#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและประเทศลาวตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (24 ก.พ. 67) ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 24 ? 26 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในช่วงวันที่ 27- 29 พ.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหล้วในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.พ. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26 ? 29 ก.พ. 67 ลมตะวันออกกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 24 - 26 ก.พ. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในระยะแรก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
สำเร็จถอดป้ายเรือหลวงสุโขทัย ส่งมอบกองทัพเรือ เตรียมแผนกู้อาวุธของเรือ นักประดาน้ำไทย-สหรัฐฯ ดำน้ำ ถอดป้ายชื่อเรือหลวง "สุโขทัย" ที่ติดตั้งอยู่ทางกราบขวาเรือได้สำเร็จ หลังจากวันแรกถอดไม่ออก เพราะมีสัตว์ทะเลเกาะแน่น นำขึ้นมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเก็บรักษา ขณะที่ภารกิจกู้ซากเรือหลวง มรณะยังอยู่ในขั้นตอนดำน้ำถ่ายภาพสำรวจรอบตัวเรือ เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญวางแผนเข้าปลดวัตถุอันตรายในตัวเรือ ผ่านไปกว่า 1 ปี ภายหลังเรือหลวงสุโขทัย อับปางลงกลางทะเลอ่าวไทย เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 ม.ค.65 ขณะนำกำลังพล 105 นาย ออกเดินทางจากกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จ.ชุมพร แต่ถูกพายุคลื่นลมแรงซัดกระหน่ำจมลงใต้น้ำลึก 40 เมตร ห่างชายฝั่งในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล กำลังพลรอดตาย 76 นาย เสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย วันที่ 2 ของปฏิบัติการในภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (แบบจำกัด) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.พ.ว่า บรรยากาศที่ท่าเรือประจวบฯ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเช้า ร.ล.บางระจัน เรือ ต.997 และเรือ ต.998 พร้อมกำลังพลได้ออกไปปฏิบัติภารกิจในจุดพิกัดที่เรือหลวงสุโขทัยจมลงกลางทะเลอ่าวไทย ห่างชายฝั่งราว 20 ไมล์ทะเล ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ ร.ล.มันใน และ ร.ล.ท่าดินแดง ไม่ได้ออกร่วมภารกิจด้วย ยังคงจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือประจวบฯ ขณะที่บนเรือ Ocean Valor ที่จอดลอยลำอยู่ในอ่าวไทย ใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ชุดปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายในเรือหลวงสุโขทัยที่จมอยู่ใต้น้ำ ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร กองทัพเรือได้แจ้งสรุปผลการปฏิบัติงานในวันแรก 22 ก.พ.ว่า ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการ 3 เที่ยว เป็นการถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัยทางกราบขวา แต่ไม่สามารถถอดได้ เนื่องจากป้ายยึดแน่นจากการที่สัตว์ทะเลเกาะอยู่บนพื้นผิว ประกอบกับเวลาปฏิบัติการใต้น้ำไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนการเก็บกู้ป้ายชื่อเรือไปดำเนินการในวันถัดไป จากนั้นได้ดำน้ำถ่ายภาพบริเวณเครื่องกว้านสมอ ทางเข้า (ฝา Hatch) หน้าเครื่องกว้าน และรอยฉีก หน้าโครงกันคลื่น (Wave breaker) การปฏิบัติการวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สภาพทะเลและอากาศไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน กระทั่งในวันนี้ 23 ก.