#1
|
||||
|
||||
ชีวิตคนเขียนสิ่งแวดล้อม ..
อาจจะยาวไปสักหน่อย แต่มีงานดีๆมาให้ใช้เวลาอ่านกันครับ ..
ศรีบูรพา ปาฐกถา ชีวิตคนเขียนสิ่งแวดล้อม โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 5 พฤษภาคม 2554 "สวัสดีครับท่านคณะกรรมการจัดงานวันศรีบูรพา แขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย วันนี้เป็นวันสำคัญในชีวิตผม ผมไม่แน่ใจว่าตัวผมจะมีคุณค่าพอกับรางวัลศรีบูรพาอันทรงเกียรตินี้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตและงานของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์แล้ว ท่านเปรียบเสมือนตำนานที่ไม่มีวันตายไปจากสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอาจจะมีคล้ายท่านก็คือ ผมมีความรักในการเขียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา ผมมีความเชื่อว่า อาวุธที่มีเพียงปากกา และมันสมองของเรา สามารถแสดงพลังออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นประทีปส่องนำผู้คนได้ ขอเพียงแต่หมั่นฝึกหัดวิทยายุทธ์ หมั่นขัดเกลาวิธีการเขียนและหมั่นหาข้อมูล ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ผมเคยบอกรุ่นน้องนักเขียนหลายคนว่า นักเขียนที่ดีก็เหมือนกับเชฟทำอาหาร ต้องหมั่นเดินตลาด ซื้อหาวัตถุดิบในตลาด ทั้งของแห้ง ของสด ว่ามีอะไรน่าสนใจ มาตระเตรียมไว้ในครัว เผื่อต้องทำอาหารให้ลูกค้า จะได้มีของเอาไว้ปรุงอาหารได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับนักเขียน การเป็นนักสังเกต การเป็นนักอ่าน ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ก็เหมือนกับการเก็บวัตถุดิบ ออกไปจ่ายตลาดซื้อของแห้ง ของสดเตรียมไว้ในสมอง พอถึงเวลาต้องเขียนหนังสือ เราก็จะมีของมีวัตถุดิบที่จะปล่อยออกมาได้ตลอดเวลา การหาวัตถุดิบหรือหาความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเป็นนักเขียนมาก ซึ่งปัจจุบัน ดูเหมือนเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่า การแสดงความเห็นเสียอีก ตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีนั้น ผมเป็นคนชอบเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ในชนบท ตามป่าเขา เพื่อหาวัตถุดิบ ถ่ายรูป เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าปัจจุบันเราจะมีเทพเจ้าองค์ใหม่ที่เรียกว่า GODGlE หรือ Google ที่นักเขียนใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่ แต่ผมก็ยังเชื่อในการเดินทาง เชื่อในการสัมผัสพูดคุยกับผู้คนจากแดนไกลว่าจะได้ของสดมากกว่าของแห้งที่ถูกใช้แล้วอย่างบอบช้ำจาก การท่องโลกผ่านกูเกิ้ล มีคนถามผมว่า ผมชอบเขียนงานประเภทไหนมากที่สุด คำตอบก็คือดูจะเป็นงานเขียนประเภทที่มีคนเขียนน้อยมาก คืองานเขียนทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตงานเขียนด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่แทบจะนับตัวคนเขียนได้ในสังคมนี้ ในปีแรกของการทำนิตยสารสารคดี ผมได้รับมอบหมายให้ติดตามคุณสุรพล ดวงแข นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล บุกป่าแถวเมืองกาญจน์ ปีนภูเขาขึ้นไปอยู่บนถ้ำแห่งหนึ่งเป็นทีมงานที่เข้าไปถ่ายภาพค้างคาวกิตติทองลงยา ค้างคาวตัวเล็กที่สุดในโลก และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก ชาวบ้านที่เป็นคนนำทางบอกว่า ถ้ำนี้เคยมีหมีอาศัยอยู่ ไม่แน่ว่าวันไหนจะกลับมาอีก ต้องจัดเวรระวังตัวให้ดี เราพักในถ้ำอยู่หลายคืนเพื่อถ่ายภาพ หน้าที่อย่างหนึ่งคือปีนลงมาเพื่อตักน้ำซับจากเบื้องล่างใส่ลำไม้ไผ่และปีนขึ้นไปบนถ้ำ และช่วงเวลานั้นชาวบ้านสอนเราให้รู้จักการเผากระบอกไม้ไผ่หุงข้าว หลายวันที่ใช้ชีวิตบนถ้ำ ผมได้เห็นค้างคาวกิตติทองลงยาตัวเท่าผีเสื้อด้วยความตื่นเต้น เห็นความงดงามของสัตว์โลก ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับชีวิตของสัตว์น้อยตัวนี้ที่อาจจะมีอยู่ในโลกเพียงแห่งเดียว ค่อย ๆ ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยฝีมือของคุณสุรพล ดวงแข แต่ก็แลกความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ตามมา กล่าวคือทีมงานหกคนที่ไปถ่ายทำชีวิตสัตว์โลกนี้ ป่วยเป็นไข้มาลาเรียกันสี่คน ส่วนผมโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในสี่คนนั้น ไม่นาน ผมล่องแก่งตามแม่น้ำสายเชี่ยวแถวเทือกเขาตะนาวศรี มาขึ้นที่ป่าแห่งหนึ่ง เพื่อมาทำสารคดีเรื่องปูสามสี หรือปูไตรรงค์ จากลักษณะสีแดง น้ำเงินและสีขาว เป็นการค้นพบปูพันธุ์ใหม่ของโลก และเดือนต่อมาทหารเรือก็พาผมฝ่าคลื่นทะเลมาทิ้งไว้บนเกาะคราม เกาะขนาดใหญ่กลางอ่าวไทยที่ไม่มีคนอยู่ นอกจากทหารเรือสี่ห้าคนและงูเห่า งูจงอางนับร้อยตัว พออาทิตย์จะลับขอบฟ้าพวกเราเริ่มปีนหน้าผาข้ามฝากมาเก็บข้อมูลและถ่ายภาพการวางไข่ของเต่าตนุตรงหาดทรายแห่งหนึ่งตลอดทั้งคืน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผม เห็นเต่าตนุน้ำตาไหลตอนเบ่งไข่ออกมา ผมถูกปล่อยเกาะหนึ่งอาทิตย์ จนกว่าเรือจะมารับ ช่วงท้าย ๆ เสบียงหมด ต้องหากินกันจริง ๆ ต่อยหอยนางรมตามโขดหิน ช่วยทหารเรือวางตาข่ายจับปลา กลางคืนก็นอนตากฝน เมื่อเพิงพักถูกพายุพัดไปหมด ตอนหนึ่งในงานสารคดีเกี่ยวกับเต่าทะเลชิ้นนั้น ผมเขียนว่า "ในป่าคอนกรีตที่มีเครื่องคุ้มครองปกปัองเรามากมาย เราหารู้ไม่ว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เพียงใด แต่เมื่อครั้งใดที่มนุษย์อยู่ใกล้ธรรมชาติมากขึ้น เราจะตระหนักได้ดีว่า มนุษย์นั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆที่อ่อนแอ และแสนจะดื้อรั้น" ผมเริ่มเห็นแล้วว่า การได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ สัมผัสด้วยสายตา เป็นข้อมูลชั้นยอด เป็นข้อมูลขั้นต้น ที่ใครก็ตามหากจะเป็นนักเขียน เป็นนักรายงานข่าว ต้องถือปฏิบัติเป็นบรรทัดฐาน และกลายเป็นวัตรปฏิบัติสำหรับคนทำนิตยสารสารคดีมาโดยตลอดตราบจนถึงปัจจุบัน แต่ชีวิตของผมพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสังคมไทย คือคุณสืบ นาคะเสถียร ประมาณปี 2529 ผมได้ยินเรื่องโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเขี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีข้าราชการกรมป่าไม้ชื่อสืบ นาคะเสถียรเป็นหัวหน้าโครงการ ผมเดินทางไปหาแกที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ตลอดเวลาสิบวัน ผมนั่งเรือหางยาวลำใหญ่ออกไปกับคุณสืบและทีมงานเพื่อช่วยเหลือค่าง กวาง กระจง ลิงลม และงูจงอาง ที่ติดอยู่ตามยอดไม้ในสภาพอ่อนแรงเต็มที เราทำงานแข่งกับเวลา ยิ่งช้า สัตว์ป่าที่รอรับความช่วยเหลือก็ยิ่งตายลงไปมากขึ้น ผมเห็นความมุ่งมั่นของผู้ชายคนนี้จริง ๆ ว่าเขาทุ่มเททำงานหนักเพียงใดทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อช่วยเหลือสิ่งที่เขารักอย่างจริงจัง มีครั้งหนึ่งบนเรือ พี่สืบเสี่ยงชีวิตจับงูจงอางขนาดสองเมตรด้วยมือเปล่า ทั้ง ๆที่สามารถสั่งลูกน้องให้จับแทน ทุกคนรู้ดีว่า หากพลาดโดนงูกัด ก็คือความตายที่รออยู่ เพราะระยะทางไปถึงโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่าหกชั่วโมง พอจับงูใส่กระสอบเสร็จ พี่สืบก็สารภาพกับผมว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาจับงู สืบเป็นนักวิชาการตัวพ่อ ตอนออกพื้นที่ ภาพที่ชินตาเราก็คือ พี่สืบสะพายกล้องนิคอน มือหนึ่งถือสมุดบันทึกเก็บข้อมูลตลอดเวลา ผมเรียนรู้ความคิดในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากพี่สืบโดยไม่ตั้งใจ ผมเห็นวิธีคิด การให้เหตุผลในเชิงวิชาการ และการแสดงความเห็นในสิ่งที่เขาเชื่ออย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ จนผมแปลกใจมากว่า ยังมีข้าราชการชั้นผู้น้อยแบบนี้ในสังคมไทยด้วยหรือ ช่วงเวลานั้น ผมเพิ่งเขียนสารคดีเนื่องในโอกาสครบรอบ สิบปีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่จากเมืองไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2529 ผมเขียนว่า คนไทยอาจจะมีคนดี คนเก่งมาก แต่ขาดคนกล้าที่ยืนหยัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ คุณสืบและอาจารย์ป๋วยคือคนกล้าที่สังคมไทยขาดแคลนมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน วันที่ผมทราบข่าวว่าคุณสืบ ยิงตัวตายในราวป่าห้วยขาแข้งนั้น ผมเข้าใจดีว่า คนที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานขนาดนั้น เขากล้าพอจะยิงตัวตาย หากการตายของเขาได้บอกปัญหาการทำลายป่าห้วยขาแข้งให้คนภายนอกได้รับทราบ ผมมีโอกาสติดตามพี่สืบเดินป่า ลงพื้นที่อีกหลายครั้ง ในฐานะที่ข้าราชการซี 5 อย่างแกกลายเป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนหลายแห่ง อาทิเขื่อนแก่งกรุงในป่าสุราษฎร์ เขื่อนน้ำโจนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้วยเหตุผลสำคัญคือ การไปทำลายพื้นที่ป่าผืนใหญ่นับแสนไร่ รวมถึงชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมากที่หนีน้ำท่วมไม่ทัน ไม่นับรวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก่อนหน้านั้น ข่าวการสร้างเขื่อนตามหน้าหนังสือพิมพ์ มักจะรายงานถึงผลดีของการสร้างเขื่อนด้านเดียว โดยแทบจะไม่เคยรายงานให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาการอพยพที่อยู่อาศัยของชาวบ้านผู้ยากไร้เลย นักข่าวก็แทบจะไม่เคยลงพื้นที่ที่มีปัญหา นอกจากใบแถลงข่าวของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของผู้สร้างเขื่อน
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#2
|
||||
|
||||
ผมได้เข้าใจแล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของผลกระทบระยะยาว ที่ทำให้ผู้คนในสังคมไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร แน่นอนว่าการทำลายป่าผืนใหญ่ที่เป็นตัวผลิตออกซิเจน ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งสะสมความหลากหลายทางพันธุกรรมชั้นยอด คงไม่เห็นผลกระทบในวันนี้ แต่สร้างเขื่อนเราได้กระแสไฟฟ้าพอใช้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่หนึ่งหลังแน่นอน เช่นเดียวกับเมื่อร้อยปีก่อนที่มนุษย์ได้ค้นพบน้ำมัน และปลดปล่อยมันขึ้นสะสมในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานาน ไม่มีใครรู้เลยว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เราเรียกว่า โลกร้อน และกลายเป็นปัญหาที่มนุษย์ยังไม่มีทางออกมาจนถึงทุกวันนี้
งานเขียนทางด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย คนที่เขียนงานทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานสารคดี หรือการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม มักจะเห็นข้อจำกัดว่า ข้อมูลด้านนี้แทบจะไม่มีการบันทึกหรือมีข้อมูลสะสมมาก่อนเลย ทุกอย่างแทบจะเป็นเรื่องใหม่หมด ที่คนเขียนจะต้องลงมือเก็บข้อมูลด้วยตนเอง การอ้างอิงจากข้อมูลหรืองานวิชาการที่เคยทำมาก่อนหน้านั้น นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับงานด้านอื่น นักข่าวสิ่งแวดล้อมตามหน้าหนังสือพิมพ์เคยบอกกับผมเสมอว่า หากพวกเขาและเธอย้ายไปอยู่โต๊ะการเมือง โต๊ะเศรษฐกิจ โต๊ะกีฬา หรือโต๊ะการเมือง อาจจะทำงานง่ายกว่านี้ เพราะอย่างน้อยมีข้อมูลสะสมมากมาย อาทิเรามีข้อมูลประวัตินายกรัฐมนตรีเมืองไทย ประวัตินักการเมือง ประวัติดารามากมาย แต่เราแทบจะไม่มีประวัติป่าหรือแม่น้ำแต่ละแห่งหรือปริมาณฝนย้อนหลังในเมืองไทยเลย ผมจำได้ดีเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำสมัยฟองสบู่แตกเมื่อสิบกว่าปีก่อน หน้าข่าวสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์หรือสื่อทีวีถูกลดพื้นที่ก่อนข่าวด้านอื่น นักข่าวสิ่งแวดล้อมหลายคนไม่ถูกย้ายไปอยู่ฝ่ายอื่น ก็ถูกยกเลิกการจ้างงาน บรรณาธิการส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา เป็นพื้นฐานสำคัญในการรายงานข่าว ส่วนข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงข่าวลูกเมียน้อยมาโดยตลอด จะมีหรือไม่ก็ไม่มีนัยะสำคัญ ยี่สิบกว่าปีผ่านไป ผมจำได้ว่าคนทำข่าวสิ่งแวดล้อมรุ่นแรก ๆ ที่ผมรู้จัก ส่วนใหญ่ก็เลิกลากันไป ผมเฝ้ามองคนทำข่าวสิ่งแวดล้อมรุ่นน้อง มาจนถึงรุ่นลูก หลายคนยังยืนหยัดอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็ถอยหรือย้ายงาน เพราะตระหนักดีว่า งานเขียนหรืองานข่าวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล เป็นงานยากที่ต้องใช้ความรู้หลายด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ แถมเป็นข่าวที่ไม่ค่อยมีคนสนใจมาก เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวด้านอื่นๆ แต่ยี่สิบกว่าปีในการเขียนหนังสือ ผมก็ยังเขียนงานเขียนด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่ประเด็นใหญ่ๆ อาทิ เรื่องเขื่อนปากมูล ปัญหามลภาวะในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การรุกป่าโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่งานเขียนอีกด้านมักเป็นประเด็นเล็ก ๆ ที่คนอาจจะไม่ค่อยสนใจ อาทิ เรื่องที่สวนสัตว์เชียงใหม่จะนำเอาหมีขั้วโลกมาจัดแสดงในประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเรา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนและเพื่อทำวิจัยหมีขั้วโลก มันเป็นประเด็นเล็ก ๆ แต่ผมเชื่อว่าได้สะท้อนวิธีคิดของคนมีอำนาจในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผมค้นพบตัวเองว่าชอบเขียนหนังสือ แม้ว่าจะยังเขียนได้ไม่ค่อยดี การค้นพบตัวเองเป็นสิ่งที่โชคดีมากกับชีวิต ครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีก่อน ตอนที่ผมกับพรรคพวกมาเดินป่าที่เกาะแทสมาเนียเป็นเวลายี่สิบวัน กลางป่าวันหนึ่งผมได้พบว่า ความต้องการในชีวิตของผมมีอยู่สามประการด้วยกัน อย่างแรกคือ การได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างที่สองคือ การได้เดินทางไปทั่ว อย่างที่สามคือ การได้ช่วยเหลือคนรอบข้างตามกำลังของตัวเอง ผมรักการเขียนหนังสือมาโดยตลอด และตั้งใจมาโดยตลอดว่าจะไม่ทำให้คนอ่านเสียเวลากับงานเขียนชิ้นนั้น ผมชอบการเดินทาง เพราะรู้สึกว่านอกจากจะรู้ว่ายังมีสิ่งให้เรียนรู้อีกมากมายแล้ว ยังค้นพบว่ายิ่งเดินทาง ตัวตนของเรายิ่งลดลงไปเรื่อยๆ คนเราจะโด่งดังคับฟ้าเพียงใด แค่ออกนอกประเทศก็แทบจะไม่มีใครรู้จักแล้ว และการช่วยเหลือคนรอบข้างเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ เราคงอดตายหรือไม่มีบ้านอยู่แน่ หากไม่มีชาวนาหรือกรรมกร เช่นเดียวกับที่ชาวนาก็หวังพึ่งหมอ วิศวกร หรือพ่อค้า ดังนั้น การช่วยเหลือกันและกันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้งหนึ่งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยเขียนไว้ว่า “ในเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตวัน ใคร ๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้าฟ้าคนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาส ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบฟ้าสว่าง ไคร ๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เรายืนหยู่ที่เดิม และจักหยู่ที่นั่น...” ผมหวังว่าที่เหลือชีวิตของผมจะเป็นเช่นนั้น การเขียนหนังสือเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องทำไปตลอดชีวิต และผมเชื่อมั่นว่า หากทุกคนในสังคมได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว ไม่ว่าเขาและเธอจะมีอาชีพหรืออยู่ในบทบาทอะไร สังคมไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ผมขอขอบพระคุณ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ให้ทุกสิ่งแก่ผมมาตลอด พี่น้อง ทุกคน พี่มดผู้ให้ผมรู้จักคนจน เพื่อนฝูง มิตรสหายทุกคน คุณสุวพร ทองธิว เจ้าของนิตยสารสารคดี ผู้ให้โอกาสผมได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก โรงเรียนอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองสถาบันที่หล่อหลอมชีวิตผม และสุดท้ายขอขอบคุณ คุณสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้เคียงข้างและให้กำลังใจมาโดยตลอด" ผมอ่านปาฐกถานี้จบและไ้ด้ข้อคิดหลายอย่างมากมาย .. หลายๆครั้งที่ผมเห็นความตั้งใจของพี่สองสายที่บ้านหลังนี้ ถูกถ่ายทอดผ่านการทำกิจกรรม ผ่านงานเขียน ข่าวสาร รายงานต่างๆครั้งแล้วครั้งเล่า .. ปาฐกถานี้เหมือนจะให้คำตอบกับผมว่า ทำไมพี่ทั้งสองถึงได้มีพลัง มีความพยายามอุตสาหะ ขนาดนี้ ผมถือโอกาสนี้แทนสมาชิก SOS ขอบคุณพี่สองสายด้วยปาฐกถานี้ ผมเชื่อว่าพี่ทั้งสองกับคุณวันชัยคงคิดหลายๆอย่างเหมือนๆกัน .. ใช่ไหมครับพี่ ..
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#3
|
||||
|
||||
อ้างอิง:
อ่านแล้วแทบพูดอะไรไม่ออก....ตอบอะไรแทบไม่ได้เลยค่ะน้องปี๊บ.... อาจจะเพราะสิ่งที่ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้พูดไปนั้น มันช่างตรงกับใจเรา อีกทั้งประโยคที่คุณวันชัยอ้างคำพูดของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ว่า... อ้างอิง:
ช่างซาบซึ้งและกินใจเราเหลือเกิน.... เราคงจะตอบน้องปี๊บได้เพียงว่า.... เรารักทะเลและสิ่งแวดล้อม...เราจึงอยากจะรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมไว้ ให้คงความสวยงามและอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อตัวเราเอง และลูกหลานเราในอนาคต และการจะทำให้สิ่งๆนี้ดำรงอยู่ได้ มันเหมือนพลังส่งให้เราต้องทำหน้าที่ ที่พร้อมจะสละได้ทุกอย่าง สู้ได้ทุกเมื่อ.... เราจะอยู่ตรงนี้...และจะไม่หนีไปไหน...ตราบจนถึงวัน ที่ผืนน้ำและผืนทรายกลบหน้าเรา...
__________________
Saaychol |
#4
|
|||
|
|||
ได้ยึดถือการดำเนินชีวิตตามแบบที่คุณวันชัย ตันกล่าวคือ
"การได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก การได้เดินทางไปทั่ว และ การได้ช่วยเหลือคนรอบข้างตามกำลังของตัวเอง" ซึ่งบ้าน sos เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตนั้น คือทำให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ พร้อมเดินทาง อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือท้องทะเลไทย ขอบคุณปี๊บ ที่นำบทความของคุณวันชัย ตัน มาให้ได้อ่านอีกครั้ง ถึงแม้วันนี้คุณวันชัย จะไม่ได้เป็น บก. สารคดี แล้ว แต่จะติดตามผลงานบทต่อไปของคุณวันชัยต่อไป ทางรายการโทรทัศน์ สำหรับบ้าน sos และพี่สองสาย ผู้เป็นเสาหลักของพวกเรา ด้วยความแน่วแน่ในการรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรายึดเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีในความมุ่งมั่น เพื่อตอบแทนกลับสู่ธรรมชาติ ขอบคุณพี่สองคนมากๆค่ะ |
#5
|
|||
|
|||
สุดยอดเลยครับกับบทความดีๆ
และขอคาราวะพี่ 2 สายด้วยครับ "เรารักทะเลและสิ่งแวดล้อม...เราจึงอยากจะรักษ์ทะเลแล ะสิ่งแวดล้อมไว้ ให้คงความสวยงามและอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อตัวเราเอง และลูกหลานเราในอนาคต และการจะทำให้สิ่งๆนี้ดำรงอยู่ได้ มันเหมือนพลังส่งให้เราต้องทำหน้าที่ ที่พร้อมจะสละได้ทุกอย่าง สู้ได้ทุกเมื่อ.... เราจะอยู่ตรงนี้...และจะไม่หนีไปไหน...ตราบจนถึงวัน ที่ผืนน้ำและผืนทรายกลบหน้าเรา..." หวังว่าคงได้มีโอกาสสักวันที่ได้ฟังว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับพี่ๆทั้ง 2 ท่าน |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณน้องโอและน้อง Thoto_Dive สำหรับคำพูดที่ทำให้เรายิ้มได้ค่ะ.... "รักในสิ่งที่ทำ...ทำในสิ่งที่รัก"....น่าจะเป็นคำตอบสำหรับการดำรงคงอยู่ได้ของเราในวันนี้ค่ะ ส่วนแรงบันดาลใจ....อยากให้ log in และเข้าไปอ่านที่นี่นะคะ... http://www.saveoursea.net/forums/sho...4109#post24109
__________________
Saaychol |
|
|