#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 22 กรกฏาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 22 ? 23 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลางโดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24 ? 27 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 22 ? 24 ก.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 22-24 กรกฎาคม 2565)" ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย รพิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัด ระนอง พังงา และภูเก็ต วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก และกำแพงเพชร ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดระนอง และพังงา สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่าง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
อิสราเอลเจอฝูงแมงกะพรุนบุก ลอยยุบยับเต็มชายฝั่ง พบฝูงแมงกะพรุนจำนวนมากลอยอยู่ในน้ำทะเล บริเวณนอกชายฝั่งของเมืองไฮฟา ของประเทศอิสราเอล สาเหตุจากภาวะโลกร้อน และมลพิษจากฝีมือมนุษย์ สำนักงานอุทยานสัตว์ป่าและธรรมชาติของอิสราเอลนำคลิปวิดีโอ ที่บันทึกภาพทะเลบริเวณนอกชายฝั่งของเมืองไฮฟาทางตอนเหนือของอิสราเอลมาเผยแพร่ โดยจะเห็นฝูงแมงกะพรุนนับพันๆ ตัวลอยอยู่เต็มทะเล ซึ่งถ้ามองจากมุมสูงจะเห็นเป็นจุดขาวๆลอยเต็มไปหมด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่ช่วงเดือนกรกฎาคม อิสราเอลจะเจอกับฝูงแมงกะพรุนอพยพหนีกระแสน้ำอุ่นมาบริเวณนี้เป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้พบว่าแมงกะพรุนมีจำนวนมากผิดปกติ หัวหน้าสำนักงานอุทยานสัตว์ป่าและธรรมชาติ กล่าวว่า สัปดาห์นี้ฝูงแมงกะพรุนอพยพเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ หลังจากที่ในช่วงหน้าร้อนมีแมงกะพรุนจำนวนมากลอยมาเกยชายฝั่งอิสราเอลไปแล้ว โดยสาเหตุหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ระบบนิเวศในทะเลเปลี่ยนแปลง รวมทั้งพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีรายงานข่าวในหลายประเทศอย่างที่กรุงเบรุสของเลบานอน ที่พบแมงกะพรุนจำนวนมากบุกชายฝั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนเช่นเดียวกัน คาดว่า แมงกะพรุนเหล่านี้จะมาจากมหาสมุทรอินเดีย และอพยพมายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านทางคลองสุเอซ ซึ่งหากแมงกะพรุนมีจำนวนมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าของอิสราเอล เพราะโรงไฟฟ้าจะมีการดูดน้ำทะเลเข้าไปในกระบวนการหล่อเย็น ทำให้แมงกะพรุนเหล่านี้เข้าไปขวาง หรือติดอยู่ในเครื่องจักรจนได้รับความเสียหายได้. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2450686
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
จากอ่าวไทยถึงรัฐสภา : บันทึกเดินเรือทวงคืนน้ำพริกปลาทู .............. โดย Songwut Jullanan ปลาทูเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน เพราะราคาถูก รสชาติอร่อย และเต็มไปด้วยสารอาหาร มันจึงช่วยเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมานานหลายชั่วอายุคน แต่ปลาทูไทยวันนี้ไม่ได้มีราคาถูกและหาง่ายเหมือนดังแต่ก่อน ที่วางขายในตลาดหรือห้างร้านนับวันยิ่งตัวเล็กลง และส่วนมากนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเทียบปี 2557 และ 2562 ผลผลิตปลาทูไทยลดลงเกือบ 6 เท่า[1] และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราปล่อยให้มีการทำประมงเกินขนาดและจับสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยไร้การควบคุม หลายปีที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านจึงรวมตัวกันรณรงค์ให้หยุดซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน พวกเขาร่วมกันทำบ้านปลา ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน สร้างข้อตกลงในชุมชนไม่จับสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าว สื่อสารวิกฤตครั้งนี้กับสังคม หรือแม้กระทั่งเดินทางมายื่นหนังสือต่อห้างร้านในกรุงเทพฯ เพื่อขอความร่วมมือให้หยุดรับซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน "ปัจจุบันมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็ก ที่จับปลาตัวใหญ่ได้ผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์ในเรื่องของการห้ามซื้อห้ามขายสัตว์น้ำวัยอ่อนทั่วกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต" ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้เราฟังขณะรอยื่นหนังสือต่อห้างสรรพสินค้าให้หยุดรับซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน ความพยายามเหล่านี้ช่วยสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้บริโภคและชาวประมงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ปิยะมองว่า มาตรการควบคุมจากภาครัฐเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ตลอดเวลาที่ชาวประมงร่วมกันรณรงค์ ภาครัฐกลับไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันและควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน แม้จะมี "กุญแจ" สำคัญอยู่ในมือ กุญแจสำคัญที่ว่า คือพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตราที่ 57 ซึ่งระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ําหรือนําสัตว์น้ําที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง" แต่มันกลับไม่เคยถูกนำมาใช้เปิดทางออกจากวิกฤต กฎหมายข้างต้นไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้ ชาวประมงพื้นบ้านจาก 23 จังหวัดจึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ "ทวงคืนน้ำพริกปลาทู" ซึ่งแสดงถึงความพยายามปกป้อง "ปลาทู" ตัวแทนความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่กำลังจะสูญหายไป พวกเขาออกเดินทางจากหาดปัตตานีวันที่ 27 พฤษภาคม มุ่งหน้าสู่สัปปายะสถานรัฐสภา กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลให้เริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และประกาศมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤต โดยระหว่างทางนักกิจกรรมได้หยุดตามชุมชนชายฝั่ง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อน และทำกิจกรรมกับท้องถิ่นเพื่อสื่อสารปัญหาออกสู่สาธารณะ ระยะทางกว่าพันกิโลเมตรที่นักกิจกรรมขึ้นรถลงเรือ ผ่านแดดฝ่าฝน กระทั่งในวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันมหาสมุทรโลก ขบวน "ทวงคืนน้ำพริกปลาทู" ได้ล่องมาถึงท่าเรือหลังรัฐสภา และเดินเท้าต่อเพื่อเข้ายื่นหนังสือภายในรัฐสภา วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเป็นหนึ่งในแกนนำกิจกรรมครั้งนี้ อธิบายว่า จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาทูกลายเป็นอาหาร "หรู" ที่คนบางกลุ่มเท่านั้นมีโอกาสได้ทาน "อาหารทะเลซึ่งควรเป็นอาหารที่คนไทยทุกคนควรเข้าถึงได้ง่าย แต่กลับแพงขึ้น เข้าถึงได้ยากขึ้น กลุ่มคนที่ถึงอาหารทะเลคุณภาพดีมีน้อยลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมาเป็นเวลานาน เราตั้งใจเดินทางมาครั้งนี้ ระยะทางกว่าพันกิโลเมตร กินเวลาเป็นสิบ ๆ วัน เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมาย" ภาพของเรือประมงลำเล็กที่ล่องอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีฉากหลังเป็นรัฐสภา แสดงถึงความกล้าหาญของชาวประมงซึ่งลุกขึ้นพูดความจริงต่ออำนาจเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และบ้านเกิดของตน แม้กิจกรรมจะสิ้นสุดลง แต่การเดินทางครั้งนี้ได้ช่วยยกระดับความเข้าใจต่อวิกฤตอาหารทะเลไทยในปัจจุบัน และสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมประมงทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้วหลังจากรัฐบาลรับหนังสือเรียกร้องและตกปากรับคำว่าจะมีมาตรการในการปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่จวบจนวันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) ยังไม่มีมาตรการใดๆออกมา ขณะที่ชาวประมงขีดเส้นตาย 60 วัน ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง https://www.greenpeace.org/thailand/...hai-mackerels/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|