พ. ชุดปฏิบัติการได้วางแผนการดำน้ำ 4 เที่ยว เที่ยวที่ 1 และ 2 ดำน้ำสำรวจตัวเรือภายนอก และถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย เที่ยวที่ 3 และ 4 ดำน้ำเพื่อตรวจวัดรอยทะลุบริเวณหัวเรือ และตรวจสอบประตูผนึกกั้นน้ำบริเวณท้ายเรือ และที่แท่นอาวุธปล่อย Aspide บริเวณท้ายเรือ จากการดำน้ำในช่วงเช้า ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือทั้ง 2 ประเทศ สามารถนำป้ายเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งของชิ้นแรกที่นำขึ้นมาจากเรือได้เป็นผลสำเร็จ และนำส่งให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเก็บรักษาดูแล ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับป้ายชื่อ "สุโขทัย" ที่นำขึ้นมานั้น เป็นแผ่นป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีตัวอักษรเป็นโลหะทองเหลือง บนแผ่นป้ายมีเพรียงและหอยเกาะอยู่ทั่วทั้งแผ่นจนมองตัวหนังสือได้ค่อนข้างลำบาก ป้ายแผ่นนี้ติดอยู่ทางกราบขวาของสะพานเดินเรือ บนแผ่นป้ายมีข้อความเป็นตัวหนังสือสองบรรทัด บรรทัดบนเป็นอักษรไทยคำว่า"สุโขทัย" และบรรทัดล่างเป็นอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า "SUKHOTHAI" สำหรับป้ายชื่อเรือถือเป็นสิ่งของทหารเรือให้ความสำคัญ หากเรือรบเกิดอับปาง จะต้องถอดแผ่นป้ายชื่อเรือออกมาเก็บรักษาไว้ ต่อมาเวลา 17.00 น. กองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของนักประดาน้ำและเจ้าหน้าที่บนเรือ Ocean Valor จำนวน 2 คลิป เป็นภารกิจปลดป้ายเรือหลวงสุโขทัยและนำขึ้นมาจากใต้ทะเล คลิปแรก ความยาว 1.31 นาที เผยให้เห็นสภาพการทำงานใต้น้ำในช่วงวินาทีที่นักดำน้ำ 2 คนกำลังช่วยกันถอดป้าย ?สุโขทัย? ออกจากกราบเรือด้วยความยากลำบาก และอีกคลิปความยาว 34 วินาที เผยให้เห็นช่วงจังหวะที่กระเช้าบนเรือ Ocean Valor ดึง 2 นักประดาน้ำขึ้นจากทะเล บนกระเช้าได้นำป้าย"สุโขทัย" ที่ปลดออกจากเรือขึ้นมาด้วย https://www.thairath.co.th/news/local/east/2765649
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
วิกฤตหญ้าทะเลตรัง! นักวิจัยชี้เหตุ "เอลนีโญ่" ทำระดับน้ำทะเลเปลี่ยน ปีที่ผ่านมา พะยูนตรังเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 4 ตัว ตายทั้งหมด 19 ตัว หรือตายประมาณร้อยละ 7 โดยเกือบทั้งหมดเป็นตัวเต็มวัย และไม่ได้อดหญ้า ภายในกระเพาะอาหารยังพบหญ้าทะเลตามปกติ แต่กลับพบว่าป่วยตาย อาจเพราะร่างกายอ่อนแอจากปัญหาระบบนิเวศทางทะเลที่เสียหาย คณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ตลอดจนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน นักอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ปูพรมลงพื้นที่สำรวจศึกษาตลอดระยะเวลา 3 วัน (14-16 ก.พ.2567) ทั้งพื้นที่เกาะมุกด์ เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายกว่า 190 ตัว และพื้นที่หญ้าทะเลอื่น ๆ ของ จ.ตรัง ทั้งนี้จากกรณีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์นากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ควงนักวิชาการทางทะเลลงพื้นที่สำรวจวิกฤตหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจ.ตรังนับหมื่นไร่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศ รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ พร้อมสั่งการแก่ไขด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล 2.การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ3.กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ จึงได้จัดทีมกระจายกันลงพื้นที่สำรวจแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จ.ตรังต่อเนื่องในบริเวณพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง บริเวณอ่าวหยงหลำ และ บริเวณอ่าวขามหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยทำการสำรวจสภาพความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว อย่างครอบคลุมรอบด้านเช่นเดียวกับบริเวณพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง ทั้งงานด้านระบบนิเวศ งานด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และงานด้านสัตว์ทะเลหายาก ทั้งในระดับน้ำตื้นและน้ำลึก พร้อมเก็บตัวอย่างหญ้าทะเล ตะกอนดิน น้ำ รวมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำ ค่าออกซิเจนในน้ำ การวัดค่า PH ในน้ำ วัดความเค็ม วัดค่าความขุ่นของน้ำ วัดระดับของแสงในน้ำ มีการดำน้ำลงไปสำรวจแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณน้ำลึกด้วย เพื่อดูสภาพความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ภาพรวมพบว่าบริเวณน้ำตื้นจะมีตะกอนดิน รวมทั้งทราย ทับถมหนาแน่น ทำหญ้าคาทะเลเสียหายทั้งหมดหลงเหลือความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ขณะที่ในบริเวณน้ำลึกแม้หญ้าคาทะเลจะไม่ผึ่งแห้ง แต่ก็มีความเสียหายเป็นบริเวณกว้างเช่นเดียวกัน บางส่วนเน่าตายเหลือแต่เหง้า บางส่วนเหลือความยาวประมาณ 10 ? 30 เซนติเมตร เท่านั้น จึงเก็บตัวอย่างทั้งหมดเช่นเดียวกัน เพื่อนำไปตรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป ทั้งนี้มีรายงานจากภาคประชาชนและนักอนุรักษ์ในพื้นที่ สันนิษฐานจากหลายสาเหตุ อาทิ การกัดกินของเต่าทะเล โรคที่เกิดในหญ้าทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สันดอน ร่องน้ำ การเครื่องย้ายของตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า "จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่บริเวณเกาะลิบง พบหญ้าทะเลถูกทับถมด้วยตะกอนดิน และทรายเกาะหนาแน่นมากขึ้น เดินย่ำลงไปดินไม่มีการยุบตัว หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมอย่างมาก ใบขาดสั้น มีเหง้าและรากแตกใหม่อยู่บ้าง แต่สภาพไม่ดีแล้ว แต่หญ้าใบมะกรูดอาหารพะยูนที่ขึ้นบนเนินใกล้ชายฝั่งก็ยังมีเยอะอยู่พอสมควร""เช่นเดียวกับบริเวณเกาะมุกด์ หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมอย่างมาก แต่บริเวณน้ำตื้นหญ้าใบมะกรูดยังเจริญเติบโตดีประมาณ 70-80 % เชื่อว่ายังเพียงพอสำหรับอาหารพะยูน ส่วนสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย เช่น ข้อมูลที่ตรงกันทั้งการจัดเก็บข้อมูลของศูนย์วิจัย ทั้งของชาวบ้าน และข้อมูลของสถานีอุทกศาสตร์บริเวณบ้านหาดยาวที่ระบุตรงกันว่า ปีนี้น้ำทะเลลดต่ำลงมากกว่าปกติ และระยะลงถอยร่นลงไปต่ำกว่าเดิมประมาณ 5-6 เมตร และเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลเกิดการผึ่งแห้งนานกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลง รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ่" "เรื่องหญ้าทะเลโอกาสจะฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมนั้นคงยากมาก เพราะว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแล้ว เช่นลักษณะดินตะกอน อาจต้องรอประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ฟื้นตัว ส่วนการพบพะยูนบริเวณพื้นที่เกาะมุกด์มากขึ้น อาจเป็นเพราะมีหญ้าใบมะกรูดมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าหญ้าใบมะกรูดยังมีเพียงพอสำหรับพะยูน เพราะพะยูนเกยตื้นร่างกายไม่ได้ซูบผอม ในกระเพาะยังมีอาหาร แต่เกิดจากการป่วยตายซึ่งอาจเกิดจากปัญหาระบบนิเวศรวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ่" . ทั้งนี้ จากการสำรวจของทีมศูนย์วิจัยฯ พบว่า พะยูนในทะเลตรังมีจำนวน 273 ตัว ส่วนที่ตายลงประมาณ 20 ตัวของปีที่ 2566 ผ่านมา ไม่ได้ทำให้พะยูนวิกฤต เพราะอัตราการตายยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะพะยูนเพิ่มขึ้นมามาก แต่ยอมรับว่าทุกคนกังวลทั้งความอยู่รอดของพะยูนและปากท้องของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสัตว์น้ำทะเลหายไป ซึ่งทีมนักวิชาการจะช่วยกันเต็มที่ในการเร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาหญ้าทะเลในพื้นที่ ที่ขึ้นชื่อว่าเมืองหลวงของพะยูน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อตอนปี 2563 บริเวณเกาะลิบงก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเกาะลิบงและหน่วยงานราชการลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูน บริเวณหาดตูบ อ.กันตัง จ.ตรัง เคยพบปรากฎการณ์หญ้าทะเลตายเสียหายนับ 3,000 ไร่ https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000016519
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ครู - นักเรียน จ.ลพบุรี วิ่งหนีอลหม่าน ควันไฟเผาไร่อ้อย ปกคลุมทั่วพื้นที่ ครู นักเรียน จ.ลพบุรี หนีอลหม่าน ควันไฟเผาไร่อ้อย ปกคลุมทั่วบริเวณ บางคนหายใจไม่ออกต้องส่งโรงพยาบาล ครูอพยพนักเรียนโรงเรียนซอย 3 สาย 4 ซ้าย ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี กว่า 300 คน ออกจากโรงเรียนกันอลหม่าน หลังกลุ่มควันไฟจากการเผาอ้อยปกคลุมไปทั่วบริเวณ โดยเด็กบางคนมีอาการหายใจไม่ออก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล บางคนร้องไห้เพราะตกใจกลัว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จึงสามารถดับไฟได้ จากการสำรวจโรงเรียนแห่งนี้อยู่ติดกับไร่อ้อย พื้นที่ประมาณกว่า 30 ไร่ จุดที่เกิดเหตุอยู่ด้านหลังของโรงเรียน พบร่องรอยถูกเผาไหม้บางส่วน สันนิษฐานว่าสาเหตุจากเจ้าของไร่มีการทำแนวกันไฟ นายสายันต์ ยิ้มแฉ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ซอย 3 สาย 4 ซ้าย กล่าวว่า วันเกิดเหตุขณะนักเรียนกำลังเรียนหนังสืออยู่ เกิดไฟไหม้ไร่อ้อยจนมีกลุ่มควันจำนวนมากลอยเข้ามาในโรงเรียน ส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ จึงตัดสินใจอพยพนักเรียนออกจากโรงเรียน เพราะหวั่นไฟจะลุกลามไหม้เข้าไปในโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และสั่งปิดเรียนเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้คุณครูและเจ้าหน้าที่ ช่วยกันทำความสะอาดตามห้องเรียนไม่ให้กระทบการเรียนการสอน แม้โรงเรียนจะมีแผนเผชิญภัยพิบัติ แต่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่งดเผาไร่อ้อย เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะที่ นายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอเมืองลพบุรี เปิดเผยว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากการลักลอบเผาไร่อ้อย แต่มีคนเข้าไปจุดไฟถางป่าบริเวณอื่น แล้วลุกลามเข้ามาในไร่อ้อยจนขยายเป็นวงกว้าง ทำให้ดับไฟไม่ทัน ซึ่งเจ้าของไร่อ้อยได้ไปแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว สั่งการให้ฝ่ายปกครองรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่ต่อเนื่อง และดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผาทุกราย โดย อ.เมืองลพบุรี เป็นพื้นที่ห้ามเผาเด็ดขาด ด้านนายวิโรจน์ ผดุงกลิ่น นายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดลพบุรี ระบุว่า ขณะนี้มีปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าโรงงานในพื้นที่แล้วกว่า 550,000 ตัน โดยร้อยละ 30 เป็นอ้อยตัดสด, ร้อยละ 70 เป็นอ้อยไหม้ไฟ จากนอกพื้นที่ ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีตัดอ้อยสด มีเพียงร้อยละ 20 ที่ยังเผา เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ล่าสุด โรงงานหีบอ้อย ขอขยายเวลาเปิดรับอ้อยไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ จากเดิมที่จะปิดรับในวันที่ 25 ก.