เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 07-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีนตอนใต้ ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งประเทศเมียนมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 10 มิ.ย. 66


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 10 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11 ? 12 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณด้านรับมรสุมของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 10 มิ.ย. 66









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 07-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ทะเลร้อน 'ปะการัง' เสี่ยงสูญพันธุ์



ปัจจุบันแนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกคุกคามมากที่สุด โดนตั้งแต่มลพิษ การทําประมงเกินขนาด ไปจนถึงการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ จนทําให้มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งโลกร้อนขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงปะการังสูญพันธ์

จากข้อมูลสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่แสดงให้เห็นว่า 0.5 องศาที่ต่างกัน ในอีก 77 ปีข้างหน้า น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีก 1 เมตร เมื่อเทียบกับ 1.5 องศา จะเกิดน้ำท่วมทั้งกรุงเทพฯ และที่ราบลุ่มชายฝั่งต่างๆ ปะการังตายเพราะฟอกขาว 99% แทนที่จะเป็น 70% สิ่งที่ชีวิตที่อาศัยแนวปะการังหายไป ส่วนฤดูร้อนไร้น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก ขั้วโลกเนือ จะเกิดทุก 10 ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 100 ปี สื่อตัวเลข 0.5 องศามีความหมายต่อสมดุลทะเล

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมักจะพบในช่วงเดือนเมษายน ? เดือนมิถุนายน ช่วงฤดูร้อนของทุกปี โดยในช่วงนี้อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกันหลายวัน และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเหล่าปะการัง


อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลปะการังฟอกขาว

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง ประธานอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของ NASA จากดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich พบคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในทะเลและมหาสมุทรกําลังก่อตัวและเคลื่อนผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกจากตะวันออกไปตะวันตก คลื่นนี้มีความกว้างหลายร้อยกิโลเมตร ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณของเอลนีโญที่จะทําให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรร้อนกว่าปกติ ซึ่งมีโอกาส 90% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ และคาดว่า โอกาสเป็นเอลนีโญระดับปานกลางมีอยู่ 80% และระดับรุนแรงประมาณ 55% โดยจะทําให้อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส

จากบทเรียนในอดีต ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุด ปี 2541 ผลจากอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนขึ้น ความเสียหายเกิดในพื้นที่กว้าง พบปะการังฟอกขาว 80% และตาย 90% ปี 2553 เป็นอีกครั้งที่ไทยเผชิญปะการังฟอกขาวรุนแรง ส่วนภาพรวมแนวปะการังไทยขณะนี้อยู่ในภาวะคงที่และฟื้นฟูขึ้นมาตามลำดับ มีบางพื้นที่ถูกรบกวนจากกิจกรรมท่องเที่ยว


ปะการังฟอกขาว สัญญาณเตือนปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปัจจุบันของประเทศไทย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนของทุกปี เป็นช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกันหลายวัน และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเหล่าปะการัง จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อ่าวไทย อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 31-33 องศาเซลเซียส พบปะการังเริ่มมีสีซีดจาง ร้อยละ 5-10 ยกเว้นเกาะช้างพบปะการังฟอกขาวในบางพื้นที่ร้อยละ 20 ส่วนทะเลอันดามัน อุณหภูมิอยู่ในช่วง 31-32 องศาเซลเซียส พบปะการังเริ่มมีสีซีดจาง ร้อยละ 5-20 เห็นชัดที่หมู่เกาะสุรินทร์

แล้วยังมีจากรายงานอื่นๆ จ.ภูเก็ต ตรัง สงขลา ชุมพร ประจวบฯ ระยอง และชลบุรี พบปะการังน้ำตื้นมีสีจางลงในบางพื้นที่ประมาณ 5-30% และพบปะการังฟอกขาวประมาณ 5-10% ในพื้นที่ จ.ระยอง

" จากสถิติเห็นแนวโน้มอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส จะเกิดต่อเนื่องยาวนานขึ้น ภายใน 5-10 ปี ข้างหน้า อาจจะต่อเนื่องเป็นเดือน ซึ่งอุณหภูมิน้ำทะเลไม่ควรสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส เพราะมีผลต่อการดำรงชีวิตของปะการัง ยิ่งอุณหภูมิสูงผิดปกติต่อเนื่องหลายวัน จะทำให้ปะการังมีสีซีดจาง การเติบโตของปะการังผิดปกติ สร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้น้อยลง ไม่ตาย แต่ไม่โต ไม่ออกลูกออกหลาน เป็นผลกระทบทางอ้อม แต่บ้านเราดูแค่ฟอกขาวมั้ย ตายมั้ย ไม่ได้วิจัยเชิงลึกติดตามทางวิชาการถึงการสืบพันธุ์ของเหล่าปะการัง ประชากรลดลงมั้ย ยังไม่พูดถึงรายงานหญ้าทะเล ตายไป และไม่ออกดอก" รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ระบุ

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเน้นว่า ในเวทีโลกไม่ต้องการให้อุณหภูมิขึ้น 1.5 องศา เพราะปะการังจะหายไปจากโลก วงเจรจา IPCC ปะการังเสียงดัง เพราะกระทบรุนแรง ถือเป็นกรณีศึกษาใหญ่สู่การกลับมาทบทวนและกำหนดลดอุณหภูมิโลก หากภาคธุรกิจยังไม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ชั้นบรรยากาศโลกมีปัญหาขึ้นแน่นอน ปะการังฟอกขาว เป็นสัญญาณเตือนดังๆ อีกทั้งปะการังติดอันดับต้นๆ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการประเมินเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ด้วยอยู่ใต้ทะเล ทำให้คนมองข้ามความสำคัญ


แปลงอนุบาลในแนวปะการังบนพื้นที่นำร่อง จ.ชลบุรี

ความเสียหายของปะการังที่สะสมบวกกับหลากหลายปัจจัย ทำให้ปะการังหลายพื้นที่เสื่อมโทรม แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัว และมีซากปะการังอยู่ แต่การฟื้นฟูตามธรรมชาติใช้เวลา เป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูปะการังของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล หนึ่งในนั้น คือ โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง: เทคนิคการทําชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการัง และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง โดย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน และคณะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคําแหง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

จุดเด่นของโครงการนี้ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ หัวหน้าคณะดำเนินงานโครงการฯ บอกว่า เป็นการสืบพันธุ์ปะการังแบบไม่อาศัยเพศ ด้วยเทคนิคการทําชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก (coral micro-fragmentation) และการเชื่อมโคโลนีปะการัง (coral colony fusion) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มพัฒนาในต่างประเทศกับปะการังบางชนิด แต่ยังไม่มีการทดลองในไทย


การเชื่อมโคโลนีชิ้นส่วนปะการังแต่ละชนิดเทคโนโลยีใหม่

ที่สำคัญมีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปะการังที่มีความทนต่อความเครียดสูง ทนต่ออุณหภูมิและความเข้มของแสงจากปะการังหลายชนิด และรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในแปลงฟื้นฟูแนวปะการังให้ใกล้เคียงกับปะการังตามธรรมชาติ แก้จุดอ่อนที่มีข้อโจมตีวิธีไม่อาศัยเพศ ทำให้พันธุกรรมไม่หลากหลาย ถือเป็นเทคนิคและวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพและความสําเร็จการฟื้นฟูแนวปะการัง นําไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ได้ง่าย ทำได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้งบประมาณต่ำ


แปลงอนุบาลในโรงเพาะเลี้ยงในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูปะการัง

ส่วนผลการศึกษาอัตราการรอดตายของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กที่มีความทนต่ออุณหภูมิ ความเค็ม ความเข้มแสง ความโปร่งใส ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณออกซิเจนละลาย ปริมาณตะกอนแขวนลอย อัตราการตกตะกอน ใน โรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าสูงกว่าร้อยละ 80 สำหรับชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังสามารถเชื่อมกันเป็น โคโลนีขนาดใหญ่ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือน

" ตอนนี้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับจัดทําแปลงอนุบาลในแนวปะการัง 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ เกาะค้างคาว เกาะขามน้อย และเกาะล้าน จ.ชลบุรี ผลสำเร็จจะมีความสําคัญและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพโครงการฟื้นฟูปะการังที่ดําเนินการในไทย และเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังให้สามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังคงสภาพบทบาททางนิเวศวิทยาและนิเวศบริการอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ําเงิน และโมเดลเศรษฐกิจ BCG หน่วยงานที่สนใจสามารถนําเทคโนโลยีใหม่เพื่อการฟื้นฟูปะการังไปใช้ในโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง เพิ่มพื้นที่แนวปะการังสมบูรณ์ของไทยได้ " นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมั่นใจเป็นแนวทางฟื้นฟูปะการังเสื่อมโทรม เพื่อเป็นแนวปะการังที่สมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตและใช้ประโยชน์ด้านต่างๆมากมาย


https://www.thaipost.net/news-update/390639/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 07-06-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย



นักพยากรณ์อากาศ ชี้ไทยยังไม่เผชิญสภาวะอากาศสุดขั้วขั้นหิมะตก - หนาวจัด เตือนรับมือฝนตกหนัก แล้งจัด รับโลกแปรปรวนพยากรณ์ยาก ต้องใช้ประสบการณ์ช่วยวิเคราะห์

ปีแห่งความแปรปรวน ภัยพิบัติทั่วโลก "รุนแรง-ถี่ขึ้น"

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2027 โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ทั่วโลกอาจเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วและภัยธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มและถี่มากขึ้น หากยังคงมีการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"

ปีนี้หลายประเทศหลายประเทศทั่วโลก ต่างเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นจากเดิม จากสภาพอากาศแปรปรวนแสดงให้เห็นว่า โลกกำลังส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงและเกิดถี่เพิ่มขึ้น

องค์การสหประชาชาติ เตือน ปี 2023-2027 เป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา มีปัจจัยสำคัญ คือ "ก๊าซเรือนกระจก" และปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

ต้นปีที่ผ่านมา หลายประเทศของยุโรป เผชิญกับสภาวะอากาศที่ไม่ปกติ อากาศอุ่นผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่า ร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หิมะละลายเพิ่มขึ้นจากปกติ

ขณะที่ สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับพายุพัดถล่มอย่างหนัก เจอ "ทอร์นาโด" พัดถล่มกว่า 60 ลูก คร่าชีวิตผู้คน บ้านพังเสียหายเป็นวงกว้าง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ฤดูเฮอริเคน ในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-30 พ.ย. จะมีพายุมากถึง 12-17 ลูก

นอกจากพายุแล้ว หลายพื้นที่ก็กำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรง "อุรุกวัย" วิกฤตสุด อ่างเก็บน้ำหลายแห่งน้ำแห้งขอด จนผืนดินแตกระแหง ถือเป็นการขาดแคลนน้ำครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี

พายุ ภัยแล้ง ตามมาด้วยคลื่นความร้อนในเอเชียก็เผชิญภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวนไม่แพ้กัน ทั้งใน "บังกลาเทศ" เผชิญอากาศร้อนสุดในรอบ 60 ปี สูงถึง 43 องศาเซลเซียส (17 เม.ย.) ที่เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

เมื่อภูมิภาคทั่วโลกเจอสภาวะแปรปรวนของอากาศ ย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เข้าสู่ฤดูฝนแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เกิดเหตุการณ์ลมพายุพัดโดมของ ร.ร.วัดเนินปอ อ.สามงาม จ.พิจิตร พังถล่ม สร้างความสูญเสียถึง 7 ชีวิต บาดเจ็บอีก 18 คน บ้านเรือนนับร้อยเสียหาย และปีนี้ยังเป็นปีที่ร้อนทุบสถิติ

