#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าว มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และเพิ่มความระมัดระวัง ในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงปานกลาง เนื่องจากมีฝนตกหลายพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 ? 13 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น รวมถึงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14 ? 16 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 10 ? 12 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 13 ? 16 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 11 ? 13 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย รวมทั้งระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ควรระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
กางสแลนทำหลังคากันความร้อน ป้องกันปะการังฟอกขาว เกาะง่ามน้อย ชุมพร พบ 80% ของพื้นที่ 20 ไร่ อยู่ในอาการฟอกขาว ชุมพร - ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลชุมพร ร่วมกับกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง เดินหน้ากางสแลนทำหลังคากันความร้อนป้องกันปะการังฟอกขาว พบมี 80% ในพื้นที่ 20 ไร่ ระดับความลึก 8-9 เมตร นายมรกต โจวรรณถะ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร เปิดเผยการสำรวจและการใช้สแลนป้องกันปะการังฟอกขาว โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่และกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการสำรวจติดตามปะการังฟอกขาวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร สำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณพื้นที่ดำเนินการเกาะง่ามน้อย พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงสุดอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส ในระดับความลึก 8-9 เมตร ในพื้นที่แนวปะการัง 20 ไร่ พบว่าปะการังมีการแสดงอาการการฟอกขาว 80% ของพื้นที่ โดยมีลักษณะสีซีดจางและฟอกขาวบางส่วนประมาณ 60% ของพื้นที่ มีเพียง 20% ที่ฟอกขาวทั้งโคโลนีของบริเวณพื้นที่เกาะง่ามน้อย โดยในการดำเนินการประเมินในกลุ่มของปะการังที่พบที่มีการแสดงอาการ ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกเห็ด (Fungia spp.) ปะการังโขด (Porites spp.) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) จากนั้นได้ดำเนินการปฏิบัติงานการทดลองใช้อุปกรณ์สแลนลดแสง "Shading" บริเวณหมู่เกาะชุมพร (เกาะง่ามน้อย) โดยการดำเนินการดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 โดยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร ยังคงต้องมีการดำเนินการติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9670000040378
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
"อ่าวโตนด" เกาะเต่า ไม่ธรรมดา สวยงามติดอันดับโลก .......... โดย ปิ่น บุตรี พาไปชมความงามของอ่าวโตนด บนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ชายหาดที่มีดีกรีความสวยงามในระดับโลก เพราะเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 44 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ World Beach Guide ในปี พ.ศ.2566 เกาะเต่า ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศเหนือประมาณ 45 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 21 ตารางกิโลเมตร ติด ๆ กับเกาะเต่ามีเกาะเล็ก ๆ ชื่อ "เกาะนางยวน" เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงเคียงคู่กัน ใครที่มาเกาะเต่าแล้วไปได้ไปเที่ยวเกาะนางยวน ถือว่ายังมาไม่ถึงเกาะเต่าโดยสมบูรณ์ เกาะเต่าได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดในฝั่งอ่าวไทย เพราะเป็นชายหาดลาดชันที่มีน้ำลึกใสสะอาด มีจุดดำน้ำกว่า 20 จุดรอบเกาะ ทั้งยังเป็นหนึ่งในโรงเรียนสอนดำน้ำที่ดีที่สุดในโลก เพราะมีแหล่งเรียนดำน้ำที่สามารถฝึกได้ทั้งการดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก และดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ เคยถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของแหล่งเรียนดำน้ำที่ดีที่สุดในโลกบนเว็บไซต์ Lonely Planet ขณะที่บนเกาะเต่ามีหาดทรายชายทะเลที่สวยงามชวนท่องเที่ยวอยู่หลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น หาดทรายรี อ่าวโฉลกบ้านเก่า อ่าวลึก อ่าวไลท์เฮ้าส์ อ่าวม่วง อ่าวหินวง อ่าวเทียน และ "อ่าวโตนด" ที่เคยติดอันดับที่ 44 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ World Beach Guide ในปี พ.ศ.2566 ซึ่งทาง "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคใต้" และ "ททท.สำนักงานเกาะสมุย" เชิญชวนให้ผู้สนใจมาท่องเที่ยวชมความงามของหาดที่มีดีกรีระดับโลกแห่งนี้กัน อ่าวโตนด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเต่า โอบล้อมไปด้วยแนวเขาสูงเขียวขจี มีชายหาดสวยงามทอดยาว มีโขดหินรูปทรงแปลกตาสวยงาม ทั้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวสามารถมานอนอาบแดด หรือจะมาเล่นกิจกรรมกลางแจ้ง ริมชายหาดก็มีต้นไม้ร่มรื่น ด้านหน้าหาดในทะเลเป็นจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกดูสัตว์น้ำและปะการังที่ยังสมบูรณ์สวยงาม และห่างออกไปจะมีจุดที่มีซากเรือจมอยู่เป็นปะการังเทียม บริเวณอ่าวโตนดยังมีที่พัก ร้านค้า จุดดำน้ำตื้น จุดนอนอาบแดด เล่นน้ำทะเล ครบครันในเรื่องการท่องเที่ยวและการพักผ่อน เมื่อผนวกเข้ากับความสวยงามของธรรมชาติ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เกาะแห่งนี้จะติดอันดับ 1 ใน 50 ชายหาดระดับโลกในปี พ.ศ. 2566 ทุก ๆ ปี ที่เกาะเต่าจะมีการจัดงาน Spotlight Koh Tao ขึ้น เพื่อเปิดเทศกาลท่องเที่ยวและเชิญชวนให้คนมาเที่ยวเกาะเต่า โดยปีนี้ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)" องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเกาะเต่า และเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันจัดงาน "Spotlight Koh Tao 2024" ขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้มีความพิเศษ คือมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับเกาะเต่าจากการเป็นแหล่งเรียนดำน้ำระดับโลก สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเพื่อการเรียนรู้โลกใต้ทะเลและวิถีเกาะ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ เพื่อก้าวสู่การเป็น Sustainable Island Tourism Destination ต่อไปในอนาคต https://mgronline.com/travel/detail/9670000040642
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
อ่าวมาหยา เกาะพีพี คว้าอันดับ 5 ชายหาดดีที่สุดในโลก / พัทยา-ไร่เลย์ ติดอันดับด้วย อ่าวมาหยา เกาะพีพี คว้าอันดับ 5 ชายหาดดีที่สุดในโลก 2024 ขณะที่ พัทยา ติดอันดับ 12 และ หาดไร่เลย์ คว้าอันดับ 66 จากทั้งหมด 100 อันดับ Beach Atlas เว็บไซต์จากประเทศอังกฤษ ประกาศผลการจัดอันดับ ?Golden Beach Award 2024? หรือ 100 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก โดยเกณฑ์การจัดอันดับ มาจากการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพ อินฟลูเอนเซอร์ ช่วยกันโหวตให้คะแนนจากความงามของชายหาด ความคลาสสิก ปาร์ตี้ ไลฟ์สไตล์ การคำนึงถึงคุณค่าต่อชุมชนพื้นที่ ความหลากหลายทางธรรมชาติ รวมถึง ความสำคัญทางวัฒนธรรม ผลปรากฏว่า ประเทศไทยมี 3 ชายหาดที่ติดโผ 100 อันดับแรก ประกอบด้วย อ่าวมาหยา เกาะพีพี จ.กระบี่ อันดับที่ 5 ของโลก หาดพัทยา จ.ชลบุรี อันดับ 12 ของโลก และ หาดไร่เลย์ จ.กระบี่ อันดับ 66 ของโลก สำหรับ 10 อันดับชายหาดที่ดีที่สุดในโลก 2024 มีดังนี้ 1. หาดโบรา โบรา (เฟรนช์พอลินีเชีย) 2. หาดโบลเดอร์ส (แอฟริกาใต้) 3. หาดไวกีกี (สหรัฐอเมริกา) 4. หาดโคปาคาบานา (บราซิล) 5. อ่าวมาหยา เกาะพีพี (ไทย) 6. แบล็ก แซนด์ บลีช (ไอซ์แลนด์) 7. หาดทรายแก้ว แคลิฟอร์เนีย (สหรัฐอเมริกา) 8. เจบีอาร์ บลีช (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 9. ชายฝั่งโครงกระดูก (นามิเบีย) 10. หาดโอมาฮา (ฝรั่งเศส) https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8226300
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
ในแนวปะการังที่ฟอกขาวและว่างเปล่า เรากำลังไม่มีปลาเหลือ??? วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ในแนวปะการังที่ฟอกขาวและว่างเปล่า เรากำลังไม่มีปลาเหลือ เพื่อนธรณ์คงพอเดาได้ว่า เมื่อเกิดน้ำร้อนผิดปรกติ/ปะการังฟอกขาว ย่อมส่งผลกับปลาที่อาศัยในบริเวณนั้น แต่มันส่งผลแค่ไหน ? นั่นคือสิ่งที่ผมสงสัย เมื่อคิดว่าปีนี้เกิดปะการังฟอกขาวแน่ๆ เราจึงทำการสำรวจล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม ช่วงนั้นน้ำยังไม่ร้อนมาก ปะการังยังไม่มีอาการใดๆ จุดสำรวจ 48 ไลน์ (สายวัดในภาพ) แต่ละไลน์ยาว 20 เมตร ปักหมุดล็อคหมายตลอดทาง เพื่อให้มั่นใจว่ามาทำซ้ำแล้วเป็นที่เดิม เมื่อน้ำร้อนจัด ปะการังฟอกขาว ทีมเพื่อนธรณ์กลับไปสำรวจซ้ำ แม้ยังทำไม่ครบทุกไลน์ แต่ข้อมูลพอบอกได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอันน่าเศร้า ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ปริมาณปลาในแนวปะการังลดลง 50% จำนวนชนิดของปลาลดลง 30% นี่คือความผิดปรกติอย่างชัดเจน จู่ๆ ปลาจะหายไปขนาดนั้นได้อย่างไร ? สาเหตุคงไม่พ้นน้ำร้อนและปะการังฟอกขาว ใจผมเชื่อว่าน้ำร้อนอาจส่งผลมากกว่าในตอนนี้ แต่ในอนาคตหากน้ำเย็นลงแต่ปะการังตายไปแล้ว สาเหตุหลักย่อมเปลี่ยนไป แล้วปลาไปไหน ? ตาย ? ว่ายน้ำหนี ? ทั้งสองอย่าง ? ยังมีอีกหลายเรื่องเลยที่อยากรู้ การสำรวจหนนี้เป็นแค่กลางทาง เรายังต้องตามต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดปรากฏการณ์นี้ และตามต่ออีกหลายเดือนหรือเป็นปีๆ หากทำเช่นนั้นได้ เราจะสร้างกราฟผลกระทบของปะการังฟอกขาวต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปลาเพียงเท่านั้น ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ อีกมาก ข้อมูลที่ได้จะเป็นคำตอบสำคัญ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลในทุกวงการ ตั้งแต่ปากท้องชาวบ้าน การท่องเที่ยว บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เรื่อยไปจนถึงการเจรจาตลาดทุนและการส่งออกสินค้า ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ (Global) ไม่ได้เกิดทุกปี หนนี้เป็นหนที่ 4 ในประวัติศาสตร์ แม้มีแนวโน้มว่าจะถี่ขึ้น แต่หนหน้าผมคงเกษียณไปแล้ว จึงต้องพยายามใช้โอกาสนี้วางแนวทางไว้ให้รุ่นหลัง ยังมีหลายงานที่จะค่อยๆ นำมาบอกเพื่อนธรณ์ เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาส ปะการังฟอกขาวหนนี้มีโอกาสอยู่มากมาย ในการเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับครั้งหน้า จะใช้โอกาสนั้นทำงานให้มากที่สุด และจะนำผลมาบอกเพื่อนธรณ์แน่นอนครับ https://www.naewna.com/local/803888
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
นักวิทย์ทดสอบระบบสนทนากับ "วาฬหลังค่อม" สำเร็จ คุยได้นาน 20 นาที นักวิทย์ทดสอบระบบสนทนากับ "วาฬหลังค่อม" สำเร็จ คุยได้นาน 20 นาที นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน SETI มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส และมูลนิธิปลาวาฬอะแลสกา สร้างความก้าวหน้าอันน่าทึ่งในการทดสอบระบบสนทนากับวาฬหลังค่อม "ทเวน" ความก้าวหน้าใหม่ที่ถูกค้นพบคือความฉลาดที่ไม่ใช่ของมนุษย์ แต่เป็นวาฬหลังค่อมที่มีชื่อเรียกว่า "ทเวน" หลังนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน SETI มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส และมูลนิธิปลาวาฬอะแลสกา ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับระบบการสื่อสารของวาฬหลังค่อม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนาตัวกรองข่าวสารสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ขณะทำการศึกษานักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจอย่างมากเมื่อวาฬหลังค่อมว่ายเข้ามาใกล้ และวนรอบเรือ โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้เสียงเรียกติดต่อของวาฬหลังค่อมที่บันทึกเอาไว้และเล่นเสียงผ่านลำโพงใต้น้ำทะเล ซึ่งวาฬหลังค่อมที่ว่ายเข้ามาใกล้ได้โต้ตอบในลักษณะการสนทนาที่เป็นสัญญาณทักทายของวาฬ โดยว่ายน้ำรอบเรือเพื่อสนทนาโต้ตอบเป็นเวลา 20 นาที การทดลองครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นการแลกเปลี่ยนการสื่อสารครั้งแรกระหว่างมนุษย์กับวาฬหลังค่อมโดยการใช้ภาษาของวาฬหลังค่อม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังระบุว่าวาฬหลังค่อมมีความฉลาดเป็นอย่างมาก และมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น การมีส่วนร่วมในระบบสังคมที่ซับซ้อน การสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อวนที่ทำจากฟองน้ำเพื่อจับปลา และสื่อสารผ่านเสียงเพลง พฤติกรรมที่พบในวาฬหลังค่อมสนับสนุนสมมติฐานที่สำคัญในการค้นหาความฉลาดจากนอกโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่สำคัญในการค้นหาความฉลาดจากนอกโลกของนักวิทยาศาสตร์ คือ มนุษย์ต่างดาวจะสนใจที่จะติดต่อและกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้รับที่เป็นมนุษย์ ซึ่งข้อสันนิษฐานที่สำคัญนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นอนจากพฤติกรรมของวาฬหลังค่อมที่ว่ายเข้าหาและวนรอบเรือ ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์จะทำการศึกษาโดยการใช้หลักคณิตศาสตร์ของทฤษฎีสารสนเทศเพื่อหาปริมาณความซับซ้อนในการสื่อสาร เช่น โครงสร้างที่ฝังอยู่ในข้อความที่ได้รับ และยังเตรียมการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารโดยไม่ใช้เสียงของวาฬหลังค่อม โดยเน้นไปที่วงแหวนฟองสบู่ที่เกิดขึ้นต่อหน้ามนุษย์แทน ที่มาข้อมูล: earth, bbc https://www.thaipbs.or.th/now/content/1105
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
12 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาว วิกฤตเกาะจาน-เกาะปลิง-เกาะง่ามใหญ่ พบ "ปะการังฟอกขาว" ในพื้นที่ 12 อุทยานแห่งชาติทางทะเล รุนแรงสุดฟอกขาวมากกว่า 80% ที่เกาะจานทิศตะวันตก เกาะปลิง เกาะง่ามใหญ่ บางจุดต้องประกาศปิดท่องเที่ยว กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาว พร้อมขอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้รับรายงานการสำรวจติดตามการเกิดปะการังฟอกขาวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมน้ำทะเลผิดปกติ เช่น น้ำทะเลร้อน มีคราบน้ำมัน มีตะกอนทับถมในปะการัง หรือปะการังผึ่งแห้งเป็นเวลานานเมื่อน้ำทะเลลงต่ำสุด จึงส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดสูง และทำให้ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวออกจากตัวปะการัง (สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae)) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของปะการัง และทำให้ปะการังมีสีสัน เมื่อสูญเสียสาหร่ายดังกล่าวไป ปะการังเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและกลายเป็นสีขาวโพลน หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ ปะการังจะตายทันที พบ "ปะการังฟอกขาว" 12 พื้นที่อุทยานฯ สำหรับพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลมี 12 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เม.ย.-8 พ.ค.2567) แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง, อุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด, อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด, อุทยานแห่งชาติหาดวนกร, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติสิรินาถ, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี, อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา 6 จุด "ปะการังฟอกขาว" เกิน 50% ขณะที่พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการฟอกขาวมากกว่า 50% ขึ้นไป มีดังนี้ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก, อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง (ประกาศปิดการท่องเที่ยว), อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะง่ามใหญ่ ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะคราม ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 70 % เกาะง่ามน้อย ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 60% ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในขณะเกิดการฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีแนวทางและมาตราการในการป้องกันการเกิดปะการังฟอกขาว คือ การประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง กำหนดมาตรการลดภัยคุกคาม ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Ni?o-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST) และคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทย ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค.2567 ระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบว่ามีความรุนแรงในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวแล้วมากกว่า 50% ของพื้นที่แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย เช่น พื้นที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เกาะคราม จ.ชุมพร สำหรับในฝั่งอันดามันพบการฟอกขาว ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร เช่น เกาะรอก จ.ตรัง ส่วนใหญ่จะพบว่าปะการังมีสีซีด ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ ทช.จึงได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดภัยคุกคามจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง การทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงการจัดทำแนวทางการป้องกันปะการังฟอกขาว ให้หน่วยงานในพื้นที่ของ ทช. และกรมอุทยานฯ อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง กลุ่มนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ ติดตั้ง Shading บังแสงให้ปะการัง ขณะที่กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ติดตั้ง Shading เพื่อช่วยในการบังแสงให้กับปะการังบริเวณเกาะง่ามน้อย ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.2567 อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณผิวน้ำมีค่าอยู่ในช่วง 32.00-33.63 องศาเซลเซียส และบริเวณแนวปะการังมีค่าอยู่ในช่วง 31.79-32.34 องศาเซลเซียส พบว่าปะการังสีซีดและฟอกขาวเป็นบางส่วน https://www.thaipbs.or.th/news/content/339860
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews
สั่งปิดอุทยานฯ 12 แห่ง เฝ้าระวัง "ปะการังฟอกขาว" สัญญาญเตือนหายนะทะเลไทย! ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติกว่า 12 แห่ง ปิดพื้นที่ชั่วคราว เลี่ยงทุกกิจกรรม พร้อมสั่งเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด สปริงพาไปอัปเดตสถานการณ์ปะการังไทย อันดามัน อ่าวไทย ระส่ำแค่ไหน แล้วมีการช่วยเหลือยังไงบ้าง หลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับ ทช. ให้ติดตาม ?ปัญหาปะการังฟอกขาว? ของทั้งอ่าวไทยและอันดามัน พบว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในทะเลไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอุณหภูมิน้ำทะเลที่เดือดพุ่งทะลุ 32 องศา ส่งผลให้ปะการังไทยเสียอย่างหนักจากการฟอกขาว ล่าสุด อุทยานแห่งชาติกว่า 12 แห่ง ได้สั่งปิดพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลิสต์อุทยานฯ ทั้ง 12 แห่งไว้ดังนี้ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2567) 1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง 2. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด 3. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 4. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร 5. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 7. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ 8. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 9. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี 10. อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี 11. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา 12. อุทยานแห่งชาติหอดขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้ อย่างไรก็ดี มี 3 อุทยานฯ ในลิสต์ด้านบนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับการยืนยันแล้วว่าเกิดปะการังฟอกขาวมากกว่า 50% ของพื้นที่ 1. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% 2. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% 3. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร โดยมี 3 เกาะที่เกิดปะการังฟอกขาวหนัก ได้แก่ เกาะคราม มากกว่า 70 %, เกาะง่ามน้อย มากกว่า 60%, เกาะง่ามใหญ่ มากกว่า 80% ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชร์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat ถึงกรณีปะการังฟอกขาว โดยระบุว่า "ผมเกลียดโลกร้อน เกลียดๆๆๆๆ โลกร้อนมันทำให้เรารู้สึกหมดหนทาง มันทำลายฝัน มันทำให้รู้สึกไปต่อไม่ได้ มันทำให้ปะการังที่เฝ้าดูแลมาหลายปี ถึงคราวใกล้อวสาน" ขณะที่ นายสิรณัฐ สก๊อต หรือ "ทราย สก๊อต" นักอนุรักษ์ทางทะเลชื่อดัง ก็ได้เผยภาพที่ตนไปดำน้ำสำรวจสถานกาณณ์ปะการังฟอกขาวที่เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยเปิดเผยว่า น่าจะเกิดการฟอกขาวไปแล้ว 25% นอกจากนี้ ยังมีเกาะอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการฟอกขาวในเร็ว ๆ นี้ เช่น เกาะไก่ เกาะรอก เกาะห้า เกาะห้อง ชุมพร กางสแลกนกันความร้อน กู้วิกฤตปะการัง ฝั่งอันดามันเรียกได้ว่าเดือดไม่แพ้กัน แนวปะการังในอุทยานแห่งชาติชุมพร ซึ่งกินพื้นที่ราว 20 ไร่ ถูกรายงานว่า เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว 80% ในระดับความลึก 8 - 9 เมตร ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลชุมพร จึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อกางสแลนทำหลังคากันความร้อนให้กับแนวปะการัง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปะการังฟอกขาวยังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด และหลายฝ่ายก็พยายามปกป้องแนวปะการังอย่างเต็มที่ ด้วยสารพัดวิธี แต่ก็คาดเดาไม่ได้อีกเช่นกันว่า ทะเลจะเลิกเดือดเมื่อไร แล้วกว่าจะถึงวันนั้น แนวปะการังจะทนไหวหรือไม่ ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, Thon Thamrongnawasawat, Psi Scott ? ทราย สก๊อต - Merman มนุษย์เงือก https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850193
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|