#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย อนึ่ง พายุดีเปรสชันที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 10-11 สิงหาคม 2565 นี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 8 ? 9 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกระจายเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 10 ? 14 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลงทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 8 ? 9 ส.ค. 65 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10 ? 14 ส.ค. 65 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8 ? 9 ส.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะทวีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 10 - 11 ส.ค. 65 ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 8 ? 12 ส.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 09 สิงหาคม 2565 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ 9 สิงหาคม 2565 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 30 นอต หรือ 55 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 10-11 สิงหาคม 2565
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
เจ้าหน้าที่พบฝูงวาฬบลูด้า 4-5 ตัวกระโดดน้ำโชว์พื้นที่เกาะไข่-เกาะหลีเป๊ะ สตูล - หน่วยปราบปรามทางทะเลสตูล ออกตรวจเรือประมง พบฝูงวาฬบลูด้า 4-5 ตัวกระโดดน้ำโชว์ บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ท้องทะเล วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายโชคชัย เมืองสง หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเล จ.สตูล พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้นำเรือตรวจประมงออกปฏิบัติงาน ตรวจสอบการทำประมงพื้นที่บริเวณทิศใต้ห่างเกาะไข่ห่างประมาณ 4 ไมล์ทะเล ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จ.สตูล ขณะแล่นเรือตรวจการณ์กลางทะเลนั้นได้พบฝูงวาฬบลูด้า จำนวน 4-5 ตัว ออกเล่นน้ำ ไล่กินอาหารพวกกุ้งและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ในบริเวณพื้นที่เกาะไข่ เกาะกลาง และเกาะหลีเป๊ะ และเมื่อเห็นเรือ โผล่เหนือน้ำขึ้นมา แม้ว่าจะอยู่ไกลๆ เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก สำหรับวาฬบลูด้า เป็นสัตว์สงวนตามบัญชีรายชื่อ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2562 ขนาดโตเต็มวัย 14-15 เมตร น้ำหนัก 12-20 ตัน ตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย เมื่อแรกเกิดลูกจะยาวถึง 4 เมตร เป็นวาฬที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 https://mgronline.com/south/detail/9650000075619
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
Science Insights : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ 'คลื่นความร้อน' ........................ โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ปีนี้ ค.ศ. 2022 เกิดคลื่นความร้อนในพื้นที่ต่างๆ ของโลกตลอดทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี คือ มกราคม เรื่อยมาจนถึงเดือนเขียนต้นฉบับอยู่นี้ คือ กรกฎาคม ที่น่าสังเกตคือ มีการทำลายสถิติเดิมกันเป็นว่าเล่น ผมขอประมวลสถานที่และข้อมูลสำคัญๆ บางส่วนไว้เพื่อใช้อ้างอิงดังนี้ครับ เริ่มจากเดือนมกราคม ซึ่งซีกโลกใต้อยู่ในช่วงฤดูร้อนกันก่อน 10-16 มกราคม: เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่ประเทศอาร์เจนตินา อย่างเมืองหลวงคือ บัวโนสไอเรส มีอุณหภูมิสูงถึง 41.1 องศาเซลเซียส และมีบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ส่วนประเทศอื่นใกล้ๆ กัน ได้แก่ อุรุกวัย ปารากวัย และบางส่วนส่วนของบราซิล 18-23 มกราคม: เมืองเพิร์ธในออสเตรเลีย เจออุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสติดต่อกันนาน 6 วัน และที่น่ารู้ก็คือตลอดช่วงฤดูร้อนข่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 เมืองเพิร์ธมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสรวมทั้งสิ้น 11 วัน ทำลายสถิติเดิม 7 วัน 8-13 กุมภาพันธ์: ซึ่งยังถือว่าเป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ปรากฏว่าเมืองซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีอูณหภูมิสูงถึง 26 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเช่นกัน ส่วนที่ปาล์มซิตี้ มีอุณหภูมิสูงถึง 34 องศาเซลเซียส เดือนมีนาคมก็ไม่เบา เพราะช่วงต้นเดือนเกิดคลื่นความร้อนทางแถบตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาเดือนเมษายนคลื่นความร้อนก็โจมตีอินเดียและปากีสถานทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง (อินเดีย 25 ราย ปากีสถาน 65) พอถึงเดือนพฤษภาคม ก็เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในสหรัฐอเมริกาตลอดทั้งเดือน มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน โดยเฉพาะวันที่ 21 พฤษภาคม อุณหภูมิของเมืองต่างๆ เป็นดังนี้ บัลติมอร์กับฟิลาเดลเฟีย มีอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาเซลเซียส ส่วนวอชิงตัน ดีซี และนิวยอร์คซิตี้มีอุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส เดือนมิถุนายนต้องถือว่าเป็นคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยในสัปดาห์ที่สองอุณหภูมิของเมืองฟีนิกส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐแอริโซนามีอุณหภูมิสูงสุดถึง 45.6 องศาเซลเซียส และที่หุบเขามรณะ (Death Valley) ซึ่งเป็นทะเลทรายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณเขตแดนระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเนวาดา มีอุณหภูมิสูงถึง 51 องศาเซลเซียส ในเดือนมิถุนายนนี้เอง ยังเกิดคลื่นความร้อนที่สเปน โดยเริ่มต้นชึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน และพอถึงปลายเดือนก็เกิดคลื่นความร้อนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปีที่ญี่ปุ่นอีกด้วย! พอถึงวันที่ 8 กรกฎาคม คลื่นความร้อนก็บุกไปถึงสหราชอาณาจักร และวันที่ 15 กรกฎาคม ทางการของสหราชอาณาจักรก็ประกาศการเตือนภัยความร้อนสุดขีดระดับ ?สีแดง? นับเป็นครั้งแรกของประเทศ และในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 นับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษพบกับความร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียส = = = = = = = = = = = นิยามของคลื่นความร้อน = = = = = = = = = == เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับคลื่นความร้อน (heat wave หรือบางครั้งสะกดติดกันเป็น heatwave) มีนิยามที่หลากหลาย ลองมาดูนิยามกลางๆ ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Society) กันก่อน WMO ระบุว่า คลื่นความร้อนคือ การที่อุณหภูมิสูงสุดในช่วงเวลากลางวันมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย (ในบริเวณหนึ่งๆ) อย่างน้อย 5 องศาเซลเซียสนานติดต่อกัน 5 วัน หรือนานกว่า ประเทศต่างๆ มักแตกต่างออกไปบ้าง แต่พูดกว้างๆ ได้ว่า "อากาศร้อน" ต่อเนื่องกินเวลานานหลายวัน เช่น ประเทศเดนมาร์ก ระบุว่าเกิดคลื่นความร้อนหาก 3 วันต่อเนื่องโดยที่พื้นที่ของประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส ออสเตรเลียทางใต้ เช่น เมืองแอดีเลด ระบุว่าเกิดคลื่นความร้อนหาก 5 วันติดต่อกันมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 35 องศาเซลเซียส หรือ 3 วันติดกันซึ่งมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 40 องศาเซลเซียส เป็นต้น สหรัฐอเมริกามีนิยามหลากหลายขึ้นกับแต่ละพื้นที่ แต่โดยปกติมักจะนิยามว่าเกิดคลื่นความร้อนหากอุณหภูมิร้อนจัดอย่างน้อย 2 วันติดกันขึ้นไป แต่หากเป็นแถบตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยามว่าเกิดคลื่นความร้อนหากอุณหภูมิสูงเกิน 90 องศาฟาเรนไฮต์ (32.2 องศาเซลเซียส) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันติดกัน ทั้งนี้สำหรับแคลิฟอร์เนียจะมีคำเฉพาะ คือ พายุความร้อน (heat storm) ซึ่งใช้เมื่อคลื่นความร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ (37.8 องศาเซลเซียส) เป็นเวลานานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 วัน และกินพื้นที่กว้างขวางหลายหมื่นตารางไมล์ ในกรณีของสหราชอาณาจักร Met Office ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านอุตุนิยมวิทยา นิยามเงื่อนไขของคลื่นความร้อนโดยดูว่าอุณหภูมิสูงสุดในช่วงกลางวัน และอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงกลางคืน มีค่าสูงกว่าค่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ในพื้นที่หนึ่งๆ และระยะเวลาที่อุณหภูมิดังกล่าวมีค่าสูงกว่าเกณฑ์อาจแบ่งเป็น 4 ระดับ อย่างนี้นะครับ ระดับที่ 1: เงื่อนไขปกติสำหรับฤดูร้อน ระดับที่ 2: มีความเสี่ยง 60% หรือมากกว่าที่อุณหภูมิจะเกินกว่าค่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลานาน 2 วัน และ 1 คืนระหว่างสองวันนั้น ระดับที่ 3: อุณหภูมิมีค่าสูงว่าเกณฑ์ที่กำหนดในวันและคืนก่อนหน้า และมีโอกาส 90% หรือสูงกว่าที่อุณหภูมิจะยังสูงเหนือเกณฑ์ในวันถัดไป ระดับที่ 4: หากเงื่อนไขรุนแรงกว่า 3 ระดับแรกที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้จะมีการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการให้บริการทางด้านสาธารณสุขและด้านสังคมสำหรับแต่ละระดับ = = = = = = = = = = = สาเหตุของคลื่นความร้อน = = = = = = = = = = = หากพูดแบบกว้างๆ คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ และปัจจุบันมีสาเหตุลึกๆ มาจากภาวะโลกร้อน (global warming) แต่การพูดเช่นนี้ทำให้ไม่เห็นกลไกที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ในกรณีทั่วไป คลื่นความร้อนในพื้นที่หนึ่งๆ มีสาเหตุได้อย่างน้อย 2 อย่าง อย่างนี้นะครับ สาเหตุที่ 1: ความกดอากาศสูงในระดับที่สูงเหนือพื้นผิวขึ้นไปกดทับอากาศที่อยู่ต่ำกว่าให้ร้อนขึ้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การอัดแบบแอเดียแบติก (adiabatic compression) กล่าวคือไม่มีความร้อนไหลเข้าหรือออกจากบริเวณที่กำลังพิจารณา ผลก็คือเกิดสภาพอุณหภูมิผกผันที่ระดับสูง (a high level inversion) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ ฝาภาชนะปิดกั้นไม่ให้อากาศอุ่นและชื้นที่พื้นผิวระบายออกไปโดยกลไกการพาความร้อน ในกลไกนี้ อาจมีกระแสลมกรด (jet stream) มีส่วนร่วมด้วยโดยช่วยกันไม่ให้ความร้อนถูกระบายออกไปด้านข้าง อาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าคล้ายๆ พื้นที่ดังกล่าวถูก "ผ้าห่มขนาดยักษ์" คลุมอยู่ (คุณผู้อ่านอาจลองนอนคลุมโปงนานๆ ในห้องที่ไม่ได้เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ แต่กรณีนอนคลุมโปงนี้ความร้อนมาจากร่างกายของคุณเอง) หากสนใจประเด็นนี้ ขอแนะนำบทความอธิบายเรื่องคลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่นเมื่อปี คศ 2018 อ่านเพิ่มเติม และเรื่อง Omega Block คือต้นเหตุ 'คลื่นความร้อน' ที่ยุโรป อ่านเพิ่มเติม สาเหตุที่ 2: อากาศร้อนจากพื้นที่หนึ่งไหลไปยังพื้นที่ที่เรากำลังพิจารณา ในกรณีนี้เช่น ลมพัดอากาศร้อนจากทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาตอนเหนือเข้าสู่ยุโรป เป็นต้น = = = = = = = = = = = = = = = = = ผลกระทบของคลื่นความร้อน = = = = = = = = = = = = = = = = = ผลกระทบของคลื่นความร้อนเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพของคนเราอย่างแน่นอน สำหรับคนอาจเป็นตะคริวชักเหตุร้อน (heat cramp) การหมดแรงเหตุร้อน (heat exhaustion) และโรคลมเหตุร้อน (heat stroke) ส่วนสัตว์ก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน คลื่นความร้อนยังอาจทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย อย่างในปี ค.ศ. 2022 นี้ สเปนถูกไฟป่าเผาทำลายไปอย่างน้อย 9,900 เอเคอร์ (ราว 25,000 ไร่) และโปรตุเกสถูกไฟป่าทำลายอย่างน้อย 7,400 เอเคอร์ (ราว 18,000 ไร่) [หมายเหตุ: 1 เอเคอร์ มีค่าประมาณ 2.53 ไร่] ไฟป่าที่เกิดขึ้นนอกจากทำลายพืชและยังทำร้ายสัตว์ป่า รวมทั้งยังก่อให้เกิดฝุ่นควันที่ทำให้อากาศเป็นพิษอีกด้วย จากการศึกษาพบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้น แต่ละครั้งอาจยาวนานขึ้น และอาจรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คนเราต้องตระหนักและร่วมมือกันลดเงื่อนไขที่จะทำให้โลกร้อนเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ https://www.matichon.co.th/mic/news_3483862
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|