#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออก ที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 8 - 13 พ.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ภารกิจกู้ชีพแม่น้ำโขง จากวิกฤตการณ์เขื่อนจีน - น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเกิดจากคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไป น้ำใสขึ้น ไหลช้าลง จนสะท้อนเงาท้องฟ้าได้ - ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ ส่งผลต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ชั่วระยะเวลาแค่ 7 ปี จากปี 2003-2010 พื้นที่ชุ่มน้ำหายไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ - ผลกระทบจากเขื่อนอีกประการคือ เมื่อเขื่อนกักน้ำไว้ในอ่าง ย่อมเกิดการตกตะกอนลงในอ่าง ตะกอนนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เพราะมันคือชีวมวลที่สะสมอาหาร เช่น พวกแพลงก์ตอนสำหรับสัตว์น้ำ ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมองดูสวยงามในสายตานักท่องเที่ยวชมวิว แต่ในมุมของนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่น่าวิตกกังวลยิ่งนัก เพราะมันหมายถึงคุณภาพของน้ำเปลี่ยนแปลงไป น้ำใสขึ้นและไหลช้าลง จนสะท้อนเงาของท้องฟ้าออกมาได้ราวกับกระจกแผ่นใหญ่ที่สะท้อนปัญหาของมันออกมาด้วยพร้อมกัน กระแสน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นับแต่ประเทศริมแม่น้ำโขงเริ่มพากันสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำสายประธานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะจีน ที่เปิดใช้งานไปแล้ว 11 เขื่อน กักน้ำเอาไว้รวมแล้วเกือบ 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดคือ นูจ๋าตู้ มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำ 27,490 ล้านลูกบาศก์เมตร) แต่ละเขื่อนมีกำลังการผลิตมากกว่า 100 เมกะวัตต์ รวมๆ แล้วตอนนี้เขื่อนจีนในแม่น้ำโขงมีกำลังการผลิต 21,310 เมกะวัตต์ ในอนาคตอีก 10 ปี นับจากนี้จะเพิ่มเป็นมากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ ส่วนประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นลาวสร้างเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อนคือ เขื่อนไซยะบุลี กับเขื่อนดอนสาหง และกำลังจะสร้างอีกหลายโครงการ หลายศตวรรษก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายประธาน กระแสน้ำในแม่น้ำโขงถูกกำหนดโดยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือน้ำฝนในฤดูฝน และการละลายของหิมะในฤดูร้อน ในฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะมากกว่าฤดูแล้งประมาณ 5-10 เท่า ทางตอนเหนือของลาวและไทยจะได้ประโยชน์จากการละลายของหิมะในฤดูร้อน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำให้ผู้คนที่อยู่ทางตอนใต้ของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาคกลางของกัมพูชา และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางตอนใต้ของเวียดนาม แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา กระแสและปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน' เพราะเขื่อนทั้งหลายกักน้ำในฤดูฝน เพื่อสำรองไว้ปล่อยออกมาผลิตกระแสไฟฟ้าในหน้าแล้ง ฤดูฝนซึ่งควรจะมีน้ำมากก็กลับน้อย และหน้าแล้งน้ำควรจะน้อยก็กลับมากจนท่วม คณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) องค์กรกำกับดูแลการใช้น้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง (คือช่วงที่นับจากสามเหลี่ยมทองคำจนถึงปากแม่น้ำในเวียดนาม) ได้ออกแผนยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำ 10 ปี (2021-2030) และแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการเองในรอบ 5 ปี (2021-2025) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา เอกสารดังกล่าวความยาว 213 หน้า ระบุว่า ความผันผวนของกระแสน้ำแบบนี้มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปอีกในอนาคต เพราะประเทศต่างๆ ก็ยังมีแผนการที่จะสร้างเขื่อนกันต่อไป นับเฉพาะลาวประเทศเดียวก็มีแผนก่อสร้างเขื่อนทั้งบนลำน้ำสายประธานและสาขาอีกนับ 100 โครงการ (ส่วนจะสร้างได้ทั้งหมดตามแผนหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) นอกจากนี้ ในรายงานแผนยุทธศาสตร์ ยังได้ระบุอีกว่า เขื่อนยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำอีก กล่าวคือ เมื่อเขื่อนกักน้ำไว้ในอ่าง ย่อมเกิดการตกตะกอนลงในอ่างนั้น ทำให้น้ำที่ปล่อยออกไปมีความใสขึ้น ในรายงานนี้ระบุว่า ตะกอนที่วัดได้ที่เชียงแสน ระหว่างปี 2004-2013 ลดลงจาก 85 ตันต่อปี เหลือเพียงแค่ 11 ตันต่อปี ตะกอนนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เพราะมันคือชีวมวลที่สะสมอาหาร เช่น พวกแพลงก์ตอนสำหรับสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งประมงที่อยู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลสาบใหญ่ในกัมพูชา และความเข้มข้นของตะกอนในน้ำยังส่งผลต่อการสะสมตัวของดินดอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำด้วย ผลของมันคือพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำทางตอนใต้ของเวียดนาม (ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนมาหลายพันปี) ลดลงและเมื่อบวกกับปริมาณน้ำที่น้อยลงเพราะเขื่อนด้านเหนือน้ำกักเอาไว้ น้ำทะเลก็จะรุกเข้าไปในพื้นที่ด้านในมากขึ้น ส่งผลเสียต่อการเกษตรในพื้นที่บริเวณนั้น แม่น้ำโขงในปี 2016 ภาพจากเมืองเกิ่นเทอ ซึ่งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง นอกจากนี้ น้ำที่ใสจะกัดเซาะตลิ่งได้มากกว่าน้ำที่ขุ่นข้นมีตะกอน จึงเกิดการพังทะลายของฝั่งน้ำอย่างมากและรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา การทำเขื่อนป้องกันการพังทะลายของตลิ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแพง ในประเทศไทยราคาก่อสร้างเมตรละ 100,000 บาท รายงานยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในปี 2042 ตะกอนจากตอนเหนือของแม่น้ำโขงที่เคยไปถึงจังหวัดกระแจในกัมพูชาจะหายไปหมด แปลว่า ทะเลสาบใหญ่และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามจะไม่มีตะกอนและดินดอนเลย ประเทศต่างๆ จะต้องหางบประมาณสำหรับการป้องกันตลิ่ง เป็นจำนวนมากซึ่งน่าจะสูงถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 200,000 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำทั้งในทางปริมาณและคุณภาพดังที่กล่าวมา ยังส่งผลต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย ชั่วระยะเวลาแค่ 7 ปีจากปี 2003-2010 พื้นที่ชุ่มน้ำหายไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่เพียง 100,000 ตารางกิโลเมตรทั่วลุ่มน้ำตอนล่าง คณะกรรมการแม่น้ำโขงคาดการณ์ว่า พื้นที่ป่าโกงกางบริเวณปากแม่น้ำโขงทางใต้ของเวียดนามน่าจะเหลืออยู่แค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยมีอยู่เดิม (ยูเนสโกรายงานเมื่อปี 2019 ว่า เวียดนามมีพื้นที่ป่าโกงกางอยู่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะรวมปากแม่น้ำอื่นด้วย) การเปลี่ยนแปลงของชีวมวลดังกล่าวนั้นก็อาจจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของปลาทั้ง 1,200 สายพันธุ์ที่อยู่ทั่วแม่น้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงแหล่งโปรตีนและความมั่นคงทางอาหารในลุ่มแม่น้ำโขงก็จะได้รับผลกระทบไปตามกัน คณะกรรมการแม่น้ำโขงซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเวียงจันทน์ของลาว ทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อปฏิบัติการในการปกป้องแม่น้ำโขงเพื่อชะลอความเสื่อมทรุด และวิกฤตการณ์ของระบบนิเวศ โดยคาดว่าจะต้องลงทุนประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อดำเนินแผนงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณดังกล่าวจะระดมจากประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำตอนล่างคือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จีนซึ่งดูเหมือนจะเป็นต้นตอของปัญหา แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขง มีข่าวดีคือ มีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ลานซางมากขึ้น อาจจะพอช่วยแบ่งปันงบประมาณหรือทรัพยากรมาให้ได้บ้าง (ถ้ารัฐบาลในปักกิ่งใจดีพอ) https://www.thairath.co.th/news/2066...IDGET#cxrecs_s