พ.นี้ ส่วนอีกพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกไร่อ้อย เร่งขนอ้อยไปส่งโรงงานหีบอ้อย ใน อ.ด่านช้าง เพราะใกล้จะปิดรับอ้อยในสัปดาห์หน้า จากการสังเกต พบว่าปีนี้เกษตรกรเลือกใช้วิธีตัดอ้อยสด มากกว่าอ้อยไหม้ไฟ เพราะได้ราคาดี เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา https://www.thaipbs.or.th/news/content/337389
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'มอส' พันปี ใน 'แอนตาร์กติกา' แห้งเฉาตาย จาก 'ภาวะโลกร้อน' ............. โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล KEY POINTS - "มอส" สายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีเฉพาะใน "แอนตาร์กติกา" กำลังแห้งเฉาตายจาก "ภาวะโลกร้อน" และโดนวัชพืช หรือมอสสายพันธุ์อื่นที่แข็งแรงกว่ารุกราน - ในสภาวะปรกติแล้ว มอสแอนตาร์กติกส่วนใหญ่จะมีสีเขียว แต่จะกลายเป็นสีแดงเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ขาดน้ำ ซึ่งถ้าสภาพแวดล้อมยังไม่สมบูรณ์ จะแห้งเฉาตายกลายเป็นกลายเป็นสีเทาในที่สุด - มอสจะช่วยให้พื้นแผ่นดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียมมากกว่า รวมถึงมีการทำงานของเอนไซม์ในดินมากกว่าพื้นดินที่เปล่าที่ไม่มีพืชปกคลุม "แอนตาร์กติกา" ทวีปที่ขึ้นชื่อว่าเหน็บหนาวและขาวโพลนที่สุดในโลก ไร้ต้นไม้ แต่ที่จริงแล้วดินแดนแห่งขั้วโลกใต้มี "มอส" พันธุ์ท้องถิ่นที่หาไม่ได้ในพื้นที่อื่นในโลกขึ้นอยู่ แต่ด้วย "ภาวะโลกร้อน" ทำให้พืชจิ๋วค่อย ๆ ตายลง และถูกแทนที่ด้วยวัชพืช นักวิจัยพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษาพืชพันธุ์ที่สำคัญกับทวีปนี้ไว้อย่างสุดความสามารถ มอส สามารถอยู่รอด ต้านภัยความหนาวเย็นและลมแรงของทวีปแอนตาร์กติกาได้นานหลายศตวรรษหรือนับพันปี โดยนักวิทยาศาสตร์ยกให้เป็น "ป่าขนาดจิ๋วที่เก่าแก่ที่สุด" ซึ่งพืชจิ๋วเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของแอนตาร์กติกา อีกทั้งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ล่วงรู้สภาพอากาศในอดีตได้อีกด้วย แต่ในตอนนี้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" กำลังรบกวนระบบนิเวศของทวีปแอนตาร์กติกา นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามค้นหาวิธีการปกป้องสายพันธุ์มอสที่มีอยู่เฉพาะที่นี่เท่านั้น "มอส" พืชสำคัญใน "แอนตาร์กติกา" มอสเป็นหนึ่งในพืชชนิดแรก ๆ ที่วิวัฒนาการมาอยู่บนบก เป็นพืชชนิดที่ไม่มีท่อลำเลียงน้ำและสารอาหาร ทำให้มีขนาดเล็กจะเติบโตได้อย่างจำกัด ดังนั้นพวกมันจึงมีลักษณะเป็นกระดุมเล็ก ๆ และเป็นพืชสายพันธุ์หลักในทวีปแอนตาร์กติกา โดยจะเติบโตเฉพาะในพื้นที่ปลอดน้ำแข็ง ในตอนนี้มีประมาณ 54,200 ตารางกิโลเมตร (แต่ในตอนนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาวะโลกร้อน) ซึ่งส่วนมากอยู่ในบริเวณชายฝั่ง เกาะใต้แอนตาร์กติกนอกชายฝั่ง ยอดเขาที่ห่างไกล เทือกเขา และหุบเขา รวมถึงมอสบางสายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตในทะเลสาบได้อีกด้วย สตีเฟน โชว์น ผู้อำนวยการของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมในแอนตาร์กติกา หรือ SAEF ทำหน้าที่ปกป้องรักษามอสเหล่านี้ "ไม่มีระบบนิเวศใดในโลกที่มอสมีบทบาทสำคัญเท่ากับแอนตาร์กติกา" ปรกติแล้วมอสในแอนตาร์กติกาจะมีชีวิตอยู่ภายใต้พายุฤดูหนาวราว ๆ 9-10 เดือน เมื่ออากาศอุ่นขึ้นเล็กน้อยในเดือนธันวาคม มอสที่แข็งตัวจะละลายและดูดซับน้ำเหมือนฟองน้ำ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของมอสที่สามารถต่ออุณหภูมิที่ต่ำมากและความแห้งแล้งได้เป็นเวลานาน ไม่มีพืชชนิดอื่นที่สามารถเอาชีวิตรอดจากสภาพอากาศรุนแรงนี้ได้ ในแต่ละปีมอสจะเติบโตได้เพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตรต่อปี เพราะมีเวลาเติบโตสั้นมาก จึงต้องอาศัยการแพร่กระจายของสปอร์สำหรับขยายพันธุ์ ไปขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ จากการศึกษาพบว่า พื้นดินที่มีต้นมอสปกคลุมจะมีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียมมากกว่า รวมถึงมีการทำงานของเอนไซม์ในดินมากกว่าพื้นดินที่เปล่าที่ไม่มีพืชปกคลุม นอกจากนี้มอสยังช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน การหมุนเวียนของสารอาหาร และการสลายอินทรียวัตถุ ซึ่งเป็นกระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตบนโลก อีกทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น หมีน้ำ เป็นต้น มอสแอนตาร์กติกาสามารถกลับมามีชีวิตหลังจากฝังอยู่ใต้ธารน้ำแข็งมานานหลายศตวรรษ ด้วยความสามารถนี้ทำให้มอสกลายเป็นเหมือนไดอารี่ที่บันทึกสภาพอากาศในอดีต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีมอสที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุไม่ต่ำกว่า 5,500 ปี "มอส" กำลังเปลี่ยนสี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แอนตาร์กติการ้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทวีป ซึ่งจะทำให้มอสจะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ามอสในฝั่งตะวันออกกลับเหี่ยวเฉาลง เมลินดา วอเตอร์แมน และทีมวิจัยได้ค้นพบสัญญาณสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการผ่าตัดขวางของต้นมอส "มีตัวอย่างมอสมากมายจากแอนตาร์กติกาตะวันออกที่กำลังแห้งตาย ซึ่งในตอนนี้เรากำลังตรวจสอบในเขตต่าง ๆ ว่ามีแนวโน้มเฉาตายหรือไม่" ในสภาวะปรกติแล้ว มอสแอนตาร์กติกส่วนใหญ่จะมีสีเขียว แต่จะกลายเป็นสีแดงเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น การขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากเม็ดสีในต้นมอสเปลี่ยนสีเมื่ออยู่ภายใต้ความเครียด แต่ถ้ามอสอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับสารอาหารเพียงพออีกครั้ง ก็สามารถกลับมาเป็นสีเขียวได้อย่างเดิม แต่หากไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอก็จะกลายเป็นสีเทาและตายในที่สุด ฮวน ซานดิโน ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ กำลังพัฒนาระบบอัลกอริธึมในการใช้สีของมอสในการประเมินสุขภาพของพวกมัน เพื่อหาทางช่วยชีวิตพืชสำคัญของทวีปได้อย่างทันท่วงที ในตอนนี้แอนตาร์กติกาตะวันออกมีสภาพอากาศแห้งแล้งมากขึ้น ทำให้มอสพื้นเมืองถูกรุกรานจากสายพันธุ์ที่แข็งแรงกว่าและพบได้ทั่วโลก ขณะเดียวกันมอสในฝั่งคาบสมุทรแอนตาร์กติกากำลังถูกวัชพืช เช่น หญ้าแอนนัวบลูแกรสส์ เข้าแทนที่ นักวิจัยหวังว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องของพวกเขาจะช่วยสามารถปกป้องพืชท้องถิ่นที่สำคัญกับแอนตาร์กติกาไม่ให้สูญพันธุ์ไปได้ "แอนตาร์กติกาเป็นสถานที่ที่พิเศษมากบนโลก เรามีหน้าที่ต้องดูแล" ศาสตราจารย์โชว์นกล่าวทิ้งท้าย ที่มา: ABC, The Conversation https://www.bangkokbiznews.com/environment/1114693
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณที่ยังมีข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อมให้อ่านทุกวันค่ะ
__________________
Saaychol |
|
|