#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย. 64) ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้มีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และกระบี่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต พังงา ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 - 14 พ.ย. 64 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคใต้ คาดว่าจะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันที่ 14 พ.ย. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อน โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 14 พ.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564)" ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย. 64) ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้มีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และกระบี่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต พังงา ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ถึงเวลาแล้วที่ขยะทางการแพทย์ หรือพลาสติกจะต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีขยะตกค้างในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับความต้องการ ใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก Yiming Peng และ Peipei Wu นักวิจัยจาก Nanjing University ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีขยะพลาสติกที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตกค้างในมหาสมุทร กว่า 46% ของขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีมาจากประเทศในเอเชีย เนื่องจากมีการใช้หน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก ตามด้วยประเทศแถบยุโรป 24% และทวีปอเมริกา 22% งานศึกษาชี้ว่ามีขยะพลาสติกจากการแพร่ระบาดโควิด?19 กว่า 25,900 ตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของรถบัสสองชั้นกว่า 2,000 คัน รั่วไหลไปสู่มหาสมุทร เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล ขยะพลาสติกที่ถูกจัดการไม่ถูกทางเหล่านี้คือขยะจากชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือ PPE ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หน้ากาก และอื่นๆ เนื่องจากขยะเหล่านี้มีมากเกินศักยภาพของประเทศจะจัดการ คาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ ขยะพลาสติก PPE ส่วนใหญ่จะจมและกองสุมอยู่ใต้ทะเล หรือไม่ก็แนวชายหาด ไม่ใช่แค่งานศึกษาชิ้นนี้ที่มองว่า "ขยะ" เป็นปัญหา แต่ทั้งนักวิจัยและนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกังวล กำลังเร่งศึกษาพัฒนาการตรวจจับการเดินทางของขยะทะเลด้วยดาวเทียม โดยคาดการณ์ว่ามีขยะพลาสติกมากถึง 10 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะพลาสติกปริมาณหนึ่งรถบรรทุกลงทะเลทุกนาที ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าขยะเหล่านี้จะลอยไปที่ไหนและจะไปจบอยู่ที่ใด สถาบันวิจัย Deltares ในเนเธอร์แลนด์ เปิด Atlantic Basin Facility สระน้ำขนาด 650 ตารางเมตร ที่มีเครื่องทำคลื่นใต้น้ำ เพื่อสร้างคลื่นน้ำลึกเสมือนจริง ให้กลุ่มนักวิจัยภายใต้ Open Space Innovation Platform (OSIP) ทำการทดลอง และพัฒนาวิธีใช้ดาวเทียมในการติดตามขยะพลาสติก โดยใช้ขยะหลากหลายชนิด เช่น ขวดน้ำ ถุง และก้นบุหรี่ ที่ถูกเก็บมาจากทะเลเพื่อเพิ่มความสมจริงในการศึกษาการกระจายตัวของขยะ และเริ่มจากการทดลองให้ขยะลอยไปโดยไม่มีคลื่น ก่อนจะค่อยๆเพิ่มความแรงของคลื่น กลุ่มนักวิจัยจากสกอตแลนด์ ทดลองวิธีสำรวจจากระยะไกล (remote sensing) ในขณะที่กลุ่มจากสเปนเลือกใช้การตรวจจับสัญญาณการสะท้อน (GNSS reflectometry) และกลุ่มวิจัยร่วมจากแคนาดาและเนเธอร์แลนด์เลือกใช้วิธีการคำนวณทางฟิสิกส์แทน Peter de Maagt วิศวกรที่ดูแลโครงการ บอกว่า การทดลองดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของการประมวลข้อมูลที่ได้มา ซึ่งเบื้องต้นมีแนวโน้มที่ดีทีเดียว แต่ยังต้องทำการวิเคราะห์ผลเพิ่มเติมอีก ซึ่งก็คาดหวังว่า ผลการทดลองน่าจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อาจจะถึงเวลาแล้วที่ไม่ว่าขยะทางการแพทย์ หรือพลาสติกจะต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อพิทักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เลวร้ายมากไปกว่านี้. https://www.thairath.co.th/news/local/2240750
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
สื่อนอกมองไทย : โรงเรียนนอกกะลา (บ้านลุงสอนหลาน) โรงเรียนนอกกะลา (บ้านลุงสอนหลาน) สถานศึกษา "จากชีวิตจริง" เพื่อการอนุรักษ์อาชีพประมงพื้นบ้านของไทย การมุ่งหาอาชีพที่ไม่มีชื่อในตำรา หรือสถาบันการศึกษาของประเทศไทย กลุ่มชาวประมงในเขตเมือง ที่บ้านคลองเสาธง ตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนนอกกะลาขึ้น เพื่อสอนอาชีพประมงพื้นบ้านให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อหาประสบการณ์ใหม่โดยตรง ให้เป็นอีกทางเลือกของการทำงาน นอกจากภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม และเป็นการอนุรักษ์อาชีพการประมงพื้นบ้านของชุมชนไทย คุณบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนอกกะลา กล่าวกับสำนักข่าวเอ24 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่า วิธีการศึกษาในโรงเรียนนอกกะลา จะมีความพิเศษและไม่มีในหนังสือเรียน แต่ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์จริง ของการทำงานในทะเล กล่าวว่า มีอาสาสมัคร 30 คน ทำงานในโรงเรียนนอกกะลา คุณบรรเจิดกล่าวเสริมอีกว่า ผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่ามีกิจกรรมที่ต้องการกลุ่มนักเรียนวัยนี้. https://www.dailynews.co.th/news/470126/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
เพนกวินแอนตาร์กติกาหลงมาไกลถึงนิวซีแลนด์ ระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ภาพจากเฟซบุ๊กของแฮร์รี่ ซิงห์ เพนกวินแอนตาร์กติกาหลงมาไกลถึงนิวซีแลนด์ ระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า พบเพนกวินอาเดลีซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา บนชายหาดแห่งหนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีระยะทางห่างกันกว่า 3,000 กิโลเมตร ผู้พบเพนกวินตัวนี้คือ นายแฮร์รี ซิงห์ และภรรยา โดยพบที่เมืองเบิร์ดลิงส์ แฟลต ทางใต้ของเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในตอนแรกนายซิงห์คิดว่า เพนกวินเป็นตุ๊กตา แต่เมื่อมันเริ่มขยับหัว จึงพบว่ามันเป็นเพนกวินจริงๆ โดยมันอยู่นิ่งไม่ขยับเลยราว 1 ชั่วโมงและดูเหนื่อยอ่อนมากๆ ก่อนที่นายซิงห์จะตัดสินใจโทรศัพท์หาหน่วยช่วยชีวิตเพนกวิน เพราะกลัวว่าเพนกวินจะไม่กลับลงไปในน้ำและกลัวว่ามันจะกลายเป็นอาหารของสุนัขหรือแมว นอกจากนี้เขายังได้ติดต่อไปยังนายโทมัส สแตร็ค ผู้ดูแลฟื้นฟูเพนกวินบนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์มานานกว่า 10 ปีอีกด้วย นายสแตร็คตกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าเพนกวินที่นายสแตร็คพบเป็นเพนกวินอาเดลี ซึ่งเป็นสายพันธุ์หายากและมีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น โดยนายสแตร็คพร้อมด้วยสัตวแพทย์อีกคนได้ช่วยเหลือเพนกวินตัวดังกล่าวในเย็นวันเดียวกัน จากการตรวจเลือดเจ้าเพนกวิน 'พินกู' ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งชื่อให้ ก็พบว่า เพนกวินตัวนี้มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และมีอาการขาดน้ำ แต่ตอนนี้ได้ให้อาหารเหลวผ่านสายยางเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตจะมีการปล่อยเพนกวินกลับบ้านที่คาบสมุทรแบงค์ในนิวซีแลนด์ต่อไป ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ที่พบเพนกวินพันธุ์อาเดลีบริเวณชายฝั่ง โดย 2 ตัวก่อนหน้านี้พบเมื่อปี 1962 และ 1993 https://www.matichon.co.th/foreign/news_3038848
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
มนุษย์ทำให้สัตว์ทะเลไม่เป็นไปตาม "กฎกำลัง" สัดส่วนขนาดต่อจำนวนประชากรผิดธรรมชาติ ฉลามแนวปะการังเข้าโจมตีฝูงปลาจนแหวกออกเป็นทาง ที่ชายหาดของเกาะเฮรอนในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ................ ที่มาของภาพ,SCOTT CARR / GETTY IMAGES การจัดระเบียบในธรรมชาติด้วยหลักคณิตศาสตร์นั้น สามารถพบได้ทั่วไปในระบบที่ภายนอกดูเหมือนจะปั่นป่วนวุ่นวายไร้กฎเกณฑ์ควบคุม แต่ที่จริงแล้วกลับมีแบบแผนทางการคำนวณบางอย่างกำกับไว้ โดยแบบแผนนี้มีความเป็นสากล สามารถพบได้ในทุกหนแห่ง ตั้งแต่โครงสร้างของผลึกแร่ธาตุไปจนถึงประชากรสัตว์น้ำของระบบนิเวศใต้มหาสมุทร ล่าสุดผลวิจัยของทีมนักนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances พบว่า กิจกรรมของมนุษย์ในรอบเกือบสองศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้แบบแผนตามธรรมชาติที่ขนาดร่างกายของสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีความสัมพันธ์เป็นสัดส่วนที่แน่นอนต่อจำนวนประชากรของมัน บิดเบี้ยวเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะสมดุลตามกฎกำลัง (power law) ที่เคยเป็นมาโดยตลอดก่อนยุคอุตสาหกรรม กฎกำลังนั้นแสดงความสัมพันธ์เชิงฟังก์ชันระหว่างตัวเลข 2 จำนวน โดยความเปลี่ยนแปลงในจำนวนหนึ่ง จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนตามการยกกำลังในอีกจำนวนหนึ่งด้วย กฎกำลังที่เป็นแบบแผนในธรรมชาติของสัตว์ทะเลนั้นเรียกว่า "การจัดเรียงลำดับของเชลดอน" (Sheldon's spectrum) โดยกฎนี้ชี้ว่าขนาดตัวหรือมวลกาย (body mass) ของสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง จะสัมพันธ์เป็นสัดส่วนยกกำลังกับจำนวนประชากรของพวกมัน สัตว์เล็กที่มีมวลกายน้อยเช่นแพลงก์ตอนจะมีประชากรจำนวนมหาศาล ในขณะที่สัตว์ขนาดใหญ่อย่างวาฬจะมีจำนวนน้อยนิด แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ภาวะสมดุลนี้จะทำให้มวลรวมของสัตว์ทะเลในแต่ละอันดับขนาด (order of magnitude) มีอยู่เท่ากัน หากคิดคำนวณจากมหาสมุทรทั้งหมดของโลก ทีมผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างคริลล์ (krill) สัตว์ตัวจิ๋วที่คล้ายกุ้งและเคยว่า มีขนาดเล็กกว่าปลาทูน่าถึง 12 อันดับขนาด แต่ก็จะมีจำนวนประชากรมากกว่าปลาทูน่า 12 อันดับขนาด หรือมากกว่าราวหนึ่งพันล้านเท่าด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าอัศจรรย์ว่ามวลรวมของคริลล์และมวลรวมของปลาทูน่า รวมทั้งมวลรวมของสัตว์ทะเลแต่ละขนาดในโลกนี้ จะมีอยู่เท่ากันหมดที่ราว 1 กิกะตัน พอดิบพอดี แผนภูมิแสดงสัดส่วนของมวลกายต่อจำนวนประชากรสัตว์ทะเลแต่ละชนิด ซึ่งเป็นไปตามกฎกำลังทางคณิตศาสตร์ ................. ที่มาของภาพ,IAN HATTON ET AL. ดร. เอียน แฮตตัน นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยปกครองตนเองบาร์เซโลนา (UAB) ของสเปน และนักวิจัยสังกัดสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์ (MIS) ของเยอรมนี ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้บอกว่า ได้เปรียบเทียบข้อมูลของสัตว์ทะเลหลากชนิด ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่โตมโหฬารที่สุด 12 กลุ่ม โดยใช้ตัวอย่างที่เก็บจากน้ำทะเลกว่า 200,000 ตัวอย่าง จาก 33,000 ตำแหน่งทั่วโลก รวมทั้งข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ก่อนปี 1850 มาวิเคราะห์ร่วมกัน ผลปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กิจกรรมของมนุษย์เช่นการทำอุตสาหกรรมประมงอย่างหนัก ได้ทำให้ชีวมวล (biomass) หรือมวลจากร่างกายของปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ลดลงไปจากที่ควรจะเป็นตามกฎกำลังถึง 60% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ซึ่งมีมวลกายคิดเป็น 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลทั้งหมด "จำนวนประชากรวาฬนั้นลดลงถึง 90% ทั้งที่การบริโภคปลาทะเลนั้นต่ำกว่า 3% ของปริมาณอาหารทั้งปีที่คนกินเข้าไปด้วยซ้ำ สิ่งนี้บ่งชี้ถึงการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ" ทีมผู้วิจัยกล่าว "มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนในธรรมชาติและการไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศ เพราะการเข้ามาเล่นบทผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทรเสียเอง อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าการค้นพบนี้จะนำไปสู่การประเมินและคำนวณตัวเลขเป้าหมาย ซึ่งจะตัดลดการทำประมงเกินพิกัดได้อย่างจริงจัง และช่วยแก้ปัญหาสมดุลระบบนิเวศในมหาสมุทรนี้ได้" https://www.bbc.com/thai/international-59264618
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
น้ำท่วม : ชายผู้ออกแบบเมืองในจีนให้เป็น "ฟองน้ำยักษ์" รับมือน้ำท่วม มณฑลเจ้อเจียง บ้านเกิดของ ศ.อวี๋ หลังปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ตามแนวคิด "ฟองน้ำยักษ์" อวี๋ ข่งเจียน ยังจำเหตุการณ์ตอนที่เขาเกือบจมน้ำที่บ้านเกิดของเขาได้ดี ตอนนั้นเขาอายุ 10 ขวบ หลังจากฝนตกหนักและน้ำทะลักจากแม่น้ำเข้ามาในที่นาที่หมู่บ้านเขา อยู่ดี ๆ แผ่นดินก็ทรุดลง ร่างเขาถูกพัดไปกับกระแสน้ำท่วม ยังดีที่ต้นหลิวและต้นกกที่ปลูกริมน้ำช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไว้ได้ เขาบอกกับบีบีซีว่า ถ้าตลิ่งริมแม่น้ำถูกทำให้ราบเรียบด้วยคอนกรีตเหมือนปัจจุบัน เขาคงจมน้ำตายไปแล้ว ประสบการณ์ครั้งนั้นส่งผลต่อตัวเขาอย่างมากและก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายเมืองของจีนด้วย อวี๋ ข่งเจียน กลายมาเป็นนักออกแบบชุมชนเมืองคนสำคัญของจีน และเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมอันโด่งดังของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาเป็นนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดการจัดการน้ำท่วมที่นำไปใช้ในหลายสิบเมืองของจีน เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็น "เมืองฟองน้ำ" จะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ "อย่าสู้กับน้ำ" สวนในเมืองเมืองเทียนจินซึ่งปรับเอาแนวคิดแบบ "เมืองฟองน้ำ" มาใช้ .............. ที่มาของภาพ,TURENSCAPE ความคิดหลักของ ศ.อวี๋ คือให้เราโอบรับน้ำแทนที่จะไปรู้สึกเกรงกลัวมัน วิธีการจัดการน้ำแบบปกติประกอบไปด้วยการสร้างท่อหรือที่ระบายเพื่อถ่ายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด หรือไม่ก็เสริมความแข็งแกร่งของริมฝั่งแม่น้ำด้วยคอนกรีตเพื่อให้น้ำไม่ทะลักออกมา แต่เมืองฟองน้ำเป็นการใช้วิธีตรงกันข้ามโดยใช้แบ่งกระบวนการออกเป็นสามขั้นตอนด้วยกัน หนึ่ง สร้างบ่อน้ำหลายจุดเพื่อให้บริเวณต้นน้ำเหมือนมีฟองน้ำที่คอยดูดซับน้ำเอาไว้ สอง แทนที่จะระบายน้ำเป็นเส้นตรงให้เร็วที่สุด ให้สร้างคลองหรือแม่น้ำระบายน้ำที่คดเคี้ยว และปลูกพืชริมชายฝั่งเพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ เหมือนกับตอนที่เขารอดชีวิตมาได้เมื่อตอนเด็ก ขั้นตอนนี้ยังทำให้เกิดผลพลอยได้คือทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และที่อยู่อาศัยของสัตว์เพิ่มขึ้น สาม พาน้ำไปปล่อยที่ปลายทางซึ่งอาจจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล โดย ศ.อวี๋แนะนำให้กันพื้นที่ลุ่มเหล่านี้ไว้สำหรับรองรับน้ำ ไม่ควรสร้างสิ่งก่อสร้างบริเวณดังกล่าว เพราะว่า "คุณไม่สามารถสู้กับน้ำได้ คุณต้องปล่อยมันไป" ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ดร.นีร์มาล คิชนานี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า แม้มีการนำวิธีคิดที่คล้ายกันไปปรับใช้กับที่อื่น แต่เมืองฟองน้ำโดดเด่นตรงที่การให้กระบวนการตามธรรมชาติเป็นตัวแก้ปัญหาในเมืองนั้น ๆ ศ.อวี๋ ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากเทคนิคการทำไร่แบบโบราณ อาทิ การกักเก็บน้ำฝนในบ่อน้ำ ที่บ้านเกิดของเขาที่มณฑลเจ้อเจียงซึ่งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันออกของจีน ไอเดียเหล่านี้ทำให้บริษัทภูมิสถาปัตย์ Turenscape ของ ศ.อวี๋ ชนะมาหลายรางวัลแล้ว "ไม่มีใครจมน้ำ แม้จะในหน้ามรสุม เราใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เราปรับตัวเข้ากับน้ำเวลาเกิดน้ำท่วม" ศ.อวี๋ เล่า เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดไปกรุงปักกิ่งตอนอายุ 17 ปี และเข้าเรียนด้านภูมิสถาปัตย์ในเวลาต่อมา ก่อนที่จะไปเรียนด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เมื่อเขาเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1997 จีนกำลังอยู่ในยุคที่ผู้คนเร่งสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ กันอย่างบ้าคลั่ง เขาเริ่มพยายามชักนำให้คนกลับมาใช้ปรัชญาออกแบบที่อิงแนวคิดดั้งเดิมของจีน เพราะไม่ชอบสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่ "ทึมเทาและไร้ชีวิตชีวา" ศ.อวี๋ บอกว่า เทคนิคด้านการออกแบบเมืองที่พัฒนาก้าวหน้าในประเทศยุโรปไม่สามารถปรับมาใช้กับเมืองในภูมิภาคนี้ที่ต้องเจอกับภูมิอากาศแบบมรสุม นอกจากเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ "เขื่อนสามผา" (ซานเสียต้าป้า - Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของจีนแล้ว การที่เขาเรียนจบและได้รับเสียงชื่นชมจากประเทศตะวันตกทำให้เขาโดนกล่าวหาว่าเป็นคนไม่รักชาติ เป็น "สายลับของชาติตะวันตก" "ผมไม่ใช่ชาวตะวันตก ผมเป็นนักอนุรักษนิยมแบบจีน" ศ.อวี๋ กล่าวพร้อมกับหัวเราะออกมา เขาบอกว่าชาวจีนมีประสบกาณ์ด้านนี้มาเป็นพัน ๆ ปี และพวกเขาต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแบบจีน แต่แล้วเขาก็เอาชนะใจทางการได้สำเร็จ ในปี 2015 หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ รัฐบาลจีนประกาศริเริ่มโครงการมูลค่าหลายล้านหยวนที่ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะทำให้ 80% ของพื้นที่เทศบาลในจีนมีองค์ประกอบของเมืองฟองน้ำ และนำน้ำฝนกลับมาใช้ให้ได้ 70% โครงการซึ่งออกแบบโดยบริษัท Turenscape ในเมืองไห่โข่ว มณฑลไห่หนาน ................ ที่มาของภาพ,TURENSCAPE แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าเมืองฟองน้ำอาจรับมือได้แค่พายุฝนที่ไม่รุนแรงมากเท่านั้น ขณะที่สภาพอากาศทั่วโลกกำลังรุนแรงขึ้นอย่างสุดขั้ว เฟธ ชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำท่วมจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม หนิงโป ในจีน บอกว่า ต้องใช้โครงสร้างอย่างท่อและถังเก็บน้ำในการช่วยระบายน้ำควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ เขาบอกว่าในเมืองที่มีผู้คนแออัดและที่ดินมีราคาสูง การจะหาพื้นที่ในการทำตามแนวคิดเมืองฟองน้ำก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จีนจะลงเงินไปหลายล้านหยวน แต่ก็ยังเจอกับวิกฤตน้ำท่วมหนักอยู่ สหประชาชาติประเมินว่า น้ำท่วมหลายระลอกในช่วงฤดูร้อนที่แล้ว ทำให้ผู้คนในจีนเสียชีวิตไปเกือบ 400 ราย ส่งผลกระทบต่อคน 14.3 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ ศ.อวี๋ ยืนยันว่าภูมิปัญญาแบบจีนไม่ผิดและใช้ได้ผลแน่นอน เขายกตัวอย่างเหตุน้ำท่วมหนักที่เมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนานเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่าเป็นเพราะบ่อน้ำในเมืองถูกถมไปและที่ต้นน้ำก็ไม่มีช่องทางให้ระบายน้ำมากพอเมื่อฝนเริ่มตก นอกจากนี้ เขาบอกว่าช่องทางระบายน้ำจากแม่น้ำที่เป็นคอนกรีตทำให้น้ำไหลเร็ว และเมืองก็ดันไปสร้างสถานที่สำคัญ ๆ อย่างโรงพยาบาลบริเวณที่ลุ่มน้ำด้วย ศ.อวี๋ เสริมว่า นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างบังกลาเทศ มาเลยเซีย อินโดนีเซีย ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ และประเทศอย่างสิงคโปร์ สหรัฐฯ และรัสเซีย ก็ได้เริ่มโครงการที่มีแนวคิดคล้ายกันแล้ว เขาบอกว่า หากทำตามแนวคิดนี้อย่างถูกต้อง เมืองต่าง ๆ จะใช้ทุนในการสร้างเพียง 1 ใน 4 ของเงินที่ใช้ลงไปกับวิธีรับมือน้ำท่วมที่ทำกันอยู่ เขายกตัวอย่างว่า การปลูกสิ่งก่อสร้างบนที่สูงและกันพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ให้น้ำท่วม ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการไปสร้างระบบท่อและถังกักเก็บน้ำเสียอีก ศ.อวี๋ บอกว่า บริษัทของเขากำลังตั้งเป้าแก้ไขโครงสร้างในการจัดการกับน้ำท่วมของเมืองต่าง ๆ ที่ลงเงินกันไปหลายล้าน ทั้งที่จริง ๆ แล้วสามารถประหยัดงบประมาณก้อนโตนั้นได้หากออกแบบให้เมืองเป็นเมืองฟองน้ำตั้งแต่แรก เขาบอกว่าการใช้โครงสร้างคอนกรีตจัดการกับปัญหาน้ำท่วมเป็นเหมือนการ "กินยาพิษเพื่อดับกระหายน้ำ ...เราต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตขอเราเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ หากพวกเขาไม่ทำตามวิธีของผม พวกเขาจะต้องล้มเหลว" https://www.bbc.com/thai/international-59253576
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|