#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 20 - 23 มี.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 18? 19 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 มี.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 20-24 มี.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20-23 มีนาคม 2563)" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2563 ในช่วงวันที่ 20-23 มีนาคม 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นอากาศในกระแสลมฝ่ายตะวันตกระดับบนจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม ประกอบกับลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
แอฟริกาสร้างกำแพงสีเขียว ปลูกต้นไม้หยุดทะเลทราย ............... คอลัมน์ พุ่มไม้ใบบัง โดย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ 20 ประเทศแอฟริการ่วมสร้าง กำแพงสีเขียวยักษ์ ปลูกต้นไม้ขวางทวีปแอฟริกาฆ่าทะเลทราย หยุดการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สู้โลกร้อน และความยากจน โครงการ Great Green Wall of Sahara and the Sahel เกิดขึ้นเมื่อปี 2002 และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังในปี 2007 ที่ต้องการต่อสู้การเปลี่ยนสภาพเป็นทะเลทราย (Desetification) ในภูมิภาค Sahel Region (แอฟริกาเหนือ) และต่อสู้ภาวะโลกร้อน มันถูกพัฒนาโดย Africa Unionโดยมี 20 กว่าประเทศในแอฟริกา รวมถึงองค์กรอื่นๆเข้าร่วมอย่าง UN เป็นต้น โครงการดังกล่าวตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงชีวิตคนนับล้าน สร้างระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูพื้นที่ 100 ล้านเฮคเตอร์ที่กำลังเสื่อมสภาพให้กลายเป็นสีเขียว เป็นกำแพงยักษ์ต้นไม้ที่ยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร และกว้าง 15 กิโลเมตร บนกว่า12 ประเทศแอฟริกาขวางทวีปจากออกไปตก เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 250 ล้านตัน ภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน SDGs ด้วย นอกจากนี้ Great Green Wall ยังสร้างประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ในการสร้างงานกว่า 10 ล้านคน และสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงการความปลอดภัยด้านอาหารให้หลายล้านคน เพราะเมื่อกล่าวถึงภูมิภาค Sahel แล้ว คนจะเห็นภาพพื้นที่นี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ ๆ ผู้คนมีความขาดแคลนมากที่สุดในโลกและตอนนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปด้วย ผู้คนต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีทรัพยากรจนเกิดเหตุทะเลาะเพื่อแย่งทรัพยากรที่ลดน้อยลง และตอนนี้ผู้คนมากมายก็ได้อพยพไปยุโรป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาภายหลัง ผ่านมาเป็นเวลา 12 ปีแล้วที่โครงการนี้เริ่มต้นอย่างจริงจัง ขณะนี้แต่ละประเทศนั้นได้ผลลัพท์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยจากข้อมูลโดย UN Convention to Combat Desertification ระบุว่า พื้นที่กว่า 20 ล้านเฮคเตอร์ (20% ของเป้าหมาย)ได้ถูกฟื้นฟูแล้วใน Ethiopia, Senegal, Nigeria, Sudan, Burkina Faso, Mali, Niger และชาติอื่นๆ ที่สำคัญผู้คนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอาหารมากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงและมีงานทำมากขึ้น กำแพงสีเขียวยักษ์แห่งนี้แสดงให้เห็นถึงว่า การที่ธรรมชาติฟื้นฟูอุดมสมบูรณ์ขึ้นจะช่วยทำให้ชีวิตของผู้คน และโลกดีขึ้นเช่นกัน กำแพงต้นไม้ขนาดใหญ่นี้อาจจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ของโลกก็เป็นได้ https://www.dailynews.co.th/article/763172
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ธารน้ำแข็งกับอุณหภูมิของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ............... โดย สุทัศน์ ยกส้าน ภาพเปรียบเทียบธารน้ำแข็ง Rhone Glacier ในเมือง Gletsch สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 14 ก.ค.2015 (บน) และ 16 ส.ค.2018 (ล่าง) (Fabrice COFFRINI / AFP) ธารน้ำแข็ง (glacier) เป็นมวลน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ปกคลุมพื้นดินแถบขั้วโลก หรือยอดเขาสูง ตามปกติเกิดจากหิมะที่ตกในปริมาณมาก และได้กดทับถมเป็นเวลานานหลายล้านปี จนเกล็ดหิมะถูกอัดแน่นเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ แม้จะเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ก็สามารถเคลื่อนที่ได้ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดมวลน้ำแข็งให้เคลื่อนที่อย่างช้าๆ ลงตามไหล่เขา ผ่านหุบเหวและพื้นราบจนกระทั่งถึงทะเลหรือมหาสมุทร ครั้นเมื่อน้ำแข็งสัมผัสกับน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ธารน้ำแข็งก็จะแตกตัว แยกออกเป็นก้อนน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่บ้าง และเล็กบ้าง ลอยละล่องไปในทะเลเป็นก้อนน้ำแข็งในทะเล (sea-ice) และภูเขาน้ำแข็ง (iceberg) ที่อาจเป็นอันตรายต่อเรือเดินทะเลที่พุ่งชน ดังในกรณีเรือเดินสมุทร Titanic ที่จมลงในปี 1912 พร้อมชีวิตผู้โดยสารร่วม 1,400 คน ตามคำจำกัดความนี้ ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่จึงมีพบที่บริเวณขั้วโลกทั้งสอง คือ ทวีป Arctic กับทวีป Antarctica, เทือกเขา Himalayas, เกาะ Greenland, บริเวณทางตอนเหนือของรัฐ Alaska, ใน Canada, ไซบีเรีย, บนเทือกเขา Alps, เทือกเขา Andes ในอเมริกาใต้ และที่ยอดเขา Kilimanjaro ในแอฟริกา รวมถึงบนยอดเขาสูงต่างๆ ของทวีปเอเชีย ในประเทศ Pakistan, Tajikistan, Uzbekistan, Kyrgyzstan และในแคว้น Xinjiang ของจีน เป็นต้น ตามปกติ เมื่ออุณหภูมิของอากาศเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งจะละลาย โดยเฉพาะที่ผิวบนและล่างของธารน้ำแข็งจะกลายเป็นน้ำเหลวแล้ว ธารน้ำแข็งจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นธารน้ำเหลว และเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ได้ระยะทางประมาณวันละเมตร (ดังนั้น ถ้าไม่เฝ้าติดตามสังเกต มันก็ดูเสมือนไม่เลื่อนตัวเลย) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องธารน้ำแข็ง (glacier scientist หรือ glaciologist) ภายใต้การนำของ Erin Pettitt แห่งมหาวิทยาลัย Oregon State ที่เมือง Corvallis ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สังเกตเห็นธารน้ำแข็งชื่อ Thwaites ซึ่งอยู่ที่ขอบทางทิศตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา และอยู่ห่างจากขั้วโลกใต้ประมาณ 1,000 กิโลเมตร กำลังจะแตกแยกออกจากมวลน้ำแข็งใหญ่ที่ปกคลุมแอนตาร์กติกาทั้งทวีป เพราะธารน้ำแข็ง Thwaites มีพื้นที่ผิวทั้งหมดเท่าเกาะอังกฤษ ดังนั้น ความกังวลจึงเกิดขึ้นเมื่อคณะวิจัยตระหนักว่า ถ้าธารน้ำแข็ง Thwaites ละลายหมด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 65 เซนติเมตร ในที่ประชุมของสมาคม American Geophysical Union ที่เมือง San Diego ในรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยภายใต้การนำของ Pettitt ได้รายงานการศึกษาธรรมชาติของธารน้ำแข็ง Thwaites ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ International Thwaites Glacier Collaboration โดยได้ศึกษาธรรมชาติของน้ำทะเลใต้ธารน้ำแข็ง ซึ่งโผล่ยื่นออกไปในทะเลเป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรทำให้พบว่า มีกระแสน้ำอุ่นพุ่งปะทะธารน้ำแข็งตลอดเวลา และอิทธิพลของกระแสน้ำนี้เมื่อผนวกเข้ากับอิทธิพลของโลกร้อนจะทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วยิ่งขึ้นไปอีก โครงการวิจัยสำรวจธารน้ำแข็งยังได้ส่งหุ่นยนต์ ชื่อ R?n (ตามชื่อของเทพธิดาแห่งมหาสมุทรในเทพนิยายของชาว Viking) ลงไปใต้ธารน้ำแข็ง Thwaites เพื่อเก็บข้อมูลใต้น้ำและที่ท้องทะเลด้วย และได้พบว่า ธารน้ำแข็ง Thwaites ประกอบด้วย แผ่นน้ำแข็ง 2 ส่วน คือ ส่วนตะวันออกที่เคลื่อนที่ได้ระยะทาง 600 เมตร/ปี กับส่วนตะวันตกที่เคลื่อนที่ได้ระยะทาง 2,000 เมตร/ปี การมีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่านใต้ธารน้ำแข็ง จะทำให้ธารน้ำแข็งส่วนตะวันออกแตกแยกออกมาก่อน ด้านนักธรณีวิทยาในโครงการวิจัยก็มุ่งศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งคลื่นกระทำต่อธารน้ำแข็ง จึงได้เจาะรูลงไปในน้ำแข็งเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร แล้วติดตั้งอุปกรณ์ตรวจรับคลื่นแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรง ธารน้ำแข็งก็จะแตกเร็วกว่าปกติ ทีมวิจัยยังใช้เรดาร์ศึกษาโครงสร้างและลักษณะการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง โดยใช้ระบบ GPS (Global Positioning System) ศึกษาธรรมชาติของธารน้ำแข็ง ณ เวลาต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความเร็วของธารน้ำแข็ง และปริมาตรของธารน้ำแข็ง เพราะทันทีที่รู้ความหนาแน่นและปริมาตรของน้ำแข็ง การคำนวณหามวลของธารน้ำแข็งก็ไม่มีปัญหา ดังนั้น การรู้มวลของธารน้ำแข็ง ณ เวลาต่างๆ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการละลายของน้ำแข็งว่า ในอนาคต ธารน้ำแข็ง Thwaites จะมีสภาพเช่นไร น้ำแข็งละลายหมดเมื่อไร และภัยน้ำทะเลที่จะท่วมเมืองที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งจะเกิดขึ้นหรือไม่ และจะรุนแรงเพียงใด นอกจากภัยธารน้ำแข็งละลายจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลทั่วโลกแล้ว คณะสำรวจในโครงการ Thwaites ยังได้รายงานการเห็นเกาะใหม่เกาะหนึ่งที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำด้วย ซึ่งเห็นโดยกะลาสีของเรือ Nathaniel B. Palmer ขณะออกสำรวจทะเลนอกธารน้ำแข็ง Thwaites เกาะใหม่นี้ปรากฏเป็นเนินเขาที่ไม่สูงมาก มียอดเขาที่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่พอให้ดาวเทียมถ่ายภาพได้ สาเหตุที่ไม่มีใครเคยเห็นเกาะนี้มาก่อน เพราะยังไม่มีเรือสำรวจใดๆ เคยเดินทางไปใกล้บริเวณนั้นเลย และสาเหตุที่ทำให้เกาะถือกำเนิด คือ เมื่อน้ำแข็งส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็ง Thwaites ละลาย ความดันที่ธารน้ำแข็งกดลงบนแผ่นดินเบื้องล่างได้ลดลง เนื้อดินแถบนั้นจึงกระดอนกลับ ดันเนื้อดิน และหินขึ้นเหนือผิวน้ำ ทำให้เกิดเกาะใหม่ การเก็บหินตัวอย่างที่พบบนเกาะใหม่มาวิเคราะห์ได้บอกให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า เปลือกโลกแถบนั้นลอยตัวขึ้นรวดเร็วหรือช้าเพียงใด ข้อมูลที่ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพยากรณ์ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็ง Thwaites ได้ดีขึ้น เพราะถ้าดินคืนสภาพเร็ว แรงกระแทกจะทำให้มวลน้ำแข็งแตกตัวเร็ว และในเวลาเดียวกัน แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ช้าลงด้วย ดังนั้นจึงดูเสมือนว่า ความรู้ที่ได้จากเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งอาจตอบคำถามเกี่ยวกับอนาคตของธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้ว่า Thwaites จะทำให้น้ำท่วมโลกหรือไม่ ความรู้อีกประเด็นหนึ่งที่เราจะได้จากการศึกษาธารน้ำแข็งทั่วไป คือ ข้อมูลประวัติบรรยากาศของโลกย้อนหลังไปนับล้านปี ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ธารน้ำแข็งแถบขั้วโลกเกิดจากการตกทับถมของหิมะเป็นเวลานับล้านปี น้ำหนักของหิมะที่กดทับทำให้มันอัดกันแน่น กระนั้นในบริเวณที่วางระหว่างเกล็ดหิมะจะมีฟองอากาศแทรกอยู่ด้วยเสมอ ยิ่งหิมะตกในอดีตนานเพียงใด ฟองอากาศก็ยิ่งอยู่ลึกจากผิวธารน้ำแข็งมากเพียงนั้น ดังนั้นการขุดเจาะธารน้ำแข็งลงไปที่ระดับลึกต่างๆ จะทำให้ได้ฟองอากาศที่มีอายุหลากหลาย การรู้องค์ประกอบของบรรยากาศ ณ เวลาต่างๆ จึงทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์และบรรยากาศโลก ณ เวลานั้นด้วย ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของฟองอากาศ จึงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกกับอุณหภูมิของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และโอกาสความเป็นไปได้ของอุณหภูมิโลกในอนาคต รายงานการวิเคราะห์ฟองอากาศในน้ำแข็งอายุ 2.7 ล้านปีที่ขุดลงไปในบริเวณ Allan Hills ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีสำรวจ McMurdo ไปทางทิศตะวันออกของทวีปแอนตาร์กประมาณ 200 กิโลเมตรแสดงให้เห็นว่า ณ เวลานั้นความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีไม่เกิน 300 ส่วนจากหนึ่งล้านส่วน จึงนับว่าต่ำกว่าความเข้มข้นของ CO2 ในปัจจุบันมาก ในส่วนของอุณหภูมิ โลกในอดีตนั้น ธารน้ำแข็งก็สามารถให้ข้อมูลได้เช่นกัน แม้จะมิใช่ข้อมูลตรงก็ตาม เพราะเป็นข้อมูลอ้อมที่ได้จากการวัดปริมาณไอโซโทปของธาตุบางชนิดที่มีในน้ำแข็ง เราทุกคนรู้ว่าน้ำประกอบด้วยโมเลกุลที่มีอะตอม 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจน (H) 2 อะตอมกับออกซิเจน (O) 1 อะตอม แต่ไอโซโทปที่สามารถให้ข้อมูล อุณหภูมิอากาศในอดีตได้ คือ ไอโซโทปของออกซิเจน อันได้แก่ 16O (ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 8 อนุภาคและนิวตรอน) กับ 18O (ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 8 อนุภาคและนิวตรอน 10 อนุภาค) และไอโซโทปของไฮโดรเจน 1H (ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาค และไม่มีนิวตรอนเลย) กับ 2H (ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาค กับนิวตรอน 1 อนุภาค) และในบางโอกาส 2H มีชื่อเรียกว่า deuterium (D) ครั้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ใช้อุปกรณ์ชื่อ mass spectrometer วัดอัตราส่วนระหว่างไอโซโทปต่างๆ ที่มีในน้ำแข็ง วัยที่มีในน้ำทะเลโดยเฉลี่ย SMOW (จากคำเต็ม standard mean ocean water) ก็จะรู้อุณหภูมิ อากาศในช่วงเวลาที่เกิดน้ำแข็งได้ เพราะในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำมาก จนเกิดยุคน้ำแข็ง อัตราส่วนระหว่าง 18O และ 2H กับค่าเฉลี่ย SMOW จะมีค่าน้อย ซึ่งเป็นผลที่แสดงว่าการระเหยโมเลกุลของน้ำที่มี 18O กับ 2H ต้องใช้พลังงานมาก ดังนั้นเมื่ออากาศชื้นถูกพัฒนาไปทางขั้วโลกอุณหภูมิจะลดทำให้น้ำที่ประกอบด้วย 18O กับ 2H ไม่มีโอกาสเป็นหิมะตกที่ขั้วโลก การรู้ค่าความแตกต่างของ 18O หรือ 2H ที่อยู่ในน้ำแข็งที่ระยะลึกต่างๆ จึงสามารถให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกได้ และทำให้เรารู้ว่า โลกได้ผ่านยุคน้ำแข็งมาหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 1 แสนปี และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลก็พบว่า เมื่อ 50 ล้านปีก่อนระดับ CO2 ในบรรยากาศมีมากถึง 1,000 ส่วนในล้านส่วน และระดับน้ำทะเลในเวลานั้นสูงกว่าระดับปัจจุบันถึง 50 เมตร แต่หลังจากนั้นระดับ CO2 ก็เริ่มลดอย่างช้าๆ เพราะสิ่งมีชีวิตในทะเลเริ่มถือกำเนิด และได้ใช้ CO2 ในการสังเคราะห์อาหารด้วยแสง ทำให้อุณหภูมิของโลกเริ่มลดลง ความหนาของธารน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกาเริ่มเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงเมื่อ 3-4 ล้านปีก่อน ระดับของ CO2 ได้ลดลงเหลือ 290 ส่วนในล้านส่วน จากนั้น ชั้วโลกเหนือก็มีธารน้ำแข็งปกคลุมอย่างถาวร ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าถ้า ระดับ CO2 ในอากาศและอุณหภูมิลดลงด้วยกัน ธารน้ำแข็งจะเพิ่มปริมาตร และระดับน้ำทะเลจะลด แต่เมื่อระดับ CO2 และอุณหภูมิเพิ่มด้วยกัน อากาศจะอบอุ่น และระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม แต่โลกยังมีอีกปริศนาหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงง นั่นคือ ขั้วโลกทั้งสองขั้วของเรามีพฤติกรรมต่างกัน เพราะในเขตอาร์กติก ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา กว่าครึ่งหนึ่งของก้อนน้ำแข็งในทะเลได้ละลายไปหมด เพราะโลกร้อนขึ้น แต่ในเขตแอนตาร์กติกา ปริมาณก้อนน้ำแข็งในทะเลกลับมีค่าคงตัว คือ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลับเพิ่มมากเป็นระยะๆ คือ มากในปี 2012, 2013 และ 2014 ครั้นเมื่อถึงปี 2017 ปริมาณน้ำแข็งกลับลดมากที่สุด คือ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 27% การขยายตัวและหดตัวของปริมาณน้ำแข็งในทะเลตามอุณหภูมิที่ลดและเพิ่มเช่นนี้ได้มีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์มานานหลายล้านปีแล้ว เพราะอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร และการเมือง ดังนั้นถ้าโลกร้อนขึ้นๆ และน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายไปๆ ในที่สุดโลกนี้ก็จะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย แล้วอะไรจะเกิดขึ้น (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ธารน้ำแข็งกับอุณหภูมิของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ..... ต่อ รายงานของ United Nation Inter-governmental Panel on Climate Change (IPCC) เมื่อปี 2019 ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาวะของมหาสมุทรและขั้วโลก ภายใต้อิทธิพลของภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ได้ข้อสรุปว่า น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือกำลังลดปริมาตร เพราะโลกร้อนขึ้นๆ ส่วนข้อมูลที่ได้จากศูนย์หิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center) ของอเมริกาแสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำแข็งในทะเลเขตอาร์กติกเมื่อปี 2019 มีน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากศูนย์ Polar Science Center ว่า ก้อนน้ำแข็งในทะเลเมื่อปี 2020 มีน้อยกว่าเมื่อ 40 ปีก่อนถึง 40% และถ้าเหตุการณ์นี้เป็นไปอย่างไร้การควบคุม เขตอาร์กติกาจะไม่มีก้อนน้ำแข็งในทะเลเลยในอีก 30 ปี แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นก้อนน้ำแข็งลอยในทะเล แต่ทุกคนก็รู้ว่ามันมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของโลก เพราะมันสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่บรรยากาศโลกได้ดีกว่าน้ำทะเล อุณหภูมิของอากาศจึงสูงขึ้นเสมือนว่าได้รับแก๊สคาร์บอนได้ออกไซด์มากขึ้น ก้อนน้ำแข็งในทะเลยังเป็นตัวกำหนดบริเวณในทวีปที่ฝนจะตกและไม่ตก นอกเหนือจากนั้น การลดปริมาณของน้ำแข็งในทะเลยังมีผลต่อการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลก ปลา และสาหร่าย ฯลฯ ในทะเลด้วย ความสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของก้อนน้ำแข็ง ในทวีปอาร์กติกคือ มันจะลอยอยู่เหนือทรัพยากรน้ำมันใต้ดิน ซึ่งมีปริมาตร 9 หมื่นล้านบาร์เรล และแก๊สธรรมชาติ 1.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งทรัพยากรที่มีค่ามากนี้ เป็นสิ่งที่ทุกชาติต้องการ และถ้าชาติใดสกัดทรัพยากรนี้ไปใช้ ภาวะโลกร้อนก็จะทวีความรุนแรงมาก และนั่นก็คือ เหตุผลที่ชาติต่างๆ ที่อยู่รายรอบทวีปอาร์กติกกำลังสนใจแสวงหาทรัพยากรนี้ใต้ทะเลอาร์กติก ดังนั้น ถ้าธารน้ำแข็งในเขตอาร์กติกละลายไปหมด การปิดบังทรัพยากรและอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางก็จะหมดไป และการเข้ายึดครองโดยชาติต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นทันที นั่นก็หมายความว่า ในบริเวณนั้นจะมีสงคราม "เย็น" ดังนั้นเพื่อจะขจัดปัญหานี้ ทุกชาติจะต้องพยายามไม่เพิ่มการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และหาวิธีปกป้องทวีปอาร์กติกให้คงสภาพดีที่สุด โดยห้ามไม่ให้ชาติหนึ่งชาติใดล่วงเกินหรือยึดครอง https://mgronline.com/science/detail/9630000026925
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
OUR Khung BangKachao ใช้ธรรมชาติรักษาธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตของคนเมือง การมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนประชากร สามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นตัวชี้วัดการบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แต่การพัฒนาของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและแผ่กว้างอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ถูกพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์ พื้นที่สีเขียวเดิมถูกแทนที่ด้วยตึกสูง ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ และนับวันจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของเมือง หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีความพยายามในการรักษาและเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวเพื่อทดแทนกับที่เสียไป "OUR Khung BangKachao" คืออีกหนึ่งโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและรักษาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่ที่ทำหน้าที่เสมือนปอดให้กับคนเมือง "คุ้งบางกะเจ้า" เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 12,000 ไร่ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีคุณค่าทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม โดดเด่นทางระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะมีความสมบูรณ์ของพื้นดินอันเกิดจากการสะสมของตะกอนปากแม่น้ำ มีพันธุ์ไม้กว่า 80 ชนิดในพื้นที่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและชุมชน จนได้รับการยกย่องให้เป็น The Best Urban Oasis Of Asia จากนิตยสาร Time เมื่อปี 2549 และที่สำคัญยังถือเป็นปอดตามธรรมชาติให้กับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่มีอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อคุ้งบางกระเจ้าอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ลดลง เกิดปัญหาดินและน้ำเค็มขึ้น ส่งผลต่อการประกอบอาชีพด้านการเกษตรและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรกว่า 34 องค์กร ทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน อาทิ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมป่าไม้, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดตั้งโครงการ OUR Khung BangKachao ขึ้นเมื่อปี 2561 ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิต วิถีชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยใช้ความเชี่ยวชาญตลอดจนองค์ความรู้หลากหลายมิติจากพันธมิตรที่เข้าร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุ้งบางกระเจ้า ทั้งการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน พัฒนาเยาวชน การศึกษาตลอดจนวัฒนธรรม การจัดการขยะ การจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง ที่สำคัญโครงการได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้าให้ได้ 6,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562?2566) โดยขวบปีแรกของการดำเนินงานสามารถพัฒนาพื้นที่สีเขียวได้แล้วจำนวน 400 ไร่ ในพื้นที่ราชพัสดุของกรมป่าไม้ โดยได้มีการปลูกไม้ป่า ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจระยะสั้นกว่า 13,000 ต้น สร้างรายได้และผลประโยชน์ต่อชุมชนกว่า 2.2 ล้านบาท ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้า ต้นไม้เหล่านี้จะสามารถดักจับฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้กว่า 19,204 กิโลกรัม/ปี ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 23,319 ตันคาร์บอน/ปี และปล่อยก๊าซออกซิเจนที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ได้ 27,434 คน/ปี สำหรับปี 2563 มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 600 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุจำนวน 300 ไร่ และพื้นที่เกษตรส่วนบุคคล 300 ไร่ และพัฒนาต่อจนครบ 6,000 ไร่ภายในระยะเวลา 5 ปี "ปีแรกเราเริ่มต้นด้วยความไม่มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้ ทุกฝ่ายรวมกันเป็นหนึ่ง เจ้าของพื้นที่ใช้สายตาที่มองเห็นประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน เอาธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาธรรมชาติ และไม่ได้มีแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่มุ่งพัฒนาในหลายมิติ เป็นกิจการเพื่อสังคม มุ่งสู่ความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ องค์กรก็อยู่ไม่ได้" ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน กล่าว นอกจากเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังส่งเสริมการกระจายรายได้ให้กับชุมชน พัฒนาคุณภาพสินค้าท้องถิ่นภายใต้อัตลักษณ์ชาวคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาช่วยส่งเสริม คัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และประชาสัมพันธ์นำออกสู่ตลาด ในอนาคตมีแผนในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตในกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย การท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เข้ามาช่วยพัฒนากิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ของแต่ละตำบล ได้เปิดตัว 6 เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น ทั้งท่องเที่ยววิถีมอญขอบตำบลทรงคนอง วิถีตลาดน้ำตำบลบางน้ำผึ้ง และวิถีจากตำบลบางกระสอบ เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวคุ้งบางกะเจ้า ในส่วนของการจัดการขยะและน้ำเป็นอีกบริบทที่สำคัญในการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า มีการจัดแผนอบรมความรู้การจัดการขยะครบวงจร พัฒนาจุดรวบรวมและจัดการขยะอินทรีย์และขยะ Recycle จัดตั้ง Zero Waste Hub รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล เช่น การนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นผ้าบังสุกุลจีวรสำหรับพระสงฆ์ มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อติดตามสถานการณ์และคุณภาพน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาพื้นที่สวนเกษตรผสมผสานแบบร่องสวนและเกษตรอินทรีย์ตำบลให้ได้ร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตร นับเป็นความท้าทายในการดำเนินงานไม่น้อย ด้วยขอบข่ายของการพัฒนาที่ครอบคลุมหลายด้าน การทำงานที่ต้องแข่งกับการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญความร่วมมือจากชุมชนเจ้าของพื้นที่เอง ก็ถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานด้วยเช่นกัน http://gotomanager.com/content/our-k...8%95%e0%b8%b4/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
ผลวิจัยชี้ มลพิษฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงป่วยโควิดรุนแรงขึ้น นักวิจัยหลายสำนัก เผยผู้ได้รับผลกระทบมลพิษฝุ่น PM2.5 เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ด้าน WHO ประกาศเรียกร้องกลุ่มประเทศอาเซียนให้เร่งยกระดับมาตรการสู้ไวรัส สำนักข่าว Washington Post และ The Guardian รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างฝุ่นควันกับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากมลพิษทางอากาศและการสูบบุหรี่จะทำลายปอด เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากไวรัส เช่น โควิด-19 และทำให้เป็นปอดอักเสบซึ่งยิ่งซ้ำเติมอาการจากเชื้อไวรัสใหม่นี้ร้ายแรงยิ่งขึ้น "คนป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรังและมีอาการหัวใจเนื่องจากสัมผัสมลพิษทางอากาศยาวนานจะรับมืออาการติดเชื้อทางปอดได้น้อยลงและมีความเสี่ยงเสียชีวิต กรณีโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะเข้าข่ายนี้เช่นกัน" Sara De Matteis นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cagliari ประเทศอิตาลีและสมาชิกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสุขภาพแห่งสมาคมทางเดินหายใจยุโรป กล่าว "การลดมลพิษทางอากาศจะช่วยให้กลุ่มที่มีสุขภาพอ่อนแอสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้ รวมถึงโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาไวรัสซาร์ส (SARS) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไวรัสตระกูลเดียวกันของโควิด-19 ที่ระบาดในจีนเมื่อปี พ.ศ.2546 พบว่าคนที่อาศัยอยู่ในย่านมีมลภาวะทางอากาศนั้นเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในย่านอากาศสะอาดมากกว่าสองเท่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สมบูรณ์เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานะการเงินและสุขภาพ สอดคล้องกับงานวิจัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง อีกหนึ่งพี่น้องของไวรัสโควิด-19 หรือ MERS ซึ่งเริ่มต้นระบาดจากประเทศตะวันออกกลางเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงติดโรคเมอร์สและมีอาการรุนแรงกว่าผู้ไม่สูบ มลภาวะทางอากาศมีผลต่อปอดอย่างไร? "ฝุ่น PM2.5 ทุก 22 ไมโครกรัม เท่ากับการสูบบุหรี่หนึ่งมวน เสี่ยงทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบเผา มะเร็งปอด รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาการปอดในเด็ก" นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว แม้การระบาดของโควิด-19 จะชะงักวิถีชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น การเดินทางไปทำงาน เป็นผลให้มลพิษทางอากาศลดน้อยลง เช่น ในประเทศอิตาลีและจีน ทว่าในประเทศไทย ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังหวนกลับมาหาชาวไทยอย่างสม่ำเสมอเหมือนระลอกคลื่น ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือซึ่งประสบเป็นประจำทุกปี ค่าคุณภาพอากาศ ณ สมุทรปราการ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563 // ขอบคุณภาพจาก: ธิติพันธ์ พัฒนมงคล และ ค่าคุณภาพอากาศ ณ ย่านราชเทวี กรุงเทพฯ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 วันแรกหลังการประกาศปิดสถาบันการศึกษา สถานบันเทิง ฯลฯ เป็นเวลาสองสัปดาห์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช มลภาวะทางอากาศเกี่ยวข้องกับอาหารทางเดินหายใจติดเชื้อ John Balmes อาจารย์ประจำคณะการแพทย์สิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เผยอนุภาคฝุ่นละอองจะเกาะกลุ่มในเซลล์ภายในปอดชื่อ ?alveolar macrophages? ซึ่งจะลดประสิทธิภาพการกำจัดอนุภาค จุลินทรีย์ และแบคทีเรีย ที่เข้าทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังลดทอนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว นอกจากนั้นงานวิจัยปัจจุบันยังศึกษาพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นรุนแรงมักมีอาการปอดบวม หายใจลำบาก รวมถึงพัฒนาสู่ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) เมื่อของเหลวในปอดปิดกั้นการหายใจ จนอาจเสียชีวิต ซึ่งอาการปอดบวมมักเกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่ "ถ้าพูดให้ง่ายๆ ผมจัดให้การสูบบุหรี่กับมลภาวะอากาศเป็นสาเหตุของอาการปอดติดเชื้อเหมือนกัน" BBC ไทย รายงานว่าคนไข้สองคนแรกที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นผู้สูบบุหรี่ หนึ่งในนั้นมีภาวะปอดปวมรุนแรงเมื่อมาถึงโรงพยาบาลและเสียชีวิต 11 วันให้หลัง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 อย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา เรียกร้องให้สมาชิกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเร่งด่วน WHO ยังได้กำชับถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านอากาศได้ผ่านละอองฝอย (aerosol) ที่เกิดจากกระบวนการทางการแพทย์เช่น การพ่นยา และการใช้ท่อช่วยหายใจ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นเพื่อจะได้หาทางรับมือได้อย่างถูกต้อง โดย ณ วันที่ 18 มีนาคม WHO รายงานว่าประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 35 ราย รวมแล้วมีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 212 ราย https://greennews.agency/?p=20446
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|