่วงกินนมแม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเฝ้าติดตามสองแม่ลูกวาฬคู่นี้ ซึ่งยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามแนวชายฝั่งตะวันออก วาฬ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ปลาวาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อาศัยอยู่แต่เฉพาะในทะเลหรือมหาสมุทร มีรูปร่างคล้ายปลา คือรูปร่างเพรียวยาว มีครีบและมีหางเหมือนปลา แต่หางของวาฬจะเป็นไปในลักษณะแนวนอน ไม่ใช่แนวตั้งเหมือนปลา วาฬไม่ใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสายรก ที่จัดอยู่ในอันดับฐานวาฬและโลมา (Cetacea) ในอันดับ Artiodactyla. https://www.dailynews.co.th/articles/2653756/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
สนข.ลุยศึกษาถนนเลียบทะเลฝั่งอันดามัน "ระนอง-สตูล" วางแนวเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวผุดแลนด์มาร์กใหม่ 6 จังหวัด สนข.เตรียมจ้างสำรวจออกแบบถนนเลียบทะเลใต้ฝั่งอันดามัน ?ระนอง-สตูล? กว่า 600 กม. งบ 80 ล้านบาท ศึกษา 18 เดือน วางแนวเส้นทางเลียบทะเล 6 จังหวัด "ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล" เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาจุดท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มจุดขายสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่และประเทศ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างสรุปผลการประกวดราคา จัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล โดยวิธีการคัดเลือก ราคากลาง 80.671 ล้านบาท โดยมีผู้ยื่นเสนอราคา 2 ราย คาดจะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้ภายในเดือน ส.ค. 2566 เริ่มศึกษาต้นเดือน ก.ย. 2566 ระยะเวลาศึกษา 540 วัน (18 เดือน) สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทาง 600 กม. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเส้นทางถนนเลียบทะเลฝั่งอันดามันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ดังนั้น ต้องวางแนวใกล้หรือเลียบทะเล ให้มีจุดขายด้านการท่องเที่ยว และเป็นเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีมาตรฐาน สะดวก ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวของประเทศและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ศึกษาโครงการ "หลังการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ จะเสนอกระทวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะมีการพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการพัฒนาต่อไป รูปแบบจะคล้ายกับที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีการพัฒนาเส้นทางถนนเลียบทะเลฝั่งอ่าวไทยฝนปัจจุบัน" ผอ.สนข.กล่าว สนข.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 16.15 ล้านบาท และงบประมาณปี 2567 จำนวน 64.60 ล้านบาท ในการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล) โดยมีขอบเขตการศึกษา 8 ส่วน คือ 1. ศึกษาทบทวนผลการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเรียบชายฝั่งทะเลอันดามัน 2. ศึกษาด้านการขนส่งและจราจร 3. คัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบของถนนโครงการเบื้องต้น 4. ออกแบบแนวคิดเบื้องต้น (Conceptual Design) ของการพัฒนาโครงการทั้งแนวสายทางรูปแบบถนนโครงการพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ( New Landmark ) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว 5. จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) และประมาณราคามูลค่าโครงการ 6. ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 7. จัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน 8. ประชาสัมพันธ์โครงการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดรองจากกรุงเทพมหานคร หรือคิดเป็น 23% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งประเทศ ซึ่งจะศึกษาพัฒนาการเชื่อมโยงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่นอุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง, อ่าวนาง จ.กระบี่, เขาหลักจ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง, หาดนาใต้ จ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจ.สตูล และพัฒนาแห่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม https://mgronline.com/business/detail/9660000077305
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก
'เกาะโลซิน' เกาะเล็กที่สุดใน ประเทศไทย แต่ทำไม มีราคาแสนล้าน ทำความรู้จัก 'เกาะโลซิน' เกาะ ที่เหมือนกองหิน ที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่ทำไม มีราคาดุจโคตรเพชร หลายแสนล้านบาท หากพูดถึง "เกาะ" ต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เกาะเล็ก เกาะใหญ่ ทั้งมีผู้อยู่อาศัย และไม่มีคนอยู่อาศัย มีนับไม่ถ้วน แต่มีอยู่เกาะหนึ่ง เชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู หรือ ได้ยินชื่อ นั่นคือ "เกาะโลซิน" เกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่ขึ้นชื่อว่า มีราคานับแสนล้านบาท ทำไม เกาะที่เล็กที่สุด ถึงมีราคาสูงที่สุด คมชัดลึก รวบรวมข้อมูล พาไปรู้จักกับ "เกาะโลซิน" ประวัติความเป็นมา "เกาะโลซิน" "เกาะโลซิน" เป็นเกาะหินปูนขนาดย่อมกลางทะเลอ่าวไทย ขึ้นอยู่กับ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห่างจากหาดวาสุกรี ในเขต อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ประมาณ 72 กิโลเมตร ไม่มีต้นไม้ ไม่มีแม้แต่หาดทราย มีเพียงยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร และมีเพียงประภาคาร ตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น บริเวณรอบเกาะ เป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์ กินพื้นที่ยาว 1 กิโลเมตร มีพืชใต้น้ำ และฝูงปลานานาชนิด โดยเฉพาะฉลามวาฬ ด้วยเหตุนี้ เกาะโลซินจึงเป็นที่นิยมของนักดำน้ำ และนักตกปลา แต่เดิมที่นี่เคยเป็นดินแดนพิพาทระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียได้ทำการอ้างสิทธิ เหนือหมู่เกาะกระ ใน จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการอ้างการแบ่งเขตไหล่ทวีป อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่เวลาต่อมา คณะเจรจาไปพบเกาะหินกลางทะเล นั่นคือ "เกาะโลซิน" จึงได้ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1958 ให้โลซินมีสถานะเป็นเกาะ ไทยจึงสามารถประกาศสิทธิเขตเศรษฐกิจจำเพาะจากแนวน้ำลดบริเวณชายฝั่งออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมแหล่งก๊าซด้วย ภายหลังปี พ.ศ. 2521 ไทยและมาเลเซียจึงได้ตกลงกัน กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เกาะโลซิน เกาะเล็ก ราคาใหญ่ ทำไม "เกาะโลซิน" ที่มีขนาดเท่าห้องขนาดกลางในคอนโดมีเนียม โดยมีพื้นที่รวมแค่ 50 ตารางเมตร ถึงมีราคาสูงถึงแสนล้านบาท จากข้อมูลของ openup ระบุว่า พื้นที่ใต้น่านน้ำอาณาเขต จะมีโอกาสสำรวจพบทรัพยากรธรรมชาติได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายๆ ประเทศทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้น มีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง และเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังในปี 2515 ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้น ใช้การแบ่งเขตทางทะเล ด้วยวิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่าย หรือที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ด้วยวิธีเช่นนั้น ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก และพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด น่านน้ำอาณาเขต คืออะไร น่านน้ำอาณาเขต (Territorial Waters) หรือทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) ในวิกิพีเดียอธิบายว่า เป็นแนวน่านน้ำชายฝั่งวัดจากเส้นฐาน ปกติของน้ำทะเลในช่วงลงเต็มที่จนถึงปานกลางของชายฝั่งไปไกลสุดที่ 22.2 กิโลเมตร พูดง่ายๆ ก็คือ ตำแหน่งไหนที่เป็นปลายทางที่อยู่ติดกับทะเล หรือในทะเล ถ้าใครได้เป็นเจ้าของ ประเทศนั้นก็จะได้ครอบครองน่านน้ำเพิ่มออกไปจากจุดนั้นอีก 22.2 กิโลเมตร รวมถึงบนฟ้าและใต้ดินที่อยู่ในอาณาเขตด้วย ก็แปลว่าประเทศไทย นอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่รูปขวานใน Map โลกแล้ว หลายๆ เกาะในที่อยู่ไกลจากผืนดินมากที่สุด บวกเพิ่มไปอีก 22.2 กิโลเมตร ก็นับเป็นโซนของประเทศไทยเหมือนกัน โดยไทยยืนยันว่า ได้ก่อสร้างประภาคารไว้บนเกาะนี้ เพื่อแสดงอาณาเขตไว้แล้ว ตามอนุสัญญาเจนีวา กฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญา ได้ระบุความหมายของเกาะไว้ว่า "แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ" ซึ่งหมายถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่จากน้ำขึ้นมาด้วย โลซินก็เลยกลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมยกให้ ในปี 2522 ประเทศไทยและมาเลเซีย เจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ครอบคลุมประมาณ 7,250 ตร.กม.โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์คนละครึ่ง เป็นระยะเวลา 50 ปี เมื่อมีการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็พบว่า แหล่งก๊าซที่มีปริมาณมากถึงราว 75% นั้น อยู่ในซีกพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมาเลเซีย แต่ไทยเราได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เพราะการอ้างอาณาเขตจากเกาะโลซินที่เป็นแค่กองหิน จนหลายคนตั้งชื่อเกาะโลซินใหม่ว่า "กองหินแสนล้าน" ตามมูลค่าของแหล่งก๊าซธรรมชาตินั่นเอง แต่ในปี 2572 ข้อตกลงเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมจะหมดอายุลง เกาะโลซินยังจะถูกเรียกเหมือนเดิมไหมไม่รู้ แต่ที่รู้คือ ความอุดมสมบูรณ์ของเกาะโลซิน และความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใต้ทะเล มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะโลซิน - 2 ต.ค. 2556 เรือขนส่งเงินตราต่างประเทศมูลค่ารวม 119 ล้านบาท โดยมีนายอาคม พูนชนะ ไต๋เรือ เป็นผู้ขับเรือ ถูกปล้น ขณะนำมาส่งลูกค้าที่เกาะโลซิน ต่อมาพบว่า นายอาคม มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการปล้นทรัพย์ นับเป็นเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย และตำรวจตั้งข้อสังเกตว่า ลูกเรือทั้ง 7 ราย น่าจะเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมในทะเล - ปี 2564 มีเศษอวนขนาดยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ติดแนวปะการัง บริเวณเกาะโลซิน สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังประมาณ 550 ตารางเมตร ซึ่งเก็บกู้ได้เป็นน้ำหนัก 800 กิโลกรัม สถานะเกาะโลซินในปัจจุบัน ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2565 โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 28 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเกาะโลซิน เป็นพื้นที่มีความสำคัญและเปราะบางมาก ที่มา : openup, วิกิพีเดีย ขอบคุณภาพ : Thon Thamrongnawasawat, PTTEP https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/travel/550995
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'เอลนีโญ' สัญญาณเตือนวิกฤติ จากภาวะโลกร้อน สู่ภาวะโลกแล้ง เอลนีโญ เป็นสัญญารเตือนว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ไม่เพียงแค่โลกร้อน แต่กำลังก้าวสู่ภาวะโลกแล้ง กลายเป็นความท้าทายของภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก Key Point : - เอลนีโญ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่า จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับปี - เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า 'ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด' - อีกทั้ง หอการค้าไทย คาดว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งทวีปเอเชียและประเทศไทย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization)ได้ออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่าง เอลนีโญ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่า จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับปี ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุณหภูมิในหลายๆ พื้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติ และอาจเกินเป้าหมายที่โลกอยากจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาในช่วงเวลาหนึ่งใน 5 ปีข้างหน้า โดยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถูกบันทึกว่า เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดทำลายสถิติที่มีการบันทึกมาเรียบร้อยแล้ว เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า 'ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด' โดยได้พยายามเน้นย้ำความร่วมมือของโลกในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน การเกษตร นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว อันดับ 2 ของโลก ปลากระป๋อง อันดับ 1 ของโลก มันสำปะหลัง อันดับ 1 ของโลก และสัปปะรดกระป๋อง อันดับ 1 ของโลก ที่ผ่านมา หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท โดยพืชที่กระทบมากได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด วิกฤติเอลนีโญ จึงกลายเป็นความท้าทายของภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำของไทย ในช่วงเวลาที่ข้าวราคาสูง แต่น้ำกลับมีแนวโน้มไม่เพียงพอ ชาวนาที่ลงทุนปลูกข้าวในช่วงนี้จึงต้องลุ้นว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือเป็นความเสี่ยง 'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา DIALOGUE FORUM 2 l YEAR 4: El Nino, จากโลกร้อน สู่โลกแล้ง โดยอธิบายว่า มีการคาดการณ์ว่า เดือนกันยายน ? พฤศจิกายน ทั่วโลกจะอุณหภูมิจะสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1 องศา แต่ที่หนักที่สุด คือ ยุโรป ญี่ปุ่น จากคลื่นความร้อน ขณะที่เอลนีโญ คาดการณ์ 3 เดือน ข้างหน้า ปี 2566 ในเดือนกันยายน จะยังมีฝน แต่พอเข้าตุลาคม ฝนจะหายไป ดังนั้น ปลูกข้าวตอนนี้ต้องมีน้ำสำรอง ปลายฝนปีนี้ไม่ค่อยดี ดังนั้น คนที่ปลูกข้าวตอนนี้ใช้น้ำฝนอย่างเดียวไม่ได้ โดยช่วงที่น่าห่วงที่สุด คือ พฤศจิกายน ? ธันวาคม 2566 และจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงกลางปีหน้า ดังนั้น ต้นฤดูฝนปีหน้าเข้าเดือน พฤษภาคม ปี 2567 ไม่ค่อยดี เป็นสัญญาณเตือนว่ากรมชลประทานต้องสำรองน้ำ ทั้งนี้ หากดูปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง ข้อมูลจาก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2566 พบว่า ความจุทั้งหมด รวม 70,928 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 39,131 ล้าน ลบ.ม. (55%) ใช้การได้จริง 15,594 ล้าน ลบ.ม. (22%) น้ำไหลลง 110 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบาย 86 ล้าน ลบ.ม. เพิ่ม 3 มาตรการรับมือเอลนีโญ ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกในพื้นที่เขตชลประทาน นโยบายของ สทนช. มีการประเมิน 2 ส่วน คือ 1. ส่วนของพื้นที่ชลประทาน แหล่งน้ำต้นทุน การคาดการณ์แหล่งน้ำต้นทุน พื้นที่เพาะปลูก และแนวทางในการช่วยเหลือประเมินตามมาตรการที่กรมชลประทานต้องดูแล และ 2. พื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งทำการเกษตรไม่ได้หากไม่มีแหล่งน้ำ เช่น จ.นครราชสีมา หากฝนไม่ตกก็ต้องขอฝนหลวง หรือในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ทางกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีการประเมิน และแนะนำว่าสามารถปลูกได้เท่าไร "เรื่องของ เอลนีโญ สทนช. มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยการประเมินและมีมาตรการรองรับในการเก็บกักน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง และทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ฝนไม่ตก โดยฤดูฝนปี 2566 มีทั้งสิ้น 12 มาตรการ ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 รวมถึง เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการ ตลอดช่วงฤดูฝน ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ" ทั้งนี้ มีการส่งเสริมไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ซึ่งลงไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เช่น จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือ การเกษตรเริ่มหมด แต่มีแหล่งน้ำอื่นระยะทาง 4-5 กิโลเมตร พร้อมขับเคลื่อนให้ อปท. ดำเนินการ ขณะเดียวกัน พื้นที่ในเขตชลประทาน หากปลูกล็อตพืชแรกน้ำไม่พออย่างน้อยต้องหาวิธีเสริมน้ำ เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เป็นต้น สำรองแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร สำหรับ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรอย่างการปลูกข้าว ที่ชาวบ้านใช้หล่อเลี้ยงชีพ และ 'น้ำ' ก็เป็นส่วนสำคัญ 'ประฏิพัทร์ กล่ำเพ็ง' ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท เผยว่า ในพื้นที่ ขึ้นตรงกับ สำนักชลประทานที่ 10 มีนโยบายจัดสรรและขอน้ำเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรช่วงที่ทำไปแล้วให้รอดซึ่งคาดจะเก็บเกี่ยวในเดือน ส.ค. นี้ และด้วยราคาข้าวขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน คาดว่าเกษตรกรจะทำนาล็อตที่สองกันอีกแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ค่อนข้างจำกัด สำนักชลประทาน มีช่วงจัดสรรรอบเวรน้ำ ให้สูบ 7 วัน และหยุดสูบ 7 วัน ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำ จึงได้เตรียมแผนสำรองโดยการสำรวจแหล่งน้ำทุกแหล่งในพื้นที่ และพยายามเติมเต็มรองรับน้ำฝนที่ไหลลงในบึงเหล่านี้ โดยขณะนี้ น้ำในพื้นที่มีอยู่ราว 80% ของแหล่งน้ำ นโยบายจากทางภาครัฐที่บอกว่าให้ลดการทำนาต่อเนื่อง แต่ความจริง คือ ลูกก็ต้องเรียน ข้าวก็ต้องกิน ของก็ต้องใช้ ให้เปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดก็ทำไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย นโยบายพืชใช้น้ำน้อยเป็นนโยบายที่ดีแต่อาจจะใช้ได้บางพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง และพื้นที่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เราไม่สามารถนำเสื้อตัวเดียว มาใช้ได้ทั้งประเทศ "ปัญหาการบริหารจัดการ เป็นความทับซ้อนของพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จึงตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด และให้อำนาจการบริหารจัดการน้ำ และมีกรมชลประทานเป็นพี่เลี้ยงกำหนดแนวทางนโยบาย เช่น ฤดูน้ำแล้ง มีการบริหารจัดการน้ำโดยการจัดสรรน้ำ ก็จะแจ้งมายังกลุ่ม เป็นการช่วยบริหารจัดการร่วมกัน" ประฏิพัทร์ กล่าว https://www.bangkokbiznews.com/environment/1085501
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation TV
กรมทะเลชายฝั่งลงพื้นที่ตรวจน้ำทะเล หลังพบคราบและก้อนน้ำมันดินหาดบางแสน กรมทะเลชายฝั่งลงพื้นที่ตรวจน้ำทะเล หลังพบคราบและก้อนน้ำมันดินที่บริเวณหาดบางแสน ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา ล่าสุด แนะนำประชาชนไม่ควรสัมผัสอาจระคายเคืองได้ 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการพบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดินหาดบางแสน ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้ลงพื้นที่และตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบางแสน เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองแสนสุข ได้แจ้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้นพบ คราบน้ำมันบริเวณศาลเจ้าพ่อแสนและพบก้อนน้ำมันดินขนาดเล็กกระจายตลอดแนวชายหาดบางแสนเป็นระยะทางประมาณ 1.94 กิโลเมตร หลังเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและทำการสุ่มเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดิน จำนวน 3 สถานี พบมีค่าความเป็นกรดและด่าง 8.12-8.25 อุณหภูมิ 32.2-34.4 องศาเซลเซียส ความเค็ม 27.0-27.6 ค่าส่วนในพันส่วน (Part Per thaosand หรือ ppt) และปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ 6.10-6.67 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำชายหาดบางแสน อยู่ในประเภทที่ 4 คือเพื่อการนันทนาการ กรมทะเลชายฝั่งลงพื้นที่ตรวจน้ำทะเล หลังพบคราบและก้อนน้ำมันดินหาดบางแสน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แนะนำว่าไม่ควรสัมผัสก้อนน้ำมันดินเพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง และผลการวิเคราะห์การปนเปื้อนของปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเล จะรายงานผลให้ทราบต่อไป ขอขอบคุณที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://www.nationtv.tv/gogreen/378928375
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
|||
|
|||
ภาพถ่ายก็น่าทึ่ง ธรรมชาติก็น่าทึ่ง มายกระดับจิตวิญญาณแห่งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของเรากันเถอะ
|
|
|