#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีลมใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนัก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรงไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 23 - 25 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 28 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นทำให้ด้านรับมรสุมของบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 23 - 25 มิ.ย. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
นักวิจัยระบุต้องค้นหาปะการังอ่อน ที่เสี่ยงการฟอกสี การฟอกขาวของปะการังได้เกิดขึ้นกับแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงแนวปะการังมรดกโลกอย่างเกรต แบริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ในออสเตรเลีย อันเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่ 4 ครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามหาหนทางช่วยเหลือฟื้นฟูแนวปะการังแห่งนี้มาโดยตลอด การฟอกสีปะการังเกี่ยวข้องกับการขับไล่ symbionts ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเซลล์ของปะการังที่ให้สีและพลังงานแก่สิ่งมีชีวิต ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ระบุว่าหลังสร้างแบบจำลองที่จะช่วยให้สามารถระบุถึงปะการังอ่อนที่เสี่ยงต่อการถูกฟอกขาวจากคลื่นความร้อนในทะเลได้อย่างรวดเร็วที่สุด และดูปริมาณโปรตีน เซลล์สาหร่าย คลอโรฟิลล์ ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของปะการัง ในการสำรวจครั้งนี้นักวิจัยพบว่าปะการังอ่อนชนิดหนึ่งคือ Xenia sp. มีสุขภาพที่ดีขึ้นในช่วงคลื่นความร้อน และผลิตเซลล์สาหร่ายมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิปกติ นักวิจัยเผยว่า การรู้ว่าปะการังกลุ่มใดและสายพันธุ์ใดมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดในโลกที่ร้อนขึ้น ถือเป็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์แนวปะการัง ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้คาดการณ์ได้ว่าแนวปะการังในอนาคตจะเป็นอย่างไร ปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดใดจะพึ่งพาแนวปะการังได้. https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2425212 ********************************************************************************************************************************************************* พี่ยักษ์ ฉลามวาฬโผล่ทะเลเกาะช้าง ว่ายอวดโฉมโชว์ ทำนักดำน้ำสุดตื่นเต้น ฉลามวาฬโผล่ทะเลเกาะช้าง ว่ายน้ำอวดโฉมทำนักดำน้ำตื่นตาตื่นใจ บริเวณจุดดำน้ำใกล้เรือหลวงช้าง อ.เกาะช้าง โดยถือเป็นโอกาสหาได้ยากที่จะพบฉลามวาฬในช่วงนี้ โดยตัวนี้เป็นเพศเมีย ยาวประมาณ 4 เมตร เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 65 นายอัยการ เชยชื่น ได้โพสต์ภาพสุดประทับใจลงเฟซบุ๊ก เป็นภาพพร้อมคลิปวิดีโอปลาฉลามวาฬ ว่ายน้ำอวดโฉมอยู่ใกล้กับจุดดำน้ำเรือหลวงช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งปลาฉลามวาฬตัวดังกล่าวเรียกเสียงฮือฮาให้กับนักดำน้ำได้อย่างมาก หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปสอบถามทราบว่า คลิปดังกล่าวถูกถ่ายโดย นายอัยการ เชยชื่น อายุ 32 ปี มีอาชีพเป็นครูสอนดำน้ำ (Diving instructor) ซึ่งนายอัยการบอกว่า ขณะนั้นกำลังลงดำน้ำเล่น (fundive) กับลูกค้าอีก 1 คน อยู่ที่จุดดำน้ำเรือหลวงช้าง ตอนที่ "พี่ยักษ์" ฉลามวาฬว่ายเข้ามาใกล้ตอนนั้นไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปลงไป แต่โชคดีมีพี่อีกคนเอาลงมาให้ ตนจึงรีบถ่ายภาพเก็บไว้ ก่อนที่เจ้าฉลามวาฬจะว่ายหายไป ซึ่งนับว่าโชคดีมากเพราะช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูที่จะพบเห็นปลาฉลามวาฬได้ นายอัยการ ครูสอนดำน้ำ กล่าวต่อว่า สำหรับฉลามวาฬตัวนี้ เป็นเพศเมีย มีความยาวประมาณ 4 เมตร สำหรับจุดดำน้ำเรือหลวงช้าง อยู่ห่างจากเกาะช้าง ประมาณ 8 ไมล์ทะเล การเดินทางโดยเรือใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นที่สำหรับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ และคุณสมบัตินักดำน้ำขั้นสูง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ระดับความลึกสูงสุด 30 เมตรบนพื้นทะเล และดาดฟ้าของเรืออยู่ที่ประมาณ 23 เมตร ฉลามวาฬ เป็นฉลามเคลื่อนที่ช้าที่กินอาหารแบบกรองกิน เป็นปลาที่ขนาดใหญ่ที่สุด ยาวถึง 12.65 ม. หนัก 21.5 ตัน ฉลามวาฬพบได้ในทะเลเขตร้อนและอบอุ่น อาศัยอยู่ในทะเลเปิด มีช่วงอายุประมาณ 70 ปี ฉลามชนิดนี้กำเนิดเมื่อประมาณ 60 ล้านปีมาแล้ว อาหารหลักของฉลามวาฬ คือ แพลงก์ตอน. https://www.thairath.co.th/news/local/east/2425956
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|