#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 20 มกราคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภู มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 19 - 20 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 19 - 20 ม.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกขอให้ประชาชนบริเวณที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งระมัดระวังอัตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือบริเวณอ่าวไทยขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง ส่วนในช่วงวันที่ 21 ? 25 ม.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
คาดการณ์ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีนี้ แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในปี พ.ศ.2563 เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-ไนน์ทีน (COVID-19) ที่หลายประเทศใช้มาตรการปิดเมือง คนเก็บตัวอยู่บ้านธรรมชาติจึงได้ฟื้นตัว แต่ก็ยังคงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเพิ่มในชั้นบรรยากาศโลกอย่างต่อเนื่อง และโลกก็ถูกรุมเร้าจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุโซนร้อน ที่เพิ่มขึ้นจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น องค์การสหประชาชาติระบุว่าการปล่อยก๊าซดังกล่าวจากพลังงานการผลิตอาหาร การขนส่ง และอุตสาหกรรม จะต้องลดลงมากกว่า 7% ในทุกปีตลอด 10 ปีข้างหน้าเพื่อรักษาเป้าหมายด้านอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีสปี พ.ศ.2558 ซึ่งกำชับประเทศต่างๆ ร่วมมือจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยเหนือกว่าระดับของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ล่าสุด Met Office หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาในสหราชอาณาจักร คาดการณ์ว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในปีนี้จะสูงกว่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50% โดยเป็นการปล่อยก๊าซที่มนุษย์สร้างขึ้น คาดว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยต่อปี ในปี พ.ศ.2564 จะอยู่ที่ประมาณ 2.29 ส่วนปริมาณก๊าซพิษในปริมาณของอากาศล้านส่วน (ppm) ซึ่งสูงกว่าในปีที่แล้ว โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิน 417 ppm ในบางจุดระหว่างเดือน เม.ย.ถึง มิ.ย. ดังนั้น การชะลอการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและการหยุดยั้งจะต้องทำให้การปล่อยก๊าซทั่วโลกลดลงมีสุทธิเป็นศูนย์. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2015068
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ผ่าแล้ว! พะยูนตายที่เกาะเหลากา ไม่พบสิ่งแปลกปลอม ระบุโรคไม่ได้ คาดป่วยตายตามธรรมชาติ กระบี่ - ผลผ่าพะยูนตายที่เกาะเหลากา หมู่เกาะห้อง เพศเมีย เขี้ยวอยู่ครบ อวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่า ไม่พบสิ่งแปลกปลอม ระบุโรคไม่ได้ คาดป่วยตายตามธรรมชาติ วันนี้ (19 ม.ค.) ตามที่ นายทีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวว่า พบพะยูนลอยตายทางด้านทิศเหนือและทางทิศตะวันออกของเกาะเหลากา บริเวณหมู่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี บ้านท่าเลน หมู่ที่ 3 ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ จึงสั่งให้หน่วยพิทักษ์อุทยานประจำเกาะห้อง นำกำลังพร้อมเรือตรวจการณ์ออกตรวจค้นหาซากพะยูนที่ลอยตายจนพบ สภาพขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็น ลำไส้ทะลักออกมาที่หน้าท้อง คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน ไม่ทราบเพศ และวัดความยาวจากหัวจดหาง 3.10 เมตร น้ำหนักประมาณ 500-600 กิโลกรัม รอบลำตัวกว้าง 110 เซนติเมตร แล้วนำซากพะยูนมาขึ้นที่ชายหาด บ้านเกาะกวาง หมู่ที่ 3 ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เพื่อมอบเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง นำไปผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย โดยการตายของพะยูนวันที่ 16-17 มกราคม 2564 ในเดือนแรกของปี 2564 กลางทะเลจังหวัดกระบี่ รวม 3 ตัว ตัวแรกบริเวณเกาะปาไล บ้านท่าเลน ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ ตัวที่ 2 บริเวณระหว่างเกาะนุ้ย และเกาะปอ บ้านเกาะปอ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา และตัวที่ 3 บริเวณเกาะเหลากา หมู่เกาะห้อง บ้านท่าเลน ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งการตายของพะยูนสร้างความสงสัยแก่ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งในพื้นที่ อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา และ อ.อ่าวลึก และนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นอย่างมากว่าได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุ เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและร่วมกันอนุรักษ์พะยูนต่อไปนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง ได้ผ่าชันสูตรพะยูนตัวดังกล่าวแล้ว ผลตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เป็นพะยูนเพศเมีย ความยาวลำตัว 3 เมตร อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ สภาพซากเน่ามีรอยเขี้ยวจากพะยูนซึ่งเกิดจากพฤติกรรมภายในฝูง ไม่มีรอยแผลอื่นภายนอกลำตัว เขี้ยวทั้ง 2 ข้างยังอยู่ครบ ส่วนของทางเดินอาหารทะลักออกมาภายนอกลำตัว เมื่อเปิดผ่าชันสูตรซากพบว่า อวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่าสลายไม่สามารถระบุโรคได้ชัดเจน ส่วนของทางเดินอาหารบวมอืด ภายในกระเพาะอาหารพบหญ้าใบมะกรูดอัดแน่นเต็มกระเพาะอาหาร ไม่พบสิ่งแปลกปลอมภายในทางเดินอาหาร ซึ่งสาเหตุการตายไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากสภาพซากเน่ามากไม่สามารถระบุรอยโรคใดๆ ได้ คาดว่าตายจากการป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่พบรอยบาดแผลภายนอกลำตัว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูกเพื่อศึกษาทางห้องปฏิบัติการต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9640000005577 ********************************************************************************************************************************************************* ปปง.รับ 7 คดีบุกรุกอ่าวบ้านดอนสร้างคอกหอยแครงเป็นคดีพิเศษ พร้อมเดินหน้าตรวจยึดทรัพย์นายทุน สุราษฎร์ธานี - ปปง.รับ 7 คดีบุกรุกอ่าวบ้านดอน สร้างคอกหอยแครงเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายฟอกเงิน พร้อมเดินหน้าตรวจทรัพย์สินและเส้นทางการเงินของผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงเถื่อน คาด ก.พ.นี้ คืบหน้าทั้ง 7 คดี วันนี้ (19 ม.ค.) ความคืบหน้ากรณีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ได้ยกทีมกว่า 100 นาย ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ณ วัดชลธาร ต.บางไทร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินการทวงคืนพื้นที่ทางทะเลนำกลับมาให้ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน จากผู้ประกอบการบุกรุกครอบปักไม้ไผ่กั้นเป็นคอกเลี้ยงหอยแครง พร้อมก่อสร้างขนำหรูกลางทะเล มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ล่าสุด วันนี้ (19 ม.ค.) นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 3 กองคดี 3 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พล.ร.ต.สุรศักดิ์ ประทานวรปัญญา ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ศรชล.(สสก.ศรชล.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงเรือไปตรวจสอบตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและคอกหอยที่เป็นเป้าหมายสำคัญในเขต อ.เมือง และ อ.พุนพิน เพื่อเตรียมยึดทรัพย์และเรียกภาษีย้อนหลัง หลังจาก ปปง.ได้รับเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายฟอกเงินต่อผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง จำนวน 7 ราย ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาแสดงตนเป็นเจ้าของคอกหอยและขนำหรู พร้อมคัดค้านการรื้อถอนขนำออกจากทะเลตามคำสั่งทางปกครอง พร้อมขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมีเป้าหมายเข้าตรวจสอบทรัพย์สิน จำนวน 8 เป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และอำเภอพุนพิน เป้าหมายเป็นขนำสีแดงหรูที่ก่อสร้างด้วยมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางผู้ประกอบการได้ดำเนินการรื้อถอนตัวอาคารออกไปแล้วกว่าร้อยละ 80 พร้อมปรับสภาพตัวขนำให้เล็กลงใช้เป็นที่เฝ้าหอยแครง นายปิยะ ศรีวิก ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 3 กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. กล่าวว่า กฎหมายฟอกเงินเป็นกฎหมายพิเศษสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สร้างขึ้นมาไม่ให้มีการใช้เงินจากการกระทำความผิด จากความผิดมูลฐานจะกำหนดไว้ตามกฎหมายฟอกเงินมี 29 มูลฐาน ในกรณีนี้เป็นการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเลี้ยงหอยแครงเข้าลักษณะแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า หมายความว่า กรณีนี้เป็นความผิดมูลฐานที่ 15 ซึ่ง ศรชล.และพนักงานสอบสวนตรวจพบความผิดมูลฐาน ได้รายงานไปที่สำนักงาน ปปง. นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ ปปง. เพื่อขอมติว่า การกระทำเหล่านี้จะต้องถูกตรวจหรือไม่ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ประชุมและมีความเห็นว่า พฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง. จึงได้เดินทางมาตรวจสอบเพื่อจะให้ดูว่าการกระทำความผิดเหล่านี้ทำให้เกิดทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาหรือไม่ ทรัพย์สินจากการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเลี้ยงหอย และเงินที่ได้มาจากการขายหอยก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด จะต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบ หากพบมีพยานหลักฐานว่า เงินที่ได้มาจากการขายหอยแครงแล้วจะต้องถูกตรวจยึดอายัด ดังนั้น จึงขอฝากเตือนถึงผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของคอกหอย ว่า พฤติการณ์ที่มีการพบกระทำความผิดที่เข้าไปอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต มันเป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายฟอกเงินจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์สินและอาจโดนคดีอาญาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วทั้ง 7 ราย จะดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ "การลงพื้นที่อ่าวบ้านดอนวันนี้ รู้สึกตกใจและน่าใจหายเพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาของประเทศ พื้นที่ 200,000 กว่าไร่ ชาวบ้านที่เขาไม่มีทุนรอน ชาวบ้านที่เขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เขาไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ ตามวิถีชุมชนได้เลย มันกลับกลายเป็นของนายทุน ซึ่งนายทุนเหล่านี้ถ้ามองในรูปการแล้วเชื่อได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานของ ปปง.จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย" นายปิยะ กล่าวในที่สุด https://mgronline.com/south/detail/9640000005507
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
พม่าประกาศยกเลิกสัญญาสัมปทานบริษัทไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เอเอฟพี - พม่าประกาศวันนี้ (18) ว่าได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของไทยในการทำงานในโครงการท่าเรือน้ำลึกของประเทศ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei) ได้รับการขนานนามว่าเป็นช่องทางในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในพม่า หลังประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของทหาร เช่นเดียวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองทวาย ก็มีเป้าหมายที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมราว 200 ตารางกิโลเมตร แต่โครงการขนาดใหญ่นี้กำลังเผชิญกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาด้านทุนและการคัดค้านต่อต้านของคนในท้องถิ่น คณะกรรมการที่ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า คณะกรรมการสูญเสียความเชื่อมั่นในบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หลังมีปัญหาซ้ำๆ ในการประกาศยกเลิกสัญญา คณะกรรมการบริหารงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้อ้างถึง "ความล่าช้าซ้ำๆ การละเมิดภาระผูกพันทางการเงินภายใต้สัญญาอย่างต่อเนื่อง และความล้มเหลวของผู้ได้รับสัมปทานที่จะยืนยันความสามารถทางการเงินในการดำเนินการพัฒนาโครงการ" ตุน นาย ประธานคณะกรรมการบริหารงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า พม่าจะมองหาผู้พัฒนารายใหม่เพื่อลงทุนในโครงการนี้. https://mgronline.com/indochina/detail/9640000005217 ********************************************************************************************************************************************************* ไฟป่าที่รุนแรงขึ้น น้ำมือมนุษย์!! งานวิจัยเผยสายพันธุ์พืชและสัตว์กว่า 4,400 ชนิด สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จิงโจ้วิ่งผ่านบ้านที่ไฟไหม้ใน Conjola เมื่อวันส่งท้ายปีเก่า 2020 (Photo Credit MATTHEW ABBOTT / NEW YORK TIMES / REDUX / EYEVINE) "จากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก ในรอบหลายปี ได้เผาไหม้พื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง และใช้เวลานานกว่าจะดับ กำลังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเฉพาะต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์พืชและสัตว์ทั่วโลก" เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานฉบับใหม่ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า พืชและสัตว์กว่า 4,400 ชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากสาเหตุไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าจนเปลี่ยนไปจากเดิม ตามรายงานเผยว่า มีนกราว 19% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 16% พืชตระกูลถั่ว 19% ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN) และสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU) ปัจจุบัน ผลจากไฟป่าที่เผาผลาญ ทำให้ระบบนิเวศป่าเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในป่าเขตร้อนของควีนส์แลนด์ เอเชียตะวันออกเฉียงใหต้ อเมริกาใต้ ตลอดจนทุนดราของวงแหวนอาร์กติก นอกจากนี้ ยังพบการเกิดเพลิงไหม้กระจายเป็นวงกว้างขนาดใหญ่ และมีความรุนแรงมากกว่าเก่า และยังพบด้วยว่าระยะการเกิดเพลิงไหม้กินเวลายาวนานกว่าในอดีต และมีความถี่ที่บ่อยขึ้น เช่น ในพื้นที่ป่าและพื้นที่ไม้พุ่ม ของออสเตรเลีย ยุโรปตอนใต้ และทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างของไฟป่าที่ลุกลามพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 ถึงมีนาคม 2020 ที่ไหม้พื้นที่ไป 12.6 ล้านเฮกตาร์ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทีมวิจัยระบุว่า การค้นหาต้นตอสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไฟในสถานที่ต่าง ๆ จะช่วยให้เราค้นพบวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ 27 คน จากสถาบันวิจัย 25 แห่งทั่วโลก สรุปในรายงานว่า "มนุษย์มีส่วนในการทำให้พฤติกรรมไฟเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุ 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการรุกรานทางชีวภาพ" นอกจากนี้ ยังเสนอว่า เราต้องพัฒนางานอนุรักษ์ในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่ การรักษาสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ช่วยลดเชื้อเพลิงในระบบนิเวศ การดูแลพื้นที่ไม่ให้ไวต่อการเกิดไฟ และควบคุมพฤติกรรมของไฟให้เกิดขึ้นใต้สภาวะที่เหมาะสม https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000005625
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา
แมงดาทะเล : สัตว์ผู้ไถ่บาป! .................... เขียนโดยวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ "...และนี่เองที่เป็นกุญแจไขปริศนาว่า ทำไมแมงดาทะเลจึงอยู่รอดในทะเลมาได้ยาวนานกว่า400ล้านปี ทั้งที่ในทะเลและชายฝั่งของโลกยุคโบราณมีเชื้อโรคสารพัดแบบ แต่ก็ทำอะไรแมงดาทะเลเหล่านี้ไม่ได้ แมงดาทะเลเคลื่อนที่ช้า แถมมีแหล่งอาศัยอยู่ตามชายทะเลตื้นๆ มันอยู่ตามพื้นทราย อยู่บนพื้นเลนซึ่งหาตัวเจอได้ไม่ยาก มันไม่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของสัตว์ใดๆ เพราะมันกินได้แค่สาหร่าย กุ้งปูขนาดเล็กๆตามชายฝั่ง แต่มันมีผู้คุกคามตามธรรมชาติที่พร้อมจะกินไข่แมงดาอันโอชะ ทั้งโดยนกทะเล และสัตว์ทะเลต่างๆ ส่วนลูกแมงดาที่กว่าจะโตเต็มวัยจะถูกปลาใหญ่ๆ เต่าทะเล รวมทั้งคนเรานี่แหละ จับกิน ตัวเมียที่จะวางไข่ได้แค่คราวละหลักร้อยฟอง มักต้องรอจนตัวเมียอายุถึง10ปีขึ้นไป แถมอัตรารอดจนโตไปได้ก็แค่3%..." ....................................................................................... ในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติระหว่างเทศกาลปีใหม่ที่ไทยเจอโควิดระรอกใหม่ อันเนื่องมาจากกลุ่มกิจกรรมใต้ดิน ทั้งบ่อนและการลักลอบข้ามชายแดนนั้น ผมในฐานะที่สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้มีเวลาขุดคุ้ยและค้นคว้าเรื่อง''แมงดา''มาเล่าสู่กันฟังครับ แมงดาทะเลนะครับ อย่าเพิ่งตกใจ แมงดาที่เราคนไทยเห็นอยู่ในเมนูร้านอาหารทะเลนั่นแหละ ฝรั่งเรียกว่า Horseshoe crab คงเพราะมองว่ามันตัวโค้งๆแข็งๆเหมือนเกือกม้า ลูกค้าที่สั่งมาเปิปต้องให้แน่ใจว่าได้กินแมงดาจาน ไม่ใช่แมงดาถ้วยที่มีพิษร้ายแรงถึงตาย (ซึ่งจุดแตกต่างสำคัญคือดูที่หางของมัน ว่าหางแมงดาตัวนั้นเป็นแท่งก้านทรงกลมหรือเป็นสามเหลี่ยม ถ้ากลมก็คือชนิดมีพิษร้ายแรง) แต่ที่ตลาดคนชั้นกลางของไทยกินๆกันมักจะกินไข่แมงดาทะเลมากกว่า เช่นเอาไข่แมงดาทะเลมายำ ซึ่งว่ากันไป ไข่มันก็อาจมีพิษเหมือนกัน แต่พิษเบากว่าเนื้อแมงดาทะเล ยำไข่แมงดา ส่วนใหญ่จานนึงไม่ค่อยเกิน500บาท แต่เชื่อหรือไม่ว่าเลือดแมงดาทะเลที่สหรัฐอเมริกา ราคาแกลลอนละประมาณหนึ่งล้านกับแปดแสนบาท!! คือ6หมื่นเหรียญดอลลาร์ครับพี่น้อง!! ตกลิตรละ4แสนกว่าบาท...!!! เป็นเลือดจากสัตว์ที่แพงที่สุดในโลก ก็ว่าได้ แต่ไม่ได้เอาไปกินหรอกนะครับ เพราะเค้าใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทดสอบวัคซีนต่างหาก ก่อนหน้านั้น มนุษย์เราเคยมองแมงดาทะเลเปลือกแข็งหน้าตาพิลึกพิลั่นเหล่านี้เป็นได้เพียงสัตว์ไร้ประโยชน์ที่เอามาทำให้สุกแล้วบดเป็นผงเพื่อนำไปเติมเป็นแคลเซียมในหัวอาหารสัตว์!! หรือทำปุ๋ยไปซะงั้น ญาติที่ใกล้ชิดกับแมงดาทะเลคือพวกแมงป่องและพวกแมงมุม ขาของพวกมันจึงมีทั้งตามอง และจมูกดมกลิ่นได้ มีหางที่จับทิศของแสงได้ ฟังๆไปแล้วคล้ายตัวประหลาดในเทพนิยายกรีกยังไงยังงั้น แถมแมงดาทะเลมันมีหัวใจที่ยาวเท่าๆกับตัวของมัน มันกินอาหารผ่านปากแล้วส่งไปที่สมองก่อนจะไปต่อที่กะเพาะ... แต่อย่าถามผมนะว่าทำไม เพราะอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน !! ส่วนไคลแมกซ์ของเรื่องนี้คือแมงดาทะเลเป็นสัตว์ไม่มากชนิดในโลกที่มีเลือดสีน้ำเงินขุ่น (Hemocyanin) และเจ้าเลือดสีน้ำเงินขุ่นนี้เอง ที่ต้องใช้กับวัคซีนมนุษย์ ไม่ว่าวัคซีนนั้นจะผลิตจากอะไร ผสมสูตรไหน หากแต่ว่าก่อนที่จะถูกรับรองให้ใช้ในมนุษย์ได้ วัคซีนนั้นจะต้องถูกนำไปผ่านการหยดสารโปรตีนที่สกัดออกมาจากเลือดของแมงดาใส่เสียก่อน เรียกว่า LAL (Limulus Amoebocyte Lysate) หยดลงไปเพื่อตรวจดูว่าสารสกัดนี้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรหรือไม่ ถ้าสารนั้นตอบสนองล่ะก็ วัคซีนที่ว่านั้น ยังไงๆก็จะใช้ฉีดให้คนยังไม่ได้ เพราะแปลว่ายังมีการปนเปื้อนหรือยังมีส่วนประกอบที่อาจไม่เป็นที่ยอมรับในร่างกายตามระบบภูมิคุ้มกันในธรรมชาติของมนุษย์ เลือดแมงดาทะเลถูกพบว่ามีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยบังเอิญ เพราะฝรั่งนักวิจัยคนหนึ่งเดินชายหาดในอเมริกา แล้วเห็นซากแมงดาทะเลนอนตายหงายผลึ่งอยู่ แกหยิบมาส่องดูก็พบว่าเลือดสีฟ้าของแมงดากลายเป็นวุ้นแข็งๆ จึงสนใจเอาไปศึกษา ทำให้พบว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ มีเลือดที่มีส่วนผสมของทองแดงอยู่มาก และเม็ดเลือดขาวในเลือดสีน้ำเงินขุ่นนี้ จะมีปฏิกิริยารวดเร็วมากในการล้อมจับแบคทีเรียและสารพิษใดๆที่ล่วงล้ำเข้าไปในร่างของแมงดาทะเล เพื่อทำให้เชื้อโรคและสารพิษที่เป็นผู้รุกรานเคลื่อนไปในร่างกายของมันต่อไม่ได้ คือขังไว้เสียเลย และนี่เองที่เป็นกุญแจไขปริศนาว่า ทำไมแมงดาทะเลจึงอยู่รอดในทะเลมาได้ยาวนานกว่า400ล้านปี ทั้งที่ในทะเลและชายฝั่งของโลกยุคโบราณมีเชื้อโรคสารพัดแบบ แต่ก็ทำอะไรแมงดาทะเลเหล่านี้ไม่ได้ แมงดาทะเลเคลื่อนที่ช้า แถมมีแหล่งอาศัยอยู่ตามชายทะเลตื้นๆ มันอยู่ตามพื้นทราย อยู่บนพื้นเลนซึ่งหาตัวเจอได้ไม่ยาก มันไม่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของสัตว์ใดๆ เพราะมันกินได้แค่สาหร่าย กุ้งปูขนาดเล็กๆตามชายฝั่ง แต่มันมีผู้คุกคามตามธรรมชาติที่พร้อมจะกินไข่แมงดาอันโอชะ ทั้งโดยนกทะเล และสัตว์ทะเลต่างๆ ส่วนลูกแมงดาที่กว่าจะโตเต็มวัยจะถูกปลาใหญ่ๆ เต่าทะเล รวมทั้งคนเรานี่แหละ จับกิน ตัวเมียที่จะวางไข่ได้แค่คราวละหลักร้อยฟอง มักต้องรอจนตัวเมียอายุถึง10ปีขึ้นไป แถมอัตรารอดจนโตไปได้ก็แค่3% ฟังดูแล้วเหนื่อยใจ เพราะจากรูปทรง ความเร็วในการเคลื่อนไหว ความนานในการโตเต็มวัยเพื่อสืบพันธุ์ช้าขนาดนี้ แมงดาทะเลน่าจะดับสูญไปนานแล้ว แต่แปลว่าแมงดาทะเลเป็นผลงานชิ้นเอกอีกอย่างทางธรรมชาติวิทยา มันอยู่กันมาก่อนจะมีไดโนเสาร์ เพราะพบฟอสซิลของบรรพบุรุษของแมงดาทะเลมากมายมาก่อนและนับเป็นฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งเสียด้วย อนึ่งแมงดาทะเลมีชีวิตรอดอยู่ต่อมาจนไดโนเสาร์สูญพันธ์ไป แปลว่าในวันที่เกิดเหตุล้างบางสิ่งมีชีวิตบนโลก ผ่านยุคน้ำแข็งปกคลุมจนหมด เกิดภูเขาไฟพ่นลาวา เกิดฝนกรด เกิดน้ำท่วมใหญ่ เกิดฝุ่นในชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ได้เป็นเวลานานๆ แต่แมงดาทะเลก็อยู่รอดมาได้โดยไม่เปลี่ยนหน้าตาไปสักเท่าไหร่ แถมมีแนวโน้มว่ามันก็จะยังอยู่ต่อไปได้อีกนาน ถ้ามนุษย์ไม่เอามันมาทำอันตรายจนมันเกิดใหม่ไม่ทันนะ เพราะเคล็ดลับเรื่องเลือดของมันสามารถตรวจจับสิ่งแปลกปลอมระดับเบาบางที่สุดได้อย่างแม่นยำนี่เอง ที่เป็นคำตอบ แมงดาทะเลในโลกนี้มี3สายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมใช้เลือดไปทำประโยชน์ทางการแพทย์เวลานี้ยังจำเพาะถูกอ้างถึงอยู่แต่กับพันธุ์แอตแลนติกที่อาศัยอยู่ที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ตั้งแต่รัฐเมนลงมาจนถึงรัฐเดลาแวร์และไปถึงเหนืออ่าวเมกซิโก อีก2สายพันธุ์คือแมงดาถ้วยและแมงดาจาน อาศัยอยู่ตามชายฝั่งของเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยด้วย ผมค้นคว้าไล่อ่านงานบทความของฝรั่งมาสองอาทิตย์ ยังไม่พบว่าแมงดาทะเลของฝั่งเอเชียถูกพูดถึง ว่าเคยใช้ในการทดสอบความบริสุทธิ์ของวัคซีนกันหรือยัง แต่บอกเพียงว่าในเอเชียเหนือ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีแมงดาทะเล และมีกลุ่มคนที่กินแมงดาทะเลหรือกินไข่แมงดาทะเลกันพอสมควร นับว่าน่าเสียดาย อาจเป็นเพราะระบบวิจัยทางชีวการแพทย์ของซีกโลกฟากนี้มีน้อยกว่า การค้นคว้าเพื่อรับรองวัคซีนตัวเองของซีกโลกนี้มีน้อยกว่า แม้จะผลิตได้มากกว่า เช่นในอินเดียมีสถาบันเซรุ่มที่ใหญ่ที่สุด กำลังผลิตวัคซีนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ตาม หรือจะเพราะเลือดแมงดาทะเลสายพันธุ์จากฝั่งแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียสอบตกด้านคุณสมบัติการตรวจจับเชื้อที่เข้าไปเจือปนรุกรานหรืออย่างไร ก็ยังไม่เห็นบทความไหนเอ่ยถึง แม้ปัจจุบันบริษัทเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จะค้นพบว่ามีสารสังเคราะห์ใหม่ๆที่สามารถตรวจจับการปนเปื้อนในวัคซีนได้อย่างรวดเร็วทันใจก็ตาม และหลายประเทศในยุโรปก็ยอมรับให้ใช้สารสังเคราะห์แทนการใช้เลือดจริงของแมงดาทะเลแล้ว แต่องค์กรที่จะให้การรับรองวัคซีนของสหรัฐคือUS FDA ก็ยังคงยืนยันว่า จะยังไม่ยอมรับความแน่นอนของสารสังเคราะห์ใดๆที่พยายามเสนอมาแทนเลือดสีฟ้าขุ่นของแมงดาทะเลได้ (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา
แมงดาทะเล : สัตว์ผู้ไถ่บาป! ............ ต่อ การจับแมงดาทะเลในสหรัฐจึงยังคงดำเนินต่อไป ปีละราวๆ5แสนตัวในปีปกติ และในสถานการณ์โควิด19 การจับแมงดาทะเลสหรัฐไปเจาะหัวใจเพื่อดูดเลือดออกมาเป็นเวลาราว20-72ชั่วโมงจึงถูกตั้งคำถามว่า นี่จะทำให้แมงดาทะเลพันธุ์สหรัฐเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพียงใด และไม่ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยาจะตอบว่าได้จับแมงดาทะเลมาดูดเลือดออกไม่มากเกิน30%ของแต่ละตัว และอ้างว่าแต่ละตัวจะคืนสู่สภาพมีเลือดเต็มตามปกติในสามสัปดาห์ แต่องค์กร IUCN หรือสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติก็ประกาศให้แมงดาทะเลเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในบัญชีที่กำลังถูกคุกคาม เพราะเอาเข้าจริงอาจใช้เวลาหลายเดือนหลังถูกเจาะเลือดกว่าจะกลับสู่สภาพปกติของมัน และตัวเมียจะสูญเสียความสามารถในการออกไข่ไปอย่างผิดปกติ ส่วนในทางชีวจริยศาสตร์ การเจาะเลือดแบบนี้แล้วปล่อยคืนลงทะเลเป็นการทำทารุณกรรมต่อสัตว์ที่สังคมควรโลกยอมรับได้แค่ไหน ก็จะเป็นอีกเรื่อง เพราะมีสถิติว่า15-30%ของตัวที่ถูกเจาะเลือดออกไปนั้นจะตายลง ทุกวันนี้การทดลองสารเคมีและยาต่างๆในหนู ในกระต่าย ในลิงก็กำลังถูกต้านอย่างมาก เรื่องประโยชน์ของเลือดแมงดาทะเลนี้ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีสื่อสารมวลชนเขียนเรื่องนี้ออกมาหลายชิ้นแล้ว มีข่าวทีวี มีคลิปทั้งภาษาไทยและต่างประเทศเรื่องเลือดสีฟ้าราคาแพงลิบนี้ออกมาเยอะพอควร เพราะมนุษย์ใช้เลือดแมงดาทะเลมาทำอย่างนี้กึ่งชั่วอายุคนแล้ว คือใช้กันแพร่หลายตั้งแต่1970 ในเว็บขายสินค้าทางออนไลน์ ระหว่างเขียนต้นฉบับนี้ ผมเริ่มสังเกตเห็นมีการขายสบู่เลือดแมงดาทะเล นัยว่าคงมีคุณสมบัติอะไรต่อผิวคนยังงั้นกระมัง เท่าที่ผมลองแหย่ถามคนที่อยู่ในระดับนโยบายหลายๆกลุ่ม ปรากฏว่าคงยุ่งอยู่กับสารพัดข่าวสารของปีโควิดที่ลากยาวจนบัดนี้ วุ่นไปทุกวงการ ทั้งการเรียน การสอบ การค้าขาย การว่างงาน การควบคุมโรค การควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม และการจัดการขยะติดเชื้อ จึงไม่ทันได้รับทราบเรื่องเลือดแมงดาทะเลว่าเกี่ยวอะไรกับ การพิสูจน์วัคซีนว่าบริสุทธิ์หรือไม่อย่างไร แต่เรื่องแมงดาทะเลนี้อาจกลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศชายฝั่งในโลกนี้เขาจะมีแมงดาทะเลเสียเมื่อไหร่ แถมในไทยเราก็ดันเอามาเผา มายำกินแกล้มเบียร์กันซะงั้น ดังนั้น ผมจึงเรียบเรียงเสนอบทความนี้ขึ้นมาเพื่อ 1. ชวนคิดว่าในช่วงที่โลกกำลังค้นหาและพยายามพัฒนาสูตรวัคซีนโควิด19กันอย่างขะมักเขม้นนั้น แมงดาทะเลที่มีในไทยควรมีตัวตนอยู่แถวๆไหนในทางนโยบายสิ่งแวดล้อม ในนโยบายเศรษฐกิจ ในนโยบายวิจัย ในนโยบายประมง ในนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งมาตรการในทางกฏหมาย และในทางการพัฒนาวิจัยและการขยายพันธุ์ รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ 2.เพื่อจะชวนคิดออกแบบเรื่องเขตรักษาพันธุ์ การคุ้มครองพันธุ์ การเพาะเลี้ยงแมงดาทะเลในไทยหรือในอาเซียน และ BIMSTEC (ความร่วมมือระหว่างประเทศในรอบอ่าวเบงกอล )ว่าเป็นสิ่งที่ควรคิดอ่านร่วมมือกันได้อย่างไรหรือไม่ 3. เพื่อรณรงค์ให้ตลาดท้องถิ่นต่างๆหยุดบริโภคไข่แมงดาทะเล แล้วหันมาคิดว่าพอจะมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการจับแมงดาทะเลมาเจาะดูดเลือดขายกันอย่างมั่วๆเพียงเพื่อหวังรวยเร็วจนทำให้ล้างผลาญปริมาณแมงดาทะเลในภูมิภาคนี้ไปอย่างไม่เข้าท่า ดีมั้ย 4.เพื่อชี้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของระบบนิเวศ ธรรมชาติใส่รหัสการผูกและการแก้สมการไว้ใต้จมูกเราเยอะแยะ เราพบยาสมุนไพรจากพืช เราพบสารที่ใช้แก้ปัญหายากๆจากสิ่งที่เรานึกไม่ถึงเสมอ นักวิทยาศาสตร์เคยพยายามศึกษาสารในดวงตาจระเข้ กบ เขียด และปลาตีน เพราะสังเกตว่ามันไม่ยักติดเชื้อที่ตา ทั้งที่มันอยู่ในหนองบึงและโคลนเลน มีแบคทีเรียเพียบไปหมด ถ้างานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเลือดของแมงดาทะเลของไทยชี้ว่าสามารถให้ผลระดับเดียวกับหรือดียิ่งกว่าเลือดแมงดาทะเลของอเมริกา โควิดครั้งนี้อาจให้โอกาสแก่ไทย แก่อาเซียนและเอเชียใต้ก็ได้ รวมทั้งต่อชีวิตมนุษย์โลกทั้งหลายด้วย ขอแค่ต้องมี''ความรู้ '' มีความ''เมตตา''ต่อชีวิตอย่างละเอียดอ่อน และความ''ไม่โลภมาก'' ก็คงเป็นจุดเริ่มที่ดีแล้วล่ะครับ เพราะโรคอุบัติใหม่และการผิดปกติของเซลของเรา จะยังมีเซอร์ไพรส์ใหม่ๆมาให้มนุษย์พบเจออีกไม่มีขาดตอนแน่ๆ https://www.isranews.org/article/isr...eerasak-6.html
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|