#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ เข้าสู่พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและควรงดออกจากฝั่ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2563 อนึ่ง พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ปัว จ. น่าน ประเทศไทย กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (พายุระดับ 1) ในวันนี้ ( 3 ส.ค. 63 ) กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝน ร้อยละ 70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 - 4 ส.ค. 63 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในวันที่ 5 - 8 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อนึ่ง พายุระดับ 3 ( โซนร้อน ซินลากู) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองทันหวา ทางตอนใต้ของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) ในวันนี้ จากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาว และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (พายุระดับ 1) ในระยะต่อไป ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 2 - 4 ส.ค. 63 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) (SINLAKU)" ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 03 สิงหาคม 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (3 ส.ค. 63) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ปัว จ. น่าน ประเทศไทย หรือที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 101.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (พายุระดับ 1) ในวันนี้ ( 3 ส.ค. 63 ) อนึ่ง ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ เข้าสู่พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย พื้นที่ที่คาดว่าจะได้ผลกระทบมีดังนี้ วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ภาคเหนือ: แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และชัยภูมิ ภาคกลาง: นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก: ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ภาคเหนือ: แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น และชัยภูมิ ภาคกลาง: นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก: ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: ระนอง พังงา ภูเก็ต เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรงดออกจากฝั่ง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2563 สำหรับพายุระดับ 3 (โซนร้อน ฮากูปิต) บริเวณด้านตะวันออกของเกาะไต้หวัน คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีนในช่วงวันที่ 3-4 ส.ค. 63 ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ชี้ชัดไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นหลังโควิด!! "ดร.ธรณ์" โชว์ตัวอย่างน้ำ เร่งทุกฝ่ายลดขยะพลาสติก หน่วยปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเลเก็บตัวอย่างน้ำ "ดร.ธรณ์" พบไมโครพลาสติกเพิ่มชัดเจนหลังโควิด เร่งทุกภาคส่วนทำทุกทางเพื่อลดวิกฤต "ขยะพลาสติก" ระบุปัญหาหลักของทะเลไทยหลังโควิดคือ "ขยะทะเล" ย้ำ 80% มาจากแผ่นดินและแม่น้ำลำคลอง ไม่ได้เกิดในทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ว่า "หลังโควิดขยะใช้แล้วทิ้งมีปริมาณสูงขึ้นอย่างน้อย 15% (กระทรวงทรัพยากรฯ) คณะประมงจึงออกเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกในน้ำ ก่อนพบว่ามีเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด #ไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นหลังโควิด ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ มีหน่วยปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเล เราทำงานกันตลอด โดยออกเก็บไมโครพลาสติกจากน้ำและจากสัตว์ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เราใช้แลปขยะทะเลที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของไทยในการวิเคราะห์" "จุดหนึ่งที่เราเก็บประจำคือปากแม่น้ำเจ้าพระยา และผมขอนำผลขั้นต้นมาแสดงให้ดู ภาพที่เห็นอยู่คือการกรองไมโครพลาสติกในน้ำปริมาตรใกล้เคียงกัน ที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพบนคือเดือนสิงหาคม 62 ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด ภาพล่างคือเดือนพฤษภาคม 63 เมื่อโควิดเกิดขึ้นแล้ว แค่ดูด้วยตา เราเห็นชัดเลยว่า ไมโครพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น" ?การเก็บของเราใช้ทีมเดิม เครื่องมือเดิม และวิธีการถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ผลงานในช่วงแรกนำเสนอในที่ประชุมต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ถึงตอนนี้ นักวิจัยยังทำงานอยู่ อีกทั้งยังต้องทำเปเปอร์ส่ง? "ผมจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เพิ่มขึ้นกี่เท่า หรือรายละเอียดอื่นๆ แต่ขอนำภาพมาให้เพื่อนธรณ์ดูก่อน เพราะเห็นแล้วรู้สึกไม่ดี อยากแจ้งไว้เนิ่นๆ ว่าขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งที่เพิ่มขึ้นมาก ตามที่หน่วยงานต่างๆ ระบุไว้ ตอนนี้มันกำลังลงไปสู่แม่น้ำและทะเล มันกลายเป็นไมโครพลาสติก สะสมในสัตว์น้ำ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และย้อนกลับมาทำร้ายเรา ขยะที่เพิ่มขึ้น มีทั้งมาจากการส่งอาหาร/ของ ที่มีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก บางส่วนอาจมาจากหน้ากากอนามัย ที่ใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่า และกำจัดไม่หมด" "ผมเคยบอกหลายครั้งว่า ปัญหาหลักของทะเลไทยหลังโควิด ไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่กลายเป็นขยะทะเล อย่าลืมว่า 80% ของขยะทะเลมาจากแผ่นดิน มาตามแม่น้ำลำคลอง ไม่ได้เกิดในทะเล จึงนำเรื่องนี้มาบอก เพื่อให้พวกเราช่วยกันทุกทาง ในการลดขยะทะเล/ไมโครพลาสติกพวกนี้ จะถือถุงถือแก้ว จะใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทน จะโปรโมต Circular Economy จะแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งบางประเภท จะทำอะไรควรรีบทำเถิด เพราะสถานการณ์ดูแล้วไม่ดีเลย" "ทะเลได้พัก - เป็นความจริงหรือไม่ ? หากเรายังทิ้งขยะมหาศาลลงไป สะสมกันมากมายในทะเลไทย ในอนาคต 10-20-30 ปี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลเพียงใด เรากรองไมโครพลาสติกออกจากน้ำทั้งทะเลไม่ได้ครับ... หมายเหตุ - ขอบคุณบริษัท GC และ ปตท.สผ. ที่สนับสนุนหน่วยปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์" https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000078921
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|