#1
|
||||
|
||||
ถมทะเล3แสนไร่....ได้อะไร?
ถมทะเล3แสนไร่ ‘สิ่งที่เราจะได้จากแผ่นดินตรงนั้นคืออะไร?’คำถามจาก“ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง” นักวิชาการจาก ม.สงขลานครินทร์ หลังจากได้รับฉันทามติจากเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คำสัญญาและนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ขณะหาเสียงกำลังตามมากดดัน หลายประเด็นสร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมไทย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความสนใจของสังคมขณะนี้กำลังเพ่งไปที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท ขณะที่สังคมถกเถียงกันเอาเป็นเอาตายเรื่องค่าแรง อีกหนึ่งนโยบายที่เริ่มถูกพูดถึงก็คือ การถมทะเล 3 แสนไร่ในบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อสร้างเมืองใหม่ อภิโปรเจ็กต์จากไอเดียของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เชื่อแน่ว่า หากผลักดันให้เกิดเป็นจริงๆ อาจสร้างผลกระทบต่ออ่าวไทยตอนในอย่างไม่อาจเรียกคืน ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)สัมภาษณ์ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ที่พยายามผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนทะเลอันดามันเป็นมรดกโลกคนนี้ ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องเดินหน้าโครงการนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่เขาเห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องตอบให้ได้ก่อนจะเดินหน้า “ผมอยากให้ลองย้อนกลับไปถามก่อนว่า เหตุผลของการถมทะเลแต่ละที่คืออะไร เพราะในโลกนี้ก็มีหลายประเทศที่มีการถมทะเล ซึ่งมีเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างกัน ผมยกตัวอย่างสิงคโปร์ เขาต้องถมแน่ๆ เพราะพื้นที่เขามีน้อยมาก เรียกว่าแทบจะเชื่อมเกาะกับแผ่นดินเลยด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่เขาเล็กมาก ต้องซื้ออิฐ หิน ดิน ทราย จากมาเลเซียบ้าง อินโดนีเซียบ้าง หรืออย่างญี่ปุ่นที่ต้องถมทะเลเพื่อทำเขตอุตสาหกรรมหรือสนามบิน เนื่องจากพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะ ส่วนตอนในก็เป็นภูเขาหมดเลย มีที่ราบริมทะเลค่อนข้างน้อย สนามบินไปอยู่ใกล้ๆ ภูเขามากก็ไม่ดี เขาจึงถมทะเลเพื่อสร้างสนามบิน หรืออย่างดูไบ ซึ่งเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยคงได้แนวคิดมาจากที่นี่ แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่า เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด ขาดทุนด้วยซ้ำไป บางแห่งก็เจ๊ง นั่นคือเหตุผลของแต่ละประเทศ ทีนี้ ของประเทศไทย ถ้ามองด้วยเหตุผลในระดับนั้น ก็ต้องถามว่าประเทศไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องถมทะเล ทั้งที่เรายังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือยังใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่าอีกเยอะขนาดไหน” นายศักดิ์อนันต์ อธิบายต่อว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในทะเลจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง “หลักการง่ายๆ ของทะเลที่เราเห็นกันอยู่ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เราทำอะไรก็แล้วแต่รุกล้ำเข้าไปในทะเล สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งที่เรารู้และไม่รู้ คาดเดาไม่ได้ เราจะเห็นว่าหลายๆ ที่ แม้แต่ท่าเรือขนาดเล็กๆ ยื่นออกไปในทะเล มันก็ขวางกระแสน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ สิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือการกัดเซาะชายฝั่ง บางที่อาจจะมีแผ่นดินงอก แต่อีกบริเวณหนึ่งเกิดการกัดเซาะ แผ่นดินหายไป จากการที่เราไปสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเล แล้วไปขัดขวางการไหลเวียนของมัน อีกประเด็นหนึ่งคือชายฝั่งทะเลหลายที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในอ่าวไทยตอนในที่เราพูดถึงอยู่ มันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งที่มีธาตุอาหารเยอะมาก เรียกว่าเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ อ่าวไทยตอนในมีหาดเลน หาดโคลน บางทีเราดูว่าดำๆ ไม่มีค่า แต่จริงๆ มันเป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในเป็นแหล่งปลาทูที่สำคัญ ที่มาวางไข่แถวสุราษฎร์ฯ ชุมพร แล้วก็ว่ายขึ้นไปข้างบน ไปโตแถวสามสมุทร อย่างที่เรารู้จักกันดีคือปลาทูแม่กลองที่อ้วนท้วน เป็นเพราะได้ประโยชน์จากสภาพพื้นที่ที่เป็นโคลน นั่นคือความสมบูรณ์ของอ่าวไทยตอนใน ซึ่งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน” นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของอ่าวไทยตอนใน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนของกระแสน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาจากน้ำทิ้ง “ผมไม่รู้หรอกว่า เขาจะถมทะเลตรงบริเวณไหน แต่กระแสน้ำต้องมีการเปลี่ยน พื้นที่ทำกินที่หายไป ผลกระทบต่อมาคือเวลาที่เราไปพัฒนาอะไรชายฝั่งทะเลมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำทิ้งจากแผ่นดินที่เราถม ถ้าจะอ้างว่ามีระบบบำบัดก็ต้องย้อนไปดูว่าที่ผ่านมาระบบบำบัดของเราไม่เคยได้ผลเลย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองใหม่หรือเขตอุตสาหกรรมที่อยู่ริมทะเล หลายที่สร้างปัญหาทั้งนั้น ไม่สามารถจัดการน้ำทิ้ง น้ำเสียได้ เมื่อของเสียเหล่านี้ไปอยู่ในทะเลก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เข้าสู่สิ่งมีชีวิต แล้วเราก็เอามันมากินต่อ ซึ่งเกิดปัญหาแล้วหลายที่” นายศักดิ์อนันต์ เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ เพราะหากเทียบกับผลประโยชน์ในระยะยาวแล้วถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่การประมงเท่านั้น ส่วนที่มีความเห็นว่า พื้นที่อ่าวไทยตอนในซึ่งเป็นดินเลน ไม่มีความเหมาะสมในการถมหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ นายศักดิ์อนันต์ มองว่า ด้วยความรู้ในทางวิศวกรรมคงไม่มีปัญหาในการก่อสร้าง แต่คงจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล “ณ เวลานี้ การมองเรื่องความคุ้มหรือไม่คุ้มมันสามารถพิสูจน์ได้ด้วยข้อมูล ศึกษาออกมาให้ชัดเจนว่า ประโยชน์ของการเก็บทรัพยากรเหล่านี้ไว้ เทียบกับสิ่งที่เราจะถมลงไปในทะเล มันอาจจะมีการคิดเป็นเชิงตัวเลขออกมาก็ได้ เพียงแต่ว่าในมิติของการประเมินมูลค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม มันมีเยอะมาก มีหลายมิติมาก ที่บางทีการคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์อาจจะมองไม่เห็น คำถามสำคัญที่จะต้องถามคือ ผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันกับโอกาสที่เราจะใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า มีอะไรบ้าง ต้องศึกษาให้หมด ถ้าเราจะอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ เราต้องหาให้หมดว่าข้อดี ข้อเสีย นำมาเปรียบเทียบ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคืออะไร มิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ต้องศึกษาให้ครอบคลุมครบถ้วนก่อน แต่ในมุมมองของผมคิดว่า มันไม่จำเป็นต้องสร้าง และเราไม่ควรสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญมากๆ ของประเทศไทยไป อ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตทางการประมงสูงมาก” อีกจุดหนึ่ง ที่ นายศักดิ์อนันต์ ชี้ให้เห็นคือระบบการหมุนเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งเป็นการหมุนเวียนอยู่ภายใน ดังนั้น หากเกิดมลพิษขึ้นจะทำให้เกิดการกระจายตัวไปทั่วพื้นที่อ่าวรูปตัว ก และมลพิษจะสะสมอยู่ภายในพื้นที่ “ปัจจุบันในอ่าวไทยรูปตัว ก ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลละเอียดต้องเอาจากกรมควบคุมมลพิษ แต่ตัวหลักคือพวกสารเคมีการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไหลลงทะเลมาสะสมที่อ่าวไทยรูปตัว ก ถือเป็นปัญหาใหญ่มากที่ต้องแก้กัน แต่ทะเลในหลายๆ ที่ยังอยู่ในภาวะที่เยียวยาตัวเองได้ แต่ถ้าเกิดมีอะไรที่มันมากกว่านั้น ไม่แน่ มันอาจจะรับไม่ได้ สภาวะการเน่าเสียอาจจะเกิดขึ้น” นายศักดิ์อนันต์ ทิ้งท้ายว่า “คือเราอาจจะได้แผ่นดิน แต่สิ่งที่ได้จากแผ่นดินตรงนั้นคืออะไรจะต้องคิดต่อ การมีโครงสร้างขนาดใหญ่ๆ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มันก็จะส่งผลกระทบต่อด้านที่อยู่ปลายน้ำ การสะสมดินตะกอนต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป อย่าไปสร้างปัญหาเพิ่มเติมมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้” ................... ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) http://www.tcijthai.com/
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 02-08-2011 เมื่อ 10:13 |
#2
|
||||
|
||||
เนื้อหาบทความข้างบนน่าสนใจและน่าคิดมากครับ เมื่อสองสามวันก่อนก็เจออีกบทความนึง คิดว่าคงต้องช่วยกันเผยแพร่ให้ความรู้และสะท้อนอีกมุมมองให้คนได้เข้าใจ เพื่อจะได้ไม่ไปหลงคารมนักการเมืองที่เน้นย้ำแต่ข้อดี แต่ไม่ยอมพูดถึงข้อเสียให้คนได้ชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ ก่อนเทใจไปสนับสนุน
http://www.bangkokbiznews.com/home/d...%E0%B8%A1.html 'ถมทะเล'ใช้ทราย 4 พันล้านคิวไร้แหล่งรองรับ-ไม่คุ้ม เปิดโมเดลถมทะเล ฉบับเพื่อไทย จากบางขุนเทียน ถึงปากแม่น้ำท่าจีน 3 แสนไร่ ประเมินต้องใช้ทราย 4,000 ล้านคิว ซึ่งทำได้ยากมาก แถมมีผลกระทบวงกว้าง นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนลงตรวจสอบพื้นที่บริเวณทะเลบางขุนเทียน กทม. ว่า หลังจากที่ได้ทำแบบจำลองการถมทะ เล บริเวณ อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการไปจนถึง ปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ เพื่อสร้างเมืองใหม่ และป้องกันน้ำท่วมกทม.ของพรรคเพื่อไทย พบว่า จะต้องใช้ทรายถมบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ 1.8 แสนไร่นั้นอาจต้องใช้ทรายประมาณ 4,000 ล้านคิว และ ใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทเฉพาะค่าทราย โดยเป็นปริมาณทรายที่ยังไม่รวมกรณีที่เกิดการทรุดตัวในบริเวณนี้ที่มีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 2-10 ซม.ต่อปี และยังมีการกัดเซาะที่รุนแรงเฉลี่ย 5 เมตรต่อปี ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นทะเลโคลนเกือบทั้งหมด หากจะถมตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ต้องใช้ทรายถมเท่านั้น ไม่สามารถใช้วัสดุอื่นแทนได้ เนื่องจากจะก่อปัญหาเรื่องการทรุดตัวในภายหลัง นายเสรี กล่าวอีกว่า ขณะที่แหล่งทรายที่มีอยู่ในประเทศ ส่วนใหญ่มาจากจ. อ่างทอง ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการดูดขึ้นมาใช้กันอยู่ในขณะนี้ ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปริมาณทรายเพียงพอที่จะนำมาถมตามโครงการดังกล่าวอย่างแน่นอน “ กรณีที่กล่าวอ้างว่าจะถมพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นเขื่อน ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กรุงเทพมหานครนั้น ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าน้ำที่ท่วม กทม.นั้นไม่ได้เกิดจากปัญหาน้ำทะเลหนุน โดยในแต่ละปีน้ำทะเล ที่เพิ่มขึ้น มีปริมาณเพียง 2 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น หากจะเพิ่มจนเกิดปัญหาดังกล่าว ต้องใช้ระยะยาวนาน โดยในระยะ 100 ปี จะเพิ่มขึ้น เพียง 30 เซนติเมตรเท่านั้น และหากจะเพิ่มในปริมาณที่จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำทะเลหนุน ต้องใช้เวลา ประมาณ 500- 1,000ปี” นักวิชาการ กล่าวอีกว่า แนวคิดของโครงการดังกล่าวนั้น ใหญ่เกินไป และใหญ่ที่สุดเท่าที่มีเคยมีมาในระดับโลก และเข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เท่าที่ได้ประเมินโครงการนี้ เฉพาะเรื่องการศึกษาผลกระทบ คาดว่า น่าจะใช้เวลายาวนานถึง 5 ปี โดยเชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ต้องล้มเลิกไปในที่สุด เพราะจะติดขัดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน “ ผลกระทบของโครงการนี้คือ จะยิ่งทำให้พื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหายไป และยังเพิ่มปัญหาการกัดเซาะจะมากขึ้นฝั่งขวา ในเขตอ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางปะกง และประเด็นสำคัญคือการระบายน้ำท่วมโดยคลองระบายน้ำหลายสาย ฝั่งธนบุรี จะมีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากคลองสายต่างๆที่นำน้ำระบายลงปากอ่าวไทยก็จะถูกปิดกั้นจากการถมทะเล และสุดท้ายคงต้องใช งบประมาณสูง มาก เนื่องจากชั้นดินบริเวณนี้และอ่าวไทยรูปตัว"ก." อ่อนหนากว่า 20 เมตรและเป็นทะเลโคลน ดังนั้นจึงอยากให้พรรคเพื่อไทย ออกมาบอกถึงความชัดเจนในโครงการนี้ รวมทั้งพื้นที่ของโครงการ เพราะขณะนี้สร้างความสับสนและความกังวลให้กับชาวบ้านที่อยู่ในเขตอ่าวไทยตัว ก. มาก” นายเสรี ระบุ |
#3
|
||||
|
||||
เป็นบทความที่ดีอีกบทความหนึ่ง....ขอบคุณค่ะน้องก้อย.... นักวิชาการส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการถมทะเล แล้วรัฐบาลใหม่จะฟังไหมคะเนี่ย....
__________________
Saaychol |
#4
|
||||
|
||||
สงสัยคงต้องใช้พลังภาคประชาสังคมนี่แหละครับ กดดันให้รัฐบาลต้องทำประชาพิจารณ์และศึกษาผลกระทบของโครงการ(หาเสียง) ให้รอบคอบก่อน ไม่ทราบมีใครเริ่มเปิดกระแสในพันธ์ทิพย์รึยัง เพราะยอมรับว่าพันธ์ทิพย์เป็นอีกหนึ่งเวทีที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มีพลังทีเดียว
คงต้องไตร่ตรองกันรอบคอบจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการโฮปเลส (โฮปเวลล์)ที่ประจานตัวเองมานับสิบปีแล้วตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต |
|
|