#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมยังคงบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "ขนุน" (KHANUN) มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณคาบสมุทรเกาหลีในวันนี้ (10 ส.ค. 66) ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 10 - 11 ส.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 12 ? 15 ส.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
วิกฤติโลก เมื่อ 'กัลฟ์สตรีม' ใกล้หยุดหมุน รู้จักกัลฟ์สตรีม หนึ่งในกระแสน้ำสำคัญที่ใกล้หยุดหมุน จนโลกอาจเกิดวิกฤติ... "การชะลอวิกฤติกัลฟ์สตรีม คือ ลดโลกร้อน และการช่วยโลกก็เป็นการช่วยตัวเราโดยอัตโนมัติ" การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ มีสาเหตุหลักจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโลกร้อน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จะทำหน้าที่เหมือนผ้าห่มที่คลุมโลกไว้ หากผ้าห่มหนาพอดี ก็จะรักษาอุณหภูมิให้โลกอุ่นสบาย แต่ถ้าผ้าห่มหนาเกินไป ก็จะทำให้โลกของเราร้อนมากขึ้น เมื่อก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โลกก็ร้อนขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา ผลกระทบหนึ่งอย่างที่เคยถูกกล่าวถึงในอดีต และช่วงนี้กลับมาเป็นประเด็นที่เริ่มพูดถึงมากขึ้น คือเรื่องของ 'The Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC)' หรือรู้จักกันในชื่อ 'กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (The Gulf Steam)' ซึ่งถือเป็นกระแสน้ำที่สำคัญของโลก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) หรือ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ เรียกสั้นๆ ว่า ?โนอา? เป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา อธิบายถึงกระบวนการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก ไว้ว่า การไหลของกระแสน้ำเย็น (Labrador Current) ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านบริเวณเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิจะสูงขึ้น และยกตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ กลายเป็นกระแสน้ำอุ่น (Gulf Steam) การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรทั้งหมด รวมการยังมีอยู่ของมัน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ แต่ปัจจุบันการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม อ่อนกำลังลงมากที่สุดในรอบหลายพันปี หากสถานการณ์โลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำอุ่นนี้ก็จะยิ่งเคลื่อนตัวช้าลง และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะหยุดเคลื่อนตัว ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญนี้ ทำให้ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐออนไลน์ ได้เข้าพบ 'ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล เพื่อสอบถามถึงความน่ากังวล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกและประเทศไทย ในวันที่กัลฟ์สตรีม (อาจจะ) หยุดเคลื่อนตัว ความหมายแห่งการมีอยู่ของกัลฟ์สตรีม "กระแสน้ำนี้มีความหมายมาก มันเริ่มพาน้ำอุ่นจากทะเลแคริบเบียน วิ่งมาทางเหนือเข้าหายุโรป หลักๆ คือ พุ่งกระแทกยุโรป เพราะฉะนั้นกระแสน้ำอุ่นนี้จะพาความร้อน และน้ำอุ่นมาตามผิวน้ำ ทำให้ยุโรปอุ่น ถ้าเทียบยุโรปกับอเมริกาในละติจูดเดียวกัน จะพบว่ายุโรปอุ่นกว่าเยอะ เพราะว่ากัลฟ์สตรีมพาความร้อนมา ทำให้ยุโรปกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีผลิตภัณฑ์และเกษตรกรรมที่ดี" แล้วการมีอยู่ของกัลฟ์สตรีมสำคัญกับยุโรปมาก - น้อยแค่ไหน ทำไมยุโรปขาดสิ่งนี้ไม่ได้ "มันสำคัญกับยุโรปมาก เพราะเท่าที่คำนวณกัน ถ้าไม่มีกระแสน้ำนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยจะลดลงประมาณ 3.5 องศา อังกฤษจะหนาวลง ฝรั่งเศสจะหนาวลง ส่งผลกระทบมากมาย พืชพันธุ์ต่างๆ อาจจะไม่มีให้กิน รวมผลกระทบอื่นก็จะกว้างมาก จนบอกได้ยาก การเกษตรในยุโรปจะเสียหายหนัก การท่องเที่ยวและฤดูกาลจะเปลี่ยนไป" กัลฟ์สตรีมนั้นสำคัญถึงขนาดที่ว่า ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็คงไม่มีอารยธรรมของมนุษย์ตรงนั้น "น้ำอุ่นนี้อยู่มาเป็นพันปี หมื่นปีแล้ว มนุษย์ตั้งรกรากปักฐานได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีกระแสน้ำอุ่นนี้ ถ้าไม่มีมันขึ้นมา อารยธรรมต่างๆ ที่มนุษย์พยายามสร้างกันขึ้นมา ก็อาจจะเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่งเลย" ความน่ากังวลของผลกระทบ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ต่อมนุษย์ หรืออารยธรรมที่เราพยายามสรรค์สร้างกันมา แต่เพื่อนร่วมโลกอย่างสัตว์น้อยใหญ่ ที่ใช้อากาศร่วมกันกับเรา ก็จะหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น "เมื่อน้ำเย็นลง ผลกระทบต่อสัตว์มันมีอยู่แล้ว สัตว์น้ำต่างๆ ที่ต้องใช้น้ำร้อน มันก็ต้องเปลี่ยนตาม จากเดิมที่สัตว์บางชนิดต้องขึ้นเหนือเพราะโลกร้อน แล้วถ้ายุโรปหนาวลงอีก มันก็จะเปลี่ยนไปหมด สัตว์ที่เคยอยู่ได้ในหน้าหนาวก็จะเปลี่ยนไป เช่น หมีถูกออกแบบมาให้จำศีล 3 เดือน แต่อยู่ดีๆ ต้องมาจำศีล 7 เดือน มันก็จะอยู่ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีวิวัฒนาการมาแล้ว ถ้าวันหนึ่งยุโรปหนาวลงกะทันหัน ทุกอย่างจะอุตลุด สัตว์บางชนิดอาจจะต้องสูญพันธุ์ เหลือจำนวนน้อยที่อยู่รอด ระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลง จนกว่ากัลฟ์สตรีมจะกลับมาอีกครั้ง" จะหยุดเมื่อไรไม่มีใครรู้ "จะหยุดเมื่อไรไม่มีใครรู้ เพราะเป็นการคาดการณ์ อาจจะประมาณ 10-50 ปี ข้างหน้า แต่เราบอกได้แน่สุดก็คือ ตอนนี้มันอ่อนแรงลง และอาจจะหยุดได้ ความน่าจะเป็นต่ำสุดที่จะหยุด คงเป็น 10 ปีจากนี้ ถ้าจะเอาความน่าจะเป็นเยอะๆ ก็อาจจะอีก 20-50 ปีข้างหน้า" น้ำแข็งขั้วโลกละลายเป็นผลกระทบที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน น้ำจืดที่ไหลออกมาเข้าไปปะปนกับน้ำเค็ม จนทำให้กัลฟ์สตรีมอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด "น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้น้ำจืดมากขึ้น ปกติแล้วน้ำเค็มมันจะหนักตัวและจมลง แต่ถ้าน้ำจืดลงไปปนเยอะขึ้น จะทำให้ความเค็มต่ำลง มันก็จะเบาและไม่จม แรงขับเคลื่อนจะน้อยลง กระแสน้ำนี้คงไม่หยุดถาวร เพราะในอดีตการหยุดเคยเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ที่เราพูดถึงกัน เพราะมีส่วนของภาวะโลกร้อน ที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงทำให้มันอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด" จาก 100 ปี เหลือน้อยลง และความน่าจะเป็นในความซับซ้อน จากอดีตที่เคยคิดว่า เวลาของกัลฟ์สตรีมคงเหลือประมาณ 100 ปี แต่การกระทำของมนุษย์ ทำให้เวลาที่เคยคาดการณ์ ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ "เรื่องกัลฟ์สตรีมเป็นประเด็นที่คุยกันมาเป็น 10 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้การพูดกันเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ของโลกร้อน ระยะเวลาที่เราเคยคิดว่าเป็น 100 ปี ก็ลดลงเรื่อยๆ มันอาจจะไม่หยุดก็ได้ เพราะเป็นความน่าจะเป็น" ประเด็นของกัลฟ์สตรีมเป็นเรื่องที่ใหญ่ แม้จะผ่านการศึกษามาแล้วบ้าง แต่ข้อมูลที่มีก็ยังเกิดการถกเถียง โต้แย้ง ทั้งซับซ้อนและบางทีก็ชวนสับสน "กัลฟ์สตรีมเป็นเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อนมาก เริ่มศึกษากันจริงๆ เมื่อประมาณแค่ 20 ปี ทำให้มีข้อมูลอีกมหาศาลที่เรายังไม่รู้ ดังนั้นข้อมูลที่บอกไป หรือข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์พูดไว้ ก็ยังมีการขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและสับสน แต่ที่ทุกคนเห็นตรงกัน และไม่มีการแย้งเลย คือ ตอนนี้มันอ่อนแรงลง" มนุษย์ต้องใส่ใจ และแก้ไขพฤติกรรมตัวเอง จากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การกระทำและกิจกรรมของมนุษย์ เป็นส่วนที่สำคัญของการเกิดปรากฏการณ์นี้ "ถ้ามนุษย์ยังมีพฤติกรรมแบบนี้ มันก็จะไปเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ถ้าโลกร้อนเร็วขึ้น ก็จะยิ่งไปกระตุ้นให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น จากความน่าจะเป็นที่เคยต่ำก็คงมากขึ้น" ความแตกต่างนิดเดียวแต่ผลลัพธ์ไม่นิดเดียว ทำให้สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำกับเราว่า การมีอยู่ของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเป็นเรื่องที่สำคัญ "กระแสน้ำอุ่นนำพาสภาพอากาศอุ่นไปด้วย ยุโรปสามารถเฮฮาปาร์ตี้ คนสร้างบ้านสร้างเมืองได้ หรือวัฒนธรรมทั้งหมด ก็มาจากกระแสน้ำอุ่นนี้ อย่างในแคนาดามีพื้นที่ที่เรียกว่าทุนดรา มันแทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย แต่ฝั่งยุโรปในเส้นละติจูดเดียวกัน มีอุณหภูมิต่างกันแค่ 3-4 องศา แต่ความศิวิไลซ์ต่างกันคนละโลก" กระแสน้ำอุ่นที่ยุโรป สำคัญกับไทยยังไงกัน แม้ข้อมูลและผลการศึกษาในปัจจุบัน อาจจะยังไม่สามารถระบุได้เป็นข้อๆ ว่า ถ้ากระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมหายไป แล้วจะส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย แต่สิ่งนี้ก็สามารถคาดการณ์ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว โลกเราก็พึ่งพาอาศัยกัน "ยุโรปเจ๊ง เราก็เจ๊ง เรื่องกัลฟ์สตรีมคงยังไม่มีใครตอบได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่หากพูดในลักษณะของโมเดล ถ้ายุโรปเย็นลง น้ำแข็งเพิ่มขึ้น สะท้อนแสงเพิ่มขึ้น มันจะส่งผลได้เยอะแยะ หากกัลฟ์สตรีมหยุดจริงๆ แล้วมองแง่ของเศรษฐกิจ ไม่ต้องไปสนใจว่าเราจะร้อนหรือเย็นขึ้นกี่องศา แต่ถ้ายุโรปอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจล่มสลาย จากที่เคยส่งออกไปยุโรปมหาศาล ทุกอย่างจะปั่นป่วนหมด" การป้องกันอาจไม่มี แต่การชะลอเหตุการณ์นี้ยังทำได้ "การป้องกันไม่มี แต่การชะลอก็คือลดโลกร้อน ถ้าลดได้ก็ดี ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ฟอสซิล รักษาระบบนิเวศให้มันดี พวกนี้ก็คงชัดเจนที่สุด แต่ถ้าจะไปแก้ไขกัลฟ์สตรีมมันทำไม่ได้ โลกเราไม่ได้มีเทคโนโลยีที่จะไปช่วยเร่งกัลฟ์สตรีม มันเป็นเหมือนกับสายเลือดหลักของโลก" การประชุม COP28 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2566 นี้ มีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี เป็นเจ้าภาพ เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่า ประชาคมโลกจะมีทิศทางอย่างไร ในการใช้พลังงานฟอสซิล "ต้องรอดู COP28 ปลายปีนี้ ว่าเขาจะเอาจริงกับเรื่องของพลังงานน้ำมันมากแค่ไหน เพราะตอนนี้พูดถึงกันเยอะมากว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ลำบากแน่ ต้องดูว่าเขาจะทำอะไรต่อเกี่ยวกับการใช้ฟอสซิล แม้ตอนนี้เราพยายามลดการใช้ลงแล้ว มีอีวี (EV: Electric Vehicle) มีโซลาร์เซลล์ แต่มันแก้ไม่ทัน" แม้สุดท้ายเราจะไม่มีเทคโนโลยีที่จะหยุดปรากฏการณ์นี้ได้ แต่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะชะลอการเกิดขึ้นได้ เพราะเราก็เท่ากับโลก "ตอนนี้ทุกคนต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน มันต้องช่วยกัน เอาตัวเองให้รอดก่อน ยังไม่ต้องไปช่วยโลก เพราะการเริ่มที่ตัวเองก็เป็นการช่วยโลก และการช่วยโลกก็เป็นการช่วยตัวเราไปโดยอัตโนมัติ" https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2715734
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
'อ.ธรณ์' เตือนภัยเอลนีโญ กระทบน้ำทะเลร้อน! มีโอกาสสูงลากยาวถึง มี.ค.-เม.ย.67 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ #อัปเดทปรากฎการณ์เอลนีโญ ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.2566) โดยเน้นเรื่องทะเลเป็นพิเศษ ผมอธิบายโดยใช้ภาพเดียวเท่านั้น เป็นแผนที่ของแปซิฟิก เห็นเมืองไทยอยู่สุดขอบซ้าย ภาพมีหลายแผนที่ ไล่ตามเดือน ตั้งแต่สิงหาคม ปีนี้ ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า สีคืออุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเล เหลือง/แดง/แดงเข้ม/น้ำตาล คืออุณหภูมิที่สูงกว่าปรกติไล่ไปเรื่อย ลองดูสเกลได้ครับ เดือนสิงหาคม ภาพบนสุด น้ำในอ่าวไทยบ้านเรายังสีเหลือง หมายถึงเอลนีโญมาแล้วแต่ยังไม่มาก ขณะที่น้ำร้อนกลางมหาสมุทรเริ่มกินพื้นที่มากขึ้น น้ำจะร้อนขยายวงกว้างจริงจัง ตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม แล้วจะเริ่มลดลง สอดคล้องกับการคาดการณ์ครั้งก่อนๆ ว่าเอลนีโญจะแรงสุดช่วงปลายปี จากนั้นจะเบาลง ถ้าดูทะเลไทย จะเห็นว่าเราจะเริ่มเข้าสู่สีแดงในเดือนกันยายน กลายเป็นแดงทั้งหมดในตุลาคม จากนั้นจะยิงยาวไปจนถึงกุมภาพันธ์ อ่าวไทยยังแดงอยู่ แม้เอลนีโญในภาพรวมอาจเบาลง แล้วเราจะร้อนถึงเมื่อไหร่ ? ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ? ลองดูภาพผมใส่ไว้ เป็นกราฟจากหลายแบบจำลองนำมาเปรียบเทียบกันไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 สรุปง่ายๆ ว่าการทำนายส่วนหนึ่งบอกว่ายังไม่จบในเดือนมีนาคม น้ำอาจร้อนต่อไป ซึ่งในวันนี้ยังบอกไม่ได้แน่ชัด ต้องรอให้เวลาผ่านไป เราจะเขยิบการทำนายออกไปได้เรื่อยๆ สักเดือนตุลาคมนี้ เราก็น่าจะบอกได้แล้วว่าเอลนีโญจะสิ้นสุดช่วงมีนาคม-เมษายนไหม ภาวนาให้จบครับ ไม่งั้นทะเลเดือดแน่ บนแผ่นดินอาจเจอแล้งซ้ำซ้อน คราวนี้ขออธิบายเรื่องน้ำร้อน น้ำร้อนในที่นี้หมายถึงร้อนกว่าปรกติ ไม่ใช่ร้อนจี๋ตลอดเวลา เมื่อลองดูภาพอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลอ่าวไทย 3 ปี น้ำร้อนสุดในบ้านเราอยู่ช่วงเมษายน-มิถุนายน ช่วงพีคของน้ำร้อนในทะเลแต่ละแห่งไม่พร้อมกัน ทะเลเขตอบอุ่นอาจร้อนสุดช่วงกรกฎาคม สิ่งที่น่าติดตามคือเมื่อถึงเดือนกันยายน/ตุลาคม น้ำทะเลปีนี้จะร้อนผิดปรกติจากปีก่อนๆ หรือไม่ จากนั้นเราต้องลุ้นว่า เมื่อถึงเดือนมีนาคม/เมษายน/พฤษภาคม ปีหน้า เอลนีโญจะอ่อนแรงหรือจบหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นเป็นพีคน้ำร้อนในอ่าวไทย เจอเบิ้ลเข้าไป ปะการัง ระบบนิเวศ สัตว์น้ำ อาจเจอปัญหาใหญ่ ตอนนี้ทีมตามปะการังฟอกขาวกำลังเตรียมตัว เราพยายามติดตามข้อมูลทั้งต่างประเทศและไทยอย่างใกล้ชิด อีกไม่นานคณะประมงจะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อเป็นอีกแรงที่ช่วยกันเก็บข้อมูล นี่คือการเตรียมตัวรับมือที่ผมเคยบอกไว้ เราสามารถยกระดับได้ สามารถเรียนรู้ให้มากขึ้นได้ เพราะเราต้องเจอสถานการณ์แบบนี้อีกแน่ และจะแรงขึ้นตามโลกร้อนที่ยังไม่ทีท่าว่าจะหยุด เรายังอาจทำนายทะเลไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่สักวันเราจะทำได้ หากเราไม่ปล่อยให้โอกาสเรียนรู้หมดไป สักวันเราจะช่วยแจ้งเตือนหรือหาทางปรับตัวต่อโลกร้อนได้ดีกว่านี้ ช่วยรักษาธรรมชาติได้มากขึ้น และช่วยพี่น้องคนทำมาหากินกับทะเลสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000071407
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก
WMO เตือนทั่วโลกเตรียมรับมือ 'เอลนีโญ' ป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน WMO ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลทั่วโลกเตรียมแผนรับมือ 'เอลนีโญ' หลังพบอากาศจะเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรง ร้อนจัด แล้งหนัก น้ำท่วม แนะเร่งหาทางป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชากรในประเทศ กรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เตือนถึงความอันตรายของปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงและผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ โดย "เอลนีโญ" ส่งผลกระทบทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น และทำให้อุณภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นมากขึ้นกว่าปกติ WMO ระบุต่อว่า ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาโลกเผชิญกับสภาพอากาศเย็น เนื่องจากปรากฎการณ์ ลาณีญา แต่ ณ ขณะนี้ โลกได้เข้าสู่ภาวะ "เอลนีโญ" อย่างเต็มรูปแบบและมีความไเป็นไปได้กว่า 90% ที่จะเกิดเอลนีโญกำลังปานกลาง หรือ สูงมากกว่านั้นต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ที่ผ่านมาอากาศมีอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นจนสามารถทำลายสถิติเดิมลงไป และเอลณีโญกำลังจะสร้างสถิติใหม่ โดยการผลักให้อุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้น คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส หน่วยงานบริการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ EU ระบุว่า 'ปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำให้อุณหภูมิของโลกสูงมากขึ้นจนสามารถทำลายสถิติเดิมที่มีอยู่ โดยคาดว่าสถิติใหม่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2566 หรือ ราวๆ ปี 2567 แต่เขาคาดการณ์ว่าอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น' เหตุการณ์ทางภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง รวมไปถึงการก่อให้เกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้นด้วย อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังคุกคามประชากรสัตว์น้ำในหมู่เกาะกาลาปาโกส ความเด่นชัดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" เหล่านี้มาจากคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ที่มีการทำนายว่า "เอลนีโญ" จะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก สภาพอากาศ และสิ่งมีชีวิตในทะเล ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน WMO ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศหาดำเนินการหามาตรการป้องกันเพื่อป้องกันการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยภาครัฐจะต้องมีการเตือนภัย และการดำเนินการล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์ทางสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าความแปรปรวนทางสภาพอากาศมีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตและดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้ "เอลณีโญ" ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ ระบบนิเวศ อย่างไรบ้าง "เอลณีโญ" เป็นกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีการเคลื่อนตัวทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทราแปซิฟิกจากตำแหน่งเดิมที่อยู่ตรงกลาง ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และกระแสน้ำที่อุ่นขึ้นในทางตะวันออกเฉียงเหนือ และทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในแถบสหรัฐฯ ทางฝั่งยุโรบจะเกิดสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแห้งบริเวณยุโรปเหนือ และทางฝั่งใต้เกิดฝนตกชุกในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ตามรายงานของ สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุด้วยว่าในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญอุณภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่ทำลายตัวเลขที่ระบุว่าในช่วง 5 ปี โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า 50:50 รวมทั้งส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศแรกที่จะได้รับผลกระทบเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ชายฝั่งอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยเฉพาะออสเตรเลีย และอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเจอกับอากาศร้อน และแห้ง จนส่งผลทำให้เกิดไฟป่ามากยิ่งขึ้น ขณะเดี่ยวกันมรสุมจะเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศอินเดีย และแอฟิกาใต้ จะลดลง แต่กลับไปมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในแอฟิกาตะวันออก อย่างไรก็ตาม เอลนีโญ ยังเพิ่มความรุนแรงขอพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลกระทบในพื้นที่มี่เกิดพายุหมุนเขตร้อน เช่น ฮาวาย ไม่เพียงแค่นี้ เพราะปรากฎการณ์ "เอลณีโญ" ยังส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่าน้ำไหลขึ้น หรือการนำพาน้ำเย็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารจากทะเลลึกขึ้นมา แต่ปรากฏการณ์ "เอลณีโญ" ทำให้ปรากฏการณ์น้ำไหลขึ้นหยุดชะงักไป ส่งผลให้แพลงตอนซึ่งเป็นอาหารของปลาลดน้อยลง นักวิทยาศาสตร์พบว่า "เอลณีโญ" ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และมีโอกาศมากกว่า 56% อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงกว่าปกติประมาร 1.5 องศาเซลเซียส โดยรายงานของ NOAA ระบุว่า น้ำอุ่นทำให้เกิดการฟอกขาวในแนวปะการัง ที่มา: https://www.euronews.com/green https://www.komchadluek.net/quality-...ronment/555645
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
เม็กกาโลดอน: ฉลามยักษ์นักล่าเหยื่อขั้นสุด กินกระทั่งพี่น้องมันเองตั้งแต่ในท้องแม่ ความน่ากลัวของเม็กกาโลดอนในภาพยนตร์ อาจไม่ได้เกินจริงนักที่มาของภาพ,GETTY IMAGES ฉลามยักษ์เม็กกาโลดอน เป็นนักล่าขั้นสุดแห่งท้องทะเล เป็นไดโนเสาร์แห่งเผ่าพันธุ์ฉลาม ที่สูญพันธุ์จากโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน แต่ความน่าสะพรึงกลัวของมัน อาจเหนือกว่าจินตนาการที่ฮอลลีวูดหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์เลยทีเดียว ผ่านไป 5 ปี นับแต่ ภาพยนตร์ "เดอะ เม็ก" (The Meg) เข้าฉาย นำแสดงโดย เจสัน สเตแธม ต่อสู้กับฉลามยุคดึกดำบรรพ์ เวลานี้ ?เม็ก 2: อภิมหาโคตรหลาม ร่องนรก? กำลังเข้ามาฉายแล้ว นำแสดงอีกครั้งโดย สเตแธม ที่ปรากฏในตัวอย่างภาพยนตร์ ด้วยการเอาเท้าถีบขากรรไกรฉลามยักษ์ และฉากบู๊น่าเหลือเชื่ออีกหลายฉาก ไม่ว่าผู้ชมจะคิดอย่างไรกับภาพยนตร์ฉลามยักษ์ภาคต่อนี้ แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ฮอลลีวูดฉายให้เห็นถึงฉลามไดโนเสาร์นั้น ค่อนข้างสอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะ เม็กกาโลดอน (Megalodon) เป็นสุดยอดนักล่าแห่งท้องทะเล เป็นเวลานานกว่า 20 ล้านปี ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 3.5 ล้านปีก่อน ซึ่งถือเป็นโชคดีที่มนุษย์ไม่ต้องมาเผชิญหน้ากับมัน (ยกเว้นในภาพยนตร์) เม็กกาโลดอน เป็นฉลามขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏบนโลก และเป็นหนึ่งในนักล่าแห่งท้องทะเลขนาดใหญ่ที่สุด แต่ปริศนาว่าฉลามดึกดำบรรพ์นี้ วิวัฒนาการจนมีขนาดมโหฬารเช่นนั้นได้อย่างไรนั้น เพิ่งเริ่มแน่ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง จากผลงานวิจัยใหม่ที่ส่องให้เห็นแง่มุมใหม่ว่า ฉลามยักษ์นี้มีชีวิต ล่าเหยื่อ และหาอาหารอย่างไร ฟันใหญ่ยักษ์ วงการวิทยาศาสตร์รู้จักฉลามเม็กกาโลดอนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1840 จากการค้นพบซากฟันรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ของมัน โดยชื่อ เม็กกาโลกดอน มีความหมายว่า "ฟันใหญ่" ในภาษากรีกโบราณ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของมัน คือ ออโตดุส เม็กกาโลดอน ชื่อฟันใหญ่ของมัน ไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่น เพราะตัวอย่างฟอสซิลที่พบ เป็นฟันความ 16.8 เซนติเมตร (6.6 นิ้ว) ซึ่งถือว่าใหญ่มาก เพราะฟันของฉลามขาวอยู่ที่ 7.5 เซนติเมตร (3 นิ้ว) จึงแน่ชัดว่า เม็กกาโลดอน เป็นฉลามขนาดยักษ์ แต่มันใหญ่แค่ไหนล่ะ ? หากนักวิทยาศาสตร์มีโครงกระดูกเต็มตัวของมัน ก็คงตอบคำถามนี้ได้ง่าย ๆ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการค้นพบโครงกระดูกสมบูรณ์ของมัน อีกทั้งฉลามเป็นปลากระดูกอ่อน ซึ่งกระดูกแบบอ่อนนั้น กลายเป็นซากฟอสซิลได้ค่อนข้างยาก ผลลัพธ์ คือ ฟอสซิลที่มนุษย์ค้นพบเกี่ยวกับเม็กกาโลดอน คือ ฟันของมัน รวมถึงกระดูกสันหลังบางส่วน "อันที่จริง เราคาดเดารูปร่างของมันได้ค่อนข้างลำบาก" โซรา คิม นักธรณีเคมี มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ศึกษาด้านเคมีเกี่ยวกับฟันเม็กกาโลดอน กล่าว นั่นหมายความว่า ขนาดและรูปร่างที่แท้จริงของเม็กกาโลดอนนั้น ยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ดี นักบรรพชีวินวิทยา ยังพอจะประเมินขนาดมันจากขนาดฟันของมันได้ โดยเทียบกับฟันของฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มนุษย์ทราบรายละเอียดขนาด ซึ่งในความเป็นจริง ก็ยังถือว่าเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ไม่ได้หมายความว่า มันเป็นแค่เวอร์ชันที่ใหญ่ขึ้นของสัตว์สายพันธุ์เดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่า นำมาสู่การถกเถียงมากมาย ผลการศึกษาหลายฉบับชี้ว่า เม็กกาโลดอน เติบโตจนมีขนาดใหญ่ได้ถึง 18 เมตร หรือถึง 20 เมตร อย่างไรก็ดี การศึกษาในปี 2019 โดย เคนชู ชิมาดะ นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยดีพอล ในเมืองชิคาโก แย้งว่า การประเมินดังกล่าวมีข้อบกพร่อง และเขาเชื่อว่า จากขนาดฟันหน้าบนของเม็กกาโลดอน ประเมินได้ว่า มันมีขนาดยาวไม่เกิน 15.3 เมตรเท่านั้น ปีต่อมา ทีมวิจัยนำโดย วิคเตอร์ เปเรซ จากพิพิธภัณฑ์ฟลอริดาว่าด้วยประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในเมืองเกนส์วิลล์ มีความเห็นที่ต่างจาก ชิมาดะ เพราะพวกเขาได้ตรวจสอบความกว้างของฟัน มากกว่าความสูงของฟัน เพราะทำให้ประเมินขนาดการอ้าของขากรรไกรได้ ผลลัพธ์คือการประเมินว่า เม็กกาโลดอน เติบโตได้จนมีความยาว 20 เมตร ซึ่ง คาตาลินา ปีเมียนโต นักบรรพชีวินวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ มองว่า "เป็นการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ" ขณะที่ ชิมาดะเองก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง หากยึดตามหลักการประเมินขนาดล่าสุดนี้ หมายความว่า เม็กกาโลดอน มีขนาดยักษ์ จนฉลามในปัจจุบัน รวมถึงฉลามขาวยักษ์ ที่มีความยาวราว 4.9 เมตร เรียกว่าเป็นฉลามแคระได้เลยทีเดียว เพราะเม็กกาโลดอน มีขนาดใหญ่กว่า 3-4 เท่า แต่วาฬบาลีน หรือวาฬกรองกินขนาดใหญ่ที่สุด ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าฉลามเม็กกาโลดอน ขณะที่สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก คือ วาฬสีน้ำเงิน ที่มีขนาดยาวสูงสุด 30 เมตร แม้เม็กกาโลดอน จะพ่ายแพ้ในแง่การเป็นสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่มันถือได้ว่าเป็นฉลามใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยปรากฏ และอาจเป็นสัตว์นักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย นักล่าขั้นสูงสุด เพียงฟันขนาดใหญ่อย่างเดียว ก็ชี้ได้ว่า เม็กกาโลดอน เป็นสัตว์นักล่า แต่มันกินอะไรเป็นอาหาร ? การจะตอบคำถามนี้ นักวิจัยได้ตรวจสอบผ่านการวิเคราะห์ทางเคมีจากฟันของมัน วิธีการตรวจสอบหนึ่ง คือ ดูที่สารไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนทั้งหมดในร่างกายสัตว์มาจากโปรตีนในอาหาร โดยไนโตรเจน มี 2 รูปแบบ หรือ "ไอโซโทป" เรียกว่า ไนโตรเจน-14 และไนโตรเจน-15 ร่างกายสัตว์เก็บรักษาไนโตรเจน-15 มากกว่าไนโตรเจน-14 จากการบริโภคเนื้อ ผลลัพธ์คือ สัตว์ที่เป็นสัตว์นักล่าที่อยู่ระดับสูงในห่วงโซ่มาอาหาร จะมีสัดส่วนไนโตรเจน-15 ในร่างกาย รวมถึงในฟัน มากกว่าสัตว์อื่น ๆ ผลการศึกษาเมื่อปี 2022 นักวิจัย รวมถึง คิม เผยให้เห็นว่า ฟันของเม็กกาโลดอนมีระดับไนโตรเจน-15 ที่สูงมาก บ่งชี้ว่า มันเป็นสัตว์นักล่าขั้นสูง ที่กินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่มาก ยกตัวอย่างเช่น วาฬนักล่า เหมือนวาฬเพชฌฆาตในยุคปัจจุบัน "มันจึงเป็นสัตว์ผู้ล่าขั้นสูงสุด" คิม กล่าว อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาอีกฉบับเมื่อปี 2022 ที่มีชิมาดะและคิม ร่วมกันเขียน ได้ใช้การตรวจสอบไอโซโทปของสังกะสีแทน ซึ่งผลปรากฏว่า เม็กกาโลดอน เหมือนกับฉลามขาวยักษ์ แต่ยังไม่ถือเป็นผู้ล่าขั้นสูงสุด โดย คิม เสริมว่า ผลการศึกษาบ่งชี้ด้วยว่า เม็กกาโลดอนแต่ละตัว อาจกินอาหารไม่เหมือนกัน ปีเมียนโต ระบุว่า ความไม่ชัดเจนนี้ อาจเป็นผลจากความแตกต่างระหว่างฉลามวัยเติบโต และตัวเต็มวัย "เราทราบดีจากสปีชีส์ในยุคสมัยใหม่ว่า ฉลามเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเมื่อมันเติบโตขึ้น" ยกตัวอย่าง สปีชีส์ฉลามในยุคสมัยใหม่ ฉลามวัยกำลังเติบโต หรือฉลามวัยรุ่น จะกินปลาเป็นหลัก ส่วนฉลามวัยเจริญพันธุ์ จะกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลด้วย ฉลามเม็กกาโลดอนที่อายุยังไม่มาก อาจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินระหว่างที่มันกำลังเติบโตด้วยเช่นกัน เพราะมีหลักฐานว่า เม็กกาโลดอน บางครั้งก็พุ่งเป้าไปที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดเล็ก อย่างแมวน้ำ "ผู้ล่าขั้นสูงสุด จะเป็นผู้ล่าขั้นสูงสุด ก็ต่อเมื่อมันโตเต็มวัยแล้ว" ปีเมียนโต กล่าว อันที่จริง เม็กกาโลดอนวัยเยาว์ มีชีวิตที่แตกต่างจากพ่อแม่ของมันมาก โดยในปี 2010 ปีเมียนโต และทีมงานของเธอ ได้ค้นพบฟันเม็กกาโลดอนในภูมิภาคหนึ่งของปานามา ซึ่งเป็นฟันขนาดเล็กผิดปกติ บ่งชี้ว่า นี่เป็นฟันของเม็กกาโลดอนวัยเด็ก ทีมวิจัยสรุปว่า ทะเลน้ำตื้น มีสถานะเสมือนสถานอนุบาลฉลามเม็กกาโลดอน เพื่อที่ฉลามวัยเยาว์จะได้หากินในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ จะเข้ามาในพื้นที่น้ำตื้นได้ยาก ซึ่งอีกทศวรรษต่อมา ก็มีการค้นพบสถานอนุบาลเม็กกาโลดอนอีกหลายจุดด้วยกัน แต่คำว่า "อนุบาล" อาจฟังดูขัดกับความเป็นจริง เพราะก่อให้เกิดภาพเม็กกาโลดอน ประคบประหงมลูกของมัน ทั้งที่ "เม็กกาโลดอน จะปล่อยลูก ๆ เอาไว้ แล้วจากไป" ปีเมียนโต กล่าว ฉลามยุคสมัยใหม่เอง ก็มีพฤติกรรมคล้ายกัน "เราไม่เคยพบฉลามเพศเมียที่ดูแลลูก ๆ ของมันเลย" คิม กล่าว เบาะแสถึงการสืบพันธุ์ของเม็กกาโลดอน เปิดเผยออกมาในผลการศึกษาปี 2020 ของชิมาดะ และทีมงานของเขา ซึ่งศึกษากระดูกสันหลังที่หายากชุดหนึ่ง เป็นของเม็กกาโลดอนขนาดประมาณ 9.2 เมตร และพบว่า มันตายตอนอายุ 46 ปี หมายความว่า เมื่อคลอดออกมา พวกมันมีขนาดราว 2 เมตรเลยทีเดียว ขนาดลูกฉลามเม็กกาโลดอนที่มีขนาดใหญ่นี้ บ่งชี้ว่า พวกมันฟักตัวในท้องแม่ ก่อนจะคลอดออกมา ไม่ใช่การฟักตัวจากไข่นอกท้องแม่ เหมือนปลาสปีชีส์อื่น ๆ ทีมวิจัยยังเชื่อว่า ตัวอ่อนเม็กกาโลดอนกินไข่ใบอื่นในครรภ์ ทำให้มันเติบโตจนมีขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ อาจฟังดูน่าสะพรึงกลัว แต่ "พฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองภายในมดลูก" ของเม็กกาโลดอน พบในฉลามยุคใหม่ด้วยเช่นกัน หมายความว่า แม่ฉลามจะคลอดลูกออกมาไม่กี่ตัว แต่ลูกฉลามที่คลอดออกมา จะได้รับสารอาหารเต็มเปี่ยม นักล่าข้ามมหาสมุทร ผลการสร้างแบบจำลองเม็กกาโลดอนแบบ 3 มิติ เมื่อปี 2022 ของปีเมียนโตและทีมวิจัยของเธอ โดยอ้างอิงจากฉลามขาวยักษ์และฉลามชนิดอื่น ๆ ?ผลการตรวจวัด ทำให้พบว่าเม็กกาโลดอนมีคุณลักษณะทางชีวภาพที่หลากหลาย? ปีเมียนโต กล่าว คุณลักษณะหนึ่งคือ เม็กกาโลดอน เป็มฉลามจอมว่ายน้ำตัวยงที่สามารถว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเร็วเฉลี่ยปกติ 1.4 เมตรต่อวินาที เร็วกว่าฉลามทุกชนิดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และเวลามันล่าเหยื่อ เม็กกาโลดอนสามารถพุ่งเข้าหาเหยื่อได้ด้วยความเร็ว 10 เมตรต่อวินาที กรามของเม็กกาโลดอนยังมีขนาด "กว้างมากจนพอจะกินเหยื่อขนาดใหญ่ได้" โดยเม็กกาโลดอนตัวเต็มวัย สามารถกินสัตว์อย่างวาฬเพชฌฆาตได้หมดในไม่กี่คำ และการกินเหยื่อขนาดนี้ จะช่วยให้มันอิ่มท้องอยู่ได้นานระดับหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ปีเมียนโต และทีมวิจัย เชื่อว่า เม็กกาโลดอนเป็น "นักล่าขั้นสูงข้ามมหาสมุทร" หมายความว่ามันว่ายน้ำข้ามระหว่างมหาสมุทรเป็นประจำ เหตุที่มันสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิน้ำแตกต่างกันได้ เป็นผลจากความเลือดอุ่นของเม็กกาโลดอน หรือหมายความว่า มันสามารถควบคุมอุณหภูมิภายในได้ด้วยการสร้างความร้อนในร่างกายขึ้นมาเอง ทำไมจึงสูญพันธุ์ ? หลายคนอาจคิดว่าขนาดตัวที่ใหญ่เกินไปทำให้เม็กกาโลดอนหมดไปจากโลก แต่ที่จริงแล้วนักบรรพชีวินวิทยาพบว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันเมื่อหลายล้านปีก่อนมากกว่า การที่ระดับน้ำทะเลลดลงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่เม็กกาโลดอนอาศัยอยู่ ทำให้พื้นที่ในการหาอาหารมีไม่เพียงพอ จนสัตว์ทะเลยุคโบราณ 36% ซึ่งรวมถึงฉลาม เต่า วาฬและโลมาหลายชนิดพันธุ์ต้องตายลง หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ล้านปี เปิดทางให้ฉลามขาวมีวิวัฒนาการขึ้นมาแทนจนเป็นยอดนักล่าแห่งท้องทะเลในปัจจุบัน https://www.bbc.com/thai/articles/cg3wev6dvq5o
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทร "อุ่นขึ้น" เป็นประวัติการณ์ นักวิทยาศาสตร์คาดอาจเพราะโลกร้อนและเอลนีโญ ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงเป็นประวัติการณ์ หลังต้องดูดซับความร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลกของเรา ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยผิวน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2016 โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 20.96 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ๆ มาก ตามข้อมูลของ โคเปอร์นิคัส (Copernicus) ที่ให้บริการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุโรป มหาสมุทรถือเป็นตัวจักรสำคัญที่คอยกำกับสภาพภูมิอากาศ มันดูดซับความร้อน ผลิตออกซิเจนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีอิทธิพลต่อแบบแผนสภาพอากาศรอบโลก น้ำที่อุ่นขึ้นมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง นั่นหมายความว่าจะมีก๊าซดังกล่าวล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น และนั้นอาจเป็นตัวเร่งทำให้ธารน้ำแข็งละลายลงสู่มหาสมุทรเร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นตาม ขณะเดียวกัน มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น รวมถึงคลื่นความร้อน ก็เป็นอุปสรรคต่อสัตว์ทะเล ทั้งปลาชนิดต่าง ๆ และ วาฬ ทำให้พวกมันต้องอพยพไปหาพื้นที่ที่น้ำเย็นกว่า ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อจำนวนประชากรของปลาด้วย นอกจากนั้น สัตว์นักล่าอย่าง ฉลาม อาจก้าวร้าวขึ้น เนื่องจากมันมักสับสนเมื่ออยู่ในน้ำอุ่น นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลกับปรากฏการณ์นี้ ดร.แคทรีน เลสเนสกี จากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ที่กำลังเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลที่อ่าวเม็กซิโก เปรียบว่า "น้ำในมหาสมุทรนั้นเหมือนกับอ่างน้ำอุ่นเมื่อคุณกระโดดลงไป" "เกิดการฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างที่แนวปะการังนอกชายฝั่งฟลอริดา ซึ่งบางส่วนก็ได้ตายไปแล้ว" ดร.แคทรีน กล่าว ขณะที่ ดร.แมท ฟรอส จากสถาบันวิจัยทางทะเลพรีมัธ บอกว่าเรากำลังทำให้มหาสมุทรตกอยู่ในความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมลพิษและการทำประมงอย่างล้นเกิน พวกเขาหลายคนยังกังวลถึงช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์นี้ด้วย โดย ดร.ซาแมนธา เบอร์เจส จากโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า อุณหภูมิน้ำทะเลควรร้อนที่สุดในช่วงเดือน มี.ค. ไม่ใช่ในเดือน ส.ค. "ข้อเท็จจริงที่เราได้เห็นจากสถิติ ณ ปัจจุบัน ทำให้เราวิตกว่ามหาสมุทรจะอุ่นขึ้นอีกแค่ไหน ในช่วงเวลาต่อจากนี้จนถึง มี.ค. ปีหน้า" แล้วอุณหภูมิน้ำสูงขึ้นได้อย่างไร ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีส่วนทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น เพราะทะเลได้ดูดซับความร้อนจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังคงศึกษาและสอบสวนถึงเรื่องนี้ต่อไป "ยิ่งเราเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไหร่ มหาสมุทรก็ได้รับความร้อนมากขึ้นเท่านั้น หมายความว่ามันต้องใช้เวลานานขึ้น ในการทำให้ (คาร์บอน) หายไป" ดร.เบอร์เจส กล่าว จุดเริ่มต้นน้ำทะเลเดือด ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนทำลายสถิติเมื่อปี 2016 นี้ เกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอลนีโญในปีนี้ ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ามหาสมุทรอาจอุ่นขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเกิดขึ้นเมื่อน้ำอุ่นเคลื่อนตัวขึ้นสู่ผิวน้ำทะเลทางฝั่งตะวันตกของชายฝั่งอเมริกาใต้ ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น สำหรับสถิติอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดคลื่นความร้อนทางทะเลหลายจุด ทั้งในสหราชอาณาจักร แอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และ อ่าวเม็กซิโก "คลื่นความร้อนทางทะเลที่เราได้เห็นมันดูไม่ปกติ มันเกิดขึ้นในจุดที่เราไม่คาดคิด" ดร.เบอร์เจส กล่าว โดยในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา น้ำทะเลในสหราชอาณาจักร มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ 3-5 องศาเซลเซียส ขณะที่สัปดาห์ก่อนในฟลอริดา ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงถึง 38.44 องศาเซลเซียส เทียบได้กับอ่างน้ำร้อน ทั้งที่ปกติแล้วควรมีอุณหภูมิระหว่าง 23-31 องศาเซลเซียสเท่านั้น คลื่นความร้อนทางทะเลยังเกิดถี่ขึ้นเป็นสองเท่าหากเทียบระหว่างปี 1982 และ 2016 ขณะเดียวกันก็ดูจะทวีความรุนแรงและยาวนานขึ้นนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ตามการรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แม้หลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิอากาศทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลแล้วโดยปกติมันใช้เวลานานกว่าก่อนที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างมีนัย แม้ว่ามหาสมุทรจะดูดซับความร้อนกว่า 90% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกไว้ก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าในไม่ช้าอุณหภูมิน้ำทะเลอาจไล่ตามอุณหภูมิอากาศโลกทันก็ได้ โดย ดร.คาริน่า วอน ซูคแมนน์ ระบุว่าหนึ่งในทฤษฎีที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ ความร้อนส่วนใหญ่ถูกกักไว้ในน้ำลึกใต้มหาสมุทร ซึ่งตอนนี้น้ำอุ่นดังกล่าวกำลังขึ้นมาสู่ผิวน้ำ โดยอาจเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย แม้ว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่พวกเขาก็ยังพยายามหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ว่าทำไมอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในปีนี้จึงสูงกว่าในปีก่อน ๆ มาก https://www.bbc.com/thai/articles/cd1xj4pp99wo
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|