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
สันดอนทรายจากมนุษย์ : วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กระทบถึงชีวิตรอบอ่าวปัตตานี .................. โดย Songwut Jullanan "อ่าวปัตตานีมันเคยอุดมสมบูรณ์ สมัยผมเรียนประถม เวลาจะกินปูก็ลงทะเลหน้าปากอ่าวไปจับปูกับมือ เวลาจะกินปลากระบอกก็แค่ออกไปหน้าบ้านแล้วหว่านแหหรือวางอวนก็ได้ปลามากิน" อัลอามีน มะแต ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เล่าย้อนถึงอ่าวปัตตานีในวันวาน ผ่านมานับสิบปี อ่าวปัตตานีที่เขาคุ้นเคยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผลกระทบจากประมงทำลายล้าง สารเคมีจากโรงงาน การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน และล่าสุดการขุดลอกอ่าวที่ทำให้เกิดสันดอนทรายขนาดใหญ่ ไม่เพียงกระทบระบบนิเวศ แต่รวมถึงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนในชุมชนรอบอ่าวด้วย ภัยคุกคามจากมนุษย์ โรงงานตั้งอยู่ริมอ่าวปัตตานี ? Songwut Jullanan / Greenpeace อ่าวปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดปัตตานี อ่าวน้ำตื้นที่กินพื้นที่ราว 70 ตารางกิโลเมตรนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งชุกชุมของทั้งปลากระบอก ปู และกุ้ง อัลอามีนเริ่มเท้าความ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา อ่าวเผชิญกับภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมโดยตลอด ทั้งจากทำประมงทำลายล้าง เรืออวนลากอวนรุน การใช้ไอ้โง่ การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่ทันได้สืบพันธุ์ การปล่อยสารเคมีลงทะเลจากโรงงานและฟาร์มกุ้ง ไปจนถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนดั้งเดิม จนปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก และเมื่อปี 62 มีการขุดลอกอ่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขิน แต่การทิ้งวัสดุขุดลอกผิดแบบ ทำให้เกิดเป็นสันดอนทรายขนาดใหญ่กลางอ่าว สันดอนทรายที่ผุดขึ้นกลางอ่าวปัตตานีหลังการขุดลอก ?Songwut Jullanan / Greenpeace โครงการขุดลอกดังกล่าวเป็นโครงการของกรมเจ้าท่า เริ่มดำเนินการปี 60 เสร็จปี 62 ด้วยงบประมาณ 664 ล้านบาท โดยจากข้อกำหนดงานจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวปัตตานี วัสดุขุดลอกทั้งหมดต้องถูกนำไปทิ้งกลางทะเลห่างออกไป 9 กิโลเมตรจากปากร่องน้ำปัตตานี "แต่เวลาขุดจริงๆ ทิ้งไว้กลางน้ำเฉยเลย" อัลอามีนกล่าว เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านเพียงต้องการให้แก้ไขร่องน้ำชุมชนเพื่อให้ชาวประมงออกเรือได้สะดวกเท่านั้น แต่กลับมีการขุดลอกกลางอ่าว และขุดสันดอนเก่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ การฟุ้งกระจายของตะกอนที่เกิดจากการขุดลอกก็คร่าชีวิตสัตว์น้ำจำนวนมากไปด้วย นอกจากนั้นยังเป็นอุปสรรคในการสัญจรทางทะเลเวลาน้ำลง มะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมืองปัตตานี เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสันดอนทราย เขาทำประมงและผูกพันกับอ่าวตั้งแต่เด็ก ได้เห็นหลายการเปลี่ยนแปลงของอ่าวจากน้ำมือของมนุษย์ แต่สำหรับมะกะตา "การขุดรอกคือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุด" "มันเปลี่ยนโฉมหน้าอ่าว เกิดเป็นอ่าวที่มีเกาะที่มนุษย์สร้าง เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำ ปกติมันมีปากอ่าวและก้นอ่าว ตะกอนก็จะไปที่ก้นอ่าว ทีนี้พอมีสันดอนมากั้นตะกอนก็ไปไม่ถึง มาเกาะอยู่ที่กลางอ่าว ทำให้สัตว์น้ำลดน้อยถอยลง" ?การขุดลอกนี่มันไม่ทำตามกระแสน้ำวิ่งขึ้นลง มันไปขวางทางน้ำ ตอนนี้สัตว์น้ำมันหายไป 80% แล้ว เมื่อก่อน 20-30 ปีที่แล้วสัตว์น้ำเยอะมาก ออกเรือทีนึงได้กุ้งทีละสิบกิโล ตอนนี้โลสองโลก็หายาก? ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อระบบนิเวศของอ่าวเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามันกระทบชาวบ้านรอบอ่าวที่ทำประมงเป็นอาชีพหลัก คนแปรรูปอาหารทะเล เศรษฐกิจขนาดเล็กในพื้นที่ ต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน เรือประมงพื้นบ้านขณะกำลังหาปลาในอ่าวปัตตานี ?Songwut Jullanan / Greenpeace "มันกระทบเป็นห่วงโซ่หมด ถ้าเรามองหลักๆ ชาวประมงที่อยู่รอบอ่าว แหล่งทำมาหากินของเขามันผูกติดกับอ่าวเป็นหลัก แต่อ่าวถูกทำลาย ชาวบ้านจับปลาไม่ได้เลย บางคนออกไปวันนี้ได้กุ้งมา 4-5 ตัว กลับมาบ้านต้นทุนหมดไปแล้วสองร้อยบาทที่ออกเรือไป พรุ่งนี้ออกต่อได้อีก 7-8 ตัว รวมๆกันได้หนึ่งกิโล ขายได้ร้อยหกสิบบาท แต่ต้นทุน 4-5 ร้อยบาท" อัลอามีนแจง รายได้จากการทำประมงไม่สามารถจุนเจือครอบครัวได้ สมาชิกในครอบครัวบางคนจึงต้องหันไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียแทน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เพราะการระบาดของโควิด-19 ครั้นจะทำประมงที่คุ้นเคยก็ขาดทุน เมื่อรายได้หาย เศรษฐกิจชุมชนก็แย่ตามไปด้วย ของที่เคยขายได้ในตลาดชุมชนก็ขายไม่ได้เพราะไม่มีกำลังซื้อ "ชาวบ้านบอกว่าโชคดีอย่างเดียวคือมีบัตรประชารัฐที่เขาสามารถไปซื้อข้าวสารได้ แค่นั้นแหละที่เขามี ที่เขาสามารถประทังชีวิตได้" ภาพอ่าวปัตตานีจาก Google Earth ภาพแรกถ่ายปี 2564 จุดสีแดงทั้งหมดเป็นสันดอนทรายที่เกิดจากการขุดลอก จากภาพจะเห็นได้ว่ามีบางจุดที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและสามารถเห็นได้ชัดเจนแม้กระทั่งจากภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบกับภาพที่สองซึ่งถ่ายเมื่อปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของชาวบ้านหลายครั้ง โดยชาวบ้านรอบอ่าวที่ได้รับความเดือดร้อนเรียกร้องให้สะสางปัญหาสันดอนดังกล่าว ข้อเสนอของคนในชุมชนเบื้องต้นคือให้แก้ไขปัญหาสันดอนทรายที่ทิ้งไว้กลางอ่าวปัตตานีอย่างเร่งด่วน ปราบปรามการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย พร้อมตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวปัตตานีเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ "ความต้องการของชาวบ้านคือ ต้องการให้เอาสันดอนที่เอาไปทิ้งกลางอ่าว เอาออกไปให้หมด ให้มันคืนสภาพเดิม อ่าวไม่ต้องลึกมากก็ได้ แค่ให้มันเหมือนเดิม เหมือนเดิมเป็นแบบไหนให้ทำเป็นแบบนั้น" แต่กระทั่งในวันนี้ สันดอนทรายยังคงตั้งตระหง่านอยู่กลางอ่าวแม้ผ่านมากว่า 2 ปี หลังการขุดลอก และยังคงไม่มีวี่แววแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม อัลอามีนชี้ว่า หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศ ทำให้สภาพอ่าวมีความตื้นเขินกว้างขึ้น ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลจะย้ายที่อยู่อาศัย ชาวบ้านก็จะจับสัตว์น้ำได้น้อยลงอีก เมื่อจับปลาได้น้อยลง รายได้ของแต่ละบ้านก็ลดลง บางครอบครัวไม่มีเงินส่งลูกไปเรียน ก็จะมีผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก เด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะมั่วสุมและเป็นปัญหาของสังคมตามมา "ทุกวันนี้บางคนยอมไม่ให้ลูกไปเรียน ไม่ก็สลับกันไป วันนี้คนนี้ไป คนนี้หยุด การขุดลอกอ่าวมันเลยไม่ได้กระทบแค่สิ่งแวดล้อม แต่กระทบเศรษฐกิจของชุมชน ชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชน คุณภาพชีวิตของคนมันลดลง" อัลอามีนกล่าวปิดท้าย https://www.greenpeace.org/thailand/...f-pattani-bay/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|