#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ส่วนยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาว ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าะจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ขอให้เกษตรกรบริเวณดังกล่าวเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 ? 14 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 19 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 4) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 15 พ.ย. 63 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 14 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนไว้ด้วย และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุไต้ฝุ่น "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 5)" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (14 พฤศจิกายน 2563) พายุไต้ฝุ่น "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 400 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 15.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.9 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ขอให้เกษตรกรบริเวณดังกล่าวเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 14-11-2020 เมื่อ 03:09 |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
สำรวจสุขภาพป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผ่านดัชนีชี้วัด "สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก" ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจว๊วต-คอกซ์ ได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารการเสนอชื่อ (Nomination) ให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก ก่อนที่สืบจะกระทำอัตวินิบาตกรรม หลังจากนั้นราว ๆ หนึ่งปี "ยูเนสโก" ประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ผ่านมาเกือบ 30 ปี 2562 ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพสัตว์ป่าที่สำคัญจากนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก เพื่อขยายผลว่า "ทั่วทั้งป่าตะวันตกยังมีสัตว์ป่าตามรายงานฉบับนั้นอยู่หรือไม่" โดยสันนิษฐานว่า ปัจจุบัน น่าเกิดการแพร่กระจายของสัตว์ป่าจากมรดกโลกออกมายังพื้นที่ป่าโดยรอบมากขึ้น เพราะมีการดูแลรักษาพื้นที่ในมาตรการที่เข้มแข็งมากขึ้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลการศึกษาเปรียบเทียบที่สำคัญ ประเภทของป่า : เดิมพบชนิดป่าทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสน และทุ่งหญ้า ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบป่าพรุน้ำจืดขนาด 4.87 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และป่าเบญจพรรณชื้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพิ่มขึ้นมา จำนวนชนิดของสัตว์แต่ละประเภท : เดิมพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 120 ชนิด นก 401 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 96 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 40 ชนิด และ ปลา 67 ชนิด ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 130 ชนิด นก 450 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 100 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 45 ชนิด และ ปลา 178 ชนิด พบจำนวนชนิดมากขึ้นทุกประเภท สัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) : เดิมพบทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม ค้างคาวคุณกิตติ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบพบว่ามีสัตว์เฉพาะถิ่นมากกว่า 7 ชนิด โดยมี งูหางแฮ่มกาญ (Trimeresurus kanburiensis) ตุ๊กแกตาแดง (Gekko nutphandi) จิ้งจกนิ้วยาวหัวสีส้ม (Cnemaspis huaseesom) จิ้งเหลนด้วงสองขา (Jarujinia bipedalis) พบเพิ่มขึ้น เสือโคร่ง : เดิมรายงานว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญมี่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 งานศึกษายืนยันว่าพบประชากรเสือโคร่งเกือบหนึ่งร้อยตัว และเป็นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นไม่กี่แห่งของพื้นที่อนุรักษ์ในระดับโลก และมีรายงานการขยายพื้นที่พบเสือไปนอกป่ามรดกโลกอย่างแน่ชัด สัตว์ตระกูลกวางป่า : เดิมพบสัตว์ตระกูลกวาง 4 ชนิด จาก 5 ชนิดที่พบในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กวางป่า เก้ง เก้งหม้อ และเนื้อทราย ส่วนอีกชนิด คือ ละมั่งหายไปจากผืนป่านี้ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 นอกจากจะพบสัตว์ตระกูลกวางทั้ง 4 ชนิด ยังมีการฟื้นฟูประชากรละมั่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สัตว์ตระกูลวัวป่า : เดิมพบสัตว์ตระกูลวัวป่าทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ วัวแดง กระทิง ควายป่า ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 นอกจากจะพบทั้งสามชนิดยังมีรายงานว่าประชากรของวัวแดงเพิ่มขึ้น มีเขตการกระจายประชากรไปสู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คลองลาน เขื่อนศรี ทองผาภูมิ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเกิดโครงการฟื้นฟูประชากรวัวแดงในพื้นที่ นกเงือก : เดิมพบ 6 ชนิด ได้แก่ นกแก๊กหรือนกแกง นกกกหรือนกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 จากการสำรวจในปัจจุบันยังคงพบทั้งนกเงือกอาศัยทั้งหมด 6 ชนิด กลุ่มของลิง : เดิมพบการพบลิงครบทั้ง 5 ชนิด ที่มีอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ ลิงวอก ลิงแสม ลิงเสน ลิงอ้ายเงี๊ยะ และลิงกังเหนือ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 ยังพบลิงทั้ง 5 ชนิด สำหรับชนิดของสัตว์ป่าที่หายไปที่สำคัญในเชิงระบบนิเวศ คือ "พญาแร้ง" ซึ่งมรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในรายงาน พ.ศ. 2533 ก็มีรายงานแล้วว่ามีรายงานของพญาแร้งที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ ซึ่งมีอยู่เดิมทั้งหมด 22 ตัว ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 มีการวางแผนและอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรของพญาแร้งให้กลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สรุปข้อมูลการพบชนิดของสัตว์ป่าที่ไม่ลดลงตลอดระยะเวลาสามสิบปี ถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของผลสำเร็จในการอนุรักษ์ของประเทศไทย และอาจจะมีศักยภาพดำเนินการขยายพื้นที่มรดกโลกจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งออกไปให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มป่าตะวันตก ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000117407
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ป่าฝนผืนใหญ่ในอินโดนีเชียถูกเผาเอาพื้นที่ทำสวนปาล์มน้ำมัน ป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ของเอเชียในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซียกำลังถูกแผ้วถางเพื่อนำพื้นที่ไปทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มสัญชาติเกาหลีใต้ที่ชื่อ "โครินโด"(Korindo) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่สุดที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอันห่างไกลแห่งนี้ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการเข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และมีการแผ้วถางป่าไปแล้วประมาณ 360,000 ไร่ หรือมีขนาดใกล้เคียงกับกรุงโซล ที่ผ่านมา โครินโด ได้ปฏิเสธเรื่องการใช้ไฟเผาเพื่อแผ้วถางป่า ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย แต่จากการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียมของกลุ่ม "เฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์"( Forensic Architecture) แห่งมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ ในกรุงลอนดอน และกลุ่มกรีนพีซอินเตอร์เนชันแนล ก็พบหลักฐานบ่งชี้ถึงการจงใจจุดไฟเผาป่าในช่วงที่มีการแผ้วถางป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำสวนปาล์มในเขตสัมปทานของบริษัทนี้ กลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อศึกษารูปแบบการแผ้วถางป่าภายในเขตพื้นที่สัมปทานของบริษัทโครินโด ระหว่างปี 2011-2016 โดยพวกเขาใช้ภาพถ่ายเหล่านี้เพื่อศึกษา "อัตราส่วนของการเผาไหม้" แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจุดร้อน (hotspot data) ซึ่งเป็นข้อมูลแหล่งความร้อนที่ดาวเทียมองค์การนาซาตรวจจับได้บริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกัน ซามาเนห์ โมอาฟี นักวิจัยอาวุโสของกลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์ กล่าวว่า "เราพบว่ารูปแบบ ทิศทาง และความเร็วที่ไฟเคลื่อนตัวในพื้นที่ตรงกันเป๊ะกับรูปแบบ ความเร็ว และทิศทางของการแผ้วถางป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งนี่บ่งชี้ว่าไฟถูกจุดขึ้นอย่างจงใจ" "ถ้าไฟถูกจุดขึ้นจากด้านนอกเขตสัมปทาน หรือเกิดจากสภาพอากาศไฟจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่แตกต่างกัน" เธอกล่าว บีบีซีพยายามขอสัมภาษณ์โครินโด แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบริษัทได้ยืนยันในแถลงการณ์ว่าการแผ้วถางป่าทั้งหมด ทำโดยใช้เครื่องจักรกลหนัก พร้อมชี้แจงว่า ได้เกิดไฟป่าขึ้นตามธรรมชาติหลายครั้งในพื้นที่เนื่องจากมีสภาพแห้งแล้งรุนแรง และอ้างว่าไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่สัมปทานของบริษัท เกิดจากการที่ชาวบ้านจุดไฟล่าหนูป่ายักษ์ที่ซ่อนอยู่ตามกองไม้ แต่เรื่องที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เขตสัมปทานนี้เล่าให้บีบีซีฟังนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต่างระบุว่า โครินโดได้จุดไฟเผาป่าในเขตสัมปทานมาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงเวลาเดียวกับหลักฐานที่พบจากการสืบสวนข้อเท็จจริงของกลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์ นายเซฟนัต มาฮูเซ ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า "ไฟป่าเกิดขึ้นมาหลายปีเพราะพวกเขาแผ้วถางป่า พวกเขาเก็บไม้ที่เหลือไปกองรวมกันและราดน้ำมันเบนซินลงไปแล้วจุดไฟเผา มันดำเนินมาจนถึงปี 2016" ขณะที่นายอีเซา คามูเยน ชาวบ้านอีกคนบอกว่า "มีควันหนาทึบตอนที่พวกเขาแผ้วถางป่า พวกเขาเผาเศษไม้ที่เหลืออยู่ ควันหนาจนบดบังท้องฟ้า พอตกบ่ายก็มีควันไฟเต็มไปหมดจนท้องฟ้ามืดมิด" แม้โครินโดจะอ้างว่าบริษัทได้นำการจ้างงานและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคนี้ แต่สำหรับนางเอลิซาเบธ นดินวาเอ็น ผู้นำอาวุโสของเผ่า กลับเศร้าเสียใจให้กับผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตาของเธอ "เราปกป้องผืนป่าของเรา และไม่เคยทำลายมัน แต่พวกคนนอกเข้ามาและแผ้วถางมัน มันคือบาดแผลที่บาดลึก...ฉันร่ำไห้ด้วยความเศร้าใจให้กับผืนป่าอันงดงามของปาปัว ที่พระเจ้าทรงสร้างให้แก่พวกเรา" https://www.bbc.com/thai/international-54931683 ********************************************************************************************************************************************************* "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" เจาะรูยักษ์บนผืนน้ำแข็งมหาสมุทรแอนตาร์กติก ปรากฏการณ์โพลีเนีย (Polynya) นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี 2017 หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นแผ่นดิน แต่เป็นสายธารขนาดมหึมาบนท้องฟ้าที่เรามองไม่เห็น ซึ่งแวดวงวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) หรือกระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาลิฟาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ค้นพบบทบาทหน้าที่ใหม่ของแม่น้ำบนท้องฟ้าดังกล่าวในทางอุตุนิยมวิทยาแล้ว ซึ่งช่วยไขปริศนาที่มีมานานว่า เหตุใดผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแถบขั้วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแอนตาร์กติก จึงมักจะเกิดรูโหว่ขนาดใหญ่มหึมาขึ้นในแทบทุกปี ช่องโหว่ขนาดยักษ์กลางผืนน้ำแข็ง หรือ "โพลีเนีย" (Polynya) มีความกว้างหลายหมื่นไปจนถึงหลายแสนตารางกิโลเมตร ในบางครั้งพบว่ามีขนาดใหญ่ยิ่งกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์เสียอีก แต่การละลายของน้ำแข็งในรูปแบบประหลาดนี้มีมานานในบันทึกประวัติศาสตร์และในบางปีก็ไม่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่ามันไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แม้ช่องโหว่โพลีเนียจะสามารถปิดตัวลงเองได้ตามฤดูกาล แต่ก็สามารถเกิดซ้ำในตำแหน่งเดิม ซึ่งก็พลอยมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสูญเสียพื้นที่หิมะสีขาวช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่ห้วงอวกาศ ในขณะที่ช่องโหว่ซึ่งเป็นผืนน้ำทะเลสีเข้มกลับดูดซับความร้อนเอาไว้มากขึ้น ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยคาลิฟาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ทีมผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลดาวเทียมเกี่ยวกับสภาพอากาศระหว่างเหตุการณ์โพลีเนียครั้งใหญ่ในปี 1973 และ 2017 ซึ่งเกิดขึ้นตรงผืนน้ำแข็งบริเวณทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) และนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นแถบของกลุ่มเมฆใน "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การไหลของกระแสไอน้ำและความร้อนในท้องฟ้านั้นเดินทางไปไกลเกินคาด โดยในปี 2017 แม่น้ำในชั้นบรรยากาศสายหนึ่งเคลื่อนจากชายฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ ลงต่ำไปยังอาณาเขตของทะเลเวดเดลล์ จนทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียสในเดือนกันยายนของปีนั้น ทั้งเกิดรูโหว่ขนาดยักษ์ขึ้นบนผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกด้วย นอกจากจะทำให้อากาศร้อนขึ้นแล้ว แม่น้ำในชั้นบรรยากาศยังทำให้เกิดพายุไซโคลนได้บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น เพราะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณไอน้ำอย่างมหาศาล โดยพายุนี้จะทำให้เกิดคลื่นลมซัดผืนน้ำแข็งส่วนที่เริ่มละลายและอ่อนตัวให้สลายไปกลายเป็นช่องโหว่ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ในระยะยาวว่า หากอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงไม่ลดลงอยู่เช่นนี้ ภาวะโลกร้อนที่ยิ่งย่ำแย่ลงจะทำให้อัตราการเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศมีบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิมถึง 50% ซึ่งก็จะพลอยทำให้ปรากฏการณ์โพลีเนียพบได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้นตามไปด้วย https://www.bbc.com/thai/features-54919427
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|