#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 17 กรกฏาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคตะวันออกระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในวันที่ 17 และ ในช่วงวันที่ 20 - 22 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 17 และ 20 - 22 ก.ค. 63 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ชาวบ้านระทม น้ำทะเลขังทำหอยนางรมไม่โต วอนรัฐช่วยตักทรายเปิดปากคลอง ประจวบคีรีขันธ์ - ทรายปิดปากคลองบางนางรมนับปี กระทบการเลี้ยงหอยนางรมหยุดเจริญเติบโต น้ำทะเลขังไม่หมุนเวียน แต่ศัตรูทางธรรมชาติหอยแพร่พันธุ์เร็ว วอนหน่วยงานรัฐช่วยขุดทรายเปิดทาง ให้น้ำถ่ายเทตามธรรมชาติ วันนี้ (16 ก.ค.) ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยที่คลองบางนางรม ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทุกข์หนักมาหลายปี เหตุทรายทับถมปิดปากคลองบางนางรม น้ำทะเลไหลเข้าแต่ไม่ออก มีน้ำจืดขังปริมาณมาก ไม่มีการถ่ายเทตามธรรมชาติ กระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำทะเล ประกอบด้วย หอยนางรม ปูดำ ปูม้า ปลาเก๋า ปลากะพง ซึ่งคลองแห่งนี้เป็นแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่สำคัญเพียงแห่งเดียวในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้หอยนางรมหยุดโต ขณะที่ศัตรูทางธรรมชาติแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว นางวันดี สุขเจริญ อายุ 56 ปี เกษตรกรเลี้ยงหอยนางรม ในคลองบางนางรม ชุมชนปากคลองในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กว่า 30 ปี โดยประกอบอาชีพมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เปิดเผยว่า ชาวบ้านกว่า 60 ครัวเรือนประสบปัญหาสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ในคลองบางนางรม ซึ่งมีพื้นที่เพาะเลี้ยงกว่า 100 ไร่ ประกอบด้วย หอยนางรม ปูดำ ปูม้า ปลากะพง ปลาเก๋า เจริญเติบโตช้า บางชนิดก็หยุดโต เนื่องจากน้ำในคลองเป็นน้ำกร่อย คือในช่วงเย็นน้ำทะเลเข้าคลองและถูกน้ำจืดจากฝ่ายน้ำล้นเหนือคลองไหลมาผสม ส่วนช่วงเช้ากระแสน้ำจะผลักดันให้น้ำเค็มไหลคืนสู่ทะเล ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติที่มีการไหลเวียนของกระแสน้ำ และสัตว์น้ำจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ปัจจุบันทรายปิดปากคลองทำให้น้ำนิ่ง มีตะกอนขี้เลนหนาตัว และร่องน้ำตื้นเขิน ซึ่งทรายได้พัดมาสู่คลองในปริมาณมาก จากบริเวณปากคลองที่เคยยืนน้ำสูงระดับเอว หรือบางฤดูกาลสูงถึงหน้าอก ปัจจุบันมีความสูงเพียงตาตุ่ม นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรค หอยกะพงซึ่งเป็นหอยขนาดเล็ก เกาะที่ฝาหอยนางรม และแย่งอาหาร ส่งผลให้หอยหยุดโตหรือโตช้ามาก ซึ่งระยะเวลาในการเลี้ยงหอยจากวัยอ่อนจนถึงขนาดใหญ่ คือ 6-7 เดือน และในช่วง 2 ปีนี้ มีเส้นสีส้มเกาะที่ฝาหอยอย่างหนาตาลักษณะน่าเกลียด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หมี่กรอบ ซึ่งปัญหาเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ประกอบอาชีพนี้ เลี้ยงแบบธรรมชาติและไม่มีอุปสรรคใดๆ จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอยนางรมไม่สามารถขายได้ เนื่องจากลูกค้าหลักเป็นร้านอาหารและโรงแรม เมื่อร้านถูกปิดไม่มีนักท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงขาดรายได้นานกว่า 4 เดือน ขณะที่เดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มขายได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัม สำหรับหอยตัวเล็กที่แกะแล้วขายพ่อค้าคนกลางกิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนหอยขนาดใหญ่สำหรับรับประทานสดขายตัวละ 4 -5 บาท จึงขอวิงวอนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือชาวบ้านชุมชนปากคลองบางนางรม ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหายนางรม ช่วยขุดลอกทราย เพื่อเปิดทางให้น้ำทะเลและน้ำจืด ไหลเข้าออกได้ตามธรรมชาติดังเดิม https://mgronline.com/local/detail/9630000072879
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ดำน้ำชมความสวยงามปะการังเกาะยา ตรัง 16 ก.ค. - พาไปชมความสวยงามของแนวปะการังรอบเกาะยา อ.สิเกา จ.ตรัง แหล่งดำน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะขณะนี้พบว่า แหล่งปะการังเหล่านี้มีการฟื้นตัวแตกกอสีสันสวยงาม พร้อมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง นี่คือความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของเหล่าปะการังใต้ท้องทะเล รอบๆ เกาะยา อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งจุดนี้ได้รับความนิยมจากนักดำน้ำทั้งไทยและต่างชาติ มาดำน้ำชมความสวยงามของโลกใต้ทะเลที่นี่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี นักดำน้ำกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสมาดำน้ำที่เกาะยาแห่งนี้ หลังจากปิดการท่องเที่ยวนานกว่า 3 เดือน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต่างตื่นตาตื่นใจกับภาพแนวปะการังที่พบว่ามีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ปะการังหลายชนิดมีการแตกกอขึ้นมาใหม่ และมีสีสันที่สวยงามเด่นชัดขึ้น ทั้งสีชมพู สีแดง สีเหลือง สีเขียว น้ำเงิน และสีม่วง เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ยังพบว่า ปะการังที่เคยมีปัญหาฟอกขาว กลับฟื้นคืนมาอย่างสวยงามด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน บรรดาสัตว์ทะเลที่อาศัยในแนวปะการัง จำพวกปลาสวยงาม ก็พบว่ามีจำนวนมากขึ้นและหลากหลายชนิดขึ้นเช่นกัน ทั้งปลาการ์ตูน ปลาสิงโต ปลาสลิดลายเสือ ปลานกแก้ว และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ว่ายวนเวียนในหมู่ปะการังอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่เริ่มดีขึ้น เป็นผลมาจากการปิดแหล่งท่องเที่ยวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการมาชมความสวยงามของปะการังที่เกาะยา นักท่องเที่ยวที่สามารถดำน้ำลึกได้ ก็ใช้อุปกรณ์ดำน้ำดำลงไปดื่มด่ำกับโลกใต้น้ำได้อย่างอิสระ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถดำน้ำลึกได้ เพียงใส่สน็อกเกิล ก็สามารถมองเห็นปะการังหลากสีสันได้อย่างชัดเจนในระดับน้ำที่ลึกประมาณ 2-3 เมตร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาดว่า ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอันดามัน และมีการเปิดแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมทั้งหมด จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเกาะยาเพิ่มมากขึ้น เพราะถือว่าที่นี่เป็นโลกใต้ทะเลที่สวยงาม หรือเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำแห่งใหม่ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน. https://www.mcot.net/viewtna/5f106996e3f8e40af846887c
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
"กรมเจ้าท่า" รับดินเลนขุดลอกร่องน้ำถมปะการังเกาะหนู-เกาะแมว "กรมเจ้าท่า" ยืนยันไม่ได้นำดินเลนจากการขุดลอกร่องน้ำไปทิ้งบริเวณที่มีปะการังเกาะหนู เกาะแมว ชี้อาจแจะถูกพัดพาไปโดยธรรมชาติ จนทำให้ปะการังเสื่อมโทรม แต่เร่งเดินหน้าแก้ปัญหา ด้านนักวิชาการ ระบุสภาพพื้นที่มีตะกอนจากฝั่งลงทะเล ต้องขุดลอกทิ้งทุกปี กรณีปัญหาร้องเรียนเรื่องปัญหาการขุดลอกทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา ซึ่งอาจมีการนำดินที่ขุดลอกไปทิ้งจนทำให้ปะการัง รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่เกาะหนู เกาะแมว เกิดปัญหาเสื่อมโทรม วันนี้ (16 ก.ค.2563) นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ชี้แจงว่า ตะกอนดิน อาจจะถูกพัดพามาโดยธรรมชาติ ระหว่างการขุดลอกทะเลสาบสงขลา ไม่ได้เป็นการตั้งใจนำดินเลนไปทิ้งบริเวณดังกล่าว เพราะกำชับให้ผู้รับจ้าง นำดินเลนไปทิ้ง ห่างจากฝั่ง 12 กิโลเมตร แต่จะตรวจสอบอย่างใกล้ชิด "ส่วนหนึ่งยอมรับว่ามาจากระหว่างการปฏิบัติงาน ช่วงที่นักประดาน้ำลงไปเป็นช่วงที่การช่วงที่ขุดร่องน้ำบริเวณเกาะแมวพอดี และในการขุดลอกจะมีตะกอนได้แน่ๆ และกระแสน้ำพัดจากเกาะหนู เกาะแมวได้ จะมีตะกอนลงไปถึงแนวปะการัง" ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนในจ.สงขลา ยืนยันจะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะแหล่งปะการังและหญ้าทะเลในจ.สงขลา มีน้อยมาก จึงเรียกร้องให้ร่วมกันรักษาคงระบบนิเวศทางทะเลไว้เพาะการขุดลอกทะเลสาบสงขลา 2 โครงการ คือการขุดทะเลสาบตอนล่าง และบริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าทางทะเล ที่คาดว่าเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดตะกอนดินจำนวนมาก ทับถมแหล่งหญ้าทะเล และแหล่งกัลปังหา บริเวนเกาะหนู เกาะแมว จนเกิดความเสียหายเสื่อมโทรม โดยเฉพาะหญ้าทะเล ที่เคยมีอยู่กว่า 6 ไร่ ขณะนี้เหลือเพียง 1 ไร่เศษ ตะกอนจากชายฝั่ง-ขุดลอกปัจจัยร่วม ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบทางกรมเจ้าท่า พยายามเร่งแก้ปัญหานี้ทันที หลังจากถูกร้องเรียนว่ามีการนำเอาดินจากการขุดลอกไปทิ้ง โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปบนเรือทุกครั้ง กำหนดจุดทิ้งตะกอนดินทางด้านเหนือห่างจากชายฝั่งประมาณ 12 กิโลเมตรและตรวจวัดโดยใช้จีพีเอส "ตะกอนที่ทับถมแนวปะการังส่วนหนึ่ง มาจากปากทะเลสาบสงขลา ซึ่งพัดพาจากชายฝั่งออกไปเกาะหนู เกาะแมว ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ทำให้มีปะการังเสื่อมโทรม รวมทั้งหญ้าทะเลบางชนิดเช่น หญ้าชะเงาใบกลม หายไปหลายปี " นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ส่วนปะการังบางชนิดมีแนวโน้มเสื่อมโทรมมาก เหลือบางกลุ่ม เช่น ปะการังจาน จะทนตะกอนสูง แต่ก็มีปะการังครอบคลุมพื้นที่แค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้พื้นที่แถวนี้เป็นร่องน้ำที่ใช้เดินเรือขนาดใหญ่ และเนื่องจากมีตะกอนที่พัดเข้ามาทุกปี ทำให้ต้องมีการขุดลอกตะกอนออกจากพื้นที่ทุกปี https://news.thaipbs.or.th/content/294647
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|