เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 03-08-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default ประเทศไทย กับภัยพิบัติ (2)


น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต


โหราจารย์ และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิด ภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ

โหราจารย์และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ โดยยกตัวอย่างการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนมาอ้างอิงเกจิบางคนถึงกับประเมินความเสียหายแล้วเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเตรียมย้ายเมืองหลวงหนีน้ำตั้งแต่วันนี้ด้วยซ้ำ 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภัยธรรมชาติอยู่หลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการเกิดอุทกภัย บางปีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมดินโคลนถล่ม และที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั้งโลกคือการเกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล ฝั่งอันดามันกลายเป็นคลื่นยักษ์ ′สึนามิ′ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พบผู้เสียชีวิตมากมายในหลายประเทศและแม้ว่าการทำงานของภาครัฐได้พยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสร้างเครื่องมือเตือนภัยทันสมัยมากขึ้นเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าในการโยงภัยพิบัติเข้ากับคำทำนาย ′วันสิ้นโลก′ ของหลายสำนักกลับสร้างกระแสความเชื่อให้คนไทยมากกว่า

ล่าสุดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ′สุริยคราส′ ก็ไม่รอดพ้นจากการทำนายของโหร และการทำพิธีแก้เคล็ด ′กบกินเดือน′ ของพระบางวัด ′หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ไปแล้ว การเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้น′ เป็นข้อสรุปของโหราจารย์ หลังจากเพ่งตำแหน่งดวงดาว การทำความจริงให้ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล โดยนำเอาสถิติที่ หน่วยงานรัฐได้เก็บรวบรวมก็จะพบว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอุทกภัยสร้างความเสียหายมากที่สุดอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์

เช่นเดียวกับความเห็นของ นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน ที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรม ทรัพยากรธรณี ในระหว่างสัมมนาเรื่อง "ปัญหาภัยธรรมชาติด้านแผ่นดินไหว อุทกภัยและดินโคลนถล่ม" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่การ เกษตรและชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งเน้นย้ำว่าการปฏิบัติกับภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สุดคือ "การทำความจริงให้ปรากฏ"

เพราะนอกจากการนั่งทางใน ใช้ญาณวิเศษเพ่งนิมิตแล้ว นายวรวุฒิให้ความเห็นว่าปัญหาคือนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องภัย ธรรมชาติส่วนใหญ่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว

สำหรับ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยที่สุดคือน้ำท่วม เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศที่มีลมมรสุมพัดผ่านอยู่เสมอ เมื่อฝนตกหนักทำให้หลายครั้งเกิดดินโคลนถล่มบ้านเรือนเสียหาย แต่ที่พบได้น้อยและโอกาสเกิดได้ยากที่สุดคือแผ่นดินไหว

อุทกภัยพินาศแสนล้าน

ทั้ง นี้ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2532-2551 (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551) พบว่ามีการเกิดเหตุ 208 ครั้ง ความเสียหายด้านทรัพย์สินและสาธารณประโยชน์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,516,117,089 บาท มีราษฎรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกว่า 75 ล้านคน ใน 19 ล้านครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2,885 คน ความ เสียหายที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าแสนล้านบาทนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่าสังคมไทย ได้ตระหนักและมีมาตรการป้องกันต่อภัยพิบัติในอนาคตอย่างไร

นาย สุพัตร วัฒยุ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน เปิดประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นว่าทำไมน้ำถึงท่วม โดยอธิบายถึงสาเหตุที่จะทำให้น้ำท่วมว่ามีอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1.น้ำ ถ้า มีปริมาณเยอะ ก็สามารถทำให้ท่วมได้ 2.แม่น้ำ ถ้าทางไหลของน้ำมีขนาดเล็กก็ทำให้น้ำท่วมได้ และ 3.พื้นที่ ถ้าขนาดพื้นที่ระบายน้ำแคบ ก็ทำให้น้ำท่วมได้

ถ้า ไม่มีอันใดอันหนึ่ง ก็จะไม่เกิดน้ำท่วม ถ้าปริมาณน้ำมีเยอะ แต่แม่น้ำมีขนาดเล็ก แน่นอนมันล้นตลิ่ง เมื่อล้นตลิ่งแล้วจะท่วมไปไกลไหม ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำจะท่วม ถ้าจะดูว่าทำไม น้ำมันเกิดขึ้นมากได้อย่างไร สิ่งที่เป็นปัจจัย 4 เรื่องที่จะเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วม เรื่องแรกคือตัวฝน ซึ่งเราคุมไม่ได้ ฝนตกหนัก คือหากตกลงมา 100 มิลลิเมตร ใน 1 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเครื่องเตือน เราจะทำอย่างไร กะละมังง่ายที่สุด ว่าชั่วโมงนั้นฝนตกกี่มิลลิเมตร หากปริมาณน้ำฝนมีความสูงวัดได้ 10 เซนติเมตร ก็คือ 100 มิลลิเมตร เป็นวิธีการง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยอะไรมากนัก แต่ถ้ามีก็ดี คือมีสิ่งที่เตือนภัยก็จะดี

นาย สุพัตรกล่าวอีกว่า เมื่อฝนตกมีปริมาณมาก ความเข้มของฝน พืชคลุมดิน ชนิดของดินในการดูดซึม ก็จะเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำมากหรือน้ำน้อย ′ ฝนที่ตกลงมาส่วนหนึ่งก็ค้างอยู่ตามใบไม้ ต้นไม้ กอหญ้า ถ้าความหนาแน่นของพืชคลุมดินมาก ก็จะทำให้การดักน้ำเอาไว้มากไปด้วย เหลือน้ำที่จะไหลลงมาสู่ดินได้น้อย แต่พืชคลุมดินนี้เองที่มนุษย์ชอบไปทำลาย ลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่อต้านไม่ให้น้ำไหลอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องทำให้ดีขึ้น′

" เมื่อมีการดักน้ำได้แล้ว ก็มาถึงว่าดินซึมได้มากหรือไม่ ถ้าดินซึมได้มาก ก็จะเหลือปริมาณน้ำที่จะไหลบนผิวดินน้อย เป็นหลักการง่ายๆ ซึ่งสภาพดินจะสูญเสียการซึมน้ำ ก็เกิดมาจากคนอีกเช่นกัน จากการใช้ปุ๋ย การเผาป่า การทำลายหน้าดิน และเมื่อดินซึมน้อย น้ำไหลมาก ก็ต้องมาดูว่าน้ำจะไหลเร็วขนาดไหน คือความลาดชัน′

′ เพราะฉะนั้น ทำไมน้ำหลาก จึงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันหลากได้อย่างไร ในหนึ่งวัน 1 ชั่วโมงที่ฝนตก 100 มิลลิเมตร ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดน้ำหลากมาก แต่ถ้ามันเทลงมา 1 ชั่วโมง 100 มิลลิเมตรเมื่อไร น้ำไหลทันที จากเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.ปริมาณความเข้มของฝน 2.พืชคลุมดิน 3.ชนิดของดิน 4.ความลาดชัน"

นาย สุพัตรกล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัย คือตัวแม่น้ำ ร่องน้ำ ถ้าร่องน้ำใหญ่พอ ก็จะไม่มีการล้นตลิ่ง แต่คนก็มักที่จะไปบุกรุกร่องน้ำ มีการถมดิน ปลูกพืช จนขนาดของร่องน้ำเหลือน้อย ทำให้น้ำที่เคยไหลได้ ก็กลายเป็นไหลไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาจากคนอีกเช่นกัน ที่ทำให้น้ำท่วม โดย ลักษณะน้ำท่วมในพื้นที่เชิงเขานั้น จะเป็นการท่วมที่รุนแรง รวดเร็ว มาเร็ว หมดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กรณีที่บ้านน้ำก้อ มีเวลาการเกิดเหตุอยู่ที่ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมชาติของน้ำก้อ หากหนีไม่ทัน ก็จะต้องถูกน้ำท่วม เป็นลักษณะทางอุทกวิทยาของแม่น้ำแต่ละลุ่มที่จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ในขณะที่การเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ราบ จะมีลักษณะค่อยๆ มาช้าๆ แต่อยู่ยาว แล้วไม่สูงมาก หากมีพื้นที่ราบไม่พอ ก็จะเกิดการท่วมกินอาณาเขตไกลและกว้าง

ปฏิบัติการสู้น้ำท่วม

ผอ. สำนักอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ซึ่งปัจจุบันนี้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำคือ จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง " ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรามีสถานีวัดน้ำอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งในปี 2549 มีระดับน้ำขึ้นมาอยู่ที่ 5,900 มิลลิเมตรต่อวินาที ในขณะที่ตัวแม่น้ำรับได้แค่เพียง 3,000 มิลลิเมตรต่อวินาที โดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท้ายเขื่อน จ.ชัยนาท รับน้ำได้แค่ 2,800 มิลลิเมตรต่อวินาที หากน้ำมาถึงที่ จ.ชัยนาทเกิน 2,200 มิลลิเมตร ต่อวินาทีเมื่อไร จ.พระนครศรีอยุธยาก็เตรียมรับมือน้ำท่วมได้ทันที"

" ถ้าเราจะเอาอยู่ไม่ให้เกินโดยแต่ละที่ ซึ่งก็มีความจุของตัวเอง เรามีคันกั้นน้ำ แต่คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำกับคันกั้นน้ำ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา หากล้นตลิ่ง คือเกิน 4,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีเมื่อไร อย่างไรเราก็สู้ไม่ได้ ณ เวลานี้ ถ้าเราไม่สร้างเครื่องมือที่จะสู้"

"ปัจจุบันที่เราจะสู้กับน้ำอย่างไรนั้น ประการแรก คือเราต้องรู้จักน้ำ ต้องรู้ทัน โดยการไปวัดเป็นจุดสีเหลือง จุดสีเขียว ใน แม่น้ำสายหลักตอนนี้มีทั้งหมด 718 แห่งทั่วประเทศ ใช้คนไปยืนวัดแล้วรายงานมาเป็นรายชั่วโมง มีทั้งประเภทอิเล็กทรอนิกส์ส่งสัญญาณมาทุก 1 นาที แต่สิ่งที่เราขาดไปในหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือการรู้ล่วงหน้า เรารู้ทันน้ำก็จริง แต่เราไม่รู้ล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าแผนจะมาอย่างไรบ้าง ก็มีการพยายาม ทำ กันหลายกรม คือระบบโทรมาตร ซึ่งสามารถวัดน้ำได้ทุก 1 นาที แล้วเก็บข้อมูลทุก 15 นาที แล้วส่งข้อมูลเข้ามายังระบบพยากรณ์ ก็จะบอกได้ว่าในแต่ละวัน น้ำแต่ละสถานีจะสูงเท่าไร สามารถที่จะไปเตือนประชาชนได้ โดยเราได้ใช้ระบบโทรมาตรในแม่น้ำเจ้าพระยามาได้ 2 ปีแล้ว"

" เครื่องมือที่เรามี ณ วันนี้ โดยหลักการทั่วไปที่จะทำเครื่องมือขึ้นสู้ ก็มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1.คือการเก็บน้ำที่มาจากตอนบนเอาไว้ไม่ให้ไหลลงมาข้างล่าง 2.ส่วนที่ไหลลงมาแล้วจัดหาทางระบาย ถ้าหาได้มาก ได้ เพียงพอ น้ำก็จะไม่ท่วม ถ้าไม่เพียงพอ ก็ต้องมีระบบแก้มลิง จะต้องเอาไปไว้ตามทุ่งต่างๆ ในเรื่องการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่สร้างเอาไว้ของกรมชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมแล้วได้ 73,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทย หากเอาจำนวนน้ำฝนบนผิวดินอยู่ที่ 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงดินไปประมาณ 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราสู้ได้แค่ 70,000 ลูกบาศก์เมตร ปีไหนน้ำมากกว่านี้ เราก็สู้ไม่ได้"

(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 31-05-2010 เมื่อ 07:47
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 03-08-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต (ต่อ)

นาย สุพัตรกล่าวว่า แผนที่วางเอาไว้ในอนาคตเพื่อสู้กับน้ำ มีการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กเป็นจำนวนค่อนข้างมาก แต่ก็ได้ความจุไม่มากนัก เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ หมดไปแล้ว เหลือเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น เช่น แก่งเสือเต้น

′จะไปหาพื้นที่ที่จุได้ตั้งแต่ 1 พันล้าน ลูกบาศก์เมตรขึ้นไปนั้นไม่มีแล้วในประเทศไทย เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่เราจะทำคือ เครื่อง มือทำให้น้ำไหลที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา เราจะปล่อยให้น้ำผ่าเขื่อนไปได้แค่ 2,200 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยน้ำออกซ้ายขวาได้นิดหน่อยประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร อีก 1,000 ลูกบาศก์เมตรต้องหาที่ให้น้ำไปว่าจะไปทางไหนได้บ้าง มองไว้ 2 ทางคือ ทิศตะวันออก คลองชัยนาทป่าสักซึ่งกำลังศึกษาอยู่ให้ผ่านได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรแล้วลงทะเลไปเลย อีกทางหนึ่งคือทางด้านทิศตะวันตก ก็กำลังศึกษาเช่นกันให้เอาน้ำออกได้อีกประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้าทำสำเร็จเราก็จะสู้กับน้ำได้ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงที่สุดที่เคยเกิด′

′ ถ้าทำได้ เลิกท่วมเจ้าพระยาแน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือการผันน้ำออก เช่น ลุ่มน้ำยม เพราะน้ำมาจากตอนบนมาก มาถึงสุโขทัยรับได้ 350 มิลลิเมตรต่อวินาที ถ้ามา 2,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีจะทำอย่างไร ซึ่งมีโอกาสเกิดค่อนข้างมาก ถ้าขึ้นแก่งเสือเต้นได้ ช่วยได้แน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือแก้มลิง ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่บางบาน เป็นคลอง ระบาย แต่ยังไม่ได้ทำเป็นแก้มลิง เพราะมีหลายเรื่องที่กระทบกับสังคม กระทบกับประชาชน ต้องจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่าน้ำท่วมให้เพียงพอ ศึกษาไว้หลายที่ เพื่อจะหาแนวทางที่เหมาะสม′

′ สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องมาบริหารจัดการ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ติดตามจากเว็บไซต์ จากโทรมาตรต่างๆ ที่กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการไว้ ตัวอ่างเก็บน้ำ ที่ทุกวันนี้เราใช้เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขอุทกภัยมาหลายปี′

" ปีนี้จะเห็นว่าเขื่อนภูมิพล ต่อให้น้ำมากเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้น ถ้ามองถึงด้านการป้องกันอุทกภัย ปีนี้ท้ายเขื่อนภูมิพล สบายใจได้ เพราะจะไม่มีการระบายน้ำออกมาในช่วงเวลาน้ำมาก คาดว่าจะได้น้ำประมาณ 9 พันล้านลูกบาศก์เมตร เอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง เขื่อนสิริกิติ์ก็คล้ายกัน แต่ก็ยังมีโอกาสเต็มอยู่บ้าง แต่สถิติที่เคยมี โอกาสน้อยมากในแง่ของอุทกภัย 2 เขื่อนนี้คลุม ทุ่งเจ้าพระยาทั้งทุ่ง ถ้าปีนี้ฝนไม่ตกท้ายเขื่อนมากเกินไปจริงๆ น้ำไม่ท่วม"

" โดยภาพรวมแล้วสรุปว่า ปีนี้โอกาสเกิดอุทกภัยใน 2 ลุ่มน้ำใหญ่ๆ จากเครื่องมือที่ใกล้จะสมบูรณ์ โอกาสเกิดอุทกภัยจะค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ท้ายเขื่อน สบายใจได้ รวมทั้งน้ำยมที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเราไม่มีเครื่องมือเลย ต้องบริหารกันอย่างเดียว จัดการน้ำอย่างเดียว ถ้าน้ำมา ก็เอาเข้าแก้มลิงที่ทุ่งทะเลหลวงก่อน ออกซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เท่าที่ทำได้ ส่วนทุ่งเจ้าพระยา ณ เวลานี้ น้ำยังนิดเดียว คาดว่าอุทกภัยจะไม่รุนแรงมากนัก"



จาก : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 04-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


'ทรุด-ถล่ม'จมธรณี! 'แผ่นดินพิโรธ' พิบัติภัยใกล้ตัวคนไทย




กระแสข่าว “พิบัติภัยทางธรรมชาติ” ครั้งใหญ่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายมุมโลก มีทั้งแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากๆ มีทั้งภูเขาไฟระเบิด มีทั้งพายุใหญ่โหมกระหน่ำ และมีทั้ง “แผ่นดินทรุด”

ล่าสุด “แผ่นดินทรุด” ที่กัวเตมาลา...ก็น่าสะพรึงกลัว

เป็นหลุมยักษ์ราว 30 เมตร...ฝังชีวิตคนจำนวนมาก!!

ภัยพิบัติที่กัวเตมาลานั้นเกิดขึ้นหลัง “พายุโซนร้อน” ลูกหนึ่งพัดถล่มแถบอเมริกากลางอย่างรุนแรง ซึ่งที่กัวเตมาลาก็อ่วมหนัก เกิด “น้ำท่วม” ครั้งร้ายแรงจากผลพวงของพายุ แล้วยังเกิดโศกนาฏกรรมเด้งที่ 3 นั่นก็คือ “แผ่นดินทรุด” เป็นหลุมยักษ์กว้างราว 30 เมตร ลึกเท่าตึกหลายชั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งจากรายงานข่าวเบื้องต้น สาเหตุนั้นนอกจากน้ำท่วมแล้ว อาจรวมถึงระบบระบายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้...ในเมืองไทย ย้อนไปช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนถึง “แผ่นดินทรุด” ไว้ระดับหนึ่ง ซึ่งตัวอย่างพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุนี้ ก็เช่น... แผ่นดินทรุดเป็นหลุมกว้างประมาณ 18 เมตร ลึกประมาณ 15 เมตร ในไร่มันที่บ้านหนองราง หมู่ 4 ต.ค้างพลู อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

แผ่นดินพื้นถนนทรุดเป็นหลุมกว้างราว 3.5 เมตร ลึกประมาณ 4.5 เมตร เป็นถนนสุขุมวิท หลัก กม. 139 หมู่ 2 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีรถตกลงไป มีคนได้รับบาดเจ็บ

แผ่นดินทรุดเป็นแนวยาว 300 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร ลักษณะเป็นแนวดิ่งเกือบ 2 เมตร เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก คาดว่าเกิดจากการดูดทรายในแม่น้ำเป็นจำนวนมากเมื่อหลายปีก่อน

หลัง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” สะท้อนเรื่องนี้ไปแล้ว พิบัติภัย “แผ่นดินทรุด” ก็ยังเกิดขึ้นในไทยอีกหลายครั้ง เช่น... 13 ก.พ. 2553 ในพื้นที่เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง แผ่นดินทรุดกลางถนนเป็นหลุมวงกว้างราว 1 เมตร ลึกประมาณ 2.5 เมตร ภายในเกิดโพรงขนาดยักษ์ กว้างประมาณ 10 เมตร

20 มี.ค. 2553 ที่หมู่ 1 ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้แม่น้ำเกิดรอยแยกของแผ่นดิน และมี แผ่นดินทรุดลึกถึง 5 เมตร เป็นแนวยาวกว่า 200 เมตร คาดว่าเกิดจากกระแสน้ำกัดเซาะ

ที่ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เมื่อ 18 พ.ค. 2553 แผ่นดินก็เกิดรอยแยกระยะทางยาวประมาณ 10 เมตร กว้างตั้งแต่ 15-100 ซม. ลึก 30-150 เมตร และบางจุด “แผ่นดินทรุด” น่ากลัว

แผ่นดินทรุดในไทยที่ผ่านมามีบ้านพัง-รถพัง-คนบาดเจ็บ

แม้ยังไม่เคยทำให้คนไทยตายหมู่แต่ก็ใช่จะประมาทได้!!

ทั้งนี้ “ภัยเกี่ยวกับแผ่นดิน” ในไทยนั้น ที่ผ่านมา “แผ่นดินไหว” ก็มี แต่โชคยังดีที่ไม่ค่อยรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังมี “แผ่นดินถล่ม” ซึ่งมิใช่แผ่นดินทรุดเป็นหลุมลึก แต่เป็นแผ่นดินเคลื่อนตัว โดยประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มราว 51 จังหวัด กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ และจากการบันทึกโดยกรมทรัพยากรธรณี เฉพาะช่วงปี 2531-2549 ในไทยเกิดเหตุแผ่นดินถล่ม 14 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และเกิดความเสียหายไปแล้วหลายพันล้านบาท

ในต่างประเทศ เมื่อเกิดพิบัติภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ๆ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องปกติทางธรรมชาติ บ้างก็ว่าเป็น “ลางบอกเหตุ...หายนะโลก” บางคนก็ยึดโยงกับคัมภีร์โบราณ-การพยากรณ์ “สิ้นโลก” ซึ่งในประเทศไทยเองแม้ยังเชื่อกันถึงขั้นสิ้นโลกไม่มาก แต่ก็มีการเชื่อเรื่องเป็นลางบอกเหตุไม่น้อย แต่ประเด็นน่าพิจารณาสำหรับเหตุ“แผ่นดินถล่ม” และ “แผ่นดินทรุด” ในไทยก็คือ...ต้นเหตุลึกๆของการเกิดไม่ใช่เพียงเรื่องธรรมชาติ หากแต่ “ธรณีพิโรธ” ในลักษณะนี้ ลึกๆแล้ว “เกี่ยวข้องกับมนุษย์-มนุษย์ทำลายสมดุลธรรมชาติ”

“แผ่นดินถล่ม” ยุคหลังๆเกิดบ่อยก็เพราะมีการ “ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า” ซึ่งแผ่นดินที่ถล่มนั้นบ่อยครั้งก็มี “ท่อนซุง” มาผสมโรงทำให้คนเจ็บ-ตายกันมาก ขณะที่ “แผ่นดินทรุด” ก็ใช่ว่าธรรมชาติล้วนๆ

“ปฏิกิริยา หรือตัวเร่งที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินอย่างรวดเร็วนั้น คือกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์!!” ...ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ชี้ผ่าน “สกู๊ปหน้า 1เดลินิวส์” ไว้

พร้อมบอกไว้ด้วยว่า... แผ่นดินไหว ก็ทำให้เกิดแผ่นดินทรุดได้ แต่ต้องไหวอย่างรุนแรงขนาด 8 ริคเตอร์ขึ้นไป และธรรมชาติปกติก็อาจสร้างแผ่นดินทรุดขึ้นได้ แต่จะเห็นได้ชัดเจน เป็นหลุมใหญ่ ก็ต้องใช้เวลานานมากๆ ยกตัวอย่าง หนองหาร กว่าจะเป็นหนองที่กว้างมากขนาดที่เห็นทุกวันนี้ ก็ต้องใช้เวลานานนับแสนปี

ทว่า...กิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ดูดน้ำใต้ดินในปริมาณมาก โดยเฉพาะดูดเพื่อทำเกลือ, ดูดทรายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในปริมาณมาก, ใช้น้ำที่มีบนพื้นดินอย่างฟุ่มเฟือย, สร้างสิ่งปลูกสร้าง-สร้างถนนไม่ถูกต้องตามสเปกฯลฯ เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิด “แผ่นดินทรุด” ได้อย่างรวดเร็ว-รุนแรง!!

แผ่นดินทรุดถึงขั้น “หลุมนรก” ในไทยใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิด

เมื่อมีการทำร้ายแผ่นดิน...แผ่นดินก็อาจพิโรธได้ทุกเมื่อ!!!.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 4 มิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 04-06-2010
koy's Avatar
koy koy is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: Jun 2009
ข้อความ: 652
Default

เห็นภาพดินทรุดเป็นหลุมยักษ์อย่างนี้แล้วเสียว

ธรรมชาติท่านคงขอ"กระชับพื้นที่"คืน หลังจากที่มนุษย์ปู้ยี่ปู้ยำโลก
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 04-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ผมว่า มนุุษย์ โดยเฉพาะคนไทย นี่เก่ง ในเรื่องการทำลายล้าง ....


นอกจากจะทำลายล้างชีวิตกันเอง ทำลายประเทศชาติแล้ว ยังเก่งในเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนตนกันเหลือเกิน ไม่ว่าทะเล หรือ ป่าไม้ บรรลัยหมด


บางทีก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า .... กรรมเริ่มตามสนองกัน ธรรมชาติเริ่มเอาคืนบ้างแล้ว

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 04-06-2010
angel frog angel frog is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 330
Default

เอา เขามา ก็ต้อง คืน เขาไป..
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 25-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


หวั่น'เมืองบาดาล' ชี้ไทยมีสิทธิ์เจอ แผ่นดินไหวเกิน 6 ริกเตอร์





เมืองกาญจน์อันตรายสุด เผยข้อมูลใหม่ "ฉีกตำรา" ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวแค่ 6 ริกเตอร์ เชื่ออนาคตอันใกล้ประเทศไทยมีสิทธิ์แผ่นดินไหวเกิน 7 ริกเตอร์แน่ จี้ภาครัฐบูรณาการให้ความรู้และหาวิธีป้องกันก่อนประเทศไทยต้อง "จมอยู่ใต้น้ำ"...

ภายหลังจากออกมาเปิดเผยข้อมูลของ นักธรณีวิทยาว่าทุกๆเขื่อนในประเทศไทยสร้างคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลก โดยเฉพาะเขื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ ล่าสุด กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหว พบ 1,406 แห่งใน 22 จังหวัดที่น่าเป็นห่วงสร้างความตื่นตระหนก และสับสนให้กับประชาชนมากมาย

เรื่องนี้ ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไป ยัง รศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิแนะนำว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก พร้อมทั้งอธิบายว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ก็มักจะเลือกในบริเวณที่มีความสำคัญกับธรณีวิทยาทั้งนั้น ดังนั้นประเด็นที่ว่าเขื่อนในประเทศไทยเกือบทุกแห่งสร้างคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลกนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยก็คือ วันนี้ประเทศไทยมีรอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนต่างๆนั้น ยังมีพลังงานซึ่งยังกระจายตัวอยู่มาก โดยเฉพาะรอยเลื่อนที่วิกฤติมากที่สุดคือ รอยเลื่อนที่ จ.กาญจนบุรี, ด่านเจดีย์ 3 องค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่มีการพูดถึงมากที่สุด แต่วันนี้ผมยังเชื่อว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ มันก็ยังไม่สามารถทำอะไรเขื่อนได้ เพราะว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆอย่างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกรมชลประทานจะมีทีมที่ทำการประเมินว่าจะมีอัตราเสี่ยงขนาดไหน

"พูด ว่าเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนใครๆฟังก็เสียว แต่ถ้ามองลึกในระดับวิชาการจริงๆไม่น่าเป็นห่วง เพราะการสร้างเขื่อนคร่อมรอยเลื่อนเปลือกโลกเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันต้องสัมพันธ์กับโครงสร้างทางธรณีวิทยา ต้องมีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่มันก็จะพัฒนาการอยู่บนรอยเลื่อน มันถึงจะเป็นที่แม่น้ำจะสามารถนำพาน้ำมาเป็นอ่างเก็บน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนเล็กหรือรอยเลื่อนใหญ่ มันมีความสัมพันธ์ไม่ต้องตกใจ"

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าการสร้างความตื่นตระหนก กับข่าวว่าพบรอยเลื่อนใหญ่แห่งใหม่อยู่ใต้กรุงเทพฯว่า จริงแล้วก่อนหน้านี้นักธรณีวิทยาพบมานานมากแล้ว ซึ่งฟังแล้วอาจจะตกใจแต่หลังจากที่มีคนไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารอยแยกดังกล่าวอยู่ลึก แล้วมีตะกอนดินไปปิดทับอยู่พอสมควร ถามว่ารอยเลื่อนนี้อยู่ตำแหน่งไหนของกรุงเทพฯ บอกไม่ได้ เพราะคงต้องรอดูจากผลการวิจัย แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแล้วเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จะโดนกันหมด

"ถามว่าวันนี้ประเทศพร้อมรับกับแผ่นดินไหวไหม ก็ยังไม่ 100% เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องพร้อมทุกๆอย่าง อีกทั้งต้องสร้างนักวิชาการเพิ่มขึ้นเยอะ ถ้าเกิดเรื่องแผ่นดินไหวขึ้นมาตูมก็ต้องวิเคราะห์กัน ก่อนที่จะประกาศขึ้นมาสู่สาธารณชนว่าจุดไหนมีผลกระทบบ้าง นี่คือความพร้อมระดับหนึ่งที่ต้องทำ"

ส่วนการป้องกันหลังผลกระทบไม่น่าห่วง เนื่องจากเราเจอมาแล้ว ดังนั้นการเยียวยาเราพอรับมือได้ แต่ก่อนเหตุการณ์เรายังไม่พร้อม นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาก็คือเรื่องสึนามิ ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่อาจจะไม่ร้ายแรงเท่ากับปี 2547 แต่ถ้าเกิดขึ้นน่าจะสร้างความเสียหายให้กับคนไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากหอเตือนภัยไม่พร้อมแน่นอน ยังไม่ทั่วถึงเพราะผมไปพื้นที่ประจำเจอหลายจุดที่ไม่รู้เรื่องราว แถว จ.ระนอง, พังงา และกระบี่ ยังมีหลายจุดที่สัญญาณเตือนภัยยังไปไม่ถึง บางที่สายไฟหายบ้าง มีแต่หอคอยไม่มีลำโพง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแล"

ทั้งนี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา ฝากถึงภาครัฐด้วยว่า ความสำคัญกับข้อมูลเรื่องนี้ไม่มีใครพูดเท่าไหร่เรื่องน้ำหนักของข้อมูลที่เราควรจะเชื่อถือบางที่ปล่อยข่าวออกมา มันไม่มีมูลทำให้คนตกใจ แล้วก็กลายเป็นว่าภาครัฐกลายไปช่วยประโคมข่าวตรงนั้นด้วย ดังนั้นวันนี้หน่วยงานไหนก็ได้ออกมาช่วยกลั่นกรองข้อมูลก่อนปล่อยออกมา เช่น สึนามิจะเกิดวันนั้นวันนี้ แผ่นดินไหวจะเกิดวันนั้นวันนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะพูดออกมาเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองพอสมควร

ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว แสดงความคิดเห็น ไม่แตกต่างไปจากข้อมูลข้างต้นและกล่าวย้ำถึงพื้นที่อันตรายด้วยว่า นอกจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ และแถบตะวันตกแล้ว จ.กาญจนบุรีถือว่าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในเมืองไทย

"ก่อนหน้านี้เราจะพบที่ จ.กาญจนบุรีแล้วหลายครั้งแต่สูงที่สุด คือ 6 ริกเตอร์บ้าง ซึ่งจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่าเขื่อนศรีนครินทร์รับแรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุดถึง 7 ริกเตอร์ ซึ่งผมก็มีคำถามว่า ถ้าเกิด 7 ริกเตอร์จริง แต่เกิดใกล้กับตัวเขื่อน ถามว่าคนที่บอกว่าทนได้ 7 ริกเตอร์มีความมั่นใจแค่ไหน"

แม้ว่าตามข้อมูลการวิจัยจะพบว่าในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีแผ่นดินไหวมากกว่า 6 ริกเตอร์ก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว จาก มช. บอกว่า จากการศึกษา ของเราที่ จ.กาญจนบุรี และ 8 จังหวัดทางภาคเหนือ โดยที่ จ.เชียงใหม่มันมีรอยเลื่อนหลายตัวที่มีศักยภาพทำให้แผ่นดินไหวมากกว่า 6 ริกเตอร์ ซึ่ง 6 ริกเตอร์ อาจทำให้บ้านที่สร้างไม่ดีก็จะพังทลายในพริบตา ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ

"ถามว่าวันนี้ระบุเป๊ะๆว่าที่เมืองกาญจน์หรือภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ ไม่รู้ ระบุตายตัวไม่ได้ แม้กระทั่งอเมริกาก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ หรืออย่างที่จีนมันจะอ้างผลวิจัยแผ่นดินไหวจะต้องวัดจากงูปกติมันจะจำศีล พอแผ่นดินจะไหว งูมันจะเลื่อยขึ้นมาแล้วแข็งตายเลย หรือทฤษฎีที่สัตว์ในสวนสัตว์จะตื่นตระหนกก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว เอาเข้าจริงมันไม่เวิร์ก ฉะนั้นก็ยังไม่มีวิธีไหนที่บอกว่าถึงเหตุแผ่นดินไหวได้แม่นยำ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือขอให้ทราบว่าแผ่นดินไหวแรงที่สุดของบริเวณนี้กี่ริกเตอร์ จะเกิดเมื่อไหร่ไม่ต้องสนใจแค่รู้ และก็หาทางรับความรุนแรงตามริกเตอร์นั้นได้ ดังนั้นอาคารไหนที่มีคนอยู่เยอะๆ ต้องมั่นใจว่าเกิด 7 ริกเตอร์ว่าต้องอยู่ได้ อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ไม่ใช่ว่าเขย่าแล้วโครมเดียวเหมือนจีน นี่คือมาตรฐานที่เขาทำกัน เหมือนกับที่อเมริกาแล้วก็ญี่ปุ่นที่เกิดแผ่นดินไหวไม่ค่อยมีคนตายเท่าไหร่"

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือวันนี้ประเทศไทยไม่พร้อมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดเกินกว่า 7 ริกเตอร์แน่นอน ที่สำคัญวันนี้คนก็ยังไม่มีความรู้เพียงพอ แถมวันดีคืนดี ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านโผล่ออกมาบอกว่าวันนั้นวันนี้จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้คนตายเกลื่อนเมือง หรือวันดีคืนดีมีหมอดูมาฟันธงว่าจะเกิดสึนามิผมบอกว่าไม่เชื่อ ดังนั้นข้อมูลที่เผยแพร่ต้องกลั่นกรองให้ดีส่วนวิธีป้องกันเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแรงๆ สิ่งที่ทำได้ก็คือคนที่อยู่ในอาคารใหญ่ห้ามวิ่งหนีแบบสะเปะสะปะให้วิ่งไปที่มุมห้อง แล้วเอาโต๊ะ-เก้าอี้ที่แข็งแรงมาช่วยบังเอาไว้เป็นวิธีที่ดีที่สุด"

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า สถานทีที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ก็คือ ภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี โดยเฉพาะเขื่อนศรีนครินทร์

"วันนี้ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะพูดมากแล้วก็โดนด่า แต่ก็อยากให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลกพาดผ่านให้คอยฟังข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวเอาไว้ตลอดเวลา".



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 25 มิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 26-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เปิดแผนที่ 1,406 แห่ง หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวทั่วไทย


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ทำแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวในประเทศไทยฉบับแรกแล้วเสร็จ โดยมีรายละเอียดครอบคลุม 22 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวม 107 อำเภอ 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน ที่อยู่ในแนวเขตรอยเลื่อนมีพลังของไทยทั้ง 13 รอยพาดผ่าน ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณขอบเปลือกโลกที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรงก็ตาม แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และหลายครั้งการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศคนไทยก็ทำให้ต้องมาทบทวนและเตรียม พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศขึ้น ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น ทส.จึงได้ทำแผนที่เสี่ยงภัยในระดับหมู่บ้านขึ้น เพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการวางแผนลดผลกระทบในอนาคต รวมทั้งจะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการนำภัยพิบัติบรรจุในหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้วย ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ ทธ.เองก็เตรียมประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทยเป็นรายภาค โดยปี 2554 จะเริ่มในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันตก ภาคกลาง และใต้จะดำเนินการในปี 2555

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนแผนและประมวลผล ทธ. กล่าวว่า จากการจัดทำแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวทั้ง 13 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง พบว่ากลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งพาดผ่านตั้งแต่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว รวมระยะทาง 155 กิโลเมตร มีความชัดเจนมากสามารถมองเห็นจากภาพถ่ายทางอากาศชัดเจน และเมื่อทำการขุดร่องสำรวจภาคสนาม พบหลักฐานในชั้นดินว่ามีการฉีกขาดมีรอยการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเมื่อประมาณ 2 พันปีเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดมาแล้ว 6.5 ริคเตอร์ โดยในพื้นที่นี้พบว่ามีหมู่บ้านอย่างน้อย 2-3 แห่งที่ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนและต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านโป่งป่าแขม อ.แม่จัน จ.เชียงราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และลักษณะเป็นบ้านไม้ ที่ผ่านมา ทธ.แจ้งให้ อบต.รับทราบแล้ว

"ยอมรับว่าการเปิดรายชื่อหมู่บ้านเสี่ยงแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีการสำรวจในภาคสนามประมาณ 40% ของหมู่บ้านทั้งหมดมาแล้ว และไม่ต้องการให้ตื่นตกใจ เพียงแต่ต้องการให้ไม่ประมาทและมีการเตรียมความพร้อมมากกว่า เพราะถ้าจะประเมินสถานการณ์แล้วเรื่องดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากเป็นภัยใกล้ตัวมากกว่าแผ่นดินไหว แต่ก็ต้องให้ชาวบ้านรับรู้ เพราะหลายครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากลาว คนในเขตเชียงแสนก็รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และมีบ้านเรือนและวัดเสียหาย เป็นต้น" นายสุวิทย์กล่าว




จาก : มติชน วันที่ 25 มิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #9  
เก่า 07-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


'หลุมยุบ' ภัยใต้ดินใกล้ตัว คาดการณ์ได้หากรู้จักสังเกต

จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย “หลุมยุบ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ธรณีสูบ” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้และภาคอีสาน ล่าสุดเกิดที่ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกธรณีสูบลงไปใต้ดินสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัตินี้ หากเรารู้จักศึกษาและสังเกตก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยได้

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้เกี่ยวกับหลุมยุบและแผ่นดินยุบในประเทศไทยว่า สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รองรับด้วยชั้นหินปูน ซึ่งกระจายตัวอยู่ใน พื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่น สตูล ตรัง กระบี่ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดหลุมยุบในภาคใต้เนื่องจากภาคใต้ตอนล่างส่วนนั้นมีชั้นหินปูนรองรับอยู่ใต้พื้นดินมาก มีปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นมาก และเป็นพื้นที่ต่ำ อิทธิพลของน้ำใต้ดินสูง นอกจากนั้นเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงหรือค่อนข้างรุนแรงที่เกิดขึ้นไกลออกไปใน ทะเลอันดามัน เกาะสุมาตราและพื้นที่ข้างเคียงมักส่งผลกระทบต่อการเกิดหลุมยุบโดยตรงและโดยอ้อม

กลุ่มที่ 2 หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดในที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และเกือบทุกพื้นที่ในภูมิภาคนี้ที่มีชั้นเกลือหินหนามากรองรับอยู่ใต้พื้นดิน ในกรณีนี้หลุมยุบเกิดจากชั้นเกลือหินใต้ดินถูกน้ำบาดาลละลายออกไป โดยเฉพาะบริเวณส่วนยอดโดมเกลือที่โผล่สูงถึงชั้นน้ำบาดาล หนองน้ำขนาดต่างๆ เช่น หนองหาน จ.สกลนคร หนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แอ่งน้ำ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ล้วนเป็นหลุมยุบที่เกิดโดยธรรมชาติ การที่มนุษย์ละลายชั้นเกลือและสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินสมดุลธรรมชาติโดยขาดการวางแผนตามหลักวิชาการ เป็นตัวเร่งให้เกิดหลุมยุบในพื้นที่ส่วนกลางของที่ราบสูงที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ความรุนแรงของการเกิดหลุมยุบในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคของโลกอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น ในประเทศกัวเตมาลา โดยเฉพาะบริเวณเมืองหลวงกัวเตมาลาซิตี้ และประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีชั้นหินปูนที่มีโพรงถ้ำยุคครีเทเชียสหนากว่า 2,000 เมตร วางตัวอยู่ข้างใต้ มีภูเขาไฟมีพลังเป็นแนวสันโค้งและแนวตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีแปซิฟิกกับแผ่นคาริเบียนอยู่ทิศตะวันตกโดยลำดับ ดินแดนแถบนั้นของอเมริกากลางรวมถึงทางใต้ของประเทศเม็กซิโกและรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นมลรัฐที่ เกิดหลุมยุบมากที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นดินแดนเสี่ยงภัยหลุมยุบลำดับต้นๆของโลก ส่วนระดับความรุนแรงของพิบัติภัยหลุมยุบในประเทศไทยถือว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด พื้นที่เสี่ยงมีน้อยกว่าต่างประเทศ ที่ประเทศไทยอยู่นอกโซนแผ่นดินไหวรุนแรงสำคัญภาพรวม

การยุบลงของแผ่นดินถือเป็นการปรับสมดุลตามธรรมชาติของพื้นที่ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยา มีเหตุปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ข้างต้นในพื้นที่ คือ สภาพธรณีวิทยา ลักษณะธรณีสัณฐาน ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระบบน้ำธรรมชาติ และปัจจัยรองลงมาคือกิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุที่น้ำใต้ดินที่เป็นกรดอ่อนๆสามารถละลายหินปูน หินปูนโดโลไมต์และหินอ่อนได้ ส่วนน้ำธรรมชาติสามารถละลายชั้นเกลือหินและแร่ยิปซัมได้รวดเร็ว รอยแยก รอยแตกและช่องว่างระหว่างผลึกแร่และเม็ดตะกอนในเนื้อหิน ทำหน้าที่เป็นช่องเปิดให้น้ำไหลหรือซึมผ่าน เกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดิน เกิดหินงอก หินย้อยบริเวณพื้นถ้ำ การเปลี่ยนระดับน้ำใต้ดินอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความสมดุลถ้ำเปลี่ยนไป อาจเกิดมีการพังทลายของถ้ำและกลายเป็นหลุมยุบได้

ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิลักษณ์เฉพาะตัวของหินปูน ที่เกิดจากการละลายของน้ำใต้ดินมีข้อสังเกต ได้หลายประการ ซึ่งที่เด่นชัดคือ พื้นผิวดินขรุขระและมักมียอดเขาแหลมจำนวนมากมาย เช่น เทือกเขาสามร้อยยอด เทือกเขาหินปูนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี กระบี่ พังงา ตรัง สตูล บางครั้งอาจเห็นร่องรอยของหลุมยุบในอดีต เช่น ทะเลบัน ในจังหวัดสตูล เป็นต้น

สำหรับกรณีเหตุแผ่นดินไหวเกี่ยวข้องกับหลุมยุบได้อย่างไรนั้น ดร.ปริญญา ให้เหตุผลว่า ในเชิงกลศาสตร์ แรงสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากพอจะเกิดผลโดยตรงต่อความเสถียรของโครงสร้างของโพรงถ้ำใต้ดิน และผลทางอ้อมคือระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดความรุนแรงและระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว โดยปกติ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงคือ บริเวณใกล้รอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณี พื้นที่ตลอดแนวสันโค้งภูเขาไฟ และรอยเลื่อนมีพลังที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับรอยตะเข็บข้างต้น บ่อยครั้งหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมักสังเกตเห็นการเกิดหลุมยุบหรือแผ่นดินยุบตัวจำนวนมากได้ในวงกว้าง

ผลเสียของการเกิดหลุมยุบ ถ้าเกิดตามที่อยู่อาศัยอาจทำให้ต้องเสียทรัพย์เนื่องจากบ้านอาจมีรอยร้าวหรือยุบลงไปทำให้ต้องสร้างบ้านใหม่และหากเกิดในพื้นที่ที่ต้องใช้ประโยชน์ เช่น การเพาะปลูกทำให้สูญเสียพื้นที่ไป อย่างไรก็ตาม การเกิดหลุมยุบเป็นภัยที่เราสามารถคาดการณ์หรือศึกษาล่วงหน้าได้ ในการก่อสร้างโครงสร้าง ขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อหลุมยุบควรมีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ใต้ พิภพเพื่อศึกษาธรรมชาติของโพรงถ้ำหรือช่องว่างใต้ดิน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ สำหรับชาวบ้านที่ต้องอยู่อาศัยบริเวณที่เกิดหลุมยุบให้รู้จักสังเกตบริเวณรอบๆบ้านว่ามีการแตกร้าวของบ้านหรือไม่ ถ้ามีควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

หลุมยุบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่น่ากลัวเท่ากับภัยหลุมยุบที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ในอนาคตข้างหน้าหากยังไม่มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรสินแร่เกลือหินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมแล้ว อาจทำให้พื้นผิวดินบ้านเรากลายเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนผิวดวงจันทร์คงเดือดร้อนกันทั่วหน้า.


สัญญาณเตือนก่อนเกิดหลุมยุบ

ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้ว่า ก่อนเกิดหลุมยุบเราจะได้ยินเสียงดังคล้ายฟ้าร้องจากใต้ดินเป็นผลมาจากการถล่มของเพดานโพรงหินปูนใต้ดินหล่นลงมากระแทกพื้นถ้ำใต้ดินก่อนที่จะยุบตัวเป็นหลุมใช้เวลานานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงหรือบางทีเป็นวัน ถ้าหากได้ยินเสียงแบบนี้ให้รีบออกห่างจากจุดนั้นประมาณ 100 เมตร เพราะอาจเกิดหลุมยุบได้ และก่อนเกิดหลุมยุบพื้นดินรอบข้างจะมีรอยร้าวเป็นวงกลมหรือวงรีแตกคล้ายแห หรือใยแมงมุม หรือกำแพงรั้ว เสาบ้าน หรือต้นไม้ทรุดตัวหรือเอียง ประตูบ้านและหน้าต่างบิดเบี้ยวทำให้เปิด-ปิดยาก มีรอยปริแตกที่ผนัง

นอกจากนี้หากพบเห็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ พืชผักของเราเหี่ยวเฉาเป็นบริเวณแคบๆ ให้ระวังไว้เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำของชั้นใต้ดินลงไปในโพรงใต้ดินทำให้ดินมีความชื้นน้อย หากพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่หากเกิดหลุมยุบแล้วรีบแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกรมทรัพยากรฯ โดยด่วนและทำรั้วกั้นตั้งป้ายเตือน ซึ่งเราจะตรวจสอบว่าหากหลุมใหญ่ไม่มากจะให้หน่วยงานในท้องที่กลบและห้ามทิ้งขยะลงไปเพราะจะทำให้ดินและน้ำใต้ดินเสียได้ หากหลุมใหญ่อาจต้องสำรวจและศึกษาฟื้นฟูพื้นที่ ถ้าพบว่าไม่ขยายวงกว้างแล้วอาจใช้เป็นแหล่งน้ำของหมู่บ้านก็ได้ นอกจากนี้แล้วเรายังทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบแจกให้ชาวบ้าน เพื่อทราบจุดและปฏิบัติตัวถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปให้ความรู้รวมทั้งใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #10  
เก่า 17-07-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ประชุมลุ่มน้ำโขง : ผลกระทบยาวไกลถึงหลานเหลน

โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ pmarukpitak@yahoo.com

ผู้เขียนในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง และคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ของวุฒิสภา ได้รับเชิญจากคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเกิดขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบน แม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง (Strategic Environment Assessment of Proposed Mainstream Hydropower Dams in the Lower Mekong) ณ โรงแรมโซฟิเทล โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อ 28 – 29 มิถุนายน 2553


มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน เป็นผู้แทนของ 4 ชาติ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีผู้แทนจีนเข้าร่วมสังเกตการณ์


ดร. เลอ ดุ๊ก ตรุง ผู้อำนวยการ MRC ของเวียดนาม ชี้ว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างถึง 30,900 เมกะวัตต์ แต่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ วิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ตลอดลุ่มน้ำโขง


ในขณะนี้ภาคธุรกิจเอกชนทั้งของจีน เวียดนาม ไทย มาเลย์เซีย และฝรั่งเศส เตรียมลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 12 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งคาบเกี่ยวเขตแดนไทย ลาว กัมพูชา ด้วยการยินยอมของรัฐบาลโดยผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU)


จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่ผู้แทน MRC รายงานต่อที่ประชุมได้พบว่า เขื่อน 12 แห่ง หากสร้างขึ้นจะเกิดผลกระทบหลายประการ เช่น ความผิดปกติของการไหลของน้ำและตะกอนดิน รายได้จากการประมงลุ่มน้ำ ระบบนิเวศน์ทางบกและทางน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรม พันธุ์ปลาที่สูญหายไป เกษตรริมฝั่ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ฟังจากรายงานแล้ว เห็นได้ชัดว่า 12 เขื่อนนั้น ผลได้ไม่คุ้มเสีย


ในที่นี้มี 2 เขื่อนที่หัวเขื่อนค้ำ 2 ฝั่งไทย-ลาว คือเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี และเขื่อนปากชม จ.เลย ที่บริษัทเอกชนของไทย 2 แห่งพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ โดยเฉพาะเขื่อนบ้านกุ่มนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ช่วงเดือนมีนาคม 2511 ได้ประกาศอย่างขึงขังว่าจะเดินหน้าสร้างแน่นอน และนายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น ได้ไปเซ็น MOU กับทางการลาวมาแล้วด้วย มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่งอกขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ส่วนเขื่อนปากชมนั้น มีแต่การศึกษาเบื้องต้น แต่ทราบว่าทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำลังดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง อย่างไร


โชคดีที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้โครงการขนาดใหญ่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ตามอำเภอใจของใครๆ ดังในอดีตอีกต่อไป


ในประเด็น “การหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการทำให้ดีขึ้น” (Avoidance, Mitigation and Enhancement) มีการระดมสมองของผู้แทนแต่ละประเทศ ต่อ 4 ทางเลือก คือ
1. ยุติการสร้าง เขื่อนทั้งหมด 12 แห่ง
2. ชะลอการสร้างเขื่อนออกไป เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้าน
3. เลือกสรรบางโครงการเพื่อทำโครงการ นำร่อง
4. เดินหน้าสร้างเขื่อน 12 แห่งต่อไป


คณะผู้แทนไทย ปฏิเสธทางเลือกที่ 4 อย่างแข็งขัน และเสนอว่าทางเลือกที่ 1 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยมีทางเลือกที่ 2 ให้ชะลอโครงการไปเป็นเวลา 10 ปี เป็นทางเลือกรองลงไป โดยผู้แทนไทยชี้ว่า ในระยะยาวเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีผลทางทำลายมหาศาล โดยผลได้มีเพียงการตอบสนองด้านพลังงานเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกมากมาย ความเห็นของคณะผู้แทนไทยใกล้เคียงกับความเห็นของผู้แทนเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศปลายน้ำโขงที่จะรับเคราะห์ทางนิเวศน์หนักที่สุด ในขณะที่ผู้แทนลาวเลือกทางเลือกที่สาม คือให้เลือกทำโครงการนำร่อง โดยกัมพูชามีท่าทีขอศึกษารายละเอียดดูก่อน


ผู้เขียนมีความเห็นว่า “ลาวมุ่งมั่นที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเซีย เพื่อผลิตไฟขายให้ต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย อีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งลาวและกัมพูชาต้องพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการลงทุนของจีนสร้างเขื่อนในลาว 3 แห่ง ในกัมพูชา 1 แห่งด้วย”


ผู้เขียนได้ใช้โอกาสนี้ชี้ที่ให้ประชุมได้ตระหนักด้วยว่า เขื่อนจีน 3 แห่ง คือ เขื่อนม่านหว่าน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิ่งหง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีน มีการปิดเปิดเขื่อนเพื่อเก็บกักและปล่อยน้ำตามอัธยาศัยของจีนเอง กล่าวคือ เมื่อมีน้ำมาก จะปล่อยน้ำลงมา พอจีนแห้งแล้งก็จะเก็บกักน้ำเอาไว้ หรือเมื่อต้องการให้เรือสินค้าจีนขึ้นล่องได้ ก็จะปล่อยน้ำลงมาให้เพียงพอต่อการเดินเรือ ทำให้ระดับน้ำโขงลงเร็วผิดปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 และระดับน้ำขึ้นเร็วผิดปกติถึงวันละเมตรกว่าเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2551 ทำให้เกิดภาวะตลิ่งพัง ระบบนิเวศน์และพันธุ์ปลาวิปริต เป็นข่าวครึกโครมโดยทั่วไป เท่ากับว่าประเทศเล็กท้ายน้ำจะมีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำที่ปกติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเมตตาธรรมของเขื่อนจีน ที่จะปรับสภาพการปิดเปิดน้ำให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไร


ในเมื่อเขื่อนจีนสร้างไปแล้วเช่นนี้ ตราบใดที่จีนเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ทั้งยังถือตนเป็นประเทศใหญ่ที่ไม่ไยดีกับประเทศเล็ก แทนที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหมือน 4 ประเทศท้ายน้ำ ตราบนั้น แม่น้ำโขงยังคงไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นธรรม


มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ธรรมชาติต้องให้คนเข้าไปบริหารจัดการ “ความจริงแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ที่จัดการตนเองได้อยู่แล้ว โดยคนไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำเลย การตัดแม่น้ำโขงออกเป็นท่อนๆ ด้วยแท่งปูนขนาดมหึมา กลับเป็นอนันตริยกรรมต่อความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง การชดเชยใดๆ ไม่ว่าด้วยบันไดปลาโจน การจ่ายค่าเวนคืน การเลี้ยงปลากระชัง หรือด้วยวิธีอื่นใด ก็ไม่อาจทดแทนได้ เขื่อนจีน 3 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนบนทำความพินาศให้กับมหานทีแห่งนี้มากพอแล้ว จีนยังจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 5 แห่ง บวก 12 เขื่อนในตอนล่าง ยิ่งก่อหายนะภัยสั่งสมกับแม่น้ำโขงต่อไปไม่สิ้นสุด โดยไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งข้างหน้าแม่น้ำโขงจะทวงคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ด้วย ค่าใช้จ่ายมหาศาลของมนุษย์”



*************************************

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ฉบับที่ 7959 วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า ‘ทัศนะวิจารณ์’ (หน้า 11)


ขอบคุณข้อมูลจาก
....http://www.matichon.co.th/news_detai...rpid=&catid=19
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 17-07-2010
สายชล
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:36


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger