เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อม ความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "อ็อมปึล" มีศูนย์กลางบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเคลื่อนผ่านด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น โดยพายุนี้ ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ
อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 16 ? 17 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "อ็อมปึล" (AMPIL) บริเวณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเคลื่อนผ่านด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 16 ? 17 ส.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ผู้เชี่ยวชาญงง เจอปลาพญานาคหายากโผล่ชายฝั่งซานดิเอโก



กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำตื้นที่บริเวณชายฝั่งเมืองซานดิเอโก ต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิด เมื่อพบปลาพญานาคที่เป็นสัตว์น้ำลึกหายาก ความยาว 3.6 เมตร ลอยตายกลางทะเล ผู้เชี่ยวชาญเร่งค้นหาคำตอบว่าทำไมมันถึงมาโผล่ในพื้นที่ดังกล่าว

สถาบันสมุทรศาสตร์ สคริปป์ส ในซานดิเอโกของสหรัฐฯ ยืนยันการพบซากปลาพญานาคตัวมันเลื่อมสีเงิน ความยาวถึง 3.6 เมตร ลอยตายอยู่กลางทะเล บริเวณชายหาดลา จอลลา โคฟ ชายฝั่งของซานดิเอโกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำสน็อกเกิล และพายเรือคายัคในบริเวณดังกล่าวเป็นผู้ค้นพบ ก่อนจะแจ้งให้ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลเข้าไปตรวจสอบ โดยล่าสุดซากปลาพญานาคดังกล่าวถูกนำขึ้นฝั่ง ส่งต่อให้นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงตะวันตกเฉียงใต้ของ NOAA และ สคริปป์ส ไปศึกษาและวิจัยเพื่อหาสาเหตุการตายแล้ว โดยจะเร่งหาสาเหตุว่าทำไมปลาน้ำลึกแบบนี้ถึงมาโผล่ในพื้นที่น้ำตื้นได้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

นับว่าการลอยมาเกยตื้นของปลาพญานาคตัวนี้ เป็นครั้งที่ 20 นับตั้งแต่ปี 1901 ที่พบปลาชนิดนี้ใกล้กับชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของสถาบันสมุทรศาสตร์ สคริปป์ส ในซานดิเอโกของสหรัฐฯ ระบุว่า ปลาพญานาค มักจะถูกเชื่อมโยงกับการทำนายภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือแผ่นดินไหวได้ โดยเชื่อว่าหากพบปลาชนิดนี้ขึ้นมาเหนือน้ำ อาจจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันหรือพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกันในเรื่องนี้ก็ตาม โดยปลาพญานาคโตเต็มวัยอาจมีความยาวได้ถึง 6 เมตร และมักจะอาศัยอยู่ในทะเลลึกที่เรียกว่าโซนพลบค่ำ เนื่องจากแสงแดดจะไม่สามารถส่องถึงได้.

ที่มา : AP


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2808341

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


ผลตรวจสุขภาพเต่าทะเลในธรรมชาติ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ วิตก ตัวเมียมากกว่าตัวผู้ 7 เท่า



วันที่ 16 สิงหาคม เฟซบุ๊ก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เรื่องผลการตรวจสุขภาพ เต่าทะเลครั้งแรกในประเทศไทย มีเนื้อหาต่อไปนี้


ผลการตรวจสุขภาพเต่าทะเลในธรรมชาติเป็นครั้งแรกของไทย มีทั้งข่าวดีและข่าวไม่สู้จะดีแจ้งให้เพื่อนธรณ์ทราบ

แต่ก่อนแจ้ง ต้องท้าวความถึงต้นเรื่อง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เราริเริ่มทำ

ความเดิมเกิดจากวิกฤตหญ้าทะเล ทำให้กรมทะเลตั้งคณะทำงาน ผมดูเรื่องสัตว์ทะเลหายาก จึงพูดคุยกับน้องๆ ก่อนบอกว่าจัดไปเลยจ้ะ

จัดในที่นี้คือใส่โครงการแบบจัดเต็ม ไม่สนใจเรื่องงบ ค่อยไปว่ากันภายหลัง

หนึ่งในโครงการจัดไปเลยจ้ะคือการตรวจสุขภาพสัตว์หายากในธรรมชาติ

เพราะเราจะเฝ้ารอแต่เต่าเกยตื้นแล้วค่อยตรวจ ก็เหมือนโรงพยาบาลรอผู้ป่วยเข้ามาหา

หากเป็นเชิงรุก เราต้องออกไปตรวจตามชุมชน เพื่อดูแลตั้งแต่ต้น

ฉันใดฉันนั้น การตรวจเต่าในทะเลย่อมให้ผลที่เราต้องการเป็นอย่างยิ่ง

ฟังดูเหมือนง่าย แต่เราต้องทำเพียบเลย เพราะเต่าหรือพะยูนไม่รู้จักการมาตรวจเอง เราต้องตามไปตรวจในทะเล ซึ่งยากกว่าตรวจเต่าในบ่อเลี้ยงแบบคนละเรื่อง

แต่ด้วยความกรุณาของกระทรวงทรัพยากรฯ/กรมทะเล รวมถึงเสียงเชียร์ในโพสต์ต่างๆ จากเพื่อนธรณ์ โปรเจ็คจัดไปเลยจ้ะ กลายเป็นจริงเฉยเลย

จึงเป็นครั้งแรกที่เราลงทะเลไปตรวจเต่าจริงๆ มิใช่เต่าเลี้ยงหรือเต่าเกยตื้น

เราวางกรอบพื้นที่ กรมทะเลระดมผู้คนทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัคร ช่วยกันเต็มที่

ได้เต่ามาตรวจ 24 ตัว เยอะมากจนตกใจ ถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวนพอใช้เลยนะ

เต่าทั้งหมดเป็นเต่าตนุ เรื่องนั้นไม่แปลก เพราะนี่คือเต่าชนิดหลักในแหล่งหญ้าทะเลอันดามัน

ความหนาแน่น 0.43 ตัวต่อไร่ ถือว่าเยอะใช้ได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องประชากรเต่าในแหล่งหญ้าทะเล (ทะเลทั่วไปน้อยกว่านี้)

เต่าวัยรุ่น 7 ตัว เต็มวัย 17 ตัว ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่รับได้ มีเต่าเด็กๆ ขึ้นมาทดแทนเต่าพ่อแม่พันธุ์

การตรวจสุขภาพทำหลายอย่าง พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี/ดีมาก เยี่ยมไปเลย

อย่างไรก็ตาม พบบาดแผลจากผลของมนุษย์ 2 ตัว แต่ยังไม่ร้ายแรง ยังพบว่า 1 ตัวอึออกมามีพลาสติกปะปน
ก็ยังพอรับได้สำหรับสถานการณ์ในทะเลยุคนี้ ไม่ถึงขั้นหวั่นวิตก
แต่ที่วิตกจริงคือสัดส่วนเพศเมีย/ผู้

เต่าตัวเมีย 21 ตัว ตัวผู้ 3 ตัว !
สามตัวเป็นสัดส่วนที่น่าห่วง ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบโลกร้อน ทำให้ทรายร้อนกว่าอดีต

เพศของเต่ากำหนดโดยอุณหภูมิในทราย เมื่อร้อนขึ้น ลูกเต่าฟักออกมาจะเป็นตัวเมียเพิ่มขึ้น เพิ่มเรื่อยๆ จนเกิดปัญหา ตัวผู้ไม่พอผสมพันธุ์ เกิดประเด็นอย่างไข่เต่ามะเฟืองไม่ฟักเลย 3 รัง (เคยเล่าให้ฟังตอนผมไปภูเก็ต)

ยังมีกรณีน้ำเชื้อน้อย เกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ บางทีไข่เต่าที่ไม่ได้รับการผสมมีเกิน 50%

นี่คือ wake up call ตื่นได้แล้ว โลกร้อนเล่นงานเต่าใหญ่แล้ว

ยังมีอีกหลายข้อมูลน่าสนใจ แต่ที่อยากสรุปคืองานนี้ทำให้เราก้าวหน้าเรื่องการอนุรักษ์สัตว์หายากไปเยอะเลย

สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับยุคนี้ เราต้องการข้อมูลดีๆ แบบนี้เป็นประจำ ทำให้ทุกปี
เมื่อเรารู้มากขึ้น เราจะช่วยได้มากขึ้น

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีงบประมาณสนับสนุนเรื่องอย่างนี้เป็นประจำ

ไม่ใช่แค่ทำเฉพาะกิจ
จะมาเล่าเรื่องดีๆ ให้ฟังอีกนะครับ.


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4740198

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


ผู้เชี่ยวชาญเผย พะยูนน้อยรหัส99 เสี่ยงตายสูงกว่า มาเรียม-ยามีน อัพเดตอาการวันต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญเผย พะยูนน้อยรหัส99 เสี่ยงสูงกว่า มาเรียม-ยามีน เหตุเจอตอนอายุน้อย อัพเดตอาการวันต่อวัน



กรณี เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่ามีนักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนมีชีวิต?ว่ายเพียงลำพัง ??บริเวณเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่? จึงได้ประสานงานเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นและทำการขนย้ายมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นลูกพะยูน เพศผู้? อายุประมาณ? 1-2 เดือน ความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 13.8 กก. ลูกพะยูนสภาพอ่อนแรงและตาจมลึกแสดงถึงภาวะขาดน้ำ แต่ยังสามารถยกหัวขึ้นหายใจได้ พบรอยบาดแผลบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่น เสียงปอดมีความชื้นเล็กน้อย? ลำไส้มีการบีบตัว? และพะยูนยังมีความอยากกินอาหาร ทีมเจ้าหน้าที่ให้การดูแลตลอด? 24? ชั่วโมง? โดยมีการป้อนนมทดแทนและน้ทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อชดเชยภาวะการขาดน้ำ?? นั้น

โดยล่าสุด เฟซบุ๊ก Baby Dugong? ที่ติดตามความคืบหน้า ของลูกพะยูนตัวดังกล่าว ได้อัพเดต อาการของทีมเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารทดแทนนมสำหรับลูกพะยูนเพื่อแก้ปัญหาอาการถ่ายเหลว โดยมีการเพิ่มอิเล็กโทรไลต์และยาลดปวดเกร็งท้อง รวมถึงติดตามระดับกลูโคสในกระแสเลือดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีการฝึกให้ลูกพะยูนกินหญ้าทะเลที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง จัดหามาเสริมให้ พบว่าลูกพะยูนแสดงความสนใจต่อหญ้าทะเล มีการเคี้ยวเล่นแต่ยังไม่กินเข้าไป พฤติกรรมโดยรวมพบว่าในช่วงกลางคืน วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ลูกพะยูนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับบนผิวน้ำ มีการถ่ายเหลว ผายลม และการลอยตัวยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากมีแก๊สสะสมในลำไส้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ยังคงติดตามสังเกตพฤติกรรมของลูกพะยูนอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทางด้าน ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์กัย มติชนออนไลน์ ว่า หากเปรียบเทียบความเสี่ยง ระหว่างลูกพะยูนตัวนี้ ซึ่งทางศูนย์ไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เรียกตามรหัสที่ทางศูนย์ดูแลพะยูนบาดเจ็บว่า รหัส 99 กับ น้อง มาเรียม และ น้องยามีน นั้น พะยูน 99 ตัวนี้ จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะ รหัส 99 นั้น อายุน้อยมาก คือ อาจจะเดือน หรือไม่ถึงเดือน น้ำหนักประมาณ 13 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่มาเรียม กับยามีนนั้น อายุ 3-5 เดือน น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัม

"รหัส 99 นั้น เราต้องระวังความผิดพลาดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อ การให้ยา ต้องระวังอย่างมาก ตามที่ เพจติดตามอาการของน้องบอกว่า ป้อนหญ้าให้แล้ว น้องคายออกมานั้น เพื่อให้น้องได้มีการเรียนรู้การกินหญ้าคู่กับการกินนม อาจจะยังไม่คุ้น จึงคายออกมา อย่างไรก็ตาม อาหารหลักที่ทีมสัตวแพทย์ให้กินคือ นม ซึ่งตอนนี้ก็ยังต้องปรับสูตรนมที่ป้อนให้น้องแบบวันต่อวัน" ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า อาการที่น่าเป็นห่วงคือ การมีแก้สในท้อง และตาที่มีความขุ่นมัว ซึ่ง เป็นมาก่อนที่เจ้าหน้าที่พบ

ขอบคุณภาพ/คลิป เฟซบุ๊ก Baby Dugong?


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4739985

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


โลกในปัจจุบันอยู่ได้โดยไม่มีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้หรือไม่
.......... โดย ณรัล ลีลามานิตย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


KEY POINTS

- บทความนี้จะบอกถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงาน fossil ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การบริโภค รวมถึงคุณภาพชีวิต

- การขยายตัวทางเศรษฐกิจ social mobility คุณภาพชีวิต ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมภาคพลังงานและปิโตรเคมีที่ใช้ fossil base

- กุญแจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหา climate change/global warming ได้ในปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องของ energy efficiency

- Key points สรุปจากกองบรรณาธิการ




จากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น พายุ อุณหภูมิในหน้าร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงไฟป่า อากาศแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากภาวะ climate change

ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆ ท่านคงจะเห็นข่าวว่าพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น จากพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม ในหลายๆ พื้นที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล fossil

นอกจากนี้รถไฟฟ้าอีวี (EV) ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นต่อการชาร์จ และมีราคาถูกลงจนในปัจจุบันหลายๆ รุ่นมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแล้ว

การลดลงของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมไปถึงภาคยานยนต์ที่เริ่มให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าหลายค่ายอาจจะมีการปรับชะลอการลงทุนรถไฟฟ้าไปบ้าง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและยอดขายที่อาจจะไม่ดีนัก นับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งผู้บริโภค เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

จนทำให้หลายคนคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจและสังคมของโลกเราจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล (fossil) อีกต่อไป และในบางกรณีที่ extreme มากหน่อย คนบางกลุ่มคิดว่าการที่บริษัทน้ำมันรวมถึงบริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่วันนี้ที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภาคพลังงานที่ใช้ fossil ก็เพราะมุ่งเน้นแต่ผลกำไร และไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมนั้นอาจจะไม่ถูกซะทีเดียว

ในมุมมองของผู้เขียนเชื่อว่าโลกและธุรกิจจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น ในเวลาและจังหวะที่เหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม และในแต่ละบริบทของประเทศ หลายๆ ประเทศอาจจะเหมาะกับ energy addition มากกว่า energy transition ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะบริบทของเศรษฐกิจ สังคมไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะบอกถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงาน fossil ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การบริโภค รวมถึงคุณภาพชีวิต

ที่หากเรามองในอีกมุมหนึ่งอาจจะพบว่า สภาพความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันรวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ social mobility ของประชากร คุณภาพชีวิต อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีอุตสาหกรรมภาคพลังงานและปิโตรเคมีที่ใช้ fossil base โดยที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนกระบวนการผลิตหรือพลังงานนั้นๆในอนาคตอันใกล้

โลกในปัจจุบันอยู่ได้โดยไม่มีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้หรือไม่


1.อุตสาหกรรมขนส่งขนาดใหญ่

หากมองไปรอบๆตัวเรา ผู้เขียนมั่นใจว่าของที่ทางผู้อ่านใช้อยู่อย่างน้อยต้องถูกขนส่งในช่วงใดช่วงหนึ่งโดยภาคการขนส่งที่ใช้พลังงานที่ผลิตมาจากน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าที่ผลิตออกมาจากโรงงานแล้วถูกบรรทุกข์โดยรถพ่วง 18 ล้อที่ใช้น้ำมันดีเซล ขนตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังศูนย์กระจายสินค้า

หรือจะเป็นอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แล็ปท็อป แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน รุ่นใหม่ล่าสุดที่ถูกบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้เป็น bunker fuel ที่ผลิตมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน

หรือแม้กระทั่งยาหรือวัคซีนที่ใช้อยู่ที่ถูกขนส่งในห้องหรือตู้รักษาอุณหภูมิ ผ่านการขนส่งทางอากาศยานที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน (kerosene/jet fuel) ซึ่งก็เป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ในขณะที่ sustainable aviation fuel (SAF) ในปัจจุบันยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของปริมาณการบริโภคโดยรวม

อุตสาหกรรมขนส่งนั้นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่จะแข่งขันได้คือ ต้นทุนการขนส่งต่อระยะทาง และพลังงานที่ภาคการขนส่งใช้อยู่ไม่ว่าจะเป็นดีเซล ของรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งระยะทางไกลๆ

bunker fuel ของเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่วิ่งข้ามมหาสมุทร หรือเครื่องบินที่เราใช้โดยสาร หรือขนสินค้าที่ใช้ jet fuel ล้วนเป็นพลังงานและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีหรือเกือบร้อยปีล้วนมีน้ำมันดิบเป็นตัวตั้งต้น และทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่งต่อระยะทางมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันที่มีอยู่และในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคการขนส่งทางบกอาจจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า

อย่างไรก็ดีด้วยขนาดความจุของแบตเตอรี่ และน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่มาก รวมถึง charging infrastructure ที่ยังไม่เพียงพอและใช้เวลาในการชาร์จนาน

ทำให้การขนส่งด้วยรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่วิ่งระยะทางไกลๆ ยังไม่ใช่คำตอบในปัจจุบันและอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยมากกว่า 5-10 ปีถึงอาจจะมีเทคโนโลยี ที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งขนสินค้าในระยะทางไกลเกินกว่า 600 กิโลเมตรต่อวัน

ในขณะที่อุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลผ่านเรือขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีเรือต้นแบบอย่าง Yara Birkeland แต่ก็เป็นเพียงการวิ่งขนปุ๋ยระหว่างโรงงานใน Porsgrunn ไปสู่ท่าเรือที่ Brevik ใน Norway

โดยที่ cruising speed สามารถเดินเรือได้ 30 nautical mile และขนตู้คอนเทนเนอร์ ได้แค่ 120 ตู้ (TEU) เท่านั้นไม่ใช่การวิ่งข้ามมหาสมุทร)และเครื่องบินโดยสารนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาแทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้


2. อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่มาจากลม

หนึ่งในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดในปัจจุบันนั่นก็คือ พลังงานหมุนเวียนที่มาจากลม (renewable wind energy) อย่างไรก็ดีเชื่อว่าผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผู้เขียนถึงกล่าวว่าอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่มาจากลมต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่ใช้ fossil base เป็นหลัก

ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านนึกภาพตามว่าการที่เราจะสร้าง wind turbine ขนาด 5 megawatt นั้นประกอบไปด้วย เหล็กโดยเฉลี่ย 150 ตันสำหรับการสร้างฐาน reinforce concrete เหล็กอีก 250 ตันใน rotor hubs และ nacelles สำหรับ gearbox กับ generator และเหล็กอีก 500 ตันสำหรับเสากังหันลม (tower)

ทั้งหมดถูกขนส่งมาโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจาก fossil ดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก โดยตัวเหล็กที่ใช้ในการสร้าง wind turbine รวมถึงฐานและเสากังหันลม (tower) ก็จำเป็นที่จะต้องผลิตและใช้พลังงานในการผลิตจาก fossil

ไม่ว่าจะเป็น coking coal ที่ใช้ใน blasted furnace และค่าความร้อนสูงที่ใช้ natural gas โดยจากการประมาณคร่าวๆในปัจจุบัน เหล็ก 1 ตันที่ใช้ในการก่อสร้าง turbine ใช้พลังงานสูงถึง 35 gigajoules และยังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานประเภทอื่นแทนได้

นอกจากนี้ส่วนประกอบของใบพัดที่เรียกว่า airfoils ของตัวกังหันลม (wind turbine) เอง ซึ่งส่วนใหญ่มี 3 ใบพัด บางอันมีความยาวถึง 60 เมตร หนัก 15 ตัน ที่มี core ทำจาก balsa หรือ foam และเคลือบภายนอกด้วยอีพ็อกซีเรซิ่นเสริมใยแก้ว (glass-fiber-reinforced epoxy) หรือโพลีเอสเตอร์เรซิ่น (polyester resins) ซึ่งก็เป็นผลิตภัณฑ์เอทิลีน (ethylene) และมาจากก๊าซธรรมชาติ (natural gas)

โดยเฉลี่ยการผลิตอีพ็อกซีเรซิ่นเสริมใยแก้ว (glass-fiber-reinforced epoxy) หนึ่งตันใช้พลังงานในการผลิต 170 gigajoules นี่ยังไม่นับพวกน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ในการหล่อลื่น gearbox หรือ turbine ซึ่งล้วนผลิตจาก fossil base

ดังนั้นแม้เราจะสนับสนุนให้เรามีการใช้ Renewable energy มากขึ้นเท่าไหร่ อุตสาหกรรม renewable energy ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี (oil and gas และ petrochemical)


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


โลกในปัจจุบันอยู่ได้โดยไม่มีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้หรือไม่ ........ ต่อ


3. อุตสาหกรรมปุ๋ย (Synthetic nitrogenous fertilizers) สำหรับการเกษตร

ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าในระยะเวลา 70 ปี จาก 2.5 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1950 สู่ 8.1 พันล้านคนในปี 2024 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรตามมาด้วยความต้องการการบริโภคอาหารที่มากขึ้น

การที่ภาคการเกษตรสามารถเพิ่มปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นได้นั้น ก็มาจากความสามารถในการผลิตปุ๋ยที่เรียกว่า synthetic nitrogenous fertilizers ที่มาจากการใช้ ammonia (NH3) ผ่านกระบวนการเป็นองค์ประกอบขึ้นโดยการเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนในอากาศมาเป็นแอมโมเนียเหลวได้สำเร็จโดย

กระบวนการที่เรียกว่า haber-bosch process กระบวนการผลิตปุ๋ย nitrogen ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของปุ๋ย nitrogen ที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชเกษตรทั่วโลก และคิดเป็นปริมาณถึง 145 ล้านตันต่อปี (เพิ่มขึ้นจากแค่ 3.5 ล้านตันในปี 1950)

และเนื่องจากพืชทางการเกษตรคิดเป็น 85% ของแหล่งโปรตีนทางอาหารของประชากรทั้งโลก ดังนั้นหากไม่มีการผลิตปุ๋ย Nitrogen ผ่านกระบวนการดังกล่าว เราก็คงไม่สามารถที่จะผลิตอาหารเพียงพอให้ประชากรบนโลก 8.1 พันล้านคนบริโภคได้

สิ่งสำคัญคือกระบวนการผลิตปุ๋ยดังกล่าวที่เรียกว่า haber-bosch process นั้นใช้วิธีการดึงไนโตรเจน (nitrogen) ออกมาจากอากาศและ ไฮโดรเจน (Hydrogen) ของก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) รวมถึงยังใช้พลังงานความร้อนของแก๊ส (gas) ในการทำกระบวนการ synthesis

ซึ่งในปัจจุบัน เรายังไม่มีเทคโนโลยีทดแทนที่เป็น carbon free หรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการผลิตปุ๋ยดังกล่าวจำนวนกว่า 145 ล้านตันต่อปี

หรือแม้แต่ประเทศจีนที่เป็นประเทศที่มีการใช้ deploy renewable energy เยอะที่สุดในโลกโดยมีการติดตั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ (solar) ถึง 216.9 GW ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปี 2022 เกินกว่าสองเท่าและมากกว่าการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (solar) ของทั้งโลก รวมถึงมีการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนที่มาจากลม (wind turbine) กว่า 76.0 GW เยอะกว่าอเมริกาและยุโรปรวมกัน

แต่ในขณะเดียวกันหากมองที่ภาพรวมของปี 2023 ที่ผ่านมา Total energy consumption ของประเทศจีนกลับเพิ่มขึ้นถึง 6.5% เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 3.4% รวมถึงอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นของน้ำมันเบนซินและดีเซลกว่า 15% เทียบกับปี2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อน covid

นอกจากนี้ประเทศจีนในปีที่ผ่านมายังได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) เพิ่มขึ้นถึง 70 GW และอีก 47 GW ได้เริ่มผลิตไฟซึ่งคิดเป็นถึง 70% ของจำนวนโรงไฟฟ้าจากถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของทั้งโลก

แสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ร่วมกันของทั้ง renewable และพลังงานฟอสซิล (fossil) จากประเทศที่เป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ (hardware) ของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (Renewable energy) อันดับหนึ่งของโลกได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นนอกจาก 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงข้างต้นยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการบริโภคที่ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพลังงานรวมถึงวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมที่ใช้ fossil fuel หรือแม้กระทั่งใช้ fossil fuel เป็นหลัก

ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าจนกว่าที่เราจะมีเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนการใช้วัตถุดิบหรือ Fossil fuel ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ co-exist ระหว่างพลังงานทดแทนกับอุตสาหกรรม fossil fuel จะยังเกิดขึ้นต่อไปในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

การจะบอกให้หลายๆประเทศหรือหลายๆ อุตสาหกรรมเลิกใช้ fossil fuel โดยสมบูรณ์คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น กุญแจสำคัญที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะ climate change/global warming ได้ในปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องของ energy efficiency ผนวกกับการเพิ่มผลผลิต (productivity) จากแต่ละการใช้พลังงาน (barrel of oil equivalent) ที่บริโภค

หาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ยังจำเป็นต้องใช้ fossil fuel เช่น carbon capture storage มาใช้ควบคู่ไปกับการให้แรงจูงใจ (incentive)

ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายสนับสนุนและการบังคับของรัฐที่ชัดเจน รวมถึงกลไกในการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon) ที่เหมาะสมที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการนำมาปรับใช้ในวงกว้างของภาคอุตสาหกรรมต่อไป.

โลกในปัจจุบันอยู่ได้โดยไม่มีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้หรือไม่


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1140552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


กฎหมายระหว่างประเทศฉบับใหม่ เครื่องมือยุติ 'มลพิษจากพลาสติก' | World Wide View
........... โดย ศศิญาดา เนาวนนท์ กองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


ขยะพลาสติก ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ และโลกอาจมีขยะพลาสติกเกิน 1 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2603 นานาประเทศจึงร่วมกันจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันยุติมลพิษจากพลาสติก



ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกเกือบ 100 ล้านตันที่ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้องหรือถูกปล่อยให้รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้ปัญหามลพิษจากพลาสติกขยายตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ นอกจากนี้ วงจรชีวิตพลาสติกยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร่งภาวะโลกร้อนอีกด้วย ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเกิน 1 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2603 นานาประเทศจึงได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยเริ่มจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2565 มีข้อมติเห็นชอบให้จัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติก

ต่อมาไทยและประเทศต่าง ๆ รวม 193 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) เพื่อร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว การประชุม INC ได้รับการจับตามองอย่างมาก เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง และตั้งแต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของพลาสติก ประเทศผู้ใช้พลาสติก ประเทศที่เน้นเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ และประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านระบบนิเวศ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิตหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกรายหลัก โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะ ในส่วนของประเทศไทย มีคณะผู้แทนไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการเจรจา

การประชุม INC จัดมาแล้ว 4 ครั้ง โดย การประชุม INC-4 จัดเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่แคนาดา มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 2,500 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน และกำหนดให้กระบวนการแล้วเสร็จในการประชุม INC-5 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่เมืองปูซาน ทั้งนี้ ก่อนการประชุม INC-4 กลุ่ม Break Free From Plastic ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก ได้เรียกร้องหน้ารัฐสภาแคนาดาให้จัดทำกฎหมายระหว่างประเทศให้สำเร็จตามกำหนดในปีนี้ และเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วหยุดการส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนา

หากจะถามว่า ร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติกฉบับใหม่มีความสำคัญอย่างไร และทำไมไทยต้องเข้าร่วมการเจรจาด้วยนั้น ไทยมีขยะมากถึงวันละประมาณ 70,000 ตัน ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีขยะพลาสติกรั่วไหลลงทะเลมากที่สุด ไทยจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก และได้เข้าร่วมในการเจรจาร่างกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนของไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมท่าทีไทยและการเจรจา ทั้งภาครัฐ ภาควิจัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมให้ข้อมูลและกำหนดทิศทางการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ให้มีความเป็นธรรมและตอบโจทย์การจัดการมลพิษจากพลาสติกทั้งวงจรชีวิตพลาสติก ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการจัดการขยะ

ไทยยึดหลักการเจรจาที่คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเสริมขีดความสามารถ ตลอดจนหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR)

ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมให้ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฯ ได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (https://www.thaipost.net/abroad-news/154844/) เพื่อร่วมผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประเทศ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพมนุษย์ต่อไป


https://www.bangkokbiznews.com/world/1140555

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:58


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger