#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกา ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในระยะนี้ไว้ด้วย อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยบนในวันที่ 12-15 ธ.ค. 2565 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง กับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4 ? 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 10 - 11 และ 16 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4 - 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณด้านตะวันออกของประเทศมาเลเซียจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ช่องแคบมะละกา และทะเลอันดามันตอนล่าง ในช่วงวันที่ 10 - 12 ธ.ค. 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 11 ? 12 ธ.ค. 2565 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย และในช่วงวันที่ 12 ? 15 ธ.ค. 2565 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
'กำแพงกันคลื่น' ความตายของชายหาด ประชาชนไม่อยากได้ แต่รัฐอยากสร้าง ............... Nature Matter + ในอดีต ก่อนจะสร้างกำแพงกันคลื่นต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการทำ EIA แต่เมื่อปี 2556 มีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องผ่านการทำ EIA หลังจากนั้น กำแพงกันคลื่นก็ผุดขึ้นมากมาย ไม่ว่าชายหาดนั้นจะมีการกัดเซาะมากหรือน้อย + ประชาชนไม่ต้องการกำแพงกันคลื่นที่สร้างทับลงไปบนผืนชายหาด เพราะไม่เพียงแต่สูญเสียพื้นที่หาดที่พวกเขาเคยได้ใช้ชีวิตเท่านั้น การมีกำแพงกันคลื่นยังส่งผลกระทบสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างมาก + กลุ่ม 'Beach for life' และเครือข่ายที่ต้องการทวงคืนชายหาดที่ถูกทำลายโดยกำแพงกันคลื่น จึงได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมส่งเสียงเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ 1. การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมารับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น 2. กำแพงกันคลื่นต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ 3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น ถือว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นที่น่าพอใจ สำหรับการเดินทางมาปักหลักเรียกร้องต่อรัฐบาลของกลุ่ม 'Beach for life' และเครือข่ายที่ต้องการทวงคืนชายหาดที่ถูกทำลายโดยกำแพงกันคลื่น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ออกมารับข้อเรียกร้องจากประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของชาวบ้านประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1. การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองมารับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น 2. กำแพงกันคลื่นต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ 3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น จากข้อตกลงในครั้งนี้ได้มีการแต่งตั้ง 'คณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากโครงการกำแพงกันคลื่น' ขึ้นมา ประกอบด้วย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมเจ้าท่า เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ 3 คน ภาคประชาชน 3 คน เป็นกรรมการ ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ กำแพงกันคลื่น ชื่อบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่น แต่ที่ผ่านมาจากการทำโครงการที่ไม่รอบคอบ ขาดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ทั้งยังเมินเสียงทัดทานจากชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทำให้โครงการที่เหมือนจะดีกลับมีผลกระทบเสียหายตามมาในระดับที่หลายแห่งประเมินมูลค่าไม่ได้ เพื่อจะได้มองเห็นภาพปัญหานี้ชัดขึ้น 'ไทยรัฐพลัส' ได้รวบรวมประเด็นต่างๆ และความเป็นมาเป็นไปของเรื่องนี้ จากเวทีเสวนาสาธารณะ "ชายหาดไทยกำลังหายไป เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 จัดโดย กลุ่ม Beach for life, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (TSEJ), สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews และภาคีเครือข่าย ที่มุ่งหมายจะนำปัญหาเดือดร้อนมากระแทกต่อหน้าผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกันก็ต้องการนำความทุกข์ร้อนของชาวบ้านในพื้นที่มาบอกเล่าต่อพี่น้องในกรุงเทพมหานครในฐานะที่ไม่มากก็น้อยร่วมใช้ชายหาดเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ กำแพงกันคลื่น The death of beach อภิศักดิ์ ทัศนี จากกลุ่ม Beach for life กล่าวว่า หาดทุกที่บนโลกนี้ล้วนมีกระบวนการทางธรรมชาติ คือ มีการกัดเซาะและมีการเติมตามฤดูกาลของมัน ในบางฤดูมรสุมหาดก็อาจเกิดความเสียหาย แต่หาดก็สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ เช่น อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นอ่าวสมดุลสถิต เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ ลักษณะหาดคล้ายกับกระเป๋า ซึ่งจะมีทรายวิ่งซ้ายวิ่งขวาอยู่ในกระเป๋า ขณะที่หาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา นอกจากวิ่งซ้ายวิ่งขวาแล้วก็อาจจะมีวิ่งเข้าวิ่งออกตามระบบธรรมชาติ บางปีอาจจะกัดเซาะเลยไปใกล้ถนน บางปีอาจจะยื่นออกไปในทะเลบ้างตามธรรมชาติ ซึ่งการกัดเซาะของหาดม่วงงามนั้นเกิดจากพายุปาบึกในช่วงต้นปี 2562 หลังจากนั้นหาดได้ฟื้นฟูตัวเองกลับมาแล้วถึง 3 เมตร แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองกลับไปสร้างกำแพงกันคลื่นในปี 2564 ทั้งที่ความจำเป็นเร่งด่วนหมดไปแล้ว หาดได้ฟื้นฟูตัวเองแล้ว กรมโยธาฯ ยังเลือกที่จะใช้กำแพงกันคลื่น อภิศักดิ์ บอกอีกว่า บางพื้นที่มีการกัดเซาะจริง แต่เป็นหาดท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เช่น ชะอำ และปราณบุรี ก็ไม่ควรจะทำกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นการใช้ยาแรง ทั้งที่จริงแล้ว กับชายหาดท่องเที่ยวควรจะเลือกวิธีการป้องกันแบบอื่น "ในปัจจุบันทั้งโลกนักวิชาการต่างสรุปตรงกันว่า กำแพงกันคลื่น คือ The death of beach คือ ความตายของชายหาด กำแพงกันคลื่นไปที่ไหนชายหาดจะตายทันที เพราะมันจะไม่เหลือชายหาดอีกต่อไป ลองคิดดูว่าขนาดกำแพงกว้าง 20-30 เมตร มันใหญ่มาก ซึ่งชายหาดในไทยโดยเฉลี่ยกว้าง 35 เมตร เราเหลือพื้นที่หาดอีกเท่าไหร่ เราจึงเห็นว่าพอสร้างกำแพงแล้วหาดหายไป นี่ยังไม่รวมผลกระทบอีกมากมายที่ตามมาหลังจากสร้างกำแพง" อภิศักดิ์ บอกอีกประเด็นผลกระทบจากกำแพงว่า แม้ว่าจะมีบางโครงการที่สร้างแล้วรื้อ อย่างเช่น ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แต่การรื้อกำแพงไม่ได้ทำให้ชายหาดกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะการมีกำแพงกันคลื่น มีคลื่นเข้ามาตีกำแพงทุกวัน ทำให้ท้องน้ำหน้ากำแพงลึก เกิดการเปลี่ยนทิศทางน้ำ เปลี่ยนมวลตะกอน และเปลี่ยนหลายอย่าง ดังนั้น การรื้อกำแพงไม่ได้แปลว่าชายหาดจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม และการเติมทรายก็ไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจะหาดกลับมาเช่นกัน เพราะระบบนิเวศเปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้นถ้าบอกว่าทำแล้วไม่ดี เกิดผลกระทบ จะมาแก้ไขให้ ก็อย่าทำเลยดีกว่า ไวนี สะอุ ตัวแทนประชาชนชาวสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เกิดอยู่ใกล้ทะเล มีบ้านติดริมทะเล บอกเล่าว่า เขาได้ยินเสียงคลื่นดังทุกเช้า เขาชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ชายหาด ซึ่งเป็นความสวยงามที่ไม่มีวันลืม จนกระทั่งมีโครงการก่อสร้าง เริ่มจากสร้างเขื่อนร่องน้ำแล้วนำมาสู่การแก้ปัญหาโดยการทิ้งหินลงไปเพื่อชะลอน้ำ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งน้ำก็กัดเข้ามาอีก มีการกัดเซาะต่อๆ กันมา ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง มีแต่การพังทลายเพิ่มขึ้น "ผมเชื่อเหลือเกินว่าพระผู้เป็นเจ้าให้พวกเราเกิดมาเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน มีชายหาดที่สวยงามให้เราร่วมกันดูแล วันนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนมาเรียกร้อง มาบอกความจริงใจ อยากเห็นคนไทยรักแผ่นดินเกิด รักชายหาด มีชายหาดสวยงามให้การท่องเที่ยว สุดท้ายอยากบอกว่าทะเลกำลังร้องไห้ หาดทรายกำลังร้องไห้ ป่าสันทรายกำลังสูญหาย พอเถิดคนใจร้าย พอเถิดปิศาจร้าย พอเสียที" เสียงจากไวนีส่งต่อไปยังผู้รักทะเล และผู้มีอำนาจ ปริดา คณะรัตน์ กลุ่ม Save หาดม่วงงาม กล่าวว่า ชายหาดม่วงงามเป็นชายหาดที่กว้างและสวย มีระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีชายหาดที่มีหอยเสียบ ปกติคนม่วงงามจะใช้ชายหาดในการพักผ่อนหย่อนใจ หาปลาและหาหอยเสียบ เป็นวิถีชาวบ้าน "พอมีโครงการที่มีเสาเข็มตอกลงไปกลางชายหาดก็รู้สึกสะเทือนใจมากกับเหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐทำกับเรา เราเห็นตัวอย่างมามากมาย ที่การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ได้มีผลดีอะไรกับชายหาดและทำลายชายหาด ยิ่งสร้างยิ่งกัดเซาะ ทำไมเราต้องเสียเวลาไปต่อสู้กับเรื่องที่มันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นกับชายหาดบ้านเรา กับโครงการที่มันไม่เหมาะสมกับชายหาดของประเทศเลย ตรงนี้ไม่ได้มองเฉพาะบ้านเรานะ แต่มองทั้งประเทศเลย" ด้าน ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 'เบื้องหลังกำแพง' (BEHIND THE WALL) รางวัลขวัญใจผู้ชมใน ?เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน? ครั้งที่ 2 กล่าวว่า ก่อนหน้าจะทำหนังสั้นเรื่องเบื้องหลังกำแพง ก็เคยทำมาเรื่องหนึ่งแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นสารคดีชื่อ 'น้ำตานางเงือก' ถ้าได้เปิดเทียบกันกับหนังสั้นตอนนี้จะเห็นความต่างของชายหาดค่อนข้างชัดเจน "เมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องเขื่อนกันคลื่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีการสร้างมาแล้ว ทำให้เราเห็นว่ามันน่ากลัว และมันค่อนข้างเงียบในยุคนั้น มายุคนี้เริ่มเห็นหลักฐานที่เขาเคยบอกว่าจะดี จะกันการกัดเซาะได้ แต่มันไม่เห็นได้แบบนั้น เพราะชายหาดน้อยลงเรื่อยๆ นักกีฬาไคท์เซิร์ฟยังต้องไปหาพื้นที่เล่น ตอนนี้คนเริ่มตื่นรู้มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีหาดเหลือหรือเปล่า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรีบเคลื่อนไหวกันตั้งแต่ตอนนี้ เราอาจไม่ใช่คนที่ลงไปต่อสู้โดยตรง แต่เราก็มีทางของเราในการทำสื่อ ก็คิดว่าเป็นอีกวิธีการที่เราจะช่วยเรื่องนี้ได้" โครงการผุดพรึ่บ 125 แห่ง งบฯ ทะลุ 8,000 ล้าน หลังยกเลิก EIA อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ไม่ต้องทำ EIA ก่อนก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เมื่อประมาณปี 2556 ก็พบความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ งบประมาณการสร้างกำแพงกันคลื่น ช่วงปี 2550-2557 ของทั้ง 2 กรม คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่ามี 13 โครงการ กรมโยธาฯ มี 32 โครงการ เป็นโครงการขนาดเล็กๆ แต่พอไม่ต้องทำ EIA แล้ว งบประมาณในช่วงปี 2558-2566 อยู่ที่ 8,400 ล้านบาท สัดส่วนงบประมาณถูกเทไปที่กรมโยธาฯ 78.9% จำนวน 107 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 125 โครงการ ใช้งบประมาณ 6,600 ล้านบาท ขณะที่กรมเจ้าท่าใช้ไป 1,700 ล้านบาท "เรื่องมติ ครม.จะมี 2 ประเด็น เรื่องแรก คือ มติ ครม.ให้อำนาจกรมโยธาฯ สร้างกำแพงกันคลื่น เป็นมติตั้งแต่ปี 2534 ส่วนอีกประเด็น คือ เมื่อมีมติไม่ต้องทำ EIA กรมโยธาฯ ที่มีอำนาจอยู่แล้วก็อาศัยช่องว่างนี้ทำมากขึ้น สร้างอย่างเดียว ขณะที่กรมเจ้าท่ายังเติมทรายบ้าง แต่กรมโยธาฯ ทำกำแพงอย่างเดียว" ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยตอนนี้ติดกับดักอยู่อย่างน้อย 2 กับดัก หนึ่งคืองบประมาณที่หน่วยงานภาครัฐมักจะเลือกอุปกรณ์นำเข้าราคาแพง ทำให้โครงการต่างๆ ใช้งบประมาณสูงมาก และสองคือ คุณสมบัติที่เหมาะสมของนักการเมืองที่เข้าไปดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ "ซึ่งตอนนี้ต้องรอดูว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา จะกล้าแตะต้องเรื่องงบประมาณที่เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือไม่" (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
'กำแพงกันคลื่น' ความตายของชายหาด ประชาชนไม่อยากได้ แต่รัฐอยากสร้าง .......... ต่อ ชายหาดหายไป เป็นความสูญเสียประเมินค่าไม่ได้ วรวัฒน์ สภาวสุ นักกีฬาไคท์เซิร์ฟ (Kite Surf) ในฐานะคนห่างไกลทะเลแต่ใช้ประโยชน์จากชายหาด เล่าว่า ตัวเขาเองเป็นคนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากชายหาด แต่ชอบไปชายหาดเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นคนหลงใหลกีฬาไคท์เซิร์ฟ ซึ่งกีฬานี้พึ่งลมและใช้พื้นที่ชายหาดเยอะ เป็นกีฬาที่จะเข้าโอลิมปิกครั้งแรกในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ฝรั่งเศส วรวัฒน์มองเห็นโอกาสว่า ไทยสามารถสร้างรายได้จากชายหาดโดยใช้เป็นสถานที่ฝึกกีฬาไคท์เซิร์ฟได้ อย่างที่เกิดขึ้นและคนไม่ทราบกันคือ มีนักกีฬาไคท์เซิร์ฟ ลูกครึ่งสิงคโปร์ วัย 17 ปี ที่มาฝึกฝนที่ปราณบุรี หัวหิน ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นเยาวชนแชมป์โลก และเป็นว่าที่นักกีฬาที่จะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก "นี่คือคุณค่าของชายหาด นักกีฬาเหล่านี้ต้องการหาดกว้างๆ หากมีการผลักดันกันจริงจัง มั่นใจว่ากีฬานี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมหาศาล" ขณะที่ ไวนี สะอุ บอกว่า หาดสะกอมเป็นหาดที่สวยมาก ขาวสวย ใครเคยเล่นน้ำทะเลจะพบว่าหาดจะค่อยๆ ลึกลงไปแล้วมีหาดตื้นอีก จริงอยู่ที่บางพื้นที่หาดอาจจะกัดเซาะไปในมรสุมในบางช่วง แต่ก็เป็นการกัดกินโดยธรรมชาติที่ปกติธรรมดามาก แต่วันนี้ด้วยโครงสร้างแข็งที่ชื่อว่า 'ฆาตกรกำแพงกันคลื่น' ได้ทำลายล้างชายหาดไปเยอะมาก ไม่สามารถจะทวงคืนได้อีกต่อไป "ทุกวันนี้บริเวณนั้นลึกมาก ไม่สามารถลงไปได้ เป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ และมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะการสูญเสียสิทธิแห่งความชอบธรรมที่เรามีสิทธิที่จะเรียกร้อง เพราะการยกเลิก EIA แปลว่ารัฐบาลไม่อยากฟังเสียงของพี่น้องเรา ทำให้เกิดการสูญเสียที่มากมายเหลือเกิน ทั้งหาดที่สวยงามและกิจกรรมที่เราทำที่ชายหาดเกือบหมดสิ้นแล้ว" ไวนีกล่าว ทวงคืนการทำ EIA ก่อนสร้างกำแพงกันคลื่น อภิศักดิ์ ทัศนี กล่าวอีกว่า เมื่อกรมโยธาฯ ได้อำนาจก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่ต้องทำ EIA สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การเสาะหาพื้นที่ชายหาดที่จะเข้าไปสร้างกำแพง แม้ว่าเป็นหาดที่ไม่กัดเซาะ กรมฯ ก็เข้าไปสร้างกำแพง แล้วไปบอกว่ามีการกัดเซาะ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องป้องกัน "วันนี้พอไม่ต้องทำ EIA ก็สร้างได้เต็มไปหมด เราไม่ได้พูดกันบนหลักความจำเป็น หรือความได้สัดส่วนว่า จะทำอย่างไรถึงจะคุ้มค่าและได้สัดส่วนกับปัญหา หรือผลกระทบในระดับที่เรายอมรับกันได้ มันไม่ถูกคิดเรื่องพวกนี้ ที่สำคัญกรมโยธาฯ ได้อำนาจมาเกือบ 30 ปีแล้ว เหตุใดจึงไม่ทบทวนว่าควรจะคืนอำนาจสู่หน่วยงานต้นสังกัดหรือผู้ที่มีความรู้หรือไม่ ทุกวันนี้เรามีกรมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องทะเลโดยเฉพาะแล้ว แต่เราก็ยังคงให้อำนาจหน่วยงานที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องทะเล แล้วก็ป้องกันแบบผิดๆ ทำงานเรื่องนี้ต่อ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมืองยุติบทบาทของการป้องกันชายฝั่ง "ต้องบอกว่าเราไม่มีปัญหากับกำแพงกันคลื่น เรามีปัญหากับกระบวนการในการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่น และหน่วยงานที่ไปผลักดันกำแพงกันคลื่น กำแพงกันคลื่นไม่ใช่ผู้ร้าย กำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างวิศวกรรมตัวหนึ่งที่เราหยิบมันมาใช้ กำแพงกันคลื่นยังคงมีความจำเป็นสำหรับงานป้องกันชายฝั่ง แต่มันควรจะถูกใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ซึ่งต้องประเมิน ดังนั้น เราต้องการกระบวนการที่ให้เรามีส่วนร่วม และเกิดความรอบคอบ เพื่อคนไทยจะได้มีชายหาดอยู่คู่ลูกหลานต่อไป" ด้าน ปฏิภาณ บุณฑริก แสดงความเห็นว่า มนุษย์เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ ถึงแม้จะถมเงินเท่าไรก็ละลายไปกับทะเล และไม่เกิดความยั่งยืน เราควรจะทำเมื่อถึงคราวจำเป็นเท่านั้น แต่การทำกำแพงกันคลื่นตอนนี้นอกจากเสียเงินแล้วยังทำลายธรรมชาติด้วย ดังนั้น ควรต้องมี EIA เพื่อให้คิดดีๆ ก่อน หรือชาวบ้านรู้เห็นด้วยแล้วหรือยัง ไม่อย่างนั้น ถ้าต้องเสียเงินเพียงบาทเดียวเพื่อทำสิ่งที่ไม่ควร แล้วส่งผลกระทบมากมาย อย่างไรก็ไม่คุ้ม ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี มองว่าการทำ EIA จะช่วยเซฟชายหาดได้ เพราะเป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะทำ และเป็นสิ่งที่เคยต้องทำมาก่อน แล้วมายกเลิกไปเพราะหน่วยงานราชการอ้างความรวดเร็ว แต่เมื่อเลิกไปแล้วกลับได้ปัญหาที่เกิดตามมาเป็นเชิงประจักษ์ ดังนั้น ถ้ามี EIA โครงการกำแพงกันคลื่นจะไม่ได้เกิดขึ้นมากมายอย่างที่เป็นอยู่ รวมถึงงบประมาณที่หน่วยงานได้รับก็จะไม่ใช้เทลงไปกับการสร้างกำแพงกันคลื่นมากขนาดนี้ เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวในด้านคดีและกฎหมายว่า การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนชายหาด ถ้าเป็นพื้นที่กรมเจ้าท่าดูแล จะต้องมีการขออนุญาตสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ ซึ่งเงื่อนไขใบอนุญาตนี้ต้องมีการส่งรายงาน EIA ด้วย แสดงให้เห็นว่ากรมเจ้าท่าก็คิดว่ารายงาน EIA สำคัญต่อการสร้างกำแพงกันคลื่นเหมือนกัน แต่เมื่อยกเลิกการทำ EIA ทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อคดีความที่ทำอยู่ด้วย เฉลิมศรียกตัวอย่าง คดีที่หาดสะกอม ที่ฟ้องปี 2551 แล้วเมื่อปี 2554 ศาลได้ตัดสินให้กลับไปทำ EIA แต่กลายเป็นว่าปีต่อมา มติ ครม.ให้ยกเลิก EIA จนกระทั่งปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดี เพราะการสร้างเขื่อนชอบด้วยกฎหมาย "ดังนั้น EIA ต้องกลับมา อย่างน้อยต้องมีการประเมินว่าสภาพพื้นที่เหมาะสมกับการทำกำแพงคลื่นไหม อาจจะช้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้ศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเรามีกรณีตัวอย่างที่หาดม่วงงาม มันมีฤดูกาลกัดเซาะ อบต.ก็ใช้งบประมาณมาเติมทราย น้อยที่สุด คือ 50,000 บาท นำมาทำเฉพาะจุด และการทำอย่างนี้หาดก็ยังเหมือนเดิม แล้วลองคิดดูเทียบกับงบฯ กำแพงกันคลื่นมูลค่า 200 ล้านบาท ลองเอาสัดส่วนที่ท้องถิ่นทำมาคำนวณ จะสามารถป้องกันได้ 500 ปี เทียบแบบนี้ก็เห็นแล้วว่าโครงการกำแพงกันคลื่นมันคุ้มทุนหรือไม่" เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าว ความคาดหวังต่อนโยบายภาครัฐในอนาคต อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่พูดถึงปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย เขาคิดว่าการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ต้องอาศัย ?ความกล้า? และ ?ความจริงใจ? "ผมขอเรียกร้องความกล้าหาญและความจริงใจจากคุณวราวุธ ศิลปอาชา ผมเรียกร้องความกล้าหาญและความจริงใจจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้หลายคนจะบอกว่าหวังจากพวกเขาไม่ได้ แต่ผมก็ยังมีความหวังว่ามันพอจะเป็นไปได้ ผมคิดว่าควากล้าหาญและความจริงใจ คือจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ดีสำหรับชายหาดในประเทศนี้ แต่ถ้าคนเหล่านั้นไม่มีความกล้าหาญและความจริงใจมากพอ ประชาชนตัวเล็กๆ แบบพวกเรานี่แหละจะเดินไปบอกคุณว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาชายหาดกลับมา แล้วเราจะเปลี่ยนมัน ถ้าคุณไม่เชื่อในพลังของคนตัวเล็ก ผมคิดว่าเราได้เจอกันแน่" อภิศักดิ์ จากกลุ่ม Beach for life กล่าว ด้าน ปฏิภาณ บุณฑริก ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญระดับสูง การเปลี่ยนกลไกบางอย่างไม่ง่าย แต่ถ้าผู้มีอำนาจไม่ได้มองทรัพยากรธรรมชาติเป็นของฉันของเธอหรือของใคร มองว่าธรรมชาติคือ ธรรมชาติ แล้วเราจะอยู่ร่วมกัน และมาช่วยกันแก้ไขหาทางออก ก็จะส่งผลให้สิ่งที่ถูกสร้างมาเป็นสิ่งที่ควรจะสร้างจริงๆ "ตอนนี้เราคนตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจพอ สิ่งที่เราทำได้ คือ การรวมตัวกัน การตื่นรู้ การที่เราคิดคำนึงและสนใจกับสิ่งที่มันกำลังเปลี่ยนแปลงในบ้านเรา จะเป็นสิ่งที่เราพอจะเจรจาต่อรอง พอจะบอกได้บ้างว่าเรามาทำให้ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นกันดีกว่า ก็ยังมีหวังอยู่ว่าทุกอย่างจะโอเค และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ข้างบนได้" ขณะที่ เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน บอกว่า มี 2 อย่างที่หวังไว้ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการชดเชยอย่างเหมาะสม "หมายความว่าเกิดผลกระทบแล้ว ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน จนต้องไปฟ้องร้องเอง กว่าจะได้เงินชดเชยก็กินเวลา 5-10 ปี บ้านก็พังหมดแล้ว ต้องหาเงินใช้สู้คดี ค่าเสียเวลา ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีการจ่าย ทั้งที่ควรคิดเรื่องของชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างนี้ด้วย" ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เพราะน่าจะเป็นสิบปีแล้วที่คนกลุ่มเล็กๆ เรียกร้อง โดยที่เสียงก็เริ่มดังขึ้น ตอนนี้คนรู้แล้วว่าปัญหากัดเซาะที่ไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ -แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์- มีอยู่จริง ดังนั้น ต้องใช้เวลาและใช้ความอดทนมากๆ ขณะที่อีกแง่มุมหนึ่งที่ซีเรียส คือ โครงการนี้ผูกโยงกับงบประมาณมหาศาล และผู้มีอิทธิพล ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการคัดค้าน "จึงอยากบอกว่าการต่อสู้เรื่องเหล่านี้อันตราย เพราะอาจจะโดนฟ้องร้อง หรือมากกว่านั้น" เรื่องราวเหล่านี้ นอกจากความหวงแหนแผ่นดินเกิดของพวกเขาแล้ว ยังเพื่อรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานคนไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำกิน ที่ตอนนี้มีแต่ความขมขื่น แต่ขณะเดียวกันก็ยังเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า? ในวันหนึ่ง ชายหาดจะคืนสู่ทิศทางอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะเรื่องราวที่พร่ำพูดกันมาเกิน 10 ปี ก็นานเพียงพอต่อการเรียนรู้ และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันก่อนทุกอย่างจะสายจนเกินแก้ https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/102522
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ห่วงช่วงท่องเที่ยวทำ "ขยะ" ล้น ย้ำ "คัด-แยก-ลด" เอามาเองได้ ก็ควรเอากลับไปเองได้ กรมอนามัยห่วงช่วงเทศกาลท่องเที่ยว คนแห่ไปเที่ยวเยอะ ก่อขยะมหาศาล ย้ำ "คัด-แยก-ลด" ป้องกันขยะล้นแหล่งท่องเที่ยว ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เน้นใช้วัสดุใช้ซ้ำได้ นำของเข้ามาแล้วควรนำออกไปด้วย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวที่มีเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงสถานที่อื่นๆ ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยช่วงปี 2564 มีประมาณ 1,864 ตัน เป็นขยะอินทรีย์มากที่สุด 737.58 ตัน หรือ 39.56% ขยะทั่วไป 722.26 ตัน หรือ 39.33% ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว แก้ว และขวดพลาสติก 291.26 ตันหรือ 15.62% ขยะอันตราย 59.47 ตัน หรือ 3.19% และขยะอื่นๆ 42.95 ตัน หรือ 2.3% เมื่อแยกเป็นขยะพลาสติก ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว 812,591 ใบ แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 208,179 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร จำนวน 31,301 ใบ จากข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลปี 2564 พบว่า ขยะตกค้างชายฝั่ง มากที่สุด คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่ม แก้ว ถุงก๊อปแก๊ป ถุงอาหาร เศษพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แว่นตา และสร้อยคอ กล่องอาหาร กล่องโฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม คิดเป็น 73% ของขยะทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่นๆ 27% นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น หาดทราย แนวปะการัง ขยะบางประเภทยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟม พลาสติก เมื่อสัตว์กินเข้าไปจะเกิดอันตรายและตายในที่สุด .ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันลดปริมาณขยะ โดย 1. คัดแยกและทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้ เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก หากนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด และ 2. ลดปริมาณการนำเข้าขยะ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้ว โดยนำมาเอง นอกจากนี้ ระวังการก่อไฟเผาขยะในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้. นพ.สุวรรณชัยกล่าว https://mgronline.com/qol/detail/9650000117460 ****************************************************************************************************** ยังน่าห่วง โลกร้อน! 'อาจารย์ธรณ์' โชว์สภาพปะการังฟอกขาว ที่หินต่อยหอย ระยอง หลังผ่านมา 18 เดือน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat แจ้งผลสภาพของปะการังฟอกขาว หลังผ่านไป 18 เดือน "สภาพของปะการังเป็นอย่างไรบ้าง ? นั่นคือโจทย์ที่ผมอยากรู้เช่นกันว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นเป็นอย่างไร" (ดูภาพจากโดรนครั้งแรกที่เห็นปะการังฟอกขาว เมื่อ 3 มิถุนายน 2564) เป็นการเริ่มโครงการระยะยาวโดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / ปตท.สผ. ในการใช้โดรน/การสำรวจภาคสนามทำแผนที่ปะการังที่หินต่อยหอย ระยอง นับตั้งแต่เกิดฟอกขาวกลางปี 2564 เราไปทุก 3 เดือนครับ จึงทำไทม์ไลน์ สรุปให้เพื่อนธรณ์ได้ ก่อนหน้านั้น - ปะการังสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีหัวปะการังตาย เพราะน้ำร้อน/ฟอกขาว - ปะการังฟอกเกิน 80% หัวปะการังก้อนตายเยอะ (ดูภาพ) 3 เดือน - น้ำจืดลงทะเล สาหร่ายสีเขียวขึ้นบนหัวปะการัง 6 เดือน - สาหร่ายเยอะมาก ทำให้ปะการังโทรม 9 เดือน - สาหร่ายหายไป แต่หัวปะการังยังคงตาย 12 เดือน - น้ำร้อนอีกครั้ง แต่ฟอกขาวเบากว่าปี 63 15 เดือน - น้ำจืดปีนี้ลงเยอะมาก ปะการังโทรมจากน้ำจืด แต่ไม่มีสาหร่ายเท่าปีก่อน 18 เดือน - ล่าสุด วันนี้ ปะการังขนาดเล็กหลายชนิดเริ่มฟื้น ดูดี แต่ปะการังก้อนที่หัวตายยังคงไม่ฟื้น อย่างไรก็ตาม หากไม่มีน้ำร้อนซ้ำในกลางปีหน้า น่าจะดูดีขึ้น ปัจจัยสำคัญจากผลกระทบโลกร้อน คือ - น้ำร้อนผิดปรกติเกิดถี่ขึ้นแทบทุกปี ปะการังยังไม่ทันฟื้นก็ฟอกขาวใหม่ - ฝนตกหนักในช่วงสั้นๆ มวลน้ำจืดขนาดใหญ่ไหลลงทะเลพุ่งมาถึงหินต่อยหอย ความเค็มเปลี่ยนฉับพลัน ปะการังโทรม สัตว์ทะเล เช่น เม่นทะเล ตายจำนวนมาก ทำให้ไม่มีผู้ควบคุมสาหร่ายในช่วงนั้น - ปะการังอาจไม่ตาย แต่อ่อนแอลง เป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น นั่นคือข้อมูลที่หินต่อยหอย แนวปะการังกลางทะเลที่น้ำหมุนเวียนดี แต่ถ้าเป็นที่เกาะมันใน แนวปะการังในเขตน้ำตื้นจะเป็นอย่างไรบ้าง ? ช่วงนี้น้ำลงกลางคืน ต้องรอให้เย็นสุดถึงลงไปดู/สำรวจโดรน จะรีบสรุปและนำมารายงานเพื่อนธรณ์ เพราะทุกคนรู้ว่าโลกร้อนส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่เรายังขาดความเข้าใจว่าเสียหายแค่ไหน มีหลักฐานยืนยันไหม ? นั่นคือเป้าหมายหลักของคณะประมงที่จะตามรอยปะการังยุคโลกร้อนไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะในอนาคตเมื่อมีกองทุน loss & damage (COP27) มีนั่นมีนี่ เราจะได้ตามโลกได้ทัน "สำคัญกว่านั้นคือเราจะได้ปรับแผนรับมือความเสียหายที่เกิดขึ้น ช่วยเหลือพี่น้องคนทะเลที่ทำมาหากินทั้งท่องเที่ยวทั้งประมงและช่วยย้ำเตือนว่า ก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์กำลังทำร้ายทะเลแสนสาหัส ถ้าไม่ช่วยกัน เราก็ไม่มีทางออก จึงเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ต้องบอกซ้ำๆ ย้ำเตือนกันเรื่อยไป เหนื่อยไม่ได้ ท้อไม่ได้ เพราะภารกิจมันยิ่งใหญ่เหลือหลายครับ" หมายเหตุ การสำรวจบริเวณที่เรียกว่า "หินต่อยหอย" คือแนวปะการังกลางน้ำใกล้เกาะมันใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปะการังดีที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง https://mgronline.com/greeninnovatio.../9650000117418
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
"อ่าวมาหยา" กับแผนฟื้นฟูธรรมชาติให้ยั่งยืน ช่วง 3 ปี 6 เดือนที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ประกาศปิดอ่าว และฟื้นฟูแนวปะการังหน้าหาดใหม่ ทำให้ปะการังและทรัพยากรธรรมชาติกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แสงอาทิตย์สุดท้ายก่อนลาลับ สลับกับทิวเขาสูง ตัดกับขอบน้ำทะเลและผืนหาดทรายขาวที่ทอดยาวในหุบเขา คล้ายแอบซ้อนความงดงามรอให้ผู้คนมาสัมผัส เป็นภาพความสวยงามของอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ที่รู้จักทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่ออ่าวแห่งนี้ถูกเลือกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช เมื่อปี 2542 แต่การเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของอ่าวมาหยาทำที่นี่บอบช้ำ ผ่านมากว่า 23 ปี หลังการต่อจนชนะสู้คดี และบทเรียนครั้งนั้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเยียวยาอ่าวมาหยา โดยเฉพาะในช่วง 3 ปี 6 เดือน ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ประกาศปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2561 วันนี้อ่าวมาหยาเหมือนสาวน้อยที่ตื่นขึ้นจากหลับใหล น้ำทะเลที่ใสสะท้อนจนเห็นพื้นด้านล่าง คล้ายกระจก สอดสลับกับสีสันของปะการังที่เติบโตขึ้นใต้ผืนน้ำ สัตว์น้ำน้อยใหญ่ อย่างฉลามหูดำ ว่ายน้ำอวดสายตานักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย ที่ได้เข้ามาสัมผัสความงดงามของอ่าวมาหยาอีกครั้ง นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียระบุว่า แม้จะเคยเดินทางมาในไทยแล้วหลายครั้ง แต่นี้เป็นครั้งแรกที่ตนเองและเพื่อนมาที่อ่าวมาหยา และประทับอย่างมาก ธรรมชาติที่สวยงามซึ่งค่อย ๆ ฟื้นตัวอวดสายตาชาวโลก ทำให้อ่าวมาหยา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครหลายคนอยากมาสัมผัส ทางอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จึงต้องเข้ามาบริการจัดการ เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวล้นหาด กำหนดให้มาเที่ยวตั้งแต่ 07.00 - 18.00 น. รอบละ 375 คน แต่ละรอบอยู่ในอ่าวมาหยาได้ไม่เกินคนละ 1 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้เรือโดยสารเข้ามาจอดหน้าหาดอีกแล้ว แต่ให้ไปจอดเทียบท่าที่ท่าเรือโล๊ะซามะแทน รวมถึงห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแนวปะการัง ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่อ่าวมาหยาเฉลี่ยวันละ 4,125 คน ซึ่งเต็มจำนวนที่อ่าวมาหยาจะรองรับได้ โดยผู้ที่จะมาเที่ยวอ่าวมาหยา จะต้องจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ เท่านั้น และจะต้องปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 5,000 บาท ก่อนหน้านี้ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการนำเที่ยว และนักท่องเที่ยวถึงความจำเป็นที่จะต้องวางกฎระเบียบให้เข้มงวดขึ้น เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของอ่าวมาหยา ที่ผ่านการพักฟื้นอย่างเต็มที่ไว้ให้นานที่สุด https://www.thaipbs.or.th/news/content/322433
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|