เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 66


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 ? 16 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบนของประเทศไทยจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงทำให้ด้านรับมรสุมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับในช่วงวันที่ 10 ? 11 มิ.ย. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 16 มิ.ย. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ตลอดช่วง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 66












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ชวนบริจาคเปลือกหอย เพิ่มบ้านใหม่ให้ "ปูเสฉวน" ไม่ต้องอาศัยในขยะทะเล

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ชวนผู้สนใจบริจาคเปลือกหอย เพิ่มบ้านให้แก่ปูเสฉวน ไม่ต้องหาขยะจากทะเลมาทำเป็นที่อยู่อาศัย



วันที่ 10 มิถุนายน 2566 มีรายงานว่า แฟนเพจ ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช ได้เผยถึงโครงการคืนบ้านให้ปูเสฉวน ซึ่งเกิดจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาเป็นพื้นที่ที่มีปูเสฉวนอยู่เป็นจำนวนมาก ปูเสฉวนบางตัวไม่มีบ้านหรือเปลือกหอย ทำให้ต้องหาขยะจากทะเลมาทำเป็นที่อยู่อาศัย เช่น พวกฝาพลาสติก ขวดแก้ว ฯลฯ แทนเปลือกหอย ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาจึงอยากหาบ้านให้ปูเสฉวนเหล่านี้

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา มีวัตถุประสงค์ในการรับบริจาค เพื่อเป็นการเพิ่มบ้านให้แก่ปูเสฉวนและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะปูเสฉวนในพื้นที่เกาะลันตา จ.กระบี่ และมีเป้าหมายในการรับบริจาคเปลือกหอยเฉพาะเปลือกหอยฝาเดียว (ขนาดใหญ่) ได้ทุกชนิดทั้งหอยน้ำจืด หอยทะเล และได้ทุกขนาด

เน้นการรับบริจาคเปลือกหอยเหลือทิ้งที่มาจากการบริโภค หรือเปลือกหอยจากทำโมบายเหลือใช้ในครัวเรือน และไม่สนับสนุนการเก็บเปลือกหอยจากชายหาดเพื่อนำมาบริจาค เนื่องจากไม่อยากให้เก็บเปลือกหอยจากหาดหนึ่ง มาบริจาคให้อีกหาดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นเสียสมดุลทางธรรมชาติไปด้วย จึงอยากได้เปลือกหอยที่เหลือจากการกินและนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์

โดยกิจกรรมล่าสุดของการคืนบ้านให้ปูเสฉวนนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ได้ร่วมกับโรงแรมอะวานี่พลัสลันตา (AVANI+LANTA) และมีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมนี้กว่า 30 คน ซึ่งมีการบริจาคและรวบรวมเปลือกหอยได้กว่า 70 กิโลกรัม และนำบ้านเปลือกหอยเหล่านี้ไปมอบให้บรรดาปูเสฉวนที่บริเวณชายหาดแหลมโตนด ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

สำหรับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาจะรวบรวมเปลือกหอยฝาเดียวที่เหมาะสมจากผู้บริจาค ส่งต่อเปลือกหอยไปยังผู้ประกอบการที่ต้องการร่วมกิจกรรมและนำเปลือกหอยไปวางไว้ ณ จุดที่เหมาะสมเพื่อให้ปูเสฉวนนำเปลือกหอยไปใช้เป็นบ้านปูเสฉวนต่อไป

ผู้สนใจโครงการคืนบ้านให้ปูเสฉวน สามารถส่งมาได้ที่ 59 ม.5 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา กระบี่ 81150 หมายเลขโทรศัพท์ 075-656576


https://www.thairath.co.th/news/local/2700888

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


'อ.ธรณ์' เผยทริปสำรวจสุดหดหู่ เจอปะการัง 'ฟอกขาว' ตายในเขตอนุรักษ์!

"ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" เผยทริปสำรวจสุดหดหู่จนอยากร้องไห้ เจอแนวปะการัง ?ฟอกขาว? ตายในเขตอนุรักษ์ เตือนโลกร้อนคือหายนะ ชี้ความวิบัติเกิดขึ้นแล้วในทะเลไทย



เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ "การฟอกขาว" ของปะการังในเขตอนุรักษ์ จ.ระยอง โดยระบุข้อความว่า


"ปิดฉากทริประยองด้วยแนวปะการังแห่งความทรงจำ ผมเป็นคนร่วมสำรวจที่นี่ตั้งแต่เป็นนิสิตเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน สมัยเป็นอาจารย์หมาดๆ ก็พาลูกศิษย์มาเรียนปะการังหลายปีต่อเนื่อง ปะการังที่นี่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ พบตั้งแต่ที่ตื้นริมฝั่งไปจนถึงขอบต่อเนื่องลงที่ลึก 7-8 เมตร เป็นตัวอย่างชั้นยอดของแนวปะการังระยอง ยังเป็นจุดที่มีหอยมือเสือมากมายเหลือเกิน เป็นพันๆ จนนักวิจัยสมัยนั้นรู้จักดี

เนื่องจากอยู่ในเขตอนุรักษ์และไม่มีชาวบ้านบนเกาะ แต่มีสถานีและเจ้าหน้าที่ดูแล แนวปะการังจึงไม่มีผลกระทบอื่นใด ไม่มีนักท่องเที่ยวดำน้ำ ไม่มีคนจับปลา จึงเป็นสถานีศึกษาชั้นยอดสำหรับการติดตามระยะยาว ปะการังก็อยู่ยาวๆ มาจนถึง 4 ปีก่อน บริเวณที่เพื่อนธรณ์เห็นเคยมีปะการังปกคลุมพื้นที่กว่า 45% จากนั้นน้ำก็ร้อน ปะการังฟอกขาว บางส่วนตาย น้ำร้อนอีกและร้อนอีก ร้อนทุกปี ปะการังที่เหลือก็ตายและตาย

มาถึงบัดนี้ สายวัดที่เราวางไป ทอดยาวทับปะการังตายกับตาย ที่มีชีวิตเหลืออยู่ไม่ถึง 5% และพวกเธอก็กำลังฟอกขาว?มองไปรอบๆ มันเป็นเหมือนกัน มีแต่ความตายทุกหนแห่ง ผมเคยเห็นแนวปะการังโดนระเบิดปลา เคยสำรวจแนวปะการังที่พังทลายเพราะการท่องเที่ยวมาไม่รู้กี่สิบที่ เคยเห็นโน่นนี่มาหมดแล้ว แต่ผมไม่เคยเห็นความตายเยี่ยงนี้ จากปีแรกที่ปะการังฟอกขาว ใจภาวนาหวังว่าจะฟื้น มาปีสองคำภาวนาไม่เป็นผล มาปีนี้ทุกอย่างมาถึงขั้นหมดอาลัยตายอยาก

เป็นทริปสำรวจที่หดหู่จนอยากร้องไห้ มองไปรอบด้าน ผมไม่เห็นต้นเหตุใดๆ ที่ทำให้พวกเธอตายพร้อมกัน มองไปบนฟ้า ผมก็มองไม่เห็น แต่ทราบดีว่ามันอยู่ที่นั่น ? ก๊าซเรือนกระจก มันจึงเป็นความตายที่แทบไร้ทางแก้ เป็นกองเชือกยุ่งเหยิงพันกันจนหาปมไม่เจอ อยู่ในเขตอนุรักษ์ ไม่มีการประมง ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่มีน้ำเสีย ไม่มีขยะ แต่ปะการังตายหมดแล้ว แล้วหอยมือเสือล่ะ? หอยมือเสือตายเกือบหมด เหลืออยู่น้อยกว่าเดิมไม่รู้กี่สิบเท่า

งานวิจัยที่โหดร้ายที่สุด คืองานสำรวจวิจัยในสถานที่แห่งความทรงจำ จุดสำรวจที่ผูกพันยาวนานค่อนชีวิต ก่อนสุดท้ายจบลงด้วยสภาพคล้ายสุสาน มันโหดร้ายต่อใจมากเลยครับ จึงนำเรื่องนี้มาบอกเพื่อนธรณ์ บอกว่าโลกร้อนคือหายนะ บอกว่ามันเกิดแล้วในทะเลไทย และมันทำลายแทบทุกชีวิต ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ความสำคัญกับผลจากโลกร้อนให้มากกว่านี้มากๆๆๆๆ ผมสงสารหมีขาว แต่ความวิบัติเกิดขึ้นแล้วในทะเลไทย?"


https://www.dailynews.co.th/news/2422762/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'คลื่นมรสุม' ซัดขยะเกยหาดนาจอมเทียน ประจานมนุษย์มักง่าย



9 มิ.ย.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ที่บริเวณแนวชายฝั่ง พื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในทะเลมีมรสุมคลื่นลมแรง โหมเข้าซัดชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อชาวประมง และสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่แนวชายฝั่ง ชายหาดนาจอมเทียน ซึ่งมีรอยต่อติดกับชายหาดจอมเทียนพัทยา ได้รับผลกระทบจากขยะมูลฝอยจำนวนมาก ถูกคลื่นซัดเกยติดชายหาดเป็นทางยาวนับกิโลเมตร ทำลายทัศนียภาพสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ซึ่งขยะที่ปรากฏ ล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์มักง่าย ที่ชอบทิ้งขยะมูลฝอยลงสู่แหล่งน้ำ เบื้องต้น เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ได้เตรียมนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการจัดเก็บ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ให้กลับมาสวยงามดังเดิม


https://www.thaipost.net/district-news/394118/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร? ............. โดย วรุณรัตน์ คัทมาตย์

'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?
ประเด็นดาราแต่งงาน เพื่อนบ้านทะเลาะกัน ตอนนี้อาจไม่สำคัญเท่าการเฝ้าระวัง "ภัยแล้ง" จาก "เอลนีโญ" ที่กำลังมาเยือนคนไทยปลายปีนี้ และอาจลากยาวไปจนถึงปี 2567



Key Points:

- สภาพอากาศปีนี้ ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก กำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานไปถึงต้นปี 2567

- เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "El Ni?o ? Southern Oscillation" เรียกอย่างสั้นว่า "ENSO" หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ ภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้ เป็นต้น


ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสภาวะอากาศร้อนรุนแรงมากกว่าทุกปี เนื่องจากโดน "Monster Asian Heatwave" เล่นงาน จนทำให้อุณหภูมิในไทยบางพื้นที่พุ่งสูงทะลุ 44.6 องศาเซียลเซียส

ประกอบกับข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ที่รายงานว่า พื้นที่ทั่วโลกในปี 2566 ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 ?C สูงขึ้นมากกว่าปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ +0.34 ?C เท่านั้น

ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ปีนี้ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานมากขึ้นด้วย


เอลนีโญ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

จริงๆ แล้ว "เอลนีโญ-ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี สลับหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ โดยช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โลกเราเพิ่งจะผ่านพ้นสภาพอากาศแบบ "ลานีญา" ไปหมาดๆ มาปีนี้เรากำลังจะเข้าสู่สภาพอากาศแบบ "เอลนีโญ" ซึ่งส่งผลให้เกิด "ภัยแล้ง" ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย

สำหรับ เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "El Ni?o ? Southern Oscillation" เรียกอย่างสั้นว่า "ENSO" หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ในสภาวะปกติของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ จะมี "กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก" พัดจากทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) ไปทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) เป็นสภาพอากาศที่สมดุลทั้งกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในทะเล

แต่ถ้าปีไหนเกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" จะพบว่ามหาสมุทรแปซิฟิกมีความกดอากาศและอุณหภูมิที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ "กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก" อ่อนกำลังลง เกิดกระแสลมเปลี่ยนทิศเป็นตรงกันข้าม คือ พัดจากทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) ไปทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศ ก็ทำให้ "กระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็น" แปรปรวนและไหลผิดทิศทางไปด้วย


ผลกระทบของ "เอลนีโญ" จะเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นบ้าง?

จากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ

1. ทางฝั่งของอินโดนีเซียและออสเตรเลีย (ใกล้กับไทย) : จะเกิดภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมถึงระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้

2. ทางชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ : จะเกิดพายุฝนอย่างหนัก อาจมีน้ำท่วมและดินถล่มอย่างรุนแรง

โดยปกติเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้ อย่างไรก็ตาม "เอลนีโญ" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีคาบเวลาที่แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจกินเวลา 2 - 3 เดือน หรือสามารถเกิดได้นานกว่านั้น อาจยาวนานถึง 12-18 เดือน

แต่ที่น่ากังวลในปีนี้ก็คือ มีรายงานพยากรณ์อากาศจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีโอกาสมากถึง 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ก็มีพยากรณ์ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ คาดการณ์ปี 2566 ไทยมีแนวโน้มจะพบปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน และจะเกิดขึ้นยาวนานไปถึงปี 2567

ส่วนฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติเล็กน้อย และปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5% อีกทั้งจะมี "ฝนทิ้งช่วง" ในเดือนมิถุนายน - กลางเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้เกิดภัยแล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทาน อาจเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่


คนไทยควรตั้งรับสถานการณ์ "ภัยแล้ง" ในปีนี้อย่างไร?

จากการพยากรณ์ข้างต้น เรียกได้ว่าเอลนีโญมาเยือนคนไทยแน่ๆ แม้จะมีกำลังอ่อน แต่ก็ควรเตรียมรับมือกับ "ภัยแล้ง" ที่จะมาถึงในปีนี้ให้ดี ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ "กรมชลประทาน" โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า ทางกรมฯ ได้เตรียมแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไทย อธิบดีกรมฯ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกร ได้แนะแนวทางการรับมือเอลนีโญไว้ว่า ในส่วนของภาครัฐ ควรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง บริหารจัดการน้ำเร่งด่วน และเตรียมเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ขณะที่ในส่วนของเกษตรกร ควรลดต้นทุนการผลิต ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อีกทั้งยังได้คาดการณ์ปริมาณ "ข้าวนาปี-นาปลัง" ของไทยในปีนี้ พบว่าผลผลิตจะอยู่ที่ -33.2 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) ซึ่งน้อยลงจากปีก่อน อยู่ที่ -0.6% ถึง 0.9% โดยเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ควรเตรียมรับมือภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดยในระยะใกล้ ควรช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอในช่วงภัยแล้งปีนี้ ส่วนระยะยาว ก็หนีไม่พ้นการช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นตัวการทำให้สภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน เพราะยิ่งโลกร้อนมากขึ้น ผลกระทบจากเอลนีโญก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยืนยันจากงานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปีที่แล้ว ชี้ชัดว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่เกิดถี่ๆ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะเป็นวงจรตามธรรมชาติ และคาดว่าต่อไปในอนาคต "เอลนีโญ" จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าลานีญา ทั้งคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้


https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1072829

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 11-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ฉลามกัดคนเสียชีวิตน้อยกว่าถูก 'ผึ้ง ต่อ แตน' ต่อย

นักวิชาการสะท้อน ฉลามกัดคนเพราะเข้าใจว่าเป็นเหยื่อ พบเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่มีนิสัยจู่โจม คือ ฉลามขาว ฉลามเสือ และฉลามหัวบาตร กังวลการฉายภาพซ้ำทำคนเกลียด-ทำร้ายฉลาม เพราะเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ในปัจจุบัน



วันนี้ (10 มิ.ย. 2566) หลังมีการรายงานของ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอียิปต์ว่า เกิดเหตุชายชาวรัสเซียที่พำนักอยู่ในอียิปต์ เสียชีวิตหลังจากถูกฉลามเสือกัด ขณะเล่นน้ำทะเลนอกชายฝั่งบริเวณรีสอร์ทแห่งหนึ่งในทะเลแดง ใกล้เมืองฮูร์กาดา ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้นักวิชาการกังวลว่า อาจส่งผลให้หลายคนเกลียดฉลาม หากเป็นการฉายซ้ำภาพความดุร้ายของฉลาม และเสี่ยงส่งผลถึงการต่อต้านฉลาม

ศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์ฉลามทำร้ายคนถึงเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และเมื่อเทียบกับสาเหตุการณ์ตายจากสัตว์ประเภทอื่นๆ ก็น้อยกว่ามาก

ผศ.ธรณ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ฉลามจู่โจมคนที่อียิปต์ว่า อาจทำให้หลายคนเกลียดฉลามมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วฉลามทั่วโลกที่มีเกือบ 500 ชนิด มีเพียง 12 ชนิดที่มีรายงานจู่โจมมนุษย์ และมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่พบสถิติเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ ฉลามขาว หรือ JAWs ชนิดนี้ไม่มีในไทย ฉลามเสือ ชนิดนี้เหลือจำนวนน้อยมากแล้ว มีรายงานเจอลูกฉลามที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน ของไทยแต่ก็ไม่มีท่าทางก้าวร้าว ส่วน ฉลามหัวบาตร พบเป็นระยะๆ เกือบทั้งหมดเจอโดยนักดำน้ำอยู่ในที่ลึก นานๆทีอาจมีตัวเล็กๆ เข้ามาชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ แต่ไม่เคยมีรายงานจู่โจมคนแบบมีหลักฐานในไทย

หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2501 จนถึงปัจจุบัน (65 ปี) มีรายงานฉลามจู่โจมคนทั่วโลก 2,900 ครั้ง ถึงขั้นเสียชีวิตในทะเล 633 คน เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 10 คนต่อปี (ขณะที่ผึ้งต่อแตนต่อยคนถึงตายจำนวนมาก เฉพาะในอเมริกา ปีละ 60 คน) ส่วนเมืองไทยไม่มีรายงานฉลามกัดคนถึงตายในทะเลมานานมากแล้ว กรณีสุดท้ายคือ พ.ศ.2480-82 (อ่านพบจากหนังสือ พล นิกร กิมหงวน) ที่ว่ามีเหตุการณ์ฉลามกัดคนเล่นน้ำในไทยอยู่บ้าง 3-4 ปีครั้ง แต่เป็นการจู่โจมแบบเข้าใจผิด กัดครั้งเดียวแล้วว่ายไป ผู้บาดเจ็บมีอาการไม่มาก

"เพราะมนุษย์ไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของฉลาม ฉลามโจมตีคนเกือบทั้งหมดเข้าใจผิด เช่น คิดว่าเป็นแมวน้ำ หรือสัตว์ทะเล แต่บางครั้งเมื่อเกิดเลือดมากๆ อาจทำให้ฉลามคลั่งจึงกัดต่อ แน่นอนว่าฉลามเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ เราต้องระวังตัวเมื่ออยู่ใกล้ เช่นเดียวกับสัตว์อื่นตามธรรมชาติทั้งหลาย แต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดหรืออยากทำร้ายพวกเธอก่อนในปัจจุบัน เพราะฉลามเหลือน้อยในทะเลไทย โอกาสเจอฉลามในแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป เช่น ชายหาดเล่นน้ำ มีน้อยมากๆ"

โดยสถานะ ฉลามคือราชาแห่งทะเล เป็นผู้ล่าสูงสุดในพีระมิดอาหาร ควบคุมดูแลระบบนิเวศ ช่วยล่าปลาอ่อนแอ ทำให้เหลือแต่ปลาแข็งแรง ถือเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคโลกร้อนทะเลแปรปรวน ฉลามยังสำคัญต่อการท่องเที่ยว บางประเทศ เช่น มัลดีฟส์ ฉลามถือเป็นแรงจูงใจลำดับแรก เพราะนักท่องเที่ยวจะได้เห็นฉลามบ่อยครั้งที่ไปเยือน

ด้าน ทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลภูเก็ต กรมประมง กล่าวว่า ทะเลเป็นแหล่งอาศัยและหากินของฉลามโดยปกติ หากมนุษย์เข้าไปอยู่ในพื้นที่หากินของฉลามก็อาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นเหยื่อและถูกจู่โจมได้ โดยส่วนใหญ่ฉลามที่โตเต็มวัยมักอาศัยห่างจากชายฝั่งทะเล ไปจนถึงเขตทะเลลึก โอกาสที่จะเจอมีน้อยมาก และจำนวนประชากรฉลามในแหล่งธรรมชาติปัจจุบันก็น้อยมากเช่นกัน แต่อาจจะมีเคสอยู่บ้าง เช่น ฉลามกัดนักท่องเที่ยวที่หัวหินเมื่อปี 2561 แต่ไม่ถึงเสียชีวิตเพียงได้รับบาดเจ็บ และนั่นเป็นลูกฉลามหัวบาตรที่อาศัยและหากินตามบริเวณกองหินใกล้ชายฝั่งทะเล

"ในอดีตนั้น ฉลามเสือเคยมีชุกชุมในน่านน้ำไทย แต่ในปัจจุบันพบว่า ประชากรฉลามเสือในธรรมชาติลดลงไปมาก ทั้งจากการพบเห็นถูกจับได้จากการประมง และการดำน้ำตามแนวปะการัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฉลามเสือขนาดเล็ก สำหรับการพบเห็นฉลามเข้ามาหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล มักอยู่ในช่วงเวลาใกล้ค่ำ และใกล้รุ่งเช้า"

สำหรับสถานการณ์ของฉลามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าฉลามทุกชนิดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุสูงขึ้น ปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลกมีการรณรงค์ไม่บริโภคหูฉลาม เพื่อลดความต้องการใช้ประโยชน์จากฉลาม ในประเทศไทยก็เช่นกัน มีความร่วมมือระหว่างองค์กร WildAid, กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อผลักดันในเรื่องนี้

ขณะที่ยังไม่มีวิธีการลดสัตว์น้ำที่เป็น bycatch (สัตว์น้ำพลอยจับได้, สัตว์น้ำที่จับได้โดยบังเอิญ และมีปริมาณน้อย,ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายของเครื่องมือประมง) จากเครื่องมือประมงแต่เครื่องมือประมง จึงพบว่ามีการจับฉลามได้โดยบังเอิญอยู่เป็นประจำ แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก ซึ่งทางกรมประมงได้รณรงค์ และขอความร่วมมือจากเรือประมง ที่จับฉลามได้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ และมีสภาพแข็งแรง ให้ปล่อยกลับสู่ทะเล แต่ถ้าตายแล้วก็นำมาใช้ประโยชน์ได้

"ส่วนในเรื่องกฎหมายคุ้มครองฉลามในประเทศไทย ปัจจุบันมีเพียงฉลามวาฬเท่านั้น ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 66 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) รวมทั้งได้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน จำพวกปลา ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่วนฉลามชนิดอื่นๆ ยังสามารถซื้อขายได้ แต่กรณีที่ไปจับฉลามในพื้นที่คุ้มครองสัตว์น้ำต่างๆ ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้มีกระบวนการตรวจสอบเรือประมงอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยต้องมีการแจ้งเวลาออกจากท่า และเวลากลับเข้าท่า รวมทั้งมีระบบติดตามเรือประมงติดตั้งไว้บนเรือประมงซึ่งใช้ตรวจสอบเส้นทางในการทำประมงได้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล"


https://theactive.net/news/global-20230610/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:53


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger