#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
หายาก ชาวประมงไต้หวันจับฉลามปีศาจ ปลาโบราณจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภาพจาก Taiwan Ocean Artistic Museum ชาวประมงไต้หวันจับได้ปลาตัวใหญ่ หน้าตาสุดแปลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เป็นปลาฉลามปีศาจ ที่ปกติแล้วอยู่ใต้น้ำลึก เป็นปลาสายพันธุ์โบราณตั้งแต่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ข้างในท้องยังมีลูกปลาอยู่ 6 ตัว เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ข่าวไต้หวัน นิวส์ รายงานว่า ชาวประมงในไต้หวันจับได้ปลาตัวใหญ่ มีลักษณะลำตัวยาว วัดได้ 4.7 เมตร น้ำหนัก 800 กิโลกรัม โดยบอกว่า อวนของเรือประมงจับปลาตัวนี้ขึ้นมาได้จากบริเวณนอกชายฝั่งของท่าเรือหนานฟาง ในเมืองอี้หลาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาบอกว่า มีอาชีพหาปลามานานหลายปี แต่ไม่เคยเห็นปลาหน้าตาสุดแปลกแบบนี้มาก่อน จึงได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญว่ามันคือปลาอะไรกันแน่ โดยนักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะทางทะเลของไต้หวัน ได้เข้าไปตรวจสอบซากปลา แล้วบอกว่า นี่คือ "ฉลามก็อบลิน" (Goblin Shark) หรือที่เรียกกันว่าฉลามปีศาจ ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกับปลาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 125 ล้านปีก่อน ตามธรรมชาติของมันจะอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก และนี่เป็นฉลามปีศาจตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจับได้ในไต้หวัน นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ เมื่อผ่าท้องมันดูพบว่ามีลูกปลาอยู่ในนั้น 6 ตัว นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตอนแรกชาวประมงบอกว่าจะขายปลาตัวนี้ให้กับร้านอาหาร แต่ล่าสุดก็ตัดสินใจยอมขายให้กับทางพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นประโยชน์ด้านการศึกษาอนุรักษ์สัตว์ทะเลต่อไป ซึ่งทางนักวิทยาศาสตร์จะทำการผ่าซากเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและจะนำออกแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักอนุรักษ์ทางทะเลได้รณรงค์อย่างหนักเรื่องการทำประมงแบบลากอวนติดก้นทะเล ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศใต้ทะเล และเป็นการทำลายที่อยู่ของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2702309
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ไขปริศนาเส้นทางการค้าในอดีตของจีน จากวัตถุโบราณในซากเรืออายุกว่า 700 ปี งานเก็บกู้วัตถุโบราณนี้ใช้เรือดำน้ำแบบมีคนขับ ที่ชื่อ "นักรบแห่งทะเลลึก" (Deep Sea Warrior) วัตถุโบราณที่นำขึ้นมาแล้ว จะถูกทำความสะอาดและตรวจสอบต่อไป นักโบราณคดีเก็บกู้วัตถุโบราณกว่า 100 ชิ้นจากซากเรือ 2 ลําที่พบในทะเลจีนใต้เมื่อปีที่ผ่านมา คาดว่าซากเรือโบราณอาจเป็นเรือในยุคกลางราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644)? และน่าจะมีวัตถุโบราณนับ 100,000 ชิ้น ที่จมอยู่ในระดับความลึกประมาณ 1,500 เมตร? ศูนย์วิจัยทางโบราณคดีของ NCHA ระบุว่า มีการเก็บกู้วัตถุโบราณกว่า 70 ชิ้นขึ้นมาจากซากเรือหมายเลข 1 และกว่า 20 ชิ้นจากซากเรือหมายเลข 2 วัตถุโบราณที่พบมีทั้งจาน ชาม และเครื่องเคลือบลายครามสีสันสวยงาม งานเก็บกู้วัตถุโบราณนี้ใช้เรือดำน้ำแบบมีคนขับ ที่ชื่อ "นักรบแห่งทะเลลึก" (Deep Sea Warrior)? วัตถุโบราณที่นำขึ้นมาแล้ว จะถูกทำความสะอาดและตรวจสอบต่อไป? นักโบราณคดีหวังว่า การค้นพบทางโบราณคดีใต้น้ำนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการค้าเซรามิก เส้นทางสายไหมทางทะเล และการค้ากับต่างประเทศในอดีต. https://www.dailynews.co.th/news/2444591/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
โครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ครั้งแรกของเมืองไทย "พลิกบทบาทขาแท่นปิโตรเลียม" สู่บ้านปลาหลังใหม่ใต้ทะเล หากผืนป่าเปรียบเสมือนศูนย์กลางของระบบนิเวศบนผืนดิน ปะการังก็เรียกได้ว่าเป็นระบบนิเวศที่มีค่าที่สุดในผืนน้ำเสมือน "ผืนป่าแห่งท้องทะเล" โดยแม้จะครอบคลุมเพียง 0.1% ของพื้นมหาสมุทร แต่กลับเป็นบ้านของสัตว์ทะเลราวหนึ่งในสี่ และมีส่วนช่วยรักษาสภาพสมดุลธรรมชาติของชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ผลจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์เงียบใต้ทะเลขึ้น เมื่อบ้านปลาในธรรมชาติลดน้อยลงไปได้สร้างผลกระทบเป็นห่วงโซ่ โดยประชากรกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกต่างอาศัยแนวปะการังเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลัก ทั้งหล่อเลี้ยงชาวประมงจากรุ่นสู่รุ่นและการท่องเที่ยว แนวคิดการสร้างแหล่งปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ท้องทะเลจึงได้ริเริ่มขึ้น โดยประเทศไทยได้เริ่มศึกษาพัฒนาแหล่งปะการังเทียมมากกว่า 20 ปีจากวัสดุที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรม "สร้างบ้านปลา" ที่โดดเด่น และเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นที่ประจักษ์คือ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเพื่อการจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to-Reefs) บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งแรกของประเทศไทย เปิดผลสำเร็จ 2 ปี เส้นทางขาแท่นหลุมปิโตรเลียม สู่ชีวิตใหม่ใต้ท้องทะเล แม้การนำขาแท่นหลุมปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียมจะไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 40 ปี รวมถึงประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนอกชายฝั่งฟลอริด้า อ่าวเม็กซิโก บรูไน และมาเลเซีย แต่โครงการดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้นำองค์ความรู้จากต่างประเทศมาพัฒนาและปฏิบัติจริง ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัทพลังงานชั้นนำของโลก ได้บุกเบิกแนวคิดของโครงการฯ และร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมและผู้ประกอบการปิโตรเลียมรายอื่นๆ ในอ่าวไทย ผ่านการนำโครงสร้างเหล็กจำลองวัสดุเดียวกับขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปวางไว้ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการศึกษาทดลองอย่างจริงจังร่วมกัน โดยได้ผลประจักษ์ของประชากรปลาและสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินงานจริง ทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กองทัพเรือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงเกิดเป็นโครงการ นำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (โครงการนำร่องฯ) โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโครงการฯ ร่วมกับ เชฟรอน ผู้ส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 7 ขาแท่น ให้แก่ ทช. ในปี 2563 เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจัดวางและงบประมาณการดำเนินโครงการฯ พร้อมด้วยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ จนนำมาสู่ผลสำเร็จจากการจัดวางขาแท่นปิโตรเลียมตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ในวันนี้ "จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปจัดการบนฝั่ง? นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เล่าถึงที่มาของโครงการนำร่องฯ ว่า ?อ่าวไทยเปรียบเสมือนบ้านของเรา โดยตลอดกว่า 60 ปีของการดำเนินธุรกิจของเชฟรอนในประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และได้วัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาตลอด เราสังเกตถึงความอุดมสมบูรณ์และการเติบโตของประชากรปลาในบริเวณ แท่นผลิตปิโตรเลียม โดยมีปลาหลากหลายชนิด รวมถึงฉลามวาฬเข้ามาแวะเวียนเสมอ โดยนอกจากบทบาทขณะที่อยู่กลางอ่าวไทยในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศแล้ว ขาแท่นหลุมปิโตรเลียมยังมีอีกหนึ่งบทบาทแฝงซึ่งทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่ตลอด จึงเกิดแนวคิดต่อยอดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเลรวมถึงประชากรปลาผ่านการพลิกบทบาทจากปลายทางของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วสู่บ้านปลาแห่งใหม่ โดยแม้จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในฐานะบริษัทพลังงานที่มีกิจการทั่วโลก เราจึงสามารถนำโครงการ Rigs-to-Reefs ที่เชฟรอนเคยทำจากต่างประเทศมาปรับใช้สำหรับโครงการนี้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การต่อยอดโครงการในประเทศไทย" จากทฤษฎีหลักการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีสิ่งของที่ใหญ่พอสมควรและอยู่นิ่งลงไปวาง แนวโน้มคือมีสิ่งมีชีวิตมาเกาะติด พร้อมสัตว์ทะเลเข้ามาอาศัยอยู่ โดยขาแท่นหลุ่มปิโตรเลียมที่นำไปจัดวางเป็นปะการังเทียมนั้นอยู่กับทะเลมายาวนานกว่า 30 ปี และเรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเลไปเสียแล้ว โดยจากลักษณะที่ซับซ้อน และวัสดุที่ทำจากเหล็กกล้าและมีพื้นที่ผิวแข็ง ทำให้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสัตว์ทะเลเป็นอย่างดี โดยมีการวางแผนงานและนำกระบวนการจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในโครงการ ซึ่งส่วนของขาแท่นดังกล่าวไม่เคยสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน และเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูอ่าวโฉลกหลำกับความหวังใหม่ของธรรมชาติและชุมชน โครงการดังกล่าวได้จุดประกายความหวังให้แก่ทุกชีวิตในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ ด้วยความคาดหวังที่จะเห็นความ อุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนและเป็นบ้านใหม่ให้สัตว์ทะเลนานาชนิด โดยหลังจากจัดวางแท่นปะการังเทียมเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงเดือนตุลาคม 2565 เรียกได้ว่าความคาดหวังดังกล่าวเริ่มกลายเป็นความจริง โดยอ่าวโฉลกหลำบริเวณทางเหนือของเกาะพะงัน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของโครงการนำร่อง เนื่องจากมีกายภาพที่เหมาะสม ทั้งความอุดมสมบูรณ์สำหรับสัตว์ทะเล ไปจนถึงเส้นทางที่เหมาะสมต่อการขนย้าย และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ รศ.ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ถึงความสำเร็จของโครงการฯ ว่า "จากการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดพบว่าผลสำเร็จของโครงการฯ ออกมาในเชิงบวกทั้งมิติของธรรมชาติ และมิติของมนุษย์ โดยเราพบว่าคุณภาพน้ำทะเลและคุณภาพตะกอนพื้นท้องทะเลในบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพบแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ส่งผลให้ความหลากหลายของปลาเพิ่มขึ้นจาก 15 ชนิด เป็น 36 ชนิด ซึ่งแม้ความหนาแน่นของประชากรปลาในบริเวณกองปะการังเทียมจะยังไม่เทียบเท่าแนวปะการังธรรมชาติ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือมวลชีวภาพของปลาในด้านขนาดและน้ำหนักจะมีมากกว่า โดยปลาที่สำรวจพบส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาหางแข็ง ปลากล้วย ปลาข้างเหลือง และยังพบปลาที่เคยหายไปจากพื้นที่ได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ปะการังเทียม นอกจากนี้เรายังพบการปกคลุมของสิ่งมีชีวิตเกาะติด โดยมีปะการังดำเป็นกลุ่มเด่นอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าแนวปะการังธรรมชาติ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชาวประมงในพื้นที่ในอนาคต" ทางด้านชาวบ้านในชุมชน ต่างมีเสียงตอบรับในเชิงบวก เนื่องจากโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนความหวังในการ หล่อเลี้ยงอาชีพของคนในชุมชนทั้งในด้านการประมงและการท่องเที่ยวในอนาคต โดยนายพี พัฒนศิริ หรือพี่จาว เจ้าของร้าน Sunset Walk ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เกาะพะงันกล่าวว่า ?การมีบ้านปลาเพิ่มมากขึ้นถือเป็นความฝันของชาวเกาะมาตั้งแต่ได้ยินโครงการนี้ครั้งแรก เมื่อก่อนที่บริเวณอ่าวเราก็ใช้วิธีสร้างปะการังเทียมเช่นเดียวกันแต่เป็นแท่งปูนบ้าง แท่งสี่เหลี่ยมบ้าง แต่พอเป็นโครงการ Rigs-to-Reefs นั้น ต่างจากบ้านปลาหลังเล็กๆ ที่เราเคยเอาไปวางกันเอง เพราะการเอาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 7 แท่นไปวางเรียกได้ว่ากลายเป็นอาณาจักรปลาได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าปลาหลายชนิดจะต้องแวะไปที่นั่นตั้งแต่นักล่าไปจนถึงผู้อยู่อาศัยและปลาสวยงาม แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปเห็นก็คิดว่าเป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่มากและก็เป็นเรื่องที่ส่งผลประโยชน์ให้ชุมชนได้ ซึ่งตอนนี้ก็เหลือแต่การจัดสรรการใช้ประโยชน์ให้เกิดผลสูงสุดทั้งกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม? "เราเห็นความแตกต่างระหว่างก่อนมีแท่นกับหลังทำโครงการฯ ซึ่งจากอาชีพหลักของเราที่เป็นชาวประมงอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เราไม่ต้องออกไปจับปลาไกลเกินไป และมีกลุ่มปลาเศรษฐกิจอยู่เยอะขึ้น ซึ่งปลาบางชนิดที่แต่ก่อนไม่เคยมีมาก็เริ่มมีเข้ามามากขึ้น" นายคำนึง สิงหนาท หรือพี่ยุ่ง ชาวประมงในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำกล่าวเสริม ถอดบทเรียน Rigs to Reefs แห่งแรกในไทย สู่องค์ความรู้ใหม่ของประเทศ นอกจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวแล้ว แต่การรับฟังเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการในทุกย่างก้าว โดยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงการกำกับดูแลของภาครัฐว่า "เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์และสำรวจโครงการฯ อย่างแม่นยำสำหรับการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในอนาคต ทำให้เราจำเป็นต้องออกมาตรการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครองก่อนในช่วง 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นเรามีแผนที่จะเปิดให้พื้นที่ส่วนนี้สามารถทำประมงโดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คันเบ็ด รวมถึงเปิดให้เป็นจุดดำน้ำสำคัญแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเรามองว่ามีความสวยงามทัดเทียมกับจุดดำน้ำที่เกิดจากธรรมชาติ โดยหากผลสำรวจและเก็บข้อมูล รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับการรับรองจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าเป็นที่น่าพอใจ และให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะตั้งเป้าแผนงานในการต่อยอดในพื้นที่อื่นต่อไป" จากจุดเริ่มต้นของโครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ที่ได้ศึกษาแนวทางตลอดกว่าทศวรรษจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ ทำให้วันนี้เราได้เห็นความสำเร็จแรกในประเทศไทยในการพลิกบทบาทขาแท่นหลุม ผลิตปิโตรเลียมสู่บ้านปลาหลังใหม่ใต้ท้องทะเล โดยมากกว่าผลสำเร็จของโครงการ คือ "ความหวังใหม่" ของประเทศไทยในการคืนชีวิตให้ผืนป่าแห่งท้องทะเลสีครามอีกครั้ง ดังเช่นที่ได้รับขนานนามว่าเป็นทะเลมรดกของโลก โดยโครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ผืนน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของทุกชีวิตผ่านนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของโลกนี้ให้สวยงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000054954
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ซีมีโอสปาฟา-กรมศิลป์-ยูเนสโก อบรมอนุรักษ์ด้านโบราณคดีใต้น้ำในเซาท์อีสเอเชีย ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรี ศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอสปาฟา) กรมศิลปากร ยูเนสโก และศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ ณ เมืองซาดาร์ (ICUA) ประกาศความร่วมมือจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรใหม่ เน้นสร้างความแข็งแกร่ง ด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การฝึกอบรมครั้งนี้มีระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในหัวข้อ ?South-East Asian Sub-regional Introductory Course on Conservation and Restoration of Underwater Archaeological Finds? หลักสูตรเบื้องต้นด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันที่ 19-29 มิถุนายน ที่กรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี และ จ.จันทบุรี นับเป็นการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ และบูรณะโบราณวัตถุครั้งแรกในภูมิภาค ที่ครอบคลุมวัสดุหลากหลายประเภทซึ่งมักพบในแหล่งมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสปาฟา กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ ซีมีโอสปาฟา กรมศิลปากร และยูเนสโก จะพัฒนาการอนุรักษ์และบูรณะ มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ โดยบูรณาการความรู้ความชำนาญ และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน รวมทั้ง ได้รับความอนุเคราะห์ ด้านองค์ความรู้ และทรัพยากรจำเป็นอื่นๆ จากศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ (ศูนย์นานาชาติประเภท 2 ที่จัดตั้งขึ้นด้วยความอุปถัมภ์จากยูเนสโก) ที่เมืองซาดาร์ สาธารณรัฐโครเอเชีย หน่วยงานสำคัญทั้ง 4 แห่งนี้ มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพัฒนาศักยภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้พร้อมต่อการดำเนินงานเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป "เราตั้งความหวังไว้ว่า การฝึกอบรมนี้จะช่วยสร้างบุคลากรรุ่นใหม่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความรู้ความชำนาญวิชาชีพด้านโบราณคดีใต้น้ำ และด้านอนุรักษ์ การฝึกอบรมครั้งนี้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาองค์การยูเนสโกว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ค.ศ.2001 ซึ่งรับรองในเดือนพฤศจิกายน 2544 ให้กำหนดกรอบกฎหมายร่วม และแนวปฏิบัติเพื่อให้แต่ละประเทศดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบ่งชี้มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ การวิจัย มาตรการปกป้อง และการอนุรักษ์มรดก วัฒนธรรมใต้น้ำ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายเขมชาติ กล่าว ฟรังกา โคล นักโบราณคดี นักอนุรักษ์ด้านโบราณคดี และวิทยากรร่วมบรรยายจากพิพิธภัณฑ์ซาราวัค (Sarawak Museum ? JMS) ประเทศมาเลเซีย กล่าวถึงแง่มุมของการอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้น้ำ ฝึกอบรมผู้เข้าร่วมให้มีความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงอย่างครอบคลุมตามหลักการและเทคนิคการอนุรักษ์ และบูรณะวัสดุประเภทเครื่องดินเผาหรือเซรามิก แก้ว โลหะ ไม้ และวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะสำคัญอันจะนำไปสู่การปกป้อง และสงวนรักษาโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป ว่า งานโบราณคดีใต้น้ำมีความท้าทายอย่างมากต่อกิจกรรมโลจิสติกส์ แต่สภาพแวดล้อมใต้น้ำกลับช่วยรักษาวัสดุอินทรีย์ และโบราณวัตถุในระดับที่พบได้น้อยมาก หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากอยู่บนบก การวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อการอนุรักษ์เชิงคัดเลือก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพียงวิธีเดียว ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนเป้าหมายการวิจัย และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมให้สมดุลกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถที่มีอยู่ น.ส.ชิฮิโระ นิชิกาวะ ผู้เชี่ยวชาญโครงการของยูเนสโก กล่าวว่า ยูเนสโกยินดีมากที่ได้กลับมาเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเคยจัดฝึกอบรมในไทยมาหลายครั้ง ระหว่างปี 2552-2554 ทั้งนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีใต้น้ำ และมีทักษะด้านการอนุรักษ์เพียงพอที่จะปกป้อง และบริหารจัดการมรดกทาง วัฒนธรรมใต้น้ำได้อย่างยั่งยืน ตามอนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ.2001 https://www.matichon.co.th/education...l/news_4032726
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
ภัยอาหารทะเล! ชายเสียชีวิต หลังจากกินหอยนางรมดิบ ทำติดเชื้อแบคทีเรีย ภัยอาหารทะเล! ชายมะกันเสียชีวิต หลังจากกินหอยนางรมดิบ ทำติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio vulnificus เผยควรระมัดระวังการทานอาหารทะเลดิบ สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กรณีทางการแพทย์สุดสลบ หลังชายชาวมิสซูรีวัย 54 ปีเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อจากการกินหอยนางรมดิบ กรมสาธารณสุขเทศมณฑลเซนต์หลุยส์ประกาศ ชายล้มป่วยหลังจากซื้อหอยนางรมจากร้านผลไม้และอาหารทะเลในย่านชานเมืองเซนต์หลุยส์ เมืองแมนเชสเตอร์รัฐมิสซูรี ชายคนนี้ติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Vibrio vulnificus ซึ่งมักเกิดจากการรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่สุก โดยมีอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง, มีไข้, หนาวสั่น และถ่ายเหลวเป็นน้ำหลังจากกินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ไปนานประมาณ 16 ชั่วโมง กรมอนามัยกล่าวว่า ประมาณหนึ่งในห้าของผู้ที่ติดเชื้อนี้จะเสียชีวิต ซึ่งหาได้ยาก และมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งนี้ การติดเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus) บางชนิดยังสามารถนำไปสู่ ??necrotising fasciitis ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรง ตามศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDCP)มีคนประมาณ 80,000 คนที่ติดเชื้อ Vibrio vulnificus ทุกปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาหารทะเลปนเปื้อนเชื้อ V. vulnificus ไม่อาจแยกแยะได้จากการดูจากภายนอกเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง สี กลิ่น หรือรส ดังนั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค แนะนำว่าสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยได้โดยการไม่รับประทานหอยนางรมหรือสัตว์ที่มีเปลือกดิบหรือยังไม่สุกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคตับหรือภูมิคุ้มกันไม่ปกติ ควรทำอาหารทะเลให้สุก อาหารจำพวกหอยจะต้องทำให้ สุกจนฝาหอยเปิดออก และต้มต่ออีก 5 นาทีหรือนึ่งต่ออีก 10 นาทีหลังจากที่ฝาหอยเปิดออก รวมถึงควรล้างมือหลังจากจับหอยดิบ และไม่เหยียบเท้าลงไปในทะเลหรือน้ำกร่อยหากคุณมีบาดแผล เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการป่วยได้ ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อออกอย่างเร่งด่วนหรือการตัดแขนขา นอกจากนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports พบว่าการติดเชื้อที่เกิดจากความเจ็บป่วยตามชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น รายงานระบุ "Vibrio vulnificus เกิดขึ้นตามธรรมชาติและพบแบคทีเรียแกรมลบได้ทั่วไปในน้ำทะเล ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในน้ำอุ่น น้ำกร่อย และมีความไวต่ออุณหภูมิสูง" https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7718648
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก อสมท.
"โลมาหลังโหนก" แวะมาทักทาย บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ต้าวฝูงโลมาหลังโหนก จำนวน 6 ตัว ได้โผล่มาเล่นน้ำทักทายพี่ ๆ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ออกลาดตระเวน เมื่อเวลา 11.40 น. ขณะกำลังวิ่งเรือออกจากเกาะลิดีเล็ก เพื่อกลับเข้าฝั่งบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล "โลมาหลังโหนก" โลมาสีชมพู หรือโลมาเผือก เป็นโลมาที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indo-Pacific Humpback Dolphin ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ???????????????????? ????????????????????????????????? ลำตัวมีสีต่างกันมากตามอายุ วัยเด็กจะมีสีเทาดำ และจางลงเมื่อโตขึ้น ตัวเต็มวัยบางตัวมีสีเทาประขาว เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสีออกขาวเผือกหรือชมพู อาศัยตามชายฝั่งแม่น้ำ ปากแม่น้ำ และป่าชายเลนในเขตร้อน มีการแพร่กระจายตั้งแต่ตอนใต้ของจีน อินโดนีเซีย และประเทศไทย และมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 https://www.mcot.net/view/OnXmAdVm
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|