#1
|
||||
|
||||
ดำน้ำกับฝูงปลาหูช้าง
ดำน้ำกับฝูงปลาหูช้าง ........................... โดย วินิจ รังผึ้ง ตอนดำน้ำใหม่ๆเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อลงไปอยู่ท่วมกลางมวลน้ำสีฟ้าครามสดใสบริเวณกองหินหัวแหลมเกาะตาชัย เขตจังหวัดพังงา พวกเรามักจะได้ตื่นตาตื่นใจกับฝูงปลาหูช้างขนาดใหญ่นับร้อยๆตัว ว่ายเรียงรายกันอยู่เป็นกลุ่มกลางมวลน้ำ ลักษณะตัวแบนๆกว้างๆ ลำตัวสีขาวอมเทามองดูคล้ายกับว่าวหรือธงทิวที่กำลังโบกสะบัดไปมาอยู่กลางอากาศ นับเป็นภาพอันงดงามประทับใจยิ่งจนพวกอดไม่ได้ที่จะลอยตัวเข้าไปใกล้ๆฝูง แล้วยกกล้องถ่ายภาพใต้น้ำขึ้นกดชัตเตอร์บันทึกภาพแห่งความประทับใจเอาไว้ชื่นชม ด้วยรูปร่างลักษณะลำตัวที่แบนกว้างคล้ายๆกับใบหูใหญ่ๆของช้าง ชาวประมงพื้นบ้านจึงเรียกมันว่าปลาหูช้าง โดยปลาหูช้างนั้นอยู่ในวงศ์ Preciformes ครอบครัว Phippididae แต่ฝรั่งกลับเรียกชื่อสามัญของมันว่า Batfish หรือปลาค้างคาว ซึ่งถ้าดูจากลักษณะรูปร่างหน้าตาของปลาที่โตเต็มวัยแล้ว มันก็ไม่เห็นจะมีส่วนคล้ายกับค้างคาวสักหน่อย แต่เหมือนกับหูช้างตามที่ชาวประมงพื้นบ้านของเราเรียกขานกันมากกว่า แต่หากจะให้สันนิษฐานที่มาของชื่อปลาค้างคาวที่ฝรั่งเรียกกันแล้วก็น่าจะมาจากตอนที่ปลาชนิดนี้เป็นปลาวัยอ่อน ซึ่งจะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกับพ่อแม่ แต่จะมีครีบด้านบนหลังและครีบด้านใต้ลำตัวมีลักษณะยื่นยาวมองดูคล้ายกับใบไม้ขนาดใหญ่เก่าๆโทรมๆลอยน้ำอยู่ เวลาจะว่ายไปไหนก็จะพลิ้วไหวไป รวมทั้งลำตัวสีดำทั่วทั้งตัวและมีสีส้มสดคาดตามริมครีบเกือบรอบลำตัว ซึ่งสีสันที่ดำเหมือนค้างคาวกับการว่ายน้ำแบบพลิ้วไหวของปลาหูช้างในวัยเด็กนั้นอาจจะมองดูคล้ายๆกับค้างคาวที่กระพือปีกบินก็เป็นได้ ฝรั่งจึงเรียกมันว่าปลาค้างคาว แต่นักวิชาการก็บอกว่าสีดำบนลำตัวและขอบเส้นสีส้มแดงนั้น เป็นเป็นความพยายามจะพรางตัวให้เหมือนกับใบไม้แห้งเน่าเปื่อยที่ลอยอยู่ในน้ำ เพื่อให้ปลานักล่าทั้งหลายไม่สนใจ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดอีกวิธีหนึ่ง ปลาหูช้างนั้นในทะเลมหาสมุทรทั่วโลกมีการสำรวจพบ 18 ชนิด ในเขตอินโด-แปซิฟิกมีการสำรวจพบปลาสกุลนี้ 5 ชนิด โดยปลาหูช้างนั้นเมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวของลำตัวได้ถึง 50 เซนติเมตร เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูงหรือรวมเป็นกลุ่มเล็กๆ มีนิสัยรักสงบชอบว่ายน้ำช้าๆ ค่อนข้างเชื่องและยอมให้นักดำน้ำว่ายลอยตัวเข้าไปใกล้ๆ แต่แม้นจะดูว่ามันลำตัวแบนๆ ว่ายน้ำช้าๆ ด้วยการโบกลำตัวและส่วนหางอย่างช้าๆ แต่แทบไม่น่าเชื่อว่ามันก็สามารถจะว่ายสู้แรงกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวแรงได้อย่างสบายๆ และบางช่วงที่มันตื่นตกใจหรือเกิดความไม่ไว้วางใจที่จะให้เราเข้าไปใกล้ นักดำน้ำก็อย่าหมายว่าจะว่ายน้ำไล่กวดมันได้ทัน เพราะมันจะว่ายน้ำรักษาระยะห่างให้ค่อยๆทิ้งห่างออกไป ในทางตรงกันข้ามถ้าโชคดีไปเจอกับปลาหูช้างฝูงใหญ่นับร้อย ๆ ตัวในขณะที่มันลอยตัวกินอาหารพวกแพลงก์ตอนขนาดเล็กๆที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำอยู่ ช่วงนั้นมันก็ดูจะไม่สนใจอะไรเลย แม้นจะว่ายเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับฝูงหรือจะถ่ายภาพมากน้อยแค่ไหน มันก็จะไม่ตื่นตกใจหนีไปไหน ยิ่งในช่วงที่มันลอยตัวนิ่งๆ ปล่อยให้ปลาพยาบาลทำความสะอาดตามสถานีทำความสะอาดนั้นยิ่งเป็นโอกาสดีสำหรับการเข้าไปถ่ายภาพ เพราะนอกจากมันจะลอยตัวนิ่งๆเป็นแบบให้อย่างดีแล้ว มันยังจะเปลี่ยนสีสันบนลำตัวจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลเทาเข้มมาเป็นสีขาวสลับไปมาอย่างเห็นได้ชัดเจน ปลาหูช้างนั้นจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ปล่อยให้ไข่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ จนกว่าไข่จะฟักเป็นตัวและเติบโตขึ้นเป็นลูกปลาวัยอ่อน ซึ่งช่วงที่ใช้ชีวิตเป็นลูกปลาวัยอ่อน ลูกปลาหูช้างก็มักจะชอบอาศัยอยู่ตามแนวน้ำตื้น เช่นบริเวณป่าชายเลน ตามแนวน้ำกร่อย หรืออาศัยอยู่ตามเสาตอม่อของสะพานท่าเรือ หรือบางครั้งก็อาจจะพบเห็นมันว่ายเข้าไปในเขตน้ำจืดตามปากแม่น้ำ แต่เมื่อมันเติบโตเต็มวัยก็ชอบออกไปอยู่อาศัยในเขตน้ำลึกแถวกองหิน แนวปะการัง หรือหมู่เกาะที่ไกลฝั่งออกไป ด้วยปลาหูช้างนั้นดูเป็นปลาที่บอบบาง เพราะมีลักษณะลำตัวแบนๆ ว่ายน้ำช้า ไม่ปราดเปรียว ไม่มีเขี้ยวคมไว้ป้องกันตัว มันจึงมักตกเป็นเหยื่อของปลานักล่าขนาดใหญ่ได้โดยง่าย แถมลักษณะนิสัยการชอบรวมฝูงกันว่ายเวียนหาอาหารอยู่กลางมวลน้ำ จึงเป็นการง่ายที่จะติดอวนของชาวประมงที่ลากผ่านมา เรียกว่าลากอวนติดทีก็ได้ยกฝูงกันเลยทีเดียว ทุกวันนี้เราจึงหาดูปลาหูช้างที่ว่ายเวียนกันมาเป็นฝูงใหญ่ๆนับร้อยๆตัวได้ยากเย็นเต็มที ซึ่งปลาหูช้างนั้นดูๆไปหุ่นก็คล้ายๆกับปลาจาระเม็ดแต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า แถมเนื้อก็อร่อย ผู้คนเลยนิยมนำมาปิ้งย่าง นำมาทำแกงส้ม ปลาชนิดนี้จึงมักจะถูกล่าขึ้นมาอยู่ทุกวัน นอกจากการล่าจากการทำประมงเพื่อนำขึ้นมาเป็นอาหารแล้ว ปลาหูช้างยังเป็นปลาที่สวยงาม ว่ายน้ำช้าๆ และชอบว่ายรวมฝูงกันอยู่กลางห้วงน้ำ มันจึงเป็นที่หมายตาของบรรดาอะควอเรียมทั้งหลายที่ต้องการจะสั่งให้จับปลาหูช้างส่งเข้ามาเลี้ยงและจัดแสดงในอะควาเรียม ซึ่งการจับปลาจากแหล่งธรรมชาติเข้ามาส่งให้อะควอเรียมนั้น ปลาส่วนใหญ่จะตาย ที่เหลือรอดก็จะบอบช้ำและอยู่ได้ไม่นานก็จะเสียชีวิต ซึ่งก็มีความพยายามจากสถานีวิจัยประมงบางแห่งที่ทำการศึกษาวิจัยและเพาะเลี้ยงปลาหูช้างเพื่อขยับขยายถ่ายทอดส่งเสริมให้ชาวประมงทำการเลี้ยงเพื่อส่งขายในตลาดปลาเลี้ยงต่อไป จากความอ่อนไหวและบอบบางของปลาหูช้าง กับความต้องการทั้งการนำไปบริโภคและการจับมาส่งขายเป็นปลาเลี้ยงโชว์ในตู้ จึงทำให้ปริมาณของปลาหูช้างในท้องทะเลลดลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ตามแหล่งดำน้ำที่เคยพบเห็นปลาหูช้างอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ๆนับร้อยๆตัว อย่างแถวเกาะตาชัย เกาะบอน เกาะสิมิลัน ก็กลายเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากเต็มที จะมีเหลือก็เป็นฝูงเล็กๆ รวมกันอยู่เพียงไม่กี่ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เพราะอีกหน่อยเราอาจจะไม่เหลือภาพของฝูงปลาที่สวยงามและบอบบางเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นก็เป็นได้ จาก ........................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|