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวกับ ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เป็นสัญญานเตือนให้เห็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะทำให้นักอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศยากขึ้นกว่าเดิม

ตอนนี้ฝนตกไม่มีรูปแบบ ไม่เหมือนเดิม เช่น การพยากรณ์อากาศภายใน 24 ชม. ว่า พื้นที่นี้จะมีฝนตก แต่กลับมีแดด เมื่อก่อนการเกิดฝนตกจะเป็นรูปแบบเฉพาะ เช่น หากมีลมใต้ ฝนจะตกใน กทม.ตอนเช้าตรู่ หรือหากเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนจะตกในช่วงบ่าย-ค่ำ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

"ปริมาณฝนตกกระจายทั่วพื้นที่เริ่มน้อยลง เปลี่ยนมาเป็นตกบางจุด ไม่ได้ปูพรมเหมือนเดิมแล้ว"

จากการติดตามรูปแบบการเคลื่อนตัวของฝนจะเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศ บางพื้นที่ฝนตกน้อย บางพื้นที่ฝนตกแช่ หรือตกหนักอยู่จุดเดียว เช่นที่ จ.ชลบุรี เกิดเหตุฝนตกแค่ครึ่งชั่วโมง -1 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างรวดเร็ว

นายสมควร ยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้ สภาพอากาศค่อนข้างมีความผันผวน ผันแปร ไทยเจอร้อนจัดปีนี้บางพื้นที่อุณหภูมิสูง และภัยธรรมชาติที่รุนแรงจะเกิดบ่อยขึ้น จะเห็นได้ว่าเดือน เม.ย. อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่คาดไว้ ที่ จ.ตาก อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส เท่ากับสถิติเดิมปี 2559 คาดการณ์ว่าปี 2567 ฝนจะตกน้อย อากาศจะร้อน และยาวนานกว่านี้ได้อีก


พยากรณ์อากาศแม่นยำต้องเพิ่มความถี่สถานี

"ปัจจุบันไทยมีสถานีตรวจวัดอากาศทั่วประเทศ แต่ยังน้อยและไม่ครอบคลุมเพียงพอ การรวบรวมข้อมูลจากสถานีต่าง ๆ แม้ว่าจะทำทุก 3 ชั่วโมง แต่ก็ยังทำให้การอัปเดตข้อมูลสภาวะอากาศที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่ทันท่วงที"

นายสมควร อธิบายว่า ในช่วงเช้าจะมีการรวบรวมข้อมูลจากสถานีต่างจังหวัด ซึ่งทำการตรวจสภาพอากาศ ก่อนจะส่งข้อมูลมาที่กองสื่อสารเป็นโค้ดตัวเลข โดยกรมอุตุฯจะแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จากนั้นจึงนำข้อมูลมากวิเคราะห์ และสังเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเพื่อให้การพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา แบ่งการพยากรณ์เป็นระยะสั้น แบ่งเป็นสั้นมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง ระยะสั้นไม่เกิน 12 ชั่วโมง ระยะกลางไม่เกิน 10 วัน และระยะยาว 3-6 เดือน เรียกว่า พยากรณ์รายฤดูกาล นั้นเพื่อให้เกษตรกรวางแผนการในการเพาะปลูก กักเก็บน้ำ

ขณะที่ การตรวจอากาศเพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศมีทั้ง พื้นดิน พื้นน้ำ และการตรวจอากาศชั้นบน และสิ่งที่นำมาทำให้การตรวจพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้นนั้นคือ การตรวจอากาศด้วยดาวเทียม และเรดาห์ตรวจอากาศ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้พยากรณ์

"นักพยากรณ์จะนำข้อมูลมาร่วมกันวิเคราะห์ ทำแบบจำลองต่าง ๆ ว่า ทิศทางลมเป็นอย่างไร มีความรุนแรง เพิ่มขึ้น หรือ ลดลงเพียงใด เพื่อสรุปข้อมูลส่งต่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเตรียมความพร้อมรับมือ"

นายสมควร อธิบายคำว่า "สภาพอากาศ" คือ ภาวะลมฟ้าอากาศที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ และจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยนักพยากรณ์จะอากาศติดตาม เรื่องเกี่ยวกับทิศทางลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ และความชื้นในอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ว่า วันนี้จะมีฝนตกหรือไม่หรือแดดจะร้อนขนาดไหน ซึ่งโดยทั่วไปการพยากรณ์ในระยะสั้นมักค่อนข้างแม่นยำกว่า

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์อากาศระยะสั้นในไทยมีความถูกต้องแม่นยำ 80 % และด้วยปัจจัยข้อจำกัดของสถานีตรวจวัดที่ยังถือว่าน้อย แต่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะพยากรณ์ให้ถูกต้องแม่นยำจึงต้องเพิ่มความถี่ของสถานี

ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น พยากรณ์ได้แม่นยำ เพราะมีสถานีตรวจอากาศมากกว่า สภาพอากาศมีรูปแบบ ไม่เปลี่ยนแปลงมาก หากเทียบกับไทยที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร หรือมีข้อมูลเพิ่มเติมจากตรวจชั้นบรรยากาศ การปล่อยบอลลูนก็เสริมข้อมูลในการพยากรณ์ได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากการมีเพียงข้อมูลจากภาคพื้นดิน


ไทยยังไม่ถึงขั้น "อากาศสุดขั้ว" แต่ แปรปรวนเพิ่มขึ้น

ขณะนี้โลกกำลังร้อนขึ้น และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วโลก ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง บอกว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยสำคัญต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ การเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) มีแนวโน้วจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รุนแรงและถี่ขึ้น ทั้งฝนตกหนัก พายุ แล้งจัด รวมทั้งไฟป่า

"การพยากรณ์ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ หรือตกที่ไหนยากขึ้น โดยเฉพาะในเขตร้อนอย่างไทย เพราะอากาศแปรปรวนตลอดเวลา หรือการเกิดพายุที่อินเดีย เดิมเป็นแค่พายุไซโคลน แต่ปีนี้กลายเป็น ซุปเปอร์ไซโคลน ขณะที่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ฟิลิปปินส์ เจอ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น เป็นสัญญาณว่า น้ำทะเล เกิดความเปลี่ยนแปลง และต้องจับตาว่า ปีนี้จะเกิดถี่ขนาดไหน"

ส่วนสภาพอากาศประเทศไทย นายสมควร กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า "Extreme" เหมือน อเมริกา หรือยุโรป เพราะอยู่ในเขตละติจูดที่แตกต่างกัน รูปแบบการเกิดจึงแตกต่าง ไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน มีฝนตก พายุ ภัยแล้ง แต่หลังจากนี้อาจมีแนวโน้มเกิดฝนตกหนัก ลูกเห็บตกเพิ่มมากขึ้น เกิดถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้น


และในอนาคต ความแปรวนปรวนจากสภาพอากาศ อาจส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ ที่เคยได้ชื่อว่า "ฝนแปดแดดสี่" เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก 2 ภาคนี้ เป็นพื้นที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่หอบนำความชื้นเข้ามา เป็นพื้นที่มีฝนตกได้มากกว่าภาคอื่นในฤดูฝน

หรือ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการน้ำ แต่เพิ่งจะมีฝนตก ทำให้เกิดความแห้งแล้ง รวมไปถึงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยชุ่มชื้นกลับกลายเป็นมีน้ำน้อย อาจกระทบผู้ปลูกทุเรียน จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ไม่ให้กระทบผลผลิตที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกร

นักพยากรณ์อากาศ ทิ้งท้ายว่า สภาพอากาศแปรปรวน เสริมด้วยปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" คาดว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค.ปีนี้ ไทยเจอฝนทิ้งช่วงนานขึ้น จากเดิม 3-5 วัน เป็น 1-2 สัปดาห์ติดต่อกัน กระทบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ อาจมีน้อย

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค


https://www.thaipbs.or.th/news/content/328473

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger