เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 19-01-2024
เด็กน้อย เด็กน้อย is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: Aug 2009
ข้อความ: 263
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิลดลงอีกเล็กน้อย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และการระบายของอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.



คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 - 21 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส
ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 24 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส
สำหรับในช่วงวันที่ 18 - 22 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 24 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่าง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 18 - 21 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้า รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 24 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
รูปขนาดเล็ก
คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

Name:	topchart_18_january_2024_18.jpg
Views:	0
Size:	112.8 KB
ID:	22640   คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

Name:	FC190124.jpg
Views:	0
Size:	29.6 KB
ID:	22641  
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 19-01-2024
เด็กน้อย เด็กน้อย is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: Aug 2009
ข้อความ: 263
Default

ขอบคุณข่าวจาก GreenNews

เผย ?โรงไฟฟ้า-โรงกลั่น-อุตสาหกรรม แหล่งมลพิษสำคัญฝุ่นกรุง?

?ฝุ่นกรุง ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด-ยังไม่ถูกพูดถึง? 3 องค์กรสิ่งแวดล้อมจัดเวทีเปิดข้อมูล ชี้ ?3 โรงไฟฟ้า-โรงกลั่น ปล่อยกว่า 9 แสนตันคาร์บอนต่อปี-กำลังจะขยายกำลังผลิต? ขณะฝุ่นอุตสาหกรรมเป็นอีกแหล่งกำเนิดหลัก-ปล่อย 4 กลุ่มสารเคมีอันตราย เสี่ยงต่อสุขภาพคนกรุง เสนอ ?5 มาตรการระยะสั้น ? 6 มาตรการระยะยาว?

ขณะสถานการณฺ์ฝุ่นวันนี้ ค่าฝุ่นในพื้นที่ตอนกลางประเทศ (กทม.-ปริฯ-ภาคกลาง-ภาคตะวันตก-ภาคตะวันออก) ยังอยู่ระดับ ?เริ่มมีผลต่อสุขภาพ? แนวโน้มแย่ต่ออีกหลายวัน ผู้เชี่ยวชาญคาดทิศลมจะหอบมลพิษขึ้นเหนือ ใน 2 วัน

เครือข่ายฝุ่นเหนือชวนจับตาผลพิพากษาพรุ่งนี้ (19 ม.ค. 2567) ?คดีฝุ่นเชียงใหม่?



ฝุ่นกรุง ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด-ยังไม่ถูกพูดถึง

?ปัญหาฝุ่นใหญ่กว่าที่คิด ไม่ได้มีเท่าที่เราเห็นกัน มันยังมีสาเหตุที่เราไม่เห็น และก้าวข้ามมันไป เพราะฉะนั้นในการจัดการปัญหาเราจึงมักไปจัดการในระดับปลายทาง เช่น ไปควบคุมเรื่องการใช้รถ สนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ยังไม่ทั้งหมด มันยังมีแหล่งการปล่อยใหญ่ ที่เราต้องจัดการไม่อย่างนั้นปัญหาฝุ่นจะไม่หมดไป?

กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) เปิดเผยวันนี้ (18 ม.ค. 2567) ในเวทีเสวนา ?ปัญหาฝุ่น กทม.มีสาเหตุใหญ่กว่าที่คาด? ซึ่งจัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for ALL (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace Thailand)

?ถ้าเราเปิดดูแผนที่จะเห็นว่าที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นจะอยู่ที่ กทม. และปริมณฑล ลามไปยังจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งถ้าเราพูดถึงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในกทม. เราจะมุ่งเป้าไปที่การจราจรเป็นหลัก แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ขนาดใหญ่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คือ โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่? กฤษฎา กล่าว



3 โรงไฟฟ้า-โรงกลั่น ปล่อยกว่า 9 แสนตันคาร์บอนต่อปี-กำลังจะขยายกำลังผลิต

?ผมจะขอยกตัวอย่าง 3 แห่งคือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ตั้งอยู่นอก กทม. ตรงขอบพอดี โรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งเป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ก่อตั้งเมื่อปี 2527 กําลังการผลิตสูงสุด 120,000 บาร์เรลต่อวัน เว็บไซต์ของโรงกลั่นระบุว่า ใน 1 ปี จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ 9 แสนตัน

โรงไฟฟ้าพระนครใต้ กำลังผลิต 1,930 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมี 2 โรง กำลังดำเนินการสร้างโรงใหม่ 3 โรง โรงละ 830 เมกะวัตต์ ทำงการศึกษา EIA และ EHIA เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากที่ผมดูไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการจัดการวิกฤต PM2.5 เลย ไม่บอกเลยว่า ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาจะต้องมีมาตรการป้องกัน PM2.5 อย่างไร

นอกจากนั้นถ้ามีการสร้างโรงใหม่เพิ่ม โรงไฟฟ้าพระนครใต้จะมีกำลังผลิตรวมกัน 4,519.4 เมกะวัตต์ 2 เท่าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทีนี้ 3 โรงที่จะสร้างใหม่ จะต้องใช้แก๊สธรรมชาติวันละ 347 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน จะมีการปล่อยฝุ่นละอองออกมาจากแต่ละปล่องวันละ 978 กก. 3 ปล่องจะเป็น 2.936 กก.ต่อวัน

ใน 1 วัน มีการปล่อยฝุ่นละออกอกมาเกือบ 3 พัน กก. แล้วถ้ารวมกับที่สร้างเสร็จแล้วเป็น 5 ปล่อง คาดว่าจะมีการปล่อยฝุ่นละอองออกสู่บรรยากาศจากโรงไฟฟ้านี้ถึง 4.6 ตันต่อวัน และถ้าแยกออกมาดูจะพบว่าจะมีการปล่อยไนโตรเจนออกไซต์ออกมา 6.4 ตันต่อวัน

ซึ่งตามมาตรฐานของเกาหลีเมื่อปี 2020 มาตรฐานความเข้มข้นไนโตรเจนออกไซต์ที่ปล่อยออกมาจะต้องไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน แต่มาตรฐานของเราอยู่ที่ 120 ส่วนในล้านส่วน มากกว่าเขาถึง 12 เท่า

เกาหลีเขาพบว่าคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่พบว่า 80% มาจาก NO 20% มาจากฝุ่น PM2.5? วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติพระนครเหนือปัจจุบันมี 2 โรง กำลังผลิต 1,645 เมกะวัตต์ แลูกำลังก่อสร้างอีก 2 โรง 1,400

นอกจากนั้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า กทม. เขตนครหลวงจะต้องมีโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด 11,183 เมกะวัตต์ ปัจจุบันยังขาดอยู่อีกกว่า 700 เมกะวัตต์ และยังไม่ระบุว่าจะสร้างที่ไหนใน กทม.

?ผมมีคำถามว่าเราจะยอมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใน กทม. เพิ่มขึ้นอีกหรือ แล้วทำไมเราถึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในกทม. และทำไมต้องเป็นโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล? วิฑูรย์ กล่าว



ฝุ่นอุตสาหกรรม อีกแหล่งกำเนิดหลักฝุ่นกรุง

?จากการศึกษาเกี่ยวกับการมลพิษทางอากาศของมูลนิธิบูรณะนิเวศในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี 2564 พบว่า พื้นที่ที่มีการปล่อย PM2.5 และ PM10 มากที่สุดอยู่ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่น ปล่อย PM10 กว่า 70,000 ตันต่อปี และ PM2.5 44,000 ตันต่อปี และถ้ารวมทั้งจังหวัด PM10 จะอยู่ที่ 76,000 ตันต่อปี และ PM2.5 46,000 ตันต่อปี

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษในจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดจากภาคอื่น ๆ เช่น การจราจรและการขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย (ปล่อย PM2.5 64 ตันต่อปี PM10 196 ตันต่อปี) และการเผาในที่โล่ง (ปล่อย PM2.5 37 ตันต่อปี PM10 42 ตันต่อปี)

ทุกคนรู้ดีว่า จ.สมุทรสาคร รถติด รถหนาแน่นมาก และมีฝุ่นเยอะ แต่ถ้ามาเทียบกันระหว่างภาคจราจร กับภาคอุตสาหกรรมจะเห็นเลยว่า ภาคอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษมากกว่าชัดเจน

นอกจากข้อมูลจำนวนโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560 พบว่ามีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 13,272 แห่ง ที่ก่อมลพิษทางอากาศ? เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

ฝุ่นอุตสาหกรรม ? ปล่อย 4 กลุ่มสารเคมีอันตราย

?ฝุ่นที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ จะเกิดจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ความร้อน โดยจะเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งส่วนมากเป็นสารเคมี

สารอันตรายหลัก ๆ ที่อยู่ในฝุ่นที่มาจากภาคอุตสาหกรรม กลุ่มแรกจะเป็นก๊าซออกไซต์ของไนโตรเจน 2. โลหะหนัก ซึ่งมีหลายตัวที่อันตรายเช่นสารหนู ปรอท ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งโลหะหนักก็จะถูกปล่อยออกมากจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ด้วยเช่นกัน 3. ไดออกซิน/ฟิวแรน ซึ่งอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อม 4. สารอินทรีย์ระเหยง่าย

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับสารโลหะหนักในฝุ่นละออง PM2.5 และสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือสาร POPs ในฝุ่นละอองรวมในบรรยากาศ ใน จ.สมุทรสาคร พบว่ามีการปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายทั้งโลหะหนัก และสารมลพิษตกค้างยาวนานหลายจุดในจังหวัดที่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่แคนาดา และญี่ปุ่นกำหนดไว้ อีกทั้งยังสูงกว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณสารไดออกซินในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2555 มากกว่า 45 เท่า? เพ็ญโฉม กล่าว

เพ็ญโฉม กล่าวถึงปัญหาอีกเรื่องหนึ่งในปัจจุบันก็คือ การไม่มีค่ามาตรฐานควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปลายปล่องสำหรับโรงงานอุสหาหกรรม ซึ่งทำให้ไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าสารแต่ละตัวถูกปล่อยออกมามีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งในอนาคตถ้ามีการบังคับกฎหมาย PRTR จะสามารถให้ความชัดเจน และแก้ปัญหาให้เรื่องนี้ได้

?ไนโตรเจนไดออกไซต์ หรือออกไซต์ของไนโตรเจน สามารถโยงกับเรื่องฝุ่นที่เราเจอกัน มีการศึกษาทั่วโลกว่าคนที่ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ผลกระทบที่เกิดจากการสัมผัสมลพิษไนโตรเจนไดออกไซต์ในประเทศต่าง 2543 ? 2562 มีผู้ป่วยโรคหืดหอบ รายใหม่เกือบ 2 ล้าน เป็นผลกระทบโดยตรงจากไนโตรเจนไดออกไซต์ ส่วนใหญ่เป็นคนอยู่ในเขตเมือง ซั่งตัวไนโตรเจนตรงนี้เป็นคู่หูวายร้ายที่มากับฝุ่น PM2.5? ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยอีกหนึ่งความอันตรายของไนโตรเจนไดออกไซต์



ข้อเสนอ ?5 มาตรการระยะสั้น?

?กทม. ปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดมลพิษหลายแห่ง แต่ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้น มีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของ กทม. และปริมณฑล แต่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก แม้กระทั่งร่างพรบ. อากาศสะอาดก็ไม่ค่อยพูดถึงมากนัก ดังนั้นถ้าในอนาคตคณะกรรมวิสามัญร่างพรบ.อากาศสะอาดที่จะเอาททั้ง 7 ร่างมารวมกัน จะต้องนำส่วนนี้เข้ามาคิดรวมด้วย? ธารา กล่าว

เพ็ญโฉม กล่าวว่าสำหรับ มาตรการเฉพาะโรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า ในเขตกทม. และปริมณฑล นั้นจะต้องวางแผนการเดินเครื่อง และการซ่อมบำรุงประจำปีให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปี 45 วัน เป็นช่วงเดียวกับที่เกิดวิกฤตฝุ่น รวมทั้งต้องติดตั้งเทคโนโลยีระบบกรองก่อนปล่อยไอเสียของโรงไฟฟ้าออกสู่บรรยากาศ

?มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซประเทศไทย มีข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ กับมาตรการในการจัดการแหล่งปล่อย PM2.5 รายใหญ่ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะสั้นและระยะยาว

โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษ มีดังนี้

1. รัฐบาล และรัฐสภาจะต้อง ผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ?.. (PRTR)

2. ตรวจสอบระบบบำบัดอากาศเสีย และปริมาณการปล่อยอากาศเสียของโรงงานอุตสาหกรรมในกทม. และปริมณฑล

3. กำกับโรงกลั่น โรงไฟฟ้าให้ลดหรืองดการเดินเครื่องในช่วงวิกฤตฝุ่น

4. ระบบตรวจวัด PM ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ควรสุ่มตรวจได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ปีละ 2 ครั้งตามที่กำหนดเวลา และมาตรฐานทั่วไปไว้ใน EIA ซึ่งเป็นการวัดบริเวณปากปล่อง และเป็นช่วงเวลาตายตัวไม่ตรงกับช่วงวิกฤต

5. ให้ชะลอ และทบทวนโครงการการก่อสร้างส่วนต่อขยาย เพิ่มกำลังผลิตหรือทดแทนกำลังผลิตเดิมที่หมดอายุ ในบริเวณเดิม หรือในเขต กทม. และปริมณฑล อนึ่งการทำ EIA และ HEIA ของโครงการพระนครใต้ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มีวิกฤต PM2.5 แต่อย่างใดเลย
ข้อเสนอ ?6 มาตรการระยะยาว?

1. ให้ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ออกจาก กทม. และปริมณฑล
2. ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องดูผลกระทบเชิงสะสมกับแหล่งปล่อยมลพิษอื่นที่อาจจะก่อวิกฤตคุณภาพอากาศต่อพื้นที่ได้ โดยต้องเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไข ทั้งนี้จะต้องให้อำนาจตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายปกครองในการยับยั้งการปล่อยมลพิษหรือสั่งยุติการดำเนินการ ตามสมควรแก่เหตุ โดยไม่อยู่ภายได้ข้อจำกัดด้านเขตปกครอง และการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากสถานการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัด
3. ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเช่น กทม. และปริมณฑล ให้การกำหนดมาตรฐานการควบคุมมลพิษ และเทคโนโลยี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานสูงสุดตามมาตรฐานสากล
4. ให้กฎหมายกำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่แจ้งข้อมูล การปล่อยมลพิษเชิงปริมาณ กรัม/วินาที และคุณภาพ หรือองค์ประกอบอนุมูลสาร เพิ่มจากข้อมูลความเข้มขัน
5. ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ในภาพรวมของกทม. และปริมณฑลใน บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตคุณภาพอากาศ โดยใช้ค่ามาตรฐาน PM และ AQl ที่เป็นสากล เพื่อเป็นแม่บทในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
6. ปรับปรุง และออกกฎหมาย ใช้มาตรการที่เป็นมาตรฐานสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กติกา และวัฒนธรรมประชาธิปไตย? เพ็ญโฉม เสนอมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 19-01-2024
เด็กน้อย เด็กน้อย is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: Aug 2009
ข้อความ: 263
Default

ขอบคุณข่าวจาก GreenNews

เผย ?โรงไฟฟ้า-โรงกลั่น-อุตสาหกรรม แหล่งมลพิษสำคัญฝุ่นกรุง? (ต่อ)





กทม.-ปริฯ-กลาง-ตก-ออก ?เริ่มมีผลต่อสุขภาพ? ค่าฝุ่นวันนี้-แนวโน้มต่อไปอีกหลายวัน

?เกินมาตรฐานกว่า 116 พื้นที่ ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 37.6 ? 75 มคก./ลบ.ม.)? กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานระดับมลพิษฝุ่นพิษ PM2.5 ในอากาศในช่วงเย็นวันนี้ (8 ม.ค. 2567)

?ภาคกลาง-ตะวันตก-ตะวันออก-กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ภาคเหนือ-อีสานเริ่มมีผลกระทบสุขภาพภาคละ 2 พื้นที่ ส่วนภาคใต้อยู่ในเกณฑ์ดี? รายงานสรุปค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ คพ. ประจำวันนี้ (18 ม.ค. 2567) ระบุ

?แนวโน้มโดยภาพรวม ค่าฝุ่นกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะอยู่ระดับ ?เริ่มมีผลกระทบสุขภาพไปถึง 23 ม.ค. ขณะที่ภาคกลาง-ตะวันออก-อีสานจะอยู่ระดับปานกลางไปถึง 22 ม.ค. ก่อนจะเริ่มดีขึ้นสู่ระดับปลอดภัยต่อสุขภาพ? คพ.คาดการณ์รอบสัปดาห์ (19-25 ม.ค. 2567)

?CAMS พยากรณ์ว่าสองวันนี้ (ศุกร์-เสาร์) มลพิษฝุ่นจะเข้มข้นขึ้นมากในช่วงกลางคืน เนื่องจากลมใต้เริ่มจะแรงขึ้น และพัดฝุ่นกลับจากอ่าวผ่านกรุงเทพอีกครั้ง จะเป็นสภาพฝุ่นกลับมากองเหนือเมืองหลวง

จากนี้ฝุ่นจะถูกพัดขึ้นภาคเหนือตอนบนโดยมีลมตะวันตกพัดสอบบีบให้ลำของฝุ่นขึ้นไปทาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ก่อนลมหนาวจะกลับมาแรงอีกระลอกและลดฝุ่นลงอีกครั้ง? ดร.เจน ชาญณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายแก้ไขฝุ่นควันภาคเหนือ เปิดเผย

?เช้านี้ (18 ม.ค.67) ฝุ่นพิษ PM2.5 (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) สูงระดับอันตรายมากต่อสุขภาพในกรุงเทพฯ พื้นที่ปริมณฑล (ภาพที่ 2) ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ (ภาพที่ 3) พื้นที่เกษตรยังเผานำพื้นที่ป่าไม้ ข้าวครองแชมป์การเผา สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ยังคงห่างไกลมติ ครม.

วันนี้อัตราการระบายอากาศต่ำมากและยังเกิดปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ ทำให้ฝุ่นพิษในพื้นที่ (จากรถยนต์ รถบรรทุก โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะในพื้นที่ เป็นต้น) ระบายออกได้ยาก กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ฝุ่นพิษสมทบจากการเผาในนาข้าวแถบพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแบบเต็มๆ และฝุ่นข้ามพรมแดนที่ลอยมาไกลจากกัมพูชา (ภาพที่ 4 และ 5) โดยกัมพูชามีการเผาที่ร้อนแรงมาก จุดความร้อนพุ่งเกิน 2 พันจุดเมื่อ 3 วันที่แล้ว และยังคงเกิน 1 พันจุดมาตลอดในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

สำหรับการเผาในที่โล่งแจ้งในประเทศไทยเอง ข้อมูลที่รายงานจาก GISTDA พบว่า จำนวนจุดความร้อนจากการเผาในพื้นที่เกษตรยังคงนำพื้นที่ป่าไม้ โดยข้าวครองแชมป์การเผา (50 จุด) ตามมาด้วยอ้อย (34 จุด) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไร่หมุนเวียน (15 จุด) ยังคงไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาการเผาในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พร้อมการกำหนดเป้าหมายในการลดการเผาแบบเคร่งครัด

สำหรับอ้อย ข้อมูลจากรายงานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ณ 15 ม.ค. 67 พบว่า สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ อยู่ที่ 27.03% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ยังคงห่างไกลจากมติ ครม. ที่ตั้งเป้าหมายว่าปีการผลิตนี้ สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ต้องลดลงน้อยกว่า 5% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด แม้จะได้เงินช่วยเหลือค่าตัดอ้อยสดหลายพันล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่ใช้ไม่ได้ผล หากหยุดจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อไหร่ การเผาจะกลับมา เสียดายเงินภาษีที่ถูกนำมาใช้แบบไม่ยั่งยืน การช่วยเหลือทำได้แต่ต้องช่วยเหลือแบบชั่วคราวและมีเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การปรับตัว เมื่อลดความช่วยเหลือแล้วในอนาคตเกษตรกรจะสามารถหยุดเผาได้ โรงงานน้ำตาลยังคงไม่ถูกปรับใดๆ จากการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ปัจจุบันปรับแต่เกษตรกรเพียงอย่างเดียว นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ปัญหาการเผาในไร่อ้อยยังไม่ลดลง

ควรงดกิจกรรมการเผาในช่วงนี้เพื่อลดความรุนแรงต่อสุขภาพนะครับ พรุ่งนี้ฝุ่นพิษน่าจะหนักต่อเนื่องหากไม่ลดการปล่อยฝุ่นพิษในทุกแหล่งกำเนิด รักษาสุขภาพนะครับทุกคน กลุ่มเสี่ยง เด็ก คนสูงวัย และสตรีมีครรภ์ ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้นะครับ อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้ก่อนออกจากบ้านและไม่ประมาทกับมัจจุราชมืดนะครับ? ดร.วิษณุ อรรถวานิช อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญติดตามการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โพสต์แสดงความเห็นและแจ้งเตือน

จับตาผลพิพากษาพรุ่งนี้ ?คดีฝุ่นเชียงใหม่?

?พรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567) เวลา: 10.00 น. ศาลปกครองเชียงใหม่จะอ่านคำพิพากษาคดีฝุ่นภาคเหนือ คืนปอดให้ประชาชน นะคะ จากที่เครือข่ายประชาชนภาคเหนือยื่นฟ้องเมื่อเมษายน 2566 ขอเชิญผู้ที่สนใจสามารถมาร่วมฟังได้ ศาลเปิดให้สาธารณะเข้าฟังได้? เครือข่ายแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเหนือเปิดเผย

คดีนี้สืบเนื่องจากเครือข่ายประชาชนภาคเหนือยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อเดือนเมษายน 2566 อันเนื่องมาจากการละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้สถานการณ์ฝุ่นทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ

?ตุลาการผู้แถลงคดีได้ให้ความเห็นว่าการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำ จึงควรยกฟ้องคดีนี้ โดยความเห็นสรุปย่อของตุลาการผู้แถลงคดีมีดังนี้

การฟ้องร้องเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 มีทั้งหมด 3 คดี คือ คดี ส. 1/2566 คดี ส. 2/2566 และคดี ส. 3/2566 ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดในทุกคดีเป็นประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับผลกระจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งประเด็นคำสั่งในคดี ส. 2/2566 มีผู้ถูกฟ้องคดีคนเดียวกันกับคดี ส. 3/2566 (นายกฯ และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ) ทั้งในคดีนี้ศาลได้พิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยล่าช้าต่อ พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ และ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายทั้งสอง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใดเพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่น และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

แม้ผู้ฟ้องคดีแม้ไม่ใช่คนเดียวกัน แต่เป็นผู้อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ เหมือนกันทั้ง 3 คดี และฟ้องในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในคดี ส. 2/2566 เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา PM2.5 ทั้งมีคำขอให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ จึงเป็นการฟ้องคดีเป็นคดีเพื่อสาธารณะประโยชน์ เมื่อเทียบเคียงกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คส. 41/2557 แล้ว คดีนี้จึงครบองค์ประกอบการฟ้องซ้ำ ตามข้อ 96 ของระเบียบศาลปกครองสูงสุด? ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เปิดเผยส่วนหนึ่งของคำแถลงจากตุลาการผู้แถลงคดีในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะนัดอ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:58